bloggang.com mainmenu search
วิธีสอนมารยาททางสังคม

เปิดเทอมใหม่ เด็ก ๆ ได้ขึ้นชั้นเรียนใหม่ จากที่เคยเป็นน้องเล็กอนุบาล 1 ก็ได้เลื่อนชั้นเป็นพี่อนุบาล 2 จากที่เคยอยู่อนุบาล 2 ก็ได้เลื่อนชั้นเป็นพี่อนุบาล 3



แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดเห็นจะเป็นน้องเล็กที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ทั้งแปลกที่และไม่คุ้นชินกับเพื่อนใหม่มากมาย พฤติกรรมที่แสดงออกจึงมีทั้งแย่งของเล่นกับเพื่อนบ้าง พูดจาไม่เพราะกับเพื่อนบ้าง งานนี้คุณครูก็คงต้องเหนื่อยอีกตามเคย

เด็กที่มาจากต่างครอบครัว ย่อมถูกเลี้ยงดูมาต่างกัน เมื่อมาอยู่รวมกัน ย่อมต้องมีข้อตกลง หรือวิธีที่ช่วยให้พวกเขาอยู่รวมกันอย่างสันติ และวิธีง่าย ๆ ที่เราอยากให้คุณครูนำไปใช้ก็คือการกำหนดระเบียบให้พวกเขาปฏิบัติตนได้ตรงกัน หรือที่เรียกว่า “มารยาททางสังคม” นั่นเอง

การสอนมารยาทควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่พวกเขายังเล็ก เด็ก ๆ จะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากบุคคลที่อยู่รอบข้าง ดังนั้นผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกเวลา และทุกครั้งที่สอนเรื่องมารยาท คุณครูควรให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดหาเหตุผลของการกระทำด้วยว่า ทำไมต้องปฏิบัติตนเบบนี้ และถ้าไม่ทำจะเกิดผลอย่างไร เพื่อช่วยพัฒนากระบวนการคิด พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องของเหตุและผลไปพร้อมกันด้วย

ข้อแนะนำการสอนมารยาททางสังคมในชีวิตประจำวัน

1. ควรเลือกสอนมารยาที่เหมาะกับวัยของเด็ก และช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เช่น พูดจาให้ไพเราะ รู้จักการรอคอย การเข้าแถว หรืออาจให้เด็ก ๆ ช่วยกันบอกวิธีปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกัน โดยคุณครูจดคำตอบที่ได้ไว้บนกระดาน

2. เมื่อได้เรื่องที่ควรสอนแล้ว คุณครูควรสอนทีละเรื่อง โดยอาจหาสถานการณ์ หรือให้เด็กแสดงบทบาทสมมติ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น และปฏิบัติตนได้ถูกต้อง

3. ควรทบทวนหรือสอนเรื่องนั้นซ้ำๆ บ่อย ๆ จนเด็กปฏิบัติตนได้ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร เพราะการสอนเรื่องมารยาทกับเด็กนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ภายในวันเดียว

4. ควรให้เวลากับเด็กในการปรับตัว ฝึกฝน จนสามารถทำได้ถูกต้อง

5. คุณครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีในทุก ๆ เวลา เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญของการมีมารยาทที่ดี เช่น ถ้าคุณครูสอนให้เด็กพูดขอบคุณเมื่อรับของ คุณครูก็ควรพูดขอบคุณเมื่อได้รับของเช่นกัน

6. ไม่ควรดุหรือตะคอกเมื่อเด็กทำผิด เพราะจะทำให้พวกเขาอับอาย กลัว หรือสูญเสียความมั่นใจในตนเอง วิธีที่ถูกต้องคือควรใช้คำพูดเชิงบวกบอกสิ่งที่อยากให้พวกเขาทำ เช่น บอกพวกเขาว่า “ถ้าขนมตกพื้น ให้เก็บไปทิ้งถังขยะ” แทนที่จะพูดว่า “ห้ามกินขนมที่ตกพื้น”

7. ชมเชยทุกครั้งที่เด็กมีมารยาทที่ดี เพื่อให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในการกระทำของตน และรับรู้ว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้องเหมาะสม

8. คุณครูอาจบอกเด็กล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่จะได้เจอและมารยาทที่เด็กควรปฏิบัติ เช่น บอกว่า “คุณครูกำลังจะพาเด็ก ๆ ไปรับประทานอาหาร เด็ก ๆ ควรล้างมือ และนั่งที่โต๊ะอาหารให้เรียบร้อย” เป็นต้น

การสอนเรื่องมารยาททางสังคมแก่เด็ก อาจเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทนมากสักหน่อย แต่หากคุณครูไม่ละความพยายาม เด็ก ๆ ของคุณครูก็จะเป็นที่รักของผู้คนรอบข้าง และมารยาทที่น่ารักนี้ก็จะติดตัวพวกเขาไปตลอด เพราะฉะนั้น เริ่มปลูกฝังพวกเขาตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่ยังเป็นไม้อ่อน เพื่อเขาจะได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่งดงาม

จาก planforkids.com
Create Date :03 มิถุนายน 2554 Last Update :3 มิถุนายน 2554 1:32:45 น. Counter : Pageviews. Comments :0