bloggang.com mainmenu search
บทที่ 11 วิธีการที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยง
" การห้ามดักคอไว้ก่อน "
พ่อแม่เด็กสมาธิสั้นมักคาดว่าลูกจะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น ซน อยู่ไม่นิ่ง ยุกยิก แหย่น้อง แกล้งเพื่อน เนื่องจากเห็นพฤติกรรมเหล่านั้นซ้ำๆ ทำให้เมื่อเกรงว่าลูกจะทำเช่นนั้น จึงมักจะห้ามเสียก่อนด้วยประโยคต่อไปนี้
“ อย่าซนนะ”

“อยู่นิ่งๆ”

“อย่าแหย่น้องนะ”

“วันนี้อย่าแกล้งเพื่อนนะ”

“อย่าลืม...................”

“อย่าให้ครูว่าอีกนะ”
ประโยคดังกล่าวข้างต้นนอกจากไม่ได้ช่วยป้องกันพฤติกรรมเหล่านั้นเลย ในทางตรงกันข้าม การพูดเช่นนั้นกลับกลายเป็นการกระตุ้นให้เด็กทำมากขึ้น บางทีเขายังไม่ได้ตั้งใจจะทำเลย การพูดกลับเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทำ เด็กบางคนจะรู้สึกหงุดหงิดกับการพูดเช่นนั้น เลยแกล้งทำอย่างที่พูด หรือทำให้มากกว่านั้นอีก เป็นการโต้ตอบพ่อแม่ ยิ่งไปกว่านั้นการพูดแบบนี้ยังสื่อความหมายของการคาดหวังในทางลบต่อเด็ก ซึ่งไปตอกย้ำความรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง ทำให้กลายเป็นเด็กซน เด็กดื้อ เด็กเกเรไปตามคำพูดของพ่อแม่จริงๆ

พ่อแม่บางคนคิดว่ายิ่งห้ามมากยิ่งดี บางคนพูดไปโดยอัตโนมัติ ที่จริงก็รู้อยู่ว่าพูดไปก็ไม่ได้ผล แต่ไม่รู้ว่าพูดไปทำไม การพูดไปด้วยความเคยชินเช่นนี้บ่อยๆจะกลายเป็นนิสัย และเป็นสิ่งที่แก้ยาก ต้องมีสติเตือนตัวเองมากๆ ว่า “คิดก่อนจะพูดๆๆ” ทบทวนใจตัวเองเสมอว่าพูดไปแล้วจะได้อะไร จะเสียอะไร ถ้าไม่แน่ใจไม่ต้องพูดดีกว่า การกระทำที่เอาจริง ไม่ปล่อยให้ทำผิด ให้ทำในกติกา หรือกฎที่ตั้งไว้อย่างจริงจัง จะได้ผลมากกว่าการพูดมากห้ามมาก

วิธีที่พ่อแม่ควรทำ คือการไม่พูดประโยคเตือนเหล่านั้น แต่ใช้วิธีการจัดสิ่งแวดล้อม หรือเบนความสนใจไม่ให้เด็กมีโอกาสทำอย่างที่คาด เช่น ถ้าเห็นเด็กกำลังจะแกล้งน้อง ก็พาเด็กออกห่างจากน้อง ชวนเด็กเล่นอะไรที่เด็กชอบ ถ้าเด็กกำลังจะตีน้อง ต้องรีบจับไว้ทันทีอย่าให้ได้ทำ มองด้วยสีหน้าจริงจังแล้วแนะนำเขาว่า

“ถ้าเขาอยากจะเล่นกับน้อง ให้เล่นอย่างนี้”
พร้อมกับบอกวิธีเล่นที่ถูกต้อง(มองเขาในแง่ดีว่าเขาอยากเล่นกับน้อง ไม่ใช่แกล้งน้อง)

ถ้าเด็กซนมากในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะให้พาเขาออกมาสงบสติอารมณ์ข้างนอก 5-10 นาที แล้วค่อยพากลับเข้าไปนั่งรอใหม่ พร้อมกับบอกสั้นว่า

“ลองนั่งให้ติดที่สักให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้นะ ลองดูซิว่าจะได้กี่นาที ลูกคิดว่าได้นานเท่าไร ลองมาพยายามดูมั๊ย”
(เด็กสมาธิสั้นชอบอะไรที่สนุกและท้าทายหน่อย)

ถ้าเบื่อมากก็พาออกมาเปลี่ยนบรรยากาศอีกที่สัก 5-10 นาที และถ้าเด็กอยู่นิ่งได้อย่าลืมชมเขาด้วย

หลีกเลี่ยงการ “ห้ามแบบดักคอ”



" การถามนำถึงความผิดของเด็ก "
“วันนี้โดนตีหรือเปล่า”

“ลืมอะไรไว้ที่โรงเรียนอีกละ”

“ครูว่าอะไรบ้างละวันนี้”

“ทำผิดอะไรอีกละวันนี้”

“วันนี้ลืมจดการบ้านมาอีกหรือเปล่า”
บางครั้งพ่อแม่อาจจะอดไม่ได้ที่จะทักทายเด็ก ด้วยการ “ถามนำ” ถึงสิ่งที่คาดว่าเกิดขึ้นแล้ว ดังเช่นประโยคข้างต้นเหล่านี้ การถามนำเช่นนี้ทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง แสดงถึงความคาดหวังของพ่อแม่ ว่าเขาน่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆจะตอกย้ำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นเช่นนั้นจริงๆ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ฝังแน่นเปลี่ยนแปลงได้ยาก

วิธีการแก้ไข ควรเปลี่ยนวิธีทักทายเด็กใหม่ ให้เป็นด้านบวก เช่น ประโยคต่อไปนี้
“วันนี้มีอะไรดีๆเกิดขึ้นบ้าง”(สื่อว่าเขาน่าจะมีประสบการณ์ที่ดีในวันนี้ ลองทบทวนเรื่องดีบ้าง)

“มีอะไรสนุกๆเล่าให้ฟังบ้างละ”(กระตุ้นให้เขาเล่าเรื่อง เริ่มจากเรื่องดีๆ ที่นึกออก)

“มีการบ้านตรงไหนที่อยากให้พ่อช่วยบ้างละ” (สื่อว่าเราคาดหวังว่าเขาทำได้ แต่ถ้าต้องการความช่วยเหลือก็ยินดี)

อย่าถามนำถึงความผิด



" คำสั่งที่ไม่มีประโยชน์/ไม่จำเป็น "
พ่อแม่บางทีบอกลูกด้วยสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องพูดก็ได้ ตัวอย่างเช่น
“เดินดีๆนะลูก”

“กินข้าวเยอะๆนะลูก”

“ข้ามถนนดีๆ”

“ตั้งใจเรียนนะลูก”

“ทำข้อสอบดีๆนะ”
ประโยคเหล่านี้ติดปากพ่อแม่ ลองทบทวนแล้วจะพบว่าพูดไปไม่มีประโยชน์เลย บางทีเป็นเหมือนการปลอบใจพ่อแม่มากกว่า บางทีทำให้เด็กหงุดหงิด โดยเฉพาะวัยรุ่น

ลองเปลี่ยนมาเป็นประโยคใหม่ต่อไปนี้ จะดีกว่า
“ลูกคิดว่าจะระมัดระวังตัวอย่างไร จึงจะไม่เกิดอุบัติเหตุ”

“ลูกมีหลักในการกินอาหารอย่างไร”

“มีอะไรที่ต้องระวังเวลาข้ามถนนบ้าง”

“ลูกวางแผนอย่างไรเกี่ยวกับการเรียน”

“ลูกคิดอย่างไร เกี่ยวกับการสอบครั้งนี้”
ประโยคแบบใหม่นี้จะสื่อสารให้เด็กเข้าใจว่า เขาคิดเอง ทำเองได้ พ่อแม่คาดหวังการเป็นตัวของตัวเอง มากกว่าการรอรับคำสั่งพ่อแม่

ทบทวนว่าคำสั่งที่พ่อแม่ใช้ ว่าเป็นคำสั่งที่เป็นประโยชน์หรือจำเป็น หรือไม่



" การพูดสั่งซ้ำๆ "

เด็กสมาธิสั้นมักไม่ทำตามการพูดสั่งซ้ำๆโดยเฉพาะเรื่องที่พ่อแม่ต้องการให้เขาทำ เช่น
“ไปอาบน้ำ”
“แปรงฟันหรือยัง”
“ทำเร็วๆ”
“ กินข้าวให้เสร็จซิ”
“รีบๆหน่อย”
มักจะไม่ได้ผล เพราะเด็กสมาธิสั้นจะเรียนรู้อย่างรวดเร็วมากว่า ยังไม่ต้องทำทันทีดอก เดี๋ยวแม่ก็พูดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เอาจริงอะไร เด็กจะผัดผ่อน หลบเลี่ยงไปชั่วคราว ด้วยคำว่า “เดี๋ยวก่อน” บางทีพ่อแม่ก็ลืมไปเลยว่าสั่งอะไรไว้ การพูดซ้ำๆจึงเหมือนเป็นฝึกให้เด็กหลบเลี่ยงปัญหา และมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

พ่อแม่บางคนบอกว่า ฉันเอาจริงแล้วนะ ก็พูดซ้ำๆเป็นครั้งที่ร้อยแล้ว

การสั่งด้วยคำพูดซ้ำๆมักไม่ได้ผลถ้าพ่อแม่ไม่แสดงถึงความเอาจริง การพูดมากเด็กจะเรียนรู้ว่าไม่เอาจริง ไม่ต้องทำก็ได้ เดี๋ยวแม่ก็จะพูดอีกร้อยเที่ยว เด็กจะใช้วิธี “เอาหูทวนลม” จนในที่สุดติดเป็นนิสัย

วิธีการแก้ไข พ่อแม่ควรเตือนเด็กสั้นๆก่อนเวลาที่ตกลงกันไว้ประมาณ 5 นาที ถ้าไม่แสดงท่าทีว่าจะทำ ให้กำกับให้ทำทันที วิธีนี้ควรอธิบายและตกลงกันให้แน่นอนกับเด็กก่อน เช่น บอกเด็กว่าเราตกลงจะทำอะไร (แสดงความคาดหวังของพ่อแม่ให้ชัดเจน)

ตัวอย่างได้แก่เวลาดูโทรทัศน์

พ่อแม่อาจร่วมกันกับเด็กกำหนดว่าจะดูได้เฉพาะเวลา 19.00- 20.00 น.เท่านั้น ถ้าเผลอลืมไปไม่ปิดโทรทัศน์ตอนเวลา 20.00 น. ให้พ่อหรือแม่เตือนก่อนครั้งเดียว อาจจะเตือนเวลา 19.55 น. เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้แล้วเด็กยังเพลิน ไม่ยอมปิด แสดงว่าเตือนตัวเองไม่ได้ ให้พ่อแม่ปิดทีวีทันที ไม่ต้องโต้ตอบปฏิกิริยาทีเด็กอาจโกรธ ไม่พอใจ เมื่ออารมณ์สงบแล้วค่อยมาคุยกันใหม่

อย่าพูดซ้ำๆ ให้เตือนเพียงครั้งเดียว แล้วกำกับให้ทำทันทีถ้าไม่เริ่มทำ



" สั่งให้เด็กทำแล้วเด็กไม่ทำ พ่อแม่เลยทำเอง "
บางทีเวลาพ่อแม่สั่งงานให้เด็กทำแล้วเด็กดื้อ ไม่ยอมทำ หรือผัดผ่อนไปจนพ่อแม่รำคาญ ในที่สุดตัดรำคาญทำเสียเอง เด็กจะเรียนรู้ว่า คำสั่งของพ่อแม่ไม่ได้คาดหวังให้เขาทำจริงๆ ครั้งต่อไปเขาจะไม่ใส่ใจคำสั่งของพ่อแม่อีก เวลาได้ยินคำสั่งอาจคิดว่า ลองดื้อสักหน่อย เดี๋ยวพ่อแม่ก็ทำเอง ดังนั้น ถ้าพ่อแม่สั่งอะไรแล้วอย่าทำเองโดยเด็ดขาด ต้องกำกับให้เด็กทำทันที

สั่งให้เด็กทำแล้วไม่ควรทำเสียเอง



" การพูดมาก "
การพูดมาก บ่นมาก จะเป็นที่รำคาญของเด็ก โดยเฉพาะการพูดในทางลบต่อเด็ก บางคนเวลาโกรธมีความรุนแรง โวยวาย บางคนเท้าความไปถึงเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับความผิดครั้งนี้ หรือความผิดพลาดครั้งเก่าๆ ที่ไม่อยากจะจำอีกแล้ว การพูดมากๆ เด็กสมาธิสั้นจะเบื่อง่าย นอกจากเนื้อหาที่พูดไม่น่าฟังแล้ว เขายังสนใจอะไรไม่ได้นาน การพูดมากจนเด็กเบื่อจะทำให้เด็กสร้างนิสัย หูทวนลม คือไม่สนใจคำพูดของพ่อแม่อีกต่อไป ถ้าเป็นนานๆ เด็กจะไม่ใส่ใจต่อคำพูดพ่อแม่ในวาระอื่นๆด้วย บางทีพอแค่แม่เริ่มอ้าปากจะพูด เขาก็ไม่อยากฟังแล้ว ทำให้กลายเป็นเด็กที่พ่อแม่พูดจะไม่ฟัง เวลาจะพูดอะไรที่สำคัญเด็กจะไม่สนใจ ไม่รับฟังด้วยเช่นกัน

ถ้าพ่อแม่ต้องการจะตักเตือน ควรพูดสั้นๆ และแนะนำสิ่งที่ควรทำ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

สรุปว่า พ่อแม่ไม่ควรพูดมาก บ่นมาก เพราะไม่ได้ผล

พูดมาก เป็นการสอนให้เด็ก”หูทวนลม” และไม่ฟังในครั้งต่อไป



" การใช้คำถาม “ทำไม” "
การถามเด็กโดยใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่าทำไม มักจะสื่อว่าเป็นการตำหนิ เช่น
“ทำไมไม่ตั้งใจเรียน”

“ทำไมแกล้งน้อง”

“ทำไมไม่ตั้งใจเรียน”
นอกจากนี้คำถามแบบนี้ยังกระตุ้นให้เด็กพยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างตนเอง เพราะแสดงว่าพ่อแม่คาดหวังว่า พฤติกรรมนั้นสามารถทำได้ ถ้ามีเหตุผลดีจริง เขาอาจพ้นผิดได้ การถามเช่นนั้น เป็นการสอนให้เด็กกลายเป็นคนไม่ยอมรับความจริงหรือข้อผิดพลาดบกพร่องของตนเอง บางคนกลายเป็นการฝึกให้มีนิสัยชอบเถียงข้างๆคูๆ

นอกจากนี้ การถามเช่นนั้นยังสื่อให้เด็กรู้สึกผิด และรู้สึกไม่ดีต่อตนเองด้วย

หลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม”



" การอธิบายมาก "
เด็กสมาธิสั้นมักไม่มีสมาธิยาวนานพอที่จะจดจ่อกับการอบรมสั่งสอนที่เต็มไปด้วยคำพูดมาก อธิบายมาก มีเหตุผลมาก การอธิบายจึงควรจำกัด เลือกเฉพาะที่สำคัญ และพูดสั้นๆ ให้เข้าใจตรงกัน การเตือนที่คุกคามเด็กควรหลีกเลี่ยง หรือถ้าจำเป็นก็ควรสั้น มีเหตุผลชัดเจน ไม่ควรให้เด็กฟังนาน การใช้เวลานานเกินไปทำให้เด็กเบื่อ ขาดความสนใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง

การอธิบายยืดยาว ทำให้เด็กเบื่อ และ”ไม่ฟัง”



" การออกคำสั่งทีละหลายๆอย่าง "
เด็กสมาธิสั้นมักจะมีสมาธิอยู่กับคำสั่งได้จำกัด การสั่งอะไรหลายๆอย่างพร้อมๆกัน จะทำให้เด็กถูกดุอีก เพราะเขาจะลืมคำสั่งถัดจากคำสั่งแรก วิธีแก้ไข คือ สั่งให้ทำทีละอย่าง เวลาสั่งต้องให้เขาเลิกกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเขาตั้งใจฟังคำสั่ง เมื่อสั่งเสร็จแล้วลองให้เขาทวนคำสั่งนั้นอีกครั้ง แล้วให้ปฏิบัติทันที

การฝึกให้รับคำสั่งมากกว่าหนึ่งอย่างสามารถทำได้ โดยให้เด็กจดคำสั่งนั้นให้ละเอียด ฝึกให้รู้จักการย่อคำสั่ง และท่องคำสั่งนั้นซ้ำๆ

อย่าลืมชมเมื่อเด็กทำตามคำสั่งได้ครบถ้วน

ใช้คำสั่งทีละอย่าง



" การแก้ไขพฤติกรรมหลายๆอย่างพร้อมๆกัน "
เด็กสมาธิสั้นมักมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายๆอย่าง การแก้ไขมักจะต้องค่อยเป็นค่อยไป การพยายามแก้ไขพฤติกรรมทุกอย่างในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องยาก จะกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ที่พ่อแม่และเด็กรับไม่ได้ วิธีที่เหมาะสมคือ เลือกบางพฤติกรรมที่สามารถแก้ไขได้ง่ายก่อน และทำให้สำเร็จไปทีละเรื่อง ต่อไปพฤติกรรมที่ยากก็สามารถแก้ไขได้

การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมได้สำเร็จ ทำให้พ่อแม่เริ่มมีกำลังใจ เด็กเองก็เริ่มได้รับคำชมบ้าง ทำให้มีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอื่นๆต่อไป

วางแผนแก้ไขพฤติกรรมทีละอย่าง เริ่มจากเรื่องง่ายๆก่อน



" การไม่พูดด้วย "
พ่อแม่บางคนเวลาโกรธลูก หรือเวลาลูกทำผิด ใช้วิธีการลงโทษด้วยการไม่พูดด้วย บางคนไม่พูดเป็นวันๆ โดยคิดว่าเด็กจะกลัว คราวหลังจะไม่ทำอย่างนั้นอีก เวลาลูกมาง้อก็ทำเป็นไม่สนใจ การไม่พูดด้วยอาจจะได้ผลในระยะสั้นๆ เพราะเด็กจะกลัวพ่อแม่โกรธหรือไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรต่อไป ผลข้างเคียงที่ไม่ดี คือ เด็กจะสะสมความรู้สึกไม่มั่นคงในอารมณ์ ไม่มั่นใจในความรักความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และอาจทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมอื่นๆตามมาภายหลัง

การไม่พูดด้วยยังอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกไม่ดี เด็กบางคนใช้วิธีการไม่พูด(เลียนแบบพ่อแม่)เวลามีปัญหากับพ่อแม่หรือกับคนอื่น ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี

ไม่ควรใช้วิธีการไม่พูดด้วยกับเด็ก ไม่ว่ากรณีใดๆ



" การ “แหย่” “ล้อ” “แกล้ง” เด็ก "
บางครั้งพ่อแม่ชอบหยอกล้อเด็กด้วยวิธีการ แหย่ กวน ให้เด็กอารมณ์เสีย ล้อเลียนปมด้อยหรือความผิด ให้เด็กเกิดความอับอาย หรือแกล้งเด็ก ขู่เด็ก ให้เด็กกลัว แล้วเกิดความสนุกเพลิดเพลิน แต่เด็กจะเลียนแบบ และนำไปใช้กับคนอื่นๆหรือเพื่อนๆที่โรงเรียน วิธีการแก้ไข คือพยายามเตือนตัวเองอย่าให้เผลอทำเช่นนั้น และช่วยเตือนผู้ใหญ่คนอื่นๆไม่ให้ทำด้วยเช่นกัน

อย่าแหย่เด็กเล่น เพื่อความสนุกของผู้ใหญ่



" การไม่ชมเด็กด้วยความกลัวเด็กเหลิงหรือลาม "
ผู้ใหญ่บางคนไม่กล้าชมเด็ก กลัวว่าเด็กจะได้ใจ เหลิง หรือลามปาม ทำให้เด็กขาดคำชม ต้องการคำชม บางทีไปทำตัวเด่นดังด้านอื่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เป็นที่ชื่นชมของคนอื่นๆ เด็กสมาธิสั้นมักจะมีลักษณะคล้ายๆกันอย่างหนึ่ง คือ “บ้ายอ” ถ้าชมแล้วจะทำเต็มที่ แต่ถ้าถูกตำหนิจะหงุดหงิด โมโหโวยวาย วิธีการแก้ไข คือ ควรพยายามชมเด็ก ตามความเป็นจริง ให้สม่ำเสมอ เพราะจะช่วยทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และจะเป็นกำลังใจให้ทำดีมากขึ้น ถ้าเด็กยังไม่มีข้อดีให้ชม อาจสร้างโอกาสให้เด็กได้รับคำชมบ้าง เช่นมอบหมายงานให้ทำ ให้ช่วยน้อง ให้ช่วยครู ให้ช่วยเพื่อน

ชมเด็กสม่ำเสมอ และสร้างโอกาสให้เด็กได้รับคำชม



" การตำหนิในเรื่องอยู่ไม่นิ่ง "
เด็กสมาธิสั้นจะไม่ค่อยอยู่นิ่ง มักจะยุกยิก เคลื่อนไหวมากจนน่ารำคาญ การเฝ้าเตือนเรื่องเด็กอยู่ไม่นิ่งมักจะไม่สำเร็จ หรือเด็กอาจหยุดได้ช่วงสั้นๆ แล้วก็ทำอีก เรื่องอยู่ไม่นิ่งนี้ควรหาโอกาสฝึกในบางสถานการณ์เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว และคอยปรามให้เด็กนิ่งพอที่จะไม่รบกวนคนอื่นๆเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องนิ่งเงียบเรียบร้อย เหมือนผ้าพับไว้ตลอดเวลา เพราะเด็กไม่สามารถทำได้แบบนั้นจริง แค่เด็กนั่ง(แม้จะยุกยิกบ้าง)ก็ถือว่าใช้ได้ และเวลาเด็กพยายามทำตัวเรียบร้อย แม้แต่ช่วงสั้นๆ ก็อย่าลืมชมด้วย

การดุเด็กเรื่องไม่นิ่งบ่อยๆไม่ได้ช่วยให้เด็กนิ่งขึ้นเลย บางทีเด็กอาจหงุดหงิดแล้วเลยทำให้อยู่ไม่นิ่งมากขึ้นกว่าเดิมอีก

ต้องยอมรับบ้างว่าเด็กอยู่ไม่นิ่ง ฝึกให้อยู่นิ่งเพียงบางสถานการณ์ก็เพียงพอแล้ว



" การพูดถึงเด็กในทางลบกับคนอื่นๆ "
“ซนจริงๆค่ะ น่าเบื่อมากเลย”

“เขาเป็นเด็กดื้อ พูดไม่เคยฟังเลย”

“ก่อปัญหามากที่สุด เอือมกันทั้งบ้านเลยครับ”

“ไม่เรียบร้อยเลย ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว”
ประโยคเหล่านี้มักจะออกจากปากพ่อแม่ สู่คนอื่นๆที่พ่อแม่รู้จักเสมอ บ่อยครั้งที่พูดต่อหน้าเด็ก ส่วนหนึ่งอาจมีความหวังว่า ถ้าเด็กได้ยินด้วยอาจจะอาย แล้วเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กมักไม่ดีขึ้นกับคำพูดเสียดแทงใจแบบนี้ เด็กส่วนมากจะเกิดความหงุดหงิด โกรธ ไม่พอใจ น้อยใจ เสียใจ อาย แต่ไม่มีกำลังใจจะแก้ไขตัวเอง และเมื่อได้ยินบ่อยๆ ก็จะคิดว่าตนเป็นแบบนั้นจริงๆ และคงแก้ไขอะไรไม่ได้ด้วย ( เหมือนความคิดของพ่อแม่นั่นเอง) ในเด็กวัยรุ่นจะเกิดความคิดตอบโต้ว่า “ก็เป็นแบบนั้นเลย จะได้สะใจดี” และจะจงใจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น

วิธีที่ดี ที่พ่อแม่น่าจะทำ คือ เปลี่ยนคำพูดใหม่ ให้เป็นความคาดหวังเด็กในทางที่ดีแทน เช่น
“เขาอยู่ไม่นิ่ง แต่ก็ชอบช่วยเหลือนะคะ”

“เขาสมาธิสั้น แต่ก็มีความพยายามทำงานจนเสร็จนะครับ”

“เขาเป็นคนมีน้ำใจต่อพี่น้องคะ”

“เขาชอบคนพูดดีๆ มองเขาในทางที่ดีครับ”

พูดถึงเด็กในทางที่ดี ต่อหน้าคนอื่น
Create Date :11 มกราคม 2551 Last Update :27 ธันวาคม 2551 21:50:18 น. Counter : Pageviews. Comments :2