bloggang.com mainmenu search
บทที่ 13 กิจกรรมที่ช่วยเสริมทักษะ
เด็กสมาธิสั้นมักอยู่ไม่นิ่ง อยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ การจัดกิจกรรมให้เหมาะกับเขาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีกิจกรรมรองรับให้เพียงพอ เด็กสมาธิสั้นจะแสวงหากิจกรรมเอง ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม แผลงๆ เสี่ยงอันตราย เด็กสมาธิสั้นมักชอบสิ่งที่ตื่นเต้น ท้าทาย กระตุ้นให้จิตใจอารมณ์ตื่นตัว เมื่อทำบ่อยๆ จะติดกับความสนุกแบบตื่นเต้นตื่นตัวเช่นนี้ และมีโอกาสเสี่ยงจะเกิดปัญหาตามมาได้มาก

สิ่งที่พ่อแม่ควรช่วยเด็กสมาธิสั้นเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น และส่งเสริมให้เกิดทักษะที่ดี คือการพยายามวางแผนจัดกิจกรรมที่เหมาะสมให้ แทนการที่เด็กจะหาเอง กิจกรรมที่ควรจัดเสริมกับการเรียนรู้ที่โรงเรียน ควรมีลักษณะต่อไปนี้
เด็กชอบที่จะเข้าร่วม กิจกรรมควรมีความสนุก ทำให้เด็กชอบ จูงใจให้เด็กเข้าร่วม รู้สึกมีส่วนร่วม ถ้าเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือมีความถนัดอยู่แล้ว จะทำให้เริ่มต้นได้ดี ถ้าเด็กไม่ถนัด การเข้าร่วมต้องมีสิ่งจูงใจเด็กเป็นพิเศษ เช่น ผู้นำกิจกรรมเข้ากับเด็กได้ดี

มีกฎเกณฑ์กติกา ไม่ควรปล่อยให้เด็กสมาธิสั้นเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่มีการควบคุม เนื่องจาก จุดอ่อนของเด็กสมาธิสั้นอยู่ที่การควบคุมตนเอง กิจกรรมที่เป็นอิสระเกินไป อาจกระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้นแสดงออกจนเลยขอบเขต จนเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น การมีข้อกำหนดบังคับ จะช่วยฝึกให้เด็กควบคุมตัวเองให้อยู่ในกติกา

แสดงออก เด็กสมาธิสั้นมักชอบแสดงออก กิจกรรมควรมีโอกาสให้เด็กแสดงออก อย่างสร้างสรรค์ และเกิดความสนุกกับการแสดงออกอย่างเหมาะสม ให้ผู้อื่นชื่นชม และชื่นชมตัวเองได้

ใช้พลังงานจากการเคลื่อนไหว เด็กสมาธิสั้นมักชอบเคลื่อนไหว ไม่ชอบหยุดอยู่เฉยๆ การมีกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว จะสนองความต้องการ และเป็นทางออกที่เหมาะสม ในเวลาเรียนตามปกติเด็กสมาธิสั้นมักไม่มีโอกาสเคลื่อนไหวมาก การมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวจึงช่วยปลดปล่อยพลังงานที่ถูกควบคุมไว้ในเวลาเรียนหนังสือได้เป็นอย่างดี

มีการหยุดให้ควบคุมตนเอง ในกิจกรรมที่เด็กสมาธิสั้นทำนั้น ควรมีบางช่วงที่ฝึกให้เด็กได้หยุด เพื่อควบคุมตนเองบ้าง หรือฝึกให้เด็กมีการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ให้มีลักษณะนุ่มนวล เบา อ่อนโยน มากน้อยแตกต่างกันบ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะเด็กสมาธิสั้นมักจะควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำอะไรเบาๆ ไม่ค่อยได้ ตัวอย่างเช่นกิจกรรมวาดเส้น การฝึกให้เด็กสมาธิสั้นวาดเส้นที่มีความแรงแตกต่างกัน จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้นรู้จักการควบคุมตัวเอง ให้เบามือได้เมื่อต้องการ

ฝึกทักษะที่ต้องการ เด็กสมาธิสั้นแต่ละคนมีทักษะที่ต้องการฝึกไม่เหมือนกัน บางคนต้องการฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อ บางคนต้องการทักษะในการเข้ากลุ่ม ควรเลือกกิจกรรมให้สอดคล้องกับทักษะที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น กิจกรรมเข้าจังหวะจะเหมาะกับเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยเกี่ยวกับตัวเอง การแกะสลักเหมาะกับเด็กที่มีความก้าวราว เป็นต้น

มีความสนุกจากความสงบ กิจกรรมบางอย่างจะฝึกให้เด็กเกิดความสงบในจิตใจ เช่น การฝึกสติ สมาธิ ศิลปะ ธรรมชาติศึกษา เป็นการฝึกให้เด็กสามารถหาความสุขได้จากกิจกรรมที่ไม่ตื่นเต้นเร้าใจ

เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าตนเอง เด็กสมาธิสั้นมักจะไม่ค่อยมีความรู้สึกดีต่อตนเอง เนื่องจากถูกดุถูกว่าอยู่เรื่อยๆ การใช้กิจกรรมที่ทำให้เกิดงานที่มีความสำเร็จ จะช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง กิจกรรมนั้นไม่ควรวัดคุณค่าที่ความสวยงาม ความเรียบร้อย แต่ควรวัดที่ความพยายาม หรือความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การยอมรับในกลุ่มเพื่อน กิจกรรมศิลปะแบบสร้างสรรค์เป็นตัวอย่างที่ดี

ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อเด็กเข้าร่วมกิจกรรม ข้อดีที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใด คือ เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มิฉะนั้นเด็กสมาธิสั้นจะจับกลุ่มไปทำกิจกรรมที่เป็นปัญหา เมื่อเริ่มสนุกกับกิจกรรมที่ดีแล้วต่อไปเด็กจะเรียนรู้ว่า เวลาว่างควรจะจัดการอย่างไร มีการวางแผนในการหากิจกรรมที่เหมาะสมแทนที่จะอยู่เฉยๆ การได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม หรือลองกิจกรรมมากๆ เป็นทางเลือกที่เด็กจะเก็บไว้ในใจ เมื่อมีโอกาส หรือมีเวลาว่าง เด็กจะเลือกที่จะเข้ากิจกรรมนั้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอพ่อแม่อีกต่อไป

ได้กลุ่มเพื่อนที่ดี กิจกรรมส่วนมากมักจัดเป็นกลุ่ม และมีการรู้จักกันในษมาชิกกลุ่ม บางกลุ่มเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก การทำงานร่วมกัน การติดต่อสื่อสาร การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้เด็กได้เพื่อนใหม่ ที่ดี มีคุณภาพ เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็ก ป้องกันมิให้เด็กไปหากลุ่มภายนอกโรงเรียนเอง ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหา ขาดการควบคุม อาจชักจูงเด็กไปในทางที่ผิดได้ง่าย

สรุป ส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก มิฉะนั้นเด็กจะหากิจกรรมที่เป็นปัญหา

กิจกรรมที่ควรส่งเสริม มีดังตัวอย่างต่อไปนี้
ค่ายเยาวชน ช่วยส่งเสริมทักษะสังคมเกือบทุกรูปแบบ การปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่น การมีระเบียบวินัย การเป็นที่ยอมรับของเพื่อน และผู้ใหญ่ ความกล้าแสดงออก การมีเพื่อนใหม่

ศิลปะ ช่วยส่งเสริมการแสดงออก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การควบคุมตนเอง การเพลิดเพลินกับความสวยงาม ความสงบ

การวาดรูป/วาดเส้น ช่วยเรื่องการสังเกต การมีมุมมองที่แตกต่างกัน การควบคุมตนเอง การระบายอารมณ์

สีน้ำ ช่วยเรืองการตัดสินใจ การควบคุมตนเอง การรอคอย การระบายอารมณ์

แกะสลัก ช่วยเรื่องการระบายความก้าวร้าว การควบคุมตนเอง

เครื่องปั้นดินเผา ช่วยเรื่องการควบคุมตนเอง การมีสมาธิ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การระบายความก้าวร้าว

ดนตรี ช่วยส่งเสริมเรื่องการควบคุมตนเอง การระบายอารมณ์ การสนุกสนานเพลิดเพลินกับดนตรี การฝึกอารมณ์ให้อ่อนโยน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ออกกำลังกายแบบแอโรบิค ช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกาย การมีระเบียบวินัย การควบคุมตนเอง การมีความสุขกับการออกกำลังกาย การปรับใจให้มีความสงบสุข

กีฬา ช่วยเสริมความสามารถในทักษะ เช่นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การทำงานประสานกันระหว่างกล้าเนื้อและสายตา การควบคุมตนเอง การควบคุมอารมณ์ การทำงานกลุ่ม การรู้จักแพ้/ชนะ การยอมรับในคนอื่นๆ

กิจกรรมเข้าจังหวะ ช่วยเสริมเรื่อง การควบคุมตนเอง การมีสติ การควบคุมกล้ามเนื้อ การทำงานร่วมกับคนอื่น

การพูดหรือการแสดง ช่วยเสริมความกล้าแสดงออก การเผชิญปัญหา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความรู้สึกภาคภูมิใจตนเอง การวางแผนล่วงหน้า การเตรียมความพร้อม การคิดก่อนพูด

ทัศนศึกษา ช่วยเสริมทักษะสังคม การสังเกต การชื่นชมสิ่งแวดล้อม การคิดวิเคราะห์ การมองโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดี การปรับตัวเข้ากับกลุ่ม

เลี้ยงสัตว์ ช่วยเสริมเรื่อง ความรับผิดชอบ การวางแผน การมีจิตใจอ่อนโยน การมีเมตตาต่อผู้อื่น
Create Date :11 มกราคม 2551 Last Update :27 ธันวาคม 2551 21:52:19 น. Counter : Pageviews. Comments :3