bloggang.com mainmenu search
บทที่ 5 การแก้ไขปัญหาเป็นระบบ

การฝึกให้แก้ปัญหาเป็นระบบ
การแก้ปัญหาของเด็กสมาธิสั้น มักขาดความรอบคอบ แก้ปัญหาตามอารมณ์ ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา การฝึกแก้ปัญหาทำได้ โดยใช้สถานการณ์ในชีวิตเป็นเหมือนแบบฝึกหัด ชวนเด็กพูดคุยเพื่อให้เข้าใจและค่อยๆเรียนรู้ระบบความคิดที่ดี ที่เหมาะสม ชวนให้เขาแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึก สถานการณ์ในชีวิตอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนที่โรงเรียน ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวในโทรทัศน์ จากเหตุการณ์นั้น ลองชวนเขาคุย เช่น
“ลูกคิดอย่างไรบ้างกับเหตุการณ์นี้”

“ลูกลองสรุปประเด็นปัญหา”

“ลูกคิดว่าข้อมูลที่ได้ เพียงพอหรือไม่ที่จะแก้ปัญหา”

“ลูกคิดว่าสาเหตุของปัญหา เกิดจากอะไร”

“มีทางแก้ไขปัญหาอย่างไร”

“ลูกต้องการความเห็น หรือข้อมูลเพิ่มเติมอีกบ้างไหม”

“มีทางเลือกอะไรบ้าง ทางเลือกอื่นมีหรือไม่”

“ถ้าเป็นลูก ลูกจะทำอย่างไร” “เหตุใดจึงทำเช่นนั้น”

“มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าบ้างไหม”

“ข้อดีข้อเสียของทางเลือกนั้น มีอะไรบ้าง”

“ถ้าทำแบบนี้ จะเป็นอย่างไร ถ้าทำแบบนั้นผลตามมาจะเป็นอย่างไร สรุปแล้ว อะไรดีกว่า”
ในบางกรณีการแก้ไขปัญหาอาจต้องวางแผน หรือแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม ควรถามลูกว่า ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติม จะหาได้จากที่ไหน หาอย่างไร เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือผู้อื่นหรือไม่ เหตุไรจึงไม่ปรึกษาคนที่ควรปรึกษา (เช่น พ่อแม่ หรือครู ) คิดว่าปรึกษาแล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไร การชวนให้เด็กคิดเช่นนี้ ควรทำด้วยท่าทีเป็นกลาง อย่าเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของเขา แม้เห็นชัดๆว่าไม่ได้เรื่อง แต่การชวนกันคุยไปเรื่อยๆ เด็กจะรู้เองว่าความคิดไหนเข้าท่า ทำแล้วมีโอกาสสำเร็จมาก พ่อแม่เพียงชมความคิดที่ดีของเขาเป็นระยะๆเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

ในกรณีที่พ่อแม่อยากแนะนำจริงๆ ควรสังเกตดูสถานการณ์ว่าเขาพร้อมที่จะรับหรือไม่ ถ้าเด็กมีทีท่ายอมรับ การเสนอความคิดเห็นของพ่อแม่ก็อาจเป็นประโยชน์ ทำให้เขาได้เห็นทางออก หรือทางเลือก หรือทัศนคติของพ่อแม่ ต่อเหตุการณ์นั้นตรงๆ วิธีนี้ใช้ได้ผลในเด็กก่อนวัยรุ่น

ในวัยรุ่นเด็กอาจไม่ค่อยยอมรับความคิดผู้ใหญ่ง่ายๆ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติปกติของวัยนี้ การให้วัยรุ่นยอมรับได้ง่าย ไม่เป็นการยัดเยียดเกินไป ควรเสนอความคิดเห็นโดยไม่กะเกณฑ์ให้เขาเชื่อทันที เช่น เสนอว่า
“เป็นไปได้ไหมว่า เหตุการณ์อาจเกิดขึ้นอีกแบบหนึ่ง”

“พ่อ(หรือแม่) คิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้”

“ทางออกเรื่องนี้ ถ้าเป็นพ่อ(หรือแม่) จะทำอย่างนี้ ...............ลูกคิดอย่างไร”
ตอนท้ายพยายามขมวดถามเพื่อให้เขาแสดงออกแย้ง หรือเห็นด้วยกับผู้ใหญ่หรือไม่ก็ได้ ความคิดเห็นใดที่ดีควรชม และสนับสนุนให้ทำ
Create Date :11 มกราคม 2551 Last Update :27 ธันวาคม 2551 21:37:04 น. Counter : Pageviews. Comments :1