bloggang.com mainmenu search
"เยเมน” ฐานแห่งใหม่ของอัล กออิดะฮ์

โดย

พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2553



ทหารสหรัฐฯ ขณะปฏิบัติการรบในอัฟกานิสถาน


ภายหลังจากที่สหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรนาโต้ (NATO – North Atlantic Treaty Organization) โหมปฏิบัติการทหารในอัฟกานิสถานอย่างรุนแรงในห้วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อหวังทำลายกลุ่มตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายอัล กออิดะฮ์ ซึ่งใช้อัฟกานิสถานเป็นสถานที่ในการส่งออกการก่อการร้ายไปทั่วโลก ส่งผลให้กลุ่มตาลีบันและอัล กออิดะฮ์ประสบความสูญเสียอย่างหนัก

โดยเฉพาะกลุ่มอัล กออิดะฮ์ที่ต้องสูญเสียผู้นำทางทหารของตนไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่โอซามา บินลาเดน ผู้นำของกลุ่มก็ต้องหลบหนีเข้าไปในรัฐวาซิริสสถานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของปากีสถาน

ส่วนนักรบอัล กออิดะฮ์ที่ส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศอื่นๆ ทั้งจากแอฟริกาและเอเชียใต้ เช่น โซมาเลีย เยเมน ลิเบีย ซีเรีย ซาอุดิอารเบีย จอร์แดนและเลบานอน ต่างก็ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ในอัฟกานิสถาน เพื่อไปตั้งหลักอยู่ในประเทศที่มีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการตั้งฐานปฏิบัติการก่อการร้าย เพื่อเอาชนะชาติตะวันตกตามแนวความคิดของกลุ่มตนต่อไป

ประเทศที่มีบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งรกรากของกลุ่มอัล กออิดะฮ์นั้น หากจะมองดูแล้วก็คงจะหนีไม่พ้น ประเทศที่มีสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนานส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน ดังเช่นประเทศโซมาเลียและประเทศเยเมน

สำหรับประเทศโซมาเลียนั้นเป็นประเทศที่มีการสู้รบในลักษณะของสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลายาวนานและไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด กรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของโซมาเลียกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยการสู้รบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น สหพันธ์สภาคองเกรสโซมาเลีย (United Somali Congress) กลุ่มเคลื่อนไหวแห่งชาติโซมาเลีย (Somali National Movement) และกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยโซมาเลีย (Somali Democrat Movement) เป็นต้น



ซากปรักหักพังของกรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของโซมาเลีย


จนกระทั่งปี ค.ศ.1993 สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในภารกิจ “ยูโนซอม” (UNOSOM – United Nation Operation in Somalia) จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารสหรัฐฯ กับกลุ่มกบฏโซมาเลีย จนเฮลิคอปเตอร์ ยูเอช 60 แบล็คฮอว์ค (UH 60 Blackhawk) จำนวน 2 ลำถูกยิงตกและกลายเป็นเรื่องราวดังกระฉ่อนโลกเพียงชั่วเวลาข้ามคืน

ภายหลังจากเหตุการณ์ “แบล็กฮอว์ค ดาวน์” (Blackhawk down) ความขัดแย้งในโซมาเลียยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งในปี ค.ศ.2006 รัฐบางส่วนประกาศแยกตัวเป็นเขตปกครองตนเอง เกิดการรบพุ่งกันขึ้นกลางกรุงโมกาดิชชูระหว่าง

- “กลุ่มพันธมิตรเพื่อการฟื้นฟูสันติภาพและต่อต้านการก่อการร้าย” (ARPCT - Alliance for the Restoration of Peace and Counter-Terrorism) และ

- กลุ่มติดอาวุธที่ภักดีต่อ “สหพันธ์ศาลอิสลาม” (I.C.U – The Islamic Courts Union) ซึ่งมุ่งหวังเปลี่ยนโซมาเลียให้เป็นประเทศที่ปกครองโดยหลักศาสนาที่เข้มงวดและเคร่งครัดแบบ “สุดโต่ง” ชนิดที่เรียกว่า ห้ามแม้กระทั่งการเล่นฟุตบอลหรือชมการถ่ายทอดสดกีฬา การสู้รบส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่โดยรวมกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งเข้าด้วยกัน แต่สงครามและการต่อสู้ในสภาพสงครามกลางเมืองก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ชื่อ “อัล ชาบาบ” (Al Shabab) ซึ่งในภาษาพื้นเมืองแปลว่า “คนเลี้ยงม้า” ได้กลายเป็นกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงที่มีอิทธิพลครอบคลุมในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ

กำลังพลของกลุ่มมักจะออกโจมตีและตัดศีรษะทหารโซมาเลียตามจุดตรวจต่างๆ ตามแบบฉบับของกลุ่มก่อการร้ายในอิรัก บทบาทในการก่อการร้ายของอัล ชาบาบมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนสหรัฐฯ ประกาศให้กลุ่มดังกล่าวเป็น “องค์กรก่อการร้ายต่างชาติ” (Foreign Terrorist Organizations) เช่นเดียวกับกลุ่มอัล กออิดะฮ์



นักรบกลุ่ม "อัล ชาบาบ" ของโซมาเลีย


กลุ่มอัล ชาบาบได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้กลุ่มนักรบอัล กออิดะฮ์ที่แตกกระสานซ่านเซ็นจากการโจมตีของสหรัฐฯ และนาโต้ในอัฟกานิสถานให้เข้าไปร่วมขบวนการสร้าง “รัฐศาสนาแบบสุดโต่ง” ด้วยการประกาศ “สงครามทางศาสนา” หรือ จิฮาด (Jihad) การรวมตัวของอัล กออิดะฮ์และอัล ชาบาบ ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข็มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการรวมตัวของทั้งสองกลุ่มยังกลายเป็นภัยคุกคามโซมาเลียที่ตกอยู่ในสภาพ “รัฐที่ล้มเหลว” และเป็นภัยคุกคามสันติภาพของโลกโดยส่วนรวมอีกด้วย

นอกจากโซมาเลียแล้ว เยเมนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีทีท่าว่าจะก้าวขึ้นแซงหน้าโซมาเลียในการเป็นประเทศสำหรับหลบภัยและซ่องสุมกำลังของกลุ่มอัล กออิดะฮ์

เพราะเยเมนมีทุกอย่างที่เหมาะสมกับการพักฟื้นตัวของนักรบอัล กออิดะฮ์ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีการสู้รบยืดเยื้อในสงครามกลางเมือง มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงที่พยายามสถาปนารัฐที่ปกครองโดยใช้หลักศาสนาเป็นกฏหมาย

อีกทั้งยังมีรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น มีเงื่อนไขการกดขี่ทางชนชั้นสูงมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในกลุ่มโลกอาหรับ และที่สำคัญคือเยเมนตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ความขัดแย้งของโลกยุคปัจจุบันนั่นคือ อัฟกานิสถานและอิรัก เหล่าสมาชิกของกลุ่มสามารถเดินทางหลบหนีผ่านเข้าออกช่องทางต่างๆ ไปมาได้ โดยใช้เส้นทางระหว่างประเทศโอมานและซาอุดิอาระเบียซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน



ทหารเยเมนยิงเป้ากลุ่มก่อการร้ายกลางชุมชน



ความน่าสนใจของเยเมนเริ่มปรากฏออกสู่สายตาชาวโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 เมื่ออดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซนส่งกำลังทหารเข้ายึดครองคูเวต ขณะนั้นมีเพียงไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนอิรัก แต่เยเมนกลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนการรุกรานของอิรักอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

นับเป็นการดำเนินนโยบายทางการทูตที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะส่งผลให้เยเมนที่ยากจนอยู่แล้ว ถูกโดดเดี่ยวและถูกตัดความสัมพันธ์จากโลกภายนอก อันหมายรวมถึงความช่วยเหลือจำนวนมหาศาลจากกลุ่มประเทศอาหรับที่ร่ำรวย ซึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบีย ส่งผลให้ชาวเยเมนจำนวนไม่น้อยกว่า 850,000 คนที่ประกอบอาชีพอยู่ในซาอุดิอารเบียถูกผลักดันออกนอกประเทศ

การถูกโดดเดี่ยวของเยเมนไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับประชาชนชาวเยเมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การขาดแคลนอาหารและสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเยเมนบางประเทศ เช่น โอมานและซาอุดิอารเบีย ก็หาเหตุด้วยการรื้อฟื้นข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนขึ้นมาเป็นสาเหตุของความขัดแย้งครั้งใหม่

ในขณะที่บางประเทศสนับสนุนให้เกิดสงครามกลางเมืองในเยเมนในปี ค.ศ.1994 ความยากจนและสงครามกลางเมืองทำให้ชาวเยเมนกว่า 15,000 คนอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าสำหรับตนเองและครอบครัว

แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเยเมนกับกลุ่มประเทศอาหรับอีกครั้ง แต่ดูเหมือนทุกอย่างก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่งผลให้ความยุ่งยากในเยเมนขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการขยายตัวของอาชญากรรมเพิ่มสูงมากขึ้นเป็นเท่าตัวอันเนื่องมาจากความอดอยาก โดยเฉพาะการลักพาตัวชาวต่างประเทศในเยเมนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2009 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 9 คนถูกลักพาตัวไป และมีผู้รอดชีวิตเพียง 2 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ความสัมพันธ์ของเยเมนกับประเทศต่างๆ จะเสื่อมทรามลง แต่ยังมีอีกประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเยเมนมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ประเทศโซมาเลีย ที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้วนั่นเอง



สภาพกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน


ทั้งนี้เนื่องจากความผูกพันทางศาสนาและชาติพันธุ์มาตั้งแต่โบราณ จนชนเชื้อชาติโซมาเลียและเยเมนได้ผสมกลมกลืนกันจนแทบแยกจากกันไม่ออก ความผูกพันเหล่านี้ส่งผลให้ทั้งสองประเทศคบหาสมาคมกันมาอย่างต่อเนื่อง

ดังเช่นในห้วงที่เกิดสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรงในโซมาเลียเมื่อกลางทศวรรษที่ 1990 เยเมนได้ประกาศเปิดชายแดน เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสงครามจากโซมาเลียเข้าไปพำนักอยู่ในประเทศของตนโดยไม่มีเงื่อนไข

ซึ่งผลการสำรวจจำนวนผู้ลี้ภัยของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ.2007 พบว่ามีผู้ลี้ภัยโซมาเลียอาศัยอยู่ในประเทศเยเมนเป็นจำนวนถึง 101,600 คน รวมทั้งมีคนเชื้อชาติโซมาเลียกว่า 700,000 คนทำงานอยู่ในเยเมนจากประชากรทั้งประเทศ 23 ล้านคน

เยเมนเป็นประเทศที่มีสงครามกลางเมืองและเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 เป็นต้นมา กองทัพเยเมนได้เปิดฉากการรบกับกลุ่มกบฎชีอะห์ ฮูธิ (Shiite Houthi) ที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลนิกายสุหนี่ (Sunni) ในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ

ในปี ค.ศ.2009 การสู้รบแผ่ขยายไปทั่วพื้นที่ภาคเหนือจนลามเข้าไปในซาอุดิอารเบีย ทั้งนี้นาย ซิกริด คาก (Sigrid Kaag) เจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ “ยูนิเซฟ” (UNICEF – United Nations Children’s Fund) เปิดเผยว่าสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยสงครามเพิ่มขึ้นจาก 150,000 คน เป็น 175,000 คนภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

เด็กและสตรีจำนวนมากต้องเผชิญเคราะห์กรรมจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ จนทำให้เยเมนกลายเป็นประเทศแห่งสงครามกลางเมืองไปแล้ว



การสู้รบในเยเมน


สภาพอันสั่นคลอนของเยเมนกลายเป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มนักรบอัล กออิดะฮ์มุ่งหน้าเข้ามาพักพิงหลบซ่อนในดินแดนแห่งนี้ บางส่วนติดต่อกับอัล กออิดะฮ์ในโซมาเลีย เพื่อสร้างเครือข่ายในการเตรียมการก่อการร้ายขึ้น โดยเชื่อมโยงกับโอซามา บิน ลาเดนที่ยังคงปักหลักอยู่ในรัฐวาซิริสถานที่อยู่บริเวณชายแดนทางตอนเหนือของปากีสถาน - อัฟกานิสถาน

การติดต่อระหว่างกลุ่มอัล กออิดะฮ์จากภายนอกและกลุ่มอัล กออิดะฮ์ภายในเยเมนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเยเมนมีประวัติเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของกลุ่มอัล กออิดะฮ์มาช้านาน สังเกตได้จากจำนวนนักโทษของอัล กออิดะฮ์ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำทหารของสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม เป็นชาวเยเมนถึงร้อยละ 40 ของนักโทษทั้งหมดหรือคิดเป็นจำนวนกว่า 100 คน

นอกจากนี้อัล กออิดะฮ์บางส่วนได้จัดตั้งค่ายพักเพื่อทำการฝึกฝนคนรุ่นใหม่ทดแทนนักรบรุ่นเก่าๆ ที่ล้มหายตายจากไป จนกระทั่งสหรัฐฯ มองเห็นว่าการเติบโตของอัล กออิดะฮ์ในเยเมนกำลังเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว จึงได้ประสานกับทางการเยเมนเปิดฉากโจมตีค่ายฝึกของอัล กออิดะฮ์ในกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมนและเมืองอับยานในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.2009

การโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 60 คน เป็นเด็กจำนวนถึง 28 คน แต่ก็มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาว่าการโจมตีทางอากาศในครั้งนี้ เป็นการโจมตีโดยเครื่องบินโจมตีแบบ มิก 29 ของกองทัพอากาศเยเมนเอง โดยใช้การข่าวที่ได้รับสนับสนุนอย่างลับๆ จากองค์กรข่าวกรองกลางหรือ ซีไอเอ (CIA – Central Intelligence Agency) ของสหรัฐฯ เพื่อมุ่งหวังทำลายกองกำลังอัล กออิดะฮ์

สำหรับการโจมตีทางอากาศครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.2009 คราวนี้การโจมตีประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสังหารแกนนำของกลุ่มได้อย่างน้อย 2 คนพร้อมกับสมาชิกอีกกว่า 30 คน แม้ว่าอีกไม่กี่วันต่อมา ทางกลุ่มจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีระดับแกนนำถูกสังหารจากการโจมตีดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อปี ค.ศ.2008 สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมนได้ถูกวางระเบิดโดยกลุ่มอัล กออิดะฮ์ในเยเมน และในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.2009 กลุ่มอัล กออิดะฮ์ในเยเมนก็ได้ส่งนายอับดุลลาห์ ฮัสซัน อัล อาซิรี (Abdullah Hassan al Asiri) มือระเบิดพลีชีพข้ามแดนเข้าไปในซาอุดิอารเบียเพื่อลงมือสังหารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ (Mohammed bin Nayef) แห่งซาอุดิอารเบียซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง

โดยมือระเบิดได้ซุกซ่อนระเบิดไว้ในกางเกงชั้นใน แต่การลงมือผิดพลาด ทำให้เจ้าชายนาเยฟรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ส่วนนายอัล อาซิรี มือระเบิดเสียชีวิต

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอูมาร์ ฟารุค อับดุลมูตาลลาป (Umar Farouk Abdulmutallab) นักรบอัล กออิดะฮ์ชาวไนจีเรียก็ก่อเหตุก้องโลกขึ้น ด้วยการซุกซ่อนระเบิดที่ได้รับมาจากกลุ่มของตนในเยเมนไว้ในชุดชั้นใน เพื่อเตรียมโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพบนสายการบินนอร์ท เวสต์ เที่ยวบินที่ 253

แต่แผนการ “โจมตีในวันคริสตมาส” ดังกล่าวล้มเหลวเสียก่อน ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.2010 สหรัฐฯ และอังกฤษต้องสั่งปิดสถานทูตของตนในเยเมน โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย ภายหลังจากที่ได้รับรายงานว่า มีมือระเบิดพลีชีพจำนวน 8 คนกำลังจะเข้าโจมตีสถานทูตของทั้งสองประเทศ ผลการสอบสวนสามารถจับตายมือระเบิดพลีชีพพร้อมเข็มขัดระเบิดพลีชีพได้ 3 คน และจับเป็นได้ 1 คน

การก่อการร้ายที่มีฐานส่งออกมาจากเยเมน ทำให้สหรัฐฯ และโลกเริ่มจับตามองเยเมนด้วยสายตาที่หวาดระแวงยิ่งขึ้น ว่า การตั้งหลักปักฐานของอัล กออิดะฮ์ในเยเมนน่าจะมีความคืบหน้าไปมาก จนสามารถดำเนินการส่งออกการก่อการร้ายได้ระดับหนึ่งแล้ว

แม้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าของสหรัฐฯ จะออกมายืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่มีนโยบายในการส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามกลุ่มอัล กออิดะฮ์และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในประเทศเยเมนแต่อย่างใด

ในขณะที่รัฐบาลเยเมนเองก็หวาดหวั่นกับการเติบโตของกลุ่มกบฎชีอะห์ ฮูธิและกลุ่มอัล กออิดะฮ์ไม่น้อย มีการร้องของบประมาณจากสหรัฐฯ ในการจัดทำโครงการในการให้โอกาสแก่กลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวเยเมนที่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงกิจการศาสนาของรัฐบาลเยเมนที่ลอกแบบมาจากโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของประเทศซาอุดิอารเบีย

แต่ผลการดำเนินงานตามโครงการของเยเมนกลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เมื่อกลุ่มนักรบศาสนาหัวรุนแรงจำนวนกว่า 360 คนที่เข้าร่วมโครงการ ถูกทอดทิ้งเมื่อจบโครงการ ไม่มีการจัดหางาน เงิน หรือที่พักอาศัยให้เหมือนกับที่ซาอุดิอารเบียดำเนินการ ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวหมดโอกาสทางสังคมและหันกลับเข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายกับอัล กออิดะฮ์อีกครั้ง

เมื่อหมดหนทางในการใช้โครงการต่างๆ เข้ายุติการขยายตัวของกลุ่มอัล กออิดะฮ์ ทางการเยเมนก็ตัดสินใจปราบปรามกลุ่มกบฎชีอะห์ ฮูธิ และกลุ่มอัล กออิดะฮ์อย่างรุนแรง เพราะเชื่อว่าทั้งสองกลุ่มมีความเชื่อมโยงกันในการโค่นล้มรัฐบาล






การปราบปรามกระทำแบบเหวี่ยงแหตามแบบฉบับของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ใช้นโยบาย “ยิงก่อน ถามทีหลัง” (shoot first, question later) จนสำนักงานใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR - United Nations High Commissioner for Refugees) รายงานว่าการปราบปรามดังกล่าวทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหาร ถูกทรมาน ถูกจับกุมโดยปราศจากการสอบสวนที่ยุติธรรม รวมไปถึงมีการเนรเทศผู้ต้องสงสัยออกนอกประเทศอย่างไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนมาก

ทำให้ผู้คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่เยเมนบุกเข้าไปข่มขืน กระทำทารุณตลอดจนสังหารผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย

ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่าการปราบปรามในรูปแบบนี้ นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะอัล กออิดะฮ์ได้แล้ว ยังเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชนที่ไม่มีทางเลือก จนต้องหันหน้าเข้าร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวในที่สุด เข้าทำนอง “ยิ่งตี ยิ่งโต” นั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มอัล กออิดะฮ์ในเยเมน กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ เปรียบได้ดังปุ๋ยชั้นดีสำหรับพืชพันธุ์ที่ถูกหว่านลงสู่พื้นดิน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลเยเมนและประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ที่จะต้องร่วมมือกันยุติการตั้งฐานที่มั่นแห่งใหม่ของอัล กออิดะฮ์ในประเทศเยเมน

เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เยเมนจะกลายเป็นจุดส่งออกแห่งใหม่ของการก่อการร้ายที่น่าสพรึงกลัว อันจะเป็นภัยคุกคามสันติภาพของโลกและมวลมนุษยชาติในระยะอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

Create Date :05 พฤษภาคม 2553 Last Update :5 พฤษภาคม 2553 14:22:01 น. Counter : Pageviews. Comments :1