bloggang.com mainmenu search
การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในแอฟริกา (2)

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธิ์ ใช้เพื่การศึกษาเท่านั้น ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์




"การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ตรงกับคำว่า "genocide" ในภาษาอังกฤษหมายถึง การสังหารอย่างเป็นระบบเพื่อทำลายล้างชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ชนเชื้อสายใดเชื้อสายหนึ่ง ชนเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่งหรือชนศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้หมดสิ้นไป ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราได้เคยเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุที่โหดเหี้ยมในยุคนาซีเรืองอำนาจระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมันในสมัยนั้นสั่งการให้สังหารชาวยิวกว่า 7 ล้านคน เพื่อมุ่งหวังทำลายล้างชนเชื้อสายยิวให้หมดไปจากยุโรป หรือการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโปแลนด์ที่ฮิตเลอร์มองว่าเป็นชนชั้นทาส (slave) ที่ไร้คุณค่า รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซียที่พรรคนาซีมองว่าเป็นชนชั้นที่ "ต่ำกว่ามนุษย์" (sub-human) การสังหารแบบล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้หวนกลับมาซ้ำรอยเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าชาวบอสเนียในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายๆ ประเทศของแอฟริกา เป็นต้น

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในทวีปแอฟริกานอกเหนือจากประเทศ "รวันดา" และ "ภูมิภาคดาร์ฟูร์" ของประเทศ "ซูดาน" ที่ได้นำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งบทความในตอนนี้จะขอนำเสนอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศ "โซมาเลีย" และ “บุรุนดี" ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความโหดเหี้ยมไม่แพ้การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในรวันดาและซูดานเลย แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มากมายเท่ากับสองประเทศดังกล่าว แต่ชีวิตมนุษย์เพียงชีวิตเดียวก็มีีค่าเอนกอนันต์จนไม่สามารถจะประมาณได้





โซมาเลีย

โซมาเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า ดินแดนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกสุดของทวีปแอฟริกาแห่งนี้เต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนานนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 คนไทยรู้จักโซมาเลียผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญสองอย่างคือ เหตุการณ์แรกคือการสูญเสียเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 64 แบล็คฮอว์ค (UH 64 Black Hawk) ของกองทัพสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1993 ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อจับกุมตัวผู้นำกองกำลังติดอาวุธโซมาเลีย ผ่านทางภาพยนตร์เรื่อง "Black Hawk Down” และเหตุการณ์ที่สองคือการปฏิบัติภารกิจของ "หมู่เรือปรามโจรสลัดโซมาเลีย" ของราชนาวีไทยภายใต้กรอบของสหประชาชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการคุ้มกันขบวนเรือสินค้านานาชาติที่แล่นผ่านน่านน้ำอ่าวเอเดนของประเทศโซมาเลีย

นอกเหนือจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เราแทบไม่ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศโซมาเลียเลย เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา โซมาเลียไม่มีรัฐบาลกลางปกครองประเทศ แม้จะมีความพยายามหลายครั้งหลายคราในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่ในรูปของสงครามกลางเมืองก็ส่งผลให้ความพยายามเหล่านั้นล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด กลุ่มต่างๆ ล้วนประกาศตนเป็นอิสระ หรือไม่ก็ประกาศตนเป็นเขตปกครองตนเอง (autonomous)

เช่น กลุ่มในพื้นที่ "โซมาลีแลนด์" (Somaliland) ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ, กลุ่ม "อัล-ชาบาบ" (Al-Shabaab) ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงที่เชื่อว่ามีการติดต่อประสานงานกับกลุ่มก่อการร้ายชื่อก้องโลก "อัล กออิดะฮ์" หรือ "อัล เคด้า" (Al Qaeda) ควบคุมส่วนหนึ่งของกรุงโมกาดิชชู เมืองหลวงของประเทศและพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศ, กลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในพื้นที่ "พุนทแลนด์" (Puntland) ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกาศเป็นเขตปกครองตนเองแต่ไม่ขอเป็นเอกราชจากโซมาเลีย ในขณะที่นานาชาติให้การรับรอง "รัฐบาลสหพันธรัฐเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ" (Transitional Federal Government) ที่ควบคุมพื้นที่เพียงบางส่วนของกรุงโมกาดิชชู และบางส่วนของพื้นที่ภาคกลาง เป็นต้น

ความขัดแย้งและการสู้รบในโซมาเลียส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากที่ตกอยู่ระหว่างกลางของความขัดแย้งกลายเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายครั้งที่ชาวบ้านถูกกองกำลังทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฎโจมตีสลับไปมา เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกบฎ ในขณะที่กลุ่มกบฎก็เชื่อว่าการโจมตีของรัฐบาลที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการสนับสนุนให้ข่าวสารของพวกชาวบ้าน ผลที่เกิดขึ้นก็คือประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในอันตรายอย่างไม่มีหนทางเลือก

ตัวเลขสถิติขององค์การสหประชาชาติประมาณว่า ตั้งแต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา มีประชาชนหลายหมื่นคนถูกสังหาร ข่มขืนและกระทำทารุณ อีกกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานของตน และอีกกว่าหกแสนคนแปรสภาพเป็นผู้ลี้ภัยสงครามไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และต้องทนกับสภาพที่อดอยาก แร้นแค้นและเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด รวมทั้งมีหลายครั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกโจมตีโดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฎจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก






การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโซมาเลียที่ถูกบันทึกไว้ตอนหนึ่งคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโซมาเลียเชื้อสาย "บันตู" (Bantu) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในหุบเขา "จับบา" (Jubba Valley) โดยหุบเขาจับบานั้นตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโซมาเลีย มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 500 ไมล์ กว้างใหญ่ไพศาลทอดยาวจากชายแดนที่ติดกับประเทศเอธิโอเปียไปจนจรดมหาสมุทรอินเดีย มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำ "จับบา" ไหลผ่าน ทำให้มีประชาชนอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้กว่าหนึ่งล้านคน และส่วนหนึ่งก็คือชาวบันตูนั่นเอง

ชาวบันตูเป็นชนกลุ่มน้อยที่อดีตเคยเป็นชนชั้นทาส มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ พวกเขามักถูกดูหมิ่นและเหยียดหยามจากชาวโซมาเลีย ชาวบันตูมีถิ่นฐานถาวรอยู่ในหุบเขาจับบาเนื่องจากมีอาชีพเกษตรกร ที่ต้องอาศัยที่ดินทำการเพาะปลูกจึงลงหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง ทำให้ง่ายต่อการเข้าโจมตีจากกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนที่ผ่านไปมา นอกจากนี้พืชผลทางการเกษตรที่พวกบันตูเก็บเกี่ยวไว้ ก็เป็นสิ่งล่อตาล่อใจกลุ่มติดอาวุธทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฎที่ต้องการเสบียงอาหารไปเลี้ยงคนของตน เพราะสถานการณ์การสู้รบที่ยืดเยื้อในโซมาเลีย ส่งผลให้การเพาะปลูกทั่วประเทศไม่ประสบผลสำเร็จ ประชาชนอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร ดังนั้นเสบียงอาหารในพื้นที่ของชาวบันตูจึงเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจบุคคลภายนอกเป็นอย่างดี

ตลอดห้วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 มาจนถึงปี ค.ศ.2000 ชาวบันตูในหุบเขาจับบาตกเป็นเป้าหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นับครั้งไม่ถ้วน ส่วนใหญ่เป็นผลจากน้ำมือของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนำโดยจอมเผด็จการ ซิยาด แบเร่ (Siyad Barre) ที่เรืองอำนาจมาจนถึงปี ค.ศ.1991 ก่อนถูกโค่นล้มลง จนอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลของนายซิยาด แบเร่เป็นผู้เข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบันตูมากกว่ากองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ชาวบันตูถูกกวาดล้างจนแทบจะสูญพันธ์ไปจากโซมาเลีย จนเจ้าหน้าที่ขององค์กรนานาชาติ "ออกซ์แฟม" (OXFAM) ถึงกับขนานนามหุบเขาจับบาว่าเป็น "หลุมศพขนาดใหญ่" (One big graveyard) เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในหุบเขาแห่งนี้ จะต้องพบกับซากศพของชาวบันตูที่ถูกสังหารเสมอ

การเข่นฆ่าชาวบันตูดำเนินต่อไปอย่างโหดเหี้ยมแม้นายซิยาด แบเร่ จะพ้นจากอำนาจไปแล้วก็ตาม เพราะรูปแบบการทำลายล้างชาวบันตูของเขาได้กลายเป็นแม่แบบให้กับหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติสืบมา ไม่ว่าจะเป็นการปล้นเสบียงอาหารเพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูกำลังพลฝ่ายตน หรือการทำลายล้างชาวบันตูเพื่อเข้าครอบครองพื้นที่ทางการเกษตร ตลอดจนการข่มขืน กระทำชำเราสตรีชาวบันตูในหุบเขาแห่งนี้

แม้กระทั่งการเข้าแทรกแซงขององค์การสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1992-1993 ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวลงได้ ในทางตรงกันข้ามชาวบันตูกลับมีความรู้สึกว่าการเข้ามาของสหประชาชาติทำให้พวกเขามีความเสี่ยงภัยสูงมากขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะเมื่อกองกำลังสหประชาชาติถอนออกไปจากพื้นที่บางส่วนของโซมาเลีย ชาวบันตูก็ถูกคิดบัญชีแค้นทันที

ความโหดเหี้ยมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบันตูถูกถ่ายทอดจากนายริยาด แบเร่ ต่อมายังกลุ่มติดอาวุธต่างๆ จนพวกบันตูที่เหลืออีกนับหมื่นคนจำต้องละทิ้งถิ่นฐานในหุบเขาจับบา เดินทางไปยังชายแดนติดกับประเทศเคนยาที่แสนยากลำบาก เพราะต้องเดินทางฝ่าทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลและร้อนระอุในยามกลางวันและหนาวเหน็บในยามค่ำคืนจนชาวบันตูจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพราะความทุรกันดารของเส้นทางและความอดอยาก แห้งแล้ง

แม้จะมีความพยายามในการตั้งรกรากของชาวบันตูขึ้นใหม่ในแอฟริกาตะวันออก แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตแดนเข้าไปได้ ต้องอาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยและเผชิญกับการบุกเข้ามาเข่นฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราจากกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งในปี ค.ศ.1999 สหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจรับชาวบันตูจำนวน 12,000 คนเข้าไปตั้งรกรากในประเทศ นับเป็นการรับผู้อพยพจากแอฟริกาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ผู้อพยพชาวบันตูชุดแรกเดินทางถึงสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2004 และเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขาที่นั่น

นอกจากชาวบันตูที่ตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว ประชาชนชาวโซมาเลียเองก็อยู่ในชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เขตอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธ "อัล-ชาบาบ" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อทางศาสนาแบบสุดโต่งและต่อต้านรัฐบาลเพื่อหาทางยึดครองประเทศโซมาเลีย พวกอัล-ชาบาบจะใช้หลักกฎหมายทางศาสนาที่รุนแรงต่อชาวบ้าน อีกทั้งยังเข่นฆ่าประชาชนไม่เลือกหน้า หากสงสัยหรือเพียงแค่เชื่อว่าประชาชนเหล่านั้นให้การสนับสนุนกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล แม้กระทั่งในปัจจุบันประชาชนชาวโซมาเลียก็ยังคงตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอัล-ชาบาบอย่างต่อเนื่อง กลุ่มที่สร้างปัญหาให้กับประชาชนน้อยที่สุดดูเหมือนจะเป็นกลุ่มในพื้นที่ "พุนทแลนด์" ที่ดูจะมีคุณธรรมอยู่พอสมควร และมีความตั้งใจที่จะสร้างอาณาจักรที่มีความสมบูรณ์พูนสุขให้กับประชากรในพื้นที่ของตน

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศโซมาเลียเป็นอุทาหรณ์ให้โลกได้รับรู้ว่า ชนกลุ่มน้อยที่อดีตเคยเป็นทาสดังเช่น ชาวบันตู ตลอดจนประชนชาวโซมาเลียผู้บริสุทธิ์ล้วนต่างมีสิทธิและความชอบธรรมในการดำรงอยู่และมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับผู้ที่จ้องจะทำลายล้างพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมวลมนุษยชาติทุกคนที่จะต้องร่วมกันหาทางหยุดยั้งพฤติกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มิให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าในผืนแผ่นดินแห่งใดบนพื้นพิภพแห่งนี้







บุรุนดี

ประเทศบุรุนดีเป็นอีกประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาที่เคลื่อนตัวผ่านหน้าประวัติศาสตร์แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเช่นเดียวกับประเทศรวันดา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกัน และมีชนชาติคู่อริสองชนชาติคือ "ทุตซี่" (Tutsi) และ "ฮูตู" (Hutu) สลับกันขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง โดยเฉลี่ยแล้วบุรุนดีมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตูซึ่งมีประมาณ 86 % ของประชากรทั้งหมด และมีชาวทุตซี่เพียง 13 % และชนชาติอื่นอีก 1 % เมื่อฝ่ายใดขึ้นสู่อำนาจก็จะแสวงประโยชน์จากอำนาจที่ตนมีอยู่ หาทางทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้ออ้างที่ว่า "เป็นการแก้แค้นให้กับบรรพบุรุษ"

เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งสำคัญในบุรุนดีเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1972 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูโดยรัฐบาลบุรุนดีที่มีชาวทุตซี่เป็นชนชั้นปกครอง และครั้งที่สองเกิดขึ้นพร้อมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา คือในปี ค.ศ.1993 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ครั้งใหญ่

สาเหตุของการสังหารโหดทั้งสองครั้งเปิดฉากขึ้นมาตั้งแต่บุรุนดีได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1962 เนื่องจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความไม่พอใจที่ชาวทุตซี่ครอบครองการบริหารประเทศทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศ ผู้แทนฮูตูได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนถึง 23 คนจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 33 คน แต่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีกลับเป็นชาวทุตซี่ จึงสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวฮูตูเป็นอย่างมากและมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทำการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเปิดเผยและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

และแล้วในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1972 กลุ่มกบฎฮูตูก็เปิดฉากโจมตีพื้นที่ของชาวทุตซี่ครั้งใหญ่ในเมืองรูมองเก (Rumonge) ซึ่งเป็นเมืองที่มีภูมิประเทศติดทะเลสาปและมีทิวทัศน์ที่สวยงาม พร้อมๆ กับการประกาศตนเองเป็น "สาธารณรัฐมาร์ทยาโซ" (Martyazo Republic) ในระหว่างการโจมตีของพวกฮูตู มีชาวทุตซี่กว่า 1,200 คนถูกสังหาร พยานคนหนึ่งเล่าว่า พวกกบฎฮูตูจะสังหารชาวทุตซี่ทุกคนที่อยู่ในสายตาของพวกเขา ไม่มีการซักถาม ไม่มีการสอบประวัติ นอกจากชาวทุตซี่ที่ตกเป็นเหยื่อของความเหี้ยมโหดแล้ว ยังมีชาวฮูตูสายกลางที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับกลุ่มกบฎถูกสังหารอีกจำนวนหนึ่งด้วย

ประธานาธิบดีมิเชล มิคอมเบโร (Michael Micombero) ซึ่งมีเชื้อสายทุตซี่จึงประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศบุรุนดี พร้อมทั้งสั่งการให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูเพื่อเป็นการแก้แค้นทันที กองทัพของประเทศบุรุนดีที่มีกำลังพลเป็นชาวทุตซี่เคลื่อนกำลังพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจากฐานที่มั่นของตน เพื่อทำการสังหารชาวฮูตูทุกคน ทุกระดับ การสังหารเป็นไปอย่างมีระบบ ชนชั้นสูง กลุ่มผู้มีการศึกษาและทหารที่มีเชื้อสายฮูตูเป็นเหยื่อชุดแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเขาถูกกวาดต้อนออกจากที่พัก ที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ค่ายทหาร สถานที่ราชการ แล้วนำมารวมตัวกันกลางลานกว้างเท่าที่จะหาได้ ก่อนที่จะถูกระดมยิงจากทหารทุตซี่ และปิดฉากลงด้วยการจ่อยิงทีละนัด ทีละคนเพื่อยืนยันว่าเหยื่อเสียชีวิตแล้ว

จากนั้นทหารทุตซี่ก็เข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ เพื่อค้นหาชาวฮูตู และเพื่อพบก็จะทำการสังหารทันที ตัวเลขความสูญเสียมีมากจนไม่สามารถบันทึกได้ถูกต้อง เพราะทหารทุตซี่ทำการฝังศพหรือนำไปทิ้งในพื้นที่ป่าเขา เพื่อทำลายหลักฐาน แต่แหล่งข่าวตะวันตกประมาณการว่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนของการทำลายล้างในปี ค.ศ.1972 นี้ มีชาวฮูตูกว่าสองแสนห้าหมื่นคนเสียชีวิตหรือสูญหาย และอีกหลายหมื่นคนที่หลบหนีไปอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศรวันดาและแทนซาเนีย เป็นต้น

การสังหารโหดครั้งนี้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังรากลึกลงในหัวใจของชาวฮูตู ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศบุรุนดีและในประเทศใกล้เคียง เช่น รวันดา ชาวฮูตูนำเรื่องราวความโหดเหี้ยมของชาวทุตซี่ไปขยายผล เผยแพร่ เพื่อรอคอยการแก้แค้น แม้จะมีหลายฝ่ายที่พยายามลบเลือนบาดแผลเหล่านี้ให้สูญสิ้นไป แต่ดูเหมือนความพยายามดังกล่าวจะไร้ผล ในทางตรงกันข้ามด้วยเงื่อนไขทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความโกรธเกลียด เคียดแค้น ชิงชัง ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศบุรุนดีครั้งที่สอง

ความรุนแรงครั้งที่สองเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.1993 เมื่อนายเมลชัวร์ นดาดาเย (Melchior Ndadaye) ชาวฮูตูได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของชาวฮูตูในประเทศบุรุนดี ความตึงเครียดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นชาวทุตซี่มีปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรง ทั้งการไม่ยอมรับทางนิตินัย มีการก่อกวนในรัฐสภา ในขณะเดียวกันก็ติดอาวุธทั้งดาบและปืนให้กับแก๊งอันธพาลทุตซี่ ในที่สุดแก๊งต่างๆ ทั้งฮูตูและทุตซี่ก็เกิดการปะทะกันกลางเมืองหลวง "บูจุมบูรา" (Bujumbura)

จนกระทั่งในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1993 ประธานาธิบดีนดาดาเยของชาวฮูตูก็ถูกลอบสังหาร ความอดทน อดกลั้นขั้นสุดท้ายของชาวฮูตูในบุรุนดีก็หมดสิ้นลง ชาวฮูตูออกมาตามท้องถนนด้วยการปลุกระดมจากวิทยุกระจายเสียง แล้วเริ่มเข่นฆ่าชาวทุตซี่ไม่เลือกหน้า ในขณะที่กองทัพซึ่งมีกำลังพลเป็นชาวทุตซี่ก็ตอบโต้กลับ ด้วยการสังหารชาวฮูตูไม่เลือกหน้าเช่นกัน เพียงไม่กี่วันเมืองหลวงของบูรุนดีก็เต็มไปด้วยซากศพของชาวทุตซี่กว่า 25,000 ศพ ในขณะเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตชาวฮูตูก็มีจำนวนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความขัดแย้งในประเทศบูรุนดีส่งผลให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น รวันดา ที่มีรัฐบาลเป็นชาวฮูตูตึงเครียดตามไปด้วย ชาวฮูตูในรวันดารวมตัวกันต่อต้านชาวทุตซี่ในประเทศรวันดา ก่อนที่จะตามมาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบแปดแสนคนในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี

แม้ในวันนี้ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างชนสองเชื้อสายคือ ฮูตู และ ทุตซี่ จะสงบเงียบลงไปมาก เนื่องจากผู้คนต่างเข็ดขยาดกับจิตใจอันโหดเหี้ยมอำมหิตประดุจ "สัตว์ป่า" ของมนุษย์ด้วยกันเอง หลายคนมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์สังหารโหดเหล่านั้นมาได้ ยังคงจำภาพต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ สตรีหลายคนถูกประทับตราบาปไปตลอดชีวิตเพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา ครอบครัวจำนวนมากสูญเสียสมาชิกอันเป็นที่รักของตนไปอย่างไม่มีวันกลับ คราบน้ำตาและหยดเลือดได้กลายเป็นยารักษาบาดแผลแห่งความอำมหิตเหล่านั้น แต่เมื่อยามใดที่คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ แล้วหยิบประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาศึกษา โดยปราศจากประสบการณ์แห่งความเจ็บปวดเป็นข้อมูลประกอบ พวกเขาก็จะเริ่มสะสมความเกลียดชังและเคียดแค้นขึ้นมาอีกครั้ง และในที่สุดกงล้อแห่งประวัติศาสตร์อันเหี้ยมโหดก็จะหมุนย้อนกลับมาอีกครั้งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง


Create Date :15 กันยายน 2554 Last Update :25 กันยายน 2554 17:40:36 น. Counter : Pageviews. Comments :5