bloggang.com mainmenu search
กองทัพแคนาดา

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนมกราคม 2553

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ





หากจะกล่าวถึงกองทัพแคนาดา หรือ Canadian Forces (CF) แล้ว คงต้องยอมรับว่ากองทัพดังกล่าวเป็นกองทัพของประเทศที่เต็มไปด้วยความสงบ สันติ ผู้คนเป็นกลุ่มชนที่มีความศิวิไลซ์ มีการศึกษาสูง มีความอยู่ดีกินดี และเป็นประเทศที่ไม่เคยมีสงครามเข้ามากร้ำกรายในดินแดนของตนเลยเลยตั้งแต่สิ้นสุดยุคอาณานิคมเป็นต้นมา

แต่ในขณะเดียวกันกองทัพแคนาดากลับเป็นกองทัพหนึ่ง ที่ส่งกำลังพลเข้าสู่สนามรบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง จนได้รับการยอมรับว่าเป็นกองทัพที่มีประวัติการรบมาอย่างโชกโชนกองทัพหนึ่งของโลก

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามเกาหลี, ภารกิจการรักษาสันติภาพในนามของ “กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ” (United Nations Peacekeeping Forces – UNPKF) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ประเทศรวันดาในทวีปแอฟริกา จนถึงติมอร์ตะวันออกในทวีปเอเชีย

และยังคงส่งกำลังทหารเข้าทำการรบอย่างหนักหน่วงในพื้นที่เมืองกันดาฮาร์ของสมรภูมิอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ภายใต้กรอบขององค์การนาโต้ (NATO)





จึงนับว่ากองทัพแคนาดาเป็นกองทัพหนึ่งของโลกตะวันตกที่มีบทบาทที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การต่อสู้ระหว่างโลกตะวันตกและกลุ่มก่อการร้ายกำลังดำเนินไปอย่างรุนแรง เพราะกองทัพแคนาดาจะเป็น “จักรกลสงคราม” อันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการชี้ขาดผล แพ้ ชนะในสงครามครั้งนี้

สำหรับประวัติของกองทัพแคนาดานั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังจากที่ประเทศแคนาดาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี 1931 กองทัพแคนาดาซึ่งประกอบไปด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศก็ได้รวมกันเป็นกองทัพแคนาดาในปี 1968 ขึ้นตรงต่อการบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยทางขนบธรรมเนียมประเพณีหรือทางนิตินัยนั้น กองทัพแคนาดามีพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Commander in Chief) แต่ในทางปฏิบัตินั้น กองทัพแคนาดามีประธานเสนาธิการร่วม (Chief of Defence Staff – CDF) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีการจัดแบ่งกองทัพออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. กองทัพบก (The Canadian Forces Land Force Command - LFC) มีหัวหน้าเสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกตามภูมิภาค 4 ภูมิภาค คือกองทัพภาคแอตแลนติค, กองทัพภาคควีเบค, กองทัพภาคกลาง และกองทัพภาคตะวันตก

ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีกำลังทหารหลักประจำการและกำลังสำรองคอยให้การสนับสนุนเมื่อมีความจำเป็นในการเรียกพล โดยมีรถถังหลักที่ใช้ประจำการอยู่ในปัจจุบันคือรถถังเลโอปาร์ต ซี 1 (Leopard C1) ซึ่งเป็นรถถังเลโอปาร์ตของเยอรมัน แต่ผลิตขึ้นตามความต้องการของกองทัพแคนาดา โดยมีขีดความสามารถเทียบเท่ากับรถถังเลโอปาร์ต 1 เอ 3 (Leopard 1 A3) ซึ่งมีระบบวัดระยะการยิงด้วยเลเซอร์





รถถังเลโอปาร์ต ซี 1นี้มีประวัติในการรบหลายครั้งโดยเฉพาะการปฏิบัติภารกิจในโคโซโวเมื่อปี 1999 อย่างไรก็ตามเมื่อแคนาดาส่งกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน รถถังเลโอปาร์ต ซี 1 จำนวน 114 คันก็ได้รับการพัฒนาให้เป็นรุ่นซี 2 (C 2) ซึ่งมีขีดความสามารถที่สูงขึ้นโดยนำป้อมปืนของรถถังเลโอปาร์ต 1 เอ5 อันทรงอานุภาพที่จัดซื้อจากกระทรวงกลาโหมเยอรมันมาเปลี่ยนกับป้อมปืนเดิม พร้อมทั้งติดตั้งระบบควบคุมการยิงแบบ อีเอ็มอีเอส 18 (EMES 18)

ในปี 2006 รถถังเลโอปาร์ต 15 คันของหมวดรถถังสังกัดหน่วยทหารม้าลอร์ดสแตรทโคนา (Lord Strathcona’s horse) ได้เข้าสู่สนามรบในพื้นที่เมืองกันดาฮาร์ของอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรกนับจากสงครามเกาหลีเป็นต้นมา






นอกจากนี้แคนาดายังได้ส่งกำลังทหารราบจำนวน 2,830 นายเข้าทำการรบในพื้นที่เมืองกันดาฮาร์ ซึ่งมีการปะทะกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง ส่งผลให้จนถึงปัจจุบันมีทหารแคนาดาเสียชีวิตจากการรบในอัฟกานิสถานไปแล้วเป็นจำนวน 134 คน (ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2009)

2. กองทัพเรือ (The Canadian Forces Maritime Command - MARCOM) มีหัวหน้าเสนาธิการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ประกอบไปด้วยเรือรบ 33 ลำ เรือดำน้ำและอากาศยานที่ทันสมัยหลากหลายชนิดอีกจำนวนหนึ่ง ประจำการอยู่ในกองเรือจำนวน 2 กองเรือ คือ

กองเรือภาคพื้นแปซิฟิค (Maritime Forces Pacific) ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบทางด้านตะวันตกของประเทศ และ

กองเรือภาคพื้นแอตแลนติค (Maritime Forces Atlantic) รับผิดชอบพื้นที่ด้านที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติค รวมทั้งร่วมกับกองกำลังของนาโต้ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ครอบคลุมทั้งทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป

โดยมีกองกำลังสำรองทางเรือคอยให้การสนับสนุนกรณีที่มีการเรียกพลในภาวะฉุกเฉิน ในปัจจุบันกองทัพเรือของแคนาดานั้นได้จัดส่งเรือรบจากกองเรือภาคพื้นแปซิฟิคและแอตแลนติค ออกปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

3. กองทัพอากาศ (The Canadian Forces Air Command - AIRCOM) มีหัวหน้าเสนาธิการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีฐานทัพอากาศทั่วประเทศทั้งหมด 13 แห่ง

มีเขี้ยวเล็บที่สำคัญคือเครื่องบินขับไล่แบบ ซีเอฟ 18 (CF 18) ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ/เอ 18 ฮอร์เน็ต (F/A 18 Hornet) ของสหรัฐอเมริกาในรูปแบบพิเศษของกองทัพอากาศแคนาดา ซึ่งต้องการพื้นที่สนามบินที่สั้นกว่าปกติหรือเทียบเท่ากับความยาวของเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเฉพาะสนามบินในฐานทัพที่ห่างไกลในภูมิภาคอาร์คติค เป็นต้น






ซีเอฟ 18 เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 1982 และมีบทบาทในการรบครั้งสำคัญๆ มาตลอดตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อปี 1991 มีฐานบินที่เมืองโดฮา ประเทศกาต้าร์ รวมทั้งเข้าปฏิบัติภารกิจในบอสเนียและโคโซโวในปี 1999 โดยทำการบินเหนือเป้าหมายถึงกว่า 2,700 ชั่วโมง โจมตีเป้าหมายต่างๆ ทั้งอาคาร ป้อมค่าย สะพาน ยานยนต์และเป้าหมายทางทหารอื่นๆ เป็นจำนวนถึง 558 ครั้ง

สำหรับในอนาคตกองทัพแคนาดามีแนวโน้มที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่เข้ามาทดแทนซีเอฟ 18 ซึ่งมีความเป็นได้มากว่าจะเป็นการลงทุนของรัฐบาลแคนาดาในการออกแบบและสร้างเครื่องบินขับไล่ของตนเอง

4. หน่วยปฏิบัติการโพ้นทะเล (The Canadian Expeditionary Force Command - CEFCOM) เป็นหน่วยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 เพื่อรองรับภารกิจการปฏิบัติงานร่วมกับนานาชาติหรือภารกิจที่อยู่นอกดินแดนของประเทศแคนาดา

โดยหน่วยปฏิบัติการโพ้นทะเลเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ในการจัดส่งกำลังออกไปปฏิบัติภารกิจโพ้นทะเลไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการทางด้านมนุษยธรรม การรักษาสันติภาพ ตลอดจนการปฏิบัติการรบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกร่วมกับนานาชาติตามที่ได้รับการร้องขอ

5. หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (The Canadian Special Operations Forces Command - CANSOFCOM) เป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษที่ต้องการความอิสระ คล่องตัว เป็นเอกเทศ ซึ่งนอกจากจะมีภารกิจในการปฏิบัติการพิเศษแล้ว ยังมีภารกิจเกี่ยวกับสงครามชีวเคมี หรือสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย





อย่างไรก็ตามแม้ว่ากองทัพแคนาดาจะมีการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1968 ก็จริง แต่ก่อนหน้านี้กองทัพแคนาดาก็ได้มีบทบาทในสงครามต่างๆ มาแล้วอย่างมากมาย โดยส่งกำลังทหารเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 – 1918 ในนามกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ

ซึ่งกองทัพแคนาดาได้ทำการรบอย่างกล้าหาญ และผลจากความเสียสละในการรบครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่อังกฤษได้ยินยอมมอบเอกราชให้กับประเทศแคนาดาในปี 1931

และภายหลังจากที่ได้รับเอกราช แคนาดาก็ยังคงส่งทหารเข้าร่วมรบกับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1940- 1945 ในนามของกลุ่มประเทศเครือจักรภพอังกฤษ และเป็นหนึ่งในสามกองทัพอันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดาที่ปฏิบัติการรบอย่างห้าวหาญในการยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ ที่ชายหาดนอร์มังดี ของประเทศฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม 1944 ซึ่งถือเป็นจุดวกกลับอันสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมันในที่สุด





ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี 1945 นโยบายของกองทัพแคนาดาก็มุ่งไปที่การปกป้องอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แต่ในขณะเดียวกันด้วยความที่เป็นกองทัพที่มีศักยภาพสูงทั้งขีดความสามารถของกำลังพล และศักยภาพทางเทคโนโลยีของอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ได้ส่งผลให้กองทัพแคนาดามีภารกิจในการปกป้องทวีปอเมริกาเหนือร่วมกับสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ที่แคนาดาจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ทางตอนเหนือที่กว้างใหญ่ไพศาลและหนาวเย็นของประเทศ ให้รอดพ้นจากการุกรานของสหภาพโซเวียต รวมไปถึงเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือหรือ นาโต้ ในการปกป้องโลกเสรีจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์

ณ จุดนี้เองที่ทำให้กองทัพแคนาดาได้ส่งกำลังทหารภาคพื้นดินและกำลังทางอากาศเข้าไปประจำอยู่ในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปี 1990 ซึ่งถือเป็นยุคแห่งการสิ้นสุดสงครามเย็น นอกจากนี้กองทัพแคนาดายังได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามในอัฟกานิสถานดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกด้วย

นโยบายการป้องกันประเทศของกองทัพแคนาดาในปัจจุบัน มีพื้นฐานจาก “ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศฉบับที่ 1” ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2006 ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติภารกิจการป้องกันอธิปไตย 6 ด้านประกอบด้วย

1. การปฏิบัติภารกิจประจำวันในการป้องกันประเทศและทวีปอเมริกาเหนือ
2. สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา เช่น การจัดโอลิมปิค 2010 ที่เมืองแวนคูเวอร์
3. ป้องกันและตอบโต้การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย
4. สนับสนุนหน่วยงานพลเรือนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือภัยทางธรรมชาติต่างๆ
5. เป็นผู้นำ หรือเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงของแคนาดาในดินแดนต่างประเทศ
6. จัดส่งกำลังเข้าปฏิบัติภารกิจในการจัดการกับภาวะวิกฤติด้านความมั่นคงในดินแดนต่างประเทศในห้วงเวลาที่จำกัด

จากนโยบายการป้องกันประเทศทั้ง 6 ด้านที่กล่าวมานี้ ทำให้กองทัพแคนาดาได้มีการปรับปรุงระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศเพื่อตอบสนองนโยบายและเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจบรรลุวัตถุประสงค์

โดยมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะมีการเพิ่มกำลังทหารประจำการจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 67,000 คนให้เป็น 70,000 คนและเพิ่มกำลังสำรองจากเดิม 26,000 คนเป็น 30,000 รวมทั้งจัดสร้างเรือรบที่มีประสิทธิภาพจำนวน 15 ลำ เพื่อทดแทนเรือรบแบบเก่าที่ประจำการอยู่ นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดหาเครื่องบินรบอันทรงอานุภาพสำหรับทศวรรษหน้าจำนวน 65 ลำสำหรับกองทัพอากาศเพื่อทดแทนเครื่องบินรบแบบซีเอฟ 18 (CF 18) ที่ประจำการอยู่ในปัจจุบันและเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลรุ่นใหม่จำนวน 10 -12 ลำเพื่อประจำการในกองทัพเรืออีกด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า “กองทัพแคนาดา” เป็นกองทัพเล็กๆ ที่มีกำลังพลไม่ถึงหนึ่งแสนคน แต่กลับเป็นกองทัพที่มีศักยภาพและมีขีดความสามารถสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

... เป็นกองทัพที่มีกำลังพลที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์และเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจจากการรบมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามในอัฟกานิสถาน

... เป็นกองทัพที่มีบทบาทหลักในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพของโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติภารกิจในกรอบขององค์การสหประชาชาติ





จึงนับได้ว่า กองทัพแคนาดาเป็นกองทัพที่มีความเป็นเลิศในทุกด้าน ทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ศักยภาพ ขวัญและกำลังใจ อันส่งผลให้สัญลักษณ์ “เมเปิลสีแดง” อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชื่อเสียงและเกียรติประวัติของกองทัพแคนาดาเป็นที่รู้จักและเลื่องลือไปทั่วโลกดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Create Date :06 มิถุนายน 2553 Last Update :6 มิถุนายน 2553 4:19:01 น. Counter : Pageviews. Comments :3