bloggang.com mainmenu search
5 สมรภูมิแห่งความทรงจำในอิรัก

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน




เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์โลกต้องบันทึกไว้อีกครั้งหนึ่งว่า เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งเนื่องจากเป็นวันที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าแห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศยุติการปฏิบัติการทางทหารในประเทศอิรักอย่างสมบูรณ์ พร้อมๆ กับการทยอยถอนทหารจำนวนนับแสนคนพร้อมยุทโธปกรณ์บางส่วนออกจากดินแดนแห่งนี้ แม้จะเหลือทหารสหรัฐฯ อยู่อีกประมาณ 50,000 คนแต่ทหารเหล่านี้ก็จะมีหน้าที่เพียงการให้คำปรึกษาหรือคอยให้การสนับสนุนการปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอิรักเท่านั้น จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า การรบในอิรักของกองทัพสหรัฐฯ ได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้ว นับจากนี้ก็คงหลงเหลือแต่เรื่องเล่าและบทบันทึกของการรบในสมรภูมิอิรักซึ่งนับเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งภายหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามเวียดนาม

ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมบันทึกความทรงจำอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว เรื่องราวของเราในฉบับนี้จึงเป็นการนำผู้อ่านย้อนอดีตไปสู่การรบครั้งสำคัญๆ ที่จะยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 5 สมรภูมิของอิรัก ดังนี้








รถหุ้มเกราะยกพลขึ้นบกแบบ AAV 7 ของสหรัฐฯ ที่ได้รับความเสียหายในการรบที่เมืองนาสิริยา



1. สมรภูมิเมือง "นาสิริยา" (Battle of Nasiriyah) หรือบางครั้งออกเสียงว่า "นาสาริยา" (Nasariyah) นับเป็นการรบครั้งแรกๆ ที่มีความรุนแรงและมีความสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งของทหารสหรัฐฯ ในยุทธการ "ปลดปล่อยอิรัก" หรือ Operation Iraqi Freedom การรบที่เมืองนาสิริยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการระดับภูมิภาคของกองทัพอิรักของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนและเป็นจุดยุทธสาสตร์เพราะเป็นเส้นทางผ่านไปสู่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก

การรบเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2003 เมื่อขบวนคอนวอยของสหรัฐฯ จำนวน 18 คันพร้อมกำลังพลจำนวน 31 คนจากกองร้อยซ่อมบำรุงที่ 507 (507th Maintenance Company) ที่เลี้ยวผิดเส้นทางบนถนนไฮเวย์สายที่ 7 ทำให้จำต้องแล่นผ่านกลางใจเมือง ได้ถูกซุ่มโจมตีอย่างรุนแรงจากอาวุธนานาชนิด และทำให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 11 คน ถูกจับเป็นเชลยจำนวน 6 คน ซึ่งรวมถึงพลทหารหญิงเจสสิกา ลินช์ (Private Jessica Lynch) ซึ่งต่อมาได้รับการช่วยเหลือและได้รับการยกย่องให้กลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของทหารหญิงสหรัฐฯ ในอิรัก การซุ่มโจมตีที่รุนแรงทำให้ยานพาหนะในขบวนคอนวอยถูกทำลายทั้งหมดถึง 15 คัน

การรบเพื่อช่วยเหลือเชลยและเพื่อยึดเมืองนาสิริยาเริ่มต้นอีกครั้งในวันเดียวกัน เมื่อกองพลน้อยนาวิกโยธินโพ้นทะเลที่ 2 (2nd Marine Expeditionary Brigade) เคลื่อนที่เข้าตีทหารอิรักภายในตัวเมืองจากทางตอนเหนือ ก่อนที่จะพบการต่อต้านด้วยกับระเบิดแสวงเครื่องที่วางดักไว้ริมถนนและบริเวณริมคลอง "ซัดดัม" (Saddam Canal) นอกจากนี้ยังมีรถถังแบบ ที 69 ของกรมยานเกราะที่ 6 (6th Armored Division) ของอิรักรวมอยู่ด้วย

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ทำให้นาวิกโยธินสหรัฐฯ เสียชีวิตเพิ่มอีก 18 คน อย่างไรก็ตามในคืนวันที่ 24 – 25 มีนาคม ทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ก็สามารถรุกเข้าบริเวณตัวเมืองได้ท่ามกลางการต้านทานอย่างเหนียวแน่นจากทหารอิรัก การสู้รบที่เมืองนาสิริยาดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 27มีนาคม ก่อนที่กองกำลังทหารอิรักจะถูกกวาดล้างลงอย่างสิ้นเชิง โดยทิ้งซากศพไว้เป็นจำนวน 431 ศพ ถูกจับเป็นเชลยกว่า 300 คน และบาดเจ็บอีีกกว่า 1,000 คน





ทหารสหรัฐฯ ขณะทำการรบที่เมืองฟัลลูจาห์



2. สมรภูมิเมือง "ฟัลลูจาห์" (Battle of Fallujah) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงแบกแดดประมาณ 40 ไมล์ เป็นการรบที่นองเลือดที่สุดอีกครั้งหนึ่งในอิรัก การปะทะกันที่เมืองฟัลลูจาห์เปิดฉากขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.ของวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 โดยกำลังของสหรัฐฯ ประกอบด้วยทหารนาวิกโยธินจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 ของสหรัฐฯ ซึ่งจัดกำลังพลจากกองพันที่ 3 สังกัดหน่วยนาวิกโยธินที่ 1, กองพันที่ 3 หน่วยนาวิกโยธินที่ 5 และกำลังพลกองทัพบกจากกองพันที่ 5 สังกัดกรมทหารม้าที่ 7

สนธิกำลังกับหน่วยเฉพาะที่ 7 ซึ่งจัดกำลังพลจากกองพันที่ 1 หน่วยนาวิกโยธินที่ 8, กองพันที่ 1 หน่วยนาวิกโยธินที่ 3 และกำลังทหารบกจากกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 จำนวนกว่า 15,000 คนสนับสนุนด้วยอากาศยานและยานเกราะ เคลื่อนที่เข้าตีฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านที่มีกำลังพลประมาณ 4,000 – 5,000 คนท นำโดยอับดุลลาห์ อัล จานาบี (Abdullah Al-Janabi)





ทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ขณะเคลื่อนที่เข้าการรบในเมืองฟัลลูจาห์



การรบที่เมืองฟัลลูจาห์เต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกลุ่มต่อต้านอาศัยอาคารต่างๆ เป็นที่มั่นตามหลักการรบในเมือง ซึ่งทำให้ฝ่ายป้องกันมีความได้เปรียบอย่างมาก ทหารสหรัฐฯ ต้องกวาดล้างข้าศึกจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง จากอาคารหนึ่งไปสู่อีกอาคารหนึ่งและจากถนนสายหนึ่งไปยังถนนอีกสายหนึ่ง นอกจากนี้กลุ่มต่อต้านยังใช้อุโมงค์ที่มีอยู่รอบตัวเมืองเป็นเส้นทางในการส่งกำลังบำรุง การเข้าตีแบบโฉบฉวยและการล่าถอย หลายครั้งที่การสู้รบเป็นไปแบบประชิดตัว

จนในที่สุดสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจใช้รถถังเอ็ม 1 ยิงทำลายอาคารที่สงสัยว่าเป็นที่มั่นของข้าศึกทีละอาคารจนหมดสิ้น และแม้ว่ากลุ่มต่อต้านจะพยายามต้านทานอย่างเหนียวแน่นเพียงใด ในวันที่ 16 พฤศจิกายน เมืองฟัลลูจาห์ก็ตกเป็นของสหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์

จากการรบครั้งนี้มีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 51 คน บาดเจ็บสาหัส 425 คน ฝ่ายต่อต้านของอิรักเสียชีวิตประมาณ 1,300 คน ผลจากความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายต่อต้านเลิกใช้ยุทธวิธีปะทะกับทหารสหรัฐฯ แบบซึ่งหน้าในลักษณะการรบในแบบและหันไปใช้การโจมตีในลักษณะสงครามกองโจรแทน ส่งผลให้ฟัลลูจาห์กลายเป็นเมืองที่ฝ่ายต่อต้านมีการปฏิบัติการก่อการร้ายมากที่สุดเมืองหนึ่งตลอดการยึดครองของสหรัฐฯ




ยานเกราะสไตรเกอร์ของสหรัฐฯ ถูกซุ่มโจมตีในการรบที่เมืองโมซูล



3. สมรภูมิเมืองโมซูล (Battle of Mosul) เป็นสมรภูมิที่มียืดเยื้ออีกแห่งหนึ่งในอิรัก เมืองโมซูลเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับสามของอิรักซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ดที่ต่อต้านอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านอยู่ตลอดเวลา พื้นที่นี้เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองพลน้อยที่ 1 สังกัดกองพลทหารราบที่ 25 โดยมีหน่วยที่สำคัญหน่วยหนึ่งคือ กองพันที่ 1 สังกัดกรมทหารราบที่ 24 หรือ "1-24" สมญานาม "ดุยช์ โฟว์" (Deuce Four) ปฏิบัติการในพื้นที่ด้านตะวันตกของเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน

ก่อนการรบใหญ่จะเปิดฉากขึ้น ฐานของทหารสหรัฐฯ ถูกถล่มด้วยเครื่องยิงลูกระเบิดหรือ "ปืนครก" นับร้อยนัดก่อนที่สหรัฐฯ จะจับวิถีการยิงได้และตอบโต้อย่างแม่นยำจนข้าศึกล่าถอยไป และเปิดฉากแก้แค้นด้วยการฆ่าตัดคอประชาชนกว่า 250 คน

การรบในเมืองโมซูลเปิดฉากขึ้นอย่างจริงจังในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 เมื่อกลุ่มต่อต้านอีกส่วนหนึ่งที่หลบหนีมาจากการปะทะกับทหารสหรัฐฯ ที่เมืองฟัลลูจาห์ รวมตัวกับกลุ่มต่อต้านเดิมออกทำการโจมตีกองกำลังทหารและตำรวจของอิรักที่สหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น และสามารถยึดได้ทั้งสถานีตำรวจและค่ายทหารอิรัก





กลุ่มต่อต้านยึดเสื้อเกราะของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจอิรักภายหลังโจมตีจุดตรวจต่างๆ ในเมืองโมซูล



หน่วย "ดุยช์ โฟว์" พร้อมกับหน่วยข้างเคียงจึงเข้าดำเนินการตอบโต้และการกวาดล้างข้าศึกออกจากพื้นที่ยึดครอง ก่อนที่จะตกอยู่ในพื้นที่สังหารจากการซุ่มโจมตีของฝ่ายต่อต้าน ทั้งจากอาวุธปืนเล็ก เครื่องยิงจรวดอาร์พีจีและกับระเบิดแสวงเครื่อง โดยพื้นที่ซุ่มโจมตีดังกล่าวมีระยะทางยาวกว่า 1 ไมล์ ทำให้ยานเกราะสไตรเกอร์ (Stryker) หลายคันได้รับความเสียหายอย่างหนัก

แต่เมื่อสามารถผ่านพ้นจุดซุ่มโจมตีมาได้ พันโท อีริค คูริลล่า (Eric Kurilla) ผู้บังคับหน่วย "ดุยช์ โฟว์" กลับรวมกำลังทั้งหมดหวนกลับเข้าไปในพื้นที่สังหารอีกครั้ง และทำการโจมตีแนวซุ่มยิงของกลุ่มต่อต้านอย่างรุนแรง จนสามารถแปรเปลี่ยนความเสียเปรียบในพื้นที่สังหารให้กลายเป็นความได้เปรียบได้ในที่สุด การรบครั้งนี้ทหารสหรัฐฯ สามารถขับไล่กลุ่มต่อต้านออกจากพื้นที่ซุ่มโจมตี และสามารถกวาดล้างกลุ่มต่อต้านที่ยึดสถานีตำรวจและค่ายทหารอิรักออกไปได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้หน่วย "ดุยช์ โฟว์" จะประสบความสำเร็จในการรบครั้งนี้ แต่กลุ่มต่อต้านก็เปลี่ยนยุทธวิธีการรบจากการบแบบเผชิญหน้ามาเป็นการลอบโจมตีด้วย "ระเบิดแสวงเครื่อง" และ "เครื่องยิงลูกระเบิด" ที่สร้างความสูญเสียให้กับทหารสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก การรบในเมืองโมซูลยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 9 - 10 กันยายน ค.ศ. 2005ที่ทหารสหรัฐฯ เข้าตรวจค้นพื้นที่เมือง "เทล อะฟาร์" ทางตะวันตกของเมืองโมซูล ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นจุดที่กลุ่มต่อต้านใช้เป็นฐานยิงจรวดโจมตีที่มั่นของสหรัฐฯ และเกิดการปะทะขึ้นอย่างหนัก ส่งผลให้กลุ่มต่อต้านเสียชีวิต 48 คน





ทหารสหรัฐฯ ในการรบที่เมืองนาจาฟ



4. สมรภูมิเมืองนาจาฟ (Battle of Najaf) เป็นสมรภูมิแห่งความทรงจำอีกแห่งหนึ่งเพราะมีการรบที่นองเลือดที่สุดอย่างน้อยถึง 3 ครั้ง คือในช่วงต้นของการยึดครองอิรักของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2003 ซึ่งกองพลทหารราบที่ 3 และกองพลส่งทางอากาศ (พลร่ม) ที่ 101 สนธิกำลังกันเข้าโจมตีเมืองแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงที่มุ่งหน้าสู่นครแบกแดด โดยต้องต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านที่ประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธ "เฟดดายีน ซัดดัม" (Fedayeen Saddam) และหน่วย "รีพับลิกัน การ์ด" (Republican Guard) อันลือชื่อ จนทำให้รถถังแบบเอ็ม 1 อับบรามส์ จำนวน 2 คันถูกทำลายลง ภายหลังการรบสิ้นสุดลงฝ่ายอิรักเสียชีวิตถึงกว่า 800 คน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ต่อมาเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงขึ้นอีกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 ระหว่างหน่วยนาวิกโยธินโพ้นทะเลที่ 11 ของสหรัฐฯ กับกองกำลังมาฮดี (Mahdi Army) ของฝ่ายต่อต้าน การรบเปิดฉากขึ้นเมื่อพวกมาฮดีบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจหลายแห่งในเมืองพร้อมกัน หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Quick Reaction Force - QRM) ของนาวิกโยธินได้เข้าทำการช่วยเหลือแต่ก็ต้องถูกซุ่มโจมตี จนเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช 1 เอ็น (UH 1 N) จำนวน 1 ลำถูกยิงตก

เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะคับขัน สหรัฐฯ จึงจัดกำลังสนับสนุนอีก 3 กองพันจากกองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 สังกัดกรมทหารม้าที่ 7 และกองพันที่ 1 สังกัดกรมอากาศยานที่ 227 ทำให้กำลังทหารของสหรัฐฯ ในการรบครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้นถึงกว่า 2,000 คน ในขณะที่พวกมาฮดีคาดว่ามีกำลังไม่ต่ำกว่า 3,000 – 7,000 คน การรบสิ้นสุดลงในวันที่ 27 สิงหาคมด้วยการเจรจาสงบศึก เพราะกลุ่มมาฮดีถูกโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินเอฟ 16 ที่ทิ้งระเบิด "เจแดมส์" (JDAMs – Joint Direct Attack Munition) ลงกลางกองบัญชาการของพวกเขาอย่างแม่นยำ จนทำให้ฝ่ายต่อต้านไม่สามารถต่อสู้ได้อย่างมีเอกภาพเนื่องจากสายการบังคับบัญชาถูกทำลายลง

การรบในเมืองนาจาฟครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2007 เมื่อทหารสหรัฐฯ อังกฤษและกองกำลังทหารและตำรวจของอิรักที่สหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น เข้าปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านที่ใช้ชื่อว่า "นักรบจากสวรรค์" (Soldiers of Heaven) ภายหลังจากที่กลุ่มต่อต้านเปิดฉากโจมตีจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอิรักทั่วทั้งเมืองนาจาฟ จนกองกำลังอิรักต้องส่งกำลังเข้าสนับสนุนตามจุดต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพวก "นักรบจากสวรรค์" ได้ มิหนำซ้ำสถานการณ์ยังดูเหมือนเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอิรักกำลังจะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษตัดสินใจส่งกำลังทางอากาศเข้าสนับสนุน





การสู้รบที่ดุเดือดในเมืองนาจาฟ



แต่แล้วเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ เอเอช 64 อาปาเช่ (AH 64 Apache) ของสหรัฐฯ ที่บินสนับสนุนภาคพื้นดินก็ถูกยิงตกจนนักบินทั้งสองคนเสียชีวิต และขณะที่ฝ่ายต่อต้านพยายามยึดครองพื้นที่ที่เครื่องดังกล่าวถูกยิงตก สหรัฐฯ ก็ส่งทหารจากกองพันที่ 2 สังกัดกรมทหารราบที่ 3 และชุดยานเกราะสไตรเกอร์เฉพาะกิจที่ 3 สังกัดกรมทหารราบที่ 2 เข้าโจมตีฝ่ายต่อต้านโดยมีเครื่องบินเอฟ 16 และเฮลิคอปเตอร์นานาชนิดคอยให้การสนับสนุนทางอากาศ

การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรง จนกระทั่งฝ่ายต่อต้านค่อยๆ ถูกกวาดล้างออกไปจากตัวเมืองนาจาฟ ภายหลังการสู้รบผลปรากฏว่ากลุ่มต่อต้าน "นักรบจากสวรรค์" ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1,000 คน เสียชีวิตถึง 263 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 407 คน ความสูญเสียครั้งนี้ทำให้กลุ่ม "นักรบจากสวรรค์" หมดศักยภาพในการรบแบบเปิดเผยและเผชิญหน้าอีกต่อไป ต้องหันมาใช้ยุทธวิธีลักลอบโจมตีแบบกองโจรแทน ในขณะที่กองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของอิรักเสียชีวิต 25 คน นักบินสหรัฐฯ เสียชีวิต 2 คน





กลุ่มมาฮดีขณะทำการรบในเมืองบาสรา



5. สมรภูมิเมืองบาสรา (Battle of Basra) แม้การรบที่เมืองบาสราจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 แต่การรบเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2008 ถือว่าเป็นการรบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในอิรัก เดิมเมืองบาสราเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังอังกฤษที่ถึงแม้จะพยายามในการควบคุมสถานการณ์ในเมืองให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่เมืองบาสราก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขนานัปการที่ทำให้ความไม่สงบเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการจับตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ การลักลอบขนฝิ่นและยาเสพติดข้ามมาจากอัฟกานิสถาน การลอบสังหารผู้คนและการซุ่มโจมตีหน่วยทหารอังกฤษและกองกำลังรัฐบาลอิรักอยู่เนืองๆ

จนกระทั่งเมื่อกองกำลังอังกฤษได้ถอนตัวออกจากตัวเมืองไปตั้งมั่นอยู่บริเวณสนามบินของเมืองบาสรา และถ่ายโอนอำนาจการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับกองกำลังอิรัก กลุ่มต่อต้านต่างๆ ก็เผยตัวออกมามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ "มาฮดี" (Mahdi) แต่เพราะเมืองบาสราเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญที่รัฐบาลของอิรักชุดปัจจุบันไม่สามารถปล่อยให้เมืองบาสราตกอยู่ในมือของกลุ่มต่อต้านได้ รัฐบาลอิรักจึงตัดสินใจเปิดยุทธการของตนเองขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การยึดครองของสหรัฐฯ เพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้

ยุทธการกวาดล้างกลุ่มต่อต้านในเมืองบาสราครั้งนี้มีชื่อว่ายุทธการ "การโจมตีของอัศวิน" (Operation Knight's charge) นำโดยพลโท อาลี ไกดาน มาจิด (Ali Ghaidan Majid) ผู้บัญชาการกองทัพอิรัก ใช้กำลังพลทั้งทหารและตำรวจจำนวนทั้งสิ้นกว่า 30,000 คน ในขณะที่กลุ่มต่อต้านมาฮดีมีจำนวนประมาณ 15,000 คน

การรบเปิดฉากในรุ่งอรุณของวันที่ 25 มีนาคม เมื่อทหารและตำรวจอิรักบุกเข้าโจมตีที่มั่นของพวกมาฮดีในพื้นที่อัล ทามิย่า (Al Tamiya) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองบาสราประมาณ 5 ไมล์ และได้รับการต้านทานด้วยอาวุธนานาชนิดอย่างหนัก รวมทั้งเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังอาร์พีจีและเครื่องยิงลูกระเบิด แต่ยิ่งการรบยืดเยื้อออกไป พวกมาฮดีก็ทำได้แค่เพียงตั้งรับและอาศัยจังหวะในการตีโฉบฉวย (hit and run) ก่อนทิ้งที่มั่นและร่นถอยไปเรื่อยๆ






เจ้าหน้าที่ตำรวจอิรักขณะเข้าควบคุมพื้นที่ในเมืองบาสรา



จนกระทั่งการรบดำเนินไปได้สามวัน ฝ่ายรัฐบาลก็ยื่นคำขาดให้กลุ่มต่อต้านในเมืองยอมจำนนและวางอาวุธภายใน 72 ชั่วโมง ขณะเดียวกันทหารและตำรวจอิรักบางส่วนได้แปรพักตร์เข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล พวกเขาบุกเข้าไปในร้านค้า ขโมยสิ่งของที่มีค่าและจุดไฟเผาอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ทหารแปรพักตร์เหล่านั้นยังนำรถฮัมวี่ของตนจำนวน 7 คันไปมอบให้กลุ่มต่อต้านอีกด้วย

ในวันที่ 28-29 มีนาคม อังกฤษและสหรัฐฯ ส่งฝูงบินเข้าสนับสนุนรัฐบาลอิรักในการโจมตีที่มั่นของพวกมาฮดี และในวันที่ 31 มีนาคม การสู้รบก็ยุติลงเนื่องจากพวกมาฮดีขอเจรจากับฝ่ายรัฐบาล เพราะอยู่ในภาวะขาดแคลนกระสุนในขณะที่ทหารและตำรวจของฝ่ายรัฐบาลก็อยู่ในสภาวะขวัญกระเจิงจากการต่อต้านที่เหนียวแน่นและการรุกกลับที่รุนแรงของพวกมาฮดี

ภายหลังจากการรบที่เมืองบาสราสิ้นสุดลง มีทหารและตำรวจอิรักกว่า 1,300 คนถูกปลดเพราะทรยศหรือแปรพักตร์และไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง รวมทั้งยังมีการคาดการณ์ว่ามีทหารและตำรวจอิรักหนีทัพในการรบครั้งนี้ถึง 4,000 คนเลยทีเดียว ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงประสิทธิภาพของกองทัพอิรัก และหากการรบครั้งนี้ปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และอังกฤษ โฉมหน้าของการรบน่าจะเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่อย่างมาก

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องราวอย่างย่อๆ ของสมรภูมิต่างๆ ที่มีการรบอันดุเดือดและนองเลือดที่สุดตลอดห้วงระยะเวลาแห่งการยึดครองอิรักของกองทัพสหรัฐฯ จนทำให้กลายเป็นสมรภูมิแห่งความทรงจำในอิรักไปในที่สุด อย่างไรก็ตามยังมีสมรภูมิที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยความกล้าหาญของนักรบทั้งสองฝ่ายอีกมากมายหลายสมรภูมิ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป


Create Date :07 กันยายน 2553 Last Update :7 กันยายน 2553 21:23:53 น. Counter : Pageviews. Comments :1