bloggang.com mainmenu search
ขุนพลแห่งอัฟกานิสถาน - ผู้กุมชะตาประธานาธิบดีโอบาม่า


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


Master of International Relations (with merit)


Victoria University of Wellington, New Zealand


ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนกันยายน 2553



(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ลอกเลียน หรือเผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)





พลเอก เดวิส เพทเตรอุส ผู้บัญชาการกองกำลัง ISAF คนใหม่ของสหรัฐฯ




ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงผู้บัญชาการกองกำลังทหารสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรนาโต้ในอัฟกานิสถานหรือที่รู้จักกันในนาม "ไอซาฟ" (ISAF – International Security Assistance Force) จากเดิมคือ พลเอกสแตนลี่ แมคคริสตัล (Gen. Stanley McChrystal) เป็นพลเอกเดวิด เพทเตรอุส (Gen. David Petraeus) ผู้ซึ่งมีผลงานอันโดดเด่นในอิรัก

ซึ่งคำสั่งเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เป็นที่ประหลาดใจผู้คนในวงการทหารมากนัก เพราะพลเอกสแตนลี่ แมคคริสตัลนั้นเป็นบุคคลที่มีบุคคลิกไม่ค่อยเข้าตาประธานาธิบดีโอบาม่าเท่าใดนัก เพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างแมคคริสตัลและบุคคลภายนอกตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่อยไปจนถึงสื่อมวลชน ดูจะขาดๆ เกินๆ เนื่องจากเขาเป็นคนพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งว่า สงครามในอัฟกานิสถานกำลังเดินทางไปสู่จุดวิกฤติจนถึงขนาดที่เรียกว่า อาจพ่ายแพ้ต่อกลุ่มตาลีบันเลยก็ว่าได้ หากไม่มีการส่งทหารจำนวนไม่น้อยกว่าสี่หมื่นคนเข้ามาเพิ่มในอัฟกานิสถาน





พลเอกสแตนลี่ แมคคริสตรัล ผู้ที่ซึ่ง เพทเตรอุส เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน




การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีโอบาม่าต้องตัดสินใจส่งกำลังทหารกว่าสามหมื่นคนพร้อมกับพันธมิตรนาโต้อีกกว่าเจ็ดพันคนเข้าไปตามที่แมคคริสตัลร้องขอ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะการสู้รบครั้งใหญ่ที่จังหวัดเฮลมานด์ (Helmand) ที่การกวาดล้างเป็นไปอย่างนองเลือดและเต็มไปด้วยการสูญเสียของทหารสหรัฐฯ และนาโต้

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสวนทางกับการประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2011ของประธานาธิบดีโอบาม่าอย่างสิ้นเชิง เพราะปัญหาความมั่นคงและความพร้อมของรัฐบาลอัฟกานิสถานยังไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อกรกับกลุ่มตาลีบันได้ตามลำพัง


เมื่อเวลาในการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานใกล้เข้ามาทุกขณะ ทางเลือกของประธานาธิบดีโอบาม่าก็เหลืออยู่ไม่มากนัก จนในที่สุดเขาจึงสั่งให้มีการปรับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบมาเป็นพลเอกเดวิด เพทเตรอุสในที่สุด แม้ว่าแมคคริสตัลและเพทเตรอุสจะมีอะไรหลายๆ อย่างที่เหมือนกัน เช่น การมีลักษณะผู้นำที่โดดเด่นด้วยการลงไปคลุกคลีอยู่กับทหารระดับผู้ปฏิบัติในแนวหน้าอยู่อย่างสมำ่เสมอ จนถึงขั้นร่วมหุงหาอาหารรับประทานและลาดตระเวณในพื้นที่เสียงภัยด้วยกัน

แต่พลเอกเดวิด เพทเตรอุสเป็นทหารที่มีความแตกต่างจากแมคคริสตัลค่อนข้างมากในการสื่อสารกับโลกภายนอก เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการบังคับบัญชาทหารสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในอิรัก เขาเป็นนักรบที่อยู่ในแนวหน้ากับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ ตารางเวลาของเขาขณะปฏิบัติภารกิจในอิรักในแต่ละสัปดาห์นั้น จะมีถึง 5 วันที่เขาออกไปพบปะกับกำลังพลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอิรัก

เพทเตรอุสเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกาหรือ (United State Military Academy) ในปี ค.ศ.1974 สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในหน่วยพลร่มหรือหน่วยส่งทางอากาศ (airborne) โดยเริ่มจากกองพันส่งทางอากาศที่ 509 และกองพลส่งทางอากาศที่ 101 (101st Airborne Division) ซึ่งเป็นกองพลส่งทางอากาศที่ชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายทหารยุทธการและการฝึก ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการส่วนวางแผนและนโยบายของกองพล

ในปี ค.ศ.1995 เขาเดินทางไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในเฮติ (Haiti) ก่อนที่จะกลับมาเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 1 กองพลส่งทางอากาศที่ 82 (82nd Airborne Division) ซึ่งเป็นกองพลส่งทางอากาศอีกกองพลหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของกองทัพสหรัฐอเมริกา และอีกไม่นานเขาก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลส่งทางอากาศที่ 82

เพทเตรอุสก้าวย่างเข้าสู่สมรภูมิในตะวันออกกลางตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ในฐานะผู้บัญชาการกองพลส่งอากาศที่ 82 โดยปฏิบัติหน้าที่ในคูเวตและยังคงวนเวียนเข้า-ออกพื้นที่ตะวันออกกลางนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเป็นเวลานานกว่าสิบปี จึงนับว่าเขาเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกับผู้คน ภูมิประเทศ และยุทธวิธีในภูมิภาคแถบนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง ในปี ค.ศ.2000 เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการโดดร่มแบบดิ่งพสุธาจนกระดูกเชิงกรานร้าว แต่ก็ยังคงชื่นชอบในกีฬากระโดดร่มอยู่

ในปี ค.ศ.2001 เพทเตรอุสเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) เป็นเวลากว่าสิบเดือนพร้อมๆ กับได้รับการเลื่อนยศเป็นพลจัตวาและกลับไปรับตำแหน่งในกองพลส่งทางอากาศที่ 101





เพทเตรอุสขณะมอบเหรียญกล้าหาญ บรอนซ์สตาร์ ให้กับกำลังพลในอิรัก




ในปี ค.ศ.2003 สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองอิรัก เพทเตรอุสในฐานะผู้บัญชาการกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ได้นำกำลังเข้าปะทะกับกองกำลังของอิรักเป็นครั้งแรก โดยกำลังทหารพลร่มของเขาเคลื่อนที่เข้าสู่กรุงแบกแดดทางตอนใต้

ผู้สื่อข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ "ริค แอทคินสัน" (Rick Atkinson) แห่งหนังสือพิมพ์ "วอชิงตัน โพสต์" (Washington Post) ได้เขียนเรื่องราวการรบในอิรักของเพทเตรอุสและกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ในหนังสือเรื่อง "Company of Soldiers" โดยเล่าเรื่องราวการต่อสู้ที่ดุเดือดของกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ที่ทำการรบในกรุงแบกแดด เมืองคาร์บาล่า (Karbala) เมืองนาจาฟ (Najaf) และเมืองฮิลลา (Hilla) ไว้อย่างน่าประทับใจ และภายหลังจากที่รัฐบาลอิรักภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนล่มสลาย กองพลส่งทางอกาศที่ 101 ก็ได้รับมอบหมายให้เข้ารับผิดชอบพื้นที่เมือง "โมซุล" (Mosul) ซึ่งมีการต่อต้านและการสู้รบที่รุนแรงมากที่สุดเมืองหนึ่งในอิรัก

กองพลน้อยทั้งสามของกองพลส่งอากาศที่ 101 ต่างมีพื้นที่รับผิดชอบที่อันตรายและเสี่ยงภัยเป็นอย่างมาก โดยกองพลน้อยที่ 1 (1st Brigade) รับผิดชอบพื้นที่ทางตอนใต้ของเมือง กองพลน้อยที่ 2 (2nd Brigade) รับผิดชอบพื้นที่ในตัวเมืองและกองพลน้อยที่ 3 (3rd Brigade) รับผิดชอบพื้นที่ชานเมืองไปจนจรดชายแดนประเทศซีเรีย พลเอกเฮนรี่ เชลตัน (Henry Shelton) แห่งกองทัพสหรัฐฯ อธิบายบุคคลิกภาพของเพทเตรอุสในสมรภูมิต่างๆ ว่า

"เขาเป็นผู้นำที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในแนวหน้าที่ซึ่งเขาจะเป็นผู้นำทหารในการปฏิบัติการรบด้วยตนเองเสมอ"

ผลงานที่โดดเด่นในสงครามอิรักของเพทเตรอุสจนเป็นที่กล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้ก็คือ การส่งกำลังทางอากาศเพื่อเข้าโจมตีพื้นที่เป้าหมายด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การรบสมัยใหม่ในพื้นที่เมือง "ไนนาวา" (Ninawa) ซึ่งต้องใช้เวลาในการปฏิบัติการนานเกือบตลอดทั้งปี ค.ศ.2003 จนสามารถทำลายสถิติการส่งกำลังทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ในการรบในสงครามเวียดนามลงได้

นอกจากนี้การปฏิบัติภารกิจของเพทเตรอุสและกองพลส่งทางอากาศที่ 101ที่เมือง "โมซุล" ซึ่งมีประชากรเกือบสองล้านคน เป็นการรบเพื่อแย่งชิงประชาชน เขาได้นำวิธีการต่อต้านการก่อการร้ายโดยการใช้หลักการปฏิบัติงานด้าน "กิจการพลเรือน" มาใช้อย่างได้ผล ทำให้เศรษฐกิจของชาวเมืองดีขึ้นอย่าง "ก้าวกระโดด" รวมทั้งยังประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองกำลังประจำถิ่นที่นำชาวเมืองมาสมัครเป็นทหาร และตำรวจเพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองของพวกเขาเอง เพทเตรอุสวางแผนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จัดโปรแกรมเสริมความรู้ให้กับประชาชนในการประกอบอาชีพ จนนิตยสาร "นิวยอร์ค ไทมส์" (New York Times) ได้ตีพิมพ์ความสำเร็จของเขาว่า ความสำเร็จมีให้เห็นอย่างเด่นชัดจนชาวอิรักส่วนใหญ่ขนานนามเพทเตรอุสว่า "คิงส์เดวิด" (King David)

ผลงานอันโดดเด่นเหล่านี้เองที่ทำให้เพทเตรอุสก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เขาติดยศพลโทในปี ค.ศ.2004 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการคนแรกของ "กองบัญชาการนานาชาติเพื่อการถ่ายโอนความมั่นคงในอิรัก" (Multi-national Security Transition Iraq) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกฝนทหาร ตำรวจอิรักที่จะเข้ามาทดแทนกองกำลังนานาชาติ รวมถึงรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงอื่นๆ เช่น การก่อสร้างค่ายทหาร สถานีตำรวจ จุดตรวจตามแนวชายแดน เป็นต้น

และในปี ค.ศ.2007 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งยศพลเอกพร้อมๆ กับประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ก็แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการ "กองกำลังนานาชาติในอิรัก" (Multi-National Force – Iraq) ซึ่งเขาได้นำเสนอแนวทางในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนและรัฐบาลท้องถิ่น เช่น การสร้างกองกำลังทหาร-ตำรวจของอิรักที่มีความแข็งแกร่ง การพัฒนาความอยู่ดีกินดีและพัฒนาชีวิตประจำวันของชาวอิรักด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่มั่นคง แนวคิดดังกล่าวของเพทเตรอุุสถูกขนานนามจากนักการเมืองในวอชิงตัน ดี ซี ว่า "ทฤษฎีของเพทเตรอุส" (Petraeus Doctrine)






เพทเตรอุสมักปรากฏกายอยู่ในแนวหน้าร่วมกับทหารของเขาเสมอ




ทฤษฎีของเพทเตรอุสประสบความสำเร็จพอสมควรแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ แต่ชื่อเสียงของเพทเตรอุสก็กลายเป็นที่ยอมรับในวงการนักการเมืองในทำเนียบขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพทเตรอุสรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติการทางทหารต่อรัฐสภาเกี่ยวกับความสำเร็จในการกวาดล้างกลุ่มอัล กออิดะฮ์ในแบกแดด การลดทอนศักยภาพของกลุ่มชีอะห์ การลดปริมาณการก่อการร้ายและการเพิ่มศักยภาพตลอดจนความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจในอิรักที่เห็นได้อย่างชัดเจน จนสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจในความคืบหน้าเหล่านี้ หนังสือพิมพ์ ยูเอสเอ ทูเดย์ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 เสนอข่าวหน้าหนึ่งว่า

"ความพยายามของสหรัฐฯ ในอิรักประสบความสำเร็จมากขึ้น"

ส่วนนายโรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมเพทเตรอุสว่า "เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์" และในปี ค.ศ.2008 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการ "กองบัญชาการกลางสหรัฐอเมริกา" (United State Central Command) รับผิดชอบด้านความมั่นคงในพื้นที่ปฏิบัติงานกว่า 20 ประเทศ เริ่มจากอียิปต์เรื่อยไปจนถึงปากีสถาน จนกระทั่งในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.2010 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาและนาโต้ในอัฟกานิสถาน

นอกจากความเป็นนักรบอาชีพที่พร้อมจะอยู่ในแนวหน้ากับทหารของเขาแล้ว เขายังได้ชื่อว่าเป็น "`นายทหารการเมือง" (Political General) อีกด้วย เขาเป็นผู้ที่รู้จักนักการเมืองมากมาย รู้จักสื่อมวลชนทุกแขนง เขารู้จังหวะว่าเมื่อใดควรให้สัมภาษณ์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายลงให้ดูดีขึ้นในสายตาของชาวอเมริกันและโลกตะวันตก ที่สำคัญคือเขาตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่สามารถเป็นสื่อขยายความไปถึงนักการเมืองและชาวอเมริกันให้ทราบว่า เขากำลังทำอะไรอยู่และสิ่งที่เขาทำนั้นประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้เขายังรู้จักกับผู้นำทางทหารของชาติต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือผู้นำทางทหารของประเทศปากีสถานที่กำลังจะกลายเป็นตัวละครสำคัญในการยุติศึกในอัฟกานิสถานนั่นเอง

สื่อมวลชนสหรัฐฯ ต่างวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เพทเตรอุสจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อหาหนทางในการเอาชนะกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานนั้น โดยประเมินกันว่ามีอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

ประการแรกเป็นปัญหาในระดับยุทธศาสตร์ นั่นคือการโน้มน้าวรัฐบาลปากีสถานที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถานยาวกว่าสองพันหกร้อยกิโลเมตรให้เชื่อมั่นในสหรัฐฯ มากกว่าตาลีบัน เพราะพรมแดนที่ยาวเหยียดและทุรกันดาร เต็มไปด้วยหุบเขาสลับซับซ้อนนี้เป็นถิ่นพำนักและที่ซ่องสุมกำลังของกลุ่มตาลีบันและอัล กออิดะฮ์ของโอซามา บิน ลาเดน หากการทำสงครามของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานปราศจากการสนับสนุนของรัฐบาลปากีสถานแล้ว การรบในอัฟกานิสถานก็ยากที่จะยุติลงได้

อย่างไรก็ตามปัญหานี้ดูเหมือนจะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของเพทเตรอุส เพราะเป็นการเจรจาระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล อีกทั้งปากีสถานเองก็ดูเหมือนจะอยู่ในสภาพ "เหยียบเรือสองแคม" (sitting of the fence) เพราะหากสหรัฐฯ ถอนทหารออกไปจากอัฟกานิสถานและตาลีบันกลับมาได้รับชัยชนะในอนาคต ปากีสถานก็ไม่ต้องการที่จะเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีกลุ่มตาลีบันเป็นรัฐบาล รวมไปถึงปากีสถานยังต้องการรักษาความสัมพันธ์กับตาลีบันเอาไว้ในระดับหนึ่งด้วยในฐานะที่เคยมีสายใยเชื่อมโยงถึงกันมาตั้งแต่สมัยสงครามโซเวียต

เพทเตรอุสจึงมีหน้าที่เพียงที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กองทัพปากีสถานเห็นว่า กลุ่มตาลีบันมีโอกาสน้อยมากที่จะหวนกลับมาเป็นผู้ครอบครองอัฟกานิสถานเหมือนเช่นในอดีต ด้วยการใช้กำลังทหารสหรัฐฯ และนาโต้บดขยี้กลุ่มตาลีบันให้บอบช้ำและหมดสภาพที่จะกลับมาเป็นภัยคุกคามก่อนการถอนทหารของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2011

ประการที่สองเป็นปัญหาในระดับปฏิบัติการที่เพทเตรอุสวิเคราะห์ว่า ความสำเร็จในการรบในอัฟกานิสถานนั้นจำเป็นที่จะอาศัยแนวร่วมจากชาวอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาว "ปุชตุน" (Pushtun) ซึ่งเป็นชนกลุ่มหลักที่ให้การสนับสนุนพวกตาลีบันมาตั้งแต่อดีต









เพทเตรอุสได้เขียน "คู่มือการปฏิบัติการภาคสนามในการต่อต้านการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน" ขึ้น โดยคู่มือนี้มุ่งเน้นการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการยุติปัญหาในอัฟกานิสถาน ซึ่งพลเอกสแตนลี่ แมคคริสตัล อดีตผู้นำทางทหารคนก่อนได้เคยนำวิธีการเดียวกันนี้มาใช้ภายใต้ชื่อ "ซิล-มิล" (Cil-Mil = Civil – Military) หรือที่แปลเป็นไทยว่า "การปฏิบัติการกิจการพลเรือน" นั่นเอง

แต่ปัญหาในอัฟกานิสถานนั้นซับซ้อนกว่าในอิรัก เพราะอัฟกานิสถานเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนเผ่าที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดด้วยระยะทางและสภาพภูมิประเทศ ทำให้การเชื่อมโยงทางความคิดและความเข้าใจเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ในห้วงเวลาที่ผ่านมาชาวปุชตุนไม่ได้ถูกนำมาเข้าร่วมในการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนของสหรัฐฯ มากนัก ทำให้การสนับสนุนจากพวกปุชตุนมีน้อยกว่าที่ควรที่จะเป็น

เพทเตรอุสสั่งการให้กองกำลังของเขาใช้ยุทธวิธีต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยการเอาชนะใจประชาชน และละเว้นการทำร้ายประชาชนในการปะทะกับกลุ่มตาลีบันโดยเด็ดขาด ซึ่งยุทธวิธีนี้เป็นยุทธวิธีที่แมคคริสตัลได้เคยประกาศใช้มาแล้วเช่นกัน และได้สร้างความอึดอัดใจให้กับทหารสหรัฐฯ มากพอสมควร เพราะในการปะทะแต่ละครั้งมักมีพลเรือนได้รับบาดเจ็บหรือถูกลูกหลงอยู่เสมอ แมคคริสตัลถึงกับออกคำสั่งใน "กฎการปะทะ" (Rule of Engagement - ROE) ว่า "การยิงใส่พื้นที่ชุมชนนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะคับขันอย่างแท้จริง"

มาตรการนี้ถูกตำหนิจากกำลังพลในภาคสนามเป็นอย่างมากเพราะในระหว่างการสู้รบที่ติดพันนั้น ยากยิ่งที่จะแยกแยะว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายและใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งหากเพทเตรอุสนำมาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างจริงจังอีกครั้งก็จะทำให้ทหารพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มตาลีบัน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการปะทะ เพราะหากมีพลเรือนได้รับบาดเจ็บล้มตาย พวกเขาจะต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาในประการที่สามนั่นเอง






ทหารสหรัฐฯ ในกองกำลัง ISAF ขณะปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถาน



ปัญหาประการที่สามก็คือ ขวัญและกำลังของทหารที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการต่อต้านการก่อความไม่สงบในแบบฉบับของแมคคริสตัลและเพทเตรอุส ซึ่งเชื่อแน่ว่าเขาจะแก้ปัญหาข้อนี้ในแบบที่เคยกระทำมาในอิรักนั่นคือ การออกพบปะทหารในแนวหน้าเป็นประจำทุกวัน แต่ระยะทางและการเดินทางที่ยากลำบากในอัฟกานิสถานก็จะทำให้การลงพื้นที่ของเพทเตรอุสกระทำได้ยากลำบากและมีความเสี่ยงภัยมากกว่าที่เคยปฏิบัติในอิรัก

อย่างไรก็ตามเพทเตรอุสได้รับปากกับกำลังพลในอัฟกานิสถานว่า เขาจะพิจารณากฏการปะทะดังกล่าวอย่างรอบคอบอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการรบ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตของทหารสหรัฐฯ และนาโต้ในแนวหน้าอีกด้วย

จากประสบการณ์ความสำเร็จและปัญหาทั้งสามประการที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การรบในอัฟกานิสถานกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพลเอก เดวิด เพทเตรอุส ผู้บัญชาการคนใหม่ของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ยิ่งเส้นตายการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.2011 กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะ เวลาของเขายิ่งเหลือน้อยลงทุกที เช่นเดียวกับเวลาของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าก็เหลือน้อยลงด้วยเช่นกัน แรงกดดันทั้งหมดที่มีต่อสงครามในอัฟกานิสถานจะถูกทิ้งลงมาอยู่ที่เพทเตรอุสอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลานี้โลกคงจะต้องติดตามเอาใจช่วยว่า เวลาหนึ่งปีที่เหลืออยู่ เพทเตรอุสจะสามารถเปลี่ยนแปลงอัฟกานิสถานได้เหมือนกับที่เขาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงอิรักมาแล้วหรือไม่

... เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวของเขานั้นมีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งต่อไปของโอบาม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


Create Date :23 สิงหาคม 2553 Last Update :5 กันยายน 2553 7:20:09 น. Counter : Pageviews. Comments :2