bloggang.com mainmenu search

กลไกด้านการบรรเทาสาธารณภัยของประชาคมอาเซียน ตอนที่ 2

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ ให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)



กลไกด้านการบรรเทาสาธารณภัยของประชาคมอาเซียน นอกจากการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนหรือ ADMM ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่ 1 ยังประกอบด้วย

คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM เป็นกรอบความร่วมมือหลักด้านการบรรเทาสาธารณภัยของกลุ่มประเทศอาเซียนถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) โดยมีองค์กรผู้รับผิดชอบด้านการบรรเทาสาธารณภัยของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ (ในส่วนของประเทศไทยคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย)เพื่อบริหารจัดการด้านภัยพิบัติร่วมกันโดยมีสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEANSecretariat) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการชุดนี้

คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM ได้จัดทำ"ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน"ขึ้นมีชื่อเรียกย่อๆว่า AADMER (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response) ส่งผลให้เกิดความร่วมมือต่างๆดังนี้

1. การจัดตั้งศูนย์ประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาเซียน หรือ AHA Center  (ASEANCooperation Center on Humanitarian Assistance) ตั้งอยู่ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

2. การจัดทำมาตรฐานวิธีปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมและประสานงานในการปฏิบัติร่วมกันของอาเซียนในการบรรเทาภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ASEAN SASOP (ASEAN Standard Operating Procedures for Regional Stand by Arrangements and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operations) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

3. การจัดการฝึกแผนภัยพิบัติระดับอาเซียน หรือ ARDEX (ASEANRegional Disaster, Emergency Response Exercise) ในกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทุกรูปแบบ

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค หรือ ARF ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ..2545 (..2002) โดยเริ่มต้นจากแนวความคิดในการต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกันระหว่างสหรัฐฯและกลุ่มประเทศอาเซียน (UnitedStates of America – ASEAN) ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11ในสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงแรกนั้นการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค หรือ ARF มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ

1. เพื่อส่งเสริมความเชื่อใจซึ่งกันและกัน

2. การพัฒนาการฑูตเชิงป้องกัน

3. การป้องกันความขัดแย้ง

ปัจจุบันการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค หรือ ARF ได้ขยายตัวจนกลายเป็นกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 27 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศคือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีนสหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐฯ รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มอาเซียนอีก ประเทศคือ ปาปัวนิวกินี มองโกเลีย ปากีสถาน ติมอร์เลสเต บังคลาเทศ ศรีลังกา เกาหลีเหนือ 

อีกทั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคได้เริ่มมีบทบาทในด้านการบรรเทาสาธารณภัยมากขึ้น ภายหลังจากที่ภูมิภาคแห่งนี้ได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการกำหนดให้มีการฝึกบรรเทาสาธารณภัยหรือ DiREx (Disaster Relief Exercise) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประสานงานระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารในการบรรเทาภัยพิบัติรวมทั้งแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการและบรรเทาภัยพิบัติระหว่างผู้เข้าร่วมการฝึก

การฝึกบรรเทาสาธารณภัย หรือ DiREx ประกอบด้วยการบรรยายทางวิชาการการแก้ปัญหาบนโต๊ะการฝึกภาคสนามและการปฏิบัติการด้านการแพทย์โดยการฝึก DiREx 2009  (พ.ศ.2552) เป็นการฝึกครั้งแรกจัดขึ้นที่ เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ การฝึก DiREx 2011  (พ.ศ.2554) จัดขึ้นเมืองมานาโด สุลาเวสีเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นการจัดร่วมกันระหว่างประเทศอินโดนีเซียและญี่ปุ่น เป็นการฝึกจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนับหมื่นคน

สำหรับการฝึก DiREx 2013 (พ.ศ.2556) จัดขึ้นในประเทศไทยโดยประเทศไทยและเกาหลีใต้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการจัดการฝึกซ้อม ARFDiREx 2013 เป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของไทยที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านการจัดการภัยพิบัติรวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย  และกระทรวงกลาโหม

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า อาเซียนได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเป็นอย่างมาก โดยจัดให้มีกลไกหลักที่รับผิดชอบถึง กลไกด้วยกัน ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ทั้งนี้เพราะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความเชื่อมั่นตรงกันว่า แม้ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่การเตรียมความพร้อมในระดับสูงสุดขององค์กรผู้รับผิดชอบ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ตลอดจนความพร้อมของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ จะสามารถลดระดับความรุนแรงของผลกระทบ และลดความสูญเสียอันเนื่องมาจากภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ดังคำกล่าวที่ว่า "การรับมือกับภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการเตรียมความพร้อมในระดับสูงสุดนั่นเอง


Create Date :22 สิงหาคม 2556 Last Update :22 สิงหาคม 2556 10:51:19 น. Counter : 2410 Pageviews. Comments :0