bloggang.com mainmenu search




กองทัพฟิลิปปินส์ (ตอนที่ 2)


โดย


พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand


ลงพิมพ์ในนิตยสารท้อปกัน ปี พ.ศ.2557


สงวนลิขสิทธิ์ในการลอกเลียนเพื่อการค้า เนื่องจากกำลังรวมเล่ม อนุญาตให้เผยแพร่เพื่อความรู้และการศึกษาเท่านั้น







ผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันยาวนานในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา
กองทัพเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ.2007 มูลนิธิ เจมส์ ทาวน์ (JamestownFoundation) ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ ได้ประเมินกองทัพฟิลิปปินส์ว่า เป็นกองทัพที่อ่อนแอที่สุดประเทศหนึ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (one of the weakest military forces) 
แม้ในช่วงปี ค.ศ.1950– 1970 ซึ่งเป็นยุคที่ฟิลิปปินส์ยังคงเฟื่องฟูนั้น กองทัพฟิลิปปินส์ถูกจัดให้มีความยิ่งใหญ่ เป็นอันดับสอง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันรายงานของมูลนิธิดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและภัยคุกคามที่เกิดขึ้น มาจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเกาะมินดาเนา หรือความเคลื่อนไหวของกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ ตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทำให้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ต้องถูกจัดสรรให้กับ กองทัพบกฟิลิปปินส์ (PhilippineArmy : PA) เพื่อทำการปราบปรามความไม่สงบภายในประเทศเป็นหลัก และเพื่อทำการต่อสู้กับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ ส่งผลให้เหล่าทัพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพเรือ (PhilippineNavy : PN) และ กองทัพอากาศ (PhilippineAir Force : PAF) ได้รับงบประมาณเป็นจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะกองกำลังป้องกันชายฝั่ง (PhilippineCoast Guard : PCG) และกองทัพเรือ ที่ขาดแคลนยุทโธปกรณ์อย่างหนัก จนส่งผลให้อำนาจอธิปไตยเหนือน่านน้ำที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลตกอยู่ในสภาพไร้แสนยานุภาพในการปกป้องคุ้มครอง

ปัจจุบัน กองทัพเรือฟิลิปปินส์มีเรือฟริเกตอยู่เพียง 1 ลำ คือเรือ "ราชาฮัมอาบอน" (Rajah  Humabon) ซึ่งติดตั้งปืนใหญ่ประจำเรือขนาด 76 มิลลิเมตร จำนวน 3 กระบอก และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้นต่างๆ ที่ค่อนข้างล้าสมัย จำนวน 63 ลำ เรือระบายพลเพียง 7 ลำ เป็นเรือชั้น "เบสสัน" (Besson class) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้า มีขีดความสามารถในการบรรทุกรถถังได้ 32 คันและทหารจำนวน 150 นาย แต่ที่สำคัญคือ ณ เวลานี้ กองทัพเรือฟิลิปปินส์ไม่มีเรือรบติดอาวุธปล่อยนำวิถีเลยแม้แต่ลำเดียว

ส่วนกองทัพอากาศนั้น เป็นที่น่าแปลกใจอย่างมาก ที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ไม่มีฝูงบินขับไล่ความเร็วสูงอยู่เลย แม้จะเคยมีเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ-5เอ (F-5 A) และ เอฟ-8 (F-8) ของสหรัฐฯ เป็นจำนวนกว่า 50 ลำ เมื่อครั้งที่กองทัพฟิลิปปินส์ยังรุ่งเรือง

แต่ปัจจุบันเครื่องบินเหล่านี้ต่างก็ถูกปลดประจำการไปจนหมดสิ้นแล้ว จึงจำเป็นต้องนำเครื่องบินไอพ่นฝึก แอร์มัคคี (Aermacchi) แบบ เอส-211 (S-211) ที่สั่งซื้อจากประเทศอิตาลี มาใช้เป็นเครื่องบินขับไล่ แม้จะทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 667 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม พร้อมทั้งมีความพยายามในการออกแบบใหม่ ให้เป็นแบบ เอเอส-211 (AS-211) หรือที่มีชื่อเรียกว่า "วอริเออร์ส" (Warriors) ภายใต้ชื่อ "โครงการฟอลคอน" (Project Falcon) โดยการปรับระบบการมองเห็น ด้วยการนำอุปกรณ์แบบ Norsight Optical Sight ของเครื่องบินแบบ เอฟ-5 ที่ปลดประจำการไปแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 มาติดตั้งแทนอุปกรณ์เดิม รวมทั้งปรับระบบการติดต่อสื่อสาร กับภาคพื้นดิน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อการครอบครองน่านฟ้าของเครื่องบินขับไล่ แบบ เอเอส-211 "วอริเออร์ส" นั้น ไม่อาจเทียบได้เลยกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-16 (F-16), มิก-29 (MiG-29) หรือ ซู-30 (Su-30) ที่กองทัพอากาศประเทศเพื่อนบ้านมีอยู่ในประจำการ อีกทั้งไม่สามารถเทียบได้กับเครื่องบินขับไล่ แบบซุคคอย ซู-35 (Sukhoi Su-35) ที่กองทัพจีนมีประจำการอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ยังมีเครื่องบินแบบ เอเอส-211 ดังกล่าวนี้เพียง 25 ลำหรือ 2 ฝูง เท่านั้น คือ ฝูงบินฝึกที่ 105 (105th Training Squadron) และ ฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 17 (17th Tactical Fighter Squadron) 

อย่างไรก็ตามเครื่องบินจำนวน 15 ลำจาก 25 ลำนั้น ได้ถูกนำมาประกอบเองภายในประเทศ โดยโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาการบินของฟิลิปปินส์ (Philippines Aerospace  Development Corporation) แต่ปรากฏว่า การประกอบเครื่องบิน กลับไม่ผ่านมาตรฐานการบิน ทำให้ต้องมีการตรวจสอบด้านนิรภัยการบินใหม่ ทั้ง 15ลำ และมีเพียง 5 ลำเท่านั้น ที่สามารถเข้าประจำการได้ ในจำนวน 5 ลำนี้ ก็มีอีก 2 ลำที่ผ่านการตรวจสอบด้านนิรภัยการบิน แต่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ทำให้ต้องส่งกลับไปทำการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุด เครื่องบิน แบบ เอเอส-211 หมายเลข 008 ได้ปรับปรุงเสร็จแล้ว และจะนำกลับเข้าประจำการในปี ค.ศ.2014 นี้

นอกจากเครื่องบินแบบ เอเอส-211 แล้วฟิลิปปินส์ ยังมีเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินชนิดใบพัดแบบ โอวี-10 บรองโก (OV-10 Bronco) จำนวน 25 ลำ ที่ได้รับมาจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี  ค.ศ.1991 ก่อนที่จะได้รับเพิ่มอีก 9 ลำจากสหรัฐฯ และอีก 8 ลำจากกองทัพอากาศไทย ตามโครงการช่วยเหลือทางทหารในปี ค.ศ.2003 – 2004 ซึ่งไทยส่งเครื่องบินชนิดนี้ 4 ลำแรกไปยังฟิลิปปินส์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2003 และชุดสุดท้าย ถูกส่งมอบในปี ค.ศ.2011 

โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ถูกนำเข้าประจำการใน ฝูงบินโจมตีที่ 16 (16th Attack Squadron) และฝูงบินโจมตีผสม ที่ 25 (25th Composite Attack Squadron) มีที่ตั้งอยู่ที่ฐานบิน ดานิโล อาเตียนซา (Danilo Atienza Air Base) ในเมือง "คาวิตี" (Cavite) ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์

โดยเครื่องบินชนิดนี้ ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการปฏิบัติการภาคพื้นดิน ในสงครามระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ แต่เครื่องบิน โอวี-10 บรองโกเหล่านี้ ก็ประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้งมาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากอายุการใช้งานที่ยาวนาน สำหรับโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนั้น หนังสือพิมพ์ "ฟิลิปปินส์ สตาร์" (Philippines Star) รายงานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2010 ว่าเครื่องบินโอวี 10 บรองโกได้ประสบอุบัติเหตุตก ระหว่างการฝึกซ้อมที่เมือง คาร์ปาส (Carpas) จังหวัดตาร์ลัค (Tarlac) เป็นเหตุให้นักบินประจำเครื่องทั้งสองนาย คือเรืออากาศเอก โฮเซ่ เอนริเกวซ ลีโอนาโด คอร์ปัซ (Jose Enriquez Leonado  Corpuz) และเรืออากาศโท อพอลโล คาเรนดัง (Apollo Carendang) เสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว เครื่องบินโอวี 10 บรองโกอีกลำหนึ่ง ก็ประสบอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอด ที่เมืองดาเวา (Davao) แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ปัจจุบันคาดว่าเครื่องบินรุ่นนี้ซึ่งเหลือปฏิบัติภารกิจได้เพียง 3 ลำนั้น ไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้อีกแล้ว

ในส่วนของเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีนั้น ก็ประสบปัญหาความขาดแคลนเช่นเดียวกัน คือกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ มีเครื่องบินลำเลียง แบบ ซี-130 ประจำการอยู่เพียง 3 ลำเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อภารกิจในการสนับสนุนกองทัพ อีกทั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น เมื่อครั้งพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น "ไห่เยียน" (Haiyan) พัดเข้าถล่มเมือง "ตัคโลบาน" (Tacloban) และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2013 สร้างความเสียหายอย่างมาก กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ก็ประสบกับปัญหา ในการลำเลียงความช่วยเหลือทางอากาศ เข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย เนื่องจากมีเครื่องบินลำเลียงดังกล่าวน้อยเกินไป สำหรับการขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภัยพิบัติที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำให้ภารกิจการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต้องล่าช้าอย่างมาก ส่งผลให้เกิดให้เกิดความสูญเสียตามมาอย่างคาดไม่ถึง

ในส่วนของกองทัพบก ซึ่งถือว่าเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในสามเหล่าทัพนั้น ก็ประสบกับภาวะวิกฤติด้านยุทโธปกรณ์เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันมีรถถังหลักเป็นเพียงรถถังเบาแบบ "สกอร์เปี้ยน" (Scorpion) จำนวน 41 คัน นอกจากนี้ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยรถหุ้มเกราะลำเลียงพลเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมีรถหุ้มเกราะประกอบด้วย รถหุ้มเกราะลำเลียงพลแบบ จีเคเอ็น ซิมบา (GKN Simba) จากประเทศอังกฤษ จำนวน 150 คัน, รถสายพานลำเลียงพล แบบ เอ็ม 113เอ1 (M113 A1) จำนวน 120 คัน ซึ่งมีการปรับปรุงโดยประเทศสเปน ให้มีความทันสมัยมากขึ้น, รถหุ้มเกราะล้อยางแบบ วี 150 คอมมานโด (V150 Commando) จำนวน 155 คัน เป็นรถหุ้มเกราะแบบเดียวกับที่ไทยมีอยู่ในประจำการ และรถหุ้มเกราะเบาจากประเทศโปรตุเกส แบบ บราเวีย ชายไมท์ (Bravia Chaimite) จำนวน 20 คันเป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากองทัพบกฟิลิปปินส์นั้น จัดยุทโธปกรณ์ตามภารกิจหลัก นั่นคือภารกิจในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน จึงแทบไม่มีขีดความสามารถในการรบขนาดใหญ่ หรือในสงครามเต็มรูปแบบ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทบริเวณทะเลจีนใต้ในอนาคต

จากตัวอย่างข้างต้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพฟิลิปปินส์ กำลังประสบกับความขาดแคลนอย่างมาก ภาวะวิกฤติเหล่านี้ ทำให้ใน ปี ค.ศ.2008 พลเอกอเล็กซานเดอร์ ยาโน (Alexander Yano) เสนาธิการทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ถึงกับกล่าวว่า กองทัพฟิลิปปินส์แทบไม่มีขีดความสามารถ ในปกป้องบูรณภาพเหนือดินแดนได้เลย อันเนื่องมาจากการขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังรบของกองทัพเรือ และกองทัพอากาศต้องมีการพัฒนาอย่างมาก เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ ที่กำลังมุ่งหวังเข้าครอบครองหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศฟิลิปปินส์

ในขณะเดียวกัน นิตยสาร ฟิลิปปินส์ สตาร์ (Philippine Star) ได้รายงานว่าในปี ค.ศ.2010 กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ มีเครื่องบินรบที่สามารถปฏิบัติการบินได้จริงเพียง 31 ลำ และเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์อีกเพียง 54 ลำเท่านั้น นิตยสารดังกล่าวยังระบุว่า ".. ศักยภาพในการปกป้องน่านฟ้าหรือผลประโยชน์ของชาติ ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์นั้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง (non-existent) อีกต่อไปแล้ว ..”

อดีตประธานาธิบดี เบนิกโน อาคิโน ตระหนักในความจริงข้อนี้ดี จึงได้ประกาศแผนการพัฒนากองทัพ ไปสู่ความทันสมัย ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าการพูดนั้น ทำได้ง่ายกว่าการกระทำ เพราะแม้ว่าเขาจะตั้งเป้าหมายในการพัฒนากองทัพให้ถึง "ขีดต่ำสุดที่จะสามารถป้องกันประเทศ" (minimum credible defense) แต่ก็ยังติดขัดปัญหาด้านกฏหมาย และงบประมาณ

โดยเฉพาะปัญหาประการแรก คือ รัฐธรรมนูญของประเทศ ฉบับปี ค.ศ.1987 ระบุชัดเจนว่า ห้ามรัฐบาลใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม นอกเหนือไปจากการใช้เพื่อเงินเดือน, เงินประจำตำแหน่ง, เงินเพิ่มพิเศษต่างๆ และเงินเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นจากการเสริมสร้างกองทัพ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส หวนเกิดขึ้นซ้ำอีกนั่นเอง

ดังจะเห็นได้จากงบประมาณทั้งหมด ในปี ค.ศ.2014 จำนวนกว่า 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะถูกส่งไปยังกรมยุทธศึกษาของเหล่าทัพ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการฝึกศึกษาของกำลังพล เป็นจำนวนถึง 742 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้เป็นเงินเดือนต่างๆ อีกกว่าครึ่ง คงเหลืองบประมาณสำหรับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพียง 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพียง 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น

นอกจากนี้ แนวความคิดการพัฒนากองทัพให้อยู่ในระดับ "ต่ำสุดที่จะสามารถป้องกันประเทศ" ของกองทัพฟิลิปปินส์นั้น ยังได้ถูกตีความไปอย่างหลากหลาย เช่น บางคนตีความว่า เป็นการพัฒนาระดับต่ำสุดของอาวุธยุทโธปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ บางคนตีความว่า ระดับต่ำสุดนั้น หมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพล ด้วยการทุ่มเทไปที่การฝึกศึกษา ในขณะที่บางคนก็ตีความคำว่า ระดับต่ำสุด นั้น เทียบมาจากระดับของภัยคุกคามที่มีอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ เทียบเคียงกับมหาอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้ระดับต่ำสุดของการต่อสู้เพื่อคานอำนาจกับกองทัพของจีน มีมูลค่ามหาศาลทีเดียว

ดังที่นายเนรี โคลเมนาเรส (Neri Colmenares) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคบายันมูนา (Bayan Muna) ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ".. ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนากองทัพเป็นเวลาถึงหนึ่งร้อยปี แต่กองทัพฟิลิปปินส์ก็ไม่มีทางที่จะเทียบได้เลยกับจีน .. การเพิ่มงบประมาณจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ตราบที่กองทัพยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมๆ และการคอร์รัปชั่นไม่ถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป ..”

เมื่อการตีความแนวคิดของการพัฒนาในระดับ "ต่ำสุดที่จะสามารถป้องกันประเทศ" มีความแตกต่างออกไป ก็ทำให้เส้นทางการมุ่งสู่ความเป็นกองทัพที่ทันสมัยนี้ มีความไม่ชัดเจนตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดหายุทโธปกรณ์สมัยใหม่ หรือจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ที่เรียกว่า "ยุทโธปกรณ์มือสอง" ซึ่งยังมีคุณภาพดี หรือจะทุ่มเทงบประมาณไปที่การฝึกการศึกษา ให้กับกำลังพลในกองทัพแทนการซื้อยุทโธปกรณ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความต้องการในการพัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่นั้น ดูจะมีอย่างไม่หยุดหย่อน และสวนทางกับงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น สำนักข่าวฟิลิปปินส์ รายงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.2013 ว่ากองทัพเรือฟิลิปปินส์ เสนอความต้องการจัดหาเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า จำนวน 3 ลำ 

ซึ่งหากเป็นไปตามแผน เรือดำน้ำเหล่านี้จะเข้าประจำการในปี ค.ศ.2020 โดยกองทัพเรือได้เสนอความต้องการนี้ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 แล้ว แต่ติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ นอกจากเรือดำน้ำทั้งสามลำแล้ว กองทัพเรือฟิลิปปินส์ยังต้องการเรือฟริเกตจำนวน 6 ลำ, เรือคอร์เวตจำนวน 12 ลำ, เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จำนวน 18ลำ, เรือกวาดทุ่นระเบิด จำนวน 3ลำ, เรือลำเลียงพล, เรือยกพลขึ้นบก, เรือเร็วตรวจการณ์โจมตี, เครื่องบินลาดตระเวณทางทะเล และ เครื่องบินปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์เอนกประสงค์อีกจำนวนหนึ่งด้วย

แผนการจัดหานี้จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล จากแต่เดิมที่ฟิลิปปินส์ได้รับการสนับสนุนตามโครงการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯเป็นหลัก 


(โปรดติดตามตอนที่ 3)



Create Date :03 กันยายน 2557 Last Update :3 กันยายน 2557 8:59:12 น. Counter : 2136 Pageviews. Comments :0