bloggang.com mainmenu search

“ยุทธการรุ่งอรุณแดง” (OperationsRed Dawn)

ตอนที่  3

จากหนังสือเรื่อง "ยุทธการขจัดทรราช"

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University,  New Zealand

ข้อเขียนนี้สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 

ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ ให้ใช้เฉพาะเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าเท่านั้น

 


ในระหว่างนี้เองชาวเคิร์ด (Kurd) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ทางตอนเหนือของอิรักก็ลุกฮือขึ้น โดยการสนับสนุนของอิหร่าน เพื่อหวังจะเปิดแนวรบด้านที่สองของอิรัก ทำให้ซัดดัม ฮุสเซนตอบโต้ด้วยการโจมตีด้วยแก็สมัสตาร์ด (mustard gas) และแก็สประสาท  ส่งผลให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเมือง  "ฮาลาบจา" (Halabja) กว่า 5,000 คน เสียชีวิตบาดเจ็บอีกกว่า 10,000 คน ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่สภาพซากศพของผู้คนในเมืองจำนวนมากที่เสียชีวิตอย่างน่าเอน็จอนาถ ในจำนวนนี้มีทั้งเด็ก สตรีและคนชรารวมอยู่ด้วย

ในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1988 องค์การสหประชาชาติก็สามารถไกล่เกลี่ยให้อิรักและอิหร่านยุติการสู้รบลงได้ท่ามกลางความอ่อนล้าของทั้งสองประเทศ ผลของสงครามก็คือทั้งอิรักและอิหร่านต่างพ่ายแพ้อย่างย่อยยับด้วยกันทั้งคู่ 

แต่ผู้นำของทั้งสองประเทศกลับได้รับผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ซัดดัม ฮุสเซนทำให้อิรักกลายเป็นหนี้สินประเทศในโลกอาหรับเป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาซื้ออาวุธในการสงครามกับอิหร่าน เขากู้เงินนับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จนกระทั่งมองไม่เห็นหนทางเลยว่าอิรักจะชำระหนี้สินเหล่านี้ได้อย่างไรในห้วงเวลาหนึ่งชั่วอายุคน นอกจากนี้อิรักยังต้องการเงินอีกจำนวนมหาศาลมาใช้ฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำจากสงครามอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม อยาตุลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำของอิหร่านกลับได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นจากประชาชนชาวอิหร่านในฐานะ "วีรบุรุษ" ผู้ปกป้องประเทศ ด้วยความเสียสละ มีการเปรียบเทียบกันว่าอิหร่านนั้น ต่อสู้กับคนเกือบทั้งโลก เป็นการต่อสู้ที่โดดเดี่ยว มีแรงสนับสนุนจากต่างชาติเพียงน้อยนิด แต่อิหร่านก็สามารถยืนหยัด รักษาชาติให้รอดพ้นมาได้

เมฆหมอกของสงครามจางหายไป แต่ความตึงเครียดก็หาได้จางหายไปเหมือนเมฆหมอก โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างอิรักและคูเวต ซึ่งอิรักกู้เงินมาทำสงครามกว่า 30,000 ล้านเหรียญ โดยซัดดัม ฮุสเซน อ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าว ก็เพื่อปกป้องประเทศคูเวตเอง จากการแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่าน ซึ่งเป็นพวกนิยมศาสนาหัวรุนแรง ดังนั้นคูเวตจึงควรยกเลิกหนี้สินทั้งหมดที่มีกับอิรักเป็นการตอบแทน แต่คูเวตปฏิเสธข้อเสนอของซัดดัม ฮุสเซน

เมื่อคูเวตไม่ยอมทำตามข้อเสนอของอิรัก ในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1990 ซัดดัม ฮุสเซน ก็กรีฑาทัพเข้ายึดครองคูเวต และประกาศผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก โดยอ้างเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ สหประชาชาติโดยการนำของสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปปลดปล่อยคูเวต ภายใต้ชื่อยุทธการ "พายุทะเลทราย" (Operation Desert Storm)  ซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1991 และสิ้นสุดลง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน 

การรบในครั้งนี้กำลังทหารตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิรัก ซึ่งเทียบไม่ได้กับกองทัพสหรัฐฯ ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักอีกครั้ง ทหารอิรักเสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 85,000 คนถูกจับเป็นเชลยกว่า 175,000 คน และต้องถอนกำลังทหารออกจากดินแดนยึดครอง แต่ซัดดัม ฮุสเซนก็ประกาศต่อชาวอิรักว่าสงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของชาวอิรักทุกคน ที่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของมหาอำนาจตะวันตกได้

สงครามในครั้งนี้สามารถปลดปล่อยประเทศคูเวตให้เป็นอิสระจากการยึดครองของอิรักได้ก็จริง แต่ก็ได้ทิ้งเงื่อนปมของความขัดแย้งไว้มากมาย จนในที่สุดสงครามครั้งใหม่ก็อุบัติขึ้นในปี ค.ศ.2003 ภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ภายใต้ชื่อยุทธการ "ปลดปล่อยอิรัก" (Operation Iraqi  Freedom) กำลังทหารสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจำนวนกว่า 265,000 นาย เคลื่อนพลเข้าสู่ประเทศอิรัก โดยไม่มีการประกาศสงครามแต่อย่างใด ในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.2003 พร้อมๆ กับการโจมตีทางอากาศต่อพระราชวังแบกแดด ซึ่งเป็นที่พำนักของซัดดัม ฮุสเซน โดยสหรัฐฯอ้างเหตุผลของการบุกอิรักในครั้งนี้ ก็เพื่อกำจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD: Weapon of Mass Destruction)  ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลก

กำลังส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ นำโดยรถถังแบบ เอ็ม 1อัมบรามส์ สังกัดกองพลทหารราบที่ 3 (3rd Infantry Division) พุ่งตรงเข้ายึดกรุงแบกแดดอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับกองกำลังนาวิกโยธินภาคโพ้นทะเลที่ 1 (1st Marine Expeditionary Forces)  ที่รุกไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (Highway 1)  มุ่งสู่ตอนกลางของประเทศอิรักสามารถยึดเมือง นาสิริยา (Nasiriyah) รวมทั้งสนามบินทาลิล (TalilAirfield)  ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้  

ท่ามกลางการต่อต้านที่เบาบาง เนื่องจากเป็นการรุกแบบสายฟ้าแลบ กองทัพอิรักส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือการบุกมาก่อน ต้องยอมแพ้หรือไม่ก็ถูกทำลายลงเกือบหมด สิ่งเดียวที่ทำให้การรุกของกองทัพสหรัฐฯ ต้องช้าลงก็คือ พายุทราย (SandStorm) เท่านั้นเอง 

จนกระทั่งในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.2003 นครแบกแดด เมืองหลวงของประเทศอิรัก ก็ถูกยึดครองโดยทหารสหรัฐฯ ตามด้วยเมืองเคอร์คุก  (Kirkuk) ที่ถูกยึดครองในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.2003 และเมืองทิกริต บ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งถือเป็นที่มั่นสุดท้ายของกองทัพอิรัก ก็ถูกยึดโดย "กองกำลังเฉพาะกิจตริโปลี" (Task Force Tripoli) ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2003 ทำให้ซัดดัม ฮุสเซน และคณะผู้นำทางทหารที่ใกล้ชิดต้องหลบหนีการจับกุมและถือเป็นการจบสิ้นการครองอำนาจและการบริหารประเทศอิรักอันยาวนานถึง 24 ปีของเขา 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

Create Date :22 พฤศจิกายน 2556 Last Update :22 พฤศจิกายน 2556 10:10:19 น. Counter : 2837 Pageviews. Comments :0