bloggang.com mainmenu search
"เลนิน"

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand

สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ เนื่องจากกำลังจัดพิมพ์เป็นหนังสือพ็อคเก๊ตบุ๊ค









ในขณะที่จอร์ช ลูคัคส์ (Georg Lukacs) นักคิดแนวมาร์กซิสของฮังการีกล่าวว่า "เลนินคือผุ้ที่พัฒนาทฤษฎีมาร์กซิสไปสู่การปฏิวัติด้วยการใช้กำลังแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ"

แต่ เอช จี เวลส์ (H.G. Wells) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบันกลับมองว่า "แท้จริงแล้วเลนินก็คือนักฝันแห่งเครมลินเท่านั้น"

ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันอย่างมากของนักประวัติศาสตร์ ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้วเลนินคือวีรบุรุษสมดังคำยกย่องหรือไม่ เพราะแม้กระทั่งในรัสเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เลนินเป็นผู้วางแผนและเป็นผู้นำในการปฏิวัติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ก็กำลังเพ่งมองอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยการรื้อค้นประวัติศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วเลนินคือผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องเช่นอดีตที่ผ่านมาหรือไม่

อาณาจักรรัสเซีย (Russian Empire) ในห้วงเวลาก่อนที่เลนินจะถือกำเนิดขึ้นเป็นห้วงเวลาที่ราชวงศ์ "โรมานอฟ" ของพระเจ้าซาร์ปกครองประเทศด้วยระบอบศักดินา เป็นช่วงเวลาที่ประเทศเต็มไปด้วยปัญหานานัปการทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาความแตกต่างระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะภายหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามไครเมียในปี ค.ศ. 1856 จนต้องมีการประกาศเลิกทาสในปี ค.ศ.1861 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา

อีกทั้งการประกาศเลิกทาสในรัสเซีย เป็นการปลดปล่อยบุคคลจากความเป็นทาสทางร่างกาย แต่ในความเป็นทาสทางเศรษฐกิจนั้น ชาวรัสเซียยังคงเป็นทาสของเหล่าบรรดานายธนาคารและทุนอยู่เช่นเดิม ประชาชนยังคงจมปลักอยู่กับกองหนี้สินที่พวกเขากู้มาเพื่อประทังชีวิตของเขาและครอบครัว การเลิกทาสในรัสเซียจึงเป็นเพียงการปลดปล่อยทางกายภาพ แต่ในทางเศรษฐกิจชาวรัสเซียยังคงเป็นทาสอยู่เช่นเดิม

รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ในเวลานั้นพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและทางเศรษฐกิจโดยการใช้มาตรการ "ชินอฟนิกค์" (Chinovnik) หรือ "การไต่บันไดอาชีพ" (career ladder) ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามัญสามารถเลื่อนตำแหน่งฐานะทางสังคมขึ้นสูงได้ โดยอาศัยความรู้ ความสามารถ ซึ่งมาตรการ "ชินอฟนิกค์" นี้เป็นสิ่งที่ข้าราชการทุกคนในรัสเซียไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์และการยอมรับทางสังคม จนมีหลายๆ คนฉวยโอกาสดังกล่าวสร้างฐานะให้ตนเองด้วยการเป็น "ผู้ปีนป่ายฐานะทางสังคม" (social climber) ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น การติดสินบนและการใช้ระบบอุปถัมภ์ในที่สุด

นอกจากนั้นระบอบ "ทุนนิยม" (Capitalism) ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในรัสเซีย แต่ยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่าไร ยิ่งดูเหมือนรัสเซียจะตกเป็นอาณานิคมของโลกตะวันตก เพราะนายทุนที่เข้ามากอบโกยผลกำไรจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น กิจการรถไฟ กิจการเหมืองแร่ ล้วนแต่เป็นนายทุนจากตะวันตก เช่น กิจการเหมืองถ่านหินกว่า 90 % อุตสาหกรรมก่อสร้าง 40 % หุ้นธนาคารกว่า 42 % ล้วนตกอยู่ในมือของนายทุนตะวันตกทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รัสเซียในยุคนั้นตกอยู่ในอิทธิพลหรือตกเป็น "อาณานิคมทางเศรษฐกิจ" ของทุนนิยมตะวันตกอย่างแท้จริง และทำให้รัสเซียในยุคของเลนิน เป็นยุคที่เงื่อนไขของการปฏิวัติและเงื่อนไขของสงครามทางชนชั้นสุกงอมเต็มที่










วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1870 (บางตำราระบุว่าเขาเกิดในวันที่ 22 เมษายน) ที่เมืองซิมบิร์ส (Simbirsk) ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโวลก้า (Volka) ของอาณาจักรรัสเซีย เขามีชื่อเต็มว่า "วลาดิเมียร์ อิลยิช อุลยานอฟ" (Vladimir Ilyich Ulyanov) บิดาชื่อ "อิลย่า นิโคลาเยวิช อุลยานอฟ" (Ilya Nikolayevich Ulyanov) ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ในโรงเรียนรัฐบาล มารดาชื่อ "มาเรีย อเล็กซานครอฟนา แบลงค์" (Maria Alexandrovna Blank) ครูสอนหนังสือของโรงเรียนในเมืองเช่นกัน ต่อมาพ่อของเขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาของจังหวัด ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จอย่างมากในชีวิตข้าราชการรัสเซีย

อย่างไรก็ตามแม้จะประสบความสำเร็จในฐานะข้าราชการของรัฐบาลรัสเซีย แต่ครอบครัวอุลยานอฟก็ได้ปลูกฝังแนวความคิดในการต่อต้านความบกพร่องของระบอบราชการในประเทศรัสเซีย เช่น ความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้กับสมาชิกของครอบครัวมาโดยตลอด การปลูกฝังดังกล่าวนี้เองที่ทำให้สมาชิกครอบครัวอุลยานอฟทั้งหมดก้าวสู่ความเป็นนักปฏิวัติเพื่อโค่นราชวงศ์โรมานอฟของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และสร้างสรรสังคมที่อยู่ในอุดมคติ มีความเท่าเทียมกันและเป็นดินแดนของอิสรชน

ปี ค.ศ.1886 ขณะที่เลนินมีอายุ 17 ปี บิดาของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรค brain hemorrhage และอีกหนึ่งปีต่อมาคือวันที่ 8 พฤษภาคม พี่ชายคนโตที่มีอายุมากกว่าเขา 4 ปี และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เฉลียวฉลาดที่สุดคนหนึ่ง เพราะมีผลการเรียนในระดับ "เหรียญทอง" คือ "อเล๊กซานเดอร์ อุลยานอฟ" (Alexander Ulyanov) หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า "ซาช่า" (Sasha) ก็ถูกทางการสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก (University of Saint Petersburg) เนื่องจากเป็นผู้ก่อตั้งชุดก่อการร้ายที่มีนามว่า "นารอดนายา โวลย่า" (Narodnaya Volya) เพื่อร่วมกับสมาชิกอีก 5 คนจัดหาวัตถุระเบิดในการลอบสังหารพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พร้อมกับพี่สาวของเขาคือ แอนนา อุลยานอฟ (Anna Ulyanov) ที่ถูกจับในข้อหาเดียวกันและถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย สาเหตุดังกล่าวส่งผลให้เลนินกลายเป็นนักปฏิวัติหัวรุนแรงเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวอุลยานอฟ





อเล๊กซานเดอร์ อุลยานอฟ "ซาช่า" พี่ชายนักปฏิวัติของเลนิน





กล่าวกันว่า "ซาช่า" พี่ชายของเลนินเป็นผู้ที่สนใจในข้อเขียนของคาร์ล มาร์กซ์เป็นอย่างมากจนถึงระดับที่แปลข้อเขียนที่มาร์กซ์วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของเฮเกล (Critique of Hegel's Philosophy of Right) ซึ่งเมื่อเลนินเห็นข้อเขียนของพี่ชายดังกล่าว เขาสนใจจนถึงกับนั่งลงและอ่านมันทันที

นอกจากนี้ระหว่างการไต่สวนคดีลอบปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์ในชั้นศาล "ซาช่า" ได้ประกาศต่อคณะผู้ไต่สวนว่า

"… เราได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาพลังความคิดของเรา แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของปวงชน …"

คำกล่าวนี้เองที่ทำให้เลนินเกิดแนวคิดที่จะนำความรู้มาแก้ไขปัญหาของสังคม แทนที่จะเรียนรู้เพื่อให้ผ่านเลยไปเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่เขาสานต่อความฝันของพี่ชายนั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นการแก้แค้นรัฐบาล แต่เป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของระบอบมาร์กซิสนั่นเอง

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1887เลนินเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาเซน (Kazen University) ที่ซึ่งเขาได้ศึกษางานเขียนของปรมาจารย์ลัทธิมาร์กซ์คือ "คาร์ล มาร์กซ์" (Karl Marx) จนทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลุกฮือขึ้นก่อจลาจลของนักศึกษามหาวิทยาลัยและส่งผลให้มหาวิทยาลัยคาเซนไล่เขาออกจากการเป็นนักศึกษา เลนินถูกจับตามองจากหน่วยตำรวจลับเป็นพิเศษ เพราะมีพฤติกรรมที่นิยมความรุนแรง อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับพี่ชายและพี่สาวที่เป็นผู้ก่อการร้าย จึงเกรงว่าเลนินจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างปัญหาให้กับราชวงศ์และประเทศรัสเซีย






คาร์ล มาร์กซ์




แม้จะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย เลนินก็ไม่ย่อท้อเขาตั้งหน้าตั้งตาศึกษาวิชากฏหมายด้วยตัวเอง จนสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ รวมถึงได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของคาร์ล มาร์กเรื่อง "ทุนนิยม" (Das kapital) เป็นครั้งแรกซึ่งยิ่งส่งผลให้แนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของเขารุนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิด "การต่อสู้ทางชนชั้น" (Class Struggle) ที่มาร์กซ์ชี้แนะในหนังสือว่าเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมโลกได้

นอกจากเลนินจะเป็นผู้ใฝ่รู้ มีความสนใจผลงานด้านวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา สถิติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง ของนักคิดนักเขียนคนสำคัญ เช่น คาร์ล มาร์กซ์และเฟรดเดอริค เองเกลส์ รวมทั้งสนใจศึกษาภาษาต่างประเทศคือภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสแล้ว ในทางส่วนตัวแล้วเขายังเป็นนักกีฬาตัวยงเลยทีเดียว เขาเป็นนักว่ายน้ำที่ยอดเยี่ยม รวมทั้งยังชอบเล่นสเก็ตน้ำแข็งพอๆ กับการปีนเขาและการล่าสัตว์ในท้องทุ่งที่กว้างขวางสุดสายตา

ในปี ค.ศ.1890 เลนินได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กและสามารถคว้าประกาศนียบัตรชั้นที่หนึ่งทางด้านกฏหมายมาครอบครอง รวมทั้งยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถและมีความเฉลียวฉลาดในระดับยอดเยี่ยมระหว่างการศึกษา ครั้นเมื่อจบการศึกษาเขาก็มีโอกาสประกอบอาชีพทนายความอยู่ระยะหนึ่งที่เมืองท่า "ซามารา" (Samara) ริมฝั่งแม่น้ำโวลกา ส่วนใหญ่เป็นการรับว่าคดีความเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิที่ดิน ซึ่งยิ่งทำให้เขามองเห็นและสัมผัสได้ถึงความเหลื่อมล้ำของชนชั้น การเอารัดเอาเปรียบจากบรรดานายทุนเจ้าของที่ดิน





มหาวิทยาลัยเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน




ในปี ค.ศ.1891เกิดความอดอยากครั้งใหญ่ในรัสเซีย ผู้คนและสัตว์เลี้ยงจำนวนมากเสียชีวิต เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เลนินกล่าวโจมตีรัฐบาลว่า

"จงกล่าวโทษพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความล้มเหลวในการเพาะปลูก … ถ้ารัฐบาลอยากจะกล่าวโทษ … แต่จงประณามรัฐบาลของพระเจ้าซาร์ที่ยังคงส่งออกเมล็ดพันธ์พืชออกไปสู่ตลาดภายนอกประเทศแม้ว่าภายในประเทศจะเต็มไปด้วยความอดอยาก …"

นอกจากกล่าวประณามรัฐบาลแล้ว เลนินยังคงโจมตีต่อไปว่า การพัฒนาระบอบซาร์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จะกระทำได้เพียงอย่างเดียวคือ … ทำลายระบอบนี้ลงเสีย ...

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1895 เขาได้ก่อตั้งองค์กรซึ่งถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของพรรคปฏิวัติคอมมิวนิสต์รัสเซียขึ้น นั่นคือ "สภาแห่งการต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ" (League of Struggle for Emancipation of the Working Class) ที่เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งในห้วงเวลานั้นยังไม่มีการใช้คำว่า "มาร์กซิส" อย่างเป็นทางการ ผู้้คนที่นิยมแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์จะเรียกตัวเองว่า "ประชาธิปไตยแบบสังคม" (social – democrats)

สภาแห่งการต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพปลุกระดมคนงานโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 30,000 คนจากโรงงาน 20 แห่งทั่วประเทศรัสเซียให้หยุดงานประท้วง เป็นเหตุให้เขาถูกจับกุมในวันที่ 7 ธันวาคมของปีเดียวกันในข้อหาวางแผนโค่นล้มพระเจ้าซาร์ อเลกซานเดอร์ที่ 3






ภาพถ่ายเลนินที่เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ.1897




เลนินถูกจับขังคุกในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กอยู่นานสิบสี่เดือนก่อนจะถูกเนรเทศไปอยู่ที่ "ไซบีเรียตะวันออก" ที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ "ชูเชนส์โก" (Shushenskoe) ในจังหวัด "เยนิสเซ" (Yenissei) ดินแดนอันหนาวเหน็บและแร้นแค้นราวกับดินแดนต้องคำสาปในเทพนิยาย

แต่กลับเป็นสถานที่ที่เลนินชื่นชอบ เพราะ ณ ที่นี้เองที่เขาได้พบกับนักนิยมมาร์กซิส "กอร์กี้ เปรกานอฟ" (Georgy Plekhanov) ผู้ซึ่งเป็น "บิดาแห่งมาร์กซิสรัสเซีย" (the father of Russian Marxism) เพราะบุคคลแรกที่นำแนวคิด "สังคมนิยม" เข้ามาในรัสเซีย ทำให้สองนักปฏิวัติได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดทางสังคมนิยมมาร์กซิสกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนจุดประกายการก่อตั้งรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในความคิดของเลนินให้เพิ่มมากขึ้น






ที่พักของเลนินที่หมู่บ้านชูเชนส์โกในไซบีเรีย ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี




นอกจากเลนินจะพบกับ "เปรกานอฟ" ในไซบีเรียแล้ว เขายังได้พบกับคนสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่งในชีวิตของเขานั่นคือภรรยาคู่ชีวิตซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสังคมนิยม "นาเดซดา คอนสแตนตินอฟนา ครุปส์กายา" (Nadezhda Konstantinovna Krupskaya) ซึ่งถูกตำรวจจับกุมภายหลังเลนิน 8 เดือน ทั้งคู่แต่งงานกันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1898

ครุปส์กายามาจากครอบครัวชนชั้นสูงที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เธอมีต้องแบกรับความรับผิดชอบต่อครอบครัว และเริ่มสอนหนังสือเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยวัยเพียงอายุ 14 ปี หลังจากนั้นเธอก็ศึกษาแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ จนเกิดความเชื่อมั่นในระบอบมาร์กซิสและเข้าร่วมกลุ่มมาร์กซิสของเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กด้วยการทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดแก่กรรมกรชายตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นประจำทุกวันแม้กระทั่งวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ครุปส์กายาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนและต่อสู้เพื่อแนวความคิดของเลนินในแทบทุกเรื่อง





ครุปส์กายาและเลนิน




ครั้งหนึ่งเธอบันทึกถึงบุคลิกของเลนินไว้ว่า

"… เลนินเป็นคนพูดน้อย ผู้คนที่เรียกตัวเองว่ามาร์กซิส ต่างอึดอัดใจเป็นอย่างมากเมื่อถูกมองจากเลนินด้วยสายตาสงบนิ่ง มีบางคนเสนอความเห็นว่าการปฏิวัติควรจะเริ่มต้นด้วยการประชุมของคณะกรรมการทางวิชาการ เลนินถึงกับหัวเราะและกล่าวว่า … ดี … ถ้าใครต้องการที่จะรักษาแผ่นดินรัสเซียไว้ด้วยคณะกรรมการทางวิชาการนั่นละก็ … เราจะไม่หยุดยั้งพวกเขาหรอก ..."

ครุปส์กายายังอธิบายเพิ่มเติมในหนังสือเรื่อง "ความทรงจำของเลนิน" (Memories of Lenin) ถึงความมานะอุตสาหะของเลนินในการรวบรวมข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ความแร้นแค้น การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่และการขูดรีดค่าจ้างแรงงาน โดยเธออธิบายว่า

"… ฉันยังจำได้ถึงการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในโรงงานทรอนตัน (Thornton) โดยผ่านทาง "โครลิคอฟ" ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของฉันที่ถูกเนรเทศมาจากเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กและทำงานอยู่ในโรงงานนี้ ฉันรวบรวมข้อมูลทุกอย่างตามที่เลนินเป็นผู้กำหนด ข้อมูลเหล่านี้มีค่ามาก ขั้นตอนต่อไปก็คือการเข้าไปพบปะกับเจ้าของข้อมูล เพื่อนำจดหมายและแผ่นพับซึ่งเขียนโดยเลนิน ที่อธิบายถึงแนวทางที่จะแก้ไขเงื่อนไขทางชนชั้นเหล่านั้น ฉันคลุมผ้าโพกศรีษะให้ดูเหมือนผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานแล้วเดินทางเข้าไปในโรงงานทรอนตัน พบปะกับผู้ที่ให้ข้อมูลทุกคน ทั้งชายและหญิง ทั้งที่ยังโสดและที่สมรสแล้ว ฉันอธิบายทุกอย่างในเอกสารของเลนิน มันเหมือนกับตอนที่ฉันสอนอยู่ที่โรงเรียน แต่ขณะนี้มันคือโรงเรียนสำหรับสหาย (comrades) ของพวกเราทุกคน ..."

ช่วงเวลาที่ถูกเนรเทศเลนินกลับใช้เวลาอย่างคุ้มค่าจนน่าแปลกใจ เขามีเวลาในการออกกำลังกายอย่างมีความสุข ให้คำแนะนำทางด้านกฏหมายแก่ชาวบ้าน ศึกษาค้นคว้าและแปลหนังสือเรื่อง "ประชาธิปไตยอุตสาหกรรม" (Industrial Democracy) ซึ่งเขียนโดยซิดนีย์ เวปป์ (Sidney Webb)

และอีกหนึ่งปีต่อมาเลนินก็พิมพ์หนังสือเรื่อง "การพัฒนาของระบอบทุนนิยมในรัสเซีย" (The development of Capitalism in Russia) ซึ่งเป็นหนังสือที่อ้างอิงแหล่งข้อมูลทางสถิติของรัสเซียจำนวน 299 ฉบับ ข้อมูลจากเยอรมัน อังกฤษและฝรั่งเศสอีก 38 ฉบับ

หนังสือเล่มนี้เปิดเผยให้เห็นถึงการครอบงำชนชั้นกรรมาชีพผ่านระบบกลไกของตลาดที่ควบคุมโดยชนชั้นนายทุนและเจ้าของที่ดิน การพัฒนาของระบอบทุนนิยมเป็นการพัฒนาที่เชื่อมชนชั้นปกครองเข้ากับชนชั้นนายทุนเข้าด้วยกัน ปล่อยให้ชาวนาและชนชั้นกรรมกรให้สิ้นสภาพของมนุษย์ กลายเป็นทาสของระบอบไปในที่สุด หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือจำนวนสามสิบเล่มที่เลนินเขียนขึ้นระหว่างที่เขาถูกเนรเทศไปอยู่ในไซบีเรีย เป็นหนังสือที่สร้างกระแสการต่อต้านรัฐบาลขึ้นในหมู่นักวิชาการและชนชั้นกรรมาชีพเล่มหนึ่ง

ในปี ค.ศ.1900 เลนินได้รับการปลดปล่อยจากการถูกเนรเทศ แต่ครุปส์กายา ภรรยาของเขายังคงต้องโทษอยู่ในไซบีเรียต่อไปอีกหนึ่งปี เลนินจึงออกเดินทางไปยุโรปตามลำพังในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน ทั้งที่เมืองมิวนิค กรุงปรากและนครลอนดอน ก่อนที่จะปักหลักเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเจนีวาในเมืองซูริค พร้อมทั้งก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "อิสกรา" (Iskra) ซึ่งแปลว่า "จุดประกาย" ขึ้นโดยมีคำขวัญว่า "จากประกายนี้จะก่อให้เกิดเปลวเพลิง" (out of this spark shall spring the flame)

ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ข้อเขียนและข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิวัติ แต่การพบกันครั้งแรกของกองบรรณาธิการที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เกือบจบลงด้วยความแตกแยก เพราะมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับเลนิน เช่น เปรกานอฟที่มีความสงสัยปนความริษยาในความสามารถของเลนิน และในปี ค.ศ.1902 เขาก็เปลี่ยนชื่อของเขาจากเดิมมาเป็น "เลนิน" ซึ่งได้มาจากชื่อของแม่น้ำ "เลนา" (Lena) ในไซบีเรีย พร้อมๆ กับการเข้าร่วมในฐานะฝ่ายบริหารของครุปส์กายา ภรรยาของเลนินที่เพิ่งพ้นโทษจากการถูกเนรเทศ

หนังสือพิมพ์ "อิสกรา" ถูกกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นของพรรคที่จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางชนชั้นในรัสเซีย ทุกอย่างในหนังสือพิมพ์ถูกควบคุมโดยเลนิน รวมทั้งการใช้สายลับทำหน้าที่นำหนังสือพิมพ์จากลอนดอนสู่สตอกโฮล์ม เจนีวา สตุ๊ดการ์ท เวียนนาและมิวนิค เพื่อเข้าไปเผยแพร่ในรัสเซียผ่านทางเครือข่ายใต้ดินสู่โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งประเทศโดยซุกซ่อนในรองเท้า ของเล่น กระเป๋าใส่ของสุภาพสตรีและที่ซ่อนอื่นๆ

แต่แม้จะมีอุปสรรคมากมาย "อิสกรา" ฉบับแรกก็สามารถปรากฏโฉมขึ้นได้เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ.1900 ในรัสเซียโดยความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน ซึ่งขณะนั้นเรียกตัวเองว่า "ประชาธิปไตยสังคมเยอรมัน" (German Social Democrat)

ประมาณกันว่าหนังสือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเล็ดรอดเข้าไปในรัสเซียได้ เนื่องจากตำรวจของรัสเซียได้เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ เพราะอิทธิพลของระบอบซาร์ยังคงเข้มแข็งและยากที่จะสั่นคลอนได้

อย่างไรก็ตามเลนินเห็นว่าแม้หนังสือพิมพ์ "อิสกรา" จะสามารถเข้าไปในรัสเซียได้เป็นจำนวนน้อยนิด แต่ในจำนวนอันเล็กน้อยเหล่านั้นจะกลายเป็นต้นฉบับในการจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป ซึ่งก็เป็นจริงดังที่เลนินคาดเอาไว้ มีโรงพิมพ์ขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมายเพื่อคัดลอกหนังสือพิมพ์ "อิสกรา" แจกจ่ายภายในรัสเซีย

เช่น โรงพิมพ์ลับของ แอล บี กราซิน (L.B. Krasin) วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดที่ตั้งอยู่ที่เมือง "บาคู" (Baku) ที่ทำการพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับคัดลอกออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางจนทำให้ "อิสกรา" ได้รับการยกระดับให้เป็น "กระดูกสันหลังขององค์กรปฏิวัติ"

ในปี ค.ศ.1902 เลนินประกาศอย่างห้าวหาญผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ "อิสกรา" ตอน "สิ่งที่ต้องกระทำ" (What is to be done) ว่า

"… จงมอบองค์กรปฏิวัติให้กับเรา แล้วเราจะควบคุมรัสเซียทั้งหมด …"





หนังสือพิมพ์ "อิสกรา"


นอกจากนี้เลนินยังกระตุ้นชาวรัสเซียผ่านบทความเรื่องเดียวกันอีกว่า เขามั่นใจว่าการปฏิวัติจะไม่มีวันประสบความสำเร็จหากปราศจากผู้นำองค์กรที่มั่นคง องค์กรที่มั่นคงนี่เองคือสิ่งสำคัญเร่งด่วนอันดับแรกๆ เพราะยิ่งมีมวลชนมากขึ้นเท่าใด ยิ่งง่ายต่อการตรวจพบจากฝ่ายบ้านเมือง และยิ่งคัดสรรมวลชนมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งยากต่อการตรวจจับจากรัฐบาล รวมทั้งองค์กรจะทำหน้าที่ในการปกป้องและปกปิดการดำเนินงานของมวลชนเหล่านั้นให้รอดพ้นจากสายตาของเจ้าหน้าที่

ในขณะเดียวกันเลนินก็ย้ำว่า องค์กรปฏิวัติจะต้องมีแกนนำที่เป็นมืออาชีพในการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติ จากข้อเขียนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สำหรับเลนินแล้วการปฏิวัติในรัสเซียเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว

หนังสือพิมพ์ "อิสกรา" ทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางในเครือข่ายการจัดตั้งองค์กรปฏิวัติท้องถิ่นที่แผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศรัสเซีย ในทางกลับกันข่าวสารจากภายในรัสเซียก็ส่งตรงถึงมือเลนินในอังกฤษอย่างต่อเนื่องผ่านทางนักโทษที่หลบหนีออกจากรัสเซียและกลุ่มบุคคลที่ถูกรัฐบาลพระเจ้าซาร์เนรเทศ รวมถึงจดหมายจากกรรมกรนับร้อยๆ ฉบับที่ส่งถึงเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้เลนินสามารถติดตามสถานการณ์ในรัสเซียได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นอกจากนี้เขายังใช้ "อิสกรา" เป็นสื่อในการนัดพบแกนนำ สายลับและนักปฏิวัติทั้งหลายที่ถูกเนรเทศมารวมตัวกันในยุโรปเพื่อจัดตั้งพรรคที่มีความเป็นเอกภาพ มีกฏ ข้อบังคับและแผนการปฏิบัติที่เป็นหนึ่งเดียว

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1903 มีการประชุมพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russia Social Democratic Labour Party – RSDLP) ขึ้นโดยมีหนังสือพิมพ์ "อิสกรา" เป็นองค์กรหลักที่บริหารงานของพรรค ผู้คนที่นิยมมาร์กซิสต่างมารวมตัวกันเพื่อร่วมพิจารณาข้อบังคับต่างๆ ของพรรค ณ โกดังเก็บสินค้าในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยหนูและหมัด ยังไม่รวมถึงตำรวจลับของเบลเยี่ยมและสายลับของรัฐบาลโซเวียตที่มีมากมายพอๆ กับจำนวนของหนูและหมัดในโกดังนั้น

ทำให้ต้องมีการย้ายสถานที่ประชุมไปยังกรุงลอนดอนของอังกฤษในเดือนสิงหาคมเพื่อให้พ้นหูพ้นตารัฐบาลของพระเจ้าซาร์ มีการลงคะแนนเสียงให้เลนินเป็นผู้นำขอหนังสือพิพ์ "อิสกรา" และผู้นำของการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติต่อไปด้วยคะแนนเสียง 33 เสียงจากทั้งหมด 51 เสียง

จากนั้นก็เป็นการพิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของพรรคจากบทที่ 1 เรื่อยมาจนถึงบทที่ 22 ที่ประชุมเริ่มเสียงแตก มีความขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นจนถึงบทที่ 27 ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นจนมีการประท้วงจากสมาชิกด้วยการวอล์คเอ้าท์ (walk out) และเมื่อมีการลงคะแนนเสียง มติของพรรคก็แบ่งออกเป็นสองส่วนคือเสียงส่วนใหญ่ซึ่งสนับสนุนเลนินหรือ "บอลเชวิค" (Bolshevik หรือ Majority) และเสียงส่วนน้อยหรือ "เมนเชวิค" (Menshevik หรือ Minority) ซึ่งสนับสนุนมาร์ตอฟ (Martov) หรือจูเลียส เซเดอร์เบาม์ (Julius Tsederbaum) ผู้ร่วมกับเลนินก่อตั้งสภาแห่งการต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1895

ความแตกแยกที่เกิดขึ้นสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค แต่ในเบื้องต้นเลนินมองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งดูจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะการแบ่งสมาชิกพรรคออกเป็นสองส่วนทำให้พรรคขาดเอกภาพและที่สำคัญคือหนังสือพิมพ์ "อิสกรา" ที่เลนินเป็นปลุกปั้นมากับมือก็ตกอยู่ในมือของพวกเมนเชวิค ซึ่งมีนักคิดนักเขียนฝีมือดีหลายคน ทำให้ "อิสกรา" เริ่มหันมาโจมตีเลนินว่าต้องการเปลี่ยนพรรคให้กลายโรงงานแห่งอสูรร้าย ทำให้เลนินและบอลเชวิคจึงต้องเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ขึ้นชื่อว่า "เปอร์ยอด" (Vperyod) ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1904






ภาพวาดแสดงการรบในสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น




ในขณะเดียวกันสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นเพื่อแย่งชิงแมนจูเรียก็เปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ.1904 – 1905 อังกฤษ จีนและเกาหลีให้การสนับสนุนญี่ปุ่นเพื่อหวังทำให้อำนาจของรัสเซียอ่อนแอลง ส่วนฝรั่งเศสให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่พระเจ้าซาร์ของรัสเซีย แต่รัสเซียก็แพ้สงครามส่งผลให้อัตราคนว่างงานในประเทศพุ่งสูงขึ้นถึงสิบล้านคน เลนินเขียนในหนังสือพิมพ์ของเขาฉบับเดือนมกราคม ค.ศ.1905 ว่า

"… แต่ละก้าว ... กำลังนำพาเราให้เข้าใกล้สงครามอันยิ่งใหญ่ … สงครามระหว่างประชาชนกับเผด็จการ … สงครามของชนชั้นกรรมาชีพเพื่ออิสรภาพ …"

ขณะเดียวกันในวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม ค.ศ.1905 คนงานกว่า 200,000 คนในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กได้เดินขบวนประท้วงรัฐบาลไปยังพระราชวังฤดูหนาวของพระเจ้าซาร์ ทหารได้รับคำสั่งให้ยิงใส่ฝูงชน มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ชาวเมืองถึงกับประกาศด้วยความโกรธแค้น นับจากนี้ไปไม่มีพระเจ้าซาร์อีกต่อไปแล้ว แต่การประท้วงก็ล้มเหลวลงอีกครั้ง คงเหลือแต่ชื่อของวันสำคัญนี้ว่า "วันศุกร์เลือด" (Bloody Sunday)

เลนินเดินทางกลับรัสเซียในปีเดียวกันเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติ และอีกหนึ่งปีต่อมาเขาก็ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย แต่ในปี ค.ศ.1907 หลังจากการปฏิวัติในเดือนพฤศจิกายนล้มเหลวลงอีก เลนินก็ต้องหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง คราวนี้เขาต้องพำนักอยู่ในยุโรปตะวันตกเป็นเวลานานถึงสิบปีจนถึงปี ค.ศ.1917

ในห้วงเวลาอันยาวนานดังกล่าวนี้เองที่เลนินได้พัฒนาแนวคิดมาร์กซิสของคาร์ล มาร์กซ์ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในรัสเซียและเรียกทฤษฎีนี้ว่า "เลนินนิซึ่ม" (Leninism) จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ.1914 เมื่อกลุ่มชาตินิยมเซอร์เบียลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานแห่งออสเตรียและพระชายาที่เมืองซาราเยโว เป็นเหตุให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของแต่ละประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมต่างหันกลับสนับสนุุนรัฐบาลของประเทศตนในสงคราม แทนที่จะมุ่งโค่นล้มรัฐบาลทุนนิยมตามอุดมการณ์ดั้งเดิมของคาร์ล มาร์กซ์ตามที่ตกลงกันไว้

เช่น กุสตาฟ นอสเก้ (Gustav Noske) ผู้นิยมมาร์กซิสซ์เยอรมันก็ประกาศให้กลุ่มสังคมนิยมเยอรมันปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน ส่วนนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติคนอื่นๆ ก็หันมาสนับสนุนการสร้างสันติภาพ เช่น โรซ่า ลักเซมเบิร์ก (Rosa Luxemburg)

แม้แต่เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) สมาชิกพรรคสังคมนิยมอิตาลี (Italian Socialist Party) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ไม่พอใจการทำงานของพรรค จนกระทั่งถูกขับออกจากพรรคและก่อตั้งพรรค "ฟาสซิสต์" (Fascist) ขึ้นในปี ค.ศ.1919 จนขึ้นครองอำนาจและร่วมกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ.1940-1945

จึงอาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดปฏิวัติสังคมนิยมทั้งโลกโดยสงครามชนชั้นของเลนินได้ถูกทำลายลงด้วยแนวความคิดชาตินิยมของแต่ละประเทศในระหว่างโลกครั้งที่หนึ่งนั่นเอง

แม้ความเคลื่อนไหวของนักสังคมนิยมในตะวันตกจะไม่ความประหลาดใจ แต่ก็สร้างความผิดหวังให้กับเลนินเป็นอย่างมาก เพราะที่จริงแล้วเลนินมีแนวความคิดต่อต้านสงครามโลก เพราะสงครามอันยิ่งใหญ่ (Great war) ในความคิดของเลนินคือสงครามระหว่างชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) กับชนชั้นกลาง (Bourgeoisi) หรือที่เลนินเรียกว่า "สงครามจักรวรรดิ์นิยม" (Imperialist war) ซึ่งจะขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างประเทศและโค่นล้มทุนนิยมให้หมดสิ้นลง คงเหลือแต่อิสรภาพของที่ปราศจากชนชั้น

เลนินได้เคยเขียนบทความเรื่อง "ผลของสังคมนิยมสันติ" ไว้ในหนังสือพิมพ์บราฟด้า (Pravda) ฉบับที่ 50 ของปี ค.ศ.1913 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันครบรอบ 30 ปีแห่งการเสียชีวิตของคาร์ล มาร์กซ์อันเป็นการชี้แนะถึงแนวทางการปฏิบัติของพรรคสังคมนิยมตะวันตกในยามสงครามว่า

"เมื่อโลกตะวันตกก้าวเข้าสู่ขั้นตอนของสันติ (peaceful) เพื่อเตรียมการสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง พรรคสังคมนิยมซึ่งโดยปกติจะเป็นกลุ่มชนชั้นกรรมาชีพจะรวมตัวกันทุกหนทุกแห่ง และเรียนรู้ที่จะใช้สภาของชนชั้นกลางเป็นเครื่องมือไปสู่การปฏิวัติ เรียนรู้แนวคิดสังคมนิยมในสถาบันการศึกษาของตน ในสหภาพการค้าของตนและในสังคมของตนให้ถ่องแท้ เพราะแท้จริงแล้วคำว่าสันติของทุนนิยมนั้นหมายถึง สันติภายใต้การดำเนินงานของนายทุนและสันติของเจ้านายทาส มิใช่สันติของชนชั้นกรรมาชีพและสันติของทาสแต่อย่างใด"

ข้อเขียนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จากมุมมองของเลนินนั้นคำว่า "สันติ" นั้นเป็นขั้นตอนที่ผ่านพ้นไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอนของการปฏิวัติทางชนชั้นเท่านั้น จึงจะสามารถประสบชัยชนะในสงครามครั้งยิ่งใหญ่นี้ได้

ในช่วงแรกของสงคราม เลนินพำนักอยู่ที่เมือง "โพโรนิน" (Poronin) ในประเทศออสเตรีย ก่อนที่รัฐบาลออสเตรียจะมีคำสั่งให้จับกุมตัวเขาเอาไว้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ.1914ในฐานะพลเมืองของชาติศัตรู แต่วิคเตอร์ แอดเลอร์ (Victor Adler) ซึ่งเป็นกลุ่มนิยมมาร์กซ์ในออสเตรียได้ประกันตัวเขาออกมาจากที่คุมขัง เลนินขอเดินทางไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะประเทศที่เป็นกลาง รัฐบาลออสเตรียอนุญาตตามคำขอ

เขาออกเดินทางจากออสเตรียในวันที่ 23 สิงหาคมไปยังเมือง "ซูริค" (Zurich) ของสวิตเซอร์แลนด์และยังคงเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติทางชนชั้นอย่างต่อเนื่อง งานเขียนที่สำคัญของเลนินในช่วงนี้ได้แก่ "จักรวรรดิ์นิยม : ขั้นสูงสุดของทุนนิยม" (Imperialism : the Highest Stage of Capitalism) ซึ่งเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1915-1916 เพื่ออธิบายวิวัฒนาการของทุนนิยมในขณะนั้นว่ากำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นนักล่าอาณานิคมในนามของ "จักรวรรดิ์นิยม"









นายทุนตะวันตกซึ่งก็คือราชวงศ์ต่างๆ ของยุโรปในขณะนั้น ประกอบด้วยพระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี พระเจ้าจอร์ชที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร จักรพรรดิ์ฟรานซ์ โจเซฟ แห่งออสเตรีย-ฮังการี พระเจ้าไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมันและพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย กำลังผูกขาดกิจการต่างๆ ทั่วโลกและส่งออก "เงินทุน" เพื่อใช้ในการลงทุนตั้งโรงงานสาขาในประเทศต่างๆ มากกว่าการส่งสินค้าออกไปขาย เงินทุนและโรงงานสาขาเหล่านี้คือพื้นฐานของจักรวรรดิ์นิยม เป็นลักษณะของการล่าอาณานิคมโดยการใช้เงินลงทุนข้ามชาติ

พฤติกรรมดังกล่าวเลนินอธิบายว่าทำให้เกิดการผูกขาดระบบการเงินของโลก เช่น ประเทศด้อยพัฒนาต้องใช้มาตรฐานระบบการเงินของโลกตะวันตกเป็นหลักในการค้าขาย การต่อสู้ในการพัฒนาต่างๆ ก็เป็นการต่อสู้ระหว่างบริษัทข้ามชาติเพื่อผูกขาดตลาดโลก ทำให้โลกต้องตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกโดยปริยาย จากแนวคิดนี้เองทำให้เลนินมองว่า อาณาจักรรัสเซียกำลังตกเป็นเครื่องมือของจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ต้องร่วมกันทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับเยอรมันเพื่อปกป้องผลประโยชน์และดินแดนในอาณัติของตน ผลประโยชน์ที่เป็นของอังกฤษและฝรั่งเศส ไม่ใช่ผลประโยชน์ของรัสเซีย

นอกจากนี้เลนินยังได้เสนอแนวคิดสอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่ยุคจักรวรรดิ์นิยมของระบอบทุนนิยมว่า เมื่อทุนนิยมก้าวเข้าสู่การล่าอาณานิคมและการผูกขาดทางการค้า ชนชั้นกรรมาชีพก็กำลังก้าวเข้าขั้นสูงสุดของพวกเขาเช่นกัน นั่นคือ "การปฏิวัติ" และการปฏิวัตินั้นต้องกระทำในทันที ไม่สามารถรอได้ เพราะสงครามโลกและการปฏิวัติทางชนชั้นนั้นมีความเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพต้องรีบเปลี่ยน "สงครามโลก" ให้เป็น "สงครามกลางเมือง" (Civil war)

เลนินยังมีความเห็นว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เกิดขึ้น เหล่านายทุนของแต่ละประเทศได้ใช้แรงงานที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ ทำการผลิตอาวุธเข้าห้ำหั่นกันเอง สงครามในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนชนชั้นกรรมาชีพต่อสู้ห้ำหั่นกับชนชั้นกรรมาชีพของอีกประเทศหนึ่งด้วยกันเอง หาใช่การต่อสู้ของเหล่านายทุนแต่อย่างใด ยิ่งต่อสู้กันยาวนาน พลังของชนชั้นกรรมาชีพก็ยิ่งลดลงและส่งผลให้พลังของการปฏิวัติทางชนชั้นก็ลดลงด้วยเช่นกัน

คำกล่าวนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า เมื่อใดที่สงครามสิ้นสุดลง ผู้ชนะสงครามย่อมไม่ใช่ชนชั้นกรรมาชีพแต่อย่างใด หากแต่เป็นชนชั้นนายทุนทั้งสิ้น ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทุ่มเททุกอย่างในการผลิตอาวุธก็ยังคงถูกทอดทิ้งไว้ให้อยู่ในมุมมืดของระบอบทุนนิยมต่อไป ดังนั้นเลนินจึงเรียกร้องให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นสู้กับรัฐและนายทุนแทนการเข้าต่อสู้กันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

แนวคิดของเลนินถูกนำเข้าที่ประชุมกลุ่มสังคมนิยมต่อต้านสงครามที่ "ซิมเมอร์วาลด์" (Zimmerwald) ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 5 เดือนกันยายน ค.ศ.1915 ปรากฏว่ามีผู้ให้การสนับสนุนแนวคิดนี้เป็นจำนวนน้อยมาก เลนินรู้สึกเสมือนกำลังถูกหักหลังจากกลุ่มสังคมนิยมในยุโรปที่ไม่ยอมยกระดับการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้น

อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของเลนินและพรรคสังคมนิยมของเขายังคงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การประท้วงตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ชื่อเสียงของราชวงศ์โรมานอฟของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 กลับเสื่อมถอยลงทุกขณะ

"กริกอรี รัสปูติน" (Grigori Rasputin) พระที่มีพื้นฐานมาจากชาวนาในไซบีเรียได้อาศัยเล่ห์เหลี่ยมเข้ามาในวังเครมลิน และได้สร้างสิ่งที่เสื่อมเสียให้เกิดขึ้นต่อราชวงศ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาได้รับมอบอำนาจให้เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติงานของศาลจักรวรรดิ์ ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของประเทศ ยิ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว





กริกอรี รัสปูติน ผู้มีส่วนอย่างมากต่อความเสื่อมของราชวงศ์โรมานอฟ




มีเสียงเรียกร้องให้กองทัพรัสเซียทำการปฏิวัติ เพราะดูเหมือนว่าอังกฤษและฝรั่งเศสก็เตรียมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการดังกล่าว

ขณะเดียวกันเมื่อเยอรมันทราบถึงแนวคิดในการต่อต้านรัฐบาลของเลนิน จึงวางแผนที่จะส่งเลนินกลับเข้าไปในรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวรัสเซียจำนวนมาก เพื่อหวังให้เลนินดึงรัสเซียออกจากสงครามที่กำลังดำเนินไปกับเยอรมัน เพื่อที่เยอรมันจะได้เหลือแนวรบด้านอังกฤษและฝรั่งเศสเพียงด้านเดียว

ก่อนที่แผนการนำเลนินเดินทางกลับรัสเซียจะเริ่มขึ้น ได้เกิดการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าซาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 โดยเหตุการณ์เปิดฉากขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 เมื่อประชาชนผู้อดอยากได้ร่วมกับกรรมกรผู้ใช้แรงงานชุมนุมประท้ววงรัฐบาลแล้วเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันถัดมากรรมกรกว่า 200,000 คนในเมือง "เปโตรกราด" (Petrograd) หรือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กเดิมหยุดงานประท้วง มีการจับกุมและยิงใส่ผู้ประท้วงอย่างรุนแรง





พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว




วันที่ 26 พระเจ้าซาร์ประกาศยุบสภา "ดูมา" (Duma) แต่รองประธานสภาและสมาชิกสภายังคงพบกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ สถานการณ์วิกฤตมากขึ้นหน่วยทหารหลายหน่วยหันอาวุธเข้าปกป้องผู้ประท้วง ในวันที่ 28 กองทัพบางส่วนที่แปรพักตร์และกลุ่มผู้ประท้วงร่วมกันจับกุมรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล วันที่ 2 เมษายน พระเจ้าซาร์ประกาศสละราชสมบัติและถูกจับภุมในวันที่ 8 ก่อนที่จะถูกปลงพระชนม์พร้อมครอบครัวในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.1917

ในห้วงนี้เองเลนินได้เดินทางเข้าประเทศโดยอาศัยความช่วยเหลือจาก "ฟิร์ทซ์ แพลทเทน" (Fritz Platten) ซึ่งเป็นพวกคอมมิวนิสต์ในสวิตเซอร์แลนด์นำตัวเลนินข้ามแดนจากสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาในเยอรมัน โดยขบวนรถไฟของเยอรมันที่ได้รับเอกสิทธิทางการฑูตและไม่สามารถตรวจค้นได้ จากนั้นเลนินก็เดินทางเข้าไปในประเทศรัสเซียในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1917 ที่เมือง "เปโตรกราด" และเข้าควบคุมการปฏิบัติงานของกลุ่ม "บอลเชวิค" ในขณะที่กลุ่มมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์บอลเชวิคได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี ค.ศ.1917 ภายหลังการปลุกระดมที่ได้ผลทำให้มีคนงานและชนชั้นกรรมาชีพตลอดจนชาวนากว่า 15 ล้านคนเข้าร่วมเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติ

ภายหลังโค่นล้มพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 สังคมรัสเซียยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ซึ่งเต็มไปด้วยความสับสน ชนชั้นกรรมาชีพติดอาวุธและสวมเครื่องแบบนักปฏิวัติมีให้เห็นอยู่ทั่วไป อำนาจการต่อรองส่วนหนึ่งอยู่ในมือของเลนิน เขาจึงเรียกร้องให้มีการต่อต้านองค์กรบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งต่อต้านรัฐบาลชุดใหม่ที่ยังคงทำสงครามกับเยอรมันต่อไป

การต่อต้านมีอย่างกว้างขวางจนเกิดการจลาจลในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกันโดยกลุ่มกรรมกรโรงงานและทหารบางกลุ่ม แม้จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แต่รัฐบาลก็กล่าวหาว่าเลนินและพวกบอลเชวิคของเขาอยู่เบื้องหลังการจลาจลครั้งนี้รวมทั้งกล่าวหาว่า เลนินเป็นเครื่องมือของประเทศเยอรมันที่พยายามทำลายกองทัพรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สองที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด

ลีออง ทรอตสกี (Leon Trotsky) ผู้ร่วมงานของเลนินที่มีบทบาทอย่างมากในการปฏิวัติรัสเซียได้ออกมาปกป้องเขาว่า เลนินเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่ทางชนชั้นมานานกว่าสามสิบปี เช่นเดียวกับทรอตสกีที่ต่อสู้ร่วมกับเลนินมานานกว่ายี่สิบปี ต่อสู้กับระบบจักรวรรดิ์นิยมในทุกรูปแบบรวมทั้งจักรวรรดิ์นิยมเยอรมัน จนถูกรัฐบาลเยอรมันจำคุกเป็นเวลากว่าแปดเดือน จึงเป็นไปไม่ได้ที่เลนินและทรอตสกีจะยอมเป็นข้ารับใช้เยอรมันมาทำลายรัสเซีย

กระแสความกดดันต่างๆ ยังคงถาโถมเข้าใส่เลนินและพลพรรคบอลเชวิคของเขา รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเลนินเคยประกาศตนเป็นศัตรูได้เข้าจับกุมเลนินด้วยข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจลาจลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1917 พร้อมทั้งประกาศให้พรรคบอลเชวิคของเลนินเป็นพรรคนอกกฏหมาย เลนินตองหนีไปตั้งหลักที่ประเทศฟินแลนด์ เป็นการหนีออกนอกประเทศอีกครั้งภายหลังจากที่กลับเข้าไปได้ไม่ถึงหนึ่งปี จากประสบการณ์ในครั้งนี้เลนินจึงตัดสินใจว่า เพื่อป้องกันการต่อต้านการปฏิวัติทางชนชั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำจัดรัฐบาลท้องถิ่นออกไปเสียก่อน โดยหนทางกำจัดหรือโค่นล้มจะต้องกระทำโดยการลุกฮือขึ้นของกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น

นอกจากนี้เลนินยังได้เสนอแนวทางการบริหารงานของรัฐในรูปแบบของ "สังคมนิยม" ผ่านข้อเขียนของเขาชื่อ "รัฐและการปฏิวัติ" (State and Revolution) โดยเสนอให้มีสภาที่เรียกว่า "โซเวียต" (Soviet) ประกอบด้วยผู้แทนที่เลือกตั้งมาจากกรรมกรผู้ใช้แรงงานเป็นองค์กรหลักในการปกครองประเทศ ครั้นในเดือนสิงหาคมเกิดการปฏิวัติโดยกลุ่มนายทหารที่ภักดีต่อพระเจ้าซาร์คือ "นายพลคอร์นิลอฟ อาฟฟาร์" (Kornilov Affair) แต่ล้มเหลว ส่งผลให้การสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นจากประชาชนลดลงอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามประชาชนกลับหันมาสนับสนุนพรรคบอลเชวิคของเลนิน ที่เสนอแนวทางการฟื้นฟูประเทศด้วยโครงการ "สันติ ดินแดนและอาหาร" (Peace Land Bread) ส่งผลให้มีการปล่อยตัวพลพรรคบอลเชวิคออกจากที่คุมขังในเดือนตุลาคม เลนินเองก็สามารถเดินทางจากฟินแลนด์กลับเข้าไปในรัสเซียได้ ประตูสำหรับการปฏิวัติรัสเซียเปิดกว้างสำหรับเลนินแล้ว

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

Create Date :09 กันยายน 2553 Last Update :9 กันยายน 2553 21:32:59 น. Counter : Pageviews. Comments :8