bloggang.com mainmenu search
O
วันนี้ เรามารู้จักภาษาไทยในแง่ของอัจฉริยภาพของอักขระวิธีกันสักนิด ดีไหมคะ

ช่วงนี้กำลังเพ้อคลั่ง ภาษาไทยอยู่ค่ะ
อ่านตำราสอนภาษาไทยในปัจจุบันแล้วก็ถอนหายใจหลายรอบเพราะห่างไกลกับวิชาภาษาไทยดั้งเดิมเหลือเกิน

แต่ก็ยอมรับค่ะ ว่าสมัยนี้ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เรามัวแต่สอน ปฐม ก. กา ให้ลูกหลานก็คงจะล้าสมัย เขาอาจจะหาว่าเราคร่ำครึก็ได้ แต่ที่หยิบมาในวันนี้ เพราะรู้สึกว่า วิชาความรู้ของคนไทยที่เก็บซ่อนไว้ในสรรพวิทยาการทั้งหลาย อาจถูกหลงลืมไป หากจะนำมาเอ่ยถึงเสียหน่อย ก็คงรื้อฟื้นความทรงจำดีๆ กันได้ ลักณะของวิชาภาษาไทยตามตำราสอนโบร่ำโบราณสามารถปูพื้นภาษากับวัฒนธรรมและจริยธรรมในวิชาเดียวกันได้อย่างแยบยลเหลือเกิน ทั้ง ปฐม ก. กา จินดามณี สุโพธลังกา หรือ ศรีวิบุลกิตติ์

อยากยกตัวอย่างเรื่องตำรา ปฐม ก. กา ทำให้รู้ว่าทำไม ที่เขาบอกว่าคนไทยสมัยก่อน เวลาเก่ง ก็เก่งรอบด้าน เพราะวิชาที่ร่ำเรียนกันมานั้น รู้รอบจริงๆ เพียงแค่อ่าน ปฐม ก. กา ก็สอดแทรกวิชาอะไรไว้มากมายในนั้น ลองดูสิคะ

นะโมข้าจะไหว้ วระไตรระตะนา
ใส่ไว้ในเกศา วระบาทะมุนี
คุณะวระไตร ข้าใส่ไว้ในเกษี
เดชะพระมุนี ขออย่ามีที่โทษา
ข้าขอยอชุลี. ใส่เกศีไหว้บาทา
พระเจ้าผู้กรุณา อยู่เกศาอย่ามีภัย
ข้าไหว้พระสะธรรม ที่ลึกล้ำคัมภีร์ใน
ได้ดูรู้เข้าใจ ขออย่าได้มีโรคา
ข้าไหว้พระภิกษุ ที่ได้ลุแก่โสดา
ไหว้พระสกินาคา อะระหาธิบดี
ข้าไหว้พระบิดา ไหว้บาทาพระชนนี
ไหว้พระอาจารีย์ ใส่เกศีไหว้บาทา
ข้าไหว้พระครูเจ้า ครูผู้เฒ่าใส่เกศา
ให้รู้วิชา ไหว้บาทาที่พระครู
จะใคร่รู้ที่วิชา ขอเทวามาค้ำชู
ที่ใดข้าไม่รู้.. เล่าว่าดูรู้แลนา
ไชโยขอเดชะ ชัยชนะแก่มารา
ระบือให้ลือชา เดชะสามาไชโย
ไชโยขอเดชะ ชัยชนะแก่โลโภ
โทโสแลโมโห อย่าโลเลโจ้เจ้ใจ.


นอกจากนั้น เรื่องความอัศจรรย์ของภาษาไทย ยังมีมากกว่าที่เราคิด อย่างเรื่องของ กลภาษา คำผวน อาจจะเป็นที่รู้จักกันในสมัยนี้ในแง่ของ คำประเภทสองแง่สองง่าม อย่างเช่น "สรรพลี้คำหวน" หรือเรียกให้สุภาพว่า "สรรพลี้คำผวน" สมัยนี้ที่รู้จักกัน ก็เอาเพื่อความสนุกสนานคึกคะนอง แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นพื้นฐานของการใช้ภาษาเพื่อดัดแปลงทักษะการใช้ภาษาไทยอย่างหนึ่ง

....เช่นครั้งหนึ่ง มีคนมาทักท่านสุนทรภู่ ว่าท่าน ชำนาญแต่แต่งกลอนเสภา สมัยก่อนคนที่เชี่ยวชาญภาษาต้องเก่งด้านโคลงด้วย ท่านสุนทรภู่ หรือพระยาศรีสุนทรโวหาร ก็เลยประพันธ์คำโคลงสี่สุภาพคำหวน ขึ้นมาหนึ่งบท คือ

เฉนงไอใยจึ่งเ้ว้า วู่กา
รูกับกาวเมิ่งแต่ยา มู่ไร้
ปิษย์เศ็นจะมู้สา เคราฒู่
ประเดะพ่อเตี๋ยวปากให้ มอดม้วย มังรณอ

ถอดคำหวนออกมาจึงได้ว่า

ไฉนเอ็งใยจึ่งเว้า่ ว่ากู
ราวกับกูมาแต่เยิ่ง ไม่รู้
เป็นศิษย์จะมาสู้ ครูเฒ่า
ประเดี๋ยวพ่อเตะปากให้ ม้วยมอด มรณัง



จากพื้นฐานของคำหวน มาสู่กลบท อีกประเภทหนึ่งของทักษะการใช้ภาษาไทยที่เป็น เคล็ด เป็นเกร็ด ที่บรรพชนได้คิดค้นไว้กับการใช้ภาษาไทย อ่านบางกลบทแล้วถึงกับอึ้งว่า.....มีอย่างนี้ด้วยหรือ...คิดได้ด้วยหรือ....

ต้องบอกว่า บางกลบท คิดค้นมาไว้...เผื่อการ สงคราม เสียด้วยซ้ำไปค่ะ มีการวางหมากตัวอักษรเหมือนค่ายกลดอกท้อ ทำให้คนที่ฝึกการใช้ภาษาต้องใช้ความคิด ใช้ทักษะ ทางด้าน อักขระวิธี และรวมไปถึงการฝึกทางด้านตรรกะภาษา ที่ต้องเชี่ยวชาญระดับยิ่งยวด ถึงจะสามารถคิดค้นประดิษฐ์คำตามกลแต่ละบทออกมาได้

....ตัวเองได้อ่านไปก็ปลาบปลื้มใจเหลือเกินที่ได้ใช้ภาษาไทย ลองอ่านตัวอย่างดูสักหน่อยนะคะ



กลอน: ถาวรวธิรา

บังคับให้มีคำใช้ไม้ม้วนทุกวรรค โดยไม่กำหนดจนวนและตำแหน่งของคำ


กล่าวถึงมเหสีที่อยู่ใน
อรัญใหญ่องค์เดียวอนาถา
อนาถใจถึงพระองค์พระภัสดา
ให้โศกาถึงบุตรสุดอาวรณ์
พ่อเนื้อทองผ่องใสสุดใจเอ๋ย
มาละเลยแม่เสียในศิงขร
ให้แม่ทุกข์ทุเรศเทวศวอน
บเห็นมิ่งดวงสมรแม่ร้อนใจ
(ศิริวิบุลกิตติ์)


กลอน: โสภณาอนุกูล

บังคับให้มีคำใช้ไม้มลายทุกวรรค โดยไม่กำหนดจำนวนและตำแหน่งของคำ


โอ้พระร่มโพทองของน้องไฉน
ไม่เห็นไทกลับหลังดังประสงค์
ตั้งแต่ท้าวไปจากน้องพรากองค์
อาไลยทรงโศกเศร้าร้าวอุรา
เมื่อยามเสวยเสวยชลเนตรไหล
ดังฟอนไฟไหม้อกหมกมุ่นหา
พระจอมไทไกรจักรหลักโลกา
อนาถายากไร้หมดไพร่พล
(ศิริวิบุลกิตติ์)


กลอน: อุภะโตโกฏิวิลาศ

บังคับให้ใช้วรรณยุกต์รูปเดียวกันตลอดวรรค โดยไม่กำหนดจำนวนและตำแหน่งของคำ


จักกล่าวถึงยอดยิ่งมิ่งกุมาร
ให้รีบยกพลทหารสท้านไหว
มาถึงที่เขาวิบุลบรรพตไพร
เห็นไรไรราวแคว้นกุฎีดง
เสด็จด่วนจากที่มงคลคช
ค่อยไคลคลาลาลีกับบาทบง
น้อมประนตนบนิ้วขึ้นจำนง
กระประจงน้อมนบเคารพคุณ
(ศิริวิบุลกิตติ์)



กลอน: กัจจายนมณฑล

บังคับให้คำต้นวรรคใช้อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ สลับกันไปทุกวรรค


สมเด็จพระศิริวิบุลกิตต์
กำจัดจิตจากโศกวิโยคหา
ค่อยตรึกตรองฉลองคุณพระชนมา
ให้เสนาจัดแจงแต่งโกษทอง
ดับประดิดวิจิตรบรรจงเจิด
วิไลยเลิศล้วนลายไม่มีหมอง
แผ้วจำรัสผ่องศรีมณีรอง
ดูลอยล่องเครื่องประดับระยับตา
(ศิริวิบุลกิตติ์)



กลอน: สุนทรโกศล

บังคับใช้แต่ "ส"


จักกล่าวถึงสมเด็จราชกุมาร
กระเษมสานต์สุรสิทธิ์สมฤทธิ์สมร
ครองสมบัติแสนสวัสดิสุนทร
พระยานาคเสด็จจรยังบาดาล
พระองค์กับทรงฤทธิ์พระบิตุราช
คิดถึงนาฏชนนีในไพรสาณฑ์
จะไปรับหม่อมราชสุริกากาญจน์
ให้คืนสู่เขตรสถานเสวยรมย์
(ศิริวิบุลกิตติ์)




แค่ตัวอย่างค่ะ ตอนนี้รวบรวมได้เยอะมาก ยิ่งกลบทที่ใช้ในสงคราม ต้องบอกว่าเป็นอัจฉริยภาพของบรรพชนอย่างที่สุด

ตัวเองที่พออ่านออกเขียนได้กับภาษาต่างประเทศ ก็เรียนเฉพาะเพื่อการสื่อสารเท่านั้น ยังไม่เคยเรียนภาษาอื่นให้ลกซึ้งไปเลยว่า จะมีภาษาไหนในโลกอีกที่จะอ่าน หวนคำ และสามารถถอดเป็นความได้แบบภาษาไทยบ้าง........ หรือมีลูกเล่นทางภาษา ทางอักขระวิธี ที่สามารถทำได้หลายอย่าง มากมาย แบบของไทยเรานี้....เลยภูมิใจเหลือเกินกับ อัจฉริยภาพของบรรพชนไทยค่ะ

อย่าเพิ่งคิดว่าภาษาไทยเป็นแค่ภาษาปู่ย่าตายาย ที่พูดสื่อสารคนในไทยเท่านั้นเลยค่ะ มีอะไรหลายอย่างที่ซุกซ่อนไว้ โดยที่ปู่ย่าตายายของเราไม่ได้ถ่ายทอดมาทั้งหมด มันสูญหาย มันเลอะเลือน เพราะระบบการศึกษา และสภาพสังคมในชีวิตประจำวัน ทำให้เราหลงลืมไป....แต่เมื่อทบทวนอีกครั้ง ลองหันไปดูจะรู้สึกอิ่มเอม และชื่นชมที่เราได้เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนในการใช้ภาษาที่ถือได้ว่ามีความซับซ้อนอย่างสูงในทาง อักขระวิธี ภาษาหนึ่งในโลกค่ะ

วันนี้ เรามาสนใจภาษาไทยในแง่ของอัจฉริยภาพของอักขระวิธีกันสักนิด ดีไหมคะ




เครดิตเพลง มยุราภิรมย์ ของ Zansab Philhamnic Orchestra
Create Date :24 พฤษภาคม 2550 Last Update :25 พฤษภาคม 2550 1:41:21 น. Counter : Pageviews. Comments :19