bloggang.com mainmenu search

เทคนิคยืดชีวิต “เงินเดือน“

เพิ่งผ่านต้นเดือนมาไม่กี่วัน แต่หลายคนเริ่มจะกลุ้มใจเมื่อมองไปดูที่ยอดบัญชี ซึ่งเหลืออยู่ติดบัญชีอีกไม่มากนัก จนไม่รู้ว่าจะสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นเดือนหรือไม่

ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลายคนยังไม่รู้จักการบริหารการเงินที่ดีพอ เมื่อเงินเดือนออกปุ๊บ ก็มุ่งหน้าไปช็อปปิ้งสินค้าที่หมายตาไว้ทันที อย่างนี้เงินจะเหลือได้อย่างไร!!

วันนี้เรามี เทคนิคยืดชีวิต "เงินเดือน" มาฝาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดอาการ ชักหน้าไม่ถึงหลัง อีกทั้งยังมีเงินเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น หรือสามารถนำเอาไปลงทุนให้งอกเงยได้อีกด้วย

สำหรับ เทคนิคยืดชีวิต "เงินเดือน" ที่ว่ามี 4 เทคนิค ที่ทำแล้วรับรองว่ามีเงินใช้จนถึงสิ้นเดือนแน่นอน

1. จัดหมวดรายจ่ายให้ชัดเจน ว่าเป็นรายจ่ายคงที่ หรือผันแปร "ค่าใช้จ่ายคงที่" คือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนทุกเดือน เช่น ค่าผ่อน (เช่า) บ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนสินค้า หรือเงินกู้ต่างๆ ฯลฯ  ส่วน "ค่าใช้จ่ายผันแปร" คือ ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือน มีบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่แน่นอน ยืดหยุ่นไปตามกิจกรรมที่ทำในเดือนนั้นๆ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการดำรงชีวิตของแต่ละคน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ารักพยาบาล บันเทิงเริงใจ เงินทำบุญ ฯลฯ

2. แบ่งเงินใช้จ่ายตามความจำเป็น คิดให้รอบคอบว่าเงินส่วนไหนเป็นรายจ่ายจำเป็น ส่วนไหนเป็นรายจ่ายฟุ่มเฟือย โดยเดือนนึงเราอาจจะกันไว้เป็นรายจ่ายฟุ่มเฟือย ซื้อสิ่งทีเราอยากได้ประมาณ 10%

3.แยกบัญชีออมเงิน โดยทั่วไปควรจะมีเงินออม 10% สำหรับเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน รวมถึงเก็บไว้ใช้ในการลงทุน

4. ทำบันทึกรายรับรายจ่าย ซึ่งเหตุผลที่เราควรจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เนื่องจาก

- ช่วยทบทวน: ช่วยให้เราสามารถทบทวนรายการใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และหากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เราจะได้รู้ว่าค่าใช้จ่ายประเภทใดที่สามารถปรับลดได้บ้าง

- ช่วยเก็บเงิน: ช่วยให้เรารู้จำนวนเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วเป็นเท่าไร ซึ่งเราสามารถนำเงินส่วนนี้เก็บออมเพิ่ม หรือลงทุนตามเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ

- ช่วยวางแผนหนี้สิน: หากจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มแล้ว บันทึกนี้จะช่วยให้เราพิจารณาได้ว่า จำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนสูงเกินไปหรือยัง ซึ่งเงินที่ต้องจ่ายชำระหนี้ทั้งหมดไม่ควรเกินกว่า 35% ของรายได้

จะเห็นได้ว่าการจดบันทึกรายรับ- รายจ่ายมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และฝึกระเบียบวินัยในการใช้จ่ายเงิน ลองคิดดูว่า ในแต่ละวันกิจกรรมที่เราทำ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเงินทั้งสิ้น จะกิน จะใช้ ก็ต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น หากเราไม่จด แล้วเราจะจำหมดได้อย่างไรว่าเราใช้จ่ายอะไรไปบ้างในแต่ละวัน แต่ละเดือน 

ขอบคุณข้อมูลจาก
//k-expert.askkbank.com/
//www.tsi-thailand.org/

Create Date :09 ตุลาคม 2556 Last Update :9 ตุลาคม 2556 21:35:33 น. Counter : 1540 Pageviews. Comments :0