bloggang.com mainmenu search
ภาพโดยนายอภิชาติ ตั้งเจริญบำรุงสุข ทช. ยก วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยตอนบน (อ่าวไทยรูปตัว ก) หลังพบมีจำนวนกว่า 40 ตัว ชี้พื้นที่อ่าวไทยยังสมบูรณ์ ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้อะไรไปกระทบ

       เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการที่กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง (ทช.) ได้สำรวจเก็บข้อมูลเรื่องวาฬบรูด้าในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก ตั้งแต่ปี 2551 - 2556 พบวาฬบรูด้าเป็นประจำ โดยสามารถบันทึกภาพ และตั้งชื่อวาฬทุกตัวได้แล้ว 40 จนพูดได้ว่าวาฬบรูด้า คือสัตว์ประจำถิ้นของทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก (อ่าว ก ไก่)

       นายวิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2556 นี้ แม่บรูด้าได้กำเนิดลูกบรูด้าใหม่ 4 ตัว สำหรับลูกวาฬ 4 ตัวที่เพิ่งเกิดใหม่นั้น ถูกตั้งชื่อแล้ว โดยลูกที่เกิดจากแม่ตองอ่อน ชื่อ ใบตอง ลูกที่เกิดจากแม่ข้าวเหนียว ชื่อเจ้าเอกน้อย ลูกที่เกิดจากแม่พาฝัน ชื่อเจ้าอิ่มเอม ส่วนลูกที่เกิดจากแม่สาคร ชื่อเจ้าท่าฉลอม ซึ่งยังไม่ใช่ชื่อที่เป็นทางการ โดยในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ตนจะเดินทางตามหาตัวเจ้าฉลอม นอกจากนี้ยังมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า เจ้าฉลอมนั้น เป็นลูกวาฬบรูด้าที่แข็งแรงมาก มีพฤติกรรมแตกต่างจากวาฬบรูด้าตัวอื่นๆ คือ ชอบกระโดด ปกติแล้ววาฬบรูด้าที่อายุไม่ถึง 1 ปี จะไม่ค่อยกระโดดให้ใครเห็น ล่าสุดมีคนเห็นเจ้าฉลอมกระโดดเหนือน้ำถึง 11 ครั้งติดต่อกันในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก นี้ มีความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องช่วยกันดูแลไม่ให้มีอะไรกระทบ และทำให้วาฬเหล่านี้หนีไปอยู่ที่อื่น

ภาพโดยนายอภิชาติ ตั้งเจริญบำรุงสุข        จากที่มีการลงความเห็นว่าวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก นั้น นายเกษมสันต์ จิณณวาโส หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ทส. เผยว่า ตอนสำรวจใหม่ๆ นั้นยังไม่ปักใจเชื่อ คิดว่าเป็นแค่สัตว์อพยพตามอาหารมาเท่านั้น แต่จากการบันทึกตำแหน่งจุดที่พบ ก็พบหลายจุดในพื้นที่อ่าวไทย ตั้งแต่ทะเลชุมพรมาถึงทะเลฝั่งตะวันออก เจอมากที่สุดคืออ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก และที่น่าสนใจคือมักจะเห็นวาฬบรูด้าว่ายน้ำมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณทะเลบางขุนเทียน) ซึ่งเป็นเขตทะเลกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นถึงแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

       ด้านนายนายสุรศักดิ์ ทองสุกดี นักวิชาการประมง ชำนาญการ หัวหน้าทีมสำรวจโลมา และวาฬบรูด้า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า เชื่อว่าวาฬบรูด้าในอ่าวไทยน่าจะมีมากกว่านี้ แต่ขณะนี้สามารถตั้งชื่อและจำแนกลักษณะได้ 40 ตัวเท่านั้น ส่วนที่พบว่าลูกบรูด้าอายุไม่ถึง 1 ปี กระโดดเหนือน้ำติดต่อกันได้ถึง 11 ครั้งนั้น ถือว่าเป็นลูกปลาที่แข็งแรง เนื่องจากลูกบรูด้าแรกเกิดจะมีความยาว 4 เมตร น้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม เวลากระโดดจะต้องตีลังกาใส่เกลียวบิดตัวหงายท้องเอาหลังลง นับว่าเป็นลูกปลาที่แข็งแรงมาก

       โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ช่างภาพอิสระเมืองเพชรบุรี สามารถบันทึกภาพ “วาฬบรูด้า” แม่ลูกที่โผล่ขึ้นมากินปลากะตักเหนือปากอ่าวบางตะบูนได้ขณะที่นั่งเรือประมงออกจากฝั่งปากอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้ร่วมเดินทาง จำนวน 10 คนด้วยกัน ซึ่งมีนักถ่ายภาพ 8 คน และอีก 2 คน เป็นคนขับเรือ และผู้ช่วย ซึ่งพบในช่วงเวลาประมาณ 11.00 - 14.00 น.และอยู่ห่างจากปากอ่าวบางตะบูนไม่ไกลมากนัก นอกจากนี้ยังพบเห็นวาฬบรูด้าที่หากินอยู่รอบๆ อีกประมาณ 5 ตัวด้วยกัน


//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000127568
Create Date :10 ตุลาคม 2556 Last Update :10 ตุลาคม 2556 23:02:42 น. Counter : 1327 Pageviews. Comments :0