bloggang.com mainmenu search

ปรากฏการณ์ "ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น" ซีรีส์สุดฮิตที่ออกอากาศผ่านกล่องของแกรมมี่ หยิบยกเรื่องราวเเรงๆ ที่เป็นปัญหาสังคมมาถ่ายทอดผ่านจอโทรทัศน์ ทำเอาทั้งวัยรุ่นและอดีตเลยวัยรุ่นติดงอมเเงมกันทั่วบ้านทั่วเมือง

อีกด้านของกระเเส คือความร้อนเเรงของสังคม ที่ออกมาถามถึงความเหมาะสมของเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละคร

อาทิ ประโยคฮิตอย่าง "อยากกินสไปรท์ ต้องใส่ถุง...ถ้าไม่ใส่ถุงก็อด"

ยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตของวัยรุ่นรวมถึงภาษาสแลงที่ปรากกฏให้เห็นในหลายฉากไม่ว่าจะเป็น "น่ารักจุงเบย" "เกี่ยวไหมอ่ะ" "เเซ่บเว่อร์" "เฟล บ่องตง" "อยู่ป่ะเนี่ย" "ออกตัวเเรง" ที่ตัวละครใช้ในการสนทนาและมีให้เห็นเป็นตัวหนังสือ ก็ถูกพูดถึงเช่นกัน

เพราะเรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นน่าสนใจเสมอ

ไม่แปลกที่คณะมนุษยศาสตร์และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หยิบยกเรื่องการใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่วัยใสกิ๊งมาพูดถึงในหัวข้อ "ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่นในสื่อ"

เวทีนี้สะท้อนอะไรมากกว่าที่คิด ยิ่งก่อนหน้านี้ไม่นานเกิดประเด็นฮือฮาในเว็บไซต์ข่าวและโซเชียลมีเดีย เรื่องแบบฝึกหัดชุดภาษาวัยรุ่นของมหา

วิทยาลัยแห่งหนึ่งที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์การสอนภาษาไทยทั้งในแง่บวกและลบ

ไม่รวมการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนบนโลกออนไลน์ที่ค่อนข้างรุนแรงว่า "สุดงง!! ข้อสอบสิ้นคิดจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง? ชี้เหมาะสมหรือไม่???"

อีกทั้งยังระบุอีกว่า เป็นข้อสอบสุดพิสดาร

ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ข้อสอบที่โพสต์กันทั่วอินเตอร์เน็ต เป็นเพียงแบบฝึกหัดประเด็นหนึ่งในหัวข้อภาษากับสังคม เรื่องภาษาวัยรุ่นไม่ใช่ข้อสอบ แบบฝึกหัดชุดนี้มีกระบวนการชัดเจนว่า เริ่มจากการอ่านบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษาวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน จากนั้นจึงทำแบบฝึกหัดเดี่ยวและแบบฝึกหัดกลุ่มอีกชุด สุดท้ายจึงสรุปเนื้อหาอีกครั้ง จึงจะจบกระบวนการเรียนการสอน

"การสอนภาษาไทยจะเน้นสอนให้ทันเหตุการณ์ จับประเด็นเรื่องสื่อ เรื่องละคร ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคม วัฒนธรรมมาเป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ เราสอนให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์วิจารณ์ รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันชีวิต และสามารถสร้างสรรค์ภาษา และใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผศ.ดร.ธเนศอธิบาย

ก่อนจะชี้แจงถึงการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนว่า การพาดหัวข่าวที่ค่อนข้างรุนแรงและไม่สืบค้นหรือไต่ถามก่อน จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา

"นี่เป็นกรณีเรื่องจริยธรรมของสื่อ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนควรเรียนรู้และตระหนักให้มาก ซึ่งปัจจุบันสื่อมวลชนหลายเเห่งยังไม่ได้เป็นผู้นำทางการใช้ภาษาในทางที่ถูกต้องหรือใช้ภาษาไม่ระมัดระวัง โดยไม่คิดว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้บริโภคสื่อจะได้รับผลกระทบอย่างไร ตลอดจนการทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงจากเดิม

"เมื่อสังคมเปลี่ยนภาษาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ภาษาวัยรุ่นเป็นภาษาที่เห็นชัดที่สุด เพราะมีคำสแลงใหม่ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ทั้งที่จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยวิบัตินั้นมีหลายประเด็น เช่น เกิดจากคนในสังคมสื่อสารล้มเหลว โดยใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ ใช้คำผิดความหมาย ผิดกาลเทศะ ใช้ภาษาทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

"อีกทั้งคนในสังคมรู้จักใช้ภาษาเพียงทำเนียบเดียวสับเปลี่ยนวงภาษาไม่ได้ สับชุดความคิดไม่เป็น คือใช้ภาษาราชการ ภาษาพูดและภาษาวัยรุ่นรวมกัน โดยใช้ภาษาแชตในเฟซบุ๊กกับข้อเขียนที่ต้องใช้ภาษาราชการ และมีคลังคำจำกัดใช้ถ้อยคำได้ไม่หลากหลาย" ผศ.ดร.ธเนศกล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธเนศยังระบุอีกว่า การใช้ภาษาของสื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้นำทางด้านการใช้ภาษาที่ถูกต้อง และไม่มีความระมัดระวังการใช้ภาษา ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ง่าย

อีกทั้งคนในสังคมเข้าใจผิด คิดว่าครูภาษาไทยเป็นเจ้าของภาษา เป็นผู้ที่ต้องใช้ภาษาให้ถูกต้อง เป็นผู้ดูแลรักษาภาษาไทยเพียงผู้เดียว ทั้งที่อำนาจในการเป็นเจ้าของภาษา และผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เฉพาะครูภาษาไทย หรือราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น แต่สื่อมวลชนหรือกลุ่มวัยรุ่นเองล้วนมีบทบาทในการจะทำให้ภาษาไทยถูกต้อง

"ภาษาวัยรุ่นไม่ใช่ภาษาที่ผิดหรือภาษาวิบัติ แต่เป็นเพียงภาษาที่ใช้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และแปลความหมายได้ตรงกันเท่านั้น ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้นำไปใช้ในราชการ หรือใช้ได้อย่างเหมาะสมจะไม่มีปัญหา ฉะนั้น สิ่งที่ต้องสอนเด็กไทยในเรื่องของภาษา คือทำอย่างไรให้เด็กไทยสามารถใช้ภาษาที่หลากหลายให้ถูกต้องเหมาะสม กับกาลเทศะกับกลุ่มคนที่เขาจะสื่อสารด้วยมากกว่า"

ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีออนไลน์ และสื่อต่างๆ อย่างสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ล้วนมีผลต่อการเรียนรู้ การใช้ภาษาของเด็กรุ่นใหม่ เช่น การพาดหัวข่าวสมัยก่อน คนทำงานหนังสือพิมพ์ล้วนเป็นนายของภาษา เพราะบางคนเป็นนักเขียน นักแปล แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในสื่อ ล้วนเป็นการพาดหัวข่าวโดยใส่ความรู้สึกของคนพาดเข้าไป ไม่ได้ทำตัวเป็นนายของภาษา

หรือการที่ผู้ประกาศข่าวนั่งเล่าข่าว โดยใช้ความรู้สึกของตนเองตัดสินไปว่าคนในข่าวผิดถูก ทั้งที่คนเหล่านั้นอาจไม่ผิดจริง

"ก่อนนำเสนอข่าวสื่อมวลชนควรเลือกใช้คำและภาษาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพราะเด็กรุ่นใหม่เข้าถึงสื่อได้ง่าย ภาษาวัยรุ่นที่เกิดขึ้นมองว่าไม่ใช่ภาษาวิบัติ แต่เป็นภาษาที่มีชีวิต บางคำมีชีวิตยาวนาน บางคำมีชีวิตสั้น และภาษาพวกนี้ก็ใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น"

ส่วนประเด็นการเลือกใช้ภาษาในขณะกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น

ดร.ฐิตารีย์ ไชยเศรษฐ หัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเลือกใช้ภาษานั้นเป็นพลังมหาศาลในการสร้างความร่วมมือ หรือทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างประเทศได้

"คนไทยจำนวนมากยังยึดติดความเป็นชาตินิยม มองว่าเรายิ่งใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยดูได้จากการใช้คำพาดหัวข่าวว่า ไทยรุกประเทศเพื่อนบ้าน หรือคำที่ใช้ในโทรทัศน์ เช่น ไอ้ลาว ไอ้บ้านนอก เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเราไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่เราจะรวมกันเป็นมิตร ซึ่งทุกประเทศล้วนมีความเชื่อแตกต่างกัน

"ดังนั้น โรงเรียนและสถาบันการศึกษาจะต้องสอนเด็กให้มีทัศนคติมารยาทในการใช้ภาษา เป็นมนุษย์ที่เคารพนับถือซึ่งกันและกัน เพื่อบรรยากาศที่ดีของอาเซียน" ดร.ฐิตารีย์กล่าวปิดท้าย

การใช้ภาษา ไม่ว่าภาษาวัยรุ่นหรือภาษาในสื่อ จะต้องคิดวิเคราะห์อย่างรู้เท่าทัน

เพื่อที่จะได้เลิกเกรงกลัวกันว่า "ภาษา(จะ)วิบัติ" เสียที

โดย ศิวพร อ่องศรี


ที่มา : นสพ.มติชน


สนับสนุนเนื้อหา ประชาชาติธุรกิจ
Create Date :03 สิงหาคม 2556 Last Update :3 สิงหาคม 2556 11:14:53 น. Counter : 1641 Pageviews. Comments :0