"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
25 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา





กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในการศึกกับพม่า ทรงไว้ซึ่งกฤษดานุภาพเป็นที่หวั่นเกรงทั่วแผ่นดิน คงไม่จบชีวิตง่ายเกินไปด้วยการยอมรับว่า พระองค์กระทำความผิดทั้งหลายที่มีผู้กล่าวหาโดยดุษฎี อันผิดวิสัยกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า

".....เจ้าตากสินก็รับผิดสิ้นทุกประการ จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ

เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า....."

มิให้เข้าพบ เพราะเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รู้ว่าเป็นพระเจ้าตากตัวปลอมกระนั้นหรือ ?

หากไม่ทราบว่าเป็นตัวปลอม ทำไมต้องใช้ดาบตัดคอ ไม่ทุบด้วยท่อนจันทน์ ปลงพระชนม์ชีพในฐานะกษัตริย์ตามอย่างโบราณราชประเพณี

พระเจ้าตากตัวปลอมใช่หรือไม่ เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ตราบเท่าทุกวันนี้

บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับหลวงยังคงจารจารึกไว้ว่า

".....ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ และเจ้าตากสินขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายชีพนั้น อายุได้สี่สิบแปดปี"

ขณะที่มีความรู้หรือเอกสารอย่างน้อย 2 ชิ้นระบุว่า พระเจ้าตากที่ถูกตัดศีรษะเป็นตัวปลอม

ชิ้นหนึ่ง หลวงวิจิตรวาทการ นำไปอ้างและแต่งเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี 2480 สันนิษฐานว่า หลวงวิจิตรวาทการมีแหล่งข้อมูลที่มาจากเอกสารจริง ไม่ใช่ความฝันเป็นตุเป็นตะแน่นอน

ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นเอกสารเก่าแก่อยู่ในตระกูล "สุนทรโรหิต" มรดกตกทอดมาถึง หลวงสุภาเทพ ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่ในตระกูลนี้หรือไม่

แต่ "ษี บ้านกุ่ม" หรือ สุภา ศิริมานนท์ นักคิด นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่เคยอ่าน และนำมาเขียนเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" หนังสือที่อยู่ในมือท่านขณะนี้

ทั้ง คุณป้าจินดา ศิริมานนท์ บุตรสาวหลวงสุภาเทพ ภรรยาอาจารย์สุภาก็อ่านมาหลายสิบปีแล้ว

"ดิฉันไม่ทราบว่าจะมีใครเก็บรักษาไว้หรือเปล่า" สตรีสูงอายุ ผู้สู้ชีวิตอย่างทรหดอดทน สตรีผู้กล้ากำหนดชะตาชีวิตบนลำแข้งลำขาและมันสมองของตนเอง เคียงบ่าเคียงไหล่กับสามีอย่างมั่นคง ตอบคำถามอย่างรวบรัด

"ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" เขียนจบแล้วแก้ไขสำเร็จเรียบร้อยในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2496 เป็นนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตของนักคิด นักเขียน นักแปล และนักหนังสือพิมพ์ อาวุโส - สุภา ศิริมานนท์

นักสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีไทย และปราชญ์ผู้ศึกษางานของมาร์กซ เองเกล เลนิน เหมาเจ๋อตุง หรือความคิดสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างหาตัวจับได้ยากในแวดวงวิชาการไทย ไม่เชื่อก็ไปดูหลักฐานได้ที่ห้องสมุดสุภา ศิริมานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และหนังสือแคปิตะลิสม์ ที่เรียบเรียงจากผลงานชิ้นสำคัญของมาร์กซนั้น อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ได้จุดประกายความคิดก้าวหน้าให้กับสังคมไทยตั้งแต่ปี 2494

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของนิตยสาร อักษรสาสน์ (2492 - 2495) แหล่งรวมนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าของสังคมไทย และนักเขียนชั้นนำในสมัยนั้น

นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ อัศนี พลจันทร์ (นายผี) สมัคร บุราวาศ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ฯลฯ ล้วนมีบทบาทส่งทอดความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน หรือแนวคิดสังคมนิยม ผ่านต่อมาสู่นักคิดนักวิชาการรุ่นหลังถึงรุ่น 14 ตุลาคม 2516 และปัจจุบันนี้

อักษาสาสน์ เป็นประทีปแห่งปัญญาดวงน้อยๆ ที่หาญกล้าทวนกระแสลมเผด็จการทหาร หรือยุคที่เรียกว่า "ท็อปบูททมิฬ" อำนาจทหารล้นฟ้า

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 มีการจับใหญ่พวก "กบฏสันติภาพ" กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมัคร บุราวาศ อุทธรณ์ พลกุล เจริญ สืบแสง และสุภา ศิริมานนท์ ถูกจับไปสอบสวน โดยเฉพาะอาจารย์สุภานั้นถูกควบคุมไว้ที่สันติบาลถึง 60 วัน

ช่วงถูกคุมตัวและหลังพ้นข้อกล่าวหาอีก 6 เดือน สันนิษฐานว่าเป็นเวลาที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ คิดและเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?"

เพราะก่อนหน้านั้น ภาระหน้าที่การเป็นบรรณาธิการนิตยสาร อักษรสาสน์ ที่ต้องบริหารจัดการเองทุกอย่าง ถือว่าเป็นงานที่หนักมาก ซ้ำร้ายอาจารย์สุภายังเป็นโรคปอด จำต้องรักษาตัวพร้อมไปกับการทำงานอย่างทรหดอดทน คาดว่าคงไม่มีเวลาเพียงพอเป็นแน่ จึงต้องมาเขียน "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" ในช่วงเวลาที่ไม่มีงานหนังสือพิมพ์

เมื่อ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" เขียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปัญหาก็คือตีพิมพ์ออกมาไม่ได้ หรือสำนักพิมพ์ไม่กล้าพิมพ์ เพราะอาจารย์สุภาเพิ่งพ้นข้อหาว่าเป็นกบฏได้ไม่กี่เดือน ประกอบกับยุคนั้นอำนาจทหารใหญ่คับฟ้า ปัญหาเรื่องความมั่นคงของรัฐ และการปลุกกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์กำลังก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้น

ดังนั้น จึงไม่มีการตีพิมพ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" ออกมาในบรรณพิภพ ต้นฉบับถูกเก็บไว้นานแสนนาน...หลายสิบปี

ผ่านยุคคลั่งชาติ เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ และกฎหมายคอมมิวนิสต์ให้อำนาจคลุมกว้างครอบฟ้าครอบดิน การพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ อาจถูกลากไปสู่ปัญหาการคลั่งชาติหรือปัญหาการเมืองที่ไร้เหตุผล ไม่แยกแยะอดีตและปัจจุบัน คิดว่าข้อโต้แย้งเกี่ยกับประวัติศาสตร์ในอดีตกว่า 200 ปี เป็นความมั่นคงของสถาบันในปัจจุบัน

สถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงอยู่ได้ในปัจจุบัน เพราะพระบารมี ทศพิธราชธรรม และพระกรณียกิจที่เอาใจใส่ทุกข์สุขประชาชน ไม่ใช่อาศัยเหตุปัจจัยในอดีตมาค้ำจุน เป็นเรื่องของการปกครองโดยธรรม

ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน เราไม่สามารถอัญเชิญพระเจ้าตากสิน มากู้เอกราชหรือวิกฤตชาติในขณะนี้ได้ฉันใด ความคิดที่ยึดเอาความรุ่งเรืองในอดีตมาวัดปัจจุบันก็เป็นความไร้สาระและความงมงายฉันนั้น

ปัญหาความงมงายทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว จนก่อให้เกิดอคติที่จะศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมีเหตุผล มีการแบ่งเป็นฝักฝ่าย ในการถือข้างเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยไม่แยกอดีตและปัจจุบันให้ชัดเจน

เช่น ผู้ที่เทิดทูนยกย่องพระเจ้าตากในฐานะเป็นวีรบุรุษกู้ชาติ จะเกิดอคติในการมองเจ้าพระยาจักรี ที่ร่วมมือกับขุนทหารอื่นก่อรัฐประหารยึดอำนาจ แล้วพลอยลามมาถึงกษัตริย์องค์อื่นในยุคต่อๆ มา โดยไม่จำกัดชอบเขตว่าเหตุการณ์นั้นได้จบสิ้นไปแล้ว นี่เป็นความผิดพลาดในการสอนประวัติศาสตร์ของนักวิชาการไทยบางคน

การศึกษาประวัติศาสตร์โดยไม่แยกเหตุผลของอดีต และความต่างกันของสถานการณ์ บทบาทหน้าที่ของสถาบันการเมืองต่างๆ ในปัจจุบัน คือภยันตรายอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดความเกลียดชัง อคติ และนำไปสู่ลัทธิคลั่งชาติที่น่ากลัว

"ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" จึงไม่ใช่ความจริงในปัจจุบัน แต่เป็นเพียงแค่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ที่นำเสนอเหตุการณ์เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้วว่าพระเจ้าตากที่ถูกตัดหัวในวันนั้น ไม่ใช่ตัวจริง เป็นเพียงตัวปลอมเท่านั้น

อีกทั้งยังเสนอมุมมองใหม่ว่า เบื้องหลังการก่อรัฐประหารทั้งหมด มีผู้ยุยงและวางแผนการณ์ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอย่างแยบยลเนื่องจากมีความแค้นพระเจ้าตากส่วนตัว ชนิดไม่ยอมอยู่ร่วมโลกกันเลยทีเดียวกัน

บุคคลผู้นี้คือผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์การศึก แพรวพราวในยุทธวิธีการวางกลอุบาย เพราะศึกษามาจาก "สามก๊ก" วรรณกรรมอันเยี่ยมยอดของจีน

เขามีตำแหน่งเป็น หลวงสรวิชิต หรือต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาคลัง (หน) ผู้แต่งหนังสือร้อยแก้วเรื่อง "สามก๊ก" อันลือชื่อแห่งกรุงรัตนโกสินทร์...มันสมองของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

"สามก๊ก" เป็นวรรณกรรมที่นักคิดนักเขียนไทยในอดีต ประเมินค่าไว้ว่า "ใครอ่านสามก๊กเกินสองจบนั้น ไว้วางใจไม่ได้"

แล้วความฉลาดเฉลียวของผู้แต่ง สามก๊ก จากพงศาวดารจีนอันยิ่งใหญ่เล่า จักมิร้ายกาจสูงส่งเพียงใด หรือมีความคิดเยี่ยมยอดเพียงไร ?

พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ มิได้บันทึกเรื่องราวละเอียดและความสามารถเป็นเลิศของหลวงสรวิชิตเอาไว้เลย นอกจากเรื่องแต่งหนังสือ ทั้งที่เขาเป็นนักการทหารชั้นยอด ผู้ไม่ปรากฏชื่อในพงศาวดาร

แต่ชื่อของหลวงสรวิชิต กลับบันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นน้อยๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของนวนิยาย ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ย่อมไม่ใช่ประวัติศาสตร์...

และประวัติศาสตร์ที่ถูกแต้งเติมใส่สี ก็อาจเป็นเพียงหนังสืออ่านเล่น

แต่เมื่อ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง ไยจักต้องทำให้ใครๆ เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ???

ทำไม คนไทยต้องเชื่อว่าเป็นความจริง !!

ความจริงแท้คืออะไร ?

นักประวัติศาสตร์มักมองไปที่ขอบฟ้าแห่งอดีตสมัย กาลเวลาผ่านไปนับร้อยปีนับพันปี มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายเหลือคณานับ

บุคคลสำคัญ หรือ วีรบุรุษได้รับการยกย่องเชิดชูสูงส่ง เล่าขานเป็นตำนานเทพผู้ยิ่งใหญ่...สิ่งศักดิ์สิทธิ์...บุคคลเก่งกล้าเหนือใคร

ประวัติศาสตร์ถูกแก้ไขและตีความใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จากอาลักษณ์ และนักวิชาการรุ่นหลัง ผู้ไม่เคยประสบเรื่องราวนั้นด้วยตนเอง ซ้ำบางคนยังมีสติปัญญาตื้นเขินงมงายในบันทึกบอกเล่า และพยายามเสริมแต่งให้คนทั่วไปเชื่อว่า นี่คือความจริง

ประวัติศาสตร์แบบเก่าเป็นเรื่องของอำนาจ

อำนาจคือความจริง

คือความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ และความสูงส่งอย่างยิ่ง และเป็นความจริงที่อมตะนิรันดร์กาล...

"ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" เป็นแค่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์

นวนิยายเป็นเรื่องแต่ง ย่อมไม่ใช่ความจริงแท้ เพราะความจริงแท้เป็นสัจธรรมในวงการประพันธ์ไทยในอดีต

ก่อนที่ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? จะเขียนเสร็จ กล่าวได้ว่า ไม่มีนักประพันธ์คนใดเข้าใจกฎแห่งอำนาจได้ลุ่มลึกเช่น อาจารย์สุภา ศิริมานนท์

ดังนั้น เมื่อเข้าถึงกฎแห่งอำนาจแท้แห่งอำนาจ กฎความจริงแท้แห่งอำนาจ ชีวิตก็มีอิสรภาพแท้จริง และท่านก็สะท้อนอิสรภาพนั้นผ่านชีวิตเกลอเก่าพระเจ้าตากทั้ง 4 คน ผู้เป็นสามัญชนไม่ใฝ่หาบรรดาศักดิ์ หรือไต่เต้าสู่อำนาจทั้งปวง

เหตุนี้ ผู้ไม่ผูกพันกับอำนาจ ย่อมไม๋รู้สึกสูญเสียอำนาจหรือผลประโยชน์

ผู้ไม่ใฝ่อำนาจจึงไม่จำเป็นต้องปกป้องตนเอง โดยทำร้ายผู้อื่น

ไม่รู้สึกทุรนทุรายในการแย่งชิง หรือไม่ระแวงไม่ไว้วางใจผู้อยู่ใกล้ชิด

ผู้ไม่ปกป้องผลประโยชน์ตนเอง ย่อมไร้อัตตา จิตใจเปิดกว้าง...

ผู้ไร้อัตตาย่อมอยู่เหนือเงื่อนไขใดๆ บังคับและเป็นอิสรชนอย่างแท้จริง

นี่คือปรัชญาสูงสุดของ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?"

ความจริงที่อยู่เหนือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง หรือความเชื่องมงายของนักประวัติศาตร์

ในด้านตรงกันข้าม ผู้หลงใหลใฝ่ฝันในอำนาจราชศักดิ์ ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎแห่งอำนาจ และอำนาจเป็นบ่อเกิดแห่งความหลงในอัตตา ยึดถือตัวตนเป็นใหญ่

มีอำนาจน้อย อัตตาก็น้อย มีอำนาจมาก อัตตาก็ใหญ่โต

ถ้ามีอำนาจสูงสุด ปรอทแห่งความร้อนแรงก็พุ่งถึงขีดสุดเช่นกัน

ชีวิตของผู้ไต่บันไดอำนาจ ย่อมใกล้ชิดผู้มีอำนาจสูงสุดที่อยู่เหนือตน สักวันหนึ่ง อาจมีการกระทบกระทั่งกัน หรือขัดแย้งกัน การใช้อำนาจเป็นใหญ่ย่อมเกิดขึ้น บาดแผลหัวใจอันเกิดไม่เป็นธรรม

จักทำให้ผู้ใกล้ชิด ผู้ที่ไว้วางใจ ลุกขึ้นมาแย่งชิง หรือความเย้ายวนที่จะได้เป็นใหญ่สูงสุด เมื่ออยู่ใกล้แค่เอื้อมใครเล่าจักไม่ไขว่คว้า

ประวัติศาสตร์ได้เขียนกฎแห่งความจริงไว้ว่า การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เปลี่ยนกษัตริย์ มาจากภายใน ขุนศึกหรือผู้ใกล้ชิดเท่านั้นที่มีโอกาสยึดอำนาจได้สำเร็จ...ง่ายดาย

นี่คือกฎ นี่คือสัจธรรม และเป็นครรลองที่ต้องเป็นไป ซึ่งผู้หลงใหลในอำนาจทุกคน ล้วนตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้

อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ เน้นย้ำสัจจะความจริงไว้ว่า อิสรชนที่แท้จริงต้องเป็น "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข" ของอำนาจ

ผู้แสวงหาอำนาจหรือตั้งตนเป็นผู้ปกครองทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะในโลกเก่าหรือโลกใหม่ ศักดินา ประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์

กฎที่ว่าเมื่อมีอำนาจ จักต้องรักษาอำนาจ และอำนาจสร้างลัทธิอัตตาเป็นใหญ่ยังปรากฏเป็นความจริงมาถึงปัจจุบัน

ในอดีต พระเจ้าตากสิน ก็มิได้รอดพ้นกฏแห่งอำนาจเป็นใหญ่ ดังได้สั่งประหารพี่ชาย หลวงสรวิชิต (หน) ผู้มีชื่อว่า พระเทพโยธา ฐานละเมิดคำสั่งไม่ให้แวะบ้าน ขณะที่พระเจ้าตากเองก็ละเมิดกฎของพระองค์เอง

ความคั่งแค้นทำให้หลวงสรวิชิต อยู่เบื้องหลังการวางแผนยึดอำนาจพระเจ้าตากในปลายรัชกาล

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระเจ้าตากเฆี่ยน เจ้าพระยาสุรสีห์สิงหนาท (บุญมา) ด้วยพระหัตถ์เองอย่างไม่เป็นธรรม

ขุนนางผู้ใหญ่ มิตรคู่พระทัยในการกรำศึกกู้ชาติผู้นี้เจ็บแค้นมาก

ขณะลงอาบน้ำที่หน้าวัดแจ้งพร้อมเพื่อนสนิทคนหนึ่ง

เจ้าพระยาสุรสีห์ ใช้รัดประคดหยาบและหนาถูหลังตามรอยแผลที่ถูกเฆี่ยนเพื่อมิให้เป็นแผลเป็น และยกรัดประคดนั้นขึ้นจบเหนือน้ำ

สาบานว่า ในชีวิตเขาจะกระชากพระเจ้าตากลงจากบัลลังก์

และแม้แต่ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็ยังเคยถูกเฆี่ยน 30 ที ฐานสร้างพระเมรุไม่ทันกำหนดเผาพระมารดาพระเจ้าตาก

รวมไปถึง หลวงอาสาศึก (บุญคง) ผู้มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงพระเจ้าตากมากที่สุด ก็ถูกระแวงว่าจะคิดมิซื่อ จึงถูกส่งไปอยู่ไกลแสนไกล

นี่เป็นข้อมูลใหม่ที่สันนิษฐานว่า บันทึกไว้ในสมุดข่อยที่เป็นแหล่งที่มา ของการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" และเป็นสาระส่วนสำคัญ

ผู้ที่เคียดแค้นพระเจ้าตากมากคือ หลวงสรวิชิต อาศัยความรู้ในกลศึกที่เรียนมาอย่างช่ำชอง ดำเนินการยุยงและวางแผนยึดอำนาจพระเจ้าตาก ก่อวิกฤตทางการเมืองขึ้น

แต่หลวงสรวิชิตกริ่งเกรงว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอาจไม่ประหารพระเจ้าตาก จึงวางแผนซ้อนแผน ปล่อยให้ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าตาก ลักลอบเข้าไปเปลี่ยนตัว พาพระเจ้าตากหนีออกไปได้ โดยวางกลอุบายติดตามฆ่ากลางลำน้ำเจ้าพระยา

ดังนั้น บุคคลที่ถูกประหารก่อนสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี จึงไม่ใช่พระเจ้าตากตัวจริง กลายเป็นหลวงอาสาศึก ผู้หน้าตาละม้ายเหมือนพระเจ้าตาก ได้แสดงความจงรักภักดีด้วยชีวิต ปลอมตัวเข้าไปรับกรรมแทน และการประหารชีวิตครั้งนี้ก็ไม่ได้ใช้ท่อนไม้จันทน์ แต่ใช้ดาบตัดหัว

ข้อมูลใหม่เหล่านี้ เป็นจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้

หากแต่เป็นแง่มุมที่จะช่วยให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ได้เปิดใจกว้างขึ้น

และหากจะมีข้อมูลวิเคราะห์ที่ละเอียดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่าน "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข"

นวนิยายที่สะท้อนกฏแห่งอำนาจ และทรรศนะจากผู้ไม่ใฝ่ในอำนาจ ที่สะท้อนโลกทรรศน์และความเป็นอิสรชนได้อย่างลึกซึ้ง คมคาย แม้จะขาดอรรถรสในรูปแบบนวนิยายไปมากก็ตามที

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? จึงเป็นงานด้านวรรณกรรมของ สุภา ศิริมานนท์ ชิ้นเดียวในชีวิต ที่เป็นนวนิยายประเทืองปัญญาอย่างลึกซึ้ง มิอาจนำมิติทางการเมืองอันตื้นเขินมาวัดและประเมินได้

พิทยา ว่องกุล

---------------------
ความเป็นมาแห่งต้นฉบับ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข"
(คำนิยมในการพิมพ์ครั้งที่ 1 โดย ศิริพร ยอดกมลศาสตร์)



กล่าวกันตามธรรมเนียมของสังคมไทย คนเขียนคำนิยมน่าจะเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา หรืออย่างน้อยต้องเป๋นคนรุ่นอาวุโสกว่าผู้เขียน และ/หรือบรรณาธิการ แต่ดิฉันกลับถูกทาบทามให้เขียนคำนิยมให้กับนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ผลงานคุณภาพของนักเขียนรุ่นปรมาจารย์

"อาจารย์สุภา ศิริมานนท์" เจ้าของนามปากกา "ษี บ้านกุ่ม"ซึ่งมีนักเขียนคุณภาพรุ่นพี่ คุณพิทยา ว่องกุล เป็นบรรณาธิการ

ในฐานะคนรุ่นหลัง แม้จะมีภูมิรู้ด้อยกว่าผู้เขียนและบรรณาธิการ แต่ดิฉันก็ไม่รู้สึกหนักใจมากนักกับภาระหน้าที่ที่ได้รับ เนื่องจากความจริงใจจากคนสองรุ่นที่ดิฉันสัมผัสได้ ทั้งโดยอ้อมและโดยตรง ทำให้ดิฉันเชื่อมั่นว่าท่านทั้งสองจะยอมรับความคิดของคนรุ่นหลังอย่างดิฉันได้จริงๆ

ความจริงใจโดยอ้อมที่ว่าคือ ดิฉันสามารถสัมผัสได้ถึงความจริงใจในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค เพื่อคนทุกคนในสังคม จากใจจริงของอาจารย์สุภา ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบกับท่านมาก่อน นั่นเป็นเพราะคำบอกเล่าของคนรอบข้างดิฉันหลายๆ คน

กว่าสิบปีมาแล้ว เพื่อนรุ่นพี่ คุณมังกร จารุจันทร์กูล ได้เล่าถึงฉากสำคัญในวันที่เขาได้มีโอกาสพบกับอาจารย์สุภาเป็นครั้งแรกว่า "อาจารย์ยกมือไหว้พี่ก่อน พี่รีบยกมือไหว้ท่านและถามว่าอาจารย์ไหว้ผมทำไม อาจารย์ก็บอกว่า ผมนับถือคนรุ่นใหม่ ผมต้องเคารพคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นพลังให้กับสังคม"

สิบปีต่อมาขณะดื่มกาแฟ คุณพิทยา ว่องกุล เล่าให้ฟังว่า "สมัยที่อาจารย์สุภายังมีชีวิตอยู่ ทุกครั้งที่ได้พบอาจารย์ที่โรงพิมพ์อมรินทร์ และยินเสียงแก้วน้ำตกแตก ทุกคนจะรู้เลยว่านั้นเป็นผลงานของอาจารย์สุภา" หลังหยุดจิบกาแฟครู่หนึ่งจึงเล่าต่อว่า "เพราะอาจารย์สุภายกมือไหว้ขอบคุณแม่บ้านที่นำน้ำมาให้ และแม่บ้านตกตะลึง มักจะทำแก้วน้ำตกแตกเป็นประจำ"

สองเรื่องราวที่ดิฉันเก็บเอามาเล่าต่อ ผู้ใหญ่ไหว้ผู้เยาว์ ผู้อยู่ในฐานะทางสังคมที่สูงกว่าไหว้ผู้อยู่ในฐานะทางสังคมที่ต่ำกว่า คือภาพแปลกตาของสังคม สังคมที่มีการแบ่งแยกทางชนชั้น สังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น ว่ากันไปแล้วพฤติกรรมเช่นนี้ก็คือรูปธรรมของการต่อสู้

อาจารย์สุภาสามารถพัฒนาการต่อสู้จากความคิดสู่งานเขียน และก้าวสู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน อาจารย์สามารถแสดงออกถึงความจริงใจ ในการต่อสู้เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมแก่ชนกลุ่มใหญ่ในสังคม จนกระทั่งคนที่ไม่เคยพบท่านอย่างดิฉัน สามารถสัมผัสถึงความจริงใจของท่านได้

แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ผลงานจากใจจริงของคนจริงใจอย่างอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ซึ่งเขียนต้นฉบับแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2496 จะยังไม่เคยถูกตีพิมพ์

ครั้งแรกที่คุณป้าจินดานำต้นฉบับ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?" มาให้คุณมังกร จารุจันทร์นุกูล และดิฉันอ่าน ตอนที่เราทั้งสองไปเยี่ยมเยือนเพื่อขอชมหนังสือที่บ้านของท่าน เราทั้งสองคิดว่างานชิ้นนี้ยังเขียนไม่จบ จึงยังไม่ถูกตีพิมพ์

แต่ครั้นเปิดอ่านกลับพบว่านวนิยายเรื่องนี้มีความสมบูรณ์ หากแต่สังคมไทยในยุคที่อาจารย์สุภายังมีชีวิตอยู่ ไม่เปิดโอกาสในเรื่องการพูด การเขียน และการพิมพ์ ทำให้งานชิ้นนี้ไม่เหมาะสมต่อการเผยแพร่ แม้ต่อมาโอกาสในการเผยแพร่จะมีมากขึ้น งานกลับมีลักษณะไม่ร่วมสมัย โรงพิมพ์บางแห่งเกรงว่าจะขายไม่ได้ จึงไม่กล้าลงทุนจัดพิมพ์ ทั้งๆ ที่ยอมรับว่างานชิ้นนี้ "ดีมาก"

หนึ่งปีหลังจากได้รับต้นฉบับ คุณมังกรและดิฉันตัดสินใจว่าจะต้องพิมพ์เผยแพร่งานชิ้นนี้ให้ได้ เมื่อไม่สามารถหาสำนักพิมพ์ที่ไหนจัดพิมพ์ ดิฉันก็ตั้งใจจะลงทุนพิมพ์เองขายเอง เบื้องแรกคิดว่าจะพิมพ์ปกหนังสือไว้สำหรับ 1,000 เล่ม ส่วนเนื้อในก็ค่อยๆ สำเนาและทำเล่ม

โดยคิดว่าจะแจกบ้าง ขายบ้างเพื่อให้งานได้เผยแพร่ออกไปสู่คนอื่นๆ ที่เห็นคุณค่าของงานเหมือนกับดิฉัน และเพื่อนอีกหลายคนที่เคยได้อ่าน เมื่อตัดสินใจดังนี้แล้วดิฉันก็ไปทาบทามคุณพิทยา ว่องกุล ให้ช่วยเขียนบทนำ

เพื่อทำความเข้าใจกับผู้อ่านว่า ทำไมนวนิยายเล่มนี้ถูกเก็บไว้นานเกือบครึ่งศตวรรษ จึงค่อยนำมาจัดพิมพ์ ข้อขัดข้องแห่งยุคสมัย และการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อในยุคนั้นเป็นอย่างไร

การณืกลับเป็นว่า คุณพิทยา นอกจากจะรับเขียนบทนำแล้ว ยังรับเป็นธุระในการนำต้นฉบับไปจัดพิมพ์ ที่สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กซึ่งคุณพิทยาเป็นบรรณาธิการอยู่ โดยให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า "ผมอยากทำ" และ "อยากทำให้ดี" เพื่ออาจารย์สุภา เพราะเคยผูกพันกับอาจารย์สุภามานานแล้ว นี่ความจริงใจของคนรุ่นพี่ที่มีต่ออาจารย์สุภาซึ่งดิฉันสัมผัสได้

ตามธรรมเนียมปฏิบัติดิฉันต้องขอขอบคุณตั้งแต่ คุณป้าจินดา ศิริมานนท์ ที่นำต้นฉบับงานมาให้อ่าน นับเรื่อยไปถึงทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือกันด้วยความจริงใจจน ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ? กลายเป็นหนังสือเล่มที่สวยงามอยู่ในมือของท่านผู้อ่าน แต่อย่างไรก็ดี ดิฉันเชื่อว่าหนังสือจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อถูกอ่าน และคุณค่านั้นจะทับทวีขึ้นเมื่อผู้อ่านใช้ปัญญาพินิจ

ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงต้องขอขอบคุณผู้อ่านที่ใช้ทั้ง "ประสาทจักษุ" และ "ปัญญาจักษุ" พินิจงานชิ้นนี้ และขอคารวะต่อผู้อ่าน ที่นำคุณค่าที่ได้รับจากงานชิ้นนี้ไปจรรโลงสังคม ทำให้ชนกลุ่มใหญ่ในสังคมได้รับความเป็นธรรม มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน สมดังเจตนาอาจารย์สุภา ศิริมานนท์

ความจริงของชีวิตก็คือความไม่จีรังของสังขาร ความจริงของอำนาจก็คือความไม่จีรังของอำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่จะอยู่คู่กับคนตลอดไปแม้ชีวิตจะหาไม่ก็คือความดีงาม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ดิฉันไม่อาจละเลยที่จะต้องขอขอบคุณไว้ในที่นี้คือ ความดีงามของ "ประชาราษฎรธรรมดาสามัญ" อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ความดีงามที่จีรัง ความดีงามที่สามารถส่งผ่านจากอาจารย์สุภาสู่คนรุ่นหลังอย่างดิฉันได้ แม้นท่านจะเดินทางสู่สัมปรายภพแล้วก็ตาม

ด้วยความรักและนับถือ

ศิริพร ยอดกมลศาสตร์
เมษายน 2545


ขอขอบคุณ "คุณคนใจดี" ที่ส่งมาให้ค่ะ


สิริสวัสดิ์วุธวาร สิริมานรมเยศค่ะ


Create Date : 25 สิงหาคม 2553
Last Update : 26 สิงหาคม 2553 6:33:52 น. 0 comments
Counter : 2968 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.