"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
21 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงจีน (1)



สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์
alek_lovely2519@hotmail.com
//www.facebook.com/Sutthisak Suksuwanon


หลังจากพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ ๖ (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๕) ทรงปราบปรามประเทศเพื่อนบ้านจนสงบราบคาบลงแล้ว จึงเสด็จออกท้องพระโรง ทรงพระราชนิพนธ์พระราชสาสน์ถึงจักรพรรดิเกาจง (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙)

แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดแต่งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการออกไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักจีนใน พ.ศ. ๒๓๒๔

เอกสารร่วมสมัยอย่าง นิราศกวางตุ้ง ฉบับพระยามหานุภาพŽ (ภายหลังเรียกว่า นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน) บรรยายถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออกทรงพระราชสาสน์ถึงพระเจ้ากรุงจีนในห้วง พ.ศ. ๒๓๒๔ ว่า


สรวมชีพบังคมบรมนารถ
ด้วยภักดีชุลีลาบาท
อภิวาทขอเบื้องพระบารมี
เปนร่มโพสุวรรณ์กั้นเกษ
ไปประเทษกวางตุ้งกรุงศรี
เปนจดหมายมาถวายด้วยภักดี
ตามที่ได้สดับเดิมความ
แรกราชดำริตริตรองถวิน
จะเหยียบพื้นปัตพินให้งามสนาม
จะส้างสรรค์ดั่งสวรรค์ที่เรืองราม
จึงจะงามมงกุฎอยุธยา
เมื่อไอสูรสมบูรรณ์ด้วยสมบัติ์
กับกระษัตรราชคฤคฤหา
เคยร่วมพื้นยื่นแผ่นสุวรรณ์มา
แต่นิราเสื่อมเศร้ามาเนานาน
เสื่อมสนองโดยคลองกระษัตรชาติ
เสื่อมราชไม้ตรีไม่มีสมาน
เสื่อมสวาดขาดมาก็ช้านาน
จะประมาณญี่สิบสี่ปีปลาย
จึ่งทรงคิดจะติดความตามประถม
สำหรับราชบรมกระษัตรสาย
จึ่งแผ่พื้นสุวรรณ์พัณราย
เอาแยบคายฟั่นเฝื่อเปนเครือวัน
เอาทับทิมแทนใบใส่ดอกเพชร์
งามเสรจ์สมบูรรณทุกสิ่งสรร
งามทางทังจะส้างเขตคัน
งามสรรพทรงคิดคดีงาม
ควรเปนจอมจุลจักราราช
แล้วเสดจ์บันลังก์อาศน์ออกสนาม
แย้มพระโอฐประดิพัศแล้วตรัสความ
อำมาตย์หมู่มีนามประนมฟัง
ได้ยินพร้อมยอมอวยแล้วอภิวาด
กราบบาทด้วยคำนับแล้วรับสั่ง
ทูลโดยลำดับมาเปนตราตรัง
ที่หยุดแล้วจะยั้งยืนควร
จึ่งพระบาททรงราชนิพนท์สาร
เปนตะพานนพคุณควรสงวน
ให้เขียนสารลงลานทองทวน
จัดล้วนบรรณาการลลานตาŽ


ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ จ.ศ. ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก (พ.ศ. ๒๓๒๔) เพลาเช้า ๒ โมง ๖ บาท ก็ได้ฤกษ์จารึกพระราชสาสน์ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีไปถึงพระเจ้ากรุงจีนลงบนแผ่นพระสุพรรณบัฏ ความว่า


พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุทธยา ปราบดาภิเษกใหม่ คิดถึงคลองพระราชไมตรีกรุงปักกิ่ง จึงให้พระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ หมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ จำทูลพระสุนทรบัตรสุวรรณพระราชสาส์น

เชิญเครื่องพระราชบรรณาการช้างพลายช้าง ๑ ช้างพังช้าง ๑ รวม ๒ ช้าง ออกมาจิ้มก้องสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ ตามขนบพระราชไมตรีสืบมาแต่ก่อน


ข้อหนึ่ง พระนครศรีอยุทธยาใคร่แจ้งข้อความ พระยาสุนทรอภัย ราชทูต กราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุทธยา ว่าจงตกหมูอี้เจ้าพนักงานกรุงปักกิ่ง เรียกเอาเงินค่ารับเครื่องพระราชบรรณาการแต่ก่อนคราวหนึ่ง ทูลลดเงินท้องพระคลังลง ๓๐ ชั่ง เป็นดั่งนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ทราบหรือไม่ คือคุณโทษคุณธรรมประการใด พระนครศรีอยุทธยาใคร่แจ้งข้อหนึ่ง


ข้อหนึ่ง ทูตานุทูตพระนครศรีอยุทธยา คุมเครื่องพระราชบรรณาการออกไปแต่ก่อน ต้องขังใส่ตึกลั่นกุญแจไว้กรุงจีนทุกครั้ง ไม่ได้เที่ยวเตร่ ข้อนี้ทราบถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่หรือไม่ กลัวจะกบฏประทุษร้ายประการใด พระนครศรีอยุทธยาใคร่แจ้งข้อหนึ่ง


ข้อหนึ่ง กรุงไทยปราบดาภิเษกใหม่ให้ทูตานุทูตออกไป จงตกหมูอี้ไม่ให้ทูตานุทูตกลับเข้ามากับสำเภากรุงไทยซึ่งขี่ออกไป ข่มเหงให้เดินสาส์น สำเภาจีนเข้ามา ทูตานุทูตร้องฟ้องก็มิฟัง ให้ปกซอทนายเรือเรียกเอาเงิน ๔ แผ่น ว่าเป็นค่ารับฟ้องดังนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ทราบหรือไม่ เหตุการณ์ประการใด กรุงพระนครศรีอยุทธยาใคร่แจ้งข้อหนึ่ง


ข้อหนึ่ง กรุงไทยได้ตีได้บ้านเมือง อ้ายอีมีชื่อชะเลยซึ่งส่งไปกรุงจีนแต่ก่อนขาดมาแก่กรุงไทยเป็นฝาเป็นตัวเป็นปึกเป็นแผ่นอยู่แล้ว ฝ่ายกรุงจีนไม่ต้องการสืบเอาข้อราชการทำสงครามกับพม่าหาไม่แล้ว ขออ้ายอีมีชื่อทั้งนี้คืนบ้านเมือง อย่าให้พลัดถิ่นฐานันดรเอาบุญ


ข้อหนึ่ง พระนครศรีอยุทธยาส่งครัวจีนมาหาปลา ลมพัดซัดเข้ามาเมืองไทย ๓๕ คน ได้เสียเงินเสียผ้าข้าวปลาอาหารเลี้ยง ครั้งหนึ่งเป็นเงิน ๑ ชั่ง ข้าวสาร ๓๕ ถัง ถังละ ๑ บาท เป็นเงิน ๘ ตำลึง ๓ บาท เข้ากันเป็นเงิน ๑ ชั่ง ๘ ตำลึง ๓ บาท

ครั้งหนึ่งส่งจีนฮ่อทัพแตกพม่าๆ จับได้ส่งมาไว้ปลายแดนกองทัพไปตีได้ ส่งออกไปกรุงปักกิ่ง ได้เสียเงินเสียผ้าข้าวปลาอาหารเลี้ยงคราวหนึ่ง ๑๙ คน เป็นเงิน ๑ ชั่ง ๑๒ ตำลึง เสื้อกางเกงคนละสำรับๆ ละ ๑ บาท ๒ สลึง เป็นเงิน ๗ ตำลึง ๒ สลึง ข้าวสาร ๑๙ ถัง ถังละ ๑ บาท เป็นเงิน ๔ ตำลึง ๓ บาท เข้ากันเป็นเงิน ๒ ชั่ง ๓ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง

คราวหนึ่ง ๓ คน เป็นเงิน ๙ ตำลึง เสื้อกางเกงคนละสำรับๆ ละ ๑ บาท ๒ สลึง เป็นเงิน ๑ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ข้าวสาร ๓ ถังๆ ละ ๑ บาท เป็นเงิน ๓ บาท เข้ากันเป็นเงิน ๑๐ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง สิริรวมเข้าด้วยกัน ๓ ครั้ง เป็นเงิน ๔ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทนั้น

สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ทราบหรือไม่ ฝ่ายเจ้านครศรีอยุทธยาขอถวายไปกรุงปักกิ่งโดยคลองพระราชไมตรี


ข้อหนึ่ง กรุงไทยจะสร้างพระนครขึ้นใหม่ ใคร่ขอทิวหุนค่าธรรมเนียมจังกอบปากสำเภากรุงจีน ๓ คราวๆ ละ ๓ ลำ ถ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงจีนให้พระนครศรีอยุทธยา จะแต่งสำเภาบรรทุกข้าวสาร ฝาง สิ่งของออกไปจำหน่ายแลกพานอิฐ พานศิลา สิ่งของไม่ต้องห้าม ณ เมืองกวางตุ้งลำ ๑ เมืองเลียงโผลำ ๑ เมืองเอ้มุยลำ ๑ เข้ามาสร้างพระนครเมืองละลำ ข้อหนึ่ง


ข้อหนึ่ง จะขอจ้างต้นหนกรุงจีนใช้สำเภากรุงไทยไปบรรทุกทองแดงเมืองญี่ปุ่น ๒ ลำ ข้อหนึ่ง


ข้อหนึ่ง พระนครศรีอยุทธยาถวายสิ่งของนอกบรรณาการไปแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ โดยพระราชไมตรีเป็นสิ่งของ ฝาง ๑๐,๐๐๐ หาบ งาช้าง ๑๐๐ หาบ ดีบุก ๓๐๐ หาบ นอรมาดหนักหาบ ๑ รง ๑๐๐ หาบ พริกไทย ๓,๐๐๐ หาบ ช้างพลายช้าง ๑ ให้สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ไว้โดยเข็ญใจ แต่ก่อนพระราชสาส์นคำหับปิดตราโลโต ครั้งนี้หาตราโลโตมิได้ ปิดตราพระไอยราพตมาเป็นสำคัญŽ


สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้จัดแต่งคณะทูตเดินทางไปเมืองจีนเป็น ๒ สำรับ สำรับแรกเป็นคณะทูตชุดใหญ่ ของพระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต และหลวงพจนาพิมล ตรีทูต

สำหรับอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ส่วนอีกสำรับหนึ่งเป็นคณะทูตของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยาราชสุภาวดี หลวงราไชย หลวงศรียศ หลวงราชมนตรี นายฤทธิ และนายศักดิ โดยจัดส่งไปในนามของเจ้าพระยาพระคลัง

สำหรับนำสิ่งของนอกบรรณาการ ไปพระราชทานขุนนางชั้นผู้ใหญ่และนายห้างชาวจีน นิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพบันทึกว่า


อนึ่งนอกจิ้มก้องเปนของถวาย
ก็โปรยปรายประทานไปหนักหนา
ทังนายห้างขุนนางในนัครา
ให้มีตราบัวแก้วสำคัญกัน
แล้วจัดทูตทูลคำให้จำสาร
บรรณาการพร้อมสิ้นทุกสิ่งสรรพ
ทังของแถมแนมความนั้นงามครัน
เปนกำนันถวายนอกบรรณาการ
แล้วทรงสั่งสิ่งของเปนสองเหล่า
อย่าควบเข้าแบ่งพร้อมเปนสองถาน
ฝ่ายทูตนั้นให้ว่าบรรณาการ
โดยฉบับบูราณรวดมา
อนึ่งนอกจิ้มก้องเปนของถวาย
รับสั่งยกให้หกนายข้าหลวงว่า
บันทุกเสรจ์ทังสิบเบ็จเภตรา
มาทอดท่าคอยฤกษเรียงลำŽ


เหตุที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังจัดแต่งคณะทูตสำรับที่ ๒ นำสิ่งของนอกบรรณาการไปพระราชทานลิปูตาทัง (ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพิธีการ) จงตกหมูอี (ข้าหลวงระดับมณฑล) และนายห้างวาณิช (สมาคมพ่อค้าโคหอง)

ก็เนื่องด้วยมีพระราชประสงค์ใคร่ผูกมิตรไมตรีกับขุนนางจีนเหล่านี้ เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวก แก่คณะทูตบรรณาการของพระองค์เป็นสำคัญ เนื่องจากคณะทูตสยามชุดก่อนหน้านี้ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักจากเจ้าพนักงานจีน ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในร่างพระราชสาสน์ไปเมืองจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๔ ในข้างต้น


หนังสือ พระราชสาส์นไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรี และพระราชสาส์นกรุงจีนมีมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์Ž กล่าวถึงขั้นตอนพิธีการจัดส่งคณะทูตสยามอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักจีนใน พ.ศ. ๒๓๒๔ ว่า


วันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก เวลาเช้า เสด็จออกท้องพระโรง เจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง หมื่น ข้าทูลฯ เข้าเฝ้าพร้อมกัน ณ พระที่นั่งเสด็จออกทรงแต่งพระราชสาส์นออกไปจิ้มก้อง สมเด็จพระเจ้าต้าฉิงเมืองปักกิ่งฉบับหนึ่ง

พระยาพิพัทโกสาเป็นผู้เขียนรับสั่ง และกรมท่าได้บอกเจ้าพนักงานทั้งปวงทุกพนักงาน มีกฎหมายแต่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่ง ๓ ปีครั้งหนึ่ง กรมท่าได้กราบทูลจัดราชทูต อุปทูต ตรีทูต ท่องสื่อ ปันสื่อ สารวัตรใหญ่น้อย

พระคลังในได้จัดนายอำเภอ ล้าต้า ต้นหน ไต้กง กรมการ คนงาน สำเภาทรงพระราชสาส์นลำหนึ่ง พระคลังสินค้าได้จัดแจง นายสำเภา ล้าต้า ต้นหน ไต้กง กรมการ คนงาน สำเภาหูทรงลำหนึ่ง

สรรพากรในได้จัดผู้ถือธง ๑ ถือคาถา ๑ ถือบัญชีกลาง ๑ รวม ๓ คน สำเภาทรงพระราชสาส์น สรรพากรนอกได้จัดผู้ถือธง ๑ ถือคาถา ๑ ถือบัญชีกลาง ๑ รวม ๓ คน


ครั้นฤกษ์จะได้จารึกพระราชสาส์นแผ่นทองและคำหับกระดาษเหลือง ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท กรมท่าหมายบอกจตุสดมภ์ทั้ง ๓ พระไชยะทัน พระคลังใน พระคลังสินค้า พระคลังวิเศษ ทูตทั้ง ๓ ท่องสื่อ ปันสื่อ นายสำเภา ล้าต้า มาพร้อมกันพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท


ชาวพระมาลาเชิญหีบตราครุฑพาห ตรามังกรหก สำหรับตีประจำคลั่งใส่พระเสลี่ยงมีสัปปะทนแพรเหลือง ๔ คัน แห่แต่โรงแสงในมายังพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระคลังในเชิญหีบตราโลโตและชาดมาสำหรับตีพระราชสาส์นคำหับกระดาษเหลือง สนมเบิกผ้าขาวตราล้าวมาให้รองจารึกพระราชสาส์นแผ่นทองพับหนึ่ง รองตีตราพระราชสาส์นคำหับพับหนึ่ง มูลครั่งสมกำยานเป็นพนักงานอาลักสน์ ลง กอรเจียด ถุง นวม พนักงานพระคลังวิเศษ

เมื่อจารึกพระราชสาส์นประโคมปี่พาทย์ ค้องชัย แตรสังข์ จารึกแล้ว พร้อมกันเชิญพระราชสาส์น กล่องทองเข้าถุง ตีตราประจำครั่งปากถุงเจียดแล้วใส่ลงในพระลุ้งใหญ่ ตีตราขุนสรีภูริยปรีชาชั้นนอก แล้วมอบให้กรมวังนอกซึ่งรักษาพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทรักษาไว้ ๒-๓ วัน

ครั้นได้ฤกษ์วันจะเชิญพระราชสาส์นไปลงเรือกิ่งประตูชัย ๔ ตำรวจ เชิญพระมนดปมาตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มหาดไทย กลาโหม เกนหลวง ขุนหมื่น ใส่เสื้อครุยขาวนุ่งสมปักลาย ใส่ลำพอกขาว เดินเท้าแห่หน้า ๑๕ คู่ ไพร่ใส่เสื้อแดง ครัวถือปืนและทั้ง ๒๐๐ คน ปี่กลองชนะ ๓ คู่ กลองมลายูสำรับหนึ่ง แตรงอน ๑ แตร ลางโพง ๑ เครื่องสูงแห่หน้า ๓ คู่ แห่หลัง ๒ คู่ นุ่งผ้าใส่เสื้อครุย ใส่หมวก แห่หลัง ๕ คู่

แห่พร้อมอาลักสน์จึงเชิญพระราชสาส์น ใส่ในมนดปแล้วแห่ไปลงเรือพระที่นั่ง ณ ประตูชัย ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ปันสื่อ เข้าเดินแซงประจำคานหามข้างละๆ คน สะพานที่จะเชิญพระราชสาส์นลงเรือมีม่านรูดแดงกั้น พนักงานนครบาลได้ทำ แล้วตำรวจใหญ่เอาเรือพระที่นั่งกิ่งลำซงรับพระราชสาส์น

มหาดบำเรอถือเครื่องแห่ตามอย่าง เมื่อเสด็จหมื่นราชเสน่หาถือธงหน้าเรือ บรรจุพลพายครบกระทง ทูตทั้ง ๓ ปันสื่อนั่งรายตีนตองซ้ายขวา สัปปะทนแพรเหลืองทั้ง ๔ มุมพระมนดป พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ขี่เรือโขมดยา เรือแซร เรือพิฆาต แห่หน้า ๑๐ คู่ แห่หลัง ๕ คู่ แห่ลงไปตามแม่น้ำ ถึงสำเภาซงพระราชสาส์นทอด

ครั้นถึงตรงสำเภาพันทนายทอดเรือพระที่นั่ง กรมการคนงานซึ่งอยู่บนสำเภายิงปืนใหญ่รับ ๕ นัด ๗ นัด แล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นบนท้าย อาลักสน์เอาม่านวงรอบพระมนดป ทูต ข้าหลวง ท่องสื่อ ปันสื่อ นายสำเภา ล้าต้า ทั้งสองรำกราบถวายบังคม ๓ ลา

แล้วนายสำเภา ล้าต้า แต่งโต๊ะเลี้ยงแล้วกลับมา แต่ว่าพลัดอยู่รักษาพระราชสาส์นลงไปถึงทอดสุดน้ำเขียว กรมท่ามีตราเกนเอาเรือเมืองนนท์ ๕ ลำ เมืองธน ๕ ลำ พระคลังสวน ๒ ลำ กรรเชียงลำละ ๑๖ คู่ ๒๐ คู่ ชักสำเภาซงพระราชสาส์น ถึงปากน้ำเมืองพระประแดงแล้วกลับมา กรมท่า

เอาเรือมอนบรรทุกช้างพลายช้างพังตามลงไปถึงปากน้ำ แหลมฟ้าผ่า เอาช้างฉอขึ้นสำเภาหู ส่งหญ้าช้าง รายทางลงมาแต่กรุง นครบาล แขวง หากินตามสิ้นอำเภอ ช้างลงถึงสำเภา แล้วกรมท่ามีตราโกสาเกนทอด เมืองนนท์ เมืองธน พระประแดง ให้จัดหน้า เต่าร้าง กลอย ส่งเสบียงกลางทะเลกว่าจะถึงเมืองกวางตุ้ง สำเภาซงพระราชสาส์นหลวงถึงปากน้ำ แล้วเจ้าพระยาพระคลังนำทูตทั้ง ๓ กราบถวายบังคมลาŽ


ก่อนคณะทูตของพระยาสุนทรอภัยจะออกเดินทางไปเมืองจีน ราชสำนักสยามได้ส่ง สำเภาห้ามก้องŽ๗ สองลำเดินทางล่วงหน้ามาถึงเมืองกว่างโจวของมณฑลกวางตุ้งในเดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๒๔ เพื่อแจ้งข่าวกำหนดการมาเยือนของคณะทูตบรรณาการจากประเทศสยาม


เมื่อคณะทูตสยามโดยสารสำเภาหลวงเดินทางมาถึงเมืองกวางตุ้ง เจ้าพนักงานจีนได้รายงานการเดินทางมาถึง ของคณะทูตสยามและแจ้งเนื้อความในพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้าไปยังกรุงปักกิ่ง หนังสือกราบบังคมทูลของเจี่ยหลงปาเอี้ยงและหลี่หู ลงวันที่ ๒๗ เดือน ๗ ปีที่ ๔๖ แห่งรัชศกเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๒๔) กล่าวว่า


พระราชสาสน์ฉบับหนึ่งกราบทูลว่า ได้จัดส่งทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งมีช้างพลาย และช้างพังอย่างละหนึ่งเชือกและสินค้าพื้นเมือง จึงขอให้ช่วยกราบบังคมทูลแทนเพื่อทรงทราบ...

แผ่นดินสยามเพิ่งจะสงบราบคาบ ท้องพระคลังร่อยหรอ การจะสร้างพระนครขึ้นใหม่จึงขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีสินค้าพื้นเมือง ประสงค์จะปล่อยเรือบรรทุกไปขาย ณ เมืองเซี่ยเหมิน [เอ้มุย หรือเอ้หมึง - ผู้แปล] หนิงปอ [เลียงโผ หรือเล่งปอ - ผู้แปล] จึงขอได้โปรดออกใบอนุญาตด้วย

นอกจากนั้น ขอพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นายห้างพาณิชย์ช่วยจ้างต้นหนแล่นเรือไปค้าขายที่ญี่ปุ่น ฯลฯ และพระราชสาสน์อีกฉบับหนึ่งกราบทูลว่า เรือที่บรรทุกสิ่งของเครื่องราชบรรณาการมี ๔ ลำ เรือสินค้า ๗ ลำ นอกจากนั้น ได้นำฝางและงาช้างเป็นสิ่งของนอกบรรณาการ ขอได้โปรดกราบทูลถวายให้ด้วย

อนึ่ง ยังมีฝางและไม้แดง ซึ่งขอมอบให้กระทรวงพิธีการและสำนักข้าหลวง รวมทั้งของขวัญที่มอบให้นายห้างพาณิชย์ด้วย ขอได้มีพระบรมราชานุญาตให้นำสินค้านอกจากนั้นขายไป เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะทูต

นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงว่าจะขอซื้อถาดทองแดง เตาทองแดง และขอปล่อยเรือเปล่ากลับไปก่อนด้วยŽ


ราชสำนักจีนได้ส่งม้าเร็วนำหนังสือแจ้งข่าว เรื่องพระเจ้ากรุงจีนมีพระบรมราชานุญาต ให้คณะทูตสยามเดินทางเข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการยังกรุงปักกิ่งได้ พร้อมกับมีพระกระแสรับสั่งแก่ปาเอี๋ยนซัน ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ในกรณีของสิ่งของนอกบรรณาการจากพระเจ้ากรุงสยาม โดยพระองค์พระราชทานสิทธิพิเศษทางการค้าแก่คณะทูตสยาม ความว่า


สิ่งของนอกบรรณาการให้รับไว้เฉพาะ งาช้างกับนอแรดรวมสองชนิด และให้นำส่งกระทรวงพิธีการพร้อมสิ่งของบรรณาการ นอกจากพระราชทานสิ่งของตามธรรมเนียมแล้ว ให้เพิ่มสิ่งของรางวัลเป็นพิเศษ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ ที่ประสงค์ให้การรับให้มีจำนวนน้อยกว่าการให้ บรรณาการ นอกจากนั้นอนุญาตให้ขายที่กวางตุ้งตามอำเภอใจ สิ่งของเหล่านั้นรวมทั้งอับเฉาเรือให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีทั้งหมดŽ


นิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพ บรรยายถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงจีนมีพระบรมราชานุญาต ให้คณะทูตสยามเดินทางเข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการยังกรุงปักกิ่ง พร้อมกับมีพระกระแสรับสั่งเกี่ยวกับสิ่งของนอกบรรณาการของคณะทูตสยามแก่ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ความว่า


ผู้ถือสารจึ่งเอาสารรับสั่งส่ง
ก็โปรยปรายประทานไปหนักหนา
แล้วคัดข้อสารามาภาที
ว่าพระเจ้าหมื่นปีนั้นโปรดปราน
ให้ส่งทูตไปถวายอภิวาศ
ตามราชตำราบูราณสาร
กับสิ่งของในคลองบรรณาการ
ที่นอกหย่างบูราณมีมา
นั้นไม่รับครั้นจะกลับให้คืนของ
รวางคลองเหมือนไม่แสนเสน่หา
เสียดายราชไม้ตรีที่มีมา
ทางชะเลก็เปนถ้ากันดานนาน
ก็ควรขายจำหน่ายเอาทุณทรัพย์
ให้คืนกลับอยุทธยามหาสถาน
แต่ช้างนอนั้นเปนข้อประสงนาน
ให้บอกบรรณาการขึ้นส่งไป
อันจังกอบสีนค้าบันดาของ
นั้นปลงปองโปรดปรานประทานให้
ให้นายห้างปฤกษาข้าหลวงไท
ตามใจจำหน่ายขายกัน
แต่ข้อทูตที่จะได้ไปอภิวาษ
ยังพระบาทหมื่นปีศรีสวรรย์
ต่อแล้วการคำรพอภิวัน
ปั้นสื้อนิ้มหนัมโหลาน
เปนปิ่นปักหลักจีนทุกจังหวัด
เหมือนไทถือน้ำพัทพิทธีสถาน
ประชุมชอบพร้อมหน้าปูชาการ
วันประสูตรพระผู้ผ่านนัครา


ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสีได้มีกำหนดการให้คณะทูตสยามเดินทางออกจากเมืองกวางตุ้งไปยังกรุงปักกิ่งในวันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนสิบสอง โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของขุนนางจีน นิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพบรรยายว่า


ครั้นถึงเดือนสิบสองสุกรวัน
ขึ้นสำคัญสามค่ำจะจำจร
หมูอี้จึ่งให้เชิญพระราชสาร
บรรณาการทูตอันจะผันผ่อน
ประดับด้วยนาวาสถาวร
ขึ้นนครราชคฤห์คราวดี
อันโดยทางที่จะไปนั้นไตรมาต
จึ่งถึงราชปะกิ่งกรุงศรี
ฝ่ายทูตเขาจะไปเหนได้ดี
เพราะทุลีบาทคุ้มคลุมไปŽ


คณะทูตสยามเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งในเดือนอ้าย พ.ศ. ๒๓๒๕ พระเจ้ากรุงจีนมีพระบรมราชโองการ ให้คณะทูตสยามเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการอย่างเป็นทางการครั้งแรก

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานตราตั้งพิเศษแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พร้อมกับมีรับสั่งให้กรมพิธีการทูตจัดงานเลี้ยงรับรองคณะทูตสยามในสวนซันเกาสุ่ยฉาง จดหมายเหตุชิงสือลู่ (จดหมายเหตุประจำรัชกาลแห่งราชวงศ์ชิง) รัชกาลจักรพรรดิเกาจงแห่งราชวงศ์ชิง บรรพที่ ๑๑๔๐ บันทึกว่า

เมื่อวันกุ่ยไห้ เดือนอ้าย ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง [วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๕ - ผู้เขียน] เจิ้งเจา ซึ่งเป็นประมุขของประเทศเซียนหลัว [ประเทศสยาม - ผู้เขียน] ได้จัดส่งราชทูตมาถวายพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการ พร้อมทั้งสิ่งของพื้นเมือง (องค์จักรพรรดิ) ได้พระราชทานสิ่งของ และเลี้ยงรับรองตามธรรมเนียมปฏิบัติŽ๑๒

พงศาวดารราชวงศ์ชิง บรรพเมืองขึ้น เล่มที่ ๕๒๘ บันทึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งราชสำนักจีนให้การรับรองคณะทูตสยามในฐานะรัฐบรรณาการอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๓๒๔ ความว่า

...ปีที่ ๔๖ ในรัชกาลเขียนหลง เจ้าตากส่งหลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต และคณะเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการ และกราบทูล (จักรพรรดิ) ว่า หลังจากที่สยามถูกพม่าโจมตีแล้ว สยามได้เข้าตียึดดินแดนกลับคืนมาได้ ประชาชนเห็นว่าไม่มีผู้ใด (ที่สมควร) ขึ้นสืบราชบัลลังก์

จึงยกเจ้าตากขึ้นเป็นประมุข (เจ้าตาก) จึงนำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายตามระเบียบ จักรพรรดิทรงชมเชยมาก และโปรดให้เลี้ยงคณะทูตที่สวนชื่อ ซันเกาสุ่ยฉางž เครื่องราชบรรณาการที่ทูตนำมาถวาย โปรดให้รับไว้เพียงช้าง ๑ เชือก นอระมาด ๑ เจี๊ยะ

ของอื่นๆ อนุญาตให้คณะทูตนำไปขายที่กวางตุ้ง (รวมทั้ง) สินค้าอื่นๆ โดยยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี (จักรพรรดิ) พระราชทานต่วนปักลายพญางูและของมีค่าอื่นๆ แก่กษัตริย์สยามเป็นพิเศษตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาŽ

ร่างพระราชพงศาวดารชิง หัวข้อประวัติเสียนหลอ (สยาม) กล่าวสรุปถึงเหตุการณ์เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งคณะทูตบรรณาการเดินทางไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักจีนใน พ.ศ. ๒๓๒๔ ว่า

เมื่อครั้งอาอิ๋วถีเอีย [อยุธยา - ผู้เรียบเรียง] กรุงแตก เจิ้งเจา [สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี - ผู้เรียบเรียง] ซึ่งเป็นขุนนางเสียนหลอ อยู่ในระหว่างยกทัพไปรบกับกัมพูชา ครั้นเมื่อทราบข่าวกรุงแตก ก็นำทัพกลับและทำการรบกับพม่าหลายครั้งหลายคราว รวมเวลาทำสงครามอยู่หลายปี

แต่เมื่อพม่าต้องรบติดพันกับจีน เจิ้งเจาจึงถือโอกาสที่พม่าอ่อนกำลังเข้าตีพม่าจนแตกพ่ายไป และกู้ชาติได้สำเร็จ เจา [เจิ้งเจา หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี - ผู้เรียบเรียง] เป็นชาวจีนกวางตุ้ง บิดาทำการค้าที่เสียนหลอให้กำเนิดเจา [เจิ้งเจา - ผู้เรียบเรียง] ครันเมื่อเติบใหญ่ ปรากฏว่าเป็นผู้มีความเก่งกาจสามารถ จึงได้เข้ารับราชการในเสียนหลอ

เมื่อตีทัพพม่าแตกแล้ว ชาวเมืองจึงเห็นพร้อมกันอัญเชิญให้เป็นกษัตริย์ ย้ายเมืองหลวงไปตั้งผันกู่ [บางกอก - ผู้เรียบเรียง] ได้ปราบปรามข้าศึก และให้ความร่มเย็นแก่ราษฎรในการปกครองอาณาจักร จึงมีความมั่นคงเป็นลำดับ เมื่อปีที่ ๔๖ [หมายถึงปีที่ ๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลง ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๔ - ผู้เรียบเรียง]

เจิ้งเจาได้แต่งหลังผี่ไฉ่สีหนีเสียอู๋ฝู่ตู๋ [หลวงพิชัยเสน่หาอุปทูต - ผู้เรียบเรียง] และคณะเข้าถวายเครื่องราชบรรณาการ และกราบทูลว่าหลังจากที่เสียนหลอได้รับภัยพิบัติแล้ว ได้ทำการแก้แค้นและกู้แผ่นดินได้สำเร็จ ราษฎรทั้งหลายเห็นว่าปราศจากผู้สืบราชบัลลังก์ จึงพร้อมกันอัญเชิญให้เจา [เจิ้งเจา - ผู้เรียบเรียง] เป็นประมุข

บัดนี้ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามระเบียบประเพณี จักรพรรดิทรงชมเชย และโปรดเกล้าฯ ให้จัดเลี้ยงคณะทูต ณ ที่ซันเกาสุ่ยฉาง [เป็นสถานที่ต้อนรับคณะทูตจากนานาประเทศ - ผู้เรียบเรียง] ส่วนของพื้นเมืองที่นำมาบรรณาการ รับช้างไว้ ๑ เชือก นอแรด ๑ สือ สิ่งของอื่นๆ อนุญาตให้นำไปขายที่กวางตุ้ง โดยยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

ทั้งนี้รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ก็ขายโดยไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย พระราชทานต่วนลายพญางู [แพรมังต้วน - ผู้เรียบเรียง] และของมีค่าอื่นๆ แก่กษัตริย์ [หมายถึงกษัตริย์เสียนหลอหรือสยาม - ผู้เรียบเรียง] เป็นพิเศษตามประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่เดิมŽ


ครั้นถึงเดือน ๓ ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๒๕) พระยาสุนทรอภัยราชทูต ได้ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันในกรุงปักกิ่ง ราชสำนักจีนรับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานพิธีศพแก่พระยาสุนทรอภัย หลวงพิไชยเสน่หาอุปทูต ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทูตสยามแทนท่านราชทูตผู้ล่วงลับ จดหมายเหตุชิงสือลู่ รัชกาลจักรพรรดิเกาจงแห่งราชวงศ์ชิง บรรพ ๑๑๕๒ กล่าวถึงการจัดพิธีเคารพศพพระยาสุนทรอภัยตามธรรมเนียมจีนว่า


เมื่อวันซิโฉ่ว เดือน ๓ ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง [วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ - ผู้เขียน] (องค์จักรพรรดิ) ได้พระราชทานพิธีเคารพศพตามธรรมเนียมปฏิบัติแก่พีเอียซุ่นทุนย่าไผหน่าทู [พระยาสุนทรอภัยราชทูต - ผู้เขียน] ราชทูตแห่งประเทศเซียนหลัว ซึ่งได้ถึงแก่วายชนม์Ž

เมื่อคณะทูตสยามเสร็จสิ้นภารกิจในกรุงปักกิ่งแล้ว หลวงพิไชยเสน่หาก็อัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการตอบแทนของพระเจ้ากรุงจีนเดินทางกลับไปยังเมืองกวางตุ้งในเดือน ๗ ปีที่ ๔๗ แห่งรัชศกเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๒๕)๑๖ เพื่อโดยสารสำเภาหลวงเดินทางกลับคืนไปยังประเทศสยามต่อไป


ขอขอบคุณ

มติชนออนไลน์
คุณสุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์


ภุมวารสวัสดิ์วัฒนาค่ะ



Create Date : 21 มิถุนายน 2554
Last Update : 21 มิถุนายน 2554 20:35:42 น. 0 comments
Counter : 1787 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.