Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
13 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

กุลวาขาว แมคคิลวารี

เก็บความจากหนังสือ Half A Country Amoung The Siamese and The Laos แต่งโดย ดอกเตอร์ แดเนียล แมคคิลวารี
โดย...แสน ภูวเมศวร์

(ลงพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน "คนเมือง" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๔๙๗)
.............................

ทุกวันนี้ มี "กุลวาขาว" มาอยู่ภาคเหนือมากเกินไป พวกเราจึงไม่ค่อยมีใครเห็นเป็นของแปลกหรือสนใจกี่มากน้อย พูดถึงความสนใจกับ “กุลวาขาว” แล้ว นอกจากพ่อเลี้ยงคอร์ต ก็เห็นจะเป็น “พ่อครูเฒ่า” นั่นแหละ ที่หมู่คนเมืองรู้จัก และระลึกถึงด้วยความอาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่ง



“พ่อครูเฒ่า” เป็น “กุลวาขาว” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เพราะเป็นคนแรกที่นำลัทธิ ”เยโซ” มาเผยแผ่ในภาคเหนือ พร้อมกับนำวิชาการแพทย์แผนใหม่มาใช้บำบัดโรค และนำการศึกษาแผนปัจจุบันมาให้หมู่เฮาคนเมืองด้วย

กุลวาขาวผู้นี้มาทำอะไร – อย่างไร คนเมืองเหนือโดยเฉพาะชาวเชียงใหม่จึงรู้จัก และทั้งนับถือ- ยกย่องถึงขนาดเรียกขานกันว่า “พ่อครู” ?

มันเป็นเวลาเกือบจะย่ำสนธยาอยู่แล้ว... เรือใหญ่สองลำที่ทวนน้ำแม่ปิงผ่านแก่งน้อยใหญ่ถึง ๓๒ แห่งมาแล้ว ก็ถูกพามาผูกไว้กับต้นไทรใหญ่ริมปิงตรงข้ามกับเกาะกลาง เมื่อจอดเรือเรียบร้อยแล้ว “กุลวาขาว” สองคนผัวเมียก็ก้าวขึ้นมาบนฝั่ง...

จากร่มไทรย้อยต้นนั้นมองไปข้างหน้า มหาเจดีย์หลวงเสียดยอดอยู่กลางแมกไม้... แสงสีหมากสุกของอาทิตย์อัศฎงค์สาดกระจายไปทั่ว สุเทพทมึนตัดกับท้องฟ้าสีครามแก่ วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๙ (หนึ่งร้อยสี่สิบห้าปีมาแล้ว) !

เพราะเคร่งครัดต่อพระคริสตธรรม กุลวาขาวสองผัวเมีย จึงตกลงใจหยุดพักที่นั่น แม้จะมองเห็นนครเชียงใหม่อยู่ไม่ไกล สองผัวเมียก็รู้ดีว่า ถึงจะระดมเรี่ยวแรงสักเพียงใด วันนี้ก็คงไม่ถึงเวียงก่อนพลบค่ำอยู่นั่นเอง จึงหยุดพักเสียก่อนดีกว่า ไหนๆ ก็จะถึงอยู่แล้ว พรุ่งนี้, เป็นวันซะบาโต จะได้สวดและอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยอำนวยพร ให้การเดินทางมาดำเนินงานเผยแผ่ศาสนาได้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากการขัดขวางของทางฝ่ายผู้ปกครองบ้านเมือง

วันอาทิตย์รุ่งขึ้น กุลวาขาวสองคนผัวเมียสวดอธิษฐานแล้ว ก็ปรึกษาหารือกันถึงเรื่องจะทำอย่างไร จึงจะให้งานเผยแผ่ศาสนาได้ดำเนินไปอย่างได้ผล ตลอดวันนั้น สองผัวเมียมิได้พูดคุยกันถึงเรื่องอื่นเลย มันเป็นวันหยุด และทั้งสองก็พักผ่อนอย่างเต็มที่ หลังจากเหน็ดเหนื่อยเพราะรอนแรมมาแต่ไกล ทั้งในวันข้างหน้า ทั้งสองจะยังต้องเผชิญกับงานหนักและเหน็ดเหนื่อยยิ่งกว่าไม่รู้ว่าสักกี่เท่า !



วันจันทร์ที่ ๓ เมษายน เรือทั้งสองลำก็ออกจากท่า คนถ่อช่วยกันถ่อทวนกระแสน้ำขึ้นมา... และในวันนั้นเอง กุลวาขาวสองผัวเมียก็มาถึงนครเชียงใหม่ มันเป็นระยะเวลา ๑ เดือนเต็มๆ นับตั้งแต่วันที่ออกเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพราะในสมัยนั้น การเดินทางมาเชียงใหม่มีอยู่ทางเดียว คือ ใช้เรือถ่อทวนกระแสน้ำขึ้นมา

เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กุลวาขาวสองผัวเมียก็เผชิญปัญหาใหญ่ คือ ยังไม่มีที่พัก พ่อเจ้ากาวิโลรสก็ไม่อยู่... และกว่าจะกลับก็คงจะเดือนเศษ กุลวาขาวสองผัวเมียจึงต้องขอความกรุณาจากข้าราชการชาวระแหง ผู้เป็นเจ้าของศาลาทาน ที่สร้างไว้ทางตวันออกนอกประตูเมือง ขอเข้าอาศัยพักที่ศาลานี้ ซึ่งเจ้าของก็อนุญาตให้พักพิงได้

เมื่อได้ที่พักแล้ว กุลวาขาวสองผัวเมีย ก็ต้องขออนุญาตจากเจ้าอุปราชอินทนนท์อีกชั้นหนึ่ง เพราะเป็นชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในแผ่นดินของท่าน

ศาลาที่พักของกุลวาขาวสองผัวเมียนั้น สร้างไว้เรียบร้อยดี หลังคามุงกระเบื้อง พื้นไม้สัก มีฝารอบขอบชิดอยู่ ๓ ด้าน ด้านหน้าเปิดโล่ง กุลวาขาวสองคนผัวเมียขนสัมภาระขึ้นจากเรือมาไว้แล้วจัดแจงดัดแปลงศาลาทานให้เป็นบ้านพัก

ข่าวที่มีกุลวาขาวสองคนผัวเมียมาพักที่ศาลาทานนั้น ได้กระจายไปทั่วเวียงเชียงใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นชาวต่างประเทศที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน คนเมืองสมัยนั้นจึงอุ้มลูกจูงหลานมาดู “กุลวาขาว” กันมากมาย ไม่ผิดกับมาดูของแปลกประหลาด ศาลาทานหลังนั้นจึงมีคนมายืนมุงดูอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ทุกวัน

ทุกคนอยากจะรู้ว่า กุลวาขาวพูดกันอย่างไร ? กินอะไร ? และพากันมาอยู่ทำไมที่เชียงใหม่ ? แต่เมื่อได้ยินเสียงพูด... ได้เห็นการกินผิดแปลกไปจากหมู่คนเมือง ทุกคนก็ได้แต่มองหน้ากัน และบอกต่อๆ กันไปว่า “กุลวาขาวพูดภาษาชอบกล ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง กินอาหารก็ไม่เหมือนพวกเรา” คนที่ยังไม่เคยเห็นเคยได้ยิน ก็พากันมาห้อมล้อมดูให้ประจักษ์ แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กันต่อๆ ไป

กุลวาขาวสองผัวเมียก็ใจดีนักหนา ใครมาห้อมล้อมมุงดูอย่างไรก็ไม่ว่าไม่ดุไม่ด่าทั้งนั้น กลับพยายามจะพูดจะคุยด้วยเสียซ้ำไป กุลวาขาวผู้ชายนั้น พอจะพูดภาษาไทยได้บ้าง และก็พอจะฟังกันรู้เรื่อง จึงไม่มีใครเกลียดหรือกลัว

สมัยนั้น (พ.ศ.๒๔๑๐) ชาวเชียงใหม่เป็นไข้จับสั่นกันมาก แทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ ที่ผอมซีดผิวเหลือง ออกแรงทำงานหนักก็พาลจับไข้ล้มหมอนนอนเสื่อไป ยารักษาไข้ที่ใช้ดื่มกินก็เป็นยาหม้อใหญ่ แต่ก็ไม่มีสรรพคุณจนหายขาดได้ กุลวาขาวนั้นใจดี เที่ยวได้ลูบพุงคลำม้ามคนโน้นคนนี้ แล้วเอายาเม็ดขาวๆ (ยาควินิน) มาแจกให้เอาไปกิน

ตอนแรกๆ ไม่ค่อยมีใครกล้ากลืน “ยาขาว” เพราะกลัวและยังไม่ไว้ใจว่าจะเป็นยาอะไร กินเข้าไปจะเป็นยังไง แต่ต่อมาเมื่อปรากฎผลว่า “ยาขาว” แก้โรคไข้จับสั่นได้ชะงัดหนักหนา คนก็มาที่ศาลาบ้านพักของกุลวาขาวมากขึ้น ทีนี้ไม่ใช่มาดู แต่มาขอ “ยาขาว” เอาไปกิน

นอกจากจะมี “ยาขาว” แก้ไข้ได้ดีกว่ายาหม้อ กุลวาขาวยังรักษาโรคคอพอกให้หายได้อีกด้วย ผู้คนจึงแตกตื่นและป่าวข่าวระบือไปใหญ่ เพราะเชื่อว่าลงรักษาโรคโรคคอพอกหายแล้ว โรคอื่นๆ ก็ต้อรักษาหายด้วย กิตติศัพท์นี้จึงทำให้ศาลาทานบ้านพักของ กุลวาขาวสองผัวเมีย มีชาวเชียงใหม่แห่แหนกันมาหาวันละมากๆ บ้างก็มาขอยา... บ้างก็มาเล่าอาการเจ็บป่วยของลูกหลานพี่น้องให้ฟัง และเชิญไปช่วยรักษาพยาบาล

กุลวาขาวก็ฉวยโอกาสนั้นเอง เผยแผ่ศาสนาไปพร้อมกัน

ระยะเวลาหลังๆ มานี้เอง เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า กุลวาขาวมาทำการสอนศาสนาของพระเยซูคริสต์ เพราะชาวเชียงใหม่ที่มาติดต่อด้วย ก็ได้รับการบอกกล่าวถึงกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้า หรือที่คนเชียงใหม่สมัยนั้นเรียกว่าศาสนา “เยโซ” ทุกคนไป

กุลวาขาวนั้น นอกจากจะรักษาโรคคอพอก จะมียาขาวแจกให้กินแก้ไข้จับสั่นแล้ว ยังได้นำเอาวิธี “สับสุก” ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาใช้ที่เชียงใหม่ นับเป็นคนแรกอีกด้วย เจ้าหลวงก็เห็นผลดีของการ “สับสุก”และสนับสนุนอาณาประชาราษฎร์ให้พากันมาหากุลวาขาวทำการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้

การเผยแผ่ศาสนาของกุลวาขาวนั้น ตอนแรกๆ ก็ไม่มีอุปสรรคอะไรขัดขวาง และก็ยังไม่มีใครนิยมนับถือกันมากนัก จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๑๒ ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น จนเกือบจะลุกลามกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศไป

นั่นคือ การที่พ่อเจ้ากาวิโลรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ สั่งให้ประหารชีวิตหนานชัยกับน้อยสัญญา ซึ่งละจากพุทธศาสนาหันมานับถือคริสต์ !

(สาเหตุที่หนานชัยกับน้อยสัญญาถูกประหารนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้เห็นเหตุการณ์เล่าไว้อย่างหนึ่ง และ “กุลวาขาว”บันทึกไว้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะได้เอามาเล่าประมวลไว้ทั้งสองฝ่าย จะเป็นฝ่ายใดถูกผิดอย่างไร ขอให้อยู่ในลุยพินิจของผู้อ่าน)

หมายเหตุ ชื่อบุคคลตามที่สภาคริสตจักรในประเทศไทยระบุนั้น เป็น "หนานชัย และ น้อยสุริยะ"



ผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า :- หนานชัยกับน้อยสัญญานั้น แต่เดิม คนทั้งสองก็เป็นชาวพุทธ เคยบวชเคยเรียนมาแล้ว ต่อมาละศาสนาเดิมหันไปถือศาสนาคริสต์ ซึ่งก็เพียงแต่ทำให้เพื่อนฝูงบ้านใกล้เรือนเคียงไม่พึงพอใจ แต่ก็ไม่มีใครไปทำอะไรให้

ก่อนจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นนั้น ชาวบ้านทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันขุดลำเหมืองฝายทดน้ำเข้านา ตามบัญชาของพ่อเจ้ากาวิโลรส หนานชัยกับน้อยสัญญาก็ร่วมแรงขุดกับเขาด้วยเหมือนกัน เพราะทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจากเหมืองฝายเหล่านี้

การขุดเหมืองฝายครั้งนั้น ชาวบ้านต้องทำงานกันทุกวันไม่มีหยุดงาน แต่หนานชัยกับน้อยสัญญาหยุดวันอาทิตย์ (ซะบาโต) ไม่ยอมทำงาน เพราะการทำงานในวันซะบาโตนั้น คริสเตียนถือว่าเป็นการการทำบาป เพราะฝืนมติของพระเจ้า

เมื่อมีคนหยุดงานขณะเดียวกับที่คนอื่นๆ ต้องทำเช่นนี้ เท่ากับเป็นการกินแรงกันโดยตรง จึงมีผู้นำความไปฟ้องร้องต่อพ่อเจ้ากาวิโลรส พ่อเจ้าจึงใช้ให้คนไปเกาะกุมตัวน้อยสัญญากับหนานชัยมาสอบสวน

พ่อเจ้าไต่สวนว่า เพราะอะไรคนอื่นเขาทำงานกัน แต่สองคนกลับไม่ยอมทำ ?

หนานชัยกับน้อยสัญญาก็ตอบว่า วันอาทิตย์พระเจ้าว่าเป็นวันหยุดงาน เขาไม่อาจละเมิดบัญญัติของพระเป็นเจ้าได้

พ่อเจ้าก็ซักเอาว่า แล้ววันอาทิตย์กินข้าวหรือเปล่า ? วันอาทิตย์น้ำเหมืองหยุดไหลเข้านาหรือเปล่า ?

หนานและน้อยก็ตอบว่า วันอาทิตย์ก็ต้องกินข้าว และน้ำเหมืองก็ยังไหลเข้านาอยู่

พ่อเจ้าจึงสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น วันอาทิตย์ก็ต้องทำงานด้วย จะหยุดงานไม่ได้เพราะคนอื่นๆ ไม่มีใครเขาหยุดทำงานกัน

ความที่เป็นคริสเตียนผู้เคร่งครัด หนานชัยกับน้อยสัญญาก็คงยืนกรานไม่ยอมทำงานในวันอาทิตย์อยู่นั่นเอง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เท่ากับขัดราชโองการของเจ้าเหนือหัวผู้ทรงสมบูรณาญาสิทธิ ผล จึงมีคำสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตเสีย !

กุลวาขาวได้บันทึกเรื่องการประหารหนานชัยกับน้อยสัญญาไว้ว่า :- เมื่อพ่อเจ้ากาวิโลรสสั่งให้ประหารคนทั้งสองแล้ว บรรดาผู้ที่นับถือศาสนาคริสเตียนก็พากันร้อนตัวกลัวตาย ถึงกับร้องเรียนไปทางกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ ก็ส่งคณะข้าหลวงเดินทางขึ้นมานครเชียงใหม่ และ กุลวาขาวผู้มาเผยแผ่ศาสนาหลายคน ก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพ่อเจ้าพร้อมกันกับคณะข้าหลวงที่มาจากกรุงเทพฯ ด้วย



การเข้าเฝ้าพ่อเจ้ากาวิโลรสครั้งนั้น ได้มีการเจรจากันถึงเรื่องการประหารหนานชัยกับน้อยสัญญาด้วย พ่อเจ้าตรัสว่า พระองค์มีเอกสิทธิ์จะฆ่าได้ในเมื่อคนทั้งสองฝ่าฝืน ไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย

กุลวาขาวก็ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มาอ้างได้ว่า คนทั้งสองถูกประหารเพราะนับถือศาสนาคริสต์ นอกจากได้บันทึกไว้ว่า

“...เจ้าหลวงรับสั่งว่า เป็นความจริงที่ท่านประหารคนทั้งสอง เพราะเขาหันไปนับถือศาสนาคริสเตียน และจะประหารทุกคนที่เข้าเป็นคริสเตียนต่อไปอีก คนที่ละทิ้งศาสนาประจำชาติของตัว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรยศต่อเจ้าหลวง ฉะนั้นท่านจะต้องกำจัดเสีย ถ้าคณะมิชชั่นนารีจะอยู่ทำการพยาบาลรักษาคนเจ็บแต่อย่างเดียวก็อยู่ได้ แต่จะต้องไม่ให้คนเป็นคริสเตียน ห้ามการสอนศาสนาคริสต์โดยเด็ดขาด ถ้าขัดขืน ท่านจะขับไล่ออกไปเสียจากประเทศ”

ข่าวจากคุ้มหลวงวันนั้น ระบือไปเหมือนไฟไหม้ป่า ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์บางหมู่บางกลุ่มกลัวราชภัย ถึงกับอพยพละทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องไปอยู่ที่อื่น เพราะในสมัยนั้น ใครๆ ก็ย่อมทราบว่า พ่อเจ้ากาวิโลรสนั้นเด็ดขาดนักหนา

แต่กุลวาขาวก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หลบหนีราชภัยไปไหนแต่อย่างใด ระหว่างนั้น งานเผยแผ่ศาสนาก็ต้องหยุดชงักลงด้วย เพราะผลสะท้อนจากการที่หนานชัยกับน้อยสัญญา“วีรชนคริสเตียน” ถูกประหารชีวิตไปนั้น ทำให้ไม่มีใครมาติดต่อคบหากับกุลวาขาว แม้แต่คนรับใช้ก็ลาออก !



วันเวลาผ่านไป จนกระทั่งกลางปี พ.ศ.๒๔๑๓ พ่อเจ้ากาวิโลรสทรงพระประชวรระหว่างที่เสด็จไปกรุงเทพฯ พระประยูรญาติจึงรีบพาเสด็จกลับเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันถึงนครเชียงใหม่ก็พิราลัยเสียก่อนระหว่างทาง เจ้าอุปราชอินทนนท์ได้ครองนครสืบมา... และโดยที่กุลวาขาวมีความคุ้นเคยกับเจ้าหญิงบัวคำราชชนนีของเจ้าหลวงอินทนนท์อยู่ก่อนแล้ว จึงยังคงพำนักอยู่ในนครเชียงใหม่ได้ต่อไป ไม่มีเหตุเภทภัยอะไรเกิดขึ้น

แต่กุลวาขาวไม่ใช่นักการค้า ไม่ใช่มาอยู่เพื่อกิจอย่างอื่น นอกจากการเผยแผ่ศาสนา เขาจำเป็นจะต้องทำการเพื่อจุดประสงค์นี้ต่อไป...

ในสมัยนั้น คนเมืองเหนือมีวิธี “คว่ำบาตร” ผู้ที่เป็นเสนียดสังคมอยู่อย่างหนึ่ง คือ กระซิบกระซาบบอกเล่ากันต่อๆ ไปว่า “เสนียดสังคม” นั้นๆ เป็น ผีกะ (หรือผีปอบ) ซึ่งก่อให้เกิดประชามติที่ได้ผลทันตาเห็น คนที่เป็นผีกะหรือผีปอบ จะไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย จะถูกกีดกันให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

ปรากฎว่าวิธีการ “คว่ำบาตร” ดังกล่าว เป็นผลทำให้ผู้ที่ถูกประชามติ ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องไปอยู่ที่อื่นห่างไกลออกไป และไม่เฉพาะแต่ราษฎรสามัญเท่านั้น แม้ข้าราชการหรือเชื้อพระวงศ์ ถ้าประพฤติตนเป็นเสนียดสังคม ก็จะถูก “คว่ำบาตร” ด้วยกลวิธีเช่นเดียวกันด้วย และได้ผลดีเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องของสมัยนั้น

กุลวาขาวได้เฝ้าสังเกตเหตุการณ์เหล่านั้น และมองเห็นช่องทางที่จะทำการเผยแผ่ศาสนาได้โดยปลอดภัย จึงเข้าไปแนะนำสั่งสอน และเผยแผ่พระคุณของพระผู้เป็นเจ้า แก่บรรดาผู้ที่ถูกประชามติกีดกันให้มาอยู่โดดเดี่ยวเหล่านั้น

ตอนหลังๆ มา บรรดาผู้ที่ถูกประนามว่าเป็น “ผีกะ” หรือ “ผีปอบ” จึงหันมานับถือศาสนาคริสต์กันทั้งหมด และสมัยนั้นเอง ใครที่นับถือศาสนาคริสต์ ก็ถูกระบุว่าเป็นพวกผีกะ ผีปอบไปด้วยนี่คือชัยชนะขั้นแรกของกุลวาขาวในการที่เข้ามาเพาะพืชพันธุ์และเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่ เป็นชัยชนะที่แม้เจ้าหลวง (เจ้าอินทวิชยานนท์) เองก็ไม่ทรงแตะต้องขัดขวาง

กลางปี พ.ศ.๒๔๒๑ งานเผยแผ่ศาสนาของกุลวาขาวได้ดำเนินมาด้วยดีตลอดมาแต่แรกๆ ก็ประสบกับอุปสรรคอย่างฉกรรจ์อีกครั้งหนึ่ง สาเหตุมาจากการแต่งงาน ระหว่างเจ้าสาวชาวพุทธ กับเจ้าบ่าวคริสเตียน พ่อของเจ้าสาวเอะอะไม่ยินยอม เพราะกลัวและเกลียดที่ลูกสาวจะไปเป็นพวกพ้องของ “ผีกะ” และจะขัดขวางทุกวิถีทางจนกว่าฝ่ายเจ้าบ่าวจะยอม “เสียผี” ตามประเพณีนิยม !

ทางฝ่ายเจ้าบ่าว ซึ่งมีกุลวาขาวเป็นผู้หนุนหลัง ก็ไม่อาจยินยอมตามข้อเรียกร้องนั้นได้ เพราะการยอม “เสียผี” ขัดกับคริสตศาสนา และการแต่งงานครั้งนี้ก็เพิ่งเป็นครั้งแรก ที่จะมีการสมรสทางคริสต์ เรื่องทำท่าจะวุ่นวายกันใหญ่

กุลวาขาวมองไม่เห็นว่าจะทำอะไรได้ดีไปกว่าเข้าหาพ่อเจ้าให้ช่วยคุ้มครองถ้าจะเกิดมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น ผลก็คือ พ่อเจ้ารับสั่งว่า “การจะเข้าไปแทรกแซงประเพณีนิยมของราษฎรนั้น ไม่มีใคร นอกจากพระเจ้าแผ่นดินสยามเท่านั้น ที่จะทรงกระทำได้”

กุลวาขาวพ่ายในยกแรก การแต่งงานตามพิธีทางคริสตศาสนาต้องระงับไว้ชั่วคราว

การต่อสู้ขั้นต่อมาของกุลวาขาวก็คือ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงรับรอง “สิทธิในการนับถือศาสนา” และนอกจากนั้นให้ทรงรับรองว่า ราษฎรต้องมีสิทธิในการประกอบพิธี การหยุดงานตามศาสนาที่เขานับถืออีกด้วย

นับว่ากุลวาขาวเป็นคนแรกที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันนี้

ปรากฎว่า กุลวาขาวเป็นฝ่ายชนะอย่างงดงาม เมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๑ มีข้อความว่า

“...กิจการทางศาสนาและทางอาณาจักร ย่อมไม่มีการขัดแย้งกัน ผู้ใดที่ใคร่จะนับถือศาสนาใดด้วยจิตศรัทธา ในเมื่อเห็นว่าศาสนานั้นๆ เที่ยงแท้ และเหมาะที่จะพึงนับถือได้ ก็อนุมัติให้กระทำได้โดยไม่มีข้อขีดขั้น ความรับผิดชอบอันจะเกิดแต่การเลือกนับถือศาสนานั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นเอง หาได้มีกฎหมายหรือประเพณีใดของเมืองไทย หรือในสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่จักกีดกันการนับถือศาสนาและพิธีการของผู้หนึ่งผู้ใดไม่...

อนึ่ง ประกาศฉบับนี้ บังคับมาอย่างเคร่งครัดแก่บรรดาเจ้าผู้ครองนคร และญาติมิตรของผู้ที่ปรารถนาจะเข้าถือคริสตศาสนา มิให้กระทำการขัดขวางแต่ประการใดประการหนึ่ง และมิให้บังคับบุคคลเหล่านั้น ในการกระทำกิจหรือประกอบพิธีกรรมใด อันเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาของเขา เช่น การเซ่นไหว้บวงสรวงผี และทำงานในวันซะบาโต เว้นไว้แต่จะเกิดราชการสงคราม หรืองานอันสำคัญยิ่งใหญ่ ซึ่งอย่างไรก็ดี ต้องไม่เป็นการกลั่นแกล้ง แต่จะต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ขอให้พึงตระหนักไว้ด้วยว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องมีเสรี และไม่ได้รับการขัดขวางใดๆ ในการประกอบพิธีในวันซะบาโตด้วย...”


นี่คือชัยชนะอันเด็ดขาดของกุลวาขาว ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ ในการนับถือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

นับตั้งแต่นั้นมา การเผยแผ่ศาสนาของกุลวาขาว พร้อมๆ กับการช่วยรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น จนกระทั่งชาวบ้านชาวเมืองยกย่องกุลวาขาวผู้นี้ว่า “พ่อครูเฒ่า”


ทุกวันนี้ก็ยังมีกุลวาขาวมาทำการเผยแผ่ศาสนาอยู่มากมาย แต่ก็ยังไม่มีใครผู้ใดจะได้รับการยกย่องเหมือนหรือเสมอกับ "พ่อครูเฒ่า" กุลวาขาวคนแรกที่มาเผยแผ่ศาสนามาอย่างโชกโชนในสมัยก่อน

คนเมืองเหนือรู้จักและคุ้นเคยกับ "พ่อครูเฒ่า" เป็นอย่างดี แม้จะมีอยู่ไม่กี่คนที่รู้จักว่าชื่อเต็มของ "พ่อครูเฒ่า" คือ ด๊อกเตอร์ แดเนียล แมคคิลวารี.
..........................

คำอธิบาย (จากพจนานุกรมภาษาไทย - อังกฤษ ของอาจารย์สอ เสถบุตร)

กุลา (ถิ่น-พายัพ) ใช้เรียกชนต่างประเทศ เช่น เรียกชนชาติฝรั่งว่า กุลาขาว, เรียกชนชาติแขกว่า กุลาดํา




 

Create Date : 13 มีนาคม 2555
1 comments
Last Update : 13 มีนาคม 2555 22:35:10 น.
Counter : 5820 Pageviews.

 

กรณีหนานชัยและน้อยสัญญา หากพิจารณาตามกฎหมายลักษณะเหมืองฝายซึ่งบัญญัติมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ามังรายนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเกี่ยวกับการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อประโยชน์ต่อการเกษตรของส่วนรวม หากผู้ใดฝ่าฝืน จะได้รับโทษ

ในสมัยพ่อเจ้ากาวิโลรส ในท้องถิ่นล้านนายังยึดถือกฎหมายจารีตนี้อย่างเหนียวแน่น และยังไม่มีทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ จึงเกิดเรื่องใหญ่โตดังกล่าว

 

โดย: owl2 13 มีนาคม 2555 9:32:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.