<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
4 สิงหาคม 2553

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 7

พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
ในเดือนที่เจ็ดนี้ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1.1 กิโลกรัม และยาวประมาณ 26 เซนติเมตรแล้ว ส่วนยอดของมดลูกอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างสะดือกับใต้อก ตอนนี้ทารกมีไขมันมาสะสมตามร่างกายมากขึ้น ผิวหนังถูกปกคลุมด้วยไขสีขาวที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากน้ำคร่ำ หากคลอดทารกในตอนนี้ ทารกยังมีโอกาสรอดชีวิตได้สูงภายใต้การดูแลพิเศษในโรงพยาบาล

สมองได้มีการพัฒนาขนาดโตขึ้นมาก และมีชั้นไขมันที่ปกคลุมเส้นประสาททั้งหมดเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการรับส่งกระแสประสาทได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทารกสามารถเรียนรู้ได้ สมองมีการพัฒนาส่วนที่จะใช้คิดคำนวณ และตอนนี้ทารกสามารถรู้สึกเจ็บ ร้องไห้ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเสียง หรือแสง ทารกจะตอบสนองโดยการลืมตา จะเห็นว่าทารกมีพฤติกรรมเกือบจะเหมือนกับทารกที่ครบกำหนดแล้ว

เสียงดังจากภายนอกมีผลต่อทารกในครรภ์ ทารกจะได้ยินเสียงนั้น และมีรายงานการวิจัยซึ่งพบว่าเสียงดังทำให้ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น แม้แต่เสียงเพลงที่ดังเกินไปก็ตาม ดังนั้นคุณแม่ที่ทำงานในโรงงานที่มีเสียงเครื่องจักรดังๆ ควรปรึกษากับหัวหน้าเพื่อย้ายไปทำงานในจุดอื่นซึ่งเงียบสงบระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการขอลาพัก

ตอนนี้ทารกขดตัวอยู่ในท้องคุณแม่เนื่องจากตัวเริ่มโตขึ้นและยาวขึ้น ทำให้พื้นที่มีจำกัด อย่างไรก็ตามทารกยังสามารถที่จะเปลี่ยนท่าได้ในขณะที่ทารกกำลังเคลื่อนไหว เนื่องจากปริมาณน้ำคร่ำน้อยลง คุณแม่จึงสามารถรู้สึกได้จากการเคลื่อนไหวของทารกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนั้นขึ้นอยู่กับว่า ทารกอยู่ในท่าใด ตำแหน่งของรก และโครงสร้างร่างกายของคุณแม่เองบางครั้งชัดเจนมากจนสามารถมองเห็นจากผนังหน้าท้องของคุณแม่ได้เลย ลองให้คุณพ่อวางมือลงบนหน้าท้องในช่วงเวลาเย็นที่คาดว่าทารกจะมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด บางทีคุณพ่ออาจสามารถรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกจากโลกภายนอก

ทารกสามารถรับรู้รสชาติได้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าปุ่มรับรสของทารกที่อยู่ในครรภ์สามารถรับรู้รสได้ดีกว่าตอนที่อยู่ในโลกภายนอกเสียอีก

สารหล่อลื่นภายในปอดของทารกหรือ Surfactant ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทารกสามารถหายใจในโลกภายนอกได้ โดยที่สารหล่อลื่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมเล็กๆนั้นแฟบติดกัน แต่สารหล่อลื่นนี้จะมีปริมาณมากพอก็ต่อเมื่อทารกมีอายุครบกำหนดแล้ว หากทารกคลอดก่อนกำหนด อาจเกิดภาวะหายใจลำบากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคลอดเร็วก่อนกำหนดมากๆ การตั้งครรภ์โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องคลอดก่อนกำหนด เช่น มารดามีภาวะความดันโลหิตสูง มีทารกในครรภ์มากกว่าสองคน แพทย์อาจให้ยาฉีดแก่แม่เพื่อช่วยเพิ่มระดับของ Surfactant ในปอดของทารกในครรภ์ได้ แต่ถ้าหากถุงน้ำแตกก่อนกำหนด หรือคลอดก่อนกำหนดโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน กุมารแพทย์อาจพิจารณาให้ surfactant สังเคราะห์แก่ทารกเมื่อหลังคลอดทันทีเพื่อป้องกันการแฟบติดกันของถุงลมทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่

อาการท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารมาก และท้องผูกยังคงเป็นอาการที่รบกวนคุณแม่อยู่ ขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจะดันกระเพาะอาหารขึ้นไป หากคุณแม่รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องมาก ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆอีกครั้ง

ในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์นี้ อาการบวมตามมือและเท้าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายสะสมน้ำไว้มาก อาจจะสังเกตได้จากแหวนที่คับมากขึ้น

ผิวหนังของคุณแม่จะแพ้ง่ายมากในช่วงนี้ อาจมีผื่นขึ้น หรือเป็นสิว ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหากเป็นมากควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น เพราะหัวใจต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกาย รก และทารก ดังนั้นอัตราการเต้นของหัวใจของคุณแม่มักจะสูงกว่าปกติประมาณ 10 – 15 ครั้งต่อนาที คุณแม่บางท่านอาจถูกตรวจพบว่ามีเสียงผิดปกติของการเต้นของหัวใจ แต่มันจะหายไปเมื่อคลอดแล้ว

เต้านมของคุณแม่ยังขยายต่อไปอีก รวมถึงต่อมผลิตน้ำนมก็มีความพร้อมแล้วที่จะผลิตน้ำนมออกมาเลี้ยงทารก ในไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่อาจมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ข้อควรระวังก็คือระวังการกระตุ้นที่บริเวณนมเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้

อาการปวดหลังของคุณแม่จะเป็นมากขึ้นและบางทีส่งผ่านลงไปที่ขาทั้งสองข้าง ครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินเข้าสู่ไตรมาสที่สาม อาการเจ็บที่หลังและส่งผ่านลงไปที่ขาอาจเกิดขึ้นได้จากการที่กระดูกสันหลังส่วนล่างนูนออก จากการที่ถูกมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นดัน ทำให้เส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ หรือถูกกด หรือบางทีการที่คุณแม่ก้มยกของโดยท่าทางไม่ถูกต้อง หรือบิดตัวเร็วเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง และบางครั้งอาการปวดหลังก็หายไปเมื่อทารกเปลี่ยนท่า

หากคุณแม่นอนเอนหลังลงไปแล้วทำให้ไม่สุขสบาย นั่นเกิดจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ลงไปกดอวัยวะต่างๆตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เลือดที่ไปหัวใจมีปริมาณน้อยลง ลองนอนตะแคงจะช่วยให้รู้สึกสบายมากขึ้น
คุณแม่จะเริ่มลุกจากเตียงลำบากขึ้น ให้นอนตะแคงก่อนแล้วใช้มือช่วยดันตัวขึ้นมา

หากคุณแม่มีอาชีพที่จำเป็นต้องยืนนานๆ อาจขอถุงเท้าที่ช่วยพยุงขาจากคุณหมอ หรือพยาบาล เนื่องจากอาการของเส้นเลือดขอดอาจเป็นมากขึ้น

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่

อาการเจ็บเตือน


อาการเจ็บท้องเกิดขึ้นจากการที่มดลูกมีการบีบรัดตัว คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อที่อยู่ล้อมรอบทารกตึงและแข็งขึ้น อาการที่มดลูกบีบตัวนี้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แต่ในช่วงไตรมาสที่สามนี้จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อาการเจ็บเตือนและเจ็บครรภ์จะคลอดจริงๆนั้น แตกต่างกันตรงที่ เจ็บเตือนนั้นปากมดลูกยังคงปิดสนิท แต่เจ็บจริงปากมดลูกจะเปิดออก อาการเจ็บเตือนมดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอจะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาใดก็ได้ แต่เจ็บจริงนั้น มดลูกจะหดรัดตัวสม่ำเสมอ และถี่มากขึ้น เจ็บนานขึ้น มดลูกอาจบีบตัวอยู่นานถึงสองนาทีและรุนแรงมากขึ้น การเจ็บเตือนเหมือนเป็นการซ้อมความพร้อมของการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ในการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทางเลือกในการคลอด

ในกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นปกติ คุณแม่สามารถเลือกที่จะคลอดทารกทางช่องคลอดแบบธรรมชาติโดยไม่ใช้เทคโนโลยีใดๆเข้ามาช่วยได้ แต่ความเป็นจริงก็คือ โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ต่างๆครบครันที่จะเตรียมพร้อมไว้ให้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยาระงับความรู้สึก อุปกรณ์ช่วยในการคลอดในกรณีที่คลอดยากเช่น คีม (Forceps) แวคคูอัม (Vacuum) หรือในกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะที่ต้องทำการช่วยเหลือในทันทีต้องผ่าตัดออกมาก็สามารถใช้ห้องผ่าตัดได้เลย รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่คุณต้องการ เช่นวิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ มีเครื่องมือเตรียมพร้อมในกรณีที่ฉุกเฉิน มีเครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ตรวจสอบสภาวะของทารกในครรภ์ สามารถรองรับทารกที่คลอดออกมาแล้วอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นต้น

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล คุณแม่จะถูกจัดให้อยู่ในห้องรอคลอดที่สบาย สะอาด มีพยาบาลคอยดูแลและตรวจความก้าวหน้าของการคลอด ตรวจสภาวะของทารกในครรภ์ เมื่อคลอดทารกจะถูกส่งไปที่แผนกเด็กอ่อนเพื่อทำความสะอาดและ สังเกตอาการ โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบครันจะสังเกตอาการทารกที่คลอดใหม่ทุกรายในตู้อบ เพื่อที่สามารถสังเกตการหายใจของทารกได้อย่างชัดเจน และทารกอยู่ในตู้ที่มีอุณหภูมิอบอุ่นคงที่เหมือนกับในร่างกายของแม่ ทำให้ทารกสามารถปรับตัวกับโลกภายนอกได้ดีขึ้น ดังนั้นหากพบว่าลูกของคุณต้องอยู่ในตู้อบอย่าเพิ่งตกใจ หากทารกอาการปกติแข็งแรงดี แผนกเด็กอ่อนก็จะส่งทารกไปที่ห้องคุณแม่ในแปดชั่วโมง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor)

การคลอดก่อนกำหนดคือ การคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ เด็กที่คลอดออกมาอาจยัง เจริญเติบโตไม่สมบูรณเต็มที่ ความสมบูรณ์ของเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อคลอด เด็กที่คลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 25 สัปดาห์อาจเสียชีวิต เด็กที่คลอดด้วยอายุครรภ์ น้อยๆแต่รอดชีวิตก็อาจจะมีปัญหาในการหายใจ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในขณะที่เด็กที่เป็นแฝดที่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดแต่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจได้รับยากระตุ้นปอดให้สมบูรณ์ก่อนคลอด ทารกที่คลอดออกมา อาจมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่คลอดเมื่อครบกำหนดแต่ปอดมีความสมบูรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

การคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นจากสาเหตุใด

◦การที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
◦ครรภ์แฝด
◦ได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่นไส้ติ่งอักเสบ
◦มีน้ำคร่ำปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
◦มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16 สัปดาห์
◦มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
◦มารดาอายุน้อยกว่า 16 ปี
◦รกลอกตัวก่อนกำหนด
◦มารดาสูบบุหรี่
◦ทำงานที่ต้องออกแรงมากๆ
อาการแสดงของการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการเกร็งท้องเป็นๆหายๆ เป็นจังหวะ และมีน้ำเดิน การวินิจฉัยสามารถทำได้โดย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจครรภ์เพื่อดูการบีบตัวของมดลูก ตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ ตรวจการบางและขยายตัวของปากมดลูก

แพทย์จะทำการยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด หรือจะดำเนินการคลอด ที่ปลอดภัยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของทารก สุขภาพของมารดาและทารก ศักยภาพของหน่วยบริบาลทารกแรกเกิดอาการวิกฤต (Intensive care nursery) ที่จะสามารถดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

การยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด

◦พักในโรงพยาบาล และมีการสังเกตการบีบตัวของมดลูกอย่างต่อเนื่อง
◦นอนบนเตียงตลอดเวลา เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อมดลูก และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
◦ในน้ำเกลือทางเส้นเลือดดำเพื่อให้ยาทางเส้นเลือดที่จะช่วยลดการบีบตัว ของมดลูก
◦ตรวจเลือด ปัสสาวะ และเซลล์จากปากมดลูกเพื่อ ตรวจการติดเชื้อ
◦อัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสภาพของรก สุขภาพของทารก ประเมินอายุของทารก ตรวจความผิดปกติของทารก และท่าของทารก
◦ตรวจน้ำคร่ำเพื่อตรวจการติดเชื้อ และประเมินความสมบูรณ์ของปอดของทารก
แพทย์จะไม่ให้ยาเพื่อยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่

◦มีเลือดออกมากทางช่องคลอด
◦มีความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง
◦มีการติดเชื้อในมดลูก
◦ทารกมีความผิดปกติ หรือเสียชีวิตแล้ว
◦สภาวะอื่นๆที่การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะดูแลตนเองอย่างไร เพื่อป้องกัน การคลอดก่อนกำหนด

◦ไปพบแพทย์ทุกสองสัปดาห์หลังจากที่อายุครรภ์ 20 – 24 สัปดาห์เพื่อตรวจครรภ์
◦ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลกระทบของงานที่ทำต่อการคลอดก่อนกำหนด
◦พักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
◦หยุดการออกกำลังทุกชนิด ไม่ยกของหนัก ไม่เดินทางไกล
◦ต้องทำใจให้สบายปราศจากความเครียด
◦หาวิธีที่จะจดจำการเกิดการบีบตัวของมดลูกจากการใช้มือสัมผัส ทำการบันทึกการบีบตัวของมดลูก ความสม่ำเสมอของการบีบตัว และความรุนแรงของการบีบตัว
◦ระวังการกระตุ้นที่บริเวณหัวนม เนื่องจากเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัว
◦ระวังเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัว
การตรวจต่าง ๆ

Nonstress Test (NST)

คือการประเมินสภาพของทารกในครรภ์จากภายนอก ผ่านจากมารดา และบันทึกการเต้นของหัวใจของทารก เมื่อทารกที่มีสุขภาพแข็งแร็งมีการเคลื่อนไหว อัตราการเต้นของหัวใจจะสูงขึ้น ถ้าอัตราการเต้นของหัวใจของทารกอยู่ในช่วง 120 – 160 ครั้ง / นาทีและเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 15 วินาที 2 ครั้งภายใน 20 นาทีการแปลผลคือ Reactive ซึ่งแสดง ถึงทารกมีสุขภาพดี

Nonstress Test จะทำเมื่อใด

◦เมื่อเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
◦เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมาเช่น ทารกตายในครรภ์
◦เมื่อมารดาสังเกตว่าทารกดิ้นน้อยลง
◦เลยกำหนดคลอดแล้วยังไม่คลอด

Nonstress Test จะให้ผลที่น่าเชื่อถือเมื่อ

◦ทำใน 6 – 8 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์
◦ทำในช่วงเวลาที่ทารกมีการเคลื่อนไหวมากที่สุดของแต่ละวัน (เช่นหลังจากมารดา รับประทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง)
การตรวจ Nonstress Test จะมีการติดตัวรับสัญญานที่ผนังหน้าท้องของมารดาสองจุดคือที่ ส่วนยอดของมดลูก และบริเวณที่สามารถได้ยินหัวใจของทารกเต้น มารดาจะได้รับปุ่มสำหรับกดเมื่อได้รู้สึกถึงการดิ้น ของเด็ก เครื่องมือจะบันทึกการเต้นของหัวใจของทารกเป็นเวลา ~ 30 นาที ผลจะแสดงเป็นรูป กราฟ และเมื่อมารดากดปุ่มผลของการตรวจก็จะถูกแปลตามสภาวะนั้น

การแปลผล

Reactive: ทารกเคลื่อนไหวอย่างน้อยสองครั้งใน 20 นาที ในสองครั้งที่ทารกมีการ เคลื่อนไหวอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นอีก ~15 ครั้งต่อนาทีและสูงขึ้นอย่างน้อย 15 วินาที

Nonreactive: ทารกไม่มีการเคลื่อนไหวหรือ ไม่มีการเพิ่มขึ้นของการเต้นของหัวใจ ในระหว่างที่ทำ

บ่อยครั้งในการตรวจที่จะได้ผล Nonreactive เนื่องจากทารกไม่มีการเคลื่อนไหวเพียงพอ ที่เครื่องจะทำการอ่านผลได้ แพทย์จะทำการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็ก Active มากขึ้น แต่ถ้าผลยังคงเป็น Nonreactive ก็จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์แบบที่เรียกว่า Biophysical แต่ถ้าผลยังคงไม่ชัดเจนแพทย์ก็จะต้องทำ Contraction Stress Test (CST) และถ้าหากผลการตรวจแสดงว่าทารกมีสุขภาพไม่แข็งแรงแพทย์อาจแนะนำให้ ทำการคลอดก่อนกำหนด



Create Date : 04 สิงหาคม 2553
Last Update : 4 สิงหาคม 2553 9:43:03 น. 2 comments
Counter : 748 Pageviews.  

 
มีคำถามอ่ะค้าบบบ ตอนนี้ 29 สัปดาห์แล้ว มีอาการท้องแข็งบ่อยมาก เป็นทุกวัน ทั้งวัน เป็นทีก็อึดอัดหายใจไม่ค่อยออก

จริง ๆ เริ่มเป็นมาตั้งแต่เดือนที่ 5 แล้วอ่ะค่ะ

ลักษณะที่เป็นคือท้องจะแข็งเป็นก้อน ๆ อย่างตอนเดือนที่ 5 เนี่ยจะปูดเป็นก้อนกลม ๆ ตรงกลางเลย

ตอนนี้ก็ปูดเป็นก้อน แต่ดูเป็นตัวเป็นตนขึ้น

อยากทราบว่าจะมีผลข้างเคียงอะไรตามมามั้ยคะ รบกวนด้วยนะคะคุณหมอ

ขอบคุณมาก ๆ ค่า


โดย: ป้าจะอิ๊บ (jipnaja ) วันที่: 4 สิงหาคม 2553 เวลา:12:36:27 น.  

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 1779106 วันที่: 30 มีนาคม 2558 เวลา:17:00:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.TONGTIS
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




• B.Sc. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1974-1978.
• M.D. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1979-1980.
• Diploma Board of Obstetrics and Gynecology. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1981-1983.
• Postdocteral Fellow Training. Queen's Mother Hospital, Glasgow Scotland.
• Postdocteral Fellow Training.King's College Hospital, London. UK.
• Postdocteral Fellow Training. Department of Obstetrics and Gynecology and Department of Radiology. John Hopkins Hospital, John Hopkins University.
[Add DR.TONGTIS's blog to your web]