<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
5 สิงหาคม 2553

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ี่ 8

พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
เมื่อจะสิ้นสุดปลายเดือนที่แปดนี้ทารกจะมีความยาวประมาณ 36 เซนติเมตร และหนักประมาณ 3.5 กิโลกรัม ทารกมีการพัฒนารูปร่างและการทำงานของร่างกายไปจนเกือบสมบูรณ์แล้ว จะจะมีชีวิตรอดได้หากคลอดออกมาในเดือนนี้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจในหน่วยบริบาลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาล เพราะปอดมีความสมบูรณ์มาก แต่ทารกก็ยังมีการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาเพื่อช่วยให้ปอดสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการเตรียมพร้อมในการหายใจหลังคลอด ในสี่สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดทารกจะมีการพัฒนาในเรื่องของน้ำหนัก และการสร้างชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันและรองรับแรงที่จะเกิดขึ้นระหว่างการคลอด

สมองมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในเดือนนี้ ทารกสามารถเรียนรู้สิ่งที่อยู่ภายนอก ลองคุยกับลูก หรือ เปิดเพลงเบาๆให้ฟัง เพื่อสร้างความคุ้นเคย

ใบหน้าของทารก เมื่อคลอดจะมีลักษณะกลมและขอบตาอาจมีสีคล้ำ แต่หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและสีผิว

แขนขาของทารกนั้นได้มีการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ และนิ้วมีนิ้วเท้ามีเล็บขึ้นเต็มปลายนิ้วพอดี

ขนอ่อนๆตามตัวของทารกนั้นได้หายไปเกือบหมดในเดือนที่แปด แต่บางส่วนก็ยังมีเหลืออยู่ให้เห็นหลังคลอด ผิวหนังของทารกจะมีสีซีด ลอกเป็นขุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง

อวัยวะของระบบสืบพันธุ์ในทารกเพศหญิงจะมีเนื่อเยื่อที่จะเจริญไปเป็นเต้านมและหัวนมเริ่มเห็นชัดเจน ในทารกเพศชาย ลูกอัณฑะที่เคยอยู่ในช่องท้องตอนนี้ได้เคลื่อนตัวลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว

ในเดือนที่แปดนี้จะหมุนตัวกลับเอาศีรษะลงไปสู่เชิงกรานของแม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่บางทีก็ไม่เป็นเช่นนั้น คุณหมอสามารถตรวจพบได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ และคุณสามารถพบว่าส่วนที่แข็งๆและเป็นศีรษะของทารกอยู่บริเวณชายโครง และเท้าเล็กๆถีบลงบนบริเวณท้องส่วนล่างของคุณ หากในเดือนที่เก้าทารกยังคงไม่หมุนศีรษะกลับลงมาสู่อุ้งเชิงกราน การผ่าตัดคลอดก็จะถูกกำหนดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่่

อาการปวดที่รอยต่อของกระดูกเชิงกรานสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อทารกมีขนาดใหญ่และเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน กระดูกรอยต่อ และกล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกจะถูกกดดันหรือดึงรั้งทำให้เมื่อเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายจะรู้สึกเจ็บได้

ว่าที่คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองนั้นเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน หรือจะเรียกว่าอุ้ยอ้ายก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะเดินหรือวิ่ง

ว่าที่คุณแม่บางคนมักจะมีปัสสาวะเล็ดเมื่อหัวเราะ หรือไอ เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ร่างกายสร้างออกมามากขึ้นเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อคลายตัว รวมถึงกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ

ริดสีดวงทวาร แรงกดดันที่ศีรษะของทารกกดลงบนอุ้งเชิงกราน เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดเป็นริดสีดวงทวารขึ้นทำให้เจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าที่คุณแม่ที่ท้องผูกบ่อยๆมักจะเป็นริดสีดวงทวารได้โดยง่าย บางทีริดสีดวงทวารทำให้เลือดออกได้ อย่าอายที่จะบอกคุณหมอ เพราะเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะเกิดริดสีดวงทวารขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ และคุณหมอจะมียาที่ช่วยให้คุณบรรเทาอาการเจ็บปวด พยายามอย่ายืนนานๆจะเพิ่มแรงดันให้เพิ่มมากขึ้น

อาการหายใจไม่พอจะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนที่แปดและเก้า ยอดของมดลูกจะอยู่สูงถึงระดับซี่โครงชิ้นล่างสุด และดันกระบังลมของคุณแม่ขึ้นไป ทำให้คุณรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่พอ ลองหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ แต่ลึกๆ จะช่วยให้ดีขึ้น และไม่มีผลกับการเจริญเติบโตของทารก พยายามยืนหรือนั่งให้หลังตรงอยู่เสมอจะช่วยให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น ในเวลานอนมดลูกจะดันกระบังลมขึ้นไปอีก ให้เอาหมอนหลายๆใบหนุนไหล่และศรีษะให้สูงขึ้น หรือนอนท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง จะทำให้คุณหายใจสะดวกและหลับสบายขึ้น

คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าร่างกายของุณแม่นั้นอ้วนฉุ เนื่องมาจากการบวมขึ้นของอวัยวะต่างๆ ที่มีของเหลวมาสะสมอยู่ เช่น ใบหน้า รอบตา ริมฝีปาก มือ ขา เข่า และเท้า เนื่องจากมีน้ำมาสะสมในเซลล์ไม่ถือเป็นความผิดปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องลดเกลือในอาหารลง เพียงแต่หลับพักผ่อนให้มากพอ

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่

คุณแม่บางท่านอาจกังวลว่าทารกจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ จะมีความพิการหรือความผิดปกติหรือไม่ เป็นเรื่องปกติที่ว่าที่คุณแม่จะกังวล แต่ถ้าหากว่าคุณรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องแล้วก็ไม่ควรต้องกังวล ทารกมีโอกาสที่จะเกิดความพิการขึ้นได้น้อยมากหากคุณแม่อายุน้อยกว่าสามสิบห้าปี และหากได้รับการตรวจคัดกรองความผิดปกติ (Triple markers) ตรวจน้ำคร่ำ หรือได้ทำการตรวจ 4D-อัลตร้าซาวด์แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงอีก

บางครั้งคุณแม่อาจกลัวและวิตกเกี่ยวกับการคลอด ความเจ็บปวด หรือคุณแม่จะสามารถคลอดเองได้หรือไม่ ทารกจะได้รับอันตรายจากการคลอดหรือไม่ โดยปกติแล้วหากทารกอยู่ในท่าที่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ หรือมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์บางอย่าง การผ่าตัดคลอดจะถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว คุณหมอจะต้องประเมินเอาไว้แล้วว่าคุณแม่สามารถคลอดเองได้ ซึ่งถ้าหากเกิดการคลอดลำบากขึ้นและทารกยังอยู่ในสภาวะปกติดี เครื่องมือที่ช่วยการคลอดทางช่องคลอดบางอย่างจะถูกนำมาใช้ เช่น คีม (Forceps) หรือแวคคิวอัม (Vacuum) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่เป็นอันตรายต่อทารก แต่ถ้าหากการรอคลอดที่ยาวนาน ปากมดลูกไม่เปิดเต็มที่และมีผลให้ทารกอยู่ในสภาวะที่ขาดอ๊อกซิเจน การผ่าตัดคลอดจะเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้

คุณแม่บางท่านมีความวิตกกังวลว่าจะสามารถรับผิดชอบดูแลทารกได้หรือไม่ แม้ว่าคุณแม่จะมีวุฒิภาวะที่เหมาะสมแต่บางครั้งความรู้สึกนี้ก็เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ จำไว้ว่าคุณทำได้แน่ๆ เมื่อทารกคลอดออกมาคุณแม่จะรู้สึกว่าทำได้แน่ๆ การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์นั้น จะช่วยให้ความวิตกกังวลนั้นหายไป ลองอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูทารก หาพี่เลี้ยง หัดเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือชงนมผสม จะช่วยให้คุณแม่มีความพร้อมและมั่นใจมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ทารกท่าก้น


ในเดือนที่แปดนี้ทารกควรจะกลับศีรษะลงมาเรียบร้อยแล้ว แต่บางทีก็ไม่เป็นเช่นนั้น คุณหมอสามารถตรวจพบได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ และคุณสามารถพบว่าส่วนที่แข็งๆและเป็นศีรษะของทารกอยู่บริเวณชายโครง และเท้าเล็กๆถีบลงบนบริเวณท้องส่วนล่างของคุณ หากในเดือนที่เก้าทารกยังคงไม่หมุนศีรษะกลับลงมาสู่อุ้งเชิงกราน การผ่าตัดคลอดก็จะถูกกำหนดขึ้น ทารกท่าก้นหมายถึง เด็กในครรภ์มารดาที่มีส่วนนำเป็นก้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของขาหรือร่วมกันอยู่ทางส่วนล่างของมดลูก และศีรษะอยู่ทางยอดมดลูก สาเหตุที่แท้จริงที่เกิดทารกท่าก้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบสาเหตุที่ส่งเสริมให้เกิดทารกท่าก้นในกรณีดังต่อไปนี้

◦เด็กในครรภ์มีการเคลื่อนไหวได้มากกว่ากว่าปกติ เช่น มีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือมารดามีหน้าท้องหย่อนในการตั้งครรภ์หลังๆ
◦มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
◦ส่วนหัวเด็กไม่สามารถปรับเข้ากับอุ้งเชิงกรานได้เช่น เด็กมีภาวะ Hydrocephalus หรือรกเกาะต่ำ
◦ทารกแฝด
ในทารกท่าก้นบางกรณีสามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้ แต่พบว่าภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดทารกท่าก้นมีสูงเช่น ทารกขาดอ๊อกซิเจน และมีเลือดออกในสมอง เนื่องจากศีรษะเด็กคลอดช้าเกินไป ปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดคลอดเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับกรณีนี้

ภาวะกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบเกิดขึ้นในช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็ได้ แต่มักพบในไตรมาสที่สามเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับขนาดของมดลูกที่โตขึ้นด้วย โดยที่มดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นและไปกดทับหลอดไต อีกสาเหตุหนึ่งคือหลอดไตมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ด้วยผลจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทั้งสองสาเหตุนี้ทำให้มีการคั่งค้างของปัสสาวะทำให้มีการติดเชื้อตามมา เชื้อที่พบบ่อยมักจะเป็น E.Coli

อาการที่เกิดจากกรวยไตอักเสบได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน กดเจ็บบริเวณหลังระหว่างชายโครงและกระดูกสันหลัง และอาจมีการถ่ายปัสสาวะบ่อย คุณหมอสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจโปรตีน และPus cell ในปัสสาวะ หากคุณเป็นกรวยไตอักเสบ คุณจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลเนื่องจากแพทย์ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและยาปฏิชีวนะ

กรวยไตอักเสบอาจเกิดขึ้นเรื้อรังได้ หากก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานแก่ว่าที่คุณแม่มาก คุณหมออาจทำการเหนี่ยวนำให้เกิดการคลอด หากการตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้ว

การตรวจต่าง ๆ

Contraction Stress Test (CST)

คือการประเมินสภาพของทารกในครรภ์จากภายนอก ผ่านจากมารดาโดยการ บันทึกการเต้นของหัวใจของทารกในขณะที่มีการบีบตัวของมดลูก อัตราการเต้นของ หัวใจของทารกและการบีบตัวของมดลูกจะถูกบันทึกไว้

การบีบตัวของมดลูกจะทำให้เลือดมาเลี้ยงทารกน้อยลงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากการสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจของทารกขณะที่มีการบีบตัวของมดลูก แพทย์จะสามารถบอกได้ว่าทารกสามารถรับมือกับสภาวะตึงเครียดของการบีบตัวของมดลูก นั้นได้ดีเพียงใด

Contraction Stress Test จะทำเมื่อใด

◦เมื่อ Nonstress Test ได้ผล Nonreactive
◦เมื่อผลของการตรวจ Biophysical profile ได้คะแนนต่ำ
◦เมื่อแพทย์สงสัยว่าทารกอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูง
การตรวจ Contraction Stress Test แพทย์จะวัดการบีบตัวของมดลูกโดยพันก๊อซรอบผนังหน้าท้องของมารดาหัวใจของทารกจะถูกวัดจากเครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องมือจะบันทึกการเต้นของหัวใจของทารก และการบีบตัวของมดลูก ผลจะแสดงเป็นรูปกราฟสองเส้นแยกจากกัน

การแปลผล

Negative: หากในระหว่างการตรวจไม่มีการลดลงของการเต้นของหัวใจของทารก แสดงว่าทารกมีสุขภาพดี

Positive: หากในระหว่างการตรวจมีการลดลงของการเต้นของหัวใจของทารก แสดงว่าทารกมีความผิดปกติบางอย่าง

หลังจากการตรวจ Contraction Stress Test จะต้องมาตรวจซ้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับผลการตรวจ หากผล Positive มารดาอาจจำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล หากทารกมีสุขภาพไม่แข็งแร็งโดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้แพทย์อาจแนะนำให้ทำการคลอดก่อนกำหนดโดยเร็วที่สุด

ความเสี่ยงของการทำ Contraction Stress Test อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดดังนั้นจึงไม่ทำในรายที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

แพทย์จะไม่ทำการตรวจ Contraction Stress Test ในกรณีต่อไปนี้

◦เคยมีการผ่าตัดคลอดโดยลงมีดในแนวตั้ง
◦อาจทำให้รกลอกตัวจากมดลูกดังนั้นจะไม่ทำในกรณีที่สงสัยว่ารกอาจลอกตัวก่อนกำหนด
◦จะไม่ตรวจในทารกแฝด
◦ในรายที่รกเกาะต่ำเพราะจะทำให้มีเลือดออก




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2553
1 comments
Last Update : 5 สิงหาคม 2553 10:25:21 น.
Counter : 744 Pageviews.

 

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 1779106 30 มีนาคม 2558 17:00:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


DR.TONGTIS
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




• B.Sc. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1974-1978.
• M.D. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1979-1980.
• Diploma Board of Obstetrics and Gynecology. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1981-1983.
• Postdocteral Fellow Training. Queen's Mother Hospital, Glasgow Scotland.
• Postdocteral Fellow Training.King's College Hospital, London. UK.
• Postdocteral Fellow Training. Department of Obstetrics and Gynecology and Department of Radiology. John Hopkins Hospital, John Hopkins University.
[Add DR.TONGTIS's blog to your web]