<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
3 สิงหาคม 2553

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ี่ 6

พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์

เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 24 ทารกจะมีความยาวประมาณ 13 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 2 ปอนด์ และอวัยวะต่างๆได้มีการพัฒนาไปจนเกือบสมบูรณ์แล้ว
ใบหน้าเล็กๆและเรียว ทำให้ดูตาโต และเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 22 - 24 เปลือกตาเริ่มที่จะเปิดออกได้ ทารกจะสามารถลืมตาได้แล้ว และมีขนคิ้วขึ้นบางๆ
หากในเดือนนี้คุณได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ คุณอาจกำลังพยายามนึกถึงคนในครอบครัวว่าทารกจะคล้ายกับใคร แต่อย่าเพิ่งกังวลเพราะหน้าตาจะยังเปลี่ยนไปอีกมากกว่าจะคลอด
ผิวหนังของทารกยังคงบางมาก แต่ตอนนี้ไม่สามารถมองทะลุลงไปเห็นเครือข่ายเส้นเลือดได้แล้ว ผิวหนังของทารกตอนนี้จะเห็นเป็นสีออกแดงระเรื่อ และอาจจะดูเหี่ยวย่นเนื่องจากยังมีไขมันมาสะสมตามร่างกายไม่มากนัก และต่อมเหงื่อได้มีการพัฒนาขึ้นภายใต้ผิวหนัง
นิ้วมือกำลังพัฒนา ทารกของคุณมีลายนิ้วมือแล้วในตอนนี้เช่นเดียวกับนิ้วเท้า
ทารกจะถูกล้อมรอบด้วยน้ำคร่ำ 500 มิลลิลิตร ซึ่งจะช่วยให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและช่วยให้ทารกสามารถพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคล้ายกับการซ้อมเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกาย หรือบิดขี้เกียจยืดเส้นยืดสายให้หายเมื่อย ทารกสามารถเตะ ดูดนิ้ว หรือ อ้าปาก นอกจากนี้ทารกของคุณสามารถไอหรือสะอึกได้ด้วย แต่ไม่ต้องกังวลเพราะทารกสามารถช่วยตัวเองได้โดยกลืนน้ำคร่ำอุ่นๆเข้าไป เพราะนี่เป็นกลไกของธรรมชาติ
ทารกยังสามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวหรือเสียงดังจากภายนอกได้ กระดูกในหูของทารกเริ่มแข็งขึ้นและช่วยให้สามารถได้ยินเสียงต่างๆได้ดีขึ้น ทารกสามารถแยกเสียงที่เกิดขึ้นจากภายในมดลูกและจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ดังนั้น หากจะเริ่มพูดคุยกับลูกในตอนนี้ลูกก็จะสามารถจดจำเสียงของคุณได้ ว่าที่คุณพ่อก็ควรเริ่มพูดคุยกับลูกด้วยเช่นกัน มีรายงานการวิจัยว่าเสียงทุ้มต่ำของคุณพ่อจะช่วยให้ลูกได้ยินได้ง่ายกว่าเสียงแหลมสูงของแม่
บางทีการที่คุณมีกิจกรรมมากในแต่ละวันอาจทำให้พลาดโอกาสดีๆไป ควรหาเวลาพักบ้าง คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของทารกว่ากำลังทำอะไรอยู่ภายในนั้น บางทีคุณจะรู้สึกได้ว่าการเคลื่อนไหว หมุนตัว เตะ หรือชก เกิดจากอวัยวะใดของทารก ส่วนที่นูนขึ้นมาตรงหน้าท้องของคุณคือส่วนไหน อาจทำให้คุณสามารถจินตนาการถึงกิจกรรมต่างๆของทารกได้
อัตราการเต้นของหัวใจของทารกในขณะที่จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 140 – 150 ครั้ง/นาที และตอนนี้อวัยวะทั้งหมดยกเว้นปอดสามารถทำงานได้แล้ว
หากเราได้ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองของทารกเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์นั้น เราจะพบว่าเซลล์สมองได้มีการพัฒนาส่วนที่รับรู้สติและทารกจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอกมากขึ้น และได้มีการพัฒนาวงจรของการหลับและการตื่น
ปอดของทารกตอนนี้ยังเต็มไปด้วยน้ำคร่ำ และยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไปอีกหลายสัปดาห์จนกว่าถุงลมปอดเล็กๆนั้นจะสามารถทำการแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้
ระบบทางเดินอาหารมีการพัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำคร่ำได้และทำงานอย่างเป็นระบบ ทารกมีการกลืนน้ำคร่ำเข้าไปและขับถ่ายออกมาหมุนเวียนเป็นน้ำคร่ำใหม่

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่

ร่างกายคุณแม่จะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดด้วย มดลูกจะมีการซ้อมหดรัดตัว ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่า Braxton Hicks contractions ซึ่งกล้ามเนื้อมดลูกจะมีการหดรัดตัวแข็งขึ้นประมาณ 2 -3 วินาที แต่อาจจะเป็นได้บ่อยๆ และคุณแม่สามารถรับรู้ได้ถึงการทำงานของกล้ามเนื้อนั้นด้วย
ตอนนี้ตำแหน่งของยอดมดลูกจะอยู่เหนือสะดือคุณแม่ขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อทารกมีการเคลื่อนไหวร่างกายบางครั้งคุณแม่พอจะเดาได้ว่าส่วนที่นูนขึ้นมาที่หน้าท้องนั้นเป็นเท้าหรือขา คุณแม่อาจรู้สึกคัดตึงเต้านมมากขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพื่อเตรียมเต้านมให้พร้อมสำหรับการให้นมบุตรภายหลังการคลอดทำให้เต้านมยังขยายโตขึ้นเรื่อยๆ ในสัปดาห์ที่ 24 นี้คุณแม่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อยกทรงอีกครั้ง ในระยะนี้จะมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว เนื่องจากร่างกายมีการสะสมน้ำไว้มาก และคุณแม่อาจรู้สึกร้อนได้บ่อยๆในช่วงนี้
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่
อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กนั้นจำเป็นสำหรับระบบไหลเวียนเลือดของทารกและของคุณแม่ด้วย คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ โดยรับประทานเนื้อแดง เป็ด ไก่ ผักใบเขียวต่างๆ และธัญพืชที่มีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ควรรับประทานผลไม้ซึ่งมีวิตามิน C สูงด้วย เนื่องจาก Vitamin C นั้นช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก
อยแตกของผิวหนังบริเวณหน้าท้องอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผิวหนังมีการขยายออกอย่างรวดเร็วและถูกดึงให้ตึงมากขึ้นโดยขนาดของมดลูกที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณแม่ควรทาครีมบำรุงผิวบ่อยๆจะช่วยลดการแตกของผิวหนังและลดอาการคันได้
รองเท้าของคุณแม่ตอนนี้อาจจะไม่พอดีกับเท้าอีกต่อไป คุณแม่อาจไม่เชื่อว่าคุณต้องใส่รองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกเบอร์เลยทีเดียว เท้าของคุณแม่จะบวมขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้มีน้ำอยู่ในเซลล์มากขึ้น ดังนั้นควรมองหารองเท้าคู่ใหม่ที่ใส่สบายกว่า และลืมรองเท้าส้นสูงไปเลย หารองเท้าที่คุณแม่เดินได้สะดวก และไม่สะดุดหกล้มได้ง่ายๆก็จะปลอดภัยมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ภาวะครรภ์เป็นพิษ Preeclampsia

เป็นภาวะที่มีความดันโลหิตสูง เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นครรภ์แรก และมักพบหลังจากอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ อาการของ preeclampsia ได้แก่ น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (เกิดจากน้ำในร่างกายไม่ใช่จากการเจริญเติบโตของทารก) ข้อต่างๆ รวมถึงมือและเท้าบวม ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูงขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 mmhq ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย Preeclampsia นั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่สามารถรักษาได้ เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นคุณแม่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จะต้องนอนพักอยู่บนเตียงตลอดเวลา ต้องได้รับการดูแลเฝ้าระวังระดับของโซเดียมในร่างกาย และจะต้องได้รับยาที่จะช่วยลดความดันโลหิตลงมา ซึ่งมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะนี้ แต่คุณหมอจำเป็นจะต้องตรวจดูอย่างละเอียดก่อนที่จะกลายเป็นภาวะ Eclampsia เพราะถ้าหากคุณมีความดันโลหิตสูงถึง 160/110 mmhq หรือมากกว่าจะทำให้เกิดอันตรายกับระบบประสาทได้ เช่น ทำให้ชัก โคม่า ทำให้ไตล้มเหลวและการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว แต่อาการอย่างรุนแรงนี้เกิดขึ้นได้น้อยมากเมื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์ หากเกิดภาวะนี้ในการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 3 แพทย์อาจแนะนำให้สิ้นสุดการตั้งครรภ์ โดยทำการผ่าตัดคลอด ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Preeclampsia ที่ไม่รุนแรงบางครั้งเมื่อคลอดแล้วระดับของความดันโลหิตจะลดลงสู่ปกติได้โดยเร็ว บางทีในวันแรกที่คลอดเลยด้วยซ้ำ

ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด

โดยปกติแล้วในระหว่างการตั้งครรภ์ปากมดลูกจะปิดอยู่เสมอจนกระทั่งเริ่มเจ็บครรภ์จะคลอด ปากมดลูกจึงจะเริ่มเปิดออก ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนดเกิดจากการที่ทารกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นและมีแรงกดดันลงไปที่ปากมดลูกซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งขึ้นได้ การแท้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ แต่ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุของการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ เนื่องมาจากทารกยังไม่พร้อมที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกภายนอก ถ้าปากมดลูกเปิดโดยที่ไม่มีการบีบรัดตัวของมดลูกแพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจภายใน การมีเลือดออกทางช่องคลอดก็เป็นอาการแสดงของการที่กำลังจะแท้งซึ่งเกิดจากปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด
ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม เคยได้รับการผ่าตัด การแท้ง การที่ตั้งครรภ์โดยมีจำนวนทารกมากกว่าหนึ่งคน
การที่ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนดนั้นถือเป็นกรณีที่ฉุกเฉินจะต้องมีการเย็บผูกปากมดลูกเอาไว้เพื่อป้องกันการแท้ง

การเย็บผูกปากมดลูก (Cervical Cerclage)

การเย็บผูกปากมดลูก เป็นวิธีการที่จะช่วยให้ปากมดลูกปิดอยู่เสมอระหว่างที่ตั้งครรภ์ ปากมดลูกเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุดของมดลูกและต่อกับช่องคลอด ระหว่างที่มีการตั้งครรภ์ปกติ ปากมดลูกจะต้องปิดอยู่จนกระทั่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 3
การเย็บผูกปากมดลูกใช้เพื่อป้องกันการแท้ง หรือป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หากมีการเปิดของปากมดลูกก่อนกำหนดโดยไม่มีการคลอด การเย็บผูกปากมดลูกไว้จะช่วยให้ ปากมดลูกปิดและเด็กสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ การเย็บผูกปากมดลูกจะใช้เมื่อผู้ป่วยมีประวัติว่าเคยแท้งในระยะไตรมาสที่ 2 หรือ 3 มาก่อน หรือตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์
หากผู้ป่วยมีประวัติว่าเคยแท้งในระยะไตรมาสที่ 2 แพทย์ก็จะทำการเย็บผูกปากมดลูก ตั้งแต่เริ่มระยะไตรมาสที่ 2 ในกรณีอื่นๆก็จะทำการเย็บผูกปากมดลูกตามความเห็นของแพทย์ ที่จะช่วยทำให้ปากมดลูกแข็งแรงขึ้น และสามารถรับน้ำหนักของการตั้งครรภ์ได้ดี
ในการเย็บผูกปากมดลูก ผู้ป่วยเพียงงดน้ำและอาหารนานประมาณ 6 ชั่วโมงล่วงหน้าก่อนทำการผูกปากมดลูก ผู้ป่วยจะได้รับยานอนหลับชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด หรือบล๊อคไขสันหลังเพื่อระงับความรู้สึก แพทย์จะใช้เชือกเส้นเล็กๆเย็บรอบปากมดลูก เมื่อเย็บรอบแล้วก็จะดึงและผูกให้แน่น เพื่อให้ปากมดลูกปิดสนิท หลังการเย็บผูกปากมดลูก ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักในโรงพยาบาลอย่างน้อยหลายชั่วโมงหรือค้างที่โรงพยาบาล แพทย์จะให้ยาเพื่อลดโอกาสเกิดมดลูกบีบตัวจากการเย็บผูกปากมดลูก
โดยปกติแพทย์จะทำการตัดเชือกออกเมื่ออายุครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ หากมีการบีบตัวของมดลูกหรือน้ำเดินก่อนกำหนดต้องรีบมาพบแพทย์
การเย็บผูกปากมดลูกช่วยป้องกันการแท้ง ป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 85 – 90 % และความเสี่ยงของการเย็บผูกปากมดลูก ได้แก่ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ติดเชื้อ และถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด

มีเลือดออก

การมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นในช่วงใดก็ตามจะต้องรายงานแพทย์ให้ทราบ ในช่วงของไตรมาสที่ 2 การมีเลือดออกทางช่องคลอดมักมีสาเหตุมาจาก รกเกาะต่ำ เมื่อตัวอ่อนไปฝังตัวที่ส่วนล่างของมดลูกใกล้กับปากมดลูกทำให้รกเกาะอยู่ใกล้ หรือปิดปากมดลูกไปเลย เป็นสาเหตุให้มีเลือดออก และจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด รกเกาะต่ำสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ หากคุณแม่มีรกเกาะต่ำและเป็นสาเหตุให้มีเลือดออก คุณแม่อาจจำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล อาจต้องให้ธาตุเหล็กและวิตามินซีเพิ่มเติม และถ้าจำเป็นก็ต้องให้เลือดด้วย จะเป็นการดีกว่าและปลอดภัยต่อทารกหากอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ซึ่งการผ่าตัดคลอดก็สามารถกระทำได้อย่างปลอดภัย
หากมีเลือดออกและมดลูกมีการหดรัดตัวอาจเป็นอาการแสดงของรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน หมายถึง รกมีการลอกตัวออกจากผนังมดลูกต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน

การตรวจต่าง ๆ

การตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ


อัลตร้าซาวด์นั้นเป็นคลื่นเสียงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความถี่สูงเกินกว่า 20,000 Hz คลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์นี้ปัจจุบันได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย รวมทั้งในทางการแพทย์ ซึ่งได้พัฒนาอัลตร้าซาวด์มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ จนกลายมาเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มหาศาลสำหรับแพทย์และผู้ป่วย หลักการทำงานของเครื่องอัลตร้าซาวด์ก็คือ เครื่องจะทำการส่งคลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ออกไปจากหัวตรวจ ผ่านผิวหนังลงไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในร่างกายแล้วสะท้อนกลับออกมา แต่เนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายของเรานั้นมีความสามารถในการดูดซับคลื่นอัลตร้าซาวด์ไม่เท่ากันจึงสะท้อนคลื่นกลับออกมาแตกต่างกัน หัวตรวจจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาในระดับต่างๆ และคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครื่องอัลตร้าซาวด์จะทำการประมวลสัญญาณที่สะท้อนกลับมาและสร้างเป็นภาพขึ้นมาได้
การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์นี้ นอกจากสามารถตรวจดูว่ามีความผิดปกติใดๆในร่างกายของผู้ป่วยได้แล้ว ยังสามารถตรวจดูทารกที่อยู่ในท้องของคุณแม่ได้อีกด้วยว่ามีสุขภาพสมบูรณแข็งแรงหรือไม่ แตกต่างจากในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอัลตร้าซาวด์ ซึ่งคุณหมอจะต้องใช้มือคลำๆดูว่าทารกโตขึ้นหรือไม่ในแต่ละเดือนร่วมกับใช้หูฟังดูว่าทารกที่อยู่ในท้องของคุณแม่นั้นมีการเต้นของหัวใจเป็นปกติหรือไม่ แต่ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ คุณหมอจะสามารถมองเห็นตัวของทารกได้อย่างชัดเจน สามารถวัดขนาดได้ว่าตอนนี้ทารกตัวยาวกี่เซนติเมตร สามารถเห็นการเต้นของหัวใจ และบอกได้เลยว่าทารกมีความผิดปกติของรูปร่างหรือไม่ มีหน้าตาเป็นอย่างไร อ้วนหรือผอม เป็นเพศชายหรือเพศหญิง
ในปัจจุบัน เครื่องอัลตร้าซาวด์นั้นมีการทำงานที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เครื่องอัลตร้าซาวด์เมื่อ 2 3 ปีก่อนสามารถมองเห็นภาพทารกได้แบบสองมิติ คือ ภาพที่มีความกว้างและความยาว หรือภาพตัดขวางตามแนวของคลื่นเสียงที่ถูกส่งออกไป แต่ในเครื่องอัลตร้าซาวด์สมัยใหม่นั้นเครื่องจะเก็บภาพสองมิติหลายๆภาพตามแนวที่หัวตรวจเคลื่อนผ่านไปและนำมาประกอบกันขึ้นเป็นภาพสามมิติซึ่งมีความลึกของภาพ ทำให้ดูเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นเครื่องตรวจอัลตร้าซาวด์บางรุ่นยังสามารถเก็บภาพสามมิติแต่ละภาพไว้แล้วนำมาแสดงผลเรียงต่อกันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับภาพยนต์ จึงเรียกชื่อว่าอัลตร้าซาวด์สี่มิติ โดยที่มิติที่สี่คือ “เวลา” นั่นเอง




Create Date : 03 สิงหาคม 2553
Last Update : 3 สิงหาคม 2553 10:19:13 น. 2 comments
Counter : 508 Pageviews.  

 
ตอนนี้ 29 สัปดาห์แล้ว จะรออ่านต่อนะคะ ขอบคุณมากค่ะ


โดย: ป้าจะอิ๊บ IP: 114.128.204.236 วันที่: 3 สิงหาคม 2553 เวลา:11:31:13 น.  

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 1779106 วันที่: 30 มีนาคม 2558 เวลา:17:00:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.TONGTIS
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




• B.Sc. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1974-1978.
• M.D. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1979-1980.
• Diploma Board of Obstetrics and Gynecology. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1981-1983.
• Postdocteral Fellow Training. Queen's Mother Hospital, Glasgow Scotland.
• Postdocteral Fellow Training.King's College Hospital, London. UK.
• Postdocteral Fellow Training. Department of Obstetrics and Gynecology and Department of Radiology. John Hopkins Hospital, John Hopkins University.
[Add DR.TONGTIS's blog to your web]