I AM SOMEONE
<<
เมษายน 2564
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
9 เมษายน 2564

ฟังเพลงประสานเสียงฉบับอีสาน กับ “อีสานคอรัส”

        เมื่อปลายเดือนมีนาคม ปี 2559 ในระหว่างที่บัณฑิตและญาติบัณฑิตรออย่างใจจดจ่อก่อนเริ่มพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพลงประสานเสียง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ก็ดังกระหึ่มขึ้นท่ามกลางแดดร้อนระอุ ทุกคนที่ได้ยินต่างเหลียวไปมองหันไปฟังอย่างตั้งใจ เหมือนมีพลังบางอย่างที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเย็นใจ บางคนขนลุกเกลียว และบางคนถึงกับน้ำตาไหลอย่างไม่รู้ตัว
 
        ก่อนจะมาเป็นอีสานคอรัส
ปี 2554 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดโครงการประกวดการขับร้องเพลงประสานเสียงอุดมศึกษาเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งนำโดย อ. ดร.ณรงรัชช์ วรมิตรไมตรี ได้ส่งทีมเข้าประกวดสองทีม หนึ่งในนั้นคือ “อีสานคอรัส” ซึ่งเน้นเพลงแบบลูกทุ่งอีสานหรือหมอลำเป็นหลัก ผลการประกวดระดับภูมิภาคทั้งสองทีมกอดคอกันเข้ารอบ โดยวงอีสานคอรัสได้รับรางวัลชนะเลิศ
 
          แม้ว่าในระดับชาติจะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่การประกวดครั้งนั้นก็ชนะใจผู้ชมในหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอย่างล้นหลาม เพราะความแตกต่างอย่างมีสไตล์ของเพลงชุด “อีสานเมดเล่ย์” ที่นำเอา 5 บทเพลงยอดฮิตในอดีตมาเรียงร้อยเป็นชุดอย่างสุดสนุก ได้แก่เพลง “อีสานบ้านเฮา” “อีสานลำเพลิน” “ลำนำอีสาน” “ตามน้องกลับสารคาม” และบทกลอนลำ “เต้ยลา”
 
          ขุดเพลงเก่ามาเล่าใหม่
          เสน่ห์ของการเรียบเรียงเสียงประสานในแบบฉบับของอีสานคอรัส คือ การนำเอาเพลงเก่าที่คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักหรือคนรุ่นเก่าใกล้จะลืมเลือนมาย้ำเตือนความทรงจำกันใหม่ โดยเฉพาะเพลง “อีสานบ้านเฮา” หรือ “อีสานบ้านของเฮา” ที่เปรียบเสมือนเป็นเพลงชาติของคนอีสานหรือตัวแทนแห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ และผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า “มหาปราชญ์แห่งท้องทุ่งอีสาน” ด้วยการใช้สำนวนภาษาประดุจวรรณกรรมชิ้นเอกที่สามารถสื่อสะท้อนถึงความเป็นอีสานได้อย่างชัดแจ้ง และเมื่อนำมาร้องบรรเลงในสไตล์อีสานคอรัสก็ทำให้กลายเป็นเพลงร่วมสมัยอีกครั้ง
 
“การเอาเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ ทำให้เพลงมีความแปลกใหม่ ฟังง่าย และสามารถเข้าถึงจิตใจผู้ฟังคนอีสานได้หลายวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่” อ.ดร.ณรงรัชช์กล่าว
 
            ใครร้องก็ได้ เพราะมันเป็นสไตล์เพลง
            หากถามถึงสมาชิกในวงอีสานคอรัสว่าเป็นใครบ้าง อาจารย์ผู้ควบคุมวงตอบสั้นๆ ว่า “ใครร้องก็ได้” ขอแค่มีคุณสมบัติของนักร้องที่ร้องเสียงไม่เพี้ยน ถูกคีย์ และร้องเพลงสำเนียงอีสานได้ก็เข้าร่วมวงเป็นอีสานคอรัสได้ทุกคน เพราะอีสานคอรัสไม่ใช่แค่ชื่อวงเท่านั้น แต่เป็นสไตล์การร้องและเรียบเรียงเสียงประสานให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งการนำเอาเพลงลูกทุ่งอีสานและหมอลำต่างๆ ของอีสานมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย เมื่อแต่ละรุ่นจบไป ก็มีเด็กรุ่นใหม่มาแทน ฝึกฝนกันใหม่ เมื่อมีชื่อเสียงหรือได้รางวัลก็ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ อยากเข้ามาร่วมวงมากขึ้น
 
          ผู้ควบคุมวงยังเล่าต่ออีกว่า อีสานคอรัสเป็นวงคอรัสที่เน้นความเป็นอีสาน หรืออาจจะเรียกว่า อีสานประยุกต์ก็ได้ เพราะจะเน้นเอาเพลงอีสานที่ได้รับความนิยมทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงขับร้องประสานเสียง โดยใช้เทคนิคการร้องทั้งแบบคลาสิกตามแบบสากลนิยม และแบบหมอลำอีสาน หรือสไตล์การร้องลูกทุ่งมาใช้ในการขับร้อง นอกจากนี้ยังมีการขับร้องแบบใช้เสียงมนุษย์เลียนแบบเสียงเครื่องดนตรี เช่น ทำเสียงให้เหมือนเสียงแคน ฆ้อง กลอง ฉาบ หรืออาจเป็นการผสมผสานการขับร้องแบบวงคอรัส (Choir) กับ วงอะคัพเพล่า (A Cappella) มาเรียงร้อยในการเรียบเรียงเสียงประสานด้วย

            หนึ่งในความภูมิใจของชาว มมส
          จะว่าไปแล้ว วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ของมมส ก็มีความสามารถไม่แพ้ที่ใด รวมทั้งผลงานของวงอีสานคอรัสเช่นกัน นอกจากได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคและเป็นตัวแทนแข่งขันในระดับชาติรอบสุดท้าย ในรายการแข่งขันโครงการประกวดการขับร้องเพลงประสานเสียงอุดมศึกษา เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 แล้ว ยังเคยบันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อออกอากาศในรายการทีวีจออีสาน ทางไทยพีบีเอส และได้รับเกียรติให้ขึ้นแสดงในงานครบรอบ 9 ปีครอบครัวข่าว 3 ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ด้วย
         
ทุกๆ รายการที่มีการแชร์คลิปการแสดงในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ทำให้เพลงประสานเสียงสไตล์อีสานคอรัสได้รับความสนใจจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงเท่านั้น แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาว มมส เป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงนักร้องนักดนตรีในวง และคนเบื้องหลังอย่าง อ.ดร.ณรงรัชช์ วรมิตรไมตรี ด้วย ซึ่งหากไม่ได้พวกเขามาช่วยให้กำเนิดวงอีสานคอรัส ก็อาจทำให้พวกเราลืมเพลงเก่าๆ เหล่านี้ไปแล้วก็เป็นได้
 
          อ.ดร.ณรงรัชช์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ในอนาคตอาจจะมีการแต่งเพลงในแบบฉบับของ “อีสานคอรัส” ขึ้นมาใหม่ หรือนำเพลงลูกทุ่งอีสานที่ได้รับความนิยมแล้วนำมาเรียบเรียงใหม่อย่าง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” เพื่อนำไปแสดงในโอกาสต่างๆ และหากมีผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน วงอีสานคอรัส อาจมีโอกาสได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมอีสานให้ยั่งยืน”

          เช่นเดียวกับเราที่หวังว่าคงมีคนเห็นความสำคัญและให้ความสนใจไม่เพียงการแชร์คลิปการแสดงของอีสานคอรัสเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่หวังจะได้เห็นการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความรักในวัฒนธรรมถิ่นฐานบ้านเกิด โดยใช้การขับร้องประสานเสียงมาเป็นสื่อกลางระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมตะวันตก เชื่อมต่อวัฒนธรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ และกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติไทยในที่สุด

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก ณรงค์รัชช์ วรมิตรไมตรี

สัมภาษณ์และเรียบเรียงเมื่อปี 2560 


Create Date : 09 เมษายน 2564
Last Update : 9 เมษายน 2564 15:00:08 น. 0 comments
Counter : 866 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Alex on the rock
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




Blog นี้เป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว ผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนใน Blog กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพและเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของเจ้าของ Blog ด้วย หากผู้อ่านที่แสดงความคิดเห็นไม่อาจจะปฏิบัติตามนี้ได้ เจ้าของ Blog สามารถลบความคิดเห็นของท่านโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ
[Add Alex on the rock's blog to your web]