. . เ ส รี ภ า พ แ ห่ ง ค ว า ม คิ ด . .
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
27 มกราคม 2553
 
 
ป ช ป . ไ ม่ แ ก้ ร ธ น . . .



ปชป.ไม่แก้รธน.
ขู่นัก!มาร์คหักพรรคร่วมภท.
สวนฟรีโหวตซักฟอก
ไทยโพสต์ 27 มกราคม 2553

ประชาธิปัตย์ปิดบัญชีไม่ร่วมสังฆกรรมชำเรารัฐธรรมนูญ แต่กว่าจะคลอดมติ 82 เสียงต่อ 48 เสียง "เทพเทือก" เลือดสาด หลัง กก.บห.ไม่กล้าตัดสินส่งคืนที่ประชุม ส.ส.พรรค ซัดกันนัว "สุเทพ" ทวงบุญคุณบากหน้าดัน "มาร์ค" เป็นนายกฯ สำเร็จ ต้องยอมพรรคร่วมเพื่อต่อสู้กับ "ทักษิณ" แต่ถ้าไม่ให้ชิงยุบสภาก่อนถูกซักฟอก "ชวน" กรีดไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ตาย แต่พรรคต้องมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เข้ามาร่วมโกงทั้งโคตร "อภิสิทธิ์" เผย หากพรรคร่วมรัฐบาลจะตัดสินใจว่าไม่เดินไปด้วยกันก็เป็นสิทธิ ไม่บังคับ ลั่นไม่กลัวยุบสภา แต่ตราบใดที่ยังอยู่เป็นนายกฯ ใครมาขู่อยู่เรื่อยไม่ได้ พรรคร่วมเต้นผางอย่ากะพริบตา "ชวรัตน์" สวนซักฟอกเจอฟรีโหวต "เนวิน" อึดอัด ทิ้งบอมบ์นายกฯ ตัวจริงเพิ่งกลับจากเมืองนอก

เมื่อวันอังคาร พรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อหาข้อยุติว่าจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นกับ 4 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หลังที่ประชุม ส.ส.พรรคที่จังหวัดกระบี่มีความขัดแย้งทางความคิดและไม่สามารถหาข้อสรุปได้

การประชุม กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 13.30 น. หารือและพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 ว่าด้วยเขตเลือกตั้ง ห ลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลได้กดดันให้พรรคประชาธิปัตย์เร่งแก้ไขในประเด็นนนี้ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ใช้เวลาเพียง 20 นาทีการประชุมก็ยุติลง

ที่ประชุมไม่มีมติใดๆ ที่จะร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์เป็นผู้เสนอในที่ประชุมเพื่อขอให้นำเรื่องนี้เข้าหารือต่อที่ประชุมใหญ่ ส.ส.อีกครั้งในเวลา 14.00 น.

มีรายงานว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้พูดในที่ประชุมนานกว่า 10 นาที สรุปใจความสำคัญว่า ในที่ประชุมที่ผ่านมาก็ได้สะท้อนมุมมองของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนแล้ว และเราเองก็ไม่ควรมีมติใดๆ เพราะเป็นเสียงส่วนหนึ่งจึงขอเสนอให้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ ส.ส.ของพรรคอีกครั้ง โดยเสียงส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วย

หลังการประชุม นายอภิสิทธิ์เดินออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยกล่าวสั้นๆ ว่า ให้รอฟังมติของที่ประชุม ส.ส.ว่าจะฟรีโหวตหรือไม่

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลประชุม กก.บห.ว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละพรรคเป็นสิ่งที่ทำได้ตามระบอบรัฐสภา ซึ่งเข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้กรรมการบริหารพรรคเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การลงคะแนนเป็นเรื่องของรัฐสภาโดยรวม การลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทางกรรมการบริหารพรรคจะให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าการประชุมซึ่งมีกระแสข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและเลขาธิการพรรค ได้ล็อบบี้กรรมการบริหารพรรคในสายของตนเองซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ไว้แล้ว เพื่อโหวตในที่ประชุม แต่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเขตเลือกตั้ง

โดยมี ส.ส.ภาคกลางบางคนระบุว่า หากเสียงของคณะกรรมการบริหารพรรคออกมาไม่สอดคล้องกับความเห็นของ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคที่ได้แสดงเหตุผลในที่สัมมนาที่ จ.กระบี่ คือ ไม่เอาเขตเลือกตั้งเล็กแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ก็จะมีการรวบรวมรายชื่อของ ส.ส.ส่วนใหญ่เพื่อเสนอขับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะตัดสินใจโดยไม่รับฟังเหตุผลของสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรค ที่ได้หารือและเห็นพ้องในเรื่องเขตเลือกตั้ง โดยให้คงแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ตามแนวคิดของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค

ประชุม ส.ส.เดือด

การประชุม ส.ส.เริ่มขึ้นเวลา 14.30 น. หลังจากที่สายใกล้ชิดของนายบัญญัติได้รับรายงานว่าอาจจะมีการแพ้โหวต ทำให้มีสมาชิกสายนายบัญญัติไม่เข้าร่วมประชุมร่วม 10-20 คน โดยพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกทั้งหมด 172 เสียง และเข้าร่วมประชุม 140 คน โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

ระหว่างการประชุม นายสุเทพได้กล่าวกับที่ประชุมว่า ขอให้ทุกคนคำนึงถึงความรู้สึกว่าขณะนี้เรากำลังต่อสู้กับใคร และให้คำนึงถึงประเทศชาติจะอยู่อย่างไร เราต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเรากำลังต่อสู้กับระบอบทักษิณ เราต้องทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลสามารถต่อสู้กับระบอบทักษิณได้ และต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคร่วมด้วย

"ช่วงที่ผมไปเจรจากับพรรคร่วมไปในหน้าตาของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่หน้าของนายสุเทพเพียงคนเดียว ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีใครคาดคิดว่านายสุเทพจะทำได้ จนสามารถดันอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ ไม่มีใครคิดจริงๆ แต่วันนี้เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเขามาทวงสัญญาเราไม่ปฏิบัติตาม ถ้าเราไม่ยอมเขาก็อาจจะตัดสินใจไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการหยิบกยกเอารัฐธรรมนูญปี 40 รวมถึงไม่ยกมือโหวตในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนตัวก็หนักใจกับเรื่องนี้ แม้ว่าพรรคจะเคยประกาศจุดยืนก็ตาม แต่เมื่อเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เราก็พร้อมที่จะหาทางออกเพื่อสู้กับระบบทักษิณ"

นายสุเทพกล่าวยังย้ำว่า ถ้าเราไม่แก้ตามที่พรรคร่วมเสนอมาเขาก็พร้อมจะไม่เอาเราเหมือนกัน การทำงานร่วมกันก็จะไม่ค่อยได้ผล จะมีการขัดแข้งขัดขา ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ขอให้ชิงยุบสภาไปก่อนจะดีเสียก่อน เพราะถ้าเกิดการอภิปรายฯ และเกิดพรรคร่วมไม่ยกมือให้ แล้วถ้ามีการสวนมติไม่หนุนนายกฯ ตนก็ยอมรับไม่ได้ ไม่หนุนนายอภิสิทธิ์เราก็หน้าแตกกลางสภา ชิงยุบไปก่อนไม่ดีกว่าหรือถ้ามีการเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกฯ ตนก็รับไม่ได้ แต่ถามว่าถ้ายุบสภาในเวลานี้พรรคไหนบ้างมีความพร้อม ก็ไม่พร้อมกันทุกพรรค ในเมื่อเราไม่ต้องการอย่างนั้นทำไมไม่ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญไปก่อน เพราะตนเชื่อมั่นว่าคะแนนนิยมของนายกฯ และรัฐบาลจะดีวันดีคืน ดูจากผลโพลล์ที่ออกมาก็เห็นแนวโน้มแล้ว ขอให้เราร่วมกันอยู่ต่ออีก 2 ปีตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ แล้วค่อยไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้าร่วมกัน

เขายังพูดในที่ประชุมพรรคว่า ในส่วนของทหาร กองทัพ และข้าราชการประจำ เขาก็ชื่นชมท่าทีของนายกฯ ว่าไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการใดๆ และผลงานจากโครงการของรัฐบาก็เริ่มออกมาชัดเจน ถ้าเรายิ่งอยู่นาน ฝ่ายค้านต่างหากต้องกลัวบารมีเรา ถ้าเป็นเช่นนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็จะกลับมายาก

จากนั้นนายชวนลุกขึ้นเดินไปพูดหน้าเวทีว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากการทุจริตการซื้อเสียง และการโกงชาติบ้านเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขจากเขตเดียวเรียงเบอร์เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวแล้วจะทำให้ชาติอยู่รอดได้ ว่าจะเป็นเขตเล็กหรือใหญ่ก็สามารถทำให้เราอยู่รอดได้อีก 1 ปีจนครบ 2 ปี แต่เราต้องรู้จักหน้าที่ของนักการเมืองว่าเรากำลังต่อสู้กับศรัทธาของประชาชน ไม่ต้องห่วงว่าเราจะอยู่ยาวหรือสั้น ถ้ารัฐบาลอยู่รอดได้ แต่ประชาธิปัตย์เสียศักดิ์ศรี และเสียจุดยืนเราจะเป็นรัฐบาลไปทำไม ถือว่าไม่คุ้มค่า ถ้าเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเราก็ไม่ตาย เราเคยเป็นพรรคฝ่ายค้านมาแล้วยาวนานไม่เห็นว่าจะมีใครตายเลย

"ชวน"เมินปัญหาส่วนตัว"เติ้ง-เน"

นายชวนกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาส่วนตัวของนายบรรหาร ศิลปอาชา และนายเนวิน ชิดชอบ เราจะเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นปัญหาภายในพรรคไม่ได้ หน้าที่ของ ส.ส.คือช่วยรัฐบาลให้แก้ไขวิกฤติ ไม่ใช่ไปซ้ำเติมวิกฤติ

"ไม่ใช่ไปร่วมมือกับพรรคร่วมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว นั่นไม่ใช่วิกฤติของชา ติ และไม่สามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่รอดได้ เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติ ด้วยการทำให้ ส.ส.ปราศจากการทุจริตเลือกตั้งและเข้ามาโกงชาติบ้านเมือง ที่มีคนกล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคคบยาก ก็อยากจะบอกว่าถ้าขอคบเราแล้วมาทุจริต เราก็ไม่ควรคบกับเขา"

ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ด้วยการขอให้พรรคร่วมาจับมือกับประชาธิปัตย์แทน แล้วเสนอมาว่าอยากแก้มาตราใดบ้าง แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาธุรกิจการเมืองแบบโคตรโกง โกงทั้งโคตร ผลที่จะได้คือรัฐบาลได้ทำงานต่อ พรรคร่วมก็ได้ร่วมกับเรา โดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เพราะประชาชนคาดหวังให้เราเข้ามาทำงานบริหารประเทศ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อโกง ฉะนั้นความอยู่รอดของรัฐบาล และเกียรติของพรรคประชาธิปัตย์ต้องอยู่ร่วมกัน

ส่วนนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องเขตใหญ่เขตเล็กเราไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว เพราะไม่ว่าจะใช้รูปแบบการเลือกตั้งอย่างไรเราก็พร้อมที่จะสู้ และการใช้เขตเลือกตั้งใหญ่ ตนเป็นคนเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ใช้เอง เพราะคิดว่ายังมี ส.ส.ที่ดีกว่าไม่ดี ถ้าเราอยู่กับพรรคร่วมโดยยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องมีคำตอบให้กับสังคม เพราะสังคมจะตีตราเราว่าประชาธิปัตย์แก้ไขเพราะอยากเป็นรัฐบาลต่อ การที่เราเข้ามาเป็นรัฐบาล 1 ปีไม่ใช่มาเพื่อหาเงินเตรียมการเลือกตั้ง แต่เรามาเพื่อทำงาน

"มีคำกล่าวว่า ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่คบยาก แต่เราก็ไม่เคยหักหลังใคร และส่วนตัวผมเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ มีความอดทน สัญญาอะไรกับใครไว้จำได้หมด ถ้าคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นสารพิษตกค้าง การจะถอนสารพิษได้มีทางเดียวคือ ต้องเรียกคืนศรัทธาจากประชาชนให้ได้จากการเลือกตั้ง เราต้องไม่กลัวเรื่องยุบสภา เพราะไม่มีใครขู่ผมได้ ตราบใดที่ผมยังเป็นนายกฯ การเป็นรัฐบาลที่ดีเราต้องทำให้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น"

"เราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล หรือกลัวการปฏิวัติ เราต้องเป็นหลักให้บ้านเมือง แม้ทุกคนจะลงมติให้เลือกเขตใหญ่แล้วให้ผมยุบสภา ผมก็ไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรมาเพื่อยุบ หากแก้ไปแล้วก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าพรรคร่วมจะอยู่กับเราต่อไป แต่พรรคต้องรักษาจุดยืนและสุดท้ายตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าการเลือกตั้งใหม่เราไม่ใช่ผู้ชนะก็อย่าได้หวังว่าใครจะมาร่วมรัฐบาลกับเรา"

"ผมยอมรับไม่ได้ที่จะเป็นรัฐบาลที่พรรคร่วมคอยกดดัน ข่มขู่ หากเขาขู่ได้ก็จะขู่เรื่อยไป หากเป็นรัฐบาลในสภาพการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้สมาชิกพรรคตัดสินใจให้ดีอีกครั้ง อย่าไปกลัว หรืออย่าไปสนแรงกดดันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขู่ยุบสภา หรือยกมือโหวตไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริง เราต้องยึดมั่นในหลักการ ถ้าประชาธิปัตย์ไม่เป็นหลักให้บ้านเมืองประเทศชาติก็จะไม่เหลืออะไร ประชาธิปัตย์ก็ไม่อยู่รอด และ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาในที่สุด"

ต่อมานายสุเทพได้เสนอให้มีการลงมติโหวตแบบลับ เรียงตามอักษร โดยมีการขานชื่อแล้วให้สมาชิกแต่ละคนเขียนลงในกระดาษว่า "แก้" กับ "ไม่แก้" นำไปหย่อนลงในกล่อง ในระหว่างการซาวเสียงช่วงต้นมีการประเมินว่าเสียงสูสีมาก จนต้องมีการวิ่งตามสมาชิกในสายของนายบัญญัติที่ไม่ได้ร่วมประชุมในช่วงแรกมาร่วมลงคะแนนด้วย

มติ 82 ต่อ 48 ไม่แก้

หลังจากลงคะแนนเสร็จแล้ว นายอภิสิทธิ์ได้เป็นผู้หยิบกระดาษมาอ่านและขานคะแนน ขณะที่นายสุเทพเป็นคนบันทึกผลการนับคะแนน ท่ามกลางการรอลุ้นผลการนับคะแนนของสมาชิกด้วยใจระทึก โดยผลออกมามีมติ 82 เสียงต่อ 48 เสียงไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่งดออกเสียง 2 เสียง

และหลังจากทราบผลคะแนนที่ชัดเจน ส.ส.ที่สนับสนุนไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทยอยลงมาจากห้องประชุมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายที่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต่างไปยืนสูบบุหรี่อย่างเคร่งเครียด

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าใจว่าพรรคร่วมเสนอเป็นร่างเดียวซึ่งรวมถึงมาตรา 190 ด้วย เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับเรื่องเขตเลือกตั้ง ก็ต้องไม่เห็นด้วยทั้งร่าง คงไม่มีความขัดแย้งอะไร เพราะเดิมทีเขาก็บอกแล้วว่าพรรคจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคร่วมรัฐบาลก็เดินหน้าต่อ แต่สิ่งเดียวที่ตนขอคือว่าอย่าไปแก้ประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และตนคิดว่า 2 ประเด็น มาตรา 190 และเขตเลือกตั้งนี้ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอะไร ก็ให้เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาพิจารณาไป

ถามว่า จะนัดพบกันเมื่อไร นายกษิตอบว่า เดี๋ยวจะประสานไป เข้าใจว่าทางพรรคกิจสังคมจะเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไป

ซักว่า พรรคร่วมรัฐบาลขู่ว่าอาจมีบิ๊กเซอร์ไพรส์หรือการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละพรรค ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครผิดสัญญา

ถามว่า เคยรับปากกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกฯ ตอบว่า "ไปเปิดเทปไหมล่ะครับ"

"วันที่มีการไปคุยกันเรื่องการตั้งรัฐบาล เขาถามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมบอกไปว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้ไขเรื่องนิรโทษกรรมคงไม่เป็นปัญหา แต่จุดยืนของแต่ละพรรคไม่ตรงกัน ผมยังจำได้ว่าเขายกประเด็นเขตเลือกตั้งขึ้นมา ผมบอกไปว่าประเด็นนี้ก็ลำบากหน่อย เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอตอนที่เขายกร่างรัฐธรรมนูญและขอความเห็นจากพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอให้ยืนระบบเขตใหญ่"

เมื่อถามว่า การอยู่ร่วมกันในช่วงหลังจากนี้ไป ประเมินหรือไม่ว่าจะเป็นเช่นใด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงจะต้องพุดคุยและทำความเข้าใจกัน เพราะบางเรื่องก็มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่เรื่องที่เป็นเรื่องของรัฐบาลในการบริหารงานนั้น ต้องเดินไปด้วยกัน หากพรรคร่วมรัฐบาลจะตัดสินใจว่าไม่เดินไปด้วยกันก็เป็นสิทธิ อันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ไปบังคับกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่ตกลงกันมาบอกว่าอยากจะแก้ปัญหาต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ เรื่องอะไรก็มาทำงานร่วมกัน

เมื่อให้ยืนยันว่าพรรคจะโหวตในสภาในทิศทางเดียวกันแน่นอน นายกฯ ตอบว่า ใช่ เพราะก่อนที่จะลงมติก็มีการตกลงกันว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ฟรีโหวตหรือไม่ ก็เห็นตรงกันว่าไม่ควรจะมีการฟรีโหวต

ส่วนนายสุเทพให้สัมภาณ์แบบน้อยใจว่า คงไม่ต้องไปชี้แจงกับพรรคร่วมรัฐบาล เขาคงได้ติดตามข่าวจากสื่อมวลชนแล้ว ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลคงจะทราบมติของพรรคแล้ว "ผมคงไม่มีอะไรไปคุย ผมเป็นเลขาธิการพรรคก็ต้องเคารพในมติของพรรค"

เขายังบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีเอกภาพในการปฏิบัติงานในสภา เราโหวตในทางเดียวกัน ตนไม่อยู่ในวิสัยที่จะผิดหวังหรือสมหวังได้

"ยาก" คือคำตอบที่นายสุเทพตอบคำถามที่ว่าหลังจากนี้การทำงานในฐานะผู้จัดการรัฐบาลจะเป็นอย่างไร และยังบอกว่าเสถียรภาพของรัฐบาล วันนี้ยังมั่นคงอยู่ วันหน้าก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์

ส่วนการทำงานกับนายกรัฐมนตรีนั้น นายสุเทพตอบว่า เหมือนเดิม เพราะนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค ตนเป็นเลขาธิการพรรค ก็ต้องทำงานกันเหมือนเดิม ไม่มีปัญหา พรรคต้องมีวันอย่างนี้อยู่แล้ว คือวันที่ต้องตัดสินใจและต้องมีมติ เมื่อพรรคมีมติอย่างไรทุกคนก็ต้องเคารพในมติของพรรค

ประชาธิปัตย์ 2 ซีก

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังกรรมการบริหารพรรคมีมติไม่ร่วมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝั่งคือ สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และฝั่งที่ไม่เห็นด้วย โดยฝั่งที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า 1.ต้องแยกมิตรแยกศัตรู ซึ่งศัตรูคือระบอบทักษิณ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำเกิดความแน่นแฟ้นในรัฐบาลมากขึ้น 2.ถ้าแก้เป็นเขตเล็กโอกาสร่วมมือกันในภาคอีสาน และภาคเหนือ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมมีสูงขึ้น

3.มีการประเมินว่าภาพรวมความนิยมของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างสูง ถึงเป็นเขตเล็กไม่น่ามีปัญหา ส่วน ส.ส.ที่ฐานเสียงยังไม่แข็งแรง หากพรรคสนับสนุนก็ไม่น่ามีปัญหา 4.ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการหนุนนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป จนที่สุดสามารถกดกระแส พ.ต.ท.ทักษิณได้

นพ.วรงค์กล่าวว่า ในส่วนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่า 1.วิกฤติการเมืองของประเทศคือการโคตรโกงหรือโกงทั้งโคตรนั้น เกิดจากเขตเล็กมากกว่าเขตใหญ่ หากย้อนกลับไปจะเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีก 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์ต่อประชาชน มีแต่ของนักการเมือง 3.ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ใช้เขตใหญ่หากไปหนุนเขตเล็กจะอธิบายประชาชนไม่ได้

4.พรรคประชาธิปัตย์ต้องจุดยืนที่แน่นอนในยามบ้านเมืองมีวิกฤติ 5.มีการมองพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยหักหลังใคร เพียงแต่คบยาก ส่วนข้อตกลงกับพรรคร่วมในครั้งจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่ได้มีการลงรายละเอียดเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าการจะถอนพิษของระบอบทักษิณ คือต้องมีศรัทธาของประชาชน สิ่งนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง พันธมิตรฯ เคยระบุว่าหากมีการแก้ไข พันธมิตรฯ อาจจะออกมาเคลื่อนไหวบ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักถึงขั้นต้องยุติการแก้ไข

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ค่อยพอใจมติของพรรคประชาธิปัตย์นัก แม้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลต่อการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนละเรื่องกัน การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องความสมัครใจของคนที่จะดำเนินการในสภา ไม่เกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล

แต่เมื่อถูกถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ขอให้ช่วยโหวตกฎหมายสำคัญๆ และลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ได้รับคำตอบจากหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยว่า เป็นเรื่องเอกสิทธิ์ในสภาของ ส.ส.เราก็ให้ฟรีโหวตได้เลย เป็นอิสระของแต่ละคน

ซักว่า พรรคประชาธิปัตย์ผิดสัญญาหรือไม่ นายชวรัตน์ตอบว่า "ยัง ถือไพ่ยังไม่ได้เปิดไต๋"

ถามต่อว่า เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาจะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ฟังมติพรรค แต่มาร่วมแก้รัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะนี่เป็นเรื่องการเมือง

ด้านนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ยังต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เวลานี้คิดว่าทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็อึดอัดกันหมดแล้ว ไม่รู้จะกลัวอะไรนักหนา หรือเป็นเพราะนายกฯ ตัวจริงเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมาถึงเป็นอย่างนี้

มีรายงานว่า นายเนวินแจ้งในที่ประชุมพรรคภูมิใจว่าขอให้ ส.ส.ทุกคนของพรรคหยุดให้ข่าวหรือความคิดเห็นต่างๆ ในกรณีที่ กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่แก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากหวั่นจะเกิดปัญหาความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์

อย่ากะพริบตา

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า มติของพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบ ส่วนพรรคที่ต้องแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้คือพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องถามความเห็นพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นหลัก ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องมีคำตอบให้พรรคร่วมรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจะยกมือโหวตลงมติเป็นคนละช่วงเวลา

"ใจเย็นๆ ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งเลย แต่ก็อย่ากะพริบตา เพราะต้องฟังท่านสุเทพ ที่ต้องเห็นแก่ประเทศชาติมากกว่าพรรคการเมือง" โฆษกพรรคภูมิใจไทยกล่าว

ส่วนนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ขอให้สื่อมวลชนไปถามนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา "สื่ออย่าถามนำ ถ้าพอมันก็ทำได้ ถ้าไม่พอก็ทำไม่ได้"

ขณะที่นายชุมพลให้สัมภาษณ์ว่า ความเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเอาไว้ตอนอภิปรายและลงมติ แต่หลังอภิปรายแล้วโลกมันกลมหมุนไปหมุนมา แต่หากฟังอภิปรายแล้วอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ดังนั้นยืนยันว่าเราไม่ได้รอมติพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องการเสนอญัตติเข้าสู่สภา เพื่อดึงปัญหานอกสภาทั้งหมดเข้าไปพูดในสภาเท่านั้นเอง

"พรรคประชาธิปัตย์ต้องชมเขาอย่างนะ พรรคเขาค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยพอสมควร ประชุมพรรคก็โยนให้กรรมการบริหาร ตอนนี้กรรมการบริหารพรรคก็ยก ยืนยันไม่มีปัญหาในการร่วมรัฐบาล เพราะคนละประเด็นกัน กติกาในการร่วมรัฐบาลเป็นคนละกติกากันเลย ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา"

เขาบอกว่า ร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าวันที่ 27 มกราคมคงจะเสร็จ เพื่อส่งให้ 5 พรรคดูก่อนที่จะนัดหมายว่าจะยื่นกันเมื่อไหร่

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยยังยืนยันในจุดยืนเดิมว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่มีการฟรีโหวตและจะไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ แต่พรรคเพื่อไทยจะร่วมแก้รัฐธรรมนูญในกรณีที่มีการนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับใช้ หรือนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นพ.เหวง โตจิราการ มาพิจารณาเท่านั้น.




Create Date : 27 มกราคม 2553
Last Update : 27 มกราคม 2553 7:59:06 น. 0 comments
Counter : 702 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

jirachon
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add jirachon's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com