<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 สิงหาคม 2558
 

70 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2/นักสู้เหล่านี้คือผู้เปลี่ยนโฉมหน้าเอเซีย

70 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 : นักสู้เหล่านี้คือผู้เปลี่ยนโฉมหน้าเอเซีย



 ขออนุญาตคุณสุทธิชัย หยุ่น กรุงเทพธุรกิจรายวัน นำเนื้อหาต่อไปนี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา 

มื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบ 70 ปี
ที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองต่อพันธมิตร

ผมเห็นภาพชุดผู้นำเอเซียที่ปรากฏในบทความในเว็บไซท์ The Diplomat เมื่อเร็ว ๆ นี้

ทำให้ผมมองย้อนกลับไปถึงสีสันทางการเมืองของผู้นำเหล่านี้อย่างน่าสนใจยิ่ง

วันที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงนั้นมีความหมายต่อคนเอเซียหลายมิติ 

เพราะวันเดียวกับที่ญี่ปุ่นยอมยกธงขาวก็เป็นวันที่คนจีนกว่า 400 ล้านคน

ขณะนั้นหายใจโล่งอกเพราะเป็นการสิ้นสุดของสงครามที่ญี่ปุ่นเข้ายึดจีน 8 ปีเต็ม ๆ 

ที่เริ่มด้วยกองกำลังทหารญี่ปุ่นบุกภาคเหนือของจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 1937

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองรอบใหม่ของจีน

ระหว่างคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงและจีนคณะชาติของเจียงไคเช็ค 

และจบลงในอีก 4 ปีต่อมาด้วยชัยชนะของเหมาบนผืนแผ่นดินใหญ่

และในจังหวะเดียวกันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของประเทศต่าง ๆ ในย่านนี้

ที่ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชจากจักรวรรดินิยมตะวันตกอังกฤษ, ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์

อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิคอมมิวนิสม์ท่ามกลางกระแสสังคมนิยมที่ยืนอยู่คนละข้าง

กับระบบทุนนิยม

แต่ละบทของประวัติศาสตร์เอเซียต้องเขียนด้วยเลือด, น้ำตาและหยาดเหงื่อ

ของเพื่อนร่วมชาติทั้งสิ้น

ผู้นำยุคหลังสงครามที่โดดเด่นและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

ต่อการเมืองเอเซียและทั้งโลก เช่น 

เหมาเจ๋อตุงแห่งจีน, เยาวหราล เนรูห์แห่งอินเดีย, ซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย

, โฮจิมินห์แห่งเวียดนาม, คิมอิลซุงแห่งเกาหลีเหนือ, ลีกวนยิวแห่งสิงคโปร์

, มหาธีร์ โมหะหมัดแห่งมาเลเซียล้วนทิ้งมรดกการเมืองอย่างลุ่มลึกถึงทุกวันนี้

สงครามร้อนสิ้นสุดลงไม่ได้แปลว่าสันติภาพจะกลับคืนมาโดยอัตโนมัติ 

เพราะสิ้นเสียงปืนไม่นาน การยื้อแย่งอำนาจและอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ

ก็ระเบิดขึ้นเป็นสงครามเย็นที่สู้กันด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง

แบ่งเป็นค่าย “โลกเสรี” มีสหรัฐฯเป็นแกนนำ และ “คอมมิวนิสต์” 

สหภาพโซเวียตเป็นหัวหน้าโต้โผใหญ่

การแตกกระจายของสหภาพโซเวียตและการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อ 1989 

เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามเย็น แต่นั่นก็มิใช่การ

 “สิ้นสุดแห่งประวัติศาสตร์” อย่างที่นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคน

ประกาศเป็นทฤษฎีใหม่ เพราะตราบเท่าที่ผลประโยชน์ของมหาอำนาจไม่ลงตัว 

การแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ก็ดำเนินต่อไป เพียงเปลี่ยนรูปแบบ

ของการเผชิญหน้าเท่านั้น

วันนี้เราจึงได้ยินคำประกาศ “ปักหมุดเอเซีย” 

หรือ Pivot to Asia ของอเมริกา และ 

“ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของประเทศใหญ่ ๆ” 

จากปักกิ่ง ท่ามกลางความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก 

และการประดาบกันผ่านโลกไซเบอร์ที่ไร้ขอบเขต

และอำนาจการทำลายที่สูงกว่าอาวุธนิวเคลียร์ด้วยซ้ำ!/จบ

...............................................................................................................................

ขออนุญาตกรุงเทพธุรกิจรายวันนำเนื้อหาต่อไปนี้ มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา


พิราบกับเหยี่ยวญี่ปุ่น ปะทะตั้งรับมังกรจีน

 //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635559#sthash.wKQf06E7.dpuf

ภาพประท้วงของคนญี่ปุ่นต่อต้านกฎหมาย “ความมั่นคง” ใหม่ของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ เมื่อเร็ว ๆ นี้

เป็นการตอกย้ำความกลัวของชาวอาทิตย์อุทัย ที่จะต้องทำสงครามอีกรอบหนึ่ง

ยิ่งปีนี้ครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เป็นตราบาปของคนญี่ปุ่นเพราะสร้างบาปสร้างกรรมเอาไว้ ก็ยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ไม่ต้องการให้นักการเมืองแก้กฎหมาย เพื่อให้ทหารญี่ปุ่นติดอาวุธพร้อมรบอีกครั้งหนึ่ง

เพราะรัฐธรรมนูญที่สหรัฐ เขียนให้ใช้หลังญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้สงครามกำหนดไว้ชัด ๆ ว่าห้ามมีกองทัพของตนเองเพราะเคยก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้มาก

จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นกองทัพ (armed forces) แต่เรียกเป็น “กองกำลังป้องกันตนเอง” (self-defence force)

เรื่องความมั่นคงของญี่ปุ่นจึงอยู่ใต้ “ร่มเงา” ของสหรัฐมาตลอด

กฎหมายสูงสุดของญี่ปุ่นจึงถูกขนานนามเป็น “รัฐธรรมนูญสันติภาพ” หรือ Pacifist Constitution มาตลอด

แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยน แนวคิดก็เปลี่ยน ญี่ปุ่นมีปัญหาขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนตะวันออก จีนสร้างแสนยานุภาพทางทหารต่อเนื่อง สหรัฐไม่อาจจะปกป้องญี่ปุ่นทางด้านทหารทั้งหมด เพราะงบประมาณจำกัดและวอชิงตันต้องการพันธมิตรในเอเชียเพื่อสะกัดการเติบใหญ่ของอิทธิพลจีน

ที่ญี่ปุ่นกังวลไม่น้อยกว่าจีนก็คือ เกาหลีเหนือซึ่งอาจจะก่อให้เกิดสงครามเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งเตือน เพราะที่ผ่านมาเปียงยางก็ยิงจรวดไปยังเป้าหมายใกล้ ๆ ญี่ปุ่นเป็นประจำอยู่แล้ว

จึงเป็นเหตุผลที่นายกฯอาเบะ เสนอแก้กฎหมายเพื่อสามารถส่งทหารไปนอกประเทศภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อคือ

1. ในกรณีที่ญี่ปุ่นถูกโจมตี หรือเมื่อพันธมิตรใกล้ชิดถูกโจมตี และผลที่ตามมาคุกคามความอยู่รอดของญี่ปุ่น และมีสิ่งบอกเหตุชัดเจนว่าสถานการณ์นั้น ๆ จะเป็นอันตรายต่อประชาชนคนญี่ปุ่น

2. เมื่อไม่มีวิธีการอย่างอื่นที่เหมาะสมเพื่อหยุดยั้งการโจมตี และรับรองความอยู่รอดของญี่ปุ่น และปกป้องประชาชน

3. การใช้กำลังจะต้องจำกัดให้อยู่ในระดับที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะตีกรอบให้กองกำลังของญี่ปุ่นมีหน้าที่เพื่อ “ป้องกันตัวเอง” เป็นหลัก แต่ทุกวันนี้อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นก็ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นทางบก อากาศ หรือทะเล อีกทั้งยังมีแผนการเสริมสร้างแสนยานุภาพอย่างต่อเนื่อง

กองกำลังทหารของญี่ปุ่นมีอยู่ประมาณ 150,000 คน ซึ่งไม่ถือว่าใหญ่เมื่อเทียบกับจีนแต่ก็มีอาวุธ เครื่องบินและเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์พร้อมทำศึกไม่น้อย

ที่ผ่านมา เรือรบและเครื่องบินลาดตระเวนญี่ปุ่น ได้ไปร่วมปฏิบัติปราบโจรสลัดแถวน่านน้ำแอฟริกาและจุดอื่น ๆ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความพร้อมทางด้านบุคลากร และอาวุธยุทโธปกรณ์หากเกิดความจำเป็นในภาวะฉุกเฉิน

นายกฯอาเบะ เป็น “เหยี่ยว” ที่ต้องการจะปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมกลับมา ให้สามารถเผชิญหน้ากับจีนในโลกสมัยใหม่นี้ให้ได้ไม่ว่าในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง

แต่คนรุ่นใหม่และคนทำงานที่ไม่ต้องการเห็นญี่ปุ่นเล่นบทบู๊ เพราะเจ็บปวดจากความพ่ายแพ้ในสมรภูมิโลกมาแล้ว ก็ไม่ยอมให้นักการเมืองสายเหยี่ยวกำหนดวาระแห่งชาติอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

การต่อสู้ทางความคิดเรื่องทหารกับการเมือง ความมั่นคงกับเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับมหาอำนาจอื่น ๆ ทั่วโลกจึงร้อนแรงขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง/จบ

.................................................................................................................................





 

Create Date : 24 สิงหาคม 2558
0 comments
Last Update : 19 กันยายน 2558 3:00:59 น.
Counter : 1110 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com