ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
7 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
+-+-+-+สิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นแรง ประจำเดือนกค. 2552 - หนังสือรวมบทกวีของ "จิตร ภูมิศักดิ์"+-+-+-+

ในช่วงเวลาวันหยุดยาวที่ใครๆ ต่างก็พากันออกไปเที่ยว
และอีกหลายคนคงกำลังจิบเบียร์เคล้าเสียงฝนอยู่ในขณะนี้
สำหรับผมไม่ได้ทำอะไรอย่างที่เขียนไว้ข้างบนสักอย่าง
เพราะผมกำลังมีความสุขอยู่กับการอ่านหนังสือรวมบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์อยู่ครับ


จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักเขียนในดวงใจของผมคนนึง
ท่ามกลางนักเขียนในดวงใจหลายสิบคน (ผมเป็นคนหลายใจครับ) จิตรถือเป็นนักเขียนในดวงใจอันดับต้นๆ ของผมเลย





ถ้าพูดชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์นี้กับคนรอบๆ ตัวผม
น่าจะมีคนทำหน้างงไม่น้อยกว่า 10 คน
บางคนอาจจะคุ้นๆ ชื่อเขาแต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน
หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพเขาตามรถบรรทุกหรือบนหน้าปกหนังสือ
บางคนอาจรู้จักเขาจากหนังสืออันเลื่องชื่อของเขาที่มีชื่อว่า โฉมหน้าศักดินาไทย
บางคนรู้ว่า เขาเป็นผู้แต่งเพลงเพื่อชีวิตระดับคลาสสิคที่มีชื่อว่า แสงดาวแห่งศรัทธา
บางคนเพิ่งรู้จักเขาจากกรณี "คลื่นแทรก" ที่ช่อง TPBS อันโด่งดัง

ไม่ว่าคุณจะมองเขาอย่างไร แนวความคิดทางการเมืองของคุณจะตรงข้ามกับเขาแค่ไหน
ถึงอย่างไรคนอย่างจิตรก็ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งของโลก
และก็เป็นเหมือนกับอัจฉริยะคนอื่นๆ บนโลก นั่นคือ มักจะเสียชีวิตเร็วกว่าที่ควรจะเป็นเสมอ
แต่กรณีของจิตรนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะสิ่งที่จบชีวิตเขา ไม่ใช่มาจากโรคร้ายหรืออัตนิวิบาตกรรม
แต่เป็นกระสุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งมองว่า โทษสำหรับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างจิตรมีแต่ต้องประหารชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว

***********************

เรามาดูประวัติคร่าวๆ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ กันดีกว่าครับ
ที่มา - จาก wikipedia

จิตรเป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์
นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย
จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก
มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง
ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด

ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก
เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากร ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496.
ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ" ของหนังสือประจำปี
โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย
รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน
โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน.
ผลก็คือ ระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม
ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน.
ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในนาม สหายปรีชา
และถูกกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่ ตำบลบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร






*************************************

เหตุผลที่ผมพูดถึงจิตรในคราวนี้ ไม่มีอะไรใดมากไปกว่า ผมเพิ่งซื้อหนังสือรวมบทกวีของจิตรชื่อว่า "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย" มาครับ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทกวีลำดับที่ 3 ในชุดกวีนิพนธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์และเป็นเล่มสุดท้ายของชุดที่สนพ.ฟ้าเดียวกันพิมพ์ออกมา

หนังสือรวมบทกวีของจิตรมีรายชื่อติดอยู่ใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน กลุ่มกวีนิพนธ์และบทละคร ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับหนังสือประเภทนี้ส่วนใหญ่ คือ หาซื้อยากและถ้าอยากอ่านก็ได้แต่ไปขวนขวายหาฉบับที่พิมพ์ครั้งเก่าๆ มาอ่านเท่านั้น
จึงเป็นที่น่าดีใจที่สนพ.ฟ้าเดียวกันได้ทำการรวมรวบบทกวีของจิตรเพื่อนำออกมาตีพิมพ์อีกครั้ง

ซึ่งหนังสือชุดนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 เล่ม ได้แก่

-ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด
จากยุคเริ่มต้นถึงมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2489-2496)

-ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง
จากโยนบกถึงทีปกร (พ.ศ. 2496-2501)

-คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
จากมหาวิทยาลัยลาดยาวถึงวาระสุดท้ายของชีวิต (พ.ศ. 2500-2508)


ซึ่งทั้ง 3 เล่มล้วนเป็นหนังสือที่รวบรวมบทกลอนของจิตรได้อย่างครบถ้วน
มีภาพประกอบ พร้อมด้วยคำอธิบาย บรรยายถึงแรงบันดาลใจในการแต่งกลอนของจิตร และที่มาของบทกวีต่างๆ (เหมือนเป็น Behind the Scenes ของกวีบทนั้นๆ)
แม้จะมีกวีบางบทที่มีที่มาไม่ชัดเจน (โดยเฉพาะช่วงที่จิตรอยู่ในคุกและอยู่ในป่า) แต่ทางผู้จัดทำก็ได้พยายามรวบรวมข้อสันนิษฐานและทฤษฎีของที่มาต่างๆ ของบทกวีในแบบครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยอาจเป็นเพราะทางสนพ.ฟ้าเดียวกันและคุณวิชัย นภารัศมี ผู้เป็นบรรณาธิการต้องการรวบรวมบทกวีของจิตรให้ได้มากและสมบูรณ์ที่สุด หนังสือเล่มสุดท้ายเลยออกช้ากว่าที่ควรจะเป็นจากที่สนพ.เคยบอกไว้มาประมาณปีกว่าๆ แต่สุดท้ายก็คุ้มกับการรอคอย เพราะหนังสือทั้ง 3 เล่มออกมาสมบูรณ์และสวยงามอย่างที่สุด

โดยส่วนตัว ผมเป็นคนชอบบทกวีของจิตรอยู่แล้ว เพราะบทกวีของเขาสั้น อ่านจบเร็ว กระชับ ศัพท์ดี คำสวย ได้อารมณ์ อีกทั้งอ่านแล้วเข้าใจง่าย เพราะเขาไม่ได้ใช้คำแบบวิลิศมาหราจนต้องอ่านไปเปิดพจนานุกรมแปลไป

ความสามารถเรื่องบทกวีของจิตรนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะจิตรเป็นนักภาษาศาสตร์อยู่ เขามีความรู้เรื่องภาษาและการเลือกใช้คำอยู่ในระดับดีมาก บทกวีของเขาจึงออกมาน่าสนใจเสมอ
จุดเด่นในบทกวีของจิตรที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ จิตรเป็นคนที่ "build" อารมณ์เก่งมาก เขาสามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ตามที่ผู้แต่งต้องการ เหมือนสั่งได้
กวีบทไหนจิตรต้องการปลุกใจ จิตใจผู้อ่านก็รู้สึกถูกปลุกเร้าตาม
กวีบทไหนจิตรต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกเศร้า พออ่านจบก็เรียกน้ำตาของผู้อ่านได้เป็นกอบเป็นกำ
บทกวีอันไหนจิตรต้องการให้ความหวังกำลังใจ พออ่านจบก็เกิดอาการไฟลุกโชนขึ้นมาทันที
ซึ่งจุดนี้ บทกวีของจิตรถือว่าสอบผ่านได้คะแนนดีเยี่ยม ไม่เหมือนบทกวีสมัยใหม่บางบทที่แม้ถ้อยคำจะสวย แต่เรื่องอารมณ์ร่วมหรือถ้วยคำที่เลือกนำมาใช้นั้นถือว่าสอบตก

หมายเหตุ - ถ้าสนใจเรื่องอารมณ์ในบทกวี ผมแนะนำให้อ่านในบทความ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ "ม้าก้านกล้วย กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง".อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง หน้า 141-158





ผมเชื่อว่า คงมีหลายท่านที่คงไม่เคยอ่านบทกวีของจิตร ผมจึงขออนุญาตคัดเลือกบทกวีที่ผมชอบมากเป็นพิเศษลงในบลอกนี้ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน
และเนื่องจาก รวมบทกวีเล่ม 1 และ 3 ไม่ได้อยู่ในมือผม (แต่อยู่ในมือเพื่อน) ทำให้อาจมีข้อมูลบางอย่างผิดพลาดไปบ้าง
และบทกวีหลักๆ ที่ผมชอบอยู่ในเล่ม 2 "ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง" ทำให้ผมเน้นบทกวีในเล่ม 2 มากกว่าเล่มอื่นน

ซึ่งเล่ม 2 เป็นเล่มที่ทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการของจิตรได้ชัดเจน ดังที่บก.วิชัย นภารัศมีได้เขียนไว้ในคำนำดังนี้

งานกวีนิพนธ์ในช่วงนี้เป็นงานในช่วงรอยต่อทางความคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นยุคที่จิตรตั้งข้อสงสัย เป็นยุคผ่าน (ส่วนมากเป็นงานที่เขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๘)
และเมื่อคิดว่าได้ข้อสรุป (คืองานระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๐) เนื้องานของกวีนิพนธ์จึงเข้มข้นเพิ่มเติมขึ้นจากเดิมที่จะมีเพียงแต่ตั้งข้อสงสัย พัฒนากลายเป็นการเปิดโปง และชี้ให้ตระหนักเห็นพลังของตัวเอง และการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้ของประชาชน...

จิตร ภูมิศักดิ์ ใน พ.ศ. นี้ เริ่มถีบตัวออกห่างจากความต้องการเป็น “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” และไม่ดำเนินรอยตามบุรพกวีเดิมๆ แล้ว

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับจิตร ภูมิศักดิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ คือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “โยนบก” คือการจับ จิตร ภูมิศักดิ์ โยนลงมาจากเวทีหอประชุมของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
สาเหตุของการเกิดเหตุการณ์นี้เกิดจากงานนิพนธ์ของจิตร ๒ ชิ้น คือ บทกวีที่จิตรเขียนตำหนิหญิงที่ท้องไม่มีพ่อและไปทำแท้งว่า “เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน”
และบทความขนาดยาวที่จิตรเขียนวิพากษ์วิจารณ์พระภิกษุนอกรีตในพุทธศาสนาว่าประพฤติตัวประดุจ “ผีตองเหลือง”
อันที่จริงจากการศึกษา เรายังพบต้นฉบับบทกวีที่จิตรเขียนวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์นอกรีตอีกบทหนึ่งอย่างค่อนข้างรุนแรง คือบทที่ชื่อว่า “แม่จ๋าแม่ แม่จ๋า แม่จ๋าแม่”
บทกวีชิ้นนี้พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเล่มนี้ งานเหล่านี้คือข้อยืนยันถึงการตั้งข้อสงสัย การเปิดโปง ต่อความเป็นไปของวงการสงฆ์ในช่วงระยะเวลานั้น

เหตุการณ์ที่จิตรถูกโยนบก ถูกพักการเรียน ประกอบกับเห็นคุณแม่แสงเงิน ฉายาวงศ์ ต้องเหนื่อยยากสายตัวแทบขาดเพื่อหาเงินส่งให้จิตรและพี่สาวได้เรียน
และจากบทสรุปที่ว่าการทำบุญเข้าวัดเข้าวาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย ยิ่งทำให้จิตรทุ่มเทค้นคว้าศึกษาทั้งปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์และปัญหาสังคมมากขึ้น
จากการค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จิตรได้รับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ไทยในอีกด้านหนึ่ง มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นศักดินาที่มีต่อชนชั้นผู้ถูกปกครอง
นอกจากนี้ การศึกษาความเป็นไปของสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และการครอบงำของจักรวรรดินิยมอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย รวมทั้งการได้รับรู้ถึงการปลดแอก
มีการก่อตั้งประเทศสังคมนิยมของประเทศต่างๆ ขึ้นในช่วงระยะเวลานั้น การติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิดทำให้จิตรมองชีวิต สังคม และโลกเปลี่ยนไป
การศึกษา ค้นคว้า ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคมด้วยตัวเอง ต่อมาก็เริ่มมีลักษณะการเข้ากลุ่ม สังกัดกลุ่ม มีการศึกษารวมกลุ่ม มีหน่วยนำ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๔๙๙
จิตรประพันธ์เพลงมารฺชขึ้นหลายเพลง อย่างมารฺชเยาวชนไทย มารฺชกรรมกร มารฺชธรรมศาสตร์ – จุฬา สามัคคี และ มารฺชแอนตี้จักรวรรดินิยม ล้วนแต่เป็นลักษณะการประพันธ์แบบมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง และน่าจะอยู่ในการแนะนำของหน่วยนำ
เป็นที่น่าสังเกตว่า จิตรเพิ่งเริ่มมาใช้ความสามารถของตัวเองในฐานะนักแปล โดยแปล บทกวีต่างประเทศเป็นพากย์ไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นี้เอง



ผมจะขอแบ่งบทกวีที่ผมชอบออกเป็น 3 ส่วน คือ

-บทกวีที่จิตรแต่งขึ้นเอง
-บทกวีที่จิตรแปลจากภาษาอื่น
-เพลง


เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ





บทกวีที่จิตรแต่งขึ้นเอง

เริ่มต้นที่บทแรกซึ่งผมชอบมาก นั่นคือ บทกวีที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือประจำปีของจุฬา ปี 2496 และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จิตรโดนโยนบก
ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจจะดูแรง แต่พอมาอ่านในยุคปัจจุบันนี้ อดรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แรงมากมายนักหนา


เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน

...........................................................................
...........................................................................

หวังเพียงความย่ามเหลิงระเริงรี่
จนเสือกมีทำไมมิได้ฝัน
เมื่อค่ำดื่มปลื้มปลักนำรักกัน
ใช่หวังปั้นเด็กผีให้มีมา

ลูกนั้นหรือคือผลพลอยคนได้
จากความใคร่คราวหรรษ์เปลื้องตัณหา
เฝ้าทำลายหลายครั้งประดังมา
มันทนทายาทเถนไอ้เดนตาย

อันรสร่านซ่านดิ้นคือสินจ้าง
ที่ตอบต่างเงินตราให้มารศรี
ซื้อเด็กคน...ปรนสบายให้หลายที
แล้วคุณมีต่อใครที่ไหนรา !

ไอ้เรื่องกลุ้มอุ้มท้องที่เบ่งโย้
ลามกก็โขนั้นก็จริงหรอกหญิงจ๋า
แต่สินจ้างรายได้เราได้มา
ต้องใจกล้าลงทุนสมดุลย์กัน

พระคุณแม่แท้ใช่ที่ได้เบ่ง
อยู่ที่เล็งรักถนอมเหมือนจอมขวัญ
แม้รีดแกล้งแท้งทำระยำยัญ
เธอมีทัณฑ์ฐานฆ่า...อาชญากร

ถ้าแม้นใคร่ใจที่จะมีลูก
ฤทัยผูกรักล้ำทั้งพร่ำสอน
อุตส่าห์เลี้ยงเอี้ยงกล่อมถนอมนอน
ขอกราบกรนั่นแหละแม่ที่แท้จริง

แต่เธอคลอดทอดทิ้งแล้ววิ่งหนี
ไม่รู้ชี้เป็นตายหรือชายหญิง
ไม่แลเหลียวเจียวหลังเพราะชังชิง
เธอคือหญิงรับจ้างแท้...ใช่แม่คน


-------------

ความจริง จิตรได้เคยแต่งบทกลอนเกี่ยวกับศาสนาที่แรงมากๆ บทหนึ่ง แต่ไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหน ซึ่งทัศนะต่อศาสนาของเขาในบทความขนาดยาวในหนังสือเล่มนั้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาถูกโยนบกเช่นกัน

อะไรแน่ศาสนาข้าสงสัย

แม่จ๋าแม่ แม่จ๋า แม่จ๋าแม่
อะไรแน่ศาสนาข้าสงสัย
เขาหลอกหลอนบอกเล่าไม่เข้าใจ
เรื่องเมืองไทเมืองผีนี้น่ากลัว

ต้องใส่พกดกบาตรประหลาดนะ
เลี้ยงพวกพระไว้ใยข้าใคร่หัว
ล้วนเสื้อเหลืองเครื่องแฝงออมแรงตัว
ใช้กรรมชั่วตลบลิ้นได้กินฟรี

มันแอบแฝงแรงงานชาวบ้านหม่ำ
ขู่ว่าทำบุญไว้ให้กูถี
คนก็งั่งชั่งเซ่อบำเรอพี
ล้วนของดีถวายสิ้นตัวกินเกลือ

พวกหนุ่มรุ่นจุ้นจ้านมักพานบวช
มีโออวดแหนแห่จนแซ่เฝือ
เดี๋ยวเทศน์ เทศน์ และเทศน์ทำกันพร่ำเพรื่อ
มันแสนเบื่อฟังเทศน์เรื่องเปรตผี


แรงไหมครับ
ขนาดมาอ่านตอนนี้ยังอดซี้ดปากไม่ได้ แรงจนทำให้ภาพภิกษุสันดานกา หรือ หนังเรื่องนาคปรก ดูกระจอกไปเลย

----------------------

บทกวีที่แปลจากต่างประเทศ

ความเป็นนายภาษาของจิตร ทำให้บทกวีที่แปลออกมามีความสวยงาม จนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นบทกวีที่ถูกแปลมา
ทั้งยังเก็บรักษาใจความของบทกวีที่ถูกนำมาแปลได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

อย่างบทกวีบทนี้ ที่อ่านแล้วชวนให้ซาบซึ้งมาก

ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง

ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง
กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าเวหาหน
ถึงร้อยมุกต์เมิลระยับกับสายชล
ที่ริมวนวังหาดดาษดา

ถึงร้อยนกผกผินได้ยินเสียง
ส่งสำเนียงในทำนองร่อนถลา
ถึงร้อยหมู่ภู่ภมรร่อนนภา
เคล้าผกาซาบแสงสุริยัน

ถึงร้อยหยดเย็นเยือกน้ำค้างหยาด
เมื่อสูรย์สาดแลอร่ามงามเฉิดฉัน
ถึงร้อยเมษเพศมฤคอธึกพันธ์
ที่ดุ่มดั้นเล็มหญ้ามาตามชาย

ถึงร้อยสีผีเสื้อเหลือจะนับ
แลระยับในสนามงามเฉิดฉาย
แต่แม่นำกำเนิดบังเกิดกาย
จะหาภายภพนี้มีผู้เดียว


กวีสรรเสริญพระคุณแม่บทนี้
จิตรแปลมาจากบทกวีที่ชื่อ Only One Mother ของ George Cooper ที่ว่า

Hundreds of stars in the pretty sky,
Hundreds of shells on t he shore together
Hundreds of birds that go singing by
Hundreds of bees in the sun weather,
Hundreds of dew drops to greet tthe dawn,
Hundreds of lanks in the purple clover,
Hundreds of butterflies on the lawn,
But only one Mother, the wide world over


แต่คำที่จิตรใช้นั้นสวยงามจนผมเชื่อว่า ใครที่ได้อ่านครั้งแรก คงไม่อยากเชื่อว่า บทกวีนี้แปลมาจากภาษาต่างประเทศ

----------------------

และบทกวีที่ถือว่าเป็น "โลโก้" ของจิตร และมักจะถูกนำมาอ้างอิงถึงเสมอเวลากล่าวถึงจิตร นั่นคือ

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน


กวีบทนี้ จิตรแปลจากบทกวีของอาเวตีก อีสากยัน(Avetik Isaakyan) กวีแห่งอารเมเนีย ที่ว่า

To banish the trace of the tear in your eye.
A thousand deaths would I gladly die.
If one more life were granted me,
I'll spend the life in serving thee.


-------------------------

กวีอีกบทที่มักจะถูกนำมาอ้างอิงถึงไม่แพ้กัน ได้แก่

แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย

แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย
จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย
จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน


กวีบทนี้จิตรแปลมาจากบทกวีภาษาจีนของหลู่สวิ้น
ซึ่งในหนังสือ ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง มีอรรถาธิบายกวีของหลู่สวิ้นเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า

Ignore all accusation and work for the next generation.

อัศนี พลจันทร์ หรือ นายผี อธิบายบทกวีชิ้นนี้ว่า

คติความรู้สึกของผู้แต่งมีอยู่ 2 อย่าง คือ ชังกับรัก
ท่าทีที่มีต่อชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดทั้งปวง ต้องมีอยู่อย่างเดียว คือชิงชังและเข่นฆ่าให้พินาศไป
แต่ประชาชนแล้วต้องรักและเป็นวัวควายให้ประชาชนใช้

-----------------------------------

และบทกวีที่ทางหนังสือคัดมาจาก
นิยายเรื่อง "แม่" ของ แม็กซิม กอร์กี้
สำนวนแปลของจิตร

ประโยคอันลือลั่น มีดังต่อไปนี้

เราทรุดลง เพื่อเป็นการเสียสละอันมีเกียรติ
ในการต่อสู้ที่มีกำลังไม่ทัดเทียมกันนี้
เราเสียสละทุกสิ่งที่เรามี
เพื่ออุดมการแห่งเสรีภาพ
อำนาจบาตรใหญ่ จักต้องพินาศ
ประชาชนจักต้องลุกฮือขึ้น



ขอไม่อธิบายความหมายเพิ่มเติมนะครับ เพราะบทกวีมันอธิบายตัวมันเองได้อยู่แล้ว

-------------

เพลง

ใครที่สนใจฟังฉบับมีทำนอง แนะนำว่าลองนำชื่อเพลงไป search ใน youtube หรือไม่ก็ google นะครับ
รับรองว่าไพเราะ และอยู่เหนือกาลเวลา ต่อให้ผ่านไปอีกสักกี่ปี บทเพลงพวกนี้ก็ยังไม่ลบเลือน


อินเตอร์เนชั่นแนล

ตื่นเถิดพี่น้องคนจนผู้ทุกข์ระทม
โค่นล้มสังคมแห่งการกดขี่
ตื่นเถิดพี่น้องผู้ไร้สิทธิ์เสรี
ครั้งนี้เราสู้เป็นครั้งสุดท้าย

ล้างโลกเก่าให้ดับย่อยยับสิ้นไป
สร้างโลกใหม่ที่สดใสเปรมปรีย์
ทั้งนี้จงอย่าดูหมิ่นตนเอง
อันพวกเรานี้คือผู้สร้างโลกใหม่

พร้อมใจกันจงอย่ารั้งรอรา
สามัคคีกันตราบชั่วกัลป์
อินเตอร์เนชั่นแนลนั้น
คือแสงทองส่องบนท้องฟ้า

พร้อมใจกันจงอย่ารั้งรอรา
สามัคคีกันให้แน่นแฟ้น
อินเตอร์เนชั่นแนลรุ่งเรืองเฟื่องฟ้า
เริงใจ ทั่วหล้า ไชโย


ต้นฉบับของเพลงนี้เป็นบทกวีฉบับภาษาฝรั่งเศสของ เออแฌน ปอตติเยร์ครับ
โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ถอดความจากฉบับแปลภาษาอังกฤษในชื่อ อินเตอร์เนชั่นแนล ราวปี 2501 - 2505 แต่เนื้อหานี้ไม่ได้ถูกใส่ทำนองเป็นบทเพลง

ตอนหลังมีคนทำเพลงนี้ไปใส่ทำนอง และถูกนำไปร้องในที่ต่างๆ มากมาย
-------------


เพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ


ม่านฟ้า ยามค่ำ
ดั่งม่านสีดำ ม่านแห่งความร้าวระบม
เปรียบเหมือนดวงใจ มืดทึบระทม
พ่ายแพ้ซานซมพลัดพรากบ้านมา
ต่อสู้กู้ถิ่น
และสิทธิ์เสรี กู้ศักดิ์และศรีโสภา
จึงพลัดมาไกล ทิ้งไว้โรยรา
จะร้างดั่งป่า อยู่นับปี
เคยสดใส รื่นเริง ดังนกเริงลม
ถลาลอยชื่นชมอย่างมีเสรี
แม้ร้อยวังวิมานที่มี
มิเทียมเทียบปฐพี ที่รักมั่น
ความใฝ่ฝัน แสนนาน แต่ครั้งเคยเนาว์
ชื่นหวานในใจเราอยู่มิเว้นวัน
ความหวังยังไม่เคยไหวหวั่น
ยึดมั่นว่าจักได้คืนเหมือนศรัทธา
แว่วเสียงก้องกู่ จากขอบฟ้าไกล
แว่วดังจากโพ้นนภา
บ้านเอ๋ยเคยเนาว์ กังวานครวญมา
รอคอยเรียกข้าอยู่ทุกวัน


เป็นเพลงที่จิตรแต่งตอนติดคุกลาดยาวด้วยข้อหาทางการเมือง
เนื้อหาเศร้ามากครับ ฟังแล้วชวนให้คิดถึงบ้านหรือมาตุภูมิที่เคยจากมา

-------------

เพลงภูพานปฏิวัติ

ยืนตระหง่านฟ้า
แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูง...สง่า
ภูพานมิ่งขวัญคู่หล้าแหล่งไทย
ธงพรรค เด่นแดงเพลิง สะบัดโบกพริ้วเหนือภู
สู้พายุโหม หวิวหวู ไม่เคยหวั่นไหว
ประทีปแห่งยุค เหมือนแสง อาทิตย์อุทัย
นำทางสู่ชัย มิได้ไหวหวั่น มั่นในศรัทธา
นักรบเหนือภูพาน ทหารของมวลชน
เด็ดเดี่ยวอดทน เลือดเนื้อ พลีเพื่อประชา
ทุกดงดิบลำเนา ขุนเขาสูงเสียดฟ้า
พวกเราฟันฝ่าดั้น ด้นทนทาน
เสียงปืนก้องคำราม คุกคามทั่วแดนดง
ระเบิดทุ่มลง ปานฝน ไม่เคยสะท้าน
สงครามประชาชน ทุกคนล้วนอาจหาญ
ยืนหยัดตระหง่าน ดั่งภูพานไม่หวั่นผองภัย
มวลชนเกรียงไกร ชี้ขาดชัยสงคราม
เพลิง...ปฏิวัติ
แผ่สะพัดโหมฮือเป็นเปลวลุกลาม
ธง...แดงเด่นงาม
โบกทายท้าเหนือยอดภูพาน


จิตรแต่งเพลงนี้ขึ้นขณะร่วมอยู่กับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยอยู่ทางภาคอีสาน แถบเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดสกลนคร ติดต่อกับชายแดนลาว
จิตรใช้ชื่อจัดตั้งขณะนั้นว่า "สหายปรีชา"

-------------

เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง


เป็นเพลงที่เนื้อหาให้ความหวัง กำลังใจ เพลงนี้ของจิตรจึงถูกนำไปใช้มากที่สุด ทั้งในค่ายอาสา บนเวทีคอนเสิร์ต บนเวทีพันธมิตร แม้กระทั่งนำไปประกอบละคร (เรื่องเก็บแผ่นดิน)

หมายเหตุ – ผมหงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นวงคาราวานเอาเพลงนี้ไปเล่นบนเวทีพันธมิตร (อันนี้ผมพูดตามหลัก โดยตัดอคติทุกอย่างทิ้ง) เพราะคุณจิตรได้ชื่อว่ามีแนวคิดต่อต้านศักดินามาตลอด การนำเพลงนี้ไปร้องบนเวทีที่พยายามผลักดันการเมืองใหม่ที่ชูความคิดขั้วตรงข้ามกับจิตรอย่างสิ้นเชิง ก็ไม่ต่างจากการที่นำเพลง หนักแผ่นดิน เพลงปลุกใจที่เป็นหนึ่งในสิ่งยุแยงให้เกิดโศกนาฏกรรมฆ่าหมู่นักศึกษา 6 ตค.ไปร้องบนเวทีรำลึกผู้เสียชีวิต 6 ตค.สักเท่าไร

---------------

บทกวีของจิตร นอกจากจะมีถ้อยคำที่สวยงาม และมีใจความที่สำคัญในเนื้อหา สมกับเป็นงานศิลปะชั้นยอดแล้ว
มันยังคงเอื้อให้ผู้เสพงานต่อยอดนำไปใช้ในทางอื่นๆ ได้ไม่รู้จบ
เราจะเห็นทัศนะของจิตรต่อศิลปะได้จากบทกวีที่จิตรเคยเขียนไว้ ความว่า

"ศิลปทั้งผองต้องเพื่อเกื้อชีวิต
ของมวลมิตรผู้ใช้แรงทุกแห่งหน
ใช่เพื่อศิลปอย่างสัปดน
ใช่เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว"


แปลง่ายๆ ว่า ศิลปไม่ควรมีไว้เพื่อศิลป แต่ศิลปควรมีไว้เพื่อประชาชน
ต้องเป็นศิลปเพื่อชีวิต เพื่อประชาชนคนข้างมากในสังคม ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งความคิดนี้ถูกนำมาขยายความในหนังสือชื่อ "ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน" ที่แต่งโดยจิตรเอง
แม้ทัศนะนี้จะถูกมองว่าเป็นทัศนะฝ่ายซ้าย แต่ในช่วงเวลานี้ที่พื้นที่ของงานศิลปะส่วนใหญ่มักเผื่อให้สำหรับศิลปะเพื่อตัวเองเป็นหลัก
ผมคิดว่าเป็นการสมควรที่จะมีการเจือปนแนวความคิด "ศิลปเพื่อประชาชน" ลงไปในพื้นที่นั้นบ้าง แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ก็ยังดี ก่อนที่ผมจะต้องทนถูกกรอกหูฟังเพลงที่มีแต่เนื้อหาวนเวียนอยู่ที่ "ฉันรักเธอ เธอรักฉัน คนอื่นช่างมัน" อยู่แค่นี้

ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับจิตรที่ต้องเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
เดี๋ยวเย็นนี้จะมาขยายความนะครับ

ถ้าเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับบทกวีของจิตร หรือมีความเห็นขัดแย้งยังไง ก็มาคอมเมนต์บอกกันได้นะครับ

ขอบคุณครับ



ใครสนใจ อยากทราบถึงชีวิตและผลงานของจิตรเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากหนังสือเล่มนี้นะครับ



Create Date : 07 กรกฎาคม 2552
Last Update : 7 กรกฎาคม 2552 5:54:23 น. 16 comments
Counter : 25409 Pageviews.

 
5 ชอบ 5 ไม่ชอบช่วงนี้


ชอบ

-ภาพยนตร์เรื่อง Up
-ภาพยนตร์เรื่อง Let the Right One In
เอาไปเลย A+

-Facebook
ติดงอมแงม

-คอนเสิร์ต Michael Jackson (Dangerous World Tour at Bucharest)
จะหาว่าตามกระแสก็ยอม แต่พอดูจบ ไม่มีอะไรจะพูดนอกจาก "เมพขิงๆ"

-Maroon 5 และ Arctic Monkeys
ฟังแล้วอยากเต้น


ไม่ชอบ

-เพลง ตังเก-สิงโต The Star(Ost.หนีตามกาลิเลโอ)
เพลงที่ทำลายสุนทรียภาพทางรูหูที่สุด นับแต่ พิษสตรีเรื้อรัง ของ เปอร์ Sick Project

-หนัง Seven Pounds
หนังที่คุณภาพของบทพอๆ กับ เพื่อน...กูรักมึงว่ะ

-ข่าวแพนด้า
น่ารำคาญมาก เจอแบบนี้ ผมยอมกลับไปดูข่าวเคอิโงะสัก 10 รอบ

-ปรากฏการณ์ Transformers ทุกรอบ ทุกโรงที่เชียงใหม่
แล้วตูจะดูหนังอะไร

-ฝน
อยากจะลืมใครสักคน...


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 7 กรกฎาคม 2552 เวลา:5:47:37 น.  

 
หลังจากที่อ่านบทความนี้ไปประมาณแค่หนึ่งในห้า ผมก็อยากบอกกับคุณฟ้าดินว่า คุณฟ้าดินไม่ต้องอัพบล็อคบ่อยก็ได้ครับ ถ้าเขียนบทความได้สาระและอ่านสนุกขนาดนี้จะให้ผมรอนานๆกว่านี้ก็ได้ (เหมือนการไปร้านอาหารที่แม่ครัวทำนานมาก แต่เราก็รอได้ เพราะรู้ว่ามันอร่อยแน่ๆ) ตอนนี้ผมรู้สึกกับงานเขียนของคุณฟ้าดินอย่างนั้นเลย

เคยตั้งใจว่าถ้าไปเชียงใหม่จะแวะไปหาที่ร้านปันยา แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจ ความรู้สึกเหมือนจะไปเจอปราชญ์ กลัวตัวเองจะเผลอโชว์โง่ออกไป

อ่านแล้วเหมือนจะมากมาย แต่ยืนยันว่าออกจากใจครับ


โดย: แฟนผมตัวดำ วันที่: 7 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:03:54 น.  

 
อ้อ พูดถึงเรื่องโรงหนัง

จะลองมาดูที่ศรีราชามั๊ยล่ะครับ เค้ามีทางเลือกให้คุณ เพราะที่นี่ฉายอยู่ 2 เรื่อง คือ Transformer กับวงศ์คำเหลา

ตอนที่ไปเห็น ผมแทบจะยืนร้องไห้อยู่หน้าโรง (กรูอยากดู Ice Age อ้ะ ต้องให้กรูเข้ากรุงเทพฯเลยเหรอ)


โดย: แฟนผมตัวดำ วันที่: 7 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:08:09 น.  

 
ผมสนใจผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็นงานเขียนด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์มากกว่าครับ
บทกวีจะเป็นลำดับรองลงไป เนื่องจากตอนเริ่มอ่านบทกวีเป็นเรื่องเป็นราวโดยย้อนไปอ่านงานของกวียุคเก่า
เจอบทกวีเพื่อชีวิตที่เขียนเรื่องเดิมๆ จนเบื่อไปเอง
อารมณ์ตอนนั้นคือมันไม่เข้ายุคสมัยแล้ว (ในแง่วรรณกรรมที่ต้องสื่อสารกับคนทั่วไป)

แต่ก็เป็นเรื่องดีที่รวบรวมพิมพ์ออกมาใหม่ครับ


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 10 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:52:53 น.  

 
+ ขอสารภาพว่าผมใช้เวลาเข้ามาอ่านอยู่หลายวันเลยเนี่ย กว่าจะอ่านจบ ต้องใช้สมาธิกับบทความชิ้นนี้พอสมควรทีเดียว ... แต่คุณฟ้าดินก็นำเสนอได้ดีนะครับ จากที่ผมเคยแต่ได้ยินชื่อของคุณจิตร ก็ทำให้รู้จักมากขึ้นว่าเขาคือใคร และมีผลงานโดดเด่นอ่ะไรบ้าง (เพิ่งรู้ว่าหลายๆ เพลงของพวกเพื่อชีวิต อย่างเพลง เพื่อ มวลชน ก็นำมาจากบทกวีของเค้านี่เอง)

+ อืม ... พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ตอนนี้มันอาจกลายเป็น "ศักดินาเก่า" (ก็คืออันที่คุณจิตรต่อสู้อยู่) กับ "ศักดินาใหม่" (ที่มีเงินมากมายในมือ และใช้เงินนั้นเป็นตัวสร้างให้เกิดอำนาจของตัวเองขึ้นมา) ... เมื่อโครงสร้างของชนชั้นทางสังคมมันซับซ้อนเยี่ยงนี้ ถ้าคุณจิตรมีชีวิตอยู่มาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็อาจเกิดความงุนงง ว่าจะต่อสู้กับใครดี ใครกันแน่ที่สูบเลือดสูบเนื้อประชาชนเอาไปปรนเปรอความร่ำรวยของตัวเอง ญาติโก และพวกพ้องอ่ะครับ

+ ก็ขอสัมผัสในเชิงเนื้อหาทางศิลปะ ส่วนความหมายแฝงในเนื้อหา (ซึ่งไม่ตรงกับจริตของผมสักเท่าไหร่) ขออนุญาตละวางไว้แล้วกันนะครับ ... และถ้าพิจารณาเฉพาะตัวบทกลอน นับว่าคุณจิตรเป็นคนที่สามารถนำถ้อยคำมาทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้เยี่ยมคนหนึ่งทีเดียวอ่ะครับผม


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 16 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:57:19 น.  

 
ขอบคุณข้อมูลบทความและบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ค่ะ กำลังหาอยู่พอดี


โดย: Singthong IP: 58.8.166.99 วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:35:22 น.  

 
มีสาระดีค่ะ


โดย: yokie ava IP: 124.120.174.183 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2552 เวลา:15:42:26 น.  

 
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย


โดย: KP IP: 222.123.206.33 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:13:48 น.  

 
ขอคารวะสหายด้วยอุดมการณ์
เราจักต้องทำเพื่อประชาอยา่งแท้จริง
ขออุดมการณ์ของสหายอย่าได้แปรเปลื่อน
หากเราตายก็ยอมตายเพื่อประชาชน


โดย: สัจธรรมสัมพันธ์ IP: 192.168.2.58, 61.19.213.77 วันที่: 9 ธันวาคม 2552 เวลา:21:23:59 น.  

 
ผมก็เป็นแฟนคนหนึ่งคับ

เก็บหนังสือของเขาได้เกือบทุกเล่ม

ถูกเก็บไปเผาทิ้งเยอะสมัย ตค 19

หลังๆมาเก็บใหม่ ขาดอยู่เล่มเดียวคือ

"คาร์ล มากซ์"

ใครมี จะสงเคราะห์ขายต่อ

ช่วยบอกด้วยคับ จาขอบคุงหลาย



โดย: Dingtech วันที่: 9 มกราคม 2553 เวลา:19:14:25 น.  

 
ดิฉันเกิด2505 เพิ่งมารู้จัก/อ่านเรื่องราวของคุณจิต เร็วๆนี้ค่ะ แต่ตั้งใจไว้ว่าจะทำงานเพื่อชาตเป็นประเด็นหลักค่ะ แต่ชักจะหมดแรง เพราะสู้กับการคอรัปชั่น พวกพ้อง ไม่ไหวจริงๆ ขอยกย่องคนที่ทำงานด้วยอุดมการณ์จริงๆ


โดย: ยุง IP: 124.121.49.34 วันที่: 21 ธันวาคม 2553 เวลา:11:02:03 น.  

 
ดิฉันเกิด2505 เพิ่งมารู้จัก/อ่านเรื่องราวของคุณจิต เร็วๆนี้ค่ะ แต่ตั้งใจไว้ว่าจะทำงานเพื่อชาติเป็นประเด็นหลักค่ะ แต่ชักจะหมดแรง เพราะสู้กับการคอรัปชั่น พวกพ้อง ไม่ไหวจริงๆ ขอยกย่องคนที่ทำงานด้วยอุดมการณ์จริงๆ


โดย: ยุง IP: 124.121.49.34 วันที่: 21 ธันวาคม 2553 เวลา:11:07:14 น.  

 
ผมเป็นคนหนุ่มคนหนึ่งชอบอ่านหนังสืองานเขียนของคุณจิตร หลายคนว่าผมบ้าอ่านอะไรก็ไม่รู้ แต่พวกเขาเหล่านั้นเปรียบไม่ได้กับเศษดินที่ทีติดบนฝาเท้าคุณจิตรเลย ผมเชิดขูท่านมากครับ


โดย: นกไร้ขาตัวที่ 13 IP: 115.67.160.213 วันที่: 12 กันยายน 2555 เวลา:23:56:18 น.  

 

ขอบคุณ คุณพ่อคุณแม่คุณจิตร ที่มีลูกชายที่เก่งกล้าผู้คนชื่นชมเชิดชูในตัวเขา
ทำให้คนรุ่นหลังรู้เรื่องราวต่างๆในอดีตผ่านตัวอักษรของเขา


โดย: นภาภรณ์ โพธิ์อ่อน IP: 223.207.160.107 วันที่: 23 ธันวาคม 2555 เวลา:9:34:24 น.  

 


โดย: สมพร พงษ์ไทย IP: 49.48.141.174 วันที่: 24 กรกฎาคม 2556 เวลา:20:52:01 น.  

 
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน

ผมชอบท่อนนี้มากครับ
คนจำนวนมากด่าทอเราว่าโง่ว่าบ้าที่มายุ่งกับเรื่องพรรค์นี่ แต่อุดมการณ์พวกเขามีไม่ถึง0.001%ของ คุณ จิตร ภูมิศักดิ์เลยครับ


โดย: สหายลิงกัง (สมาชิกหมายเลข 1412153 ) วันที่: 9 พฤษภาคม 2557 เวลา:14:09:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.