พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
ประวัติความเป็นมาของ ขนบฐานพระพุทธรูป-ฐานพระเครื่อง

ประวัติความเป็นมาของ ขนบฐานพระพุทธรูป-ฐานพระเครื่อง



เมื่อครั้งมีการสร้าง "พระพุทธรูป" เป็นรุ่นแรกๆ ในแถบเอเชียใต้ นั้น อาสนะขององค์พระพุทธเจ้าจะจำลองมาจาก "ฐานใต้โพธิบัลลังก์" ถ้าหากเป็นพระพุทธรูปยืนมักไม่ทำฐานรอง แต่จะทำเป็นแกนเหล็กเสียบยึดองค์พระกับพื้น หรือจำหลักติดกับผนังฝาไปเลย หากประทับนั่งก็จะจำลองเป็น "ฐานหน้ากระดาน" หรือ "ฐานเขียง" อันมีลักษณะเรียบและโค้งเป็นครึ่งวงกลม หรือเป็นวงกลมรอบองค์พระ ประการสำคัญในการสังเกตคือ ฐานพระพุทธรูปยิ่งเก่าจะยิ่งเรียบง่ายไม่มีลวดลายใดๆ

ด้วยแนวคิด "คติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ" ที่แพร่หลายทั้งในลัทธิพราหมณ์และพุทธ เนื่องจากมีกำเนิดจากแหล่งเดียวกัน ทำให้องค์พระพุทธรูปและบรรดาเจดีย์ในพุทธศาสนาได้แก่ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุเทสิกเจดีย์ มีลักษณะเป็นแกนกลางของจักรวาลไปด้วย ดังนั้นฐานของเจดีย์ประเภทต่างๆ จึงถูกจินตนาการให้มีสภาพเป็นป่าหิมพานต์ อันตั้งอยู่ ณ เชิงเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วย ฝูงสัตว์ใหญ่น้อย และสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ ดังนั้นจึงเห็นฐานขององค์พระจะจำหลักเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ หรือทำเป็นรูปขาสิงห์ อันหมายถึง ราชสีห์ในป่าดังกล่าว หากให้ครบองค์ประกอบจะมี น่องสิงห์ เล็บสิงห์ ครีบสิงห์ และนมสิงห์ด้วย ซึ่งท่านอาจจะเห็นได้ชัดเจนใน "โต๊ะหมู่บูชา" ที่ทำโค้งเป็นขาสิงห์ เพราะถือว่าด้านบนเป็นเขาพระสุเมรุ

นอกจากนี้ คติพุทธศาสนายังเชื่อในความเกี่ยวพันของดอกไม้ประจำศาสนาชนิดหนึ่ง ซึ่งได้แก่ "ปทุมมาลย์" หรือ "ดอกบัว" ดังนั้นช่างจึงรังสรรค์ฐานอีกชั้นหนึ่งของสิ่งสักการะให้เป็นรูปดอกบัว บ้างเป็นดอกบัวคว่ำ บ้างทำเป็นดอกบัวหงาย หรือทำทั้งบัวคว่ำบัวหงาย เราเรียกว่า "ฐานปัทม์" บางครั้งเป็นการยากที่จะทำดอกบัวเป็นกลีบๆ ติดเข้าไปก็ทำเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการคว่ำการหงาย โดยสังเกตได้จากด้านข้างซึ่งฐานชั้นนี้จะไม่โค้งเป็นขาสิงห์ หากแต่จะโค้งเป็นบัวบานและโค้งเป็นบัวคว่ำ ตรงกลางอาจทิ้งพื้นที่รอยต่อไว้เป็นท้องไม้

ดังนั้น "ขนบฐานพระพุทธรูปและขนบฐานพระเครื่อง" จะมีภาพรวมเหมือนกันคือ ชั้นล่างสุดจะเป็นฐานหน้าเรียบ ที่เรียกว่า "ฐานหน้ากระดาน หรือฐานเขียง" (เนื่องจากเรียบและโค้งเหมือนเขียงสับหมู) ถัดขึ้นไปจะเป็น "ชั้นฐานขาสิงห์" ชั้นที่สามอยู่บนสุดจะทำเป็น "ฐานปัทม์หรือฐานบัว" ซึ่งเราจะเรียกฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปว่า "ฐานชุกชี" (อ่านว่า ชุก-กะ-ชี) ที่มีเค้าว่าจะมาจากภาษาเปอร์เซียแปลว่า ฐานที่นั่ง แต่หากแปลตามตัว จะหมายถึง ที่รวมของพระสงฆ์ (ชีหมายถึงนักบวช) เนื่องจากมักนิยมนำผ้าทิพย์ห้อยพาดลงตรงกลางจึงเรียกกันว่า "ฐานผ้าทิพย์" และบ้างเรียก "วัชรอาสน์" อีกด้วย

ฐานของพระเครื่องนั้น มีพัฒนาการและขนบเช่นเดียวกัน ที่มีฐานเขียงรองชั้นเดียว เช่น พระผงสุพรรณ ที่มีฐานหลายชั้น เช่น พระรอด ส่วนที่เห็นเป็นขนบฐานสามชั้นชัดเจน ได้แก่ พระสมเด็จฯ ของหลวงปู่โต ชั้นล่างสุดทำเป็นแท่งทึบตันปลายสองด้านตัดตรงเรียก "ฐานเขียง" ชั้นต่อมาสองข้างฐานตวัดโค้งเป็น "ขาสิงห์"

ส่วนฐานชั้นบนสุดทำเป็นแนวยาวกลมซึ่งก็คือ "ฐานปัทม์หรือฐานบัวคว่ำบัวหงาย" ครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

นำมาจาก //www.itti-patihan.com/ประวัติความเป็นมาของ-ขนบฐานพระพุทธรูป-ฐานพระเครื่อง.html




Create Date : 29 ตุลาคม 2556
Last Update : 29 ตุลาคม 2556 1:44:39 น. 0 comments
Counter : 2406 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.