Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๓๖ ลักษณะพุทธศาสนา - ญาณทัสสนวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



วิสุทธิขั้นกำจัดกิเลสได้หรือพ้นโลก

จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็น ญาณทัสสนวิสุทธินี้ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔ วิสุทธิข้อที่ ๗ นี้จึงเป็นญาณทัสสนะ ความรู้เห็นในอริยมรรค ๔ อันได้แก่ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค จึงเป็นญาณทัสสนะที่เป็นโลกุตระอันแปลว่าอยู่เหนือโลก ฉะนั้นวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ จึงเป็นวิสุทธิซึ่งเป็นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลก หรือว่าเป็นโลกุตรวิสุทธิ วิสุทธิที่อยู่เหนือโลก ส่วนวิสุทธิ ๖ ข้อข้างต้น ตั้งแต่สีลวิสุทธิจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นวิสุทธิที่ยังเป็นโลกิยธรรม ธัมมะที่ยังเกี่ยวกับโลก หรือเป็นโลกิยวิสุทธิ วิสุทธิที่ยังเกี่ยวกับโลกหรือยังเป็นขั้นโลก ฉะนั้นจึงพึงเข้าใจว่าขั้นแห่งธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น เบื้องต้นก็ยังขั้นโลกหรือขั้นโลกิยธรรม ส่วนขั้นที่กำจัดกิเลสได้เรียกว่าขั้นโลกุตรธรรมที่แปลว่าพ้นโลกหรือว่าเหนือโลก และแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ คือเป็น ขั้นปุถุชน ที่แปลว่าคนที่ยังมีกิเลสหนาแน่น “ปุถุ” แปลว่าหนาหรือมาก ฉะนั้นจึงหมายถึงคนจำนวนมากก็ได้ กับ ขั้นอริยชน คือคนที่เป็นอริยะ อันหมายถึงว่ากำจัดกิเลสได้ และคำว่าอริยะนี้ก็ใช้เป็นชื่อของหมู่คนที่มีความเจริญ ดังที่แสดงไว้ในพุทธประวัติ ว่าในชมพูทวีป ในขั้นแรกก็เป็นที่อาศัยของหมู่ชนอันไม่มีความเจริญเรียกว่า “มิลักขะ” หรือว่า “ทัสสยุ” แต่ต่อมามีชนที่เรียกตัวเองว่า “อริยะ” ได้ยกเข้ามาอาศัยอยู่ และก็ปราบพวกมิลักขะหรือทัสสยุนั้นให้พ่ายแพ้ไป และทำพวกนั้นให้เป็นทาส พระพุทธเจ้าก็ได้ประสูติขึ้นในหมู่ชนเหล่าอริยะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงกำจัดกิเลสได้สิ้นเชิง และได้ทรงประกาศพุทธศาสนาสั่งสอนธัมมะให้หมู่เวไนยนิกรได้ดวงตาเห็นธรรมและกำจัดกิเลสได้ และก็ได้เรียกหมู่ชนที่ยังกำจัดกิเลสไม่ได้ว่าปุถุชน และก็เรียกเหล่าชนที่กำจัดกิเลสได้ว่าอริยชน แต่คำว่าอริยะนี้ ภาษาสันสกฤตว่าอารยะ ดังที่เรามาเรียกกันในบัดนี้ว่าอารยประเทศ หรือเรียกหลักธรรมที่ปฏิบัติสำหรับชนที่มีความเจริญหรือหมู่คนที่มีความเจริญว่าอารยธรรม ก็คือคำว่าอริยะในภาษาบาลีนั้นเอง เป็นคำเดียวกัน

อริยบุคคล

อริยชนนั้นก็มาจากปุถุชนนั้นเอง ในเบื้องต้นก็ยังเป็นปุถุชน และปุถุชนนี้เองถ้ายังมีกิเลสหนาแน่นมาก ไม่มีดวงตาที่จะเห็นธัมมะแม้ในขั้นต้นขั้นต่ำ ก็เรียกว่าอันธพาลปุถุชน ปุถุชนที่เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลาเหมือนอย่างเป็นผู้บอด ไม่ใช่หมายความว่าตานอกหรือตาเนื้อบอด แต่หมายความว่าตาใจบอด คือไม่มีปัญญาที่จะรู้เห็นธัมมะแม้ที่เป็นขั้นต้นขั้นต่ำ พูดง่ายๆ ว่าไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไร เมื่อปุถุชนผู้ได้สดับธัมมะของพระอริยะคือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้มีศรัทธา ได้มีปัญญา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ แต่ยังไม่ตัดกิเลสได้ ก็เรียกว่ากัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่ดีงาม ต่อเมื่อตัดกิเลสได้จึงจะเรียกว่าอริยชน และสำหรับที่ตัดกิเลสได้นี้ก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือที่ตัดกิเลสได้บางส่วนกับตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ตัดกิเลสได้บางส่วนนั้นก็มี ๓ คือ โสดาบัน แปลว่าผู้ถึงกระแสแห่งธรรมตัดสังโยชน์ได้ ๓ สกทาคามี แปลว่าผู้มาอีกก็เพียงครั้งเดียว ก็ตัดสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนอย่างโสดาบันนั่นแหละ แต่ทำกิเลสให้เบาบางลง คือทำราคะโทสะโมหะให้เบาบางลงยิ่งขึ้นได้อีก อนาคามี แปลว่าผู้ไม่มาอีก ที่ท่านแสดงว่าไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสและนิพพานในพรหมชั้นนั้น ตัดสังโยชน์ได้ ๕ กับอรหันตบุคคลหรือพระอรหันต์ ตัดสังโยชน์ได้ ๑๐

บุคคล ๔ จำพวกนี้เรียกว่า อริยบุคคล ดังที่ได้สวดในบทสังฆคุณว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือคู่แห่งบุรุษบุคคล ๔ คือ บุคคล ๔ คู่ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา นับเรียงตัวก็เป็นบุรุษบุคคล ๘ บุรุษบุคคล ๔ คู่ก็คือ คู่ที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล คู่ที่ ๒ พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล คู่ที่ ๓ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล คู่ที่ ๔ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล นับรายบุคคลก็เป็น ๘ นับเป็นคู่ก็เป็น ๔ คู่ดั่งนี้ และท่านผู้ที่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลแล้ว ก็เรียกว่าโสดาบัน พระผู้ตั้งอยู่ในสกาทาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผลแล้ว ก็เรียกว่าสกทาคามีหรือสกทาคามีบุคคล พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผลแล้ว ก็เรียกว่าอนาคามีหรืออนาคามีบุคคล พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว ก็เชื่อว่าพระอรหันต์หรืออรหันตบุคคล

โลกุตรธรรม

อันมรรคผลดังกล่าวกับนิพพานอีกหนึ่ง เรียกว่าโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลกหรือธัมมะที่พ้นโลก และนิพพานอันเป็นข้อที่ ๙ นี้ ท่านเรียกว่าอนุปาทาปรินิพพานก็มี คำว่า “อนุปาทาปรินิพพาน” นี้แปลว่าปรินิพพาน คือดับกิเลสได้โดยรอบ คือดับกิเลสได้หมดสิ้น อนุปาทาไม่ยึดมั่น คือไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งสิ้น เรียกว่าอนุปาทาปรินิพพาน แต่ก็เรียกสั้นคำเดียวว่า นิพพาน อันหมายความว่าดับกิเลส แต่ที่เป็นนิพพานอย่างสูงสุดก็คือดับกิเลสได้ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาดูนิพพานที่ท่านใช้ในที่ต่างๆ แล้วก็สรุปลงได้ ว่าอันมรรคผลที่ตัดกิเลสก็ยังมีแบ่งเป็น ๒ คือตัดกิเลสได้บางอย่าง กับตัดกิเลสได้ทั้งหมด นิพพาน ก็เป็นอย่างเดียวกัน ตัดกิเลสได้บางอย่างก็เป็นนิพพาน ตัดกิเลสได้ทั้งหมดก็เป็นนิพพาน และที่ตัดกิเลสได้ทั้งหมดนี่แหละจึงเรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน คือดับกิเลสได้โดยรอบ ได้โดยสิ้นเชิง ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลกในพุทธศาสนานั้น จึงมี ๙ อันได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑

อันมรรคผลนิพพานนี้ท่านแสดงไว้ว่ามรรคนั้นเมื่อตั้งเป็นมรรคจิตขึ้น ก็ดับ ผลนั้นเมื่อเป็นผลจิตขึ้น ก็ดับ ส่วนนิพพานนั้นเป็นอมตธรรม ไม่เกิดไม่ดับ เป็นธัมมะที่บรรลุถึง ตามที่ได้เคยอธิบายแล้ว ว่านิพพานนั้นตามศัพท์แปลว่าออกจากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด คำว่าเครื่องร้อยรัดนั้นมาจากคำว่าวานะ คือนิพพานนั้นประกอบขึ้นด้วยศัพท์ว่า นิ แปลว่าออก กับวานะ แปลว่าเครื่องร้อยรัด หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่าลูกศร มาประกอบเป็นคำว่านิพพาน ก็แปลว่าออกจากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดหรือว่าออกจากกิเลสที่เป็นเหมือนอย่างลูกศรเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นเมื่อดับกิเลสได้ทั้งหมด สภาพจิตบริสุทธิ์สิ้นเชิงไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งหมด หรือไม่มีลูกศรคือกิเลสเสียบแทงทั้งหมด ถอนลูกศรคือกิเลสเสียบแทงจิตทั้งหมดแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี้คือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพจิตที่เป็นนิรามโย ไม่มีโรคคือกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเสียแทงทั้งหมด เป็นจิตที่มีอนามัยสมบูรณ์ มีเสรีอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีโรคสิ้นเชิง โรคคือกิเลสเป็นเครื่องเสียบแทงให้เจ็บช้ำลำบาก ไม่มีลูกศรเสียบแทงใจให้เป็นทุกข์ทั้งหมด สภาพจิตที่เป็นดั่งนี้เป็นสภาพจิตที่เป็นนิพพาน หรือเป็นนิพพานธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิต ซึ่งดำรงอยู่ตลอดไป แต่ว่ามรรคนั้นทำหน้าที่กำจัดกิเลส เมื่อทำหน้าที่กำจัดกิเลสได้แล้วก็สิ้นหน้าที่มรรค ผลนั้นเล่าก็เป็นผลของการกำจัดกิเลส เมื่อเป็นผลขึ้นแล้วก็หมดหน้าที่ เพราะฉะนั้นสภาพนิพพานจึงดำรงอยู่ตลอดไป

เพราะฉะนั้นจึงมีเปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างการเดินทางไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง เช่นว่าการเดินทางไปสู่พระปฐมเจดีย์ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นที่ไปเพื่อนมัสการ การไปนั้นเป็นมรรค จะไปด้วยรถยนต์ จะไปด้วยรถไฟ หรือจะไปด้วยพาหนะอะไร ตลอดจนถึงเดินไปก็ตาม เป็นการไปที่เทียบได้กับมรรค การถึงพระปฐมเจดีย์เทียบได้กับตัวผล และที่ถึงคือพระปฐมเจดีย์นั้นก็คือนิพพาน อันการไปนั้นเมื่อไปจนถึงก็สิ้นหน้าที่ของการไป เรียกว่าการไปก็ดับ ก็ถึง ถึงนั้นก็มีหน้าที่เท่าที่ไปถึง เมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ของผล ผลก็ดับ จึงอยู่แต่ที่ถึงคือพระปฐมเจดีย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นการไปเมื่อถึงก็หมดหน้าที่ของการไป และเมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงว่ามรรคกับผลนี้เป็นสังขตธรรม ธัมมะที่มีปัจจัยปรุง เพราะว่าต้องปรุงต้องแต่งคือต้องปฏิบัติ ปุถุชนหรือสามัญชนหรือแม้แต่กัลยาณปุถุชนก็ต้องปฏิบัติ เมื่อยกเอาวิสุทธิ ๗ นี้ขึ้นเป็นทางปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ตั้งแต่สีลวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงข้อที่ ๖ คือปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งข้อที่ ๖ นี้เมื่อปฏิบัติจนถึงวิปัสสนาญาณข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปตามสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ ท่านแสดงว่าเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของความเป็นปุถุชน คือเมื่อปฏิบัติในสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ และจับปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานจับตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อที่ ๖ ซึ่งทุกข้อนี้คือตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิมาจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิรวมเป็น ๔ ข้อ นี้คือเป็นการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิปัสสนาโดยตรง และเมื่อปฏิบัติมาจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก็คือวิปัสสนาญาณ ๙ ถึงข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณดังกล่าวนั้น ก็เป็นอันว่าได้ถึงที่สุดของวิปัสสนาญาณในภูมิของปุถุชน

วิปัสสนาญาณ ๑๖ ชั้น

เมื่อได้บรรลุถึงขั้นวิปัสสนาญาณที่สุดของภูมิของปุถุชนดั่งนี้แล้ว สืบขึ้นไปจะบรรลุ โคตรภูญาณ อันแปลว่าญาณครอบโคตร อันหมายความว่าเป็นญาณที่อยู่ในระหว่างแห่งภูมิปุถุชนและภูมิอริยชน เทียบได้เท่ากับเส้นขีดคั่นพรหมแดนระหว่างประเทศ เมื่อจะก้าวข้ามประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ก็จะต้องผ่านเส้นขีดคั่นพรหมแดนนี้ ฉันใดก็ดี ความที่จะก้าวข้ามจากภูมิปุถุชนไปสู่ภูมิอริยชนก็จะผ่านโคตรภูญาณ แปลว่าญาณครอบโคตรคือครอบระหว่างโคตรของปุถุชนกับโคตรของอริยชน โคตรก็คือโคตรตระกูลนี่แหละ ใช้ในความหมายถึงความที่จะข้ามไปจากโคตรคือภูมิปุถุชนไปสู่โคตรคือภูมิของอริยชน และท่านแสดงว่าอันที่จริงนั้นโคตรภูญาณนี้เองเท่ากับเป็นที่สุดของภูมิปุถุชนจริงๆ และวิปัสสนาญาณคือตัวโคตรภูญาณนี้ก็เป็นวิปัสสนาญาณนั้นเอง แต่เป็นวิปัสสนาญาณที่ครอบโคตร เพราะฉะนั้นจึงสูงกว่าเข้าไปสู่โคตรอริยบุคคล จึงบรรลุ มัคคญาณ คือวิปัสสนานั่นเองซึ่งเป็นตัวมรรค กำจัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง และเมื่อได้มัคคญาณคือวิปัสสนาญาณที่เป็นตัวมรรคกำจัดกิเลสได้ ก็ได้ ผลญาณ คือวิปัสสนาที่เป็นตัวผล และต่อจากนั้นก็ได้ ปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่พิจารณารู้ว่ากำจัดกิเลสอะไรได้แล้ว และจะต้องกำจัดกิเลสอะไรต่อไป หรือว่ากำจัดกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว กล่าวคือเมื่อได้มัคคญาณผลญาณที่เป็นขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล สกทาคามิมรรคสกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล อรหัตมรรคอรหัตผล หากได้มรรคผล ๓ ข้างต้น ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่จะละต่อไป เพราะว่ามรรคผลทั้ง ๓ ข้างต้นนั้นละกิเลสได้บางส่วนแล้ว และจะต้องละต่อไป แต่ว่าเมื่อได้อรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละไปแล้วทั้งหมด

มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ ทั้ง ๓ นี้เป็นโลกุตระ ก็นับรวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็น เพราะฉะนั้นญาณทัสสนวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ เมื่อจะกล่าวรวมทั้งหมด ก็นับตั้งแต่โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เป็น ๔ ญาณทั้ง ๔ นี้รวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ และท่านได้แสดงวิปัสสนาญาณทั้งหมด คือนับจากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้รวมเป็นญาณ ๑๖ ชั้น กล่าวคือ ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็นเป็นวิปัสสนาญาณข้อแรก เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า นามรูปววัตถานญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดนามรูป กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัจจยปริคคหณญาณ หรือ ปัจจยปริคคหญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้เหตุปัจจัย ก็มาถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ก็เรียกว่า มัคคามัคคญาณ หรือ สัมมสนญาณ ญาณที่เป็นเครื่องพิจารณาให้รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง นี่รวมเป็น ๓ กับปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในปฏิปทาคือทางปฏิบัติ อันได้แก่วิปัสสนาญาณ ๙ ๙ กับ ๓ ก็รวมเป็น ๑๒ และมาถึงวิสุทธิข้อที่ ๗ ก็ได้ญาณ ๔ ข้อคือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ อีก ๔ ก็รวมเป็น ๑๖ ก็ได้แก่ญาณ ๑๖ ก็เป็นวิปัสสนาญาณทั้งหมด แต่ว่าในวิสุทธิข้อ ๗ นี้ท่านมักจะยกแสดงเพียงมัคคญาณ ว่าได้แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ อันที่จริงนั้นก็รวมเข้าทั้ง ๔ นั่นแหละ คือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าวิสุทธิ ๕ ข้อข้างหลัง ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธินี้เป็นตัววิปัสสนาญาณทั้งหมด

และท่านได้มีแสดงเป็นอุปมาไว้ถึงญาณที่กล่าวในขั้นสูงข้างหลังนี้ ว่าเหมือนอย่างว่าเจ้าของเรือนบริโภคในเวลาเย็น ก็ขึ้นสู่ที่นอนแล้วนอนหลับไป เรือนก็ถูกไฟไหม้ขึ้นมา เจ้าของเรือนตื่นขึ้นเห็นไฟไหม้เรือนก็กลัว จึงได้คิดอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะออกไปได้ไม่ต้องถูกไฟไหม้ เห็นทางแล้วก็รีบหนีออกไป ก็ไปยืนอยู่ในที่ที่พ้นไฟโดยเร็ว การที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ ของปุถุชนทั้งหลายว่าตัวเราของเรา ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนที่บริโภคแล้ว ก็ขึ้นไปสู่ที่นอนและก็หลับไป การที่ได้มีญาณโดยที่ปฏิบัติทางปฏิบัติที่ชอบ ได้เห็นไตรลักษณ์ ได้ญาณ คือความหยั่งรู้ปรากฏว่าขันธ์ ๕ เป็นของน่ากลัว ก็เหมือนอย่างเวลาที่เจ้าของเรือนตื่นขึ้นมา เห็นไฟกำลังไหม้เรือนก็กลัว ญาณที่ทำให้ใคร่จะพ้นออกไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนใคร่ที่จะออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ ก็มองเห็นทางที่จะออก สัจจานุโลมิกญาณ คือญาณที่อนุโลมแก่สัมมาปฏิปทาที่ปฏิบัติมาแล้ว และแก่อริยสัจหรือโพธิปักขิยธรรมที่จะปฏิบัติต่อไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนเห็นทางที่จะหนีออกจากเรือนที่ไฟไหม้ โคตรภูญาณ ก็เหมือนอย่างการที่เจ้าของเรือนที่ไฟไหม้นั้นออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ได้ มัคคญาณ ก็เหมือนอย่างการที่ออกไปได้โดยเร็ว ผลญาณก็เหมือนการที่ออกมาได้แล้วและยืนอยู่ในที่ที่ปลอดภัย ท่านเปรียบไว้อย่างนี้

โลกุตรธรรมเป็นธัมมะที่บรรลุถึงได้

คราวนี้ก็ใคร่จะได้กล่าวว่าการที่กล่าวถึงโลกุตรธรรมหรือกล่าวถึงอริยบุคคลนั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นธัมมะที่สุดเอื้อม เมื่อเป็นปุถุชนหรือเป็นสามัญชนก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่อันที่จริงนั้นความเข้าใจดั่งนั้นไม่ถูก เพราะว่าการที่จะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอริยบุคคลบรรลุถึงโลกุตรธรรมได้ ก็ต้องปฏิบัติมาตั้งแต่ในขั้นธรรมปฏิบัติที่ยังอยู่ในขั้นโลกหรือสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนนั้นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้แสดงวิสุทธิ ๗ นี้มาตั้งแต่ในข้อ ๑ คือตั้งแต่ในข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ นี้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสามัญชนหรือปุถุชนทั้งนั้น และเมื่อได้ปฏิบัติขึ้นมาโดยลำดับแล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลหรือก้าวขึ้นสู่โลกุตรธรรมได้เอง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงถึงโคตรญาณ ก็แปลว่าต้องก้าวขึ้นมาโดยลำดับๆ เหมือนอย่างจะก้าวจากเขตประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งก็ต้องเดินไปโดยลำดับ เมื่อถึงเส้นกั้นเขตแดนอันเป็นโคตรภูญาณ ก็เป็นอันว่าก้าวข้ามเส้นนี้แล้ว ก็ไปสู่อริยภูมิ ไปสู่โลกุตรธรรมได้โดยลำดับ ก็เป็นขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง รวมความเข้าแล้วเวไนยชนคือชนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำได้ก็พึงปฏิบัติได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบวิสุทธิ ๗ นี้ไว้อีกอย่างหนึ่ง ว่าเหมือนอย่างเป็นรถ ๗ ผลัด คือมาจาก รถวินีตสูตร ที่พระสารีบุตรเถระได้สนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรได้ถามท่านพระปุณณมันตานีบุตร ว่าท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสีลวิสุทธิหรือ ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าไม่ใช่ พระสารีบุตรก็ถามไปทีละข้อว่าเพื่อจิตวิสุทธิหรือเป็นต้นไปจนถึงข้อญาณทัสสนวิสุทธิ ว่าท่านปฏิบัติเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ คราวนี้ท่านพระสารีบุตรก็ถามอีก ว่าท่านปฏิบัติเว้นไปจากหรือนอกไปจากวิสุทธิทั้ง ๗ นี้หรือ ท่านพระปุณณะท่านก็ตอบว่าไม่ใช่อีกเหมือนกัน ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไป ว่าถ้าเช่นนั้นท่านปฏิบัติพรหมจรรย์นี้เพื่ออะไร ท่านพระปุณณะก็ตอบว่าเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน คือเพื่อความดับกิเลสโดยรอบคือสิ้นเชิงทั้งหมด ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งหมด ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อท่านถามว่าท่านปฏิบัติเพื่อสีลวิสุทธิหรือ ก็ตอบว่าไม่ใช่ เมื่อถามไปทุกข้อทั้ง ๗ ข้อท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ และเมื่อท่านถามอีกว่าท่านปฏิบัตินอกไปจากหรือเว้นจากวิสุทธิ ๗ นี้หรือ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่อีก ท่านอธิบายอย่างไร ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าคือว่า การปฏิบัติพรหมจรรย์นี้มิใช่ยุติลงแค่วิสุทธิข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และที่ท่านตอบว่าท่านปฏิบัติไม่นอกไปจากทั้ง ๗ ข้อนี้ ก็หมายความว่าท่านก็ต้องปฏิบัติอยู่ในทั้ง ๗ ข้อนี้โดยลำดับนั้นเอง แต่ว่าไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าเพื่อให้บรรลุอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และถ้าหากว่าท่านตอบว่าไม่ใช่แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องปฏิบัติกัน เมื่อไม่ต้องปฏิบัติกันแล้ว ใครๆ ก็บรรลุอนุปาทาปรินิพพานกันได้ แต่ว่าไม่ใช่เช่นนั้น ต้องปฏิบัติ แต่ว่าไม่ใช่ยุติลงเพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงเท่านั้น คือไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าต้องให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด จึงเปรียบเหมือนอย่างการเดินทางด้วยรถ ๗ ผลัดของพระเจ้ากรุงสาวัตถี คือเมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีจะเสด็จจากกรุงสาวัตถีไปสู่เมืองสาเกตโดยรถม้าพระที่นั่ง ก็จะต้องเปลี่ยนกันถึง ๗ ผลัด คราวนี้เมื่อเสด็จโดยรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๑ ไปจนถึงผลัดที่ ๒ ก็ขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๒ ก็เรื่อยๆ ไปดั่งนี้จนถึงผลัดที่ ๗ ก็เสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๗ ก็ไปถึงประตูเมืองสาเกต ก็ลงจากรถม้าพระที่นั่งเข้าสู่เมืองสาเกต ฉันใดก็ดี การปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗ ข้อนี้ก็ต้องปฏิบัติไปทั้ง ๗ ข้อโดยลำดับ จนถึงข้อที่ ๗ ก็จะบรรลุต่อไปถึงอนุปาทาปรินิพพานอันเป็นข้อที่สุดของพรหมจรรย์ท่านสอนไว้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นในพรรษากาลนี้ได้สอนลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงวิสุทธิ ๗ ก็เป็นการที่กล่าวลักษณะพุทธศาสนาในด้านสรุปเข้าในไตรสิกขา คือสีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา อันสีลสิกขานั้นก็ได้แก่การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นสีลวิสุทธิ จิตตสิกขาเป็นการปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นจิตตวิสุทธิ ปัญญาสิกขานั้นก็ได้แก่ตัววิปัสสนาปัญญาอันได้แก่วิสุทธิอีก ๕ ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ก็เป็นอันว่าหลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นหลักปฏิบัติจิตตภาวนา จะเป็นเครื่องอบรมจิต ทำจิตนี้ให้บริสุทธิ์จากอุปกิเลส คือกิเลสที่เข้ามาทำจิตให้เศร้าหมองไป ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ถึงจิตตภาวนาว่า “จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง จิตนี้เศร้าหมองไปด้วยอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา อันทำจิตให้เศร้าหมอง จิตนี้บริสุทธิ์หมดจดหลุดพ้นได้จากอุปกิเลส พระองค์ตรัสอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วว่าเป็นผู้มีจิตตภาวนา”

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันยุติการอบรมในพรรษากาลนี้ในวันนี้เพียงเท่านี้ ก็ขอให้มีความเจริญในพระธรรมวินัย ในสัมมปฏิบัติ พร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกท่านเทอญ

๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก
หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2554 12:20:39 น.
Counter : 1534 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๕ ลักษณะพุทธศาสนา - ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๖ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ เมื่อได้ความรู้จักว่าอะไรเป็นทาง อะไรมิใช่ทาง ตามอธิบายในวิสุทธิข้อที่ ๕ แล้ว ก็จะทำให้การปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้ดำเนินตรงแน่วไปสู่ทางแห่งวิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นแจ้งรู้จริงในสังขารทั้งหลาย โดยไม่มีความรู้ผิดเห็นผิดที่จะทำให้พลัดหรือหลงทางแห่งวิปัสสนาไป เพราะฉะนั้นในขั้นที่จะปฏิบัติแน่วไปตรงทางแห่งวิปัสสนาอันแท้จริงนั้น ก็ใคร่จะกล่าวย้ำตรงหัวต่อนี้ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งก็คือหลงผิดในทางแห่งวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้วเป็นอันตรายสำคัญแห่งความปฏิบัติก้าวหน้า วิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่จะเข้ามาทำให้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเศร้าหมองไป ที่ท่านยกขึ้นไว้ ๑๐ ประการนั้น ก็เป็นข้อสำคัญ แต่ว่าแม้จะมีข้ออื่นอีกอันหมายความว่าความเห็นผิดเข้าใจผิดในนิมิตเป็นต้น ซึ่งดูเหมือนจะนอกไปจากนั้นอีก เมื่อเป็นทางที่ผิดแล้ว ก็นับเข้าในวิปัสสนูปกิเลสทั้งสิ้น ดังที่ยกมาเล่าแล้วที่พระผู้ปฏิบัติได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแสดงแนะนำนั้น ซึ่งก็ล้วนเป็นนิมิตคือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นขึ้นมา อันเป็นภาพมายาที่หลอกให้เข้าใจผิด เพราะว่าข้อที่แนะนำนั้นเป็นข้อที่ปฏิบัติมิได้ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องทำความรู้ล่วงหน้าไว้ แม้ว่าจะเกิดนิมิตมองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสแนะนำอย่างโน้นอย่างนี้อะไรโดยตรง แต่เมื่อข้อแนะนำนั้นๆ ไม่ถูกต้อง ก็เป็นอันว่านั่นเป็นภาพมายา และภาพมายานี้ ถ้าไปปฏิบัติด้วยความหลงผิดก็เกิดอันตราย

มีอีกเรื่องหนึ่ง ได้รู้จักเองกับพระองค์หนึ่ง เป็นพระชาวต่างประเทศซึ่งไปปฏิบัติอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ก็นั่งปฏิบัติทำกรรมฐาน แต่ว่าจะปฏิบัติด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่ก็ได้ปีติได้สุขในการปฏิบัติ ซึ่งปีติสุขในการปฏิบัตินั้นแม้ในขั้นสมาธิก็ย่อมได้ ดังที่มีแสดงไว้ในองค์ของปฐมฌานคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เอกัคคตาก็คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว วิตกก็คือความนำจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน วิจารก็คือความที่ประคองจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐานไม่ให้ตก ปีติ ความอิ่มใจ สุขก็คือความสบายกายสบายใจแล้วก็เอกัคคตา นี่ในขั้นสมาธิ ก็ได้มีนิมิตเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาทางหน้าต่าง และก็เสด็จออกไปทางหน้าต่าง ก็ตามเสด็จออกไปทางหน้าต่าง รุ่งขึ้นก็มีคนเห็นพระรูปนั้นตกมาสลบอยู่ที่ข้างกุฏิตรงหน้าต่างนั้น ก็นำไปส่งโรงพยาบาล พยาบาลแก้ไขกันต่อไป ดั่งนี้อาจจะเป็นสมถูปกิเลสก็ได้ คือสิ่งที่มาทำให้การปฏิบัติในสมถกรรมฐานเศร้าหมองไป และแม้ในขั้นปฏิบัติวิปัสสนานี้ ก็ย่อมจะได้ภาวะของจิตเป็นความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่งดังที่แสดงแล้วในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะปรากฏนิมิตเป็นประการใดประการหนึ่งก็ตาม ซึ่งนอกทางวิปัสสนาไปแล้วก็อย่าไปยึดถือ อย่าไปหลงผิดว่าเป็นจริงเป็นจัง อันจะทำให้เป็นอันตรายแก่วิปัสสนาปฏิบัติเอง ต้องถือทางปฏิบัติแห่งวิปัสสนา กล่าวคือจับพิจารณาขันธ์ ๕ หรือนามรูปโดยไตรลักษณ์ต่อไปเป็นประการสำคัญ คือไม่ทิ้งวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเอง ต้องถือวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเป็นหลักต่อไป โดยไม่ไปหลงพะวักพะวงกับภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น และข้อนี้ก็ได้กล่าวไว้แล้ว ว่าอันภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ นั้น อาจบังเกิดขึ้นได้แก่ผู้ปฏิบัติทุกคนในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ บางอย่างก็เป็นผลของวิปัสสนาปฏิบัติเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ คือเมื่อจิตได้ญาณคือความหยั่งรู้ในวิปัสสนาดีขึ้นโดยลำดับ ก็ชำระฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ทำให้จิตที่เคยดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายกลับสงบลง และก็ทำให้จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลสนั้นผ่องใสขึ้น จึงได้ความสงบได้ความสุขอันประณีต ก็ปรากฏออกมาเป็นตัวสุขเวทนา กายใจสบาย เหมือนอย่างว่าการนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้มีลมพัดสบาย คราวนี้ถ้าไปติดกับความสบายนั้นเสียแล้ว ก็ทำให้นั่งพักอยู่นั่นแหละ ไม่ออกจากต้นไม้เดินทางต่อไป เพราะจะต้องเดินทางกันต่อไปอีก ยังไม่สิ้นสุดของการเดินทาง หรือบางทีก็ไปเข้าใจว่าต้นไม้ที่ไปนั่งพักนั้นเป็นสุดทางแล้ว เห็นว่าเป็นความสุขเป็นความสงบพอแล้ว ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าทำให้ชะงักการปฏิบัติอยู่แค่นั้น

อันผลต่างๆ หรือภาวะต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นนั้น ตัวของภาวะนั้นๆ ไม่ใช่เป็นตัวกิเลส ไม่ใช่เป็นตัววิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้จะพึงพบ ก็เป็นอาการหรือเป็นภาวะที่ปรากฏขึ้นตามขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง เพราะฉะนั้นในตัวเองของสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าว แต่จะเป็นก็ในเมื่อผู้ปฏิบัติได้หลงยึดถือเข้ามาหรือไปหลงติด เมื่อไปหลงติดเข้าเมื่อใด ภาวะหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นนั้นก็กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไป เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง อย่าไปยึดถืออย่าไปติด ปล่อยให้ผ่านๆ ไปเสีย แล้วก็ปฏิบัติในทางวิปัสสนาต่อไปคือเดินทางปฏิบัติต่อไปไม่หยุดอยู่แค่นั้น แม้จะเป็นนิมิตอะไรปรากฏเห็นโน่นเห็นนี่ก็ตาม จะเห็นพระพุทธเจ้าเห็นเทวดามารพรหม ผีสาง เห็นป่าเห็นเขา เห็นอะไรทั้งนั้น นั่นเป็นนิมิตทั้งนั้น อย่าไปยึดถือเกี่ยวเกาะ อย่าไปหวาดกลัว อย่าไปหลงตื่น อย่าไปเชื่อฟัง เป็นนิวรณ์ที่แวบเข้ามาในใจได้ เรียกว่าเป็นสัญญาเก่าก็ได้ หรือว่าจะเป็นมารอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาขัดขวางก็ได้ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปหลงยึดถือทั้งนั้น ปล่อยวางไป อะไรจะปรากฏขึ้นมาก็ช่าง ก็จับปฏิบัติคือว่าเดินทางปฏิบัติต่อไป

พิจารณาสรุปลงในสังขารโดยไตรลักษณ์

อีกข้อหนึ่งก็คือให้ทำความเข้าใจ ว่าอารมณ์ของวิปัสสนาอันเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาภูมินั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยกเอาขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาพิจารณา หรือว่ายกเอาแต่เพียงขันธ์ ๕ ย่อมาเป็นนามรูป ก็สรุปหมดนั่นแหละ อีกคำหนึ่งก็คือว่ายกเอาคำว่าสังขารขึ้นมาเป็นที่รวมสรุป คำว่าสังขารนั้นแปลว่าสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง ทั้งหมดนั่นแหละรวมเข้าในคำว่าสังขารได้ ทั้งขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป ทั้งอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สิ่งซึ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมดรวมเข้าในคำว่าสังขารนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าสังขารเป็นบทสรุปก็มี หรือเรียกว่าพิจารณาสังขารโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ หรือว่าเรียกว่าสภาวธรรม พิจารณาสภาวธรรมโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ คำว่าสภาวธรรมนั้นก็ได้อธิบายมาแล้ว ก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดนั่นแหละ สภาวธรรม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สังขาร ยกเอาคำใดคำหนึ่งขึ้นมาก็ได้ทั้งนั้น คลุมถึงกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นแม้ว่าอะไรจะปรากฏ เป็นเทวดามารพรหม เป็นต้นไม้ภูเขา เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย อะไรที่เป็นนิมิตโผล่เข้ามาในการปฏิบัติแล้วละก็จับเข้าในสังขารนี่ทั้งหมดเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น รวมอยู่ในขันธ์อายตนะธาตุนี่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็อย่าไปตั้งเป็นสมมติบัญญัติอะไรขึ้น อย่าไปตั้งเป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นเทวดาเป็นมารเป็นพรหม เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นภูเขาเป็นต้นไม้ เพราะว่ามาถึงขั้นวิปัสสนานี้ แปลว่าชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิแล้ว ไม่ใช่สัตตสัญญาอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ว่าพิจารณาจับเข้ามาถึงขันธ์อายตนะธาตุถึงสภาวธรรมถึงตัวสังขารนี้ ก็ต้องจับอันนี้แหละเป็นหลัก อย่าให้กลับวกไปหาอัตตสัญญาสัตตสัญญา ความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาขึ้นมาอีก ถ้าปรากฏอะไรขึ้น เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอะไรขึ้น ก็ให้ปล่อยวางทั้งหมด แปลว่าจะดึงให้ผิดทางไปเสียแล้ว ต้องกลับมาเข้าสู่ขันธ์อายตนะธาตุสภาวธรรมสามัญลักษณะ สภาวธรรม สังขาร โดยสามัญลักษณะนี้นั่นแหละทั้งหมด อันนี้แหละเป็นทางตรงโดยตรง เดินต่อไปในทางนี้ เพราะฉะนั้นอารมณ์หรือภาวะอะไรที่บังเกิดขึ้นอันจะทำให้หลงผิดทางไปนั้น ต้องคิดเสียว่าเป็นเรื่องที่บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคน และก็บังเกิดขึ้นตามขั้นตามตอนเป็นผลพลอยได้ก็มี เป็นนิวรณ์หรือเป็นมารเข้ามาก็มี ฉะนั้นก็อย่าไปหลง สำคัญที่ผู้ปฏิบัติเองอย่าไปหลงเข้า ต้องยึดอยู่ในทางของวิปัสสนา คือจับขันธ์อายตนะธาตุสังขารสภาวธรรม เดินไปทางสามัญลักษณะนี่แหละทั้งหมดตรงแน่วไปทีเดียว ไม่พะวงอะไรทั้งหมด เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว วิปัสสนาญาณ ๙ จะบังเกิดขึ้น

วิปัสสนาญาณ ๙

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ

ข้อ ๑ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ ก็คือจะได้ความรู้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งความเกิดทั้งความดับ คือจะเห็นสังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ว่ามีความเกิดขึ้นมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อจับพิจารณารูปหรือขันธ์ ๕ ก็จะเห็นว่าขันธ์ ๕ นั้นเกิดดับไปอยู่ เมื่อจับพิจารณาอายตนะจับพิจารณาธาตุก็จะเห็น ว่าสิ่งทั้งปวงนี้เกิดดับไปอยู่ อันหมายความว่า สังขารข้อใดโผล่ขึ้นมา ก็จะเห็นเกิดเห็นดับของสังขารข้อนั้นพร้อมกันไปทีเดียว ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจ ว่าเช่นมีบุคคลหนึ่งเดินมา มองเห็นด้วยตาก็ดี ด้วยใจคือคิดไปถึงก็ดี ความรู้ความเห็นของผู้ปฏิบัติทำวิปัสสนานั้นจะไม่เห็นว่าคนเดินมา แต่จะเห็นว่าขันธ์ ๕ มาหรือนามรูปมาหรือสังขารมา และจะไม่เห็นแค่นั้น จะเห็นว่าเกิดว่าดับพร้อมกันไปทีเดียว คือสิ่งที่มานั้นเกิดสิ่งที่มานั้นดับ อะไรที่เห็นทางตาก็จะเห็นอย่างนี้ทั้งหมด อะไรที่ได้ยินทางหูก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด อะไรที่ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด อะไรที่เกิดขึ้นทางใจด้วยความคิดก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด คือว่าเห็นขันธ์ ๕ เห็นว่าอายตนะเห็นว่าสังขาร ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งหมด คือไม่ยึดถือว่าเป็นชายเป็นหญิงเป็นช้างเป็นม้าเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นโคเป็นกระบือทั้งหมด แต่จะเห็นเป็นขันธ์เป็นธาตุเป็นอายตนะเป็นสังขาร แล้วขณะที่ได้เห็นที่ได้ยินที่นึกขึ้นนั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นสังขารทั้งหมด และเกิดดับทั้งหมด อันนี้จะรู้สึกว่าต่างจากผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้ คือผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้นั้น สิ่งที่ปรากฏทางอายตนะทั้งหมดนี้ดังเช่นทางตาก็จะเป็นชายเป็นหญิงเป็นต้นไม้เป็นภูเขา เป็นแก้วแหวนเงินทองเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ทั้งหมด ทางหูก็เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ เสียงสรรเสริญเสียงนินทาเสียงเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ทางจมูกก็เป็นกลิ่นที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง รสก็เป็นรสสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถูกลิ้นบ้างไม่ถูกลิ้นบ้าง ทางกายก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทางใจก็เป็นเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้างอะไรต่างๆ เป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ทั้งนั้น เพราะว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปทั้งนั้น แล้วก็ไม่ปรากฏความดับความเกิด ปรากฏเป็นความดำรงอยู่ตั้งอยู่ เกิดข้างต้นก็ไม่เห็น ดับข้างปลายก็ไม่เห็นทั้งนั้น ปรกติเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาแล้วจะไม่เห็นเป็นอย่างนั้น เห็นเป็นสังขารทั้งหมด จะเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด ไม่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งนั้น และเป็นสิ่งเกิดสิ่งดับทั้งนั้น แปลว่าเกิดปรากฏดับปรากฏ เห็นเกิดเห็นดับทันทีพร้อมกันไป ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นข้อที่ ๑ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ

และเมื่อได้ข้อ ๑ นี้แล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณนี้แก่กล้าขึ้น ก็จะเห็นว่าดับ ดับไปแต่เพียงอย่างเดียว อะไรโผล่ขึ้นมาก็เห็นดับทั้งนั้น ไม่มีความตั้งอยู่ปรากฏ เห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นในข้อนี้ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามารดาที่มีบุตร ๓ คน ที่ทำความผิดถูกเขาตัดสินประหารทั้ง ๓ คน เวลาเขานำบุตร ๓ คนไปประหารก็ประหารทีละคน มารดาก็ไปยืนดูอยู่ด้วย เห็นเขาประหารคนที่ ๑ ไปแล้ว และก็กำลังประหารคนที่ ๒ และคนที่ ๓ นั้นกำลังรออยู่ แต่มารดาก็รู้สึกว่าเหมือนอย่างถูกประหารไปแล้วเหมือนกัน แม้ว่าสังขารนั้นจะตั้งอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าไม่มีหวังเสียแล้วที่จะตั้งอยู่ ต้องถูกประหารเป็นอันดับที่ ๓ ต่อไป เพราะฉะนั้นการที่เห็นดับก็เห็นอย่างนี้ แม้ว่าจะเห็นสังขารทั้งหลายปรากฏเป็นรูปเป็นเสียงเป็นต้น แต่ว่าก็จะต้องดับ เพราะฉะนั้นเมื่อวิปัสสนาญาณอันนี้แก่กล้าขึ้นแล้วก็จะเห็นแต่ดับๆ ทั้งนั้น แม้จะตั้งอยู่ก็ดับ ความดับก็จะมาอยู่แล้ว เหมือนอย่างมารดาที่รอบุตรคนที่ ๒ กำลังจะถูกประหาร ยังไม่ถูกประหารก็จริง แต่ว่าก็จะถูกประหารเป็นอันดับต่อไปแล้ว ความหวังที่จะตั้งอยู่ไม่มีแล้ว จึงเห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด ดั่งนี้ก็เป็นข้อที่ ๒ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ก็โดยที่เมื่อมีความเห็นว่าต้องเกิดต้องดับอยู่ดั่งนั้น ก็จึงเป็นเหมือนอย่างว่าเป็นเรือนที่ถูกไฟไหม้ เพราะฉะนั้นเรือนที่ถูกไฟไหม้นั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ไม่กลัวก็เพราะมายืนดูอยู่ข้างนอก ไม่ได้ตั้งอยู่ในเรือนไม่ได้ยืนอยู่ในเรือนที่กำลังไฟไหม้ แปลว่าดูอยู่ข้างนอก ก็เห็นเรือนกำลังถูกไฟไหม้หมดไปเป็นของน่ากลัว ไม่ควรที่จะเข้าไปใกล้เรือนที่กำลังถูกไฟไหม้นั้น ต้องถอยห่างออกมา ฉะนั้นจึงได้ญาณข้อต่อไปก็คือคำนึงเห็นโทษ เมื่อเป็นของน่ากลัวอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่มีโทษไม่มีคุณ ก็เป็นข้อที่ ๔ และเมื่อคำนึงเห็นโทษดั่งนั้น แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ก็เป็นข้อที่ ๕ เมื่อเบื่อหน่ายก็ใคร่ที่จะพ้นไปเสีย ก็เป็นข้อที่ ๖ เมื่อใคร่ที่จะพ้นไปเสีย ก็พิจารณาหาทาง ก็เป็นข้อที่ ๗ การพิจารณาหาทางนั้นก็คือเดินทางปฏิบัติวิปัสสนานั้นต่อไปนั้นเอง และเมื่อได้พบทาง ก็ย่อมจะได้ข้อที่ ๘ คือว่าวางเฉยเสียได้ในสังขารทั้งหลาย ในข้อนี้ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าคนจับปลาวางข้องจับปลาไปในแม่น้ำ เมื่อรู้สึกว่าปลาจะเข้าข้องก็ยกขึ้นมา ก็เอามือล้วงไปจับที่คอของปลา แล้วก็ยกขึ้นมา ก็ปรากฏว่าไม่ใช่ปลาเสียแล้ว เป็นงู เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดความกลัว มองเห็นโทษของงูว่ากัดเข้าก็ตาย ฉะนั้นก็เกิดความหน่ายในงู ก็ใคร่ที่จะพ้นไปเสีย จึงได้จับงูนั้นให้มั่นไม่ให้กัดได้แล้วก็ชูขึ้น แกว่งไปแกว่งมาให้งูอ่อนกำลังลง แล้วก็เหวี่ยงทิ้งไป เมื่อเหวี่ยงทิ้งไปแล้วก็ได้ความสบาย พ้นภัย ท่านเปรียบไว้ว่า ความที่จับยึดถือสังขารทั้งหลายว่าเป็นตัวเราของเรานั้น ก็เปรียบเหมือนว่าจับงูด้วยความหลง ก็คือด้วยความไม่รู้ เหมือนอย่างล้วงลงไปในข้องนึกว่าปลา จับมั่นแต่เมื่อยกขึ้นมาดูแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ปลาแต่เป็นงู เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าเป็นงูก็เปรียบเหมือนอย่างว่าความที่ยึดถือสังขาร เมื่อได้ปัญญามองเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่ดับๆ ไปโดยส่วนเดียว ก็เกิดความรู้เห็นขึ้นมา ว่าความที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรานั้นยึดถือผิดแต่ว่ายังปล่อยไม่ได้ เพราะว่ายังยึดเอาไว้อยู่ ถ้าปล่อยไม่ดีก็จะเป็นอันตราย ปัญญาที่จะปล่อยก็ยังไม่ถึงในขณะนั้น แต่ก็เรียกว่าไม่มองเห็นแล้วว่ายึดถือผิด และก็ปรากฏว่าเป็นของที่น่ากลัวเพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเห็นโทษ เหมือนอย่างว่าจับงูขึ้นมาก็เห็นโทษว่างูมันกัดให้ตายได้ จึงมีความหน่ายงู ก็เหมือนอย่างมีความหน่ายในสังขารทั้งหลาย มีความใคร่จะพ้นจากสังขารทั้งหลาย ก็เหมือนใคร่ที่จะพ้นจากงู คราวนี้พิจารณาที่จะพ้นก็คือพิจารณาหาทางที่จะปล่อยวางสังขารนั้นเอง ก็เหมือนอย่างพิจารณาว่าจะหาทางเหวี่ยงงูออกไปอย่างไร งูจึงจะไม่หวนมากัดเอา เพราะฉะนั้นเมื่อหาทางที่จะปล่อยงูได้ ก็ชูงูขึ้นเหนือศีรษะแล้วก็เหวี่ยงงูทิ้งไปเสียให้ไกล ก็เหมือนอย่างความที่วางสังขารได้ ก็มีความเฉย คือความที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน มีความเบาสบาย อันเรียกว่าวางเฉย อันเป็นข้อที่ ๘ เพราะเมื่อเหวี่ยงงูไปพ้นแล้ว ก็แปลว่าวางเฉยในงูนั้นได้ เมื่อวางสังขารได้ ก็แปลว่าวางเฉยในสังขารทั้งหลายได้

จึงมาถึงข้อที่ ๙ ที่เมื่อได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว ก็พิจารณาโดยสมควร กำหนดรู้อริยสัจ ก็คือพิจารณาถึงความรู้ความเห็นที่ได้มาจนถึงขั้นวางสังขารทั้งหลายลงได้ ได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว กับที่ได้ปฏิบัติมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมาถูกต้องตามแนวอริยสัจ หรือตามแนวโพธิปักขิยธรรม อันเป็นทางที่ถูกต้อง และที่จะปฏิบัติต่อไป ก็เป็นทางที่ถูกต้องแก่โพธิปักขิยธรรมหรือแก่อริยสัจ ที่ท่านมีอุปมาเหมือนอย่างว่า มีมหาอมาตย์ ๘ คนผู้มีหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีของพระราชา ได้ถวายข้อวินิจฉัย พระราชาก็ทรงอนุมัติไปตามข้อวินิจฉัยของมหาอมาตย์ทั้ง ๘ คนนั้น และข้อที่พระราชทานพระบรมราชานุมัติไปนั้น ก็สอดคล้องกับหลักของนิติธรรม อันเป็นพระราชนิติหรือกฏหมายของแผ่นดิน แปลว่าพระราชาทรงอนุมัติไปตามวินิจฉัยของมหาอมาตย์ทั้ง ๘ และก็โดยถูกต้องต่อหลักนิติธรรมของบ้านเมืองอีกด้วย นี้ก็เป็นข้อที่ ๙ เรียกว่าปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นี้เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติอันเป็นวิสุทธิข้อที่ ๖

๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2554 10:49:23 น.
Counter : 667 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๔ ลักษณะพุทธศาสนา - มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



กำหนดพิจารณานามรูป

จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง เมื่อได้ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลายอันนับว่าได้ปฏิบัติศีลให้เป็นภาคพื้น เป็นที่รองรับ เป็นที่ทรงไว้แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ทำจิตให้บริสุทธิ์คือให้เป็นสมาธิ สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นบาทของวิปัสสนา จึงได้จับปฏิบัติในวิปัสสนา ตั้งต้นแต่ชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ และกำหนดจับเหตุปัจจัยแห่งนามรูปจนข้ามพ้นความสงสัยเกี่ยวแก่นามรูปทั้งหลาย เพราะจับเหตุปัจจัยได้แล้ว จึงปฏิบัติกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ กำหนดจับพิจารณารวมเข้ามาในขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูปโดยลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อตามที่พระอาจารย์ได้แนะนำไว้ เช่นกำหนดจับพิจารณารูป ว่าเป็นสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม กำหนดจับพิจารณาเวทนา ว่าเป็นความรู้สุขทุกข์และเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข กำหนดพิจารณาสัญญา ว่าเป็นความรู้ที่จำหมาย กำหนดพิจารณาสังขาร ว่าเป็นความรู้ที่ปรุงแต่ง กำหนดจับพิจารณาวิญญาณ ว่าเป็นความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียง ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กับรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านั้นที่ประสบพบผ่านมาแล้ว หรือที่คาดคิดล่วงหน้าไปข้างหน้าและก็กำหนดรวมเข้ามาเป็นรูปนาม โดยที่รูปก็คือเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรมดังกล่าวนั้นและสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมนั้นก็คือเป็นมหาภูตรูป คือรูปที่เป็นส่วนใหญ่ คือที่เป็นธาตุทั้ง ๔ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม กับอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และเป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คือประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท และเป็นวิสัยคือเป็นอารมณ์ของประสาททั้ง ๕ นั้น คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงที่เป็นเพศชายเพศหญิงเป็นต้น บรรดาที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น จึงล้วนเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรม และเป็นนามก็คือเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งเป็นความรู้ดังกล่าว ก็คืออาการที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ก็สมมติเรียกว่าเป็นวิญญาณ ทีแรกก็คือความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นตามที่กล่าวแล้ว เรียกว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นต้น แล้วก็เป็นสัมผัส ก็คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันก็เป็นสัมผัส แล้วก็เป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก รวมก็เป็นความรู้คือที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์ที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ จึงเรียกว่านาม ที่แปลว่าอาการที่จิตน้อมออกไปรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ก็ปรากฏเป็นวิญญาณเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก แต่ว่าในขันธ์ ๕ นั้นไม่กล่าวถึงสัมผัส และเอาวิญญาณไปไว้เป็นข้อท้าย เอาเวทนาไว้เป็นข้อต้น จึงนับว่าเป็นเวทนาสัญญาสังขาร ซึ่งพิจารณาดูแล้วที่ท่านเรียงอย่างนี้ก็สะดวกแก่การพิจารณา เพราะว่าเมื่อจับพิจารณารูป ซึ่งเป็นของหยาบกำหนดได้ง่าย แล้วก็มาเวทนา ซึ่งเวทนานั้นก็บังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ เวทนาก็เป็นของหยาบแม้จะเป็นนามธรรม คือเป็นตัวความรู้ดังกล่าวนั้น แต่ก็บังเกิดขึ้นแก่ทั้งกายทั้งใจ กำหนดได้ง่าย จึงเอามาไว้ในข้อที่ ๒ แล้วก็จับกำหนดพิจารณาสัญญาซึ่งเป็นนามธรรมอย่างเดียวกัน แล้วก็สังขาร แล้วก็จับพิจารณาวิญญาณ เพราะว่าการพิจารณาสังขารนั้น คือการพิจารณาความรู้ที่เป็นการปรุงแต่งของใจ ปรุงแต่งรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธัมมะคือเรื่องราว และเมื่อจับพิจารณาการปรุงแต่งอย่างนี้ ก็เป็นการง่ายที่จะจับพิจารณาวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวความรู้เห็นรู้ได้ยินเป็นต้นดังกล่าวนั้น เพราะว่าวิญญาณนี้ก็เกิดจากความปรุงแต่ง คืออายตนะภายนอกอายตนะภายในประจวบกัน หรืออีกอย่างหนึ่งท่านแสดงว่านามรูป

เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอานามรูป ก็นามรูปนี้เองเมื่อมาประจวบกันเข้าก็ให้เกิดเป็นวิญญาณ และหากจะพิจารณาให้ชัดขึ้นก็อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน เช่นตากับรูปมาประจวบกันเข้าก็เกิดเป็นจักขุวิญญาณ คือว่าความรู้ที่เรียกว่าความเห็นคือเห็นรูปทางตาอันนี้ก็เป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อจับพิจารณาสังขาร ก็จับพิจารณาวิญญาณได้สะดวกขึ้น แล้วเป็นการจับพิจารณาให้พบต้นทางของนามธรรมทั้งหลายด้วย คือนามธรรมทั้งหลายนั้นก็มาจากอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่ประจวบกัน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากนามรูปก็ได้ รูปก็รูปนั้นเอง นามก็คือบรรดานามทั้ง ๔ หรือว่าเอาตัวมโนคือใจนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นทวารในของจิตดังที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆ ซึ่งต้องมีประกอบอยู่ในอายตนะภายในทุกข้อ เช่นว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็ต้องมีมโนเข้ามาประกอบด้วย จึงจะทำให้เกิดจักขุวิญญาณความรู้เห็นรูป อันตัวมโนที่มาประกอบนั้นก็คือตัวนามนั้นเอง ก็แปลว่าทั้งรูปทั้งนาม หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณเป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่มีแสดงเอาไว้ ๒ อย่าง ว่านามรูปเป็นเหตุปัจจัยของวิญญาณ อีกอย่างหนึ่งแสดงว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ถ้าหากว่าอธิบายไม่เอามโนเข้ามาประกอบด้วยก็เห็นได้ยาก ถ้าหากว่าอธิบายเอามโนเข้ามาประกอบด้วย ก็จะเห็นได้ง่าย ว่าเรียกว่านามรูปก็ได้เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ก็เพราะว่าจะต้องมีมโนเข้ามาประกอบด้วยทุกข้อดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณขึ้นได้

วิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญา

เพราะฉะนั้นก็กำหนดพิจารณาให้รู้จักลักษณะจำเพาะข้อของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานี้ และก็จับพิจารณารวมกันเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็คือรวมกันเข้าขันธ์ ๕ ทุกข้อ นามรูปทั้งหมดซึ่งมีลักษณะจำเพาะๆ ดังที่กล่าวมานั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องไม่เที่ยงคือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และต้องเป็นอนัตตา คือไม่เป็นอัตตาตัวตนเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ แม้ว่าขันธ์ ๕ หรือนามรูปซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่อนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดังที่กล่าวมานั้นทุกข้อไปเหมือนกันเช่นว่าในข้อรูป ทั้งที่เป็นมหาภูตรูป ทั้งที่เป็นอุปาทายรูป ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่มีลักษณะเป็นความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ ก็ล้วนเป็นอนิจจะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตา และเมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดเป็นหมวดเป็นหมู่ทั้งสิ้น ก็เป็นอนิจจะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตาทั้งหมด และเมื่อประมวลเข้าทั้งหมด ทั้งที่เป็นส่วนอดีตทั้งที่เป็นส่วนอนาคตทั้งที่เป็นส่วนปัจจุบัน อดีตก็คือว่าที่เกิดมาแล้วที่มีมาแล้ว อนาคตก็คือว่าที่จะเกิดจะมีต่อไป ที่เป็นปัจจุบันก็คือที่เกิดตั้งอยู่ในปัจจุบัน และทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก และทั้งที่เป็นส่วนหยาบทั้งที่เป็นส่วนละเอียด ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีประณีต ทั้งที่เป็นสิ่งที่หยาบหรือเลว ทั้งที่อยู่ไกลทั้งที่อยู่ใกล้ทั้งหมด ก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะคือเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตนทั้งนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาลงไปในไตรลักษณ์ดั่งนี้ ทีแรกก็ต้องอาศัยสัญญาคือความกำหนดหมาย ความกำหนดหมายหรือว่าความจำ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้และนำเอาความจำนั้นมากำหนดพิจารณาดู ตั้งแต่ชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยลำดับ ก็จะเกิด วิปัสสนาญาณ คือความรู้ที่เป็นตัวความเห็นแจ้งขึ้นในขันธ์ ๕ ในนามรูป ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงอย่างนี้ ๆ เป็นทุกขะคือเป็นทุกข์อย่างนี้ ๆ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนอย่างนี้ ๆ ปรากฏชัดขึ้น อันกล่าวได้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาที่บังเกิดขึ้น

วิปัสสนูปกิเลส

เมื่อได้พบกับวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาจากการปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานมาถึงขั้นนี้ ท่านแสดงว่าจะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ที่แปลว่าเครื่องที่เข้ามาทำวิปัสสนาให้เศร้าหมองขึ้น ๑๐ ข้ออย่างใดอย่างหนึ่ง

วิปัสสนูปกิเลสดังที่กล่าวนี้ก็คือ โอภาส แสงสว่าง ญาณ ความหยั่งรู้ที่ชัดแจ้งหรือว่าแจ่มแจ้ง ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสิทธิ ความสงบ สุข คือความสุข ความสบายกายความสบายใจ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ คือมีความเชื่อที่บังเกิดขึ้นอย่างมั่นคง ปัคคาหะ ความเพียร คือรู้สึกว่ามีกำลังความเพียรที่บังเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งชนิดที่ว่าจะปฏิบัติทำวิปัสสนาต่อไปกันอีกนานเท่าไหร่ จะทำเรื่อยไปโดยไม่หยุดก็ทำได้ อุปัฏฐาน คือสติอันได้แก่ความที่มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง คือความที่มีจิตเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายมั่นคง แม้จิตจะเที่ยวไปในอารมณ์ทั้งหลาย ก็เป็นกลางอยู่ได้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นิกันติ ความพอใจ คือมีความพอใจต้องการจับจิตจับใจในวิปัสสนาปฏิบัติและในผลที่ได้รับเป็นอย่างยิ่ง

อาการเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น และอันที่จริงนั้นอาการที่บังเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นเรื่องปรกติหรือเป็นเรื่องสามัญทั่วไปของผู้ที่ปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานทั้งหลาย เมื่อการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้เข้าถึงระดับที่ปรากฏเป็นตัวความรู้เห็นแจ้ง ในขันธ์ ๕ ในนามรูปโดยไตรลักษณ์ชัดแจ้งปราศจากความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าข้ามพ้นความสงสัยทั้งหลายได้แล้ว ก็จะเกิดอาการเหล่านี้เป็นผลที่ได้รับในขั้นนี้ เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป็นผลโดยตรง เพราะว่าผลโดยตรงนั้นต้องการที่จะกำจัดกิเลสและกองทุกข์ แต่ว่าผลเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ซึ่งบังเกิดขึ้นและเมื่อได้รับประสบผลเช่นนี้ ถ้าหากว่าเกิดความหลงเข้าใจผิดขึ้นว่านี้เป็นตัวมรรคตัวผลที่ต้องการและบัดนี้ได้บรรลุมรรคบรรลุผลแล้ว คือได้ประสบความสำเร็จแล้ว หากมีความเข้าใจดั่งนี้ อาการที่ปรากฏเหล่านี้จึงจะเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส คือเครื่องที่เข้าไปทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง อันผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานและได้ประสบอาการดังที่กล่าวมานี้ บางท่านที่เคยได้ฟังมาปรากฏเป็นเสียงมาร้องบอกก็มี ว่าเธอสำเร็จแล้ว และท่านที่ปฏิบัติเมื่อได้ยินเสียงมาตะโกนบอกว่าสำเร็จแล้ว บางท่านก็เชื่อ รีบไปบอกพระที่เป็นผู้ร่วมปฏิบัติว่าสำเร็จแล้ว เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติซึ่งเป็นผู้รู้หลักก็ชี้แจงให้ฟัง จึงได้เกิดความเข้าใจขึ้นว่าไม่สำเร็จ ที่เป็นดั่งนี้ก็มี หรือบางทีก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำก็มี ดังที่ท่านรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำ ครั้งแรกก็แนะนำว่าให้ทำเรื่อยไปไม่ต้องหยุด จึงได้ทำเรื่อยไปไม่นอน แต่ยังยอมฉัน เมื่อถึงเวลาก็ฉัน แต่ต่อมาก็เห็นพระพุทธเจ้ามาประทานคำแนะนำอีกว่าต้องไม่ฉัน เมื่อถึงขนาดนี้เพื่อนฝูงก็ต้องไปตามอาจารย์มาช่วยให้คำแนะนำแก้ไข ก็ประสบความสำเร็จในการแก้ไข ก็รู้ตัวในภายหลัง เหล่านี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอาการเหล่านี้นั้นอันที่จริงไม่ใช่เป็นวิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา หรือเป็นสามัญของผู้ปฏิบัติ เมื่อเข้าถึงขั้นก็จะเกิดอาการเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องทำญาณคือความหยั่งรู้ ว่าอาการที่ปรากฏเหล่านี้ยังไม่ใช่เป็นมรรคยังไม่ใช่เป็นผล คือไม่ใช่เป็นทางที่บรรลุอันเรียกว่ามรรคและไม่ใช่ผล แต่เรียกว่าเป็นอาการที่บังเกิดขึ้นอันเป็นสิ่งที่พลอยได้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ไม่ติดอยู่ในอาการเหล่านี้ มีความรู้ว่าไม่ใช่เป็นตัวมรรคไม่ใช่เป็นตัวผล แต่เป็นอาการที่บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติตามขั้นตอนเท่านั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ไม่ติดไม่ยินดี ก็ปฏิบัติต่อไป ปรารภขันธ์อายตนะธาตุหรือขันธ์ ๕ นามรูป พิจารณาในไตรลักษณ์ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นต่อไป ดั่งนี้เรียกว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง

๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2554 8:35:40 น.
Counter : 820 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๓ ลักษณะพุทธศาสนา - กังขาวิตรณวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ชำระความสงสัยที่เกิดขึ้น

จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย เมื่อได้เริ่มทำปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐาน ชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็ถึงขั้นที่ปฏิบัติชำระความสงสัยที่เกิดขึ้น เพราะว่าย่อมจะมีความสงสัยถึงตัวเราในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง เพราะว่าเมื่อยังมีอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเรา ของเรา สัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์ ดังที่จะเรียกรวมกันว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เมื่อยังมีความสำคัญหมายอยู่ ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาบังเกิดขึ้น เพราะความยึดถือในขันธ์อายตนะธาตุดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็ย่อมจะมีกังขาคือความสงสัยเกี่ยวแก่ตัวเราของเราในกาลทั้ง ๓ นั้น และแม้ว่าจะชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ได้ ด้วยกำหนดพิจารณาให้พบขันธ์อายตนะธาตุ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวเราของเรานั้น กำหนดให้รู้จักหน้าตาของขันธ์อายตนะธาตุ และกำหนดให้รู้จักสภาพคือภาวะความเป็นของขันธ์อายตนะธาตุนั้น ที่มีที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมดับไป ซึ่งความเกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมดับไปนั้น ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของขันธ์อายตนะธาตุนั้นเอง ปรากฏอยู่

ตามที่กล่าวนี้ก็กล่าวตามพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ จิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ ยกเอาข้อเสื่อมดับไปเป็นข้อที่ ๒ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นข้อที่ ๓ แต่ว่าที่อธิบายนั้นจับตามลำดับเพื่อให้เข้าใจง่าย คือว่าความเกิดขึ้นปรากฏ ความตั้งอยู่ก็ปรากฏ และความเปลี่ยนแปลงเสื่อมสิ้นไป ในที่สุดก็ปรากฏ เอาความตั้งอยู่มาไว้เป็นที่ ๒ เอาความเสื่อมสิ้นไปมาเป็นข้อที่ ๓ ก็มีความเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธภาษิตนั้น นี้เป็นสภาพของขันธ์อายตนะธาตุ คือความมีความเป็นที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนเอง และก็กำหนดให้รู้จักสามัญลักษณะ คือลักษณะเครื่องกำหนดที่ทั่วไปของขันธ์อายตนะธาตุ ก็คือที่ปรากฏทั้ง ๓ นั้นนั่นเอง เมื่อรวมเข้าแล้วก็มีลักษณะทั่วไปก็คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่เป็นอนัตตา กำหนดให้รู้จักไตรลักษณ์ ดั่งนี้เป็นวิธีชำระทิฏฐิความเห็นให้บริสุทธิ์ แต่ว่าในขั้นนี้ก็ยังละอุปาทานไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ย่อมจะมีความสงสัยอยู่เกี่ยวกับตัวเราของเราที่ฝังลึกอยู่ในกาลทั้ง ๓ ตัวเราของเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของ “กังขา” คือความสงสัยอย่างยิ่ง และวิจิกิจฉาในนิวรณ์ ๕ ก็มีตัวเราของเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของวิจิกิจฉาเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเป็นมูลฐานของวิจิกิจฉาทั้งปวง

ละความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเรา

อันความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเราในกาลทั้ง ๓ นั้น ก็คือความสงสัยที่ปรารภกาลที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว ว่าตัวเราได้มีแล้วได้เป็นแล้วในอดีตหรือไม่หนอ ตัวเราไม่ได้มีแล้วไม่ได้เป็นแล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้มีได้เป็นอะไรแล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้มีได้เป็นอย่างไรแล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้เป็นอะไรแล้วจึงได้เป็นอะไรอีกต่อไปในอดีตหรือหนอ ดั่งนี้ นี้เป็นกังขาความสงสัยในอดีตหรือปรารภส่วนที่เป็นอดีต สรุปเข้าแล้วก็เป็น ๕ ประการ ส่วนความสงสัยที่ปรารภอนาคตกาลข้างหน้าที่ยังไม่มาถึง รวมเข้าแล้วก็ได้แก่ความสงสัยว่า เราจักมีจักเป็นต่อไปในอนาคตหรือหนอ เราจักไม่มีไม่เป็นในอนาคตหรือหนอ เราจักเป็นอะไรหรือหนอในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหรือหนอในอนาคต เราจักเป็นอะไรแล้วจึงจะเป็นอะไรต่อไปในอนาคตหรือหนอ ส่วนความสงสัยที่ปรารภปัจจุบันรวมเข้าก็คือ เดี๋ยวนี้เรามีเราเป็นอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้เราไม่มีไม่เป็นอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้เราเป็นอะไรหรือหนอ เดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไรอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้สัตว์นี้คือตัวเรานี้มาจากไหนหรือหนอ เดี๋ยวนี้สัตว์นี้คือตัวเราจักไปในที่ไหนต่อไปหรือหนอ ดั่งนี้ รวมเข้าก็เป็น ๖ ประการ เหล่านี้เป็นความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเรา

พิจาณาจับเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ หรือนามรูป

เพราะฉะนั้นเมื่อชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังกล่าวมาแล้ว เมื่ออัตตสัญญาสัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเราสงบลงไปได้ ปรากฏเป็นขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาแทน แม้ว่าจะได้พิจารณาให้รู้จักสภาพคือความเป็นไปของขันธ์อายตนะธาตุตามเหตุปัจจัยของตนคือเกิดขึ้นตั้งอยู่เสื่อมดับไปดังกล่าวนั้น และรวมเข้ามาให้รู้จักสามัญลักษณะคือลักษณะที่ทั่วไปของขันธ์อายตนะธาตุ แม้อย่างนั้นก็ย่อมจะมีความสงสัยว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้มาจากไหน ปรารภกาลทั้ง ๓ ได้เช่นเดียวกัน ในอดีตขันธ์อายตนะธาตุได้มีหรือไม่มี ในปัจจุบันขันธ์อายตนะธาตุมีอยู่หรือไม่มี ในอนาคตขันธ์อายตนะธาตุมีอยู่หรือไม่มี และถ้ามีอยู่ก็มาจากไหน เหมือนอย่างว่ามองเห็นเด็กที่เขามาวางทิ้งเอาไว้ที่หน้าบ้านของตน หรือที่ถนนหน้าบ้าน ก็ย่อมจะต้องมีความสงสัยว่าเด็กคนนี้ลูกใคร ใครเอามาทิ้งไว้ ฉันใดก็ดี เมื่อพิจารณากำหนดแม้ว่าเห็นขันธ์อายตนะธาตุว่าเป็นอย่างนี้ๆ เห็นหน้าตาของขันธ์อายตนะธาตุ แต่ก็ย่อมจะมีความสงสัยได้ว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้มาจากไหน ทั้งในอดีตทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาและโดยเฉพาะในข้อปฏิบัติวิธีทำวิปัสสนาถัดจากชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ดังกล่าวนั้น จึงได้สอนให้พิจารณาจับเหตุปัจจัยของนามรูป ก็ขันธ์ ๕ นั่นแหละ ก็คือขันธ์อายตนะธาตุดังกล่าวมานั้นยกเอาขันธ์ ๕ ที่ย่อเป็นนามรูปขึ้นเป็นที่ตั้ง จับเหตุปัจจัยของนามรูป และก็ได้แสดงเหตุปัจจัยของนามรูปไว้ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาธุระจะพึงจับขึ้นพิจารณา คือให้รู้จัก สามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยที่ทั่วไปของนามรูปทั้ง ๒ อย่างหรือของขันธ์ ๕ ทั้งหมด ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม เป็นสามัญปัจจัยแห่งนามรูป อวิชชาก็คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็คือไม่รู้ในอริยสัจ ตัณหาก็คือความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานก็คือความยึดถือ กรรมก็คือการงานที่บุคคลกระทำทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกรรมที่ดีก็มี เป็นกรรมที่ชั่วก็มี เป็นกรรมที่เป็นกลางๆ ก็มี อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมทั้ง ๔ นี้เป็นสามัญปัจจัยแห่งนามรูป และได้สอนให้รู้จัก วิสามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยที่ไม่เป็นสามัญคือทั่วไปแก่นามรูปเหมือนกันทั้งหมด แต่ว่าเป็นเหตุปัจจัยจำเพาะของแต่ละข้อในขันธ์ ๕ หรือย่อเป็นนามรูป ก็คือให้รู้จักว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปเป็นวิสามัญปัจจัยแห่งรูป อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นก็เช่นข้าวสุกและอาหารทั้งปวงสำหรับที่จะทะนุบำรุงร่างกาย รวมเข้าก็คือว่าธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมนั้นเอง เป็นอาหารที่บุคคลบริโภคเข้าไปสำหรับทะนุบำรุงร่างกาย เพราะว่ารูปกายนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำลมไฟ ธาตุดินน้ำลมไฟที่ประกอบเข้าเป็นรูปกายนี้ก็สิ้นไปเสื่อมไปอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีอาหารคือธาตุดินน้ำไฟลมใหม่เข้าไปทะนุบำรุงเพิ่มเติมเอาไว้ รูปกายนี้จึงดำรงอยู่ได้

เพราะฉะนั้นในข้อนี้ดูเข้ามาสักหน่อยก็จะเห็นได้ ว่าเป็นสภาวธรรมอย่างไร เป็นสามัญลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ที่เป็นไปตามสภาพหรือที่เป็นตัวสภาพคือความมีความเป็นที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนนั้น ก็ได้กล่าวมาแล้ว เกิดขึ้นตั้งอยู่และแปรปรวนเปลี่ยนแปลงดับไป นี่เป็นตัวสภาวธรรมและก็เป็นไปตามสภาวธรรมดั่งนี้ ธาตุทั้งหลายที่มาประกอบเข้าเป็นรูปกายอันนี้ ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงดับไปอยู่ทุกขณะจิต จึงต้องการอาหารเข้าไปบำรุงเพิ่มเติมอยู่ทุกขณะเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ชัดก็คือว่าทุกคนต้องบริโภคลมอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก คือต้องหายใจเข้าหายใจออกกันอยู่ทุกขณะ หยุดไม่ได้ เพราะว่าต้องการธาตุลมนี้เข้าไปเพิ่มเติมส่วนที่เสื่อมสิ้นไปอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก และในธาตุลมอันนี้อันที่จริงก็มีธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟรวมเข้าอยู่ในธาตุลมนี้ด้วยที่เป็นอย่างละเอียด ถ้าหากว่าต้องหยุดหายใจสักครู่เดียว ชีวิตก็จะดับแล้ว ก็แสดงว่าธาตุที่เข้าไปดำรงเลี้ยงชีวิตอันเป็นส่วนรูปกายนี้ต้องเสื่อมดับอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทีเดียว ต้องเข้าไปซ่อมแทนกันให้ได้ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทีเดียวจะเว้นเสียไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาหารรวมเข้าก็คือธาตุทั้ง ๔ นี้จึงเป็นวิสามัญปัจจัยของรูป ซึ่งต้องการอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

คราวนี้มาถึงนาม อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ เป็นวิสามัญปัจจัยแห่งวิญญาณอันเป็นส่วนจิต ก็คือว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ นี้ต้องประจวบกัน จึงจะเกิดวิญญาณ รู้รูปก็คือเห็นรูป รู้เสียงก็คือได้ยินเสียงเป็นต้น ถ้าหากว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ไม่ประจวบกัน วิญญาณก็ไม่บังเกิดขึ้น ถ้าคนหลับตาเสียไม่ดูอะไร จักขุวิญญาณก็ไม่เกิด คนที่ตาบอดจักขุวิญญาณก็ไม่เกิด หูหนวกโสตวิญญาณก็ไม่เกิด หรือคนที่ตาดีหูดี ถ้าหากว่าไม่ดูไม่ฟัง คือไม่ทำให้อายตนะภายในภายนอกในข้อตาข้อหูนั้นมาประจวบกัน จักขุวิญญาณโสตวิญญาณก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน แต่ว่าคนเรานั้นแม้ว่าจะพิการตาบอดหูหนวก แต่อายตนะคู่ที่ ๖ นั้นยังอยู่คือมโนกับธัมมะ และอาจจะใช้ทดแทนได้ เช่นใช้กายอันเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๕ กับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องทดแทนได้บ้าง ทดแทนตาได้ ดังเช่นที่เคยเล่าแล้วถึงคนตาบอดและมาหัดปฏิบัติทางจิตให้อ่านหนังสือได้ หรือดูอะไรได้บ้างเป็นต้น ที่ท่านกล่าวสันนิษฐานกันว่าใช้กายส่วนใดส่วนหนึ่งทดแทน ถ้าไปปิดกายส่วนนั้นเสียวแล้วก็มองไม่เห็น แต่นั่นต้องใช้อาศัยอำนาจสมาธิจิตเข้ามาช่วย แต่โดยปรกติแล้วอายตนะภายในและภายนอกดังกล่าวเป็นวิสามัญปัจจัยของวิญญาณ ผัสสะอันเกิดเพราะวิญญาณกับอายตนะภายในอายตนะภายนอก เป็นวิสามัญปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อมแห่งเวทนาสัญญาสังขาร

รู้จักสามัญปัจจัยและวิสามัญปัจจัย

เพราะฉะนั้นก็ให้พิจารณาจับปัจจัยหรือเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ย่อเข้าเป็นนามรูปดังกล่าวมานี้ ให้รู้จักทั้งที่เป็นสามัญปัจจัยทั้งที่เป็นวิสามัญปัจจัยดังกล่าวมานั้น และเมื่อพิจารณากำหนดอยู่ดั่งนี้แล้ว ก็ย่อมจะได้ความรู้ที่สรุปเข้ามา ว่านามรูปที่มีมาในอดีตก็ตาม ที่จะมีในอนาคตก็ตาม หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ตาม ย่อมมีสามัญปัจจัยคือเหตุปัจจัยที่เป็นสามัญ อันได้แก่อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม และย่อมมีวิสามัญปัจจัย ก็ได้แก่อาหารเป็นวิสามัญปัจจัยของรูป อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เป็นวิสามัญปัจจัยของวิญญาณ และผัสสะอันเกิดจากวิญญาณประกอบทั้งอายตนะภายในอายตนะภายนอก เป็นวิสามัญปัจจัยทั้งโดยตรงทั้งโดยอ้อมแห่งเวทนาสัญญาสังขาร โดยตรงนั้นก็คือเป็นวิสามัญปัจจัยเวทนา โดยอ้อมนั้นก็คือตลอดถึงสัญญาและสังขาร และทั้ง ๓ นี้ย่อมเป็นปัจจัยของกันและกันอีกด้วย ก็คือเวทนาก็เป็นเหตุปัจจัยแห่งสัญญา สัญญาก็เป็นเหตุปัจจัยแห่งสังขาร ก็คือว่าเมื่อมีเวทนาก็ย่อมจะมีสัญญาคือความจำหมายได้ในอารมณ์ของเวทนานั้น คือเวทนาบังเกิดขึ้นอาศัยผัสสะที่สืบเนื่องมาจากวิญญาณ ประกอบด้วยอายตนะภายในอายตนะภายนอก สัญญาก็ย่อมจำหมายในอายตนะภายในอายตนะภายนอกเหล่านั้น และในวิญญาณเหล่านั้นได้ด้วย และเมื่อมีสัญญาความจำหมาย ก็ย่อมมีสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดอยู่ ในอารมณ์ที่สัญญาจำหมายได้แล้วนั้น ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาจำหมายไว้ได้ สังขารก็ปรุงแต่งอะไรไม่ได้ สังขารจะปรุงแต่งอะไรได้นั้น ก็ปรุงแต่งได้ในอารมณ์คือเรื่องที่สัญญาจำไว้ได้ ดูง่ายๆ ก็คือว่าเราจะคิดปรุงแต่งอะไรที่เราลืมแล้วย่อมไม่ได้ เราจะปรุงแต่งอะไรได้ก็ต้องในเรื่องที่เราจำได้กำหนดไว้ได้ จึงจะปรุงแต่ง คือคิดปรุงแต่งอะไรต่อไปอีกได้ เพราะฉะนั้นสังขารก็ต้องอาศัยสัญญา แต่ก็สืบเนื่องมาจากตัวผัสสะนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา แล้วก็สืบมาถึงสัญญาสืบมาถึงสังขาร จะยกเอาผัสสะนั่นขึ้นมาข้อเดียว ว่าเป็นวิสามัญปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือเวทนา โดยอ้อมก็คือตลอดถึงสัญญาสังขาร แต่ว่าสัญญาสังขารนั้นก็ต้องอาศัยสืบมาจากเวทนาดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้นก็ให้จับพิจารณากำหนดเหตุปัจจัยของนามรูปดังกล่าวมานี้ให้เห็นชัด ว่านามรูปพร้อมทั้งอายตนะธาตุนั้นย่อมมีเหตุปัจจัยของตนดั่งนี้ และเหตุปัจจัยของนามรูปดังที่กล่าวมานี้นั้นเอง ทำให้นามรูปบังเกิดขึ้นตั้งอยู่และแปรดับไป เพราะฉะนั้นการที่กำหนดจับให้รู้เหตุปัจจัยของนามรูปนี้ จึงทำให้รู้จักตัวสภาวธรรมดีขึ้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าสภาวะนั้นคือสภาพ ภาวะความเป็นความมีตามเหตุปัจจัยของตน นี้เรียกว่าสภาพ ความมีความเป็นตามเหตุปัจจัยของตน จำเอาไว้ว่าสภาพแปลอย่างนี้

คราวนี้ตัวนามรูปก็เป็นตัวสภาวธรรมเอง คือเป็นสิ่งที่มีขึ้นเป็นขึ้นตามเหตุปัจจัยของตนและตัวนามรูปนี้เมื่อเป็นตัวสภาวธรรมในตัวเอง ก็ต้องเป็นไปตามสภาวธรรมคือเป็นไปตามภาวะตามเหตุปัจจัยของตน เพราะฉะนั้นที่แล้วมานั้นยังไม่ได้จับอธิบายว่าอะไรเป็นตัวเหตุปัจจัย ที่เป็นที่ตั้งของคำว่าสภาวธรรมนี้ มาวันนี้จึงมาอธิบายถึงตัวเหตุปัจจัยอันได้แก่สามัญปัจจัยของนามรูป อันได้แก่อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม และวิสามัญปัจจัยของนามรูป อันได้แก่อาหารอายตนะภายในอายตนะภายนอก และผัสสะดังที่กล่าวมานั้น นี้แหละคือตัววิสามัญปัจจัยแห่งนามรูป รวมเข้าแล้วสามัญปัจจัยและวิสามัญปัจจัยแห่งนามรูปทั้ง ๒ นี้ ก็คือเหตุปัจจัยของนามรูป นามรูปจึงเป็นตัวสภาวธรรมและต้องเป็นไปตามสภาวธรรม กล่าวคือเมื่อมีเหตุปัจจัยนามรูปก็เกิด เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยนามรูปก็ดับ เมื่อมีตัณหาอุปาทานกรรมนามรูปก็เกิด เมื่อสิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมนามรูปก็ดับหมด ไม่เกิดอีก เมื่อมีอาหารรูปก็ตั้งอยู่ เมื่อสิ้นอาหารรูปก็ดับ และที่เห็นง่ายก็ดังยกตัวอย่างเช่นธาตุลมที่กล่าวมานั้น ลมยังเดินเข้าออกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกรูปก็ตั้งอยู่ และเมื่อสิ้นลมเสียเมื่อใดรูปก็ดับ อายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันวิญญาณก็เกิด เมื่ออายตนะภายในภายนอกไม่ประจวบกันวิญญาณก็ดับ เมื่อผัสสะเกิดเวทนาสัญญาสังขารก็เกิด เมื่อผัสสะดับเวทนาสัญญาสังขารก็ดับ และในข้อหลังนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเปรียบเทียบไว้ในที่อื่น ว่าเหมือนอย่างไม้สีไฟ ๒ อันที่มาสีกัน ก็เกิดไฟ ก็คือเมื่อมีผัสสะ อันสืบเนื่องมาจากวิญญาณกับอายตนะภายอายตนะภายนอกประจวบกันเวทนาก็เกิด เมื่อไม้สีไฟ ๒ อันนั้นแยกกันเสียไฟก็ไม่เกิด และขณะที่สีกันไฟเกิด เมื่อแยกกันเสียไฟก็ดับ เมื่อผัสสะดับเวทนาก็ดับ และสัญญาสังขารก็ดับไปตามกัน เพราะฉะนั้นความเกิดขึ้นของนามรูปนี้ก็เพราะปัจจัยของนามรูปเกิด คือเมื่อมีปัจจัยนามรูปก็เกิด เมื่อไม่มีปัจจัยหรือว่าปัจจัยนั้นดับ นามรูปก็ดับ จะเป็นในอดีตก็ตามในอนาคตก็ตามในปัจจุบันก็ตามก็เป็นอยู่ดั่งนี้ ไม่มีเหตุปัจจัยอื่นนอกไปจากนี้ มีเหตุปัจจัยอยู่เพียงเท่านี้ เหมือนอย่างว่าเมื่อจับเหตุปัจจัยของฝนตกได้ ฝนที่ตกในอดีตฝนที่ตกอยู่เดี๋ยวนี้ฝนที่ตกต่อไปข้างหน้า ก็เพราะเหตุปัจจัยอันเดียวกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ฝนตกเมื่อใดฝนก็ตกเมื่อนั้น ในอดีตล่วงไปกี่พันกี่หมื่นกี่แสนปีก็อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็อย่างนี้ ต่อไปข้างหน้าก็อย่างนี้ เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปค้นหาถึงเหตุปัจจัยของฝน ว่าเมื่อล้านปีมาแล้วเพราะอะไรจึงตก เดี๋ยวนี้เพราะอะไรจึงตก ต่อไปข้างหน้าอีกล้านปีเพราะอะไรจึงตก แล้วก็ตกมากี่ครั้งไม่จำเป็น ไม่จำเป็นจะต้องไปรวมบัญชี เมื่อจับเหตุปัจจัยได้แน่นอนแล้วก็เป็นอันเดียวกัน นี่เป็นเรื่องฝนที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เรื่องของนามรูปก็เช่นเดียวกัน นามรูปในอดีตจะนานเท่าไรก็ตาม ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ตาม ในอนาคตก็ตาม ถ้ายังมีเหตุปัจจัยอยู่ ในอนาคตนานเท่าไรก็ตาม ก็เหตุปัจจัยอันเดียวกันนี้เท่านั้น ไม่มีแตกต่างกันไปอย่างอื่น เมื่อเหตุปัจจัยเกิดนามรูปก็เกิด เมื่อเหตุปัจจัยดับนามรูปก็ดับ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจับเหตุปัจจัยให้ได้แน่นอนอย่างนี้เป็นอันเดียวกันอย่างนี้แล้ว ก็สิ้นความสงสัยในนามรูป จิตก็ไม่พะวักพะวน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าได้กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย

๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 30 มกราคม 2554    
Last Update : 30 มกราคม 2554 8:46:28 น.
Counter : 618 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๒ ลักษณะพุทธศาสนา - ทิฏฐิวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



การชำระทิฏฐิเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๓ คือทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น วิสุทธิข้อที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ข้อที่ ๒ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ก็คือศีลและสมาธิ ข้อที่ ๑ คือศีลนั้นต้องมีเป็นภาคพื้น ข้อที่ ๒ คือสมาธิต้องมีเป็นบาทของวิปัสสนา คือของปัญญา และตั้งแต่ข้อที่ ๓ ไปจนถึงข้อที่ ๗ เป็นตัวปัญญาหรือเป็นตัววิปัสสนา เพราะฉะนั้นการแสดงอธิบายวิปัสสนากรรมฐานหรือปัญญาในไตรสิกขา จึงอธิบายได้ด้วยวิสุทธิตั้งแต่ข้อ ๓ จนถึงข้อที่ ๗ รวมเป็น ๕ ข้อ

ข้อที่ ๓ นี้เป็นตัววิปัสสนาข้อแรก คือจะต้องปฏิบัติทำทิฏฐิคือความเห็นให้หมดจดบริสุทธิ์ก่อน อันทิฏฐิคือความเห็นนั้น สำหรับขั้นที่ทำให้บริสุทธิ์ในที่นี้ ก็คือความเห็นในตัววิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา คำว่า “ภูมิ” นั้นเราใช้เรียกกันว่าภูมิชั้นหรือว่าภูมิแผ่นดิน ภูมิของวิปัสสนานั้นก็คืออารมณ์ของวิปัสสนา ที่ตั้งของวิปัสสนา ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น จะต้องได้วิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของวิปัสสนา เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา อันเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ และวิปัสสนาภูมิในที่นี้หมายถึงการปฏิบัติชำระทิฏฐิคือความเห็นเสียก่อน อันการชำระทิฏฐิคือความเห็นเสียก่อนนั้น ก็จะต้องมีศีลมีสมาธิเป็นพื้นฐานเป็นบาทมาโดยลำดับ คือว่าศีลนั้นเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ราคะโทสะโมหะที่เป็นอย่างหยาบ อันเป็นเหตุให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจาทางใจ และก็จะต้องมีสมาธิสำหรับที่จะสงบหรือชำระกิเลสอย่างกลางคือนิวรณ์ ก็คือราคะโทสะโมหะซึ่งเป็นขั้นนิวรณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะสงบตั้งมั่นลงได้ ก็น้อมจิตที่เป็นสมาธิอันมีศีลเป็นพื้นฐานนี้ซึ่งเป็นจิตที่สงบ มากำหนดพิจารณาดูอัตภาพนี้ คือความเป็นอัตตาตัวตนนี้ ว่าอัตภาพนี้คือความเป็นอัตตาตัวตนนี้ เป็นอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวตน เป็นสัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล อัตตสัญญากับสัตตสัญญานี้ กล่าวรวมกันในภาษาไทยอย่างง่ายๆ ก็คือความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

รู้ขันธ์ ๕ หรือนามรูป

อันความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานี้เกิดขึ้นที่ไหน ก็เกิดขึ้นที่กองทั้ง ๕ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เพราะเหตุที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ นี้ว่า เอตํ มม นี่เป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ เอโส เมอตฺตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา หรือกล่าวสั้นว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงชื่อว่าอุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือดังกล่าว ฉะนั้นอัตภาพนี้ก็คือตัวอัตตาสัญญาสัตตสัญญา ซึ่งตั้งขึ้นที่ขันธ์ ๕ นี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้นจึงกำหนดพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นอย่างนี้ ก็คือเป็นมหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ อันได้แก่ธาตุทั้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เรียกว่ามหาภูตรูป และอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คืออาศัยซึ่งมหาภูตรูปนั้นอยู่ เป็นต้นว่าประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท วิสัยคือสิ่งที่ต่อกันกับประสาททั้ง ๕ นั้น ก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นกองหนึ่งเรียกว่ารูปขันธ์ กองรูป เวทนาเป็นอย่างนี้ คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าเวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาเป็นอย่างนี้ คือความจำหมายต่างๆ จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำเรื่องราวทั้งหลาย ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าสัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารเป็นอย่างนี้ คือความปรุงคิดหรือความคิดปรุงต่างๆ คิดปรุงรูปคิดปรุงเสียงคิดปรุงกลิ่นคิดปรุงรสคิดปรุงโผฏฐัพพะคิดปรุงเรื่องราวต่างๆ ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าสังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณเป็นอย่างนี้ คือว่ารู้เห็น คือรู้รูปทางตาที่เรียกว่าเห็น รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยินหรือได้ฟัง ทราบกลิ่นทางจมูก ทราบรสทางลิ้น ทราบสิ่งถูกต้องทางกาย และรู้เรื่องที่คิดที่นึกทางมโนคือใจ ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกว่ารูปก็เพราะเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรมไป และอีก ๔ กองนั้นรวมเรียกว่านาม ก็เพราะเป็นสิ่งที่น้อมไปของจิตเพื่อรับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะว่าจิตที่น้อมออกรับอารมณ์นั้นก็คือรับรู้นั้นเอง เป็นเวทนาก็เป็นรู้อย่างหนึ่ง คือว่ารู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นสัญญาก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้จำหมาย เป็นสังขารก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด เป็นวิญญาณก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้ที่เรียกว่าเห็นที่เรียกว่าได้ยินเป็นต้น จึงเรียกว่านามดูให้รู้จักว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ รวมเข้าก็คือว่ารูปเป็นอย่างนี้ นามเป็นอย่างนี้ ดูให้รู้จัก

รู้อายตนะ ๑๒

และก็ดูให้รู้จักสืบไปถึงอายตนะ ๖ ก็คืออายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ที่ต่อกัน ว่าตาเป็นอย่างนี้ รูปเป็นอย่างนี้ หูเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ จมูกเป็นอย่างนี้ กลิ่นเป็นอย่างนี้ ลิ้นเป็นอย่างนี้ รสเป็นอย่างนี้ กายเป็นอย่างนี้ โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องเป็นอย่างนี้ มโนคือใจเป็นอย่างนี้ ธัมมะคือเรื่องราวเป็นอย่างนี้ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ก็เป็น ๑๒

รู้ธาตุ ๑๘

ต่อจากนี้ก็ดูให้รู้จักธาตุทั้ง ๑๘ ธาตุทั้ง ๑๘ นั้นก็คือ จักขุ ตา รูปและจักขุวิญญาณ โสตะ หู เสียงและโสตวิญญาณ ฆานะ จมูก กลิ่นและฆานวิญญาณ ชิวหา ลิ้น รสและชิวหาวิญญาณ กาย โผฏฐัพพะและกายวิญญาณ มโน ใจ ธัมมะเรื่องราวและมโนวิญญาณ ๖ กับ ๓ ก็เป็น ๑๘ เรียกว่าธาตุ ๑๘ ที่เรียกว่าธาตุ ๑๘ นั้นก็โดยอธิบายว่า ทั้งหมดนี้ทรงหรือดำรงภาวะของตนอยู่ตามประเภท เช่นจักขุคือตาก็ทรงภาวะเป็นตาดำรงภาวะเป็นตาอยู่ รูปก็เช่นเดียวกัน จักขุวิญญาณก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงมีจักขุคือตา มีรูปและมีจักขุวิญญาณ ถ้าหากว่าไม่มีความทรงภาวะของตนอยู่แล้ว ก็จะไม่ปรากฏว่ามีจักขุคือตา ไม่ปรากฏว่ามีรูปและมีจักขุวิญญาณ

ฉะนั้นจึงเรียกว่าธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ แต่ไม่ใช่หมายความว่าทรงอยู่หรือดำรงอยู่ตลอดไป หมายความว่าทรงอยู่ดำรงอยู่ในขณะที่ตั้งอยู่ เพราะว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น หรือเรียกว่าสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ซึ่งมีลักษณะ ๓ คือมีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความตั้งอยู่ปรากฏ และเมื่อตั้งอยู่ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ ๒ คือความตั้งอยู่ปรากฏนั้น ก็เพราะมีความเป็นธาตุคือยังตั้งอยู่ได้ แม้ว่าจะตั้งอยู่แล้วก็จะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็ตามแล้วในที่สุดก็ต้องแตกสลายไปก็ตาม แต่ก็ยังมีภาวะที่ตั้งอยู่ ตรงนี้แหละที่มีความเป็นธาตุ จึงรู้ว่าธาตุ ๑๘

รู้สภาพหรือสภาวธรรม

และต่อจากนี้ก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ความที่มากำหนดดูให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป และอายตนะ ๑๒ กับธาตุ ๑๘ ดั่งนี้ เรียกว่าเป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา และกำหนดให้รู้จักว่าทั้งหมดนี้เป็น สภาวธรรม สภาวธรรมนั้นแปลว่าธรรมที่มีภาวะของตนเอง ที่เรียกว่ามีภาวะของตนเองนั้นก็คือว่ามีความเกิดขึ้น มีความตั้งอยู่ และเมื่อตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปของตนเอง คือมีลักษณะของตนเองดังที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๓ นั้น และคำที่ว่าของตนเองนี้ ก็ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แต่ว่ามีเหตุมีปัจจัยซึ่งจะกล่าวในข้อต่อไป สำหรับในข้อนี้ยังไม่กล่าวถึงเหตุถึงปัจจัย ก็เพราะเหตุและปัจจัยนั้นเอง จึงทำให้มีความเกิดขึ้นปรากฏเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น และเหตุปัจจัยนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยที่เนื่องกับสัตว์บุคคล ไม่ใช่ว่าไม่เนื่องกับสัตว์บุคคล แต่ความที่มีสัตว์บุคคลมาเนื่องนี้ ก็มาเนื่องตามความเป็นไปที่เรียกว่าสภาพภาวะของตนนั้น คือต้องมาเข้าในวงของเหตุผลที่เป็นตัวสภาพคือตัวภาวะของตน มาเข้าวงจรหรือวงกลมหรือเข้าทางของเหตุผลที่เป็นภาวะของตน เอาแต่เพียงว่าความเกิดขึ้นของขันธ์อายตนะธาตุดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ก็ยังต้องประกอบกับเหตุปัจจัยอื่นๆ เข้ามาอีก เช่นว่าจะต้องมีสัตว์ที่เรียกว่าคันธัพพะ เข้ามาถือปฏิสนธิ โดยที่สัตว์ผู้มาถือปฏิสนธินั้นยังมีกิเลสและมีกรรม ซึ่งเป็นวัฏฏะ มีกรรมเป็นชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิด จึงมาถือปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา และก็มีความก่อกำเนิดขึ้นมาไปตามภาวะของตน

รู้สามัญลักษณะ

ฉะนั้น คำว่าสภาพตามภาวะของตนนั้น จึงหมายความว่า ตามเหตุปัจจัยของตนเองเหมือนอย่างต้นไม้ที่บังเกิดขึ้น คนอาจจะเป็นผู้ปลูกคือปลูกเพาะเมล็ดหรือว่าตนเอามาปลูกรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ยเป็นต้น แต่ว่าความแตกออกของเมล็ดเป็นหน่อหรือว่าเป็นต้นโดยลำดับนั้น ต้นไม้แตกเป็นหน่อจนถึงเป็นต้นตามภาวะของตนเอง คือตามเหตุปัจจัยของตนเองหรือของต้นไม้นั้นเอง คนคอยแต่เพียงรดน้ำเป็นต้น คอยบำรุงเท่านั้น แต่ความเกิดของต้นไม้นั้นเป็นไปตามสภาพตามภาวะของตน หมายความว่าตามเหตุปัจจัยของต้นไม้นั้นเอง ดั่งนี้เรียกว่าสภาพและความเป็นสภาพนี้ก็ไม่ได้หยุดเพียงความเกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น ยังมีความตั้งอยู่ปรากฏและเมื่อตั้งอยู่ก็ยังมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏอีก ดั่งนี้ก็เป็นไปตามสภาพคือภาวะของตน คนเราจะไปฝืนสภาพของขันธ์อายตนะธาตุไม่ได้ คือจะไปฝืนให้เป็นไปตามที่ชอบใจไม่ได้ ขันธ์อายตนะธาตุเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เติบใหญ่ขึ้น เรียกว่าเจริญขึ้นมา เมื่อเรียกตามถ้อยคำธรรมดาของร่างกาย ก็เรียกว่าเป็นเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่เป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่ลงไปหง่อมลงไป แล้วก็แตกสลายในที่สุด นี้เป็นสภาพคือเป็นไปตามภาวะของตนเองทั้งนั้น ที่เราเรียกว่าคติธรรมดา อันนี้แหละคือตัวสภาพ มีกำลังแข็งแรง ไม่ต้องการที่จะแก่จะหง่อมที่จะแตกสลาย แต่ว่าก็แก้ไขห้ามไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามสภาพ และความที่เป็นไปตามสภาพดั่งนี้ตั้งแต่เกิด ความเกิดขึ้นปรากฏ ความตั้งอยู่ปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ คือปรากฏให้กำหนดรู้ได้ ให้เห็นให้สัมผัสได้ว่าเป็นอย่างนั้นให้รู้ได้ และความที่ปรากฏเกิด ตั้งอยู่ และแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปนี้ ก็มีลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น แต่ว่าเมื่อรวมขึ้นโดยทั่วไปแล้ว คือดูที่ตรงกันหมดของสิ่งที่เป็นสังขารที่ปรุงแต่งทั้งหมดแล้ว ก็รวมเข้ามาได้เป็นลักษณะ ๓ อันเรียกว่า สามัญลักษณะ ลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง ก็คืออนิจจลักขณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักขณะ ลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักขณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ซึ่งอันนี้ก็ได้เคยอธิบายมาบ้างแล้ว ก็จะยังไม่พูดไม่อธิบายในสามัญลักษณะนี้ พิจารณาให้รู้จักสามัญลักษณะ คือลักษณะที่ตรงกันหมดเหมือนกันหมดของสิ่งที่เป็นสังขารทุกอย่างให้รู้จัก ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันไปนั้น ก็อาจจะมีที่แตกต่างกันไปเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ เช่นว่าขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ มีความเกิดปรากฏ ความตั้งอยู่ปรากฏ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ ที่ลักษณะที่แตกต่างกันไปก็มีมาก เช่นว่าโดยรูป ก็อาจจะมีบางคนเตี้ย บางคนสูง บางคนปานกลาง บางคนผิวดำ บางคนผิวขาว อะไรเหล่านี้ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ก็เหมือนกัน ก็ต่างกันอย่างนั้นบ้างต่างกันอย่างนี้บ้าง ตามลักษณะเฉพาะตัวๆ ไป แต่ว่าก็รวมกันได้ว่า ทุกๆ ขันธ์ ๕ ทุกๆ อายตนะ ๑๒ ทุกๆ ธาตุ ๑๘ นั้น ย่อมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เป็นแต่เพียงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ดังที่ได้อธิบายแล้วข้างต้นว่าอุปาทานขันธ์หรือสัตตสัญญาอัตตสัญญานั้นเท่านั้น แต่อันที่จริงนั้นไม่มีตัวเราของเราที่แท้จริงอะไรเลย บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ทั้งนั้น ต้องเป็นไปตามสภาพดังที่กล่าวมาแล้ว

สรุปการชำระทิฏฐิ

ผู้ทำวิปัสสนานั้นเมื่อได้มีศีลและได้ทำสมาธิให้ใจสงบ แล้วก็มาจับพิจารณาชำระทิฏฐิคือความเห็น ความเห็นที่ยังยึดถืออยู่ในตัวตนของเรานี้ โดยกำหนดดูให้รู้จัก

๑. ก็คือให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อันเรียกว่าวิปัสสนาภูมิ ให้รู้จักสภาพของสิ่งเหล่านี้ตามที่กล่าวมาแล้ว ว่าต้องเป็นไปตามสภาพคือภาวะเหตุปัจจัยของตัวเอง ตั้งแต่ความเกิดปรากฏ ตั้งแต่ความตั้งอยู่ปรากฏ ตั้งแต่เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏดังที่กล่าวมาแล้ว ให้รู้จักสภาพว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามสภาพคือภาวะเหตุผลของตนเองของแต่ละสิ่งเหล่านี้ และความปรากฏนั้นย่อมปรากฏให้เห็นได้ให้สัมผัสได้เป็นต้น ให้กำหนดพิจารณาให้รู้ได้ โดยที่ต้องมีลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมาย ซึ่งลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมายนั้นปรากฏ ความปรากฏนั้นปรากฏโดยที่มีลักษณะนั้นเป็นเครื่องกำหนดหมาย ถ้าไม่มีลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมายแล้ว ก็ปรากฏให้รู้ไม่ได้ให้พิจารณาไม่ได้ ที่ปรากฏคือปรากฏให้รู้ได้พิจารณาได้ ซึ่งรวมเข้ามาแล้วก็คือว่าในไตรลักษณ์ ลักษณะคือเครื่องกำหนดหมาย กำหนดให้รู้ได้พิจารณาได้ ว่าไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นอนัตตาอย่างนี้ ถ้าไม่ปรากฏก็พิจารณาให้รู้ไม่ได้ นี่ปรากฏ เหมือนอย่างว่าจะร้องบอกด้วยซ้ำว่า ฉันไม่เที่ยงนะ ฉันเป็นทุกข์นะ ฉันเป็นอนัตตานะ อย่ามายึดถือ เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วก็คล้ายๆ กับว่าขันธ์ ๕ ที่ย่อเป็นรูปนาม อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ จะตะโกนบอกอยู่ตลอดเวลาว่าอย่ามายึดถือ อันที่จริงนั้นข้าพเจ้าไม่เที่ยง ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าเป็นอนัตตา

ประการที่ ๒ ก็ให้รู้จักสภาพ
ประการที่ ๓ ก็คือให้รู้จักสามัญลักษณะ
รวมเป็น ๓ ประการ ประการที่ ๑ ให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ประการที่ ๒ ให้รู้จักสภาพของสิ่งเหล่านี้ และประการที่ ๓ ให้รู้จักสามัญลักษณะของสิ่งเหล่านี้ การปฏิบัติดั่งนี้เป็นการปฏิบัติทำทิฏฐิความเห็นให้หมดจด ให้หมดจดจากความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา และเมื่อพิจารณาไปจนรู้จักทั้ง ๓ ประการนี้ ก็ย่อมจะได้ทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็น อันเป็นวิสุทธิข้อที่ ๓ อันนับว่าเป็นวิปัสสนาข้อที่ ๒

๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 27 มกราคม 2554    
Last Update : 27 มกราคม 2554 8:49:13 น.
Counter : 700 Pageviews.  

1  2  3  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.