Group Blog
 
All Blogs
 

พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยมปี ๒๔๖๖ วัดราชบพิธ

พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม วัดราชบพิธ พ.ศ. ๒๔๖๖



พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์



พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ ราชสกุล ชมพูนุช เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์และหม่อมปุน ทรงประสูติเมื่อวันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ เมื่อทรงพระชันษาได้ ๑๔ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เสด็จประทับจำพรรษาที่วัดราชบพิธ (วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ เมื่อทรงพระชนมายุครบอุปสมบท พระองค์ทรงอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย พระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาสนโสภณ (สา) วัดราชประดิษฐ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นพระบรรพชาจารย์ ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “สิริวัฒโน” แล้วเสด็จประทับ ณ วัดราชบพิธ

สมณศักดิ์



ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รับโปรดฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภุชงค์ และดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะที่ “พระพรหมมุนี” เจ้าคณะรองหนกลาง

วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ และดำรงสมณศักดิ์เสมอสมเด็จพระราชคณะ ตำแหน่งที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์”

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สถลมหาสังฆปริณายก

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

และแล้วในวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๐.๐๕ น. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ รวมสิริพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษาที่ ๕๙

พระประวัติเพิ่มเติมศึกษาได้ที่ :
เวป วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี //www.th.wikipedia.org
เวป true ปลูกปัญญา //www.truepookpanya.com

การสร้างพระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม



พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ในขณะที่พระองค์ทรงพระยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมายุครบ ๖๕ ปี โดยในงานพิธีบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ ๖๕ พรรษา ของพระองค์ได้มีการเททองหล่อ พระชัยวัฒน์ โดยอัญเชิญพระพรหมมุนี (แพ) วัดสุทัศน์ ซึ่งต่อมาได้เป็น สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้จัดพิธีและควบคุมดำเนินการจัดสร้าง หลังจากประกอบพิธีเททองเสร็จได้นำพระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม นำเข้าพระอุโบสถ วัดราชบพิธ จัดพิธีพุทธาภิเษก โดยพระคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น ๖๐ รูป นั่งปรกปลุกเสก ๓ วัน ๓ คืน ตามประวัติกล่าวว่า พระชัยวัฒน์สามเหลี่ยม รุ่นนี้สร้างจำนวนแค่ ๑,๐๐๐ องค์ หล่อสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ (ผู้เชี่ยวชาญบางท่านว่าเป็นเนื้อสัมฤทธิ์) มี ๓ แบบด้วยกันคือ แบบธรรมดาหน้าเดียว แบบธรรมดาหน้าเดียวเจาะก้น และแบบพิเศษ ๒ หน้า (มีน้อยมาก)

พุทธลักษณะ



ตรงกลางเป็นพระพุทธปางสมาธิประทับอาสนฐานเขียง ๒ ชั้น รอบองค์พระเป็นซุ้มเรือนแก้วรูปสามเหลี่ยมมีมุมขยักข้างองค์พระทั้งด้านซ้ายและขวา มีรูปพระอัครสาวก



เนื้อโลหะมีหลายกระแส ได้แก่ เหลืองเข้มออกน้ำตาล เนื้อออกแดงอมน้ำตาลเข้ม น้ำตาลออกดำหรือนวะกลับดำ ซึ่งวรรณะที่นิยมสุดจะเป็นนวะกลับดำ ซึ่งจะเหมือนสีและเนื้อพระกริ่ง ยุคต้นๆ ของสมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ฯ ที่หากผ่านการสัมผัสจับต้องบ่อยๆ เนื้อจะจัดเข้มขึ้น มันเป็นประกายงดงามยิ่งนัก



พุทธคุณดีเด่นในด้านมหานิยมและแคล้วคลาด ในด้านมหาอุดก็เคยปรากฏข่าวประสบการณ์ที่มีครู โดนศิษย์เอาปืนจ่อยิง แต่ยิงไม่ออก เป็นข่าวเกรียวกราวในอดีต จึงนับเป็นพระดีที่มากพุทธคุณเหมาะสำหรับจะสะสมหรือห้อยบูชาติดตัวด้วยประการทั้งปวง


--------------------------------------------------------------

เรียบเรียงจาก

นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓๕๖
เวปท่าพระจันทร์ //www.thaprachan.com

ภาพประกอบจาก

เวปท่าพระจันทร์ //www.thaprachan.com
เวปยูอะมิวเลท //www.uamulet.com
เวปอะมิวเลททูยู //www.amulet2u.com
เวปโอมอมูเลท //www.aomamulet.com
และภาพพระนำเรื่องของคุณ toeykeng1 ซึ่งผู้เขียนขอขอบคุณและขออนุญาติทางเวปข้างต้นที่ได้นำภาพมาประกอบเพื่อเผยแพร่เป็นการศึกษาและอนุรักษ์พระเครื่องของไทยด้วยครับ




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2553 10:54:51 น.
Counter : 33076 Pageviews.  

พระปิดตาพุงป่อง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

พระปิดตาพุงป่อง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า



หลวงปู่ศุข หรือพระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า นับเป็นเกจิอาจารย์ที่มีประวัติกล่าวขานถึงอภินิหาร
กับความศักดิ์สิทธิ์ของท่านโดยได้รับความเลื่อมใส ศรัทธาจากมหาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก และท่านได้ยังเป็นพระอาจารย์เอก ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่ชาวไทยนับถือเป็นพระบิดาแห่งราชนาวีไทย วัตถุมงคลที่หลวงปู่ศุขได้สร้างหรือปลุกเสกให้ไว้นั้นมีมากมายและเป็นที่นิยมเสาะแสวงหากันอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เหรียญรุ่นนิยม ปี พ.ศ.๒๔๖๖ เหรียญหล่อประภามณฑลรัศมี พระปรกใบมะขาม พระพิมพ์สามเหลี่ยมแจกแม่ครัว พระปิดตา ตะกรุด และอื่นๆ เป็นต้น



พระปิดตาที่หลวงปู่ศุขได้สร้างหรือปลุกเสกนั้น มีทั้งที่เป็นเนื้อตะกั่ว และเนื้อผงคลุกรัก โดยพระปิดตาที่ได้รับความนิยมกันมาก คือพระปิดตาพิพม์กรมหลวงชุมพรที่เป็นเนื้อผงคลุกรัก ที่ท่านได้สร้างให้กับศิษย์เอก คือ กรมหลวงชุมพร ซึ่งปัจจุบันจะหาของแท้นั้นยากยิ่ง ซึ่งในบทความนี้จะยังไม่ขอกล่าวเพิ่มในรายละเอียดของพระปิดตาพิมพ์นี้ จะได้เขียนมุ่งไปที่พระปิดตาที่เป็นเนื้อผงคลุกรักอีกพิมพ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมมากอีกเช่นกันคือ พระปิดตาพิมพ์พุงป่อง



พระปิดตาพิมพ์พุงป่อง ของหลวงปู่ศูข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นเนื้อผงคลุกรัก การแกะพิมพ์ไม่ได้เน้นความคมชัดในลักษณะ “นูนสูง” แต่เป็นลักษณะ “นูนต่ำ” และโดยรอบลวดลายประดับมีเพียงแค่เส้นนูนเว้าเท่านั้น ดูจากพิมพ์พระแล้ว สันนิษฐานว่า เป็นช่างท้องถิ่น มิใช่ช่างในเมือง หรือช่างหลวงราชสำนักแต่อย่างใด แม้ว่าหลวงปู่ศุข ท่านจะมีความสัมพันธ์กับกรมหลวงชุมพรฯ ก็ตามที

เนื้อพระ จะพบแต่เฉพาะเนื้อผงคลุกรักสีดำเท่านั้น เนื้ออย่างอื่นไม่ปรากฏ
ลักษณะของเนื้อพระเป็น พระผงเนื้อละเอียด ไม่ปรากฏ “มวลสาร” เนื่องจากคลุกรัก หรือนำขี้รักมาบดตำจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน สีผิวจึงกลมกลืน ใต้ฐานจะมี “รู” อันเกิดจากการใช้วัสดุบางอย่าง สันนิษฐานว่าเป็นไม้ปลายแหลม สำหรับงัดพระออกจากแม่พิมพ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวก และรักษาโครงสร้างแบบพิมพ์พระที่กดสมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ดีพระบางองค์ก็ไม่ปรากฏพบรูดังกล่าว นอกจากนี้พระบางองค์จะเห็นว่ามีการนำเอาเนื้อพระมาปิดทับ หรือกดเนื่อที่ปลิ้นออกมาพับเข้าไปด้วย ด้านหลังของพระจะเป็นหลังเรียบกับหลังที่มีจารอักขระยันต์ (มีน้อย)

แนวทางพิจารณาผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อพิจารณาศึกษาไว้ดังนี้



๑. ต้องดูพิมพ์ก่อน กล่าวคือพิมพ์พระจะต้องถูก โดยเน้นที่องค์พระเป็นสำคัญ ส่วนลักษณะโดยรอบจะเว้าหรือมนโค้ง จะไปยึดติดหรือยึดถือองค์ใดเป็นบรรทัดฐานตายตัวมิได้ เพราะขึ้นอยู่กับการกดพิมพ์ และตกแต่งในขณะที่พระยังหมาดๆ ไม่แข็งตัว



๒. ดูที่เนื้อพระ พระปิดตาพุงป่อง หลวงปู่ศุข มีอายุการสร้างเกือบ ๙๐ ปีแล้ว ฉะนั้นเนื้อพระจะต้องแห้งสมอายุ ลักษณะเนื้อพระจะต้องละเอียดแน่นแกร่ง ผิวสีดำ ในบริเวณจุดสัมผัสอาจจะแลดูมันนิดๆ และที่สำคัญจะมี คราบสีน้ำตาลเกาะติดทั่วไป บางองค์พบมากบางองค์พบน้อยเอาแน่ไม่ได้ นอกจากนี้จะเห็น “จุดสีแดง” ขนาดเล็กประแต้มอยู่ในเนื้อ ซึ่งพิจารณาแล้วไม่ใช่มวลสาร แต่น่าจะเป็น “ขี้รักแดง” มากกว่า
อนึ่ง เนื้อพระปิดตาพุงป่อง นี้จะเหมือนกันกับพระพิมพ์สามเหลี่ยมแจกแม่ครัว ของหลวงปู่ศุขเช่นกัน

ด้านพุทธคุณ พระปิดตาพุงป่อง หลวงปูศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า นี้จะเด่นทางเมตตา และมหาอุดคงกระพันชาตรี

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดในประวัติและพระเครื่องของหลวงปู่ศุข สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เวปพระเครื่องหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า //www.poosook.com
เวปเครื่องราง – ของขลัง //www.anchalit.multiply.com/photos

--------------------------------------------------------------

เรียบเรียงจาก

นิตยสารป้อมปราการ รายสัปดาห์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖ ประจำวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๗
นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓๕๕ วันที่ ๑๕ – ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๐
นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ ฉบับที่ ๑๗ ประจำวันที่ ๑ - ๑๕ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
หนังสือ สุดยอดพระปิดตาเมืองสยาม พิพม์ที่ ส.เจริญการพิมพ์ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒
เวปยูอะมิวเลท //www.uamulet.com
เวปพระเครื่องหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า //www.poosook.com

ภาพประกอบจาก

เวปท่าพระจันทร์ //www.thaprachan.com
เวปยูอะมิวเลท //www.uamulet.com
เวปพลังจิต //www.palungjit.com
และภาพพระนำเรื่องของคุณ toeykeng1 ซึ่งผู้เขียนขอขอบคุณและขออนุญาติทางเวปข้างต้นที่ได้นำภาพมาประกอบเพื่อเผยแพร่เป็นการศึกษาและอนุรักษ์พระเครื่องของไทยด้วยครับ




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2553 15:51:30 น.
Counter : 44933 Pageviews.  

พระนาคปรก กรุพะงั่ว

พระนาคปรก กรุพะงั่ว



พระนาคปรก กรุพะงั่ว เป็นพระกรุวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีอยุธยา เดิมทีเข้าใจว่าผู้ที่สร้างก็คือ “ขุนหลวงพะงั่ว” พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลของช่างสกุลขอมหรือลพบุรี



ต่อมาได้มีการสันนิษฐานการสร้างเป็นว่า พระนาคปรก กรุพะงั่ว เป็นพระฝากกรุ โดยขุนหลวงพะงั่วไปนำเอาพระของเมืองลพบุรี ซึ่งสร้างโดยช่างสกุลขอมมาไว้ที่ “วัดมหาธาตุ” โดยมีข้อสังเกตุว่า พระนาคปรกนี้มีศิลปะของขอมโดยตรง พระที่พบเมื่อแตกกรุออกมามีลักษณะผุกร่อนมาก ซึ่งน่าจะเกิดจากการนำพระกรุมาฝังโดยตรงอีกเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งถ้าเป็นการสร้างฝังกรุคราวเดียวน่าจะผุกร่อนไม่มากนัก ประกอบกับเนื้อชินที่เป็นองค์พระของพระนาคปรก กรุพะงั่วนั้นจะเก่ากว่าพระทั้งหลายที่ขุดพบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแทบทั้งสิ้น รวมทั้ง พระเนื้อชินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะมีผิวปรอทแทบทุกองค์ แต่พระนาคปรก กรุพะงั่วนั้นไม่มีผิวปรอทสักองค์เดียว จึงน่าจะลงความเห็นได้ว่า เป็นการนำพระจากเมืองลพบุรี มาฝากกรุไว้ที่อยุธยา ในสมัยขุนหลวงพะงั่ว เสียมากกว่า



(ภาพผิวระเบิด และผุกร่อนที่พบมากในพระนาคปรก กรุพะงั่ว)

พระนาคปรก กรุพะงั่ว นั้นทำจากเนื้อชินเงินอย่างเดียว เป็นสนิมเกล็ดกระดี่เป็นส่วนใหญ่ พระที่พบผุกร่อน ผิวระเบิดสนิมดำ เนื่องจากกรุนี้น้ำท่วมถึง พระแช่น้ำในกรุนาน จึงมีพระชำรุดเป็นจำนวนมาก มีด้วยกัน ๓ พิมพ์ คือ



พิมพ์ใหญ่ ขนาดพระโดยประมาณ กว้าง ๔ ซม. สูง ๗ ซม. องค์พระจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ตามแบบคนสมัยโบราณ ที่นิยมสร้างไว้สักการบูชา องค์พระปฏิมามีพระพักตร์บึกบึน ประทับนั่งปางสมาธิ เหนือขนดนาค เบื้องหลังมีพญานาค ๗ เศียร แผ่พังพาน เหนือเศียรองค์พระประทับอยู่บนบัลลังก์ลำตัวนาคที่ขนดเป็นชั้นถึง ๓ ชั้นในองค์ที่สมบูรณ์ พระวรกายล่ำสันสมบูรณ์ องค์พระประดับด้วยเครื่องทรงครบสมบูรณ์ แต่ไม่ปรากฏพระนาภีให้เห็น



พิมพ์กลาง มีขนาดเล็กย่อมลงมา และลำตัวนาคขนดเพียง ๒ ชั้น มีทรวดทรงชะลูด องค์พระนั่งยกพระอังสกุฏ (ไหล่) ทั้งสองขึ้นเล็กน้อย เค้าพระพักตร์ดุเครียด พระหนุ (คาง) เป็นเหลี่ยมลบมุม พระเศียรสวมอุณหิศ (มงกุฎ) กรอบกระบังหน้าเป็นเส้นคู่ พระกรรณส่วนมากไม่ติดพิมพ์ ทรงฉลองพระศอ (สร้อยสังวาลย์) ปรากฏรัดประคดเหนือพระหัตถ์ที่วางซ้อนกัน พระชงฆ์ที่ซ้อนกันเว้าเข้าข้างใน การประทับนั่งในลักษณะยกพระที่นั่ง (ก้น) ขึ้นเล็กน้อย ขนาดองค์พระเครื่อง กว้างประมาณ ๓ ซม. สูง ๖ ซม.



และพิมพ์เล็ก มีพิมพ์ทรงแบบเดียวกับพิมพ์ใหญ่และพิมพ์กลางทุกประการ แต่องค์พระจะแตกต่างกันที่ขนาด ซึ่งเล็กกว่ากันมาก ในรายละเอียดของความชัดเจนแล้ว สู้ทั้งสองพิมพ์ที่กล่าวมาแล้วไม่ได้เลย เค้าพระพักตร์มีลักษณะเครียดดุ ลักษณะการประทับนั่งแบบยกพระอังสกุฏ (ไหล่) ทั้งสองข้างขึ้นเล็กน้อย การวางพระกรประสานกันในลักษณะกอดรัดองค์พระเล็กน้อย พระบาทและพระชงฆ์เว้าเข้าด้านใน พระพิมพ์เล็กนี้องค์พระปฏิมาประทับอยู่บนบัลลังก์ลำตัวนาคที่ขนดเป็นชั้นเพียงชั้นเดียวเท่านั้น ขนาดองค์พระกว้าง ประมาณ ๒.๗ ซม. สูง ๕ ซม.
ด้านพุทธคุณ กล่าวกันว่าเป็นเยี่ยมทางมหาอุด และคงกระพันชาตรี

ภาพพระเพิ่มเติม



และชมความอลังการในพุทธศิลปของพระนาคปรก กรุพะงั่ว ในองค์ที่มีความสวยสมบูรณ์อย่างมากองค์หนึ่ง




--------------------------------------------------------------

เรียบเรียงจาก

นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ เล่มที่ ๒๐ ประจำวันที่ ๑ – ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๐
นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ เล่มที่ ๓๖๕/๐๒๕ ประจำวันที่ ๒๕ ธันวาคม – ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๑
หนังสืออมตะพระกรุ 2006 (วปอ.2547) พิมพ์ที่ บ.เอเชีย แปซิฟิค ออฟเซ็ท จำกัด
เวปคมชัดลึก //www.komchadluek.net
เวปพลังจิต //www.palungjit.com
เวปยูอะมิวเลท //www.uamulet.com

ภาพประกอบจาก

เวปท่าพระจันทร์ //www.thaprachan.com
เวปยูอะมิวเลท //www.uamulet.com
เวปพิณประภา กรุงเก่า //www.pinprapa.com
และภาพพระนำเรื่องของคุณ toeykeng1 ซึ่งผู้เขียนขอขอบคุณและขออนุญาติทางเวปข้างต้นที่ได้นำภาพมาประกอบเพื่อเผยแพร่เป็นการศึกษาและอนุรักษ์พระเครื่องของไทยด้วยครับ




 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2553 6:01:02 น.
Counter : 10947 Pageviews.  

พระปิดตาและมูลคติการสร้าง

พระปิดตา



(พระปิดตาอุตตโม หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่)

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีต่างลงความเห็นว่า วัตถุมงคลของขลังที่คนไทยนิยมใช้คาดหรือพกติดตัวในอดีตนั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นเครื่องราง อาทิเช่น ตะกรุด ลูกอม ผ้าประเจียด เขี้ยวเสือ แหวนพิรอด ฯลฯ ไม่นิยมพกหรือแขวนพระเครื่องไว้กับตัว แม้ว่าจะมีการสร้างพระพิมพ์บรรจุในพระเจดีย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ลพบุรี อยุธยา หรือก่อนหน้าก็จริง แต่ก็เชื่อกันว่าเป็นพระพิมพ์ที่สร้างเป็นอุเทสิกเจดีย์ เพื่อสืบต่อพระศาสนา มิได้มีวัตถุประสงค์ให้นำมาพกพาติดตัวเป็นเครื่องรางของขลังแต่ประการใด

อย่างไรก็ดี ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็ได้ปรากฏหลักฐานอยู่ในบทขับเสภาเรื่องขุนช้าง – ขุนแผน ว่า ถึงการนำพระปิดตา หรือพระภควัมบดี มาใช้เป็นเครื่องรางในเสภาดังบทที่จะยกมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้



(พระปิดตาแร่บางไผ่ หลวงปู่จัน วัดโมลี)

ตอนขุนช้างระดมบ่าวไพร่เพื่อออกตามนางวันทอง มีความในท่อนหนึ่งว่า
จัดแจงแต่งตัวนุ่งยก
เข็มขัดรัดอกแล้วโจงหาง
ผูกตัวเข้าเป็นพรวนล้วนเครื่องราง
พระปรอทขอดหว่างมงคลวง
ลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร
ไข่เป็ดเป็นหินขมิ้นผง
ตะกรุดโทนของท่านอาจารย์คง
แล้วอมองค์พระควัมล้ำจังงัง
ฯลฯ



(พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง)

หรือในตอนขุนแผนกับพลายงามทำพิธีปลุกเสกของ ก่อนยกพลไปตีเมืองเชียงใหม่ ความว่า
............
จึงเอาพระควัมที่ทำไว้
ใส่ขันสำริดประสิทธิ์มนต์
ในขันนั้นใส่น้ำมันหอม
เสกพร้อมเป่าลงไปสามหน
พระนั่งขึ้นได้ในบัดดล
น้ำมันนั้นทาทนทั้งทุบตี
ฯลฯ



(พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง)

และในอีกตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพระภควัมบดี ดังนี้
กล่าวถึงทัพอัสดรตรีเพชรกล้า
อันแม่ทัพคนนี้มีศักดา
อยู่คงศาสตราวิชชาดี
แขนขวาสักธงองค์นารายณ์
แขนซ้ายสักชาดราชสีห์
ขาขวาหมึกสักพยัคฆี
ขาซ้ายสักหมีมีกำลัง
สักอุระรูปพระโมคคัลลาน์
ภควัมปิดตานั้นสักหลัง
สีข้างสักอักขระนะจังงัง
ศีรษะฝังพลอยนิลเม็ดจินดา
ฯลฯ

จึงเห็นได้ว่า นับแต่โบราณในบรรดาเครื่องรางของขลังและเวทมนต์คาถาที่เปี่ยมฤทธิ์ในทางแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพันทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีพระภควัมปิดตารวมอยู่ด้วย

มูลคติการสร้างพระปิดตา



(พระสังกัจจายรัตนะ)

ตำนานความเป็นมาของการสร้างพระปิดตาเริ่มต้นที่พระอัครสาวกองค์หนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า พระกัจจายนเถระ พระกัจจายนเถระเป็นเอตทัคคะในการอธิบายหัวข้อธรรมที่ย่อได้อย่างพิสดารเป็นเลิศ พิศดารในที่นี้หมายถึง กว้างขวาง ละเอียดละออทางเนื้อความ คุณวิเศษอีกประการหนึ่งของท่าน คือเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม มีวรรณะผุดผ่องดั่งทองทา พระบาลีเรียกว่าสุวัณโณจวันนัง คือมีผิวเหลืองอร่ามดุจทองคำ มิว่าท่านจะไปในสถานที่ใด เทพยดาและมนุษย์ต่างก็พากันสรรเสริญด้วยเข้าใจผิดว่า ท่านคือพระบรมศาสดาเสด็จมา
เนื่องเพราะท่านมีรูปโฉมละม้ายเหมือนพระบรมศาสดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้สมญาอีกนามหนึ่งว่า พระภควัมบดี ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปดั่งนี้ พระกัจจายน์จึงมาคิดว่า การที่เทพยดาและมนุษย์พากันสรรเสริญท่านดังนี้เป็นการไม่สมควรยิ่ง ท่านจึงกระทำด้วยอิทธิฤทธิ์ เนรมิตกายให้เป็นพระพุงพลุ้ย พระอ้วนที่น่ารักตั้งแต่นั้นมา



(พระปิดตาหลวงพ่อทัพ วัดทอง)

สำหรับข้อสงสัยว่า ทำไมพระภควัมบดีจึงต้องยกมือขึ้นปิดหน้า และที่ปิดหู ปิดปาก ปิดจมูก จนถึงล้วงไปปิดทวารก็มี กระทั่งมีการเรียกขานพระภควัมบดีปางนี้ว่า พระปิดทวารทั้ง ๙ อันได้แก่ ๒ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ทวาร กับอีก ๑ ปาก รวมเป็น ๙ ดังกล่าว นั้น คำตอบที่ให้เหตุผลน่ารับฟัง คือ โบราณาจารย์ผู้ชาญฉลาด ท่านสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ยามเมื่อพระภควัมบดี ท่านกำลังล่วงเข้าสู่สภาวะนิโรธสมาบัตินั้น ทวารทั้ง ๙ ล้วนปิดสนิท ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่วิเศษที่สุดเป็นสภาวะที่บริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากกิเลสอาสวะแม้เพียงธุลีมาแผ้วพาน อาจถือได้ว่าเฉกเช่นขณะที่พระเกจิอาจารย์ท่านกระทำการทางอิทธิฤทธิ์ ท่านย่อมต้องเข้าญานสมาบัติโดยดับทวารทั้ง ๙ เช่นกัน เพียงแต่ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สามารถมองเห็นได้เท่านั้นเอง



(พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์)

อนึ่ง สำหรับโบราณาจารย์บางท่านที่สร้างพระภควัมบดีในอาการเพียงยกมือทั้งสองขึ้นปิดหน้านั้น แต่โดยความหมายแล้วก็เป็นนัยเดียวกัน คือหมายถึงปางที่เข้าสู่นิโรธอันสงบยิ่ง ทวารทั้ง ๙ ดับสนิทหรือปิดสนิทแล้วนั่นเอง ที่กล่าวมาโดยย่อนั้น คือความเป็นมาของพระกัจจายนะเถระที่ถูกสร้างขึ้นเป็นรูปสมมติเพื่อการสักการะบูชา โดยได้รับการกล่าวนามต่างกันไม่ว่าพระภควัมบดี พระภควัมปติ พระมหากัจจายน์ พระปิดตา พระปิดทวารทั้ง ๙ หรือพระมหาอุตม์ (อุตม อ่านว่า อุดตะมะ แปลว่าสูงสุด ดีที่สุด ยอดเยี่ยม เสิศ ยิ่ง วิเศษ ประเสริฐ มากมาย บริบูรณ์) ล้วนเป็นองค์เดียวกันทั้งสิ้น



(พระปิดตาเมฆพัสตร์หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้)

อาจมีผู้สงสัยว่า ทำไมจึงเจาะจงสร้างรูปเคารพเฉพาะพระกัจจายน์เท่านั้น ความจริงอุปเทห์ในการสร้างพระภควัมบดีหรือพระปิดตา ตามพระตำราแต่โบราณกาลกล่าวไว้ดังนี้ คือ

คติการสร้างรูปเคารพพระภควัมบดีหรือพระปิดตาขึ้นมาเพื่อการสักการะบูชานั้น โบราณาจารย์ท่านได้เลือกสรรค์เอาคุณวิเศษสุดยอดของอัครสาวก ทั้ง ๔ มารังสรรค์คิดแต่งเข้าด้วยกัน คือ

๑. ความงามด้านสร้างเสน่ห์นิยม ได้แก่พระกัจจายน์ ตอนเนรมิตกายให้เป็นพระอ้วนเตี้ยม่อต้อ แต่ก็สามารถพิจารณาดูได้อย่างไม่รู้เบื่อ ยิ่งดูยิ่งซึ้ง รูปลักษณะของพระภควัมบดีปิดตาที่ถูกต้องต้องเป็นเช่นนี้และสร้างกันในลักษณะนี้

๒. ความมีสติและปัญญาหยั่งรู้เป็นเลิศ ได้แก่พระสารีบุตร ที่พระบรมศาสดาทรงตรัสยกย่องว่าเป็นเอกในด้านสติปัญญา หลักแหลมเฉลียวฉลาดเป็นเลิศหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้

๓. ความมีอิทธิฤทธิ์ พระบรมศาสดาตรัสยกย่องพระโมคคัลลาน์เพราะท่านมีฤทธานุภาพเป็นอย่างยิ่ง

๔. ความมั่งคั่งในโภคทรัพย์ ได้แก่พระสีวลี ที่พระบรมศาสดาตรัสยกย่องว่าเป็นเอกในทางโชคลาภ มีลาภสักการะเป็นเลิศมิได้ขาด



(พระปิดตาวัดท้ายย่าน พิมพ์ชีโบ)

เมื่อรวมความเป็นเลิศทั้ง ๔ ประการแล้ว โบราณาจารย์จึงได้รังสรรค์ตำราการสร้างพระภควัมบดีหรือพระปิดตาขึ้น โดยกำหนดให้ใช้รากรักซ้อนมาแกะเป็นรูปพระปิดตา ให้มีขนาดสูงราว ๑ องคุลี (หรือประมาณ ๑ นิ้วถึง ๑ นิ้วครึ่ง โบราณถือเอาความยาวของข้อนิ้วกลาง) คว้านใต้ฐานให้กว้างพอที่จะบรรจุวัสดุมงคลลงไปได้ และควรจักต้องกระทำพิธีกรรมให้ถูกต้อง เพื่อจักทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ มีคุณานุภาพเป็นเอนกประการ จากนั้นจึงบรรจุพระธาตุของพระสีวลี พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร หรือพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุของพระอรหันต์องค์อื่นๆ ที่มีอยู่ลงไปด้วย ทว่าหากแม้นหาพระธาตุองค์ใดองค์หนึ่งดังกล่าวแล้วมิได้ ท่านให้เอากระดาษว่าว (กระดาษสา) มาลงพระนามบรรจุแทนก็ได้

วัสดุมงคลที่ใช้บรรจุนั้น ท่านกำหนดให้ใช้ยอดรักซ้อน ๓ ยอด ยอดสวาท ๓ ยอด ยอดกาหลง ๓ ยอด เอามาผสมบดละเอียดให้เข้ากัน



(พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ)

เมื่อจักทำการสร้างและบรรจุพระภควัมบดีนั้น ต้องหาฤกษ์งามยามดีแล้วตั้งเครื่องกระยาบวชสังเวยเทพยดาและบุพพาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาคมเสียก่อน แล้วอาราธนาพระสงฆ์ ๙ รูป มาเจริญชัยมงคลขณะบรรจุพระธาตุ ท่านให้เอาพระธาตุดังกล่าวห่อด้วยกระดาษว่าวลงยัตน์ตามตำราบังคับบรรจุเข้าไป เอายอดไม้มงคลอัดทับลงไป แล้วปิดด้วยชันโรงใต้ดิน

เมื่อกระทำการบรรจุพระภควัมบดีเรียบร้อยแล้ว ให้ตั้งพิธีปลุกเสกเป็นลำดับต่อไป พิธีนี้ต้องกระทำภายในพระอุโบสถทั้งหมด โดยท่านให้เอาพระภควัมบดีลงแช่ในน้ำมันหอม ๙ รส ๙ กลิ่น บริกรรม ๓ วัน ๓ คืน จนบังเกิดอุคหนิมิต หรือบ้างก็ว่าปลุกเสกจนพระภควัมบดีลุกขึ้นนั่งทุกองค์นั่นแล้ว จึงจะถือว่าสำเร็จพิธี จากนั้นจึงนำมาลงรักปิดทอง เพื่อการอนุรักษ์สืบไปตามแต่จะเห็นสมควร แล้วให้ทำการบูชาทุกเช้าค่ำ กล่าวกันว่า ตำราการสร้งพระภควัมบดีนี้ เป็นของพระครูเทพ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เกจิอาจารย์ได้ศึกษาสืบต่อกันมา เป็นของวิเศษที่ยากจะหาสิ่งใดมาเปรียบได้ และตำราของพระครูเทพ ยังได้กล่าวถึงคุณประโยชน์พระภควัมบดี ที่พอจะหยิบยกมากล่าวแต่พอสังเขป ดังนี้

ถ้าเป็นทหารแลจะไปสนามรบ ให้เอาพระห่อผ้าใส่หัวไป จะแคล้วคลาดปลอดภัย แม้ปืนจะยิงมาปานห่าฝน ก็มิถูกตัวเราเลย
ถ้าหากมีศัตรู ให้เขียนชื่อศัตรูลงในกระดาษแล้วเอาพระทับไว้ ศัตรูจะทำอันตรายเรามิได้เลย
ถ้าต้องโทษถึงตายหรือถูกยึดทรัพย์ ให้เอาพระมาสรงน้ำ แล้วเอาน้ำนั้นมากินมาอาบ โทษร้ายจะหายสูญสิ้นแล
ถ้าโทษถูกเฆี่ยนตี ให้รำลึกถึงพระแล้วจุดธูปเทียนถวายพระบริกรรมภาวนา ๓ คาบ จะไม่ถูกเฆี่ยนเลย ถ้าจำเป็นต้องถูกเฆี่ยนให้กลั้นใจหยิบเอาดินใส่กระหม่อม ถึงถูกตีก็ไม่เจ็บ
ถ้าต้องการป้องกันโจรผู้ร้าย ให้จุดธูปเทียนถวายพระแล้วอธิษฐานจิตขอความปลอดภัย ให้ทำเป็นประจำทุกวัน ภัยสามประการคือ โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย จะไม่เกิดขึ้นเลย



(พระปิดตาเมฆสิทธิ์ หลวงพ่อทับ วัดอนงค์)

หากผู้ใดได้ทำตามตำรานี้แล้ว ผู้นั้นจะมีชีวิตราบรื่น มีความสุขความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถ้าผู้ใดไม่เชื่อเสมือนเกิดมาไม่พบพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธศาสนา ผู้เป็นคนดีมีศีลธรรมจึงจะรักษาได้ คนพาลสันดานหยาบรักษาไม่ได้ ตำรานี้เกจิโบราณาจารย์ศึกษาสืบต่อกันมาจากวัดประดู่ทรงธรรม สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระภควัมบดี หรือพระปิดตา จึงถือว่าเป็นยอดของเครื่องรางของขลังของคนไทยเราที่นิยมกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อานิสงส์ของการบูชาพระภควัมบดี เชื่อกันว่า จะทำให้ผู้บูชาเจริญด้วยลาภผลสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดปัดเป่าให้พ้นสรรพภัยอันตรายทั้งปวง จึงมีผู้นิยมสร้างและบูชากันมาก

เรียบเรียงคัดย่อจาก
นิตยสารคอลเลคชั่น ลำดับที่ ๓ เดือนสิงหาคม ๒๕๓๙
หนังสือสุดยอดพระปิดตาเมืองสยาม รางวัลชนะเลิศแต่ละรายการงานมหกรรมการประกวดอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒

ภาพประกอบจาก
หนังสือสุดยอดพระปิดตาเมืองสยาม
เวป //www.thaprachan.com




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2553    
Last Update : 26 สิงหาคม 2553 6:35:09 น.
Counter : 46504 Pageviews.  

พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ



ประวัติหลวงพ่อเชย



หลวงพ่อเชย ดิสฺสร นามเดิมของท่านคือ เชย เพชรประดิษฐ์ โยมบิดาชื่อ ประดิษฐ์ โยมมารดาชื่อ แก้ว เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๒ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ เกิดที่ตำบลท้องคุ้งบน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทปราการ มีพี่น้อง ๒ คนคือ หลวงพ่อเชย ดิสฺสร และนายปลั่ง เพชรประดิษฐ์ ในช่วงเยาว์วัยท่านสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา บิดามารดาจึงนำท่านฝากไว้กับ หลวงพ่อปาน ที่วัดบางกระสอบ ท่านจึงได้รับการประสิทธิประสาทวิชาจากหลวงพ่อปาน จนอายุครบบวช ก็ได้บรรพชาอุปสมบท ณ วัดบางกระสอบในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยมี หลวงพ่อจันทร์ วัดท้องคุ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเพิ่ม วัดหนามแดง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับนามฉายาว่า ดิสฺสร

หลวงพ่อเชย ได้รับประสิทธิ์ประสาทสืบทอดวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อปาน ทั้งพุทธาคม วิทยาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน อักขระและภาษาขอม จนมีความเชี่ยวชาญในด้านคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ อีกทั้งแก่กล้าในด้านเวทย์มนต์คาถาลงเลขยันต์ และได้ช่วยหลวงพ่อปานสร้างวัตถุมงคลจนจดจำกรรมวิธีได้อย่างละเอียดละออ

เมื่อหลวงพ่อปานได้ชราภาพลงมาก ท่านได้เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาแทน มีพระสงฆ์อุบาสก - อุบาสิกา และประชาชนมาเรียนวิปัสสนากับท่านเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี จึงทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ภายหลังเมื่อสิ้นหลวงพ่อปานแล้ว ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางกระสอบ ปกครองพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและศิษย์ สร้างถาวรวัตถุ ปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงมีคนนับถือศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นอันมาก ท่านได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ สิริรวมอายุ ๖๒ ปี ๔๐ พรรษา

พระปิดตาหลวงพ่อเชย

หลวงพ่อเชยได้ดำเนินการสร้างพระปิดตาประเภทเนื้อคลุกรักขึ้นมาพิมพ์หนึ่ง ซึ่งเรานิยมเรียกขานกันว่า พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ เป็นพระปิดตาเนื่อคลุกรักที่ได้รับความนิยมโดดเด่นอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์เป็นพระปิดตาพิมพ์ครึ่งซีก ด้านหลังส่วนมากจะโค้งมนอย่างที่เรียกว่า หลังประทุน



พิมพ์ทรงของพระปิดตาของหลวงพ่อเชย งดงามให้ความรู้สึกอุดมสมบูรณ์สมดังลักษณะของพระมหากัจจายนะทุกประการ กอปรด้วยพระอุทร (ท้อง) ที่อ้วนท้วน บ่งบอกความมั่งคั่ง พระกร (แขน) ที่ยกขึ้นปิดพระเนตร (นัยน์ตา) และพระกรที่โอบพระอุทรทำเป็นเส้นขนาดใหญ่มั่นคงและลากขึ้นปิดพระกรรณ (หู) ทั้งสองข้าง รับกับพระเพลา (ตัก,ขา) ที่แสดงอาการประทับนั่งแบบ ขัดเพชร ซึ่งกว้างเป็นพิเศษ แสดงถึงฐานที่รองรับพระวรกายไว้อย่างมีเสถียรภาพ พิจารณาโดยรวมแล้ว พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ มีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้รับอิทธิพลหรือแบบอย่างจากพระปิดตาของอาจารย์หรือสำนักอื่น สักเท่าใดนัก

จากคำบอกเล่า มวลสารที่ใช้ในการสร้างพระปิดตาหลวงพ่อเชยนั้น ได้แก่ผงวิเศษที่ได้มาจากการเขียนและลบพระคาถา อันได้แก่ผงอิทธิเจ ซึ่งมีอานุภาพทางเสน่ห์นิยมอย่างประเสริฐ นอกจากนี้ยังมีว่าน ๑๐๘ อันประกอบด้วย ยอดมหาเสน่ห์ที่เรียกกันว่า ว่านดอกทอง ว่านเสน่ห์จันทร์ขาวจันทร์แดง ฯลฯ และเกสรต่างๆ รวมทั้งต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ และต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพ์ต่างๆ อีกมาก เหล่านี้คือเนื้อหลักในการสร้างพระปิดตาหลวงพ่อเชย

ก่อนการสร้างต้องนำวัสดุต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้ ไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วเอามารวมกันสุมไฟ จนไหม้เกรียมได้ที่แล้วให้เอากะละมังหรือวัสถุอื่นลักษณะคล้ายกันมาครอบไว้ กรรมวิธีดังกล่าวนี้เรียกว่า สะตุ จากนั้นจึงนำมาบดหรือตำ ร่อนด้วยตะแกรงอย่างละเอียดที่สุด เพื่อที่เมื่อถึงเวลานวดผสมกับน้ำรัก จะได้ผสมผสานเป็นเนื้อหนึ่งเนื้อเดียวกัน การบดผงกับน้ำรัก ที่เรียกกันว่าเนื้อคลุกรักนั้น ต้องใช้เวลาในการบดผสมระหว่างเนื้อหลักกับน้ำรักเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องทำการบดผสมบนหินบดยา อันเป็นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าเรียบ บดผสมครั้งหนึ่งๆ นำมากดเป็นพระปิดตาได้ไม่ถึง ๒๐ องค์

หลังจากกดเป็นองค์พระเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้ไม้เสียบก้นถอดออกจากพิมพ์นำไปปักไว้กับลำต้นกล้วย ปล่อยผึ่งทิ้งไว้ในที่ร่มและใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำพอหมาดคลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นการบ่มรักให้แห้งสนิท ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน ในระหว่างการรอให้แห้งสนิทนั้น หลวงพ่อจะปลุกเสกบริกรรมของท่านไปจนตลอดไตรมาส ซึ่งจะเห็นได้ว่ากว่าจะสร้างพระปิดตาเนื้อคลุกรักได้สำเร็จนั้นต้องอาศัยความตั้งใจและความมานะพยายามอย่างยิ่ง พระที่ได้จึงมีจำนวนน้อยมากและหาได้ยาก

สีสันวรรณะของพระปิดตาหลวงพ่อเชยซึ่งมีส่วนผสมของว่าน ๑๐๘ และต้นไม้มงคลเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื้อแท้ของท่านจึงไม่ค่อยจะออกไปทางสีน้ำตาลเหมือนพระเนื้อคลุกรักของอาจารย์อื่นๆ แต่สีจะไปทางเขียวเข้มจนถึงดำ และมีความแกร่งมาก

พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ สามารถแบ่งพิมพ์ตามลักษณะของการหักของ พระกร (แขน) ได้เป็น ๒ พิมพ์ คือ



พิมพ์แขนหักศอก (นิยม) กับ



พิมพ์แขนกลม

พระปิดตาหลวงพ่อเชยนั้นกล่าวกันว่ามีพุทธานุภาพเด่นในทางเมตตามหานิยม โดยท่านพูดกับศิษย์ว่า “ทางคงกระพันไม่จำเป็นแล้วอย่าใช้ สู้เมตตามหานิยมไม่ได้ มีคนเมตตาแล้วใครทำอะไรไม่ได้”


เรียบเรียงคัดย่อจาก
นิตยสารคอลเลคชั่น ลำดับที่ ๓ เดือนสิงหาคม ๒๕๓๙
หนังสือสุดยอดพระปิดตาเมืองสยาม รางวัลชนะเลิศแต่ละรายการงานมหกรรมการประกวดอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒
หนังสือเบญจพระเครื่อง เมืองสมุทรปราการ ชมรมพระเครื่องสมุทรปราการ

ภาพประกอบจาก
หนังสือสุดยอดพระปิดตาเมืองสยาม
หนังสือเบญจพระเครื่อง เมืองสมุทรปราการ
เวป //www.thaprachan.com
เวป //www.uamulet.com




 

Create Date : 30 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 30 กรกฎาคม 2553 5:54:58 น.
Counter : 44683 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.