Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๑ ลักษณะพุทธศาสนา - จิตตวิสุทธิ (๒)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



กรรมฐาน ๘๔,๐๐๐

จะแสดงจิตตวิสุทธิต่อ กรรมฐาน ๔๐ ประการและสติปัฏฐาน ๔ ได้แสดงแล้ว ก็เป็นอันว่ายังไม่หมดกรรมฐานแม้สำหรับเพื่อสมาธิอันเรียกว่าสมถกรรมฐาน พระอาจารย์ผู้อธิบายกรณียเมตตสูตรได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐ กรรมฐาน อันจำนวน ๘๔,๐๐๐ นี้เป็นคำที่พระอาจารย์ได้แสดงจำนวนพระธรรมขันธ์ เรียกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยที่ได้แสดงไว้ว่าพระไตรปิฏกคือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันนปิฏกและพระอภิธรรมปิฏก ที่แบ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันจารึกไว้เป็นตัวอักษรเป็น ๓ หมวด คำว่า “ปิฏก” แปลว่า ตะกร้า ไตร แปลว่า สาม ติ- ปิ - ฏะ - กะ ไตรปิฏก ก็แปลว่า ๓ ตะกร้า เหมือนอย่างว่าเอาพระวินัยมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าวินัยปิฏก เอาพระสูตรมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าสุตตันตปิฏก เอาพระอภิธรรมมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าอภิธรรมปิฏก ความหมายก็คือว่าหมวดหรือกอง เช่นเดียวกับคำว่าธรรมขันธ์ที่แปลว่ากองของธรรมอันหมายความว่าธัมมะหลายๆ ข้อที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็รวมอยู่เป็นหมวดเดียวกัน ก็เป็นธรรมขันธ์อันหนึ่งเรียกว่ากองแห่งธรรม สมมติว่าธัมมะหมวดที่มีอุปการะมากในทุกะหมวด ๒ ก็มี ๒ ข้อ คือสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ก็เป็นธรรมขันธ์หนึ่ง คือกองแห่งธรรมกองหนึ่งดั่งนี้เป็นต้น และ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้เอา ๒ หาร ก็เป็น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คราวนี้ส่วนวินัยปิฏกกับสุตตันตปิฏกนั้น ก็เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาแบ่งเป็น ๒ เมื่อแบ่งเป็น ๒ ส่วนหนึ่งก็เป็น ๒๑,๐๐๐ เพราะฉะนั้นพระวินัยปิฏกจึงมี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฏกก็มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมเข้าก็เป็น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ว่าจะมีใครเคยนับหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ก็เป็นจำนวนที่พระอาจารย์ท่านตั้งเอาไว้ ก็เห็นจะต้องถือเอาความหมายว่ามีมากนั้นเอง และพระอาจารย์ผู้อธิบายพระสูตรดังกล่าวข้างต้น ท่านบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานภิกษุทั้งหลายนั้น ๘๔,๐๐๐ กรรมฐาน หรือ ๘๔,๐๐๐ ข้อ ก็เป็นอันว่าพระธรรมขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นกรรมฐานทั้งนั้น

อันที่จริงพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าทุกๆ อย่างผู้ที่เป็นบัณฑิตถือเป็นข้อกรรมฐานได้ทั้งนั้น คือว่าอารมณ์ทั้ง ๖ ซึ่งจิตรับทางทวารทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมาแล้วอยู่ทุกๆ วัน ทุกๆ เวลานั้น ก็เป็นกรรมฐานได้ทั้งหมด รูปที่ตาเห็นทั้งหมด เสียงที่หูได้ยินทั้งหมด กลิ่นรสโผฏฐัพพะที่จมูกลิ้นกายได้ทราบทั้งหมด และธัมมะคือเรื่องราวที่ใจได้รู้ได้คิดทั้งหมด บัณฑิตถือเป็นกรรมฐานได้ทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อมีสติกำหนดในอารมณ์ทั้งปวงเหล่านั้นอยู่ทุกอิริยาบถ อารมณ์ทั้งปวงเหล่านั้นก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น ดังเช่นที่มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุหรือภิกษุณีรูปหนึ่งท่านไปบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตก็เอาน้ำล้างเท้า น้ำที่เทล้างเท้านั้น เมื่อเทลงไปทีแรกก็ปรากฏเป็นน้ำไหล แล้วค่อยๆ ซึมไหลไปในแผ่นดินหมด ท่านก็มาจับอาการที่น้ำไหลซึมลงไปในแผ่นดินหมดนั้นมาพิจารณา ว่าทุกอย่างที่เป็นสังขารก็เป็นสิ่งที่เกิดและดับ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมอันที่จริงนั้นเมื่อเข้ามาบวชก็ต้องบิณฑบาตกันอยู่ทุกวันๆ และก็ต้องมีน้ำล้างเท้ากันอยู่ทุกวันๆ แต่ในวันอื่นนั้นไม่ได้ตั้งสติที่จะพิจารณา สติไม่เกิดก็ไม่เป็นกรรมฐาน แต่เมื่อสติเกิดขึ้นจิตที่กำหนดก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ เป็นจิตตวิสุทธิขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้ปัญญามองเห็นเกิดดับจากน้ำที่เทล้างเท้า ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลแล้วก็ค่อยๆ ซึมหายไปในแผ่นดินหมด อันแสดงว่าสังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่เกิดดับ ชีวิตนี้ก็เกิดดับดั่งนั้น ก็เป็นตัวปัญญาซึ่งเป็นวิปัสสนาขึ้นมา

หรือแม้ในสมัยหลังนี้ที่ท่านแสดงถึงพระเถระรูปหนึ่งที่มีชาวบ้านหลังวัดเขาด่ากัน ท่านก็เอาธูปเทียนมาจุดพนมมือฟัง ว่านานๆ จะได้ยินเสียงด่าแบบนี้สักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นแม้ที่เสียงด่ากันนี้ก็เป็นกรรมฐานเหมือนกัน ในเมื่อกำหนดพิจารณาลงไป ว่าคนเราเมื่อโทสะเกิดขึ้นก็เป็นดั่งนี้ ด่ากันโครมครามอย่างนี้ ตีกันด่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าใครเห็นเป็นกรรมฐานในคำด่าได้ก็แปลว่าโทสะก็สงบ จิตก็บริสุทธิ์ แม้เสียงเพลงที่ร้องก็มีเล่าไว้ ว่าพระเถระรูปหนึ่งไปบิณฑบาต ได้ยินเสียงเพลงที่ชาวบ้านร้อง ก็กำหนดเสียงเพลงและเนื้อเพลงที่แสดงถึงความเกิดดับ คือว่าท่านไปจับความไปในความเกิดดับ แต่เนื้อเพลงนั้นจะว่าอย่างไรท่านไม่ทราบ แต่ว่าท่านจับความไปในทางสิ่งที่แสดงถึงการเกิดดับ ก็เป็นกรรมฐานขึ้นได้เหมือนกัน ก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นได้เหมือนกัน ก็เป็นอันว่าทั้งเสียงด่าทั้งเสียงร้องเพลงนั้นบัณฑิตถือเป็นกรรมฐานได้ทั้งนั้น ให้สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ากรรมฐานนั้นมีอยู่รอบตัวเมื่อรู้จักที่จะคิดให้ถูกทางของกรรมฐานแล้ว ก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น เพราะฉะนั้นที่พระอาจารย์ว่าพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๘๔,๐๐๐ แก่ภิกษุทั้งหลายนั้นก็มีเหตุผล คือว่าทรงจับเรื่องที่บังเกิดขึ้นเป็นกรรมฐานทั้งนั้น ผู้ที่ได้อ่านเรื่องธรรมบท หากมาคิดในแง่นี้แล้วก็จะเห็นว่าเป็นเช่นนั้น

การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่กล่าวไว้ว่าอาการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๓ อย่างในนวโกวาทคือ ๑. ทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้ ๒. ทรงแสดงธรรมมีนิทาน คือเหตุที่ตรองตามให้เห็นจริงได้ และ ๓. ทรงแสดงธรรมที่มีปาฏิหาริย์ คือผู้ฟังย่อมได้รับผลตามสมควรแก่ความปฏิบัติ อันนี้เป็นความจริง ปฏิบัติได้ผลจริง และข้อที่ว่าทรงแสดงธรรมเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นนั้น ก็คือว่าธัมมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งสิ้นนั้น ทรงแสดงในตนเอง ไม่ใช่ทรงแสดงที่อื่น เหมือนอย่างนายแพทย์ที่ศึกษาวิชาแพทย์นั้นก็ศึกษาภายในร่างกายของมนุษย์และของสัตว์ทั้งนั้น และเมื่อประกอบยารักษา ก็ประกอบยารักษาร่างกายของสัตว์และคนทั้งนั้น ไม่ใช่ที่อื่น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมภายในดั่งนี้ จึงรู้ได้เห็นได้ด้วยตัวเอง ถ้าทรงแสดงที่อื่นข้างนอก เช่นทรงแสดงเรื่องโลกมีที่สุดโลกไม่มีทีสุดเป็นต้น ผู้ฟังก็ได้แต่เชื่อเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เชื่อเอาเสียเลย ที่จะรู้นั้นไม่มี ได้แต่เชื่อ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงพยากรณ์ในเรื่องภายนอกทั้งหลายดังกล่าว ทรงพยากรณ์คือแสดงแก้ไขแต่ภายในดังที่แสดงว่าทรงบัญญัติทุกข์ บัญญัติเหตุเกิดทุกข์ บัญญัติความดับทุกข์ บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง ในพระบาลีนั้นท่านใช้คำว่า ทรงแสดงโลก ทรงแสดงเหตุเกิดโลก ทรงแสดงความดับโลก ทรงแสดงทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ก็หมายถึงทรงแสดงทุกข์เป็นต้นนั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงรู้ได้เห็นได้

และทรงแสดงธรรมมีนิทานคือเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ คำว่า “นิทาน” นี้เป็นคำบาลีที่ท่านใช้ ว่าทรงแสดงธรรมมีนิทาน แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเป็นนิทานที่เล่าอ้างกันเป็นเรื่อง แต่หมายความว่ามีเหตุที่ทรงปรารภ และเหตุที่ปรารภนั้นมีแสดงไว้ในธรรมบทมาก คือบางทีก็เสด็จไปบิณฑบาต เห็นเด็กกำลังตีงูกัน ก็ทรงจับขึ้นมาแสดงเป็นธัมมะสั่งสอน ซึ่งโดยความก็คือว่าทุกๆ สัตว์บุคคลต่างก็รักชีวิตของตน ต้องการความสุขอยู่ด้วยกัน จึงไม่ควรทำร้ายกัน ไม่ควรจะก่อทุกข์ให้แก่กัน ก็ทรงปรารภเอาเหตุที่เกิดขึ้นมาจับเป็นธัมมะสั่งสอน ก็เหมือนอย่างที่เล่าทีแรกว่า ภิกษุหรือภิกษุณีรูปหนึ่งท่านกลับจากบิณฑบาตล้างเท้า ก็เห็นน้ำซึมหายไปโดยลำดับ ก็ได้ความคิดถึงความเกิดดับของสังขารทั้งหลายดังที่เล่ามานั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้แหละเป็นตัวนิทานคือตัวเหตุ มาแสดงเป็นธัมมะแล้ว ทุกๆ เรื่องนั้นก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น และก็โดยเฉพาะทุกคนเมื่อเป็นบัณฑิตคือเป็นผู้ฉลาด ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อมสามารถจับเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาสอนตัวเอง เป็นกรรมฐานขึ้นได้ทุกๆ อย่างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องที่เป็นกรรมฐานนั้นจึงมีมากมาย ใช้ได้ทั้งนั้น ดั่งที่กล่าวมาแล้วว่าด่าก็ใช้ได้ ร้องเพลงก็เป็นได้ ดั่งนี้เป็นต้น

สรุปหลักปฏิบัติกรรมฐาน ๕ ประการ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้อีกปริยายหนึ่ง สรุปข้อที่ปฏิบัติเป็นกรรมฐานในการที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นจิตตวิสุทธิไว้เพียง ๕ ประการ เป็นหลัก คือ

ประการที่ ๑ เพื่อสงบกิเลสกองราคะ อันกิเลสกองราคะนั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ยึดถือว่าสวยงาม เพราะฉะนั้นก็ใช้กรรมฐานสำหรับพิจารณาว่าไม่สวยงาม เช่นกายคตาสติ สติพิจารณากาย ดังที่ในสติปัฏฐานแสดงไว้ในหมวดปฏิกูลปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยสิ่งปฏิกูลที่พระอุปัชฌาย์เอามาสอนนาค ผมขนเล็บฟันหนังว่าเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สวยงาม หรือว่าพิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดังที่ได้เคยแสดงมาแล้ว เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้จิตสงบจากราคะได้ เพราะว่าราคะนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เห็นว่าสวยงาม หรืออารมณ์ที่ยึดถือว่างาม เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่าไม่งามในทางตรงกันข้าม ซึ่งเป็นสัจจะคือความจริง เพราะว่าสิ่งที่ยึดถือว่างามนั้นอันที่จริงไม่งาม เพราะมองในแง่ที่ปฏิกูลต่างๆ ของผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น

ข้อที่ ๒ เพื่อจะสงบกองกิเลสโทสะ อันกิเลสกองโทสะนั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ยึดถือว่าไม่งามอันตรงกันข้าม เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ต้องใช้กรรมฐานที่จะทำให้เห็นว่างาม จึงได้ตรัสสอนให้เจริญเมตตาแผ่จิตออกไปให้มีความสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรไม่มีทุกข์ รักษาตนให้สวัสดีอันตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะเมตตานั้นจะทำให้จิตกลับอ่อนโยนเห็นว่างาม ในบุคคลหรือในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะนั้น ดังจะพึงเห็นได้ ว่าคนที่มีเมตตาต่อกันนั้น จะมองเห็นกันด้วยสายตาที่เป็นมิตรจิตใจที่เป็นมิตร ไม่ขัดลูกตาก็คืองาม เหมือนอย่างพ่อแม่เห็นลูก พ่อแม่เต็มไปด้วยเมตตาในลูก เพราะเห็นว่าลูกงามไม่ขัดลูกตา มีความรัก แม้ว่าหน้าตาจะเขลอะขละอย่างไรหรือว่าลูกจะเจ็บป่วยน่าเกลียดอย่างไรก็ยังเห็นว่างามอยู่นั่นเองด้วยความรัก อาบน้ำให้ได้ปฏิบัติได้รักษาให้ได้ไม่รังเกียจในสิ่งไม่สะอาดต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ลูกได้ นี่เป็นข้อ ๒ และเมื่อทำในข้อ ๒ นี้ก็จะดับโทสะได้

เพราะฉะนั้นให้เทียบเคียงกันในระหว่าง ๒ ข้อก่อน คือข้อ ๑ นั้นให้เห็นว่าไม่งามในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะ เพราะว่าราคะนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ยึดถือว่างาม เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ด้วยกรรมฐานที่พิจารณาว่าไม่งาม แต่อันที่จริงก็ไม่งาม คือมองในแง่ที่ไม่งามในส่วนที่ไม่งาม เพื่อจะดับกิเลสกองราคะ คราวนี้มาถึงข้อ ๒ กิเลสกองโทสะกลับใช้กรรมฐานข้อเมตตาให้เห็นว่างาม เพราะว่าโทสะนั้นเกิดขึ้นในอารมณ์ที่เห็นว่าไม่งามขัดลูกตา ทำให้ขัดใจเพราะฉะนั้นเมื่อได้เมตตาแล้วก็จะดับโทสะได้ ความที่เห็นว่าไม่งามอันเป็นที่ตั้งของโทสะก็หายไป เพราะฉะนั้นจึงตรงกันข้าม

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ ให้หัดทำกรรมฐานทั้ง ๒ อย่าง คือว่าในอารมณ์บางอย่างนั้นเป็นที่ตั้งคือชนวนให้เกิดโทสะก็มี เป็นชนวนในเกิดราคะก็มี เพราะฉะนั้นก็หัดทำกรรมฐานในอารมณ์เช่นนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่งามได้ คือให้สงบได้ทั้งราคะทั้งโทสะ เพราะว่าแม้กรรมฐานที่กำหนดพิจารณาว่าไม่งาม เช่นกายคตาสติดังกล่าว หรืออสุภกรรมฐาน พิจารณาซากศพก็ย่อมระงับได้ทั้ง ๒ เหมือนกัน ระงับกองราคะก็ได้ ระงับกองโทสะก็ได้ อันหมายความว่าเมื่อปฏิบัติในกรรมฐานสำหรับระงับกิเลสกองราคะโดยตรงคือกายคตาสติ สติที่พิจารณากายว่าไม่งดงาม ก็สงบกิเลสกองราคะลงไปได้ แต่ว่าก็อย่าให้กิเลสกองโทสะเกิดขึ้นด้วย เพราะบางทีกิเลสกองโทสะนั้นบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าเป็นโทสะ แต่อันที่จริงเป็นโทสะเป็นการประทุษร้าย ดังเช่นที่มีเล่าว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานก็กายคตาสตินี่แหละ ทำให้ภิกษุทั้งหลายมองเห็นว่าร่างกายนี้เป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด เต็มไปด้วยของปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ กิเลสกองราคะก็สงบ แต่คราวนี้มันเกินไป คือเกิดรังเกียจร่างกายขึ้นมาว่าสกปรก อยู่กับสิ่งที่สกปรกทุกวัน ทำลายมันเสียดีกว่า ก็เลยฆ่าตัวตาย ดังนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเมตตาประกอบด้วย เพราะว่าชีวิตร่างกายนี้ต้องเมตตา พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ฆ่า แต่ให้เลี้ยงเอาไว้เพื่อทำประโยชน์ต่อไป อย่างเมตตาที่สอนนั้นก็สอนให้มีเมตตาเอ็นดูอยู่ในชีวิตทั้งหลาย ในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ให้ฆ่า ไม่ให้ทำลาย การฆ่าตัวตายนี้ก็เป็นโทสะเหมือนกัน แต่เป็นโทสะอย่างละเอียด มันเป็นโมหะนั่นแหละมากกว่า แต่อาการที่ทำลายนั้นก็เป็นเรื่องคล้ายๆ ของโทสะที่แปลว่าเครื่องประทุษร้ายเพราะฉะนั้นต้องอย่าให้เลยเถิดไป ต้องมีเมตตามากำกับไว้ด้วย บางทีถ้าเบื่อๆ หนักเข้าไปก็โยนทิ้ง นี่ก็ไม่ได้ ไม่ควรที่จะโยนทิ้ง ต้องเลี้ยงไว้ต้องรักษาไว้

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๔ ก็เหมือนกัน คือว่ามุ่งเพื่อที่จะทำลายโทสะดับโทสะ ก็เจริญเมตตา แต่เมื่อได้เมตตาแล้วอย่าให้เมตตานั้นกลายเป็นราคะขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงให้พิจารณาให้เห็นความปฏิกูลคู่กันไปด้วย ดังเช่นเจริญเมตตาไปในสัตว์บุคคลทั้งหลาย ก็เกิดจิตเมตตามีความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข แต่บางทีก็เลยเกิดราคะในสัตว์บุคคลนั้นด้วย ดั่งนี้ก็ไม่ถูกต้อง เมตตาก็กลายเป็นราคะไป เพราะฉะนั้นก็ต้องให้พิจารณาในข้อที่เป็นของไม่งามประกอบกันไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องแบ่งกันว่าส่วนไหนควรพิจารณาไปในทางที่ไม่งาม ส่วนไหนควรพิจารณาว่างาม อย่าให้เป็นกิเลสทั้ง ๒ ฝ่าย และเพื่อให้ไม่เป็นกิเลสทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น จึงต้องมีกรรมฐานคู่กันอยู่ดั่งนี้ สำหรับที่จะช่วยกัน เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงต้องหัดไว้ทั้ง ๒ ส่วน หัดทำกรรมฐานในด้านพิจารณาให้เห็นว่าไม่งาม เช่นกายคตาสติ อสุภกรรมฐานด้วย และก็หัดพิจารณาในด้านว่างามคือเมตตาไว้ด้วย เพราะเมตตาจะเห็นว่างาม แม้ในวัตถุสิ่งเดียวกันนั้น เช่นมุ่งที่จะสงบราคะก่อน พิจารณาว่าไม่งาม แต่ก็ให้มีเมตตากำกับด้วย เพื่อจะได้ไม่ทำลาย แล้วก็ในส่วนที่เพื่อทำลายโทสะก็เหมือนกัน แผ่เมตตาไปเพื่อที่จะระงับโทสะทำลายโทสะก็ต้องหัดที่จะพิจารณาในด้านที่เป็นกายคตาสติหรืออสุภกรรมฐาน คือในทางที่เห็นว่าไม่งามนั้นด้วย เพื่อไม่ให้เมตตากลายเป็นราคะ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๔

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๕ เมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้แล้วก็เว้นได้ทั้ง ๒ คือไม่ต้องใช้กรรมฐานเพื่อระงับราคะ คือในทางพิจารณาว่าไม่งาม และกรรมฐานเพื่อระงับโทสะ คือในทางพิจารณาว่างามอันเป็นทางตรงกันข้ามกันนั้น เว้นได้เสียทั้ง ๒ อย่าง และทำจิตให้เป็นอุเบกขา คือเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในกลางในภายใน มีสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวกำกับอยู่ เป็นการตั้งสงบอยู่ภายในเป็นอุเบกขา ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๕

นี้เป็นวิธีปฏิบัติทำจิตตวิสุทธิ์ คือทำจิตให้บริสุทธิ์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนสรุปเอาไว้ ว่าวิธีปฏิบัตินั้นมี ๕ ประการดั่งนี้ กรรมฐานทั้งหมดจะมีกี่ข้อก็ตาม ก็เพื่อให้ได้ผลตามหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้

๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 23 มกราคม 2554
Last Update : 23 มกราคม 2554 8:53:14 น. 1 comments
Counter : 683 Pageviews.

 
อนุโมทนาบุญ


โดย: wbj วันที่: 23 มกราคม 2554 เวลา:20:58:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.