Group Blog
 
All Blogs
 

รูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว (๒)

โค๊ตของพระรูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว



พระรูปหล่อลอยองค์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี รุ่นเมตตาบารมี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า รูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว นี้ จัดสร้าง เนื่องในวาระปิดโครงการช่วยชาติ วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗



@



@

จากบทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึง ประวัติการสร้าง จำนวนสร้าง และจุดสังเกตพระรูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว โดยเฉพาะได้รวบรวมภาพ โค๊ต พระแท้ ที่ตอกไว้ที่ฐานของรูปหล่อในรุ่นดังกล่าวมาให้ชมเพื่อศึกษา

ภาพหมายเลขและโค๊ตที่ได้นำมาลงไว้ในบทความตอนที่แล้ว




โค๊ต “บัว” และ โค๊ต รูปดอกบัวบาน ของพระแท้



สืบเนื่องจากปัจจุบัน พระชุดนี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และมีการหมุนเวียนเช่าหากันมากในราคาที่สูงขึ้น ผมได้รวบรวมเอาภาพโค๊ต “บัว” และโค๊ต รูปดอกบัวบาน ของพระที่พบเห็นกันมากในระยะหลังนี้ ซึ่งโค๊ต ดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากที่เคยนำมาลงให้ชม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สนใจได้นำไปประกอบการพิจารณาเลือกเช่าพระรูปหล่อนี้ไปบูชาครับ (* ดูบทสรุปและความเห็น ๑ และ ๓)

เพิ่มเติมภาพด้านฐานของรูปหล่อฐานภูเขา องค์ที่ตอกโค๊ตเป็นหมายเลข ๑ ของเนื้อสัมฤทธิ์ - นวะ - ตะกั่ว - เงินก้นทองคำ - เงิน ตามลำดับ



ต่อไปจะเป็นภาพของโค๊ต ที่จะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่า ไม่ใช่โค๊ต ตัวเดียวกัน จากภาพชุดข้างบน (* ดูบทสรุปและความเห็น ๒)



โค๊ต “บัว”



โค๊ต รูปดอกบัวบาน

ซึ่งโค๊ตในแบบหลังเหล่านี้ จะพบได้ทั้งในพระเนื้อทองแดงและในเนื้อโลหะอื่น ๆ หรือชุดกรรมการด้วย โดยมีทั้งพระที่หล่อแล้วมีความคมชัดมาก จนถึงพระที่มีความคมชัดน้อย (* ดูบทสรุปและความเห็น ๑ และ ๒)



โดยพระที่มีหน้าตา ความคมชัดมากจะพบในพระเนื้อนวะ เนื้อเงิน กับ เนื้อโลหะพิเศษ หรือพระชุดกรรมการ ส่วนพระที่มีความคมชัดน้อยจะพบได้มากในพระเนื้อทองแดง อย่างไรก็ดี พระเนื้อทองแดงที่มีความคมชัดมากที่มีโค๊ตแบบที่แตกต่างนี้ ก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไปจะพบพระที่มีโค๊ตที่แตกต่างนี้ในพระเนื้อทองแดง ซึ่งมีการเช่าหาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันมากกว่าพระเนื้ออื่น และสาเหตุที่มีการพบโค๊ตที่แตกต่างในพระเนื้อทองแดงมาก ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็นเพราะในพระเนื้องทองแดง การตอกโค๊ต จะมีน้อยกว่า และไม่มีหมายเลขกำกับทำให้สะดวก และยากต่อการพิจารณาแยกแยะ รวมทั้งเป็นพระที่มีราคาเช่าหาไม่สูงนัก การขายเปลี่ยนมือทำได้ง่าย ในขณะที่พระเนื้ออื่น จะมีราคาสูงและสูงมากในพระเนื้อพิเศษ ซึ่งทำให้การเช่าหาเปลี่ยนมือจะทำได้ยากกว่า รวมทั้ง การที่มีโค๊ตที่มากกว่า และการมีหมายเลขกำกับ ทำให้มีจุดให้สังเกตได้มากกว่าพระเนื้อทองแดง เช่น เนื้อโลหะชุดกรรมการสัมฤทธิ์ ที่มีการตอกหมายเลข “๙๙” เพิ่มนอกเหนือจากหมายเลขกำกับด้วย

นอกจากนี้ เนื่องจากโค๊ต “บัว” และ โค๊ต รูปดอกบัวบาน นี้ ได้ถูกนำไปใช้ในการตอกในเหรียญเมตตาบารมี และรูปหล่อหลังใบโพธิ์ (ล้อแม็ค) ด้วย และเช่นเดียวกัน เหรียญเมตตาบารมี นี้ ก็เป็นพระชุดที่มีจำนวนการสร้างจำนวนน้อย และในเหรียญเนื้อโลหะพิเศษ หรือชุดกรรมการ ก็มีราคาเช่าหาสูงมาก เช่น เนื้อเงินลงยาลายธงชาติ ที่มีการเช่าหากันในราคาหมื่นกลาง ๆ ซึ่ง ได้รับความนิยมนั้น ก็ปรากฏว่า ได้มีเหรียญ ที่มีโค๊ต ที่ไม่เหมือนกับโค๊ตในพระแท้ ด้วยเช่นกัน ดังภาพ ผู้ที่จะเช่าหาจึงควรพิจาณาและระมัดระวังในการเช่าหาให้ดี (* ดูบทสรุปและความเห็น ๑ และ ๒)



บทสรุปและความเห็น

๑. เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถสอบทาน ตรวจสอบเรื่องโค๊ตและการสร้าง ที่มีการใช้โค๊ต นี้ตอกจากแหล่งข้อมูลที่จะยืนยันความถูกต้องอย่างที่สุดได้ ผู้เขียนได้อาศัยเพียงข้อสังเกตจากที่พบเห็นและการอนุมานเหตุและผลด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า โค๊ตที่มีความแตกต่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเหตุใด บทความนี้จึงไม่ได้สรุปว่า พระทั้งหมดหรือพระที่มีโค๊ตที่แตกต่างดังกล่าวไม่ได้เป็นพระในรุ่นเมตตาบารมี ที่หลวงตามหาบัว ได้อนุญาตให้สร้างและเข้าในพิธี

๒. เนื่องจากพระที่มีโค๊ตที่มีความแตกต่างนี้ มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้น ในการแสดงภาพของพระและเหรียญ ที่นำมาเสนอ ผู้เขียน จึงได้ปรับแต่งสีและหรือแสดงภาพเพียงบางส่วนของพระหรือเหรียญ ทั้งนี้ เพื่อไม่เป็นการระบุชี้ชัดต่อพระ และเหรียญ ที่นำมาเป็นตัวอย่าง อันอาจเกิดผลกระทบต่อเจ้าของพระหรือผู้เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องการเพียงนำเสนอเรื่องราวข้อสังเกตโดยรวมต่อโค๊ต ของพระหรือเหรียญเหล่านี้เท่านั้น

๓. ผู้อ่านบทความนี้ พึงพิจารณา, ใช้วิจารณญาณในการลงความเห็นและ/หรือรับผิดชอบการตัดสินใจที่เกิดขึ้นดังกล่าว (ถ้าจะมี) ด้วยตัวเอง และหากจะมีความประสงค์จะนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ กรุณาตรวจสอบพิจารณาความถูกต้องอีกครั้ง




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2556 8:51:11 น.
Counter : 14367 Pageviews.  

รูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว

รูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว



พระรูปหล่อลอยองค์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี รุ่นเมตตาบารมี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า รูปหล่อฐานภูเขา หลวงตามหาบัว นี้ จัดสร้าง เนื่องในวาระปิดโครงการช่วยชาติ วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗



ตามที่หลวงตามหาบัว ได้เป็นเสาหลักให้กับโครงการช่วยชาติ รับบริจาค ทองคำและดอลลาร์ ที่ได้จากแรงศรัทธาของมหาชนผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วแผ่นดินร่วมบริจาคนั้น ส่วนที่เป็นทองคำนั้นจะได้นำมาหล่อรวมเป็นทองคำแท่งมอบให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับเงินดอลล่าร์เพื่อนำเข้าคลังหลวงประเทศ โครงการได้ดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีที่เริ่มโครงการ และได้รับบริจาคเงินดอลลาร์กับทองคำจนได้ส่งมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และได้ส่งมอบให้อีกหลาย ๆ ครั้ง เรื่อยมาจนมาถึงวันปิดโครงการ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งเป็นการมอบครั้งที่ ๑๒ ในวาระดังกล่าวนี้ ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อมอบให้ผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคทองคำให้ โดยพระรูปหล่อฐานภูเขาได้เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นสำหรับวาระปิดโครงการช่วยชาติ นี้ซึ่งหลวงตาได้ร่วมในพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกถึง ๓ ครั้ง

ครั้งแรกอธิษฐานจิตพร้อมกับพระกริ่งรูปเหมือนฐานเขียง รุ่นเมตตา ณ วัดบ้านตาด วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

ครั้งที่ ๒ ณ สวนอัมพร ถวายทองคำตันที่ ๑๐ ซึ่งสมเด็จพระราชินี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีปิดโครงการช่วยชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗

และได้นำเข้าพิธีอธิษฐานจิต เป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งเป็นครั้งที่ถวายทองคำตันที่ ๑๑ โดยมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน ณ สวนแสงธรรม วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗

(เพิ่มเติม แม้จะมีการทำพิธีปิดโครงการช่วยชาติแล้วในปี พ.ศ.๒๕๔๗ หลวงตามหาบัว ก็ยังรับให้มีการนำทองคำ ที่ได้ยังมีผู้มาบริจาค ส่งเข้าคลังหลวงต่อเนื่องอีก ในปี พ.ศ.๒๕๕๐, พ.ศ.๒๕๕๓ และครั้งสุดท้าย วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ นับรวมได้ทั้งสิ้น ๑๖ ครั้ง เป็นทองคำทั้งสิ้น ๑๓ ตัน เงินดอลลาร์ ๑๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐ)

จำนวนสร้างพระรูปหล่อฐานภูเขา

รูปหล่อฐานภูเขาเนื้อหลักที่ได้จัดสร้างคือ

๑. เนื้อทองแดง สร้างจำนวน ๒,๐๐๐ องค์ เป็นรูปหล่อลอยองค์รูปหลวงตา สร้างด้วยเนื้อทองแดง ด้านฐาน จะมีอุดก้นด้วยแผ่นทองแดงรูปดอกบัวตูม มีโค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ด้านขวา และมีโค๊ต “บัว” ด้านซ้าย




@



๒. เนื้อนวะ สร้างจำนวน ๓๙๙ องค์ สร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ ด้านฐานจะมีอุดก้นด้วยแผ่นเงินดอกบัวตูม มีโค๊ต “บัว” ด้านขวา และโค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ด้านซ้าย และมีการตอกหมายเลของค์พระกำกับไว้ทางด้านซ้ายใต้ โค๊ตดอกบัวบานด้วย



@



๓. เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๒๘๘ องค์ สร้างด้วยเนื้อเงิน ด้านฐานจะมีอุดก้นด้วยแผ่นเงินดอกบัวตูม มีโค๊ต “บัว” ด้านขวา และโค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ด้านซ้าย และมีการตอกหมายเลของค์พระกำกับไว้ทางด้านขวา ใต้โค๊ต “บัว”



@



ทั้งนี้ รูปหล่อฐานภูเขานี้ จะมีทั้งที่ถูกจัดรวมกับเหรียญเมตตาบารมี, รูปเหมือนหลวงตาหลังใบโพธิ์และธรรมจักร เป็นชุดมีกล่องพิเศษ อย่างละ ๓ องค์คือ เนื้อทองแดง, นวะ, เงิน รวม ๙ องค์ ให้กับผู้บริจาคทอง กับแบบที่เป็นกล่องธรรมดาใส่พระองค์เดียวสำหรับผู้บริจาคบูชาทั่วไป

นอกเหนือจากรูปหล่อฐานภูเขาที่เป็นเนื้อหลักข้างต้นแล้ว ยังมีพระที่จัดสร้างพิเศษ ที่ระลึกมอบให้แก่กรรมการและถวายพระเถระผู้ใหญ่ อีก

๔. เนื้อเงินกรรมการ สร้างจำนวน ๓๙ องค์ สร้างด้วยเนื้อเงิน ด้านฐานจะมีอุดก้นด้วยแผ่นทองคำดอกบัวตูม มีโค๊ต “บัว” โค๊ต “๙๙” อยู่ด้านขวา และโค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ และมีการตอกหมายเลของค์พระกำกับไว้ด้านซ้าย



@



๕. เนื้อตะกั่ว สร้างจำนวน ๑๐ องค์ สร้างด้วยเนื้อตะกั่ว ด้านฐานเรียบไม่มีอุดก้น มีโค๊ต “บัว” ด้านขวา โค๊ต “๙๙” โค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ ด้านซ้าย โค๊ต “๙๙” ตอกอยู่ด้านบน และมีการตอกหมายเลของค์พระที่ ๑ – ๑๐ กำกับไว้ตรงกลาง ถัดลงมาจาก โค๊ต “๙๙”



@



๖.เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างจำนวน ๑๐ องค์ สร้างด้วยเนื้อโลหะผสม สัมฤทธิ์ ด้านฐานเรียบไม่มีอุดก้น มีโค๊ต “บัว” ด้านขวา โค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ด้านซ้าย และมีการตอกหมายเลของค์พระที่ ๑ – ๑๐ กำกับไว้ตรงกลาง กับมีโค๊ต “๙๙” ตอกอยู่ด้านล่างถัดจากหมายเลของค์พระลงมา



@



๗.เนื้อโลหะขวานฟ้า-บ้านเชียง สร้างจำนวน ๓๕๐ องค์ สร้างด้วยเนื้อผสมของโลหะบ้านเชียง ฆ้องระฆังโบราณ วัดบ้านตาด ทองเหลือง ทองคำ ด้านฐานเรียบไม่มีอุดก้น มีโค๊ต “บัว” ด้านขวา โค๊ต รูปดอกบัวบาน ตอกอยู่ด้านซ้าย และมีการตอกหมายเลของค์พระกำกับไว้จำนวนหนึ่ง ที่เหลือไม่ได้ตอกเนื่องจากเนื้อโลหะแกร่งมากตอกแล้วเข็มหัก ไม่สามารถตอกต่อได้

๘.เนื้อตะกั่วตัดช่อ สร้างจำนวน ๓๐ องค์ สร้างด้วยเนื้อโลหะผสม ด้านฐานเรียบไม่มีอุดก้น ตอกโค๊ต “บัว” โค๊ต “๙๙” และโค๊ต รูปดอกบัวบาน

๙.เนื้อทองคำ สร้างจำนวน ๙ องค์ สร้างด้วยเนื้อทองคำ ด้านฐานจะมีอุดก้นด้วยแผ่นทองคำดอกบัวตูม มีโค๊ต “บัว” กับตอกหมายเลของค์พระกำกับ ด้านขวา และตอก โค๊ต รูปดอกบัวบาน กับโค๊ต “๙๙” ด้านซ้าย



ตามที่กล่าวมาแล้วว่า รูปหล่อฐานภูเขานี้ จัดสร้างอย่างประณีต มีรูปแบบสวยงาม สร้างจำลองได้คล้ายหลวงตามหาบัวมาก อีกทั้งยังมีโค๊ตและการตอกหมายเลขกำกับ (ยกเว้นเนื้อทองแดง) อย่างพิถิพิถัน ทำให้มีจุดสังเกตุในการพิจารณา และมีจำนวนการจัดสร้างในจำนวนที่ไม่มากนัก จึงเป็นที่นิยมเสาะหาทั่วไป พระเนื้อพิเศษที่มีการจัดสร้างน้อย จะหายากมากเนื่องจากถูกเก็บบูชาโดยพระเถระผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบพระและลูกศิษย์ที่เคารพศรัทธาในหลวงตา ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้มีทุจริตชน ทำการปลอมแปลงเลียนแบบพระชุดดังกล่าวนี้ออกมา ผู้สนใจที่จะเสาะหาไว้บูชาจึงควรพิจารณาและระมัดระวังรอบคอบในการเช่าบูชาพระชุดนี้ด้วย

จุดสังเกตในการพิจารณารูปหล่อฐานภูเขาแท้และเลียนแบบ

ตามเหตุผลข้างต้นที่ได้กล่าวมา ทำให้มีผู้ทำพระเทียมเลียนแบบพระรุ่นนี้ออกมาให้เห็นมากพอสมควร ทั้งนี้ พระที่เลียนแบบ ที่ฝีมือด้อยหน่อย พอจะสังเกตได้ด้วยตาเปล่านั้น แม้จะมีลักษณะที่คล้ายของแท้เพราะถอดพิมพ์มา แต่พระที่เลียนแบบที่พบเห็น (ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อทองแดง) ผิวพระจะสดแดง แต่เหนอะหยาบ แลดูผิวขรุขระ เป็นตะปุ่มตะป่ำ อย่างเห็นได้ชัด

ส่วนพระเลียนแบบที่ระดับฝีมือดีขึ้น ผิวพระจะไม่หยาบเหนอะ แต่จะขาดความคมชัด สวยงาม ใบหน้าพระจะเบลอ ไม่เหมือนของแท้

สุดท้าย คือพระชุดที่เลียนแบบระดับฝีมือจริง ๆ นั้น เลียนแบบได้ใกล้เคียงมาก ทั้งผิวและกระแสเนื้อโลหะที่สร้าง และความคมชัด ยากที่จะแยกแยะ ต้องอาศัยพิจารณาโค๊ตและหมายเลขกำกับองค์พระ เป็นตัวช่วยพิจารณา ทั้งนี้ เนื่องด้วย โค๊ต “บัว” และโค๊ต รูปดอกบัวบาน ของที่ทำเทียมปลอมขึ้นจะยังทำได้ไม่เหมือน ซึ่งพระที่เลียนแบบส่วนมากมักจะทำเป็นตอกโค๊ตติดไม่ชัด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นจุดสังเกตได้

โค๊ต “บัว” และ โค๊ต รูปดอกบัวบาน ของพระแท้



นอกจากการสังเกตจดจำ ลักษณะโค๊ต ที่เป็นของแท้ข้างต้นแล้ว หมายเลขกำกับองค์พระ ก็สามารถใช้เป็นจุดช่วยพิจารณาสังเกตุได้



หมายเหตุ

บทความนี้เป็นความเห็นจากการรวบรวมข้อมูลเท่าที่หาได้ รวมกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พบเห็นของผู้เขียน โดยที่ยังมิได้สอบทานและยืนยันความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญหรือแหล่งข้อมูลที่จะอ้างอิงเชื่อถือได้ ผู้ที่มีความประสงค์จะนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ กรุณาตรวจสอบพิจารณาความถูกต้องอีกครั้ง

ข้อมูลในบทความบางส่วนมาจาก เวปหลวงตาดอทคอม เวปท่าพระจันทร์ และเวปยูอะมิวเลท
ภาพประกอบมาจาก เวปท่าพระจันทร์ เวปยูอะมิวเลท ซึ่งผู้เขียนต้องขออนุญาติท่านเจ้าของภาพ และขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้




 

Create Date : 28 กันยายน 2555    
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2556 8:41:44 น.
Counter : 26010 Pageviews.  

พระชัยวัฒน์และพระกริ่งกิตฺตโก



พระประวัติพระครูสังวรกิตติคุณ
หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน ปราจีนบุรี



พระครูสังวรกิตติคุณ หรือหลวงพ่อเอีย นั้นเป็นชาวบ้านด่านโดยกำเนิด เป็นบุตรของนายเขียว ขยันคิด กับนางทา ขยันคิด ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านด่าน เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๕ โดยอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านด่าน ครั้นออกพรรษาท่านก็ได้เดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพระครูวิมลคุณากร หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จนถึงเข้าพรรษาจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านด่าน ดังนี้ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ที่ท่านเป็นสามเณร



พระครูวิมลคุณากร หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า

จนเมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ณ วัดสัมพันธ์ ตำบลสัมพันธ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีพระครูสังวรกิตติ หลวงพ่อเทด วัดใหม่กรงทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการอ้วน วัดชัยมงคลเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเคน วัดบ้านด่านเป็นอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอุปัชฌาย์จนสอบได้นักธรรมโท และยังได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณกับศึกษาวิชาพุทธาคมจากพระอาจารย์อื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น หลวงพ่อพุก วัดพระยาทำ ปราจีนบุรี หลวงพ่อคง วัดซำป่างาม ฉะเชิงเทรา หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

สมณศักดิ์

ท่านได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งและสมณศักดิ์ ดังนี้

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน
วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นเจ้าคณะตำบลเกาะลอย
วันที่ ๓๐ มกราคา พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นพระครูชั้นประทวนที่ “พระครูเอีย กิตฺตโก”
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นพระครูสัญญาบัตร “พระครูสังวรกิตติคุณ”

ตลอดอายุขัยของท่าน หลวงพ่อเอียได้เริ่มงานนวกรรม ก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่พักสงฆ์และหอฉัน ทำการพัฒนาวัดและสงเคราะห์สังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ท่านได้ละสังขารของท่านอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลา ๐๑.๐๐ น. ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี สิริอายุได้ ๗๓ ปี พรรษาที่ ๕๓

พระชัยวัฒน์และพระกริ่งกิตฺตโก



พระชัยวัฒน์และพระกริ่งกิตฺตโกนี้ คณะศิษย์ของหลวงพ่อเอีย จากกรุงเทพฯ ได้สร้างถวาย เป็นพระหล่อฉีด ฝีมือช่างเกษม มงคลเจริญ จัดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยมีจำนวนการสร้างพระกริ่งเนื้อเงินจำนวน ๑๐๐ องค์ และเนื้อนวโลหะจำนวน ๒,๐๐๐ องค์ ส่วนพระชัยวัฒน์ มีเนื้อทองคำจำนวนน้อย เนื้อเงินจำนวน ๑,๐๐๐ องค์และเนื้อนวโลหะจำนวน ๓,๐๐๐ องค์

พระกริ่งกิตฺตโก เนื้อเงิน



พระกริ่งเนื้อเงินนี้ ที่ฐานพระกริ่งด้านหลังตรงซอกตัวอักขระตัวที่สองจะตอกโค๊ตสามแฉก ด้านก้นพระกริ่งจะอุดก้นด้วยแผ่นเงิน ตัว “ อะ” ในวงกลม



และตอกโค๊ต ตัว “อิ” ด้วย



พระกริ่งกิตฺตโก เนื้อนวโลหะ

พระกริ่งเนื้อนวะนั้น เนื้อนวโลหะจะเข้มข้น เมื่อส่องดูจะเห็นประกายวรรณะนวโลหะเข้มขลังงดงามเป็นอย่างมาก ที่ฐานพระกริ่งด้านหลังจะตอกโค๊ตสามแฉก



ด้านก้นพระกริ่งจะอุดก้นด้วยแผ่นทองแดง ตัว “อะ” ในวงกลมและตอกโค๊ต ตัว “อิ”

พระกริ่งนวโลหะบางส่วนนอกจากที่อุดก้นด้วยแผ่นทองแดงและตอกโค๊ตสามแฉก กับโค๊ตตัว “อิ” แล้ว ยังมีการตอกโค๊ตตัว “อะ” ในวงกลม ที่ก้นด้วย

และได้มีพระกริ่งเนื้อนวโลหะ จำนวน ๓๕๐ องค์ ที่นอกเหนือจากจะตอกโค๊ต “อิ” แล้ว ยังได้มีการตอกหมายเลขที่ก้นเป็นพิเศษไว้ด้วย



และยังพบว่า มีพระกริ่ง ที่ไม่ได้มีการตอกโค๊ต ด้วยเช่นกัน



พระชัยวัฒน์กิตฺตโก



พระชัยวัฒน์ เนื้อทองคำ ที่ก้นจะตอก ตัว “นะ” ในใบโพธิ์ หรือ ตัว “อะ” ในวงกลม ส่วนพระชัยวัฒน์ เนื้อเงินและเนื้อนวโลหะ จะตอกโค๊ตสามแฉก ที่ก้น หนึ่งโค๊ต หรือในบางองค์จะตอก ๒ โค๊ต รวมทั้งมี พระชัยวัฒน์บางองค์ที่ไม่ได้มีการตอกโค๊ตด้วย


--------------------------------------------------------------

เรียบเรียงจาก

อนุสรณ์ ๑๐๘ ปีชาตกาล พระครูสังวรกิตติคุณ หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน ปราจีนบุรี

ภาพประกอบ

หลวงพ่อเอีย จาก เวปรัศมีพรหมดอทคอม //www.russameeprom.com
หลวงปู่ศุข จาก เวปพลังจิตดอทคอม //www.palungjit.com
ซึ่งผู้เขียนขอขอบคุณและขออนุญาตทางเวปข้างต้นที่ได้นำภาพมาประกอบเพื่อเผยแพร่เป็นการศึกษาและอนุรักษ์พระเครื่องของไทยด้วยครับ




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2555 19:55:19 น.
Counter : 15691 Pageviews.  

พระเครื่องคุณพ่อ 2

พระครูสังวรกิตติคุณ (หลวงพ่อเอีย)
วัดบ้านด่าน ปราจีนบุรี



พระกริ่งกิตติโก



พระชัยวัฒน์กิตติโก

หลวงพ่อคง สุวัณโณ
วัดวังสรรพรส จันทบุรี



พระกริ่งโลกนาถ ก้นทองแดง หมายเลข 2073

หลวงพ่อทิพย์ ธมฺมนิยโก
วัดโพธิ์ทอง บุรีรัมย์



พระปิดตาพนมรุ้ง เนื้อเงิน

หลวงพ่อเกษม เขมโก
สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง



พระปิดตามหาลาภเขมโก เนื้อเงิน
วัดประตูป่อง ลำปาง

หลวงพ่อเมือง อุตตะมะ
วัดท่าแหน ลำปาง



พระปิดตาหลวงพ่อเมืองอุตตะมะ เนื้อเงิน

ครูบาชุ่ม โพธิโก
วัดวังมุย ลำพูน



เหรียญโภคทรัพย์ เนื้อเงิน




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2554    
Last Update : 10 ตุลาคม 2554 21:49:33 น.
Counter : 6304 Pageviews.  

พระเครื่องคุณพ่อ 1

พระครูสังวรกิตติคุณ (หลวงพ่อเอีย)
วัดบ้านด่านศรัทธาอุดม ปราจีนบุรี



พระกริ่งกิตติโก

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่



พระปิดตาราชาอุตตโม

หลวงพ่อทิพย์ ธมฺมนิยโก
วัดโพธิ์ทอง บุรีรัมย์



เหรียญสารพัดนึก

พระราชพุทธิมงคล (พระอาจารย์ทองบัว ตันติกวโร)
วัดป่าโรงธรรมสามัคคี เชียงใหม่



เหรียญสรรพสิทธิโชค

วัดใหม่บางขุนพรหม



เหรียญอนุสรณ์ 101 ปี สมเด็จพุฒาจารย์ โต พรฺหมฺรํสี

-------------------------------------------------




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2554    
Last Update : 10 ตุลาคม 2554 21:51:16 น.
Counter : 3949 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.