Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๒๘ ลักษณะพุทธศาสนา - วิสุทธิ ๗ ข้อสีลวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



แนวปฏิบัติในการทำจิตตภาวนา

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงจิตตภาวนา และก็ได้แสดงอธิบายความหมายของคำว่าจิตตภาวนา จึงจะเริ่มแสดงวิธีปฏิบัติทำจิตตภาวนา เห็นว่าวิสุทธิ ๗ เป็นหลักธรรมที่จะแสดงอธิบายเป็นวิธีปฏิบัติในการทำจิตตภาวนาได้ เพราะว่าการทำจิตตภาวนานั้นก็มุ่งทำจิตให้บริสุทธิ์ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่อง เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา และพระองค์ก็ตรัสว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับไม่มีจิตภาวนา และก็ได้ตรัสว่าจิตที่ประภัสสรคือผุดผ่องซึ่งได้เศร้าหมองไปนี้ ปฏิบัติทำให้บริสุทธิ์ได้ ให้หลุดพ้นได้จากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง พระองค์ตรัสว่า อริยสาวกผู้สดับแล้วย่อมมีจิตตภาวนา ดั่งนี้ อันส่องความว่าจิตตภาวนานั้นเป็นวิธีทำจิตให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ก็แหละวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น อันทำให้จิตบริสุทธิ์จากความเศร้าหมองไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้นจึงจะแสดงอธิบายวิสุทธิ ๗ เป็นแนวปฏิบัติหรือเป็นวิธีปฏิบัติในการทำจิตตภาวนา

วิสุทธิ ๗ ก็คือ
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือไม่ใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ

โดยที่วิสุทธิทั้งเจ็ดนี้เป็นทางปฏิบัติ จับตั้งแต่ศีลไปสู่สมาธิและปัญญา ฉะนั้นจึงรวมทางปฏิบัติทั้งหมดจนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ จะได้แสดงข้อที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล

ศีลและวินัย

ศีลนั้นได้แก่ความประพฤติงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวร ความประพฤติที่ไม่งดงามตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ตลอดจนถึงความที่ควรงดเว้นทั้งปวง อันเป็นเครื่องทำกายวาจาตลอดถึงใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ศีลนี้เนื่องด้วยวิรัติคือความงดเว้น ฉะนั้นจึงต้องมีวิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากข้อที่พึงงดเว้นตามภูมิตามชั้นของตน เช่นเมื่องดเว้นจากข้อที่พึงงดเว้น ๕ ประการ ก็เรียกว่าศีล ๕ ๘ ประการก็เรียกว่าศีล ๘ ๑๐ ประการก็เรียกว่าศีล ๑๐ ๒๒๗ ประการก็เรียกว่าศีล ๒๒๗ ฉะนั้นจึงเนื่องด้วยวินัย วินัยนั้นก็ได้แก่พระบัญญัติของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเครื่องห้ามกันความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรไม่งดงามต่างๆ ที่ไม่ถูกไม่ชอบต่างๆ ดังเช่นศีล ๕ ก็คืองดเว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ เป็นการห้ามมิให้กระทำ ๕ ประการ ดั่งนี้เป็นต้น ข้อที่ทรงบัญญัติไว้ห้ามมิให้กระทำก็เรียกว่าเป็นสิกขาบท คือเป็นทางแห่งการศึกษาข้อหนึ่งๆ ดังที่ตามกฏหมายเรียกว่ามาตราหนึ่งๆ และในพระวินัยของภิกษุ ก็ได้ทรงมีบัญญัติข้อที่พึงปฏิบัติ คือทรงบัญญัติไว้ให้กระทำอีกส่วนหนึ่งด้วย เช่นทรงบัญญัติไว้ให้เก็บอติเรกจีวรไว้ไม่ให้เกิน ๑๐ วันโดยมิได้วิกัป ต้องทำการวิกัปคือทำการอนุญาตให้ภิกษุหรือสามเณรเป็นต้นมาร่วมเป็นเจ้าของด้วย เรียกว่าเป็นสองเจ้าของ เมื่อเป็นดั่งนี้ ผ้าที่วิกัปแล้วจึงจะเก็บเอาไว้เกิน ๑๐ วันได้ การที่ตรัสสั่งให้ทำวิกัปนี้เป็นการบัญญัติให้กระทำ ฉะนั้นจึงมิใช่เป็นการบัญญัติให้เว้นอย่างเดียว บัญญัติให้กระทำด้วย สำหรับที่เป็นพระวินัยสำหรับภิกษุ

ฉะนั้นเมื่อรวมความเข้าแล้ว พระบัญญัติที่เป็นพระวินัยของพระพุทธเจ้านั้น จึงเป็นการบัญญัติให้เว้นอย่างหนึ่ง เป็นการบัญญัติให้กระทำอีกอย่างหนึ่ง พระวินัยนี้เป็นที่ตั้งของศีลฉะนั้นจึงต้องมีความเชื่อฟังปฏิบัติตามพระวินัย เมื่อจะรักษาศีล ๕ ก็ต้องมีความเชื่อฟัง ปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ ๕ สิกขาบท หรือที่เรียกว่า ๕ มาตรา คือเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการเป็นขโมย เว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาท ในการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระบัญญัตินี้ จึงต้องมีวิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้น เพราะฉะนั้นอะไรชื่อว่าศีล ก็อาจจะจับเอาวิรัติคือความงดเว้น ว่าวิรัติชื่อว่าศีลก็ได้ จับเจตนาคือความตั้งใจงดเว้นว่าชื่อว่าศีลดั่งนี้ก็ได้ หรือว่าจับเอาตัวความสังวรคือความระวังความสำรวมชื่อว่าศีล ดั่งนี้ก็ได้ แต่ว่าศีลตามพระวินัยบัญญัติตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมีหลายประเภท เมื่อย่อลงไปแล้วก็ย่อมเป็นอาคาริยวินัย วินัยสำหรับคฤหัสถ์ ก็เป็นศีลสำหรับคฤหัสถ์ คือศีล ๕ ศีล ๘ อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับบรรพชิต ก็ศีลสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพราะฉะนั้นศีลที่กำหนดด้วยพระวินัยบัญญัติเป็นข้อๆ ดั่งนี้ จึงมีจำนวนและก็มีหลายประเภท แต่ก็อาจย่อรวมเข้าเป็น ๑ ได้ ศีลนั้นมีลักษณะรวมกันเข้าเป็นอย่างเดียวกัน ได้แก่ความเป็นปรกติ คือความที่กายวาจาใจเป็นปรกติ อาการที่กายวาจาใจเป็นปรกตินี้เป็นลักษณะที่เป็นอันเดียวกันของศีลทั้งปวง และลักษณะที่เป็นอันเดียวกันของศีลทั้งปวงคือความเป็นปรกตินี้ ย่อมเป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความที่กายวาจาใจของบุคคลเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลายได้ ดั่งนี้ก็เป็นลักษณะอันหนึ่งอันเดียวกันของศีล ฉะนั้นเมื่อเพ่งการที่กายวาจาใจเป็นปรกติ ก็เรียกว่าความปรกตินี่แหละเป็นลักษณะที่เป็นอันเดียวกันของศีล เมื่อเพ่งความที่อาการของกายวาจาใจเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลายได้ก็เรียกว่านี่แหละเป็นลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศีล

อริยกันตศีล

ฉะนั้นความที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นจึงต้องรักษาศีลให้ถึงใจ อันหมายความว่าใจจิตนี้ต้องเป็นศีลด้วย ใจจิตที่เป็นศีลนี้ก็คือใจจิตที่เป็นปรกติที่เป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลาย ได้พร้อมไปกับกายวาจาที่เป็นปรกติที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลที่มีอยู่ในกายวาจาจิตคือกายวาจาจิตเป็นศีล เป็นปรกติเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหมดได้นี้ ชื่อว่าเป็นความหมดจดแห่งศีล เพราะฉะนั้นท่านจึงได้มีการแสดงลักษณะแห่งศีลดังกล่าวนี้ไว้ ว่าคือศีลที่ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ เป็นไปเพื่อสมาธิ ศีลที่มีลักษณะดั่งนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนี่งว่า อริยกันตศีล คือศีลที่พระอริยะรักใคร่ปรารถนา ฉะนั้นก็ควรจะทำความเข้าใจในลักษณะของศีลดังกล่าวนี้ไปทีละข้อ คือข้อที่ว่าไม่ขาดนั้น ก็คือไม่ประพฤติละเมิดศีลอย่างรุนแรงจนถึงกับศีลขาด ยกตัวอย่างข้อปาณาติบาต คำว่าปาณาติบาตนั้นแปลว่าการทำสิ่งที่มีชีวิตให้ตกล่วง ท่านแสดงไว้ว่าการฆ่าสัตว์หรือการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม ทำความเพียรที่จะฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น

เมื่อปฏิบัติละเมิดศีลข้อที่ ๑ ครบทั้ง ๕ องค์นี้ คือสัตว์มีชีวิต ตนก็รู้ว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า ทำความเพียรที่จะฆ่า สัตว์ก็ตายด้วยความเพียรนั้น ดั่งนี้เรียกว่าละเมิดศีลอย่างแรงศีลขาด ฉะนั้นศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นจึงต้องเป็นศีลที่ไม่ขาด คือไม่มีการละเมิดศีลจนถึงทำสัตว์ให้ตายครบองค์ ๕ ของการฆ่า ข้อว่าไม่เป็นช่อง ก็คือละเมิดแต่ว่าไม่ถึงที่สุด ที่กล่าวข้างต้นว่าไม่ร้ายแรงคือไม่ถึงที่สุดสัตว์ไม่ตาย เช่นว่าสัตว์มีชีวิต รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ทำความเพียรที่จะฆ่า แต่ว่าสัตว์ไม่ตาย ดั่งนี้เรียกว่าศีลเป็นช่อง ศีลที่บริสุทธิ์นั้นแม้ว่าไม่ขาดเป็นท่อน ก็ต้องไม่เป็นช่องดังกล่าว ข้อว่าไม่ด่างก็คือละเมิดศีลที่อ่อนลงไปกว่านั้น เช่นว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า แต่ว่าทำความเพียรที่จะฆ่าอ่อนๆ หรือแค่ทำให้ร่างกายบอบช้ำลำบากไปบ้าง ดั่งนี้เรียกว่าศีลด่าง ฉะนั้นศีลที่บริสุทธิ์นั้นแม้ว่าไม่ขาดไม่เป็นช่อง ก็ต้องไม่ด่าง ข้อว่าไม่พร้อย ศีลพร้อยนั้นก็คือมีการละเมิดศีลชนิดที่ไม่รุนแรงเพียงในใจ เช่นว่าสัตว์มีชีวิต รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า แต่ว่าไม่ได้ประกอบกระทำอะไร คิดอยู่ในใจเท่านั้น ยังไม่ประกอบกระทำอะไรออกไป ดั่งนี้เรียกว่าศีลพร้อย ฉะนั้นศีลที่บริสุทธิ์นั้นจึงต้องไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง และไม่พร้อย ดั่งกล่าวนี้ด้วย

ปฏิบัติในศีลเพื่อชำระกิเลส

อนึ่ง ยังต้องประกอบด้วยลักษณะอื่นๆ อีก คือว่าเป็นไท หมายความว่าไม่เป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก อันหมายความว่าปฏิบัติในศีลเพื่อชำระกิเลส เพื่อกำจัดกิเลสไม่ใช่เพื่อมุ่งหวังความสำเร็จในลาภในผลเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในวัตร เช่นการปฏิบัติเป็นการถือของขลัง เพื่อให้เกิดลาภเพื่อให้เกิดยศดังกล่าวนั้นเป็นต้น ฉะนั้นจึงชื่อว่าศีลยังไม่เป็นไท ยังเป็นทาสของตัณหา ตัณหาเข้ามาบงการให้รักษาให้ปฏิบัติ ยังไม่เป็นไทแก่ตน การปฏิบัติในศีลต้องปฏิบัติด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ด้วยตัณหาอีกด้วยจึงจะชื่อว่าเป็นไท วิญญูชนสรรเสริญก็คือผู้รู้สรรเสริญ จะเป็นตนเองก็ตามผู้อื่นก็ตาม ซึ่งเป็นวิญญูคือผู้รู้ ก็ติเตียนตนโดยศีลมิได้ เพราะเป็นศีลที่มีลักษณะไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย และเป็นไท ดั่งนี้

ปฏิบัติในศีลเพื่อสมาธิหรือความสงบใจ

และอีกข้อหนึ่งคือเป็นไปเพื่อสมาธิ ก็หมายความว่าเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้ได้สมาธิดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นในข้อนี้จึงควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษอีกสักหน่อยหนึ่ง ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมในข้อที่เป็นไทอีกด้วย คือว่าศีลที่ไม่เป็นไปเพื่อสมาธินั้นเพราะเหตุหลายอย่าง ดังเช่นผู้ที่เข้ามาบวชทีแรกก็มีสมาธิดี แต่ว่าเมื่อใกล้จะออกพรรษา บางทีก็รู้สึกว่าออกพรรษาไม่ทัน ก็อึดอัดในศีล จิตใจกลุ้มกลัด ดั่งนี้ศีลก็ไม่เป็นไท เพราะการปฏิบัติในศีลนั้นจะต้องปฏิบัติ เพราะยังไม่ถึงกำหนดที่จะลาสิกขา แต่ว่าจิตอยากจะลาสิกขา รู้สึกว่าพอ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็รู้สึกอึดอัดดั่งนี้ศีลก็ไม่เป็นไท เป็นทาสของตัณหาแล้วเหมือนกัน และศีลก็ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ คือไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ความสงบใจ ต้องอึดอัดรำคาญ แต่ก็มีหิริโอตตัปปะ ความละอายใจไม่ละเมิดศีลรักษาศีลได้ ไม่ใช่รักษาไม่ได้ แต่ว่ารักษาด้วยความจำใจหรือว่าต้องต่อสู้ใจอย่างรุนแรง ก็อยากจะทิ้งศีล แต่ว่าทิ้งไม่ได้เพราะยังไม่ถึงกำหนด ก็ต้องรักษา แต่ก็กลุ้มกลัด ดั่งนี้เรียกว่าศีลไม่เป็นไท และก็ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ฉะนั้นจึงต้องให้เป็นไท คือไม่ให้เป็นทาสของตัณหา ต้องข่มตัณหาได้แล้วก็ต้องเป็นไปเพื่อสมาธิ คือใจต้องให้ได้ความสงบด้วย ดั่งนี้จึงจะใช้ได้

สรุปสีลวิสุทธิ

ศีลที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้ทั้งหมด ที่ท่านเทียบหรือใช้ถ้อยคำว่าไม่เป็นท่อนไม่เป็นช่องไม่ด่างไม่พร้อยนั้น ก็เทียบด้วยผ้าขาว ผ้าขาวที่เป็นท่อนก็คือว่าขาดจนถึงหลุดเป็น ๒ ท่อน ๓ ท่อน และที่เป็นช่องนั้นก็คือว่าไม่ถึงกับขาดแต่ว่าทะลุเป็นช่องๆ ด่างก็คือเหมือนอย่างผ้าด่าง พร้อยก็คือเหมือนอย่างผ้าพร้อยหรือด่างที่อ่อนลงมา เทียบกับผ้าขาวได้ดังนี้ เพราะฉะนั้นสีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีลหรือความหมดจดแห่งศีล จึงต้องเป็นศีลที่ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทคือไม่เป็นทาสของตัณหา อันวิญญูชนสรรเสริญ และเป็นไปเพื่อสมาธิ และศีลที่กล่าวมานี้ก็มีชื่อว่าอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยะรักใคร่ปรารถนาอีกชื่อหนึ่งด้วย การที่จะรักษาศีลให้เป็นสีลวิสุทธิได้นั้นก็จะต้องอาศัยความมีหิริ ความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว จะต้องมีสังวรคือความสำรวมระวัง จนถึงอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์เป็นต้น และจะต้องมีจิตใจที่มีสมาธิเข้าช่วยอีกด้วยศีลจึงจะเป็นไปเพื่อสมาธิ และเมื่อได้สมาธิ สมาธิก็ช่วยศีลให้ดำรงอยู่ด้วยดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบท ว่าภิกษุรูปหนึ่งรู้สึกอึดอัดว่าศีลมีมากมายเหลือเกิน จึงเข้าเผ้าพระพุทธเจ้าขอประทานเพื่อจะลาสิกขาออกไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อเธอเห็นว่ามีมากมายหลายข้อจะรักษาเพียงข้อเดียวได้ไหม ท่านก็กราบทูลว่าถ้าข้อเดียวพอรักษาได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าให้รักษาจิต เมื่อรักษาจิตได้เพียงข้อเดียวแล้ว ก็รักษาข้ออื่นๆ ได้ทั้งหมด ภิกษุนั้นก็รับเอาพุทธโอวาทนั้นไปปฏิบัติรักษาจิตใจให้สงบ เมื่อรักษาจิตใจให้สงบได้แล้ว การรักษาศีลก็ง่ายเข้าไม่ลำบาก

๑ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 12 มกราคม 2554
Last Update : 12 มกราคม 2554 8:48:51 น. 0 comments
Counter : 809 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.