Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๐ ลักษณะพุทธศาสนา - วิสุทธิ ๗ ข้อจิตตวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับถึงจิตตภาวนา และได้แสดงวิธีปฏิบัติทำจิตตภาวนาด้วยวิสุทธิ ๗ ในวิสุทธิ ๗ นั้นเริ่มด้วยสีลวิสุทธิ ความหมดจดบริสุทธิ์แห่งศีล ซึ่งได้แสดงแล้ว จึงถึงข้อ ๒ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ข้อนี้หมายถึงสมถะหรือสมาธิ ฉะนั้นจึงจะได้อธิบายศัพท์ทั้ง ๒ นี้ก่อน

คำว่า สมถะ นั้นใช้ในคำว่า สมถกรรมฐาน แห่งกรรมฐาน ๒ คือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตามศัพท์แปลว่าความสงบ หรือกรรมฐานที่เป็นเหตุทำให้ใจสงบ ส่วนสมาธิใช้ในคำว่าศีลสมาธิปัญญา แต่ว่าในไตรสิกขานั้น เมื่อใช้คำว่าสิกขาที่แปลว่าศึกษาสำเหนียกปฏิบัติ ก็ใช้ว่า สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งคำว่าจิตตสิกขานั้นก็หมายถึงสมาธินี้เอง คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งจิตมั่น และคำว่า จิตตสิกขา ในไตรสิกขานั้น ก็หมายถึง จิตตวิสุทธิ ความหมดจดบริสุทธิ์แห่งจิตนี้เอง อันเป็นขั้นสมาธิหรือขั้นสมถะ

อารมณ์ ๖

อันจิตนี้ดังที่ได้กล่าวอธิบายมาในตอนต้นๆ แล้ว เป็นจิตที่ต้องรับอารมณ์คือเรื่องมีเรื่องรูปเรื่องเสียงเป็นต้น รวมกันเข้าเป็นอารมณ์ ๖ โดยสรุปตามอายตนะภายนอก ซึ่งต้องผ่านทวาร ๖ ทวารก็คือประตูหรือช่องทาง ทวาร ๖ ก็เป็นทวารแห่งจิตนั่นเองที่รับอารมณ์เพราะว่าจิตนั้นจะรับเอาวัตถุมาใส่เข้าไปไม่ได้ รับได้แต่อารมณ์คือเรื่องของวัตถุนั้นๆ เช่นว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป ก็คือรูปที่ตาเห็น เป็นคนเป็นต้นไม้เป็นภูเขา จิตจะรับเอาคนเอาต้นไม้เอาภูเขาเป็นต้นเข้ามาใส่ไว้ในจิตไม่ได้ รับได้แต่อารมณ์คือเรื่อง คือเรื่องของรูปที่ตาเห็นรับเอาเรื่องเข้ามา เรื่องนั้นไม่มีรูปร่างสัณฐาน เหมือนอย่างจิตเองก็ไม่มีสรีรสัณฐาน เรื่องที่จิตรับเข้ามาก็ไม่มีสรีรสัณฐานเช่นเดียวกัน และกิริยาที่ว่ารับนั้นก็ไม่ใช่เหมือนอย่างที่ร่างกายรับเช่นว่ารับด้วยมือเป็นต้น แต่ว่ารับด้วยรู้ เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ ก็รับรู้รูปที่ประจวบทางตา เรื่องของรูปที่รับรู้นั้นก็เป็นรูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เพราะว่าการรับรู้นั้น ก็จะต้องถามว่ารับรู้ซึ่งอะไร รับรู้ซึ่งรูป ก็คือซึ่งเรื่องของรูปนั่นเอง รับตัวเรื่องเข้ามาเป็นรูปารมณ์ รับรูปนั่นแหละ แต่ว่าอันที่จริงรับเรื่องของรูปเข้ามา รูปเป็นสิ่งที่จิตรู้ คราวนี้เมื่อเป็นเสียงที่ประจวบทางหู ก็รับรู้ซึ่งเสียง ก็รับรู้ซึ่งกลิ่นทางประตูจมูก รับรู้ซึ่งรสทางประตูลิ้น รับรู้ซึ่งโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องทางประตูกาย รับรู้ซึ่งเรื่องของเรื่องเหล่านั้นทางประตูใจคือมโน ใจในที่นี้คือมโน แต่ว่าใจนั้นจะเห็นได้ว่าบางทีก็หมายถึงจิต บางทีก็หมายถึงมโน ก็สุดแต่ว่าถ้อยคำที่พูดนั้นจะมีความหมายถึงอะไร เพราะว่าใจนี่เป็นภาษาไทย เราใช้เป็นกลางๆ เพราะฉะนั้นอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นจึงเป็นเรื่องที่จิตรับรู้ รับรู้ซึ่งรูปซึ่งเสียงซึ่งกลิ่นซึ่งรสซึ่งโผฏฐัพพะซึ่งธัมมะคือเรื่องราว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิตรับรู้นี้เราเรียกว่าเรื่องคืออารมณ์

นิวรณ์ ๕

จิตมีกิเลสคือมีอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมมอยู่ ดองจิตสันดานอยู่ เมื่ออารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะหรือโลภะอันเป็นตัวกิเลสเกิดขึ้น ราคะหรือโลภะก็เกิดขึ้น อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะความโกรธเกิดขึ้น โทสะก็เกิดขึ้น อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลงเกิดขึ้น โมหะก็เกิดขึ้น ก็มาเป็นนิวรณ์อันทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบกระสับกระส่ายดิ้นรนกวัดแกว่งไปด้วยอารมณ์และกิเลสทั้งหลายดังกล่าวมานั้น ซึ่งท่านก็จัดนิวรณ์นี้ไว้เป็น ๕ คือ

กามฉันท์ ความยินดีรับใคร่อยู่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่พอใจทั้งหลาย
พยาบาท ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง ซึ่งพยาบาทในนิวรณ์ ๕ นี้มีความหมายเพียงที่เป็นความโกรธขัดเคืองอยู่ในจิตใจ ยังไม่มุ่งร้ายออกไป อันเรียกว่าโทสะที่แปลว่าประทุษร้ายใจ คือประทุษร้ายใจตัวเอง ยังไม่คิดออกไปประทุษร้ายผู้อื่น นี่เป็นแค่นิวรณ์
ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย

นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้กามฉันท์ก็จัดเข้าในกิเลสกองราคะ พยาบาทก็จัดเข้าในกิเลสกองโทสะ ส่วนอีก ๓ ข้อก็จัดเข้าในกิเลสกองโมหะ แต่พระอาจารย์ท่านอธิบายว่าสำหรับกุกกุจจะ ความรำคาญใจจัดเข้าในกิเลสกองโทสะ เป็นปริยุฏฐานะ คือกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจ อันหมายความว่าทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบ เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์คือไม่เป็นวิสุทธิ ไม่สงบคือไม่เป็นสมถะ และไม่ตั้งมั่นคือไม่เป็นสมาธิ อันหมายความว่าไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวอันเป็นอารมณ์ที่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นดั่งนี้ การที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก็ยากเพราะว่าเมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ไม่ตั้งมั่นไม่สงบดั่งนี้ จึงง่ายที่จะก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรมทางกายทางวาจาทางใจ อันเป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมฝ่ายอกุศล ก็ทำให้ศีลไม่บริสุทธิ์ ทำให้ศีลเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อยไม่เป็นไท เพราะยังเป็นทาสของกิเลส และวิญญูชนยังไม่สรรเสริญ เพราะยังถูกกิเลสลูบคลำจับต้องและไม่เป็นไปเพื่อสมาธิได้

ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์ ตั้งต้นแต่ทำจิตให้สงบเป็นปรกติ เพื่อให้ศีลนั้นเป็นศีลที่สนับสนุนสมาธิ ที่เรียกว่าเป็นไปเพื่อสมาธิดังที่กล่าวมาแล้ว ให้ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ และก็ปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยวิธีที่เป็นสมถกรรมฐานหรือกรรมฐานที่ทำจิตให้สงบ อันกรรมฐานนั้นแปลว่าที่ตั้งของการงาน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทราบกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของการงาน คือการงานอันได้แก่การทำจิตให้สงบให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการงานทางจิตใจ การปฏิบัติทำจิตให้สงบก็เป็นการงานทางจิตใจอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นการงานก็จะต้องมีการตั้งการงานขึ้นมา คือว่าจับกระทำจับปฏิบัติ ความจับกระทำจับปฏิบัตินั้นเรียกว่า วิริยารัมภะ เริ่มความเพียร โดยที่ศึกษาให้รู้จักกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของการงานทางจิตนั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ และก็นำมาปฏิบัติคือทำจิตให้ตั้งอยู่ในกรรมฐานข้อนั้นๆ การที่นำจิตมาตั้งไว้ในกรรมฐานข้อนั้นๆ นี่แหละเรียกว่าทำกรรมฐาน เมื่อเป็นสมถกรรมฐานก็คือว่าทำสมถกรรมฐานหรือปฏิบัติในสมถกรรมฐาน

กรรมฐานสำหรับแก้จริต ๖

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงกรรมฐานไว้ในที่ต่างๆ ซึ่งพระอาจารย์ผู้รวบรวมเรียบเรียงวิสุทธิมรรคได้นำมาแสดงไว้ ๔๐ ประการ ก็คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ สัญญา ๑ คืออาหาเรปฏิกูลสัญญา ความกำหนดหมายว่าปฏิกูลในอาหาร ววัตถานะคือความพิจารณากำหนด ๑ คือจตุธาตุวัตถานะ ความกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ และท่านแสดงว่าคนเรานั้นจัดเป็นจริตทางจิตใจ ๖ คำว่าจริตนั้นคู่กับคำว่าจริยา คำว่าจริยา แปลว่าความประพฤติ เป็นคำที่เป็นกิริยาอาการ และถ้าเป็นบุคคลผู้ประพฤติเรียกว่าจริต คำว่าจริต จึงหมายถึงบุคคลผู้ประพฤติ และเราเรียกกันในภาษาไทยว่าจริต ๖ ก็คือบุคคลปันออกเป็น ๖ พวกตามจริยาคือความประพฤติทางจิตใจของตนๆ

จำพวกที่ ๑ ราคจริต คือคนที่ประพฤติทางจิตใจด้วยอำนาจของราคะคือความติดใจยินดีอยู่เป็นปรกติ
๒. โทสจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของโทสะอยู่เป็นปรกติ
๓. โมหจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของโมหะคือความหลงอยู่เป็นปรกติ
๔. วิตกจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของวิตกคือความคิดมากอยู่โดยปรกติ
๕. สัทธาจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของความเชื่ออยู่โดยปรกติ และ
๖. พุทธิจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของความรู้อยู่โดยปรกติ

และพระอาจารย์ได้แสดงว่าคนที่เป็นราคจริตนั้นมักจะรักสวยรักงาม ท่านแนะให้ปฏิบัติในกรรมฐาน ๑๑ ประการ คือ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ คนโทสจริตมีปรกติโกรธง่ายใจน้อย ท่านสอนให้ปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ และวัณณกสิณ กสิณที่เกี่ยวด้วยสี ๔ รวมเป็น ๘ คนโมหจริตที่ปรกติหลงใหลง่าย และคนที่เป็นวิตกจริตคือคนมีปรกติคิดมาก เรื่องเล็กคิดเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสั้นคิดเป็นเรื่องยาว ท่านสอนให้ทำอานาปานสติ คนที่เป็นสัทธาจริตมักจะเชื่อง่าย ชอบที่จะใช้ศรัทธามากกว่าจะใช้ปัญญา ท่านสอนให้ปฏิบัติในอนุสสติ ๖ ข้างต้น ส่วนคนที่เป็นพุทธิจริตมีปรกติชอบใช้ปัญญา ไม่ยอมที่จะเชื่ออะไรนอกจากจะต้องรู้ ท่านสอนให้ปฏิบัติในมรณสติ ในอุปสมานุสสติ ในจตุธาตุววัตถานะ และในอาหาเรปฏิกูลสัญญา คือความกำหนดหมายพิจารณาให้เห็นปฏิกูลในอาหาร ส่วนกสิณที่เหลือกับอรูป ๔ ท่านแสดงว่าอนุกูลแก่จริตทั้งสิ้น ในที่นี้จะไม่อธิบายกรรมฐาน ๔๐ ประการและจริตทั้ง ๖ กับกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ตามที่พระอาจารย์ได้กล่าวอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค แต่ว่าจะกล่าวโดยสรุป

จริต ๔ และสติปัฏฐาน ๔

สำหรับในกรรมฐาน ๔๐ ประการนี้ไม่มีสติปัฏฐานทั้ง ๔ สำหรับในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น พระอาจารย์ได้แสดงบุคคลไว้ ๔ จำพวก คือแบ่งว่าบุคคลเป็นจริตทั้ง ๔ อีกนัยหนึ่งที่เรียกว่าอีกนัยหนึ่งนั้นไม่ใช่หมายความว่าเป็นอีกจำพวกหนึ่งจากจริต ๖ ก็บุคคลที่เป็นประชาโลกหรือสัตวโลกด้วยกันทั้งหมดนี้แหละ ท่านแสดงว่าเป็นจริต ๖ ไว้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งท่านแสดงไว้เป็นจริต ๔ คือ ตัณหาจริตอย่างหยาบ ตัณหาจริตอย่างละเอียด ทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ทิฏฐิจริตอย่างละเอียด

ตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น คือคนที่มีปรกติติดอยู่ในกาย ชอบแต่งกายให้งดงาม ชอบความงดงามของร่างกาย ท่านสอนให้ปฏิบัติในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ตัณหาจริตอย่างละเอียดนั้น คือคนที่ติดเวทนา ไม่ค่อยจะติดร่างกายเท่าไหร่ คือต้องการสุขเวทนาให้สบายก็แล้วกัน ร่างกายจะสวยงามไม่สวยงาม เครื่องแต่งกายจะสวยงามไม่สวยงามก็ไม่ใคร่จะว่า ต้องการให้สบาย ให้อยู่อย่างสบายๆ ท่านสอนให้ปฏิบัติในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทิฏฐิจริตอย่างหยาบ คือคนที่มีความเห็นผิด อันหมายความว่ามีความเห็นยังไม่บริสุทธิ์นั่นแหละ ยังติดโน่นติดนี่อยู่มาก มักจะเป็นคนที่ชอบเอาใจตนเองเป็นประมาณ ต้องการให้ถูกใจตนเอง และการถูกใจตนเองนั้นก็หมายความว่าถูกกับความเห็นความชอบใจของตนเองนั้นเอง อันนี้ก็เป็นทิฏฐิอันหนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นความเห็นผิดอะไรมากมาย เป็นความเห็นผิดชนิดที่เอาแต่ใจตนเอง ชอบที่จะทำตามความเห็นของตนเองตามความชอบใจของตนเองดั่งนี้ ท่านสอนให้ปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทิฏฐิอย่างละเอียด ซึ่งยังมีความยึดถืออยู่ในตัวเราของเราเป็นต้น ท่านสอนให้ปฏิบัติในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าแม้สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็เหมาะสำหรับทุกๆ คนที่จะปฏิบัติและทุกๆ คนนั้นอันที่จริงก็ต้องมีจริต ต้องเป็นจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกันน้อยหรือมาก บางทีก็ติดกาย บางทีก็ติดเวทนา บางทีก็ติดจิต บางทีก็ติดธัมมะคือเรื่องในจิต ซึ่งจะพูดง่ายๆ สรุปเข้ามาอีกคือติดกายก็ชอบให้ร่างกายสวยงามก็แล้วกัน ติดเวทนาก็คือว่าชอบสบาย ร่างกายจะสวยงามไม่สวยงามก็ไม่ว่ากระไร ให้สบายก็แล้วกัน ติดจิตก็คือว่าให้ถูกใจก็แล้วกัน บางทีก็ไม่ทำให้ร่ายกายสวยงามนัก บางทีก็ไม่ต้องเป็นสุขนัก แต่ถูกใจชอบใจก็แล้วกัน ติดธัมมะก็คือติดเรื่องราวในจิตใจ เมื่อเป็นเรื่องที่จิตชอบละก็เป็นอันว่าใช้ได้ เพราะฉะนั้นก็ให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็ใช้แทนกรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการนั้นได้ด้วย

๙ ตุลาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 19 มกราคม 2554
Last Update : 19 มกราคม 2554 8:36:34 น. 0 comments
Counter : 709 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.