Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๒๖ ลักษณะพุทธศาสนา - จิตตภาวนา

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงจิตตภาวนา คือการอบรมจิต จึงจะอธิบายจิตตภาวนาและจะฝึกปฏิบัติอบรมจิตต่อไปด้วย

ความหมายของจิตตภาวนา

จิตตภาวนา แปลว่าการอบรมจิต การอบรมจิตนี้มีความหมายไปได้ในไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญา หรือสีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา เพราะว่าไตรสิกขาต้องปฏิบัติให้ถึงจิตจึงจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ถ้าปฏิบัติไม่ถึงจิตก็ไม่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา แต่อาการของไตรสิกขานั้น ในขั้นศีลก็ปรากฏที่กายที่วาจาที่ใจทั้ง ๓ เหมือนกัน แต่ว่าปรากฏออกไปภายนอกให้คนอื่นเห็นก็เพียงกาย เพียงวาจา ส่วนใจนั้นไม่ปรากฏออกไปโดยตรง ตนเองย่อมรู้ใจตนเองว่าเป็นอย่างไร และผู้อื่นที่อ่านใจได้ก็ย่อมรู้ได้ อาการของสมาธินั้นปรากฏที่จิตใจโดยตรง อาการของปัญญานั้นปรากฏที่ความรู้ เป็นความรู้ความเห็นอันถูกต้อง แต่ความรู้นี้ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าเป็นความรู้ของจิตนี้เอง หรือจิตก็คือธาตุรู้

ศีลเป็นภาคพื้นของสมาธิและปัญญา

เพราะฉะนั้นจิตตภาวนาจึงครอบงำหรือว่ามีความหมายไปทั้งสมาธิทั้งปัญญา อันศีลนั้นจะต้องมีเป็นภาคพื้นเหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน ซึ่งจะต้องมีหรือจำเป็นที่จะต้องมี สมาธิและปัญญาจึงจะตั้งขึ้นมาได้ ท่านจึงเปรียบศีลเหมือนแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งเป็นที่ยืนของสรรพสิ่งและของบุคคลทั้งหลาย ฉันใดก็ดี กุศลธรรมทั้งหลายเมื่อมีศีลเป็นที่ตั้งจึงบังเกิดและเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในศีลจึงจำปรารถนาของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวง ศีลนั้นท่านแสดงไว้ว่าย่อมเกิดขึ้นจากการสมาทาน คือความตั้งใจรับศีลก็ได้ เกิดขึ้นในขณะที่ประจวบกับวัตถุที่จะพึงล่วงศีลได้ และก็งดเว้นขึ้นได้เองในปัจจุบัน ดั่งนี้ก็ได้ และเกิดขึ้นจากธรรมปฏิบัติ ซึ่งเมื่อได้ธรรมปฏิบัติข้อนั้นๆ แล้ว ศีลก็บังเกิดขึ้นมาเอง และธัมมะที่ได้ที่ถึงหากเป็นขั้นมรรคผลที่ท่านแสดงว่าโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล หากได้แล้ว ศีล ๕ ก็มาเอง ดั่งนี้ก็มี ศีลที่เกิดจากการสมาทานคือการรับ จะรับจากผู้ที่มีศีล อย่างคฤหัสถ์รับศีลจากภิกษุสามเณร หรือแม้ที่ผู้เข้ามาขอบวชรับศีลจากพระอาจารย์สำเร็จเป็นสามเณร หรือว่าไม่รับจากผู้อื่นตั้งใจสมาทานขึ้นด้วยตัวเอง ดังเช่นวันอุโบสถ พอตื่นเข้าขึ้นก็ตั้งใจว่าวันนี้จะสมาทานอุโบสถศีลตั้งแต่เช้าด้วยตัวเอง ดั่งนี้ก็ได้ศีล ศีลที่ได้จากการสมาทานจากท่านผู้อื่นก็ดี ด้วยตัวเองก็ดี ดั่งนี้เรียกว่า สมาทานวิรัติ ความงดเว้นได้ด้วยการสมาทาน ส่วนศีลที่ได้ในขณะเมื่อไปประสบวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิดแต่ว่าไม่ล่วงละเมิด งดเว้นขึ้นได้ในปัจจุบันนั้น เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ ความงดเว้นในขณะที่วัตถุมาถึงเข้างดเว้นได้ เช่นไม่ได้สมาทานศีลมา แต่เมื่อไปประสบวัตถุที่จะพึงฆ่า แต่ก็ไม่ฆ่า งดเว้นได้ ไปประสบวัตถุที่จะพึงลักขโมย แต่ก็ไม่ขโมย งดเว้นได้ ดั่งนี้ก็เป็นสัมปัตตวิรัติ ส่วนศีลที่ได้จากธรรมปฏิบัติ ท่านยกเอามรรคผล เช่นได้โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ศีล ๕ ก็มาเอง ดั่งนี้เป็น สมุจเฉทวิรัติ ความงดเว้นได้อย่างเด็ดขาด ท่านแสดงว่าพระโสดาบันนั้น จะไม่มีล่วงละเมิดศีล ๕ เลย และก็ไม่ได้สมาทาน เป็นศีลที่มาเอง งดเว้นได้อย่างเด็ดขาดทีเดียว เป็นสมุจเฉทวิรัติ แต่ว่าแม้ธัมมะข้ออื่น เมื่อปฏิบัติได้ธัมมะข้อนั้นจะไม่ถึงมรรคผลก็ตาม ศีลก็มาเองเหมือนกันในขณะที่ธัมมะข้อนั้นยังมีอยู่ เช่นว่าเจริญเมตตา เมื่อจิตมีเมตตาก็ย่อมจะมีศีลตามมาด้วย เพราะว่าเมื่อมีเมตตาในสัตว์บุคคลใด ย่อมจะไม่ประพฤติเบียดเบียนสัตว์บุคคลนั้น มีแต่เกื้อกูลอุดหนุน ฉะนั้นผู้ที่มีเมตตาจึงไม่ทำอันตรายแก่บุคคลหรือสัตว์ที่ตนเองมีเมตตา อย่างเช่นมารดาบิดาที่มีเมตตาต่อบุตรธิดา ย่อมจะไม่ทำอันตรายแก่บุตรธิดาเป็นการละเมิดศีล เพราะมีธัมมะคือเมตตานี้นำให้เกิดศีลขึ้นมา

ศีลมุ่งความงดเว้นจากอกุศลเจตนา

เพราะฉะนั้นแม้ธรรมปฏิบัติดังกล่าวก็นำให้เกิดศีลขึ้นได้ และศีลนี้ท่านมุ่งเอาตัววิรัติคือความงดเว้นเป็นหลักสำคัญ คือจงใจงดเว้นได้ไม่ทำ ดั่งนี้เป็นศีล ถ้าศีล ๕ ก็งดเว้นจากเจตนาคือความจงใจที่จะฆ่า ที่จะลัก ที่จะประพฤติผิดในกาม ที่จะพูดเท็จ และที่จะดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานของความประมาท ซึ่งความงดเว้นได้จากอกุศลเจตนาดังกล่าวนั้นเป็นตัวศีล ที่ว่างดเว้นจากอกุศลเจตนาดังกล่าวนั้น ก็เพราะว่ากรรมที่ประกอบกระทำออกไปเป็นการละเมิดศีลนั้นต้องเกิดจากเจตนาก่อน คือต้องมีความจงใจเสียก่อน เมื่อจงใจขึ้นแล้วจึงเป็นเหตุให้บังเกิดการกระทำ เป็นการฆ่า เป็นการลักเป็นต้น ฉะนั้นเมื่อวิรัติคืองดเว้นจากเจตนานั้นได้ ก็เป็นอันว่างดเว้นจากกรรมนั้นได้ ความงดเว้นดังกล่าวนี้จะต้องถึงใจ คือจิตจะต้องมีความงดเว้น และความงดเว้นที่เป็นตัวศีลที่บริสุทธิ์นั้นจะต้องงดเว้นจากนิวรณ์ อันหมายความว่าอกุศลจิตในการนั้นด้วย กล่าวคือการงดเว้นที่เป็นศีลนั้น ที่จะทำให้ศีลขาดก็ต้องประกอบกระทำออกไป เช่นการฆ่า ก็จะต้องทำให้สัตว์หรือบุคคลนั้นตายจึงจะเป็นปาณาติบาต ดั่งนี้ศีลจึงขาด ถ้าหากว่าสัตว์หรือบุคคลไม่ตาย ศีลก็ไม่ขาด แต่ว่าในประโยคคือการประกอบกระทำนั้นบางทีจิตก็กลัดกลุ้มด้วยความโกรธ คิดที่จะฆ่าเหมือนกัน คือเรียกว่าเป็นพยาบาทความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ แต่ว่าก็บังเกิดขึ้นในใจ ยังยับยั้งไว้ได้ในใจไม่ประกอบกระทำออกไป แต่ใจนั้นก็เป็นพยาบาทคิดมุ่งร้ายขึ้นมาแล้วดั่งนี้ ก็เรียกว่าเสียศีลทางใจ ใจไม่บริสุทธิ์ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่เสียศีลทางกายทางวาจาคือยังไม่ได้ทำ บางทีก็ประกอบกระทำออกไป แต่ว่าไม่ถึงให้ตาย เช่นว่าทุบตีทำร้ายให้ร่างกายบอบช้ำลำบากหรือว่าทรมานต่างๆ ไม่ตาย ดั่งนี้ศีลก็ไม่ขาด ยังไม่เป็นปาณาติบาต แต่ว่าการปฏิบัติกระทำซึ่งเป็นการทำร้ายทางกายทางวาจานั้น ก็เสียศีลทางกายทางวาจาออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นศีลก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขาด แต่ไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นแม้ศีลจะไม่ขาดที่เรียกว่าไม่เป็นท่อน แต่ว่าก็เป็นช่องด่างพร้อย

อันศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นต้องไม่เป็นท่อนไม่เป็นช่องไม่ด่างไม่พร้อย ศีลที่เป็นท่อนนั้นคือศีลที่ขาด เหมือนอย่างผ้าที่เป็นผืนเดียวแล้วก็ขาดออกจากกันเป็น ๒ ผืน ดั่งนี้เรียกว่าขาด ศีลที่ขาดนั้นคือศีลที่ได้ละเมิดออกไปอย่างเต็มที่จนบรรลุถึงที่สุด ดั่งเช่นข้อปาณาติบาตนั้น ฆ่าสัตว์ตั้งต้นแต่มีอกุศลเจตนาที่จะฆ่า แล้วก็ทำการฆ่า แล้วสัตว์นั้นตายด้วยอกุศลเจตนานั้น แปลว่าครบองค์ ยกตัวอย่างเช่นศีลข้อ ๑ นี้ ที่ท่านแสดงไว้ว่ามีองค์ ๕ คือ ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต ๒. ปาณสญฺญิตา ตนรู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า ๔. ตชฺโชวายาโม ความเพียรที่เกิดจากเจตนานั้น และ ๕. เตน มรณํ สัตว์นั้นตายด้วยความเพียรนั้น ดั่งนี้ศีลขาด ทีนี้หากสัตว์นั้นไม่ตายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม แต่ว่าได้มีจิตคิดจะฆ่า ได้มีความเพียรที่จะฆ่า น้อยหรือมากก็ตาม แต่ว่าสัตว์ไม่ตาย ดั่งนี้เรียกว่าศีลเป็นช่อง คือเหมือนอย่างผ้าที่ขาดเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ แต่ว่าไม่ถึงกับขาดออกจากกันเป็น ๒ ท่อน แต่ว่าเป็นช่องๆ ทะลุเป็นช่องๆ ดั่งนี้เรียกว่าศีลเป็นช่อง คราวนี้หากว่ามีจิตคิดที่จะฆ่าและไม่ถึงกับได้ประกอบความเพียรออกไป คิดงุ่นง่านอยู่ในใจล่วงละเมิดอยู่ในใจ ไม่ถึงกับจะทำออกไปดั่งนี้ เรียกว่าศีลด่างศีลพร้อย เหมือนอย่างผ้าที่ไม่ขาดเป็นท่อน ไม่ทะลุเป็นช่อง แต่ว่าเปรอะเปื้อนด่างพร้อย ไม่เป็นผ้าที่สะอาด ฉะนั้นแม้มีจิตงุ่นง่านคิดที่จะฆ่าอยู่ดั่งนี้ ก็เรียกว่าศีลด่างศีลพร้อย คือถ้าคิดว่าจะฆ่าอย่างแรง ถ้าหากว่าไม่ถึงคิดว่าจะฆ่า แต่จิตเดือดร้อนคิดที่จะทำร้าย ก็แปลว่าไม่ถึงกับด่างทีเดียว แต่ว่าพร้อย ก็เป็นอันว่าไม่บริสุทธิ์

มีความสำรวมใจคู่กับศีล

เพราะฉะนั้นที่จะเป็นศีลถึงจิตใจนั้นจะต้องทำจิตใจให้สงบ ซึ่งจะต้องอาศัยความคอยสำรวมใจอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นแม้ว่าศีลนั้นจะชี้เอาตัววิรัติคือความงดเว้นได้เป็นข้อสำคัญก็ตาม ก็ต้องอาศัยมี สังวโร คือความสำรวม เป็นข้ออาศัยหรือเป็นเครื่องอาศัยอย่างใกล้ชิดอีกด้วย คือจะต้องมีความสำรวม ต้องมีความระมัดระวังใจที่จะไม่ให้เกิดอกุศลเจตนาออกไป ในอันที่จะฆ่าหรือในอันที่จะทำร้ายสิ่งมีชีวิต อันรวมทั้งบุคคลและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ตลอดจนถึงไม่คิดที่จะทำร้ายด้วย ต้องพยายามสำรวมใจที่จะดับใจได้ เพราะฉะนั้นนอกจากวิรัติอย่างหยาบแล้วต้องมีวิรัติอย่างละเอียดอันหมายถึงความสำรวมระวังดังกล่าวนี้ด้วย อันความสำรวมระวังนี้เรียกว่า สังวโร หรือเรียกว่าสัญญมะ แปลว่าความสำรวมระวัง เพราะฉะนั้นความสำรวมระวังนี้จึงต้องอยู่คู่กับวิรัติ จึงจะประคองวิรัติให้เป็นไปด้วยดี และตัวความสำรวมระวังนั้นก็คือสตินั้นเอง คือความระลึกได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสอนให้มีความสำรวมระวังคู่กันไปกับวิรัติที่เป็นศีลโดยตรงดั่งนี้แล้ว การปฏิบัติในศีลจะต้องอาศัยธรรมะอีก ๒ หมวด หมวดหนึ่งคือหิริโอตตัปปะ หิริก็คือความละอายใจ โอตตัปปะก็คือความเกรงกลัว

มีหิริและโอตตัปปะ

อันหิริความละอายใจ และโอตตัปปะความเกรงกลัวนี้ หมายถึงละอายใจต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อความชั่ว คือละอายใจต่อบาปอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาทางใจทั้งหลาย เกรงกลัวต่อบาปอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาและทางใจทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะนี้อันที่จริงพระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนจากความละอายและความกลัวที่บุคคลมีอยู่นี้เอง แต่ว่าความละอายและความกลัวที่บุคคลมีอยู่เป็นประจำ เรียกว่าโดยมิต้องปฏิบัตินี้ เป็นความละอายและความกลัวต่อความรู้ของผู้อื่นและต่อบุคคลผู้อื่น เช่นว่าละอายที่เขาจะรู้จะเห็นจึงได้ปกปิดซ่อนเร้น กลัวต่อโจรผู้ร้าย หรือว่ากลัวเขาจะรู้จะเห็นจึงได้ปกปิดซ่อนเร้นจึงได้หลบซ่อนดั่งนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละอายต่อตัวเอง ที่จะรู้เห็นตัวเองประกอบความชั่วต่างๆ เกรงกลัวต่อตัวเองที่ตัวเองจะประกอบความชั่วต่างๆ เพราะฉะนั้นความที่เป็นหิริโอตตัปปะนี้ จึงเป็นความละอายและเกรงกลัวที่สูงกว่าความละอายและเกรงกลัวที่ทุกคนมีอยู่ ก็ปรับปรุงความละอายและเกรงกลัวที่ทุกคนมีอยู่นั้นเอง มาทำให้เป็นความละอายและความเกรงกลัวที่เป็นทางธัมมะ และข้อนี้จะพึงเห็นได้ง่าย ดังที่คนต้องซ่อนเร้นกระทำความชั่วทั้งหลาย เพราะละอายแต่คนอื่นจะเห็น แต่หากว่าถ้าตนเองมีความละอายต่อตัวเองแล้ว ว่าตัวเองจะต้องรู้เห็นตัวเองอยู่ทุกขณะ ไม่มีความลับอะไรต่อตัวเองดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้ตัวเองงดเว้นการกระทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ความเกรงกลัวก็เหมือนกัน อย่างเช่นความเกรงกลัวทั่วไปก็คือเกรงกลัวโจรผู้ร้ายว่าจะมาฆ่าตน จะมาลักของของตน แต่ว่าลืมไปที่จะกลัวตัวเองที่จะไปเป็นโจรผู้ร้ายสำหรับผู้อื่น ที่จะไปลักของของเขา ที่จะไปฆ่าเขา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าได้ปรับปรุงความเกรงกลัวนี้มาให้เป็นความเกรงกลัวตัวเองที่จะเป็นผู้ร้าย โดยที่เมื่อมีความเกรงกลัวตัวเองที่จะเป็นผู้ร้ายดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้ตัวเองละความเป็นผู้ร้ายได้ ตัวเองก็จะไม่เป็นผู้ร้ายได้ คือว่าจะไม่ไปฆ่าใครไม่ลักของใครเป็นต้น ดั่งนี้ก็เป็นโอตตัปปะขึ้นมา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมะ เอาธรรมดานี่แหละ เอาความละอายความเกรงกลัวที่คนมีอยู่เป็นธรรมดานี่แหละ มาปรับปรุงให้เป็นธัมมะขึ้น ให้เป็นหิริโอตตัปปะขึ้น ดั่งนี้เรียกว่าเป็นการที่ทำให้เจริญขึ้น พัฒนาให้เจริญขึ้น เมื่อยังเป็นความละอายความเกรงกลัวที่เป็นสามัญอยู่ดังกล่าวนั้น ก็เหมือนอย่างว่าเป็นคนป่าคราวนี้ก็มาพัฒนาให้เป็นคนเมืองขึ้น ให้เจริญขึ้น ให้รู้จักละอายให้รู้จักเกรงกลัวต่อความชั่วทั้งหลาย และก็ให้งดเว้นตัวเองได้ ดั่งนี้ก็เป็นหิริเป็นโอตตัปปะขึ้นมา หิริโอตตัปปะนี้เรียกว่าเป็นเหตุใกล้ของศีล ทำให้ปฏิบัติในศีลได้ดีขึ้น

มีอินทรียสังวร

ธัมมะอีกหมวดหนึ่งหรืออีกข้อหนึ่งก็คือ อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์หรือสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ในขณะที่ตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร จมูกลิ้นกายได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะอะไร ใจได้รู้เรื่องราวอะไร ก็มีสติรักษาเหมือนอย่างรักษาตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่เสมอ โดยตรงก็คือรักษาใจอยู่เสมอ ที่จะไม่ไปยึดถือสิ่งที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบ มาก่อกิเลส เป็นราคะโทสะโมหะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในจิตใจ คอยป้องกันไว้ ให้สิ่งที่ได้เห็นที่ได้ยินที่ได้ทราบนั้นอยู่แค่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ให้ตกอยู่แค่นั้น ไม่ให้ก่อกิเลสเข้ามา เหมือนอย่างสติเป็นนายประตูคอยรักษาทวารทั้ง ๖ นั้นคือรักษาจิตนั้นเองอยู่เสมอ ไม่ให้สิ่งเหล่านั้นก่อกิเลสเข้ามาในจิตใจ คือไม่ยึดถือไว้นั่นเอง ให้เห็นสักแต่ว่าได้เห็น ให้ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ให้ทราบสักแต่ว่าได้ทราบ ให้รู้ให้คิดสักแต่ว่าได้รู้ได้คิด แปลว่าถือเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณประโยชน์ทั้งหลาย ไม่ก่อให้เกิดโทษเข้ามา ถ้าหากว่าจะเป็นชนวน ก็ให้รู้ว่านี่จะเป็นชนวนแล้ว คือจะเป็นชนวนแห่งราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็คอยห้ามใจบอกว่าอย่าไปรับชนวนนั้น อย่าให้จิตอันนี้เป็นข้างไม้ขีดแล้วอย่าให้ชนวนนั้นเป็นตัวไม้ขีด มาขีดให้เป็นไฟลุกขึ้นมาในใจ คอยป้องกันเอาไว้อยู่ดั่งนี้ คือไม่ยอมที่จะให้ชนวนนั้นมาเป็นตัวไม้ขีด ไม่ให้จิตเป็นข้างไม้ขีดที่จะก่อไฟขึ้นมา คอยดับไว้อยู่เสมอ ดั่งนี้แล้วก็เป็นความสำรวมระวังจิตใจอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องที่จะทำให้การปฏิบัติศีลเป็นไปได้

๑๙ กันยายน ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 04 มกราคม 2554    
Last Update : 4 มกราคม 2554 8:36:32 น.
Counter : 714 Pageviews.  

1  2  3  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.