Group Blog
 
All Blogs
 
๗. สรณะ



หลักพระพุทธศาสนา

๗. สรณะ

สรณะกับคน


คนในโลกนี้ ส่วนมากทำไมจึงนับถือศาสนา น่าตอบอย่างสั้นๆ ว่า เพราะคนส่วนมากเห็นว่าศาสนาอาจเป็นสรณะคือที่พึ่ง หรือเป็นสรณะของตนได้ เมื่อใดคนเห็นศาสนาใดไม่อาจเป็นสรณะคือที่พึ่งของตนได้แล้ว ก็จะเสื่อมหรือเลิกนับถือศาสนานั้นเมื่อนั้น ฉะนั้น ศาสนาที่จะดำรงอยู่ได้ จึงต้องเป็นศาสนาที่อาจเป็นสรณะของคนได้จริง แต่ก็ต้องเกี่ยวแก่คนด้วยเหมือนกัน คือแม้จะเป็นศาสนาที่เป็นสรณะได้จริง ถ้าคนไม่นับถือ ไม่ถึงเป็นสรณะจริงหรือนับถือถึงเป็นสรณะในทางผิด ก็ทำให้ศาสนาเสื่อมไปได้เหมือนกัน เหมือนอย่างเอกราชหรืออิสรภาพของประเทศชาติซึ่งเป็นของดี ถ้าคนในประเทศชาติไม่รักษาไว้ให้ดีก็อาจเสียไปได้ การที่เสียไปนั้นมิใช่เป็นเพราะเอกราชหรืออิสรภาพนั้นไม่ดี แต่เป็นเพราะรักษาไว้ไม่ได้เอง ฉะนั้น ศาสนิกคือคนที่นับถือศาสนาเองจึงเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมไปได้ รวมความว่าศาสนาที่จะดำรงอยู่ได้ เพราะศาสนาเป็นสรณะได้จริง ๑ คนนับถือหรือถึงเป็นสรณะจริง ๑ ฉะนั้น ในกัณฑ์นี้จะแสดงเรื่องสรณะสืบต่อไป

สรณะกับความกลัว

สรณะ แปลว่า ที่พึ่ง ที่พึ่งพำนัก ที่พึ่งกำจัดภัย คือที่พึ่งที่ช่วยให้พ้นภัยได้ เมื่อเกิดภัยขึ้น ที่ใดช่วยให้พ้นภัยให้ปลอดภัยได้ ที่นั้นแหละเรียกว่าสรณะ คือที่พึ่งของตน ภัยได้แก่ สิ่งที่พึงกลัว ความกลัวที่เกิดขึ้นในสิ่งที่พึงกลัวนั้นก็เรียกว่าภัย ความกลัวเกิดขึ้นจากอะไร ความกลัวเกิดขึ้นจากความรักหรือสิ่งที่รัก รักในสิ่งใดมากก็กลัวมากว่าสิ่งที่รักนั้นจะเป็นอันตราย และถ้าเห็นว่าอะไรจะทำอันตรายแก่สิ่งที่รัก ซึ่งมีอำนาจเหนือตนอยู่ ก็จะกลัวต่อสิ่งนั้นมาก ยอดแห่งสิ่งที่รักของคนและสัตว์ดิรัจฉานทั่วไปนั้นคือชีวิตของตนเอง สิ่งที่รักอื่นๆ ก็เป็นที่รักรองๆ ลงมา จึงพากันกลัวอันตรายของชีวิตมากที่สุด สิ่งที่รักที่เนื่องกับชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือที่ตั้งอาศัยของชีวิต อันหมายถึงร่างกายประกอบด้วยจิตใจ จึงพากันกลัวอันตรายที่จะมาบั่นทอนร่างกาย เมื่อรักในชีวิต รักในร่างกาย ก็พลอยรักในคน ในทรัพย์สมบัติและสิ่งต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์ (เครื่องอุดหนุน) หรือเป็นปัจจัย (เครื่องอาศัย) ให้เกิดความสุขแก่ชีวิตและร่างกายอีกมากมาย จึงพากันกลัวอันตรายที่จะเกิดแก่สิ่งอุปกรณ์เหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะรักมากหรือรักน้อยเพียงไร รวมความว่า โดยปกติคนกลัวภัยที่จะเกิดแก่ชีวิต คือกลัวตายมากที่สุด ต่อลงมาก็กลัวภัยที่จะเกิดแก่ร่างกายและแก่ทรัพย์สินเป็นต้น คือกลัวเจ็บและกลัวขาดสุข ดังจะยกตัวอย่างว่า งูพิษ แขนหัก ของหาย ๓ อย่างนี้ใครกลัวอะไรมากเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามตัวอย่างนี้ คนทั่วไปจะกลัวงูพิษมากเป็นที่ ๑ เพราะอาจจะกัดตาย กลัวแขนหักเป็นอันดับ ๒ เพราะทำให้ร่างกายเจ็บหรือพิการ กลัวของหายเป็นที่ ๓ เพราะทำให้ขาดของใช้สอยทำให้ขาดความสุขความสะดวก จึงรวมพูดสั้นๆ ว่า รักมากก็กลัวมาก รักน้อยก็กลัวน้อย ไม่รักอะไรเลยก็ไม่ต้องกลัวอะไรเลย

กลัวเจ็บกับกลัวตาย

ทุกคนคงเคยมีความกลัวอยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็มีความรักในชีวิตร่างกายและความสุขเหมือนๆ กัน จึงกลัวสิ่งที่จะเป็นภัยแก่ชีวิตเป็นต้น เมื่อยังเป็นเด็กเล็กมากยังไม่เดียงสา อาจยังไม่รู้จักกลัวตาย แต่ก็สังเกตได้ว่ากลัวเจ็บ นักสังเกตบางท่านกล่าวว่า สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่มีความรู้น้อยไม่รู้จักกลัวตาย แต่แสดงว่ารู้จักกลัวเจ็บ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่มีความรู้มากจึงรู้จักกลัวตาย คำกล่าวนี้อาจเป็นไปได้ เพราะอาจเทียบได้กับเด็กดังกล่าวแล้ว น่าสังเกตว่า เด็กเล็กๆ ค่อยรู้จักกลัวเจ็บในเมื่อได้ผ่านเจ็บมาบ้างแล้วและค่อยรู้อะไรบ้างแล้ว ดังเช่นเด็กเล็กๆ มองเห็นไฟยังไม่รู้จักไฟ จึงเอื้อมมือไปจับ ถ้าจับถูกไฟไฟก็จะลนมือให้เจ็บให้ร้อน เด็กก็จะร้องเพราะมีความรู้สึกเจ็บ ทำให้ไม่กล้าจับไฟเพราะกลัวเจ็บ ส่วนอาการหลบภัยอาจมีตามระบบของร่างกายตามธรรมชาติ เช่นเมื่อมือถูกไฟมือก็ชักกลับหรือกำมือ ตากะพริบเมื่อผงเข้าตา เด็กเล็กๆ ก็แสดงอาการดังกล่าวได้ทั้งๆ ที่ยังไม่เดียงสาอะไร ต่อเมื่อรู้จักเดียงสาขึ้น โดยเฉพาะคือเมื่อรู้จักกลัวขึ้น จึงรู้จักกลัวเจ็บ กลัวสิ่งที่ทำให้เจ็บ และรู้จักกลัวตายต่อเมื่อเริ่มรู้จักรักชีวิตและรู้ว่าความตายคือความสิ้นสุดของชีวิต จึงกลัวสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังกลัวในสิ่งอื่นๆ อีก

สิ่งที่กลัวต่างๆ

สิ่งที่กลัวนั้น โดยลักษณะทั่วๆ ไป คือสิ่งที่มีอำนาจสามารถให้โทษให้ทุกข์ได้ เป็นสิ่งที่มองเห็นตัวได้ก็มี เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นตัวก็มี สิ่งที่มองเห็นตัวเช่นคนที่สามารถลงโทษได้ สัตว์ดิรัจฉานที่อาจทำอันตรายได้ เครื่องประหัตประหารต่างๆ รถที่อาจวิ่งชนหรือทับเอาได้ หรือภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ลมไต้ฝุ่น ฟ้าผ่า ส่วนที่มองไม่เห็นตัวนั้น เช่นผีสางเทวดาที่คิดกลัวกันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

กลัวที่หลอกเด็ก

บางที เมื่อเด็กเริ่มรู้จักเดียงสามากขึ้น ก็ถูกอบรมด้วยใช้วิธีหลอกให้กลัว เช่นบอกว่าตุ๊กแกจะกินตับ งูเขียวจะกินตับ จะนำไปขายให้แก่แขก เป็นต้น เพื่อให้เด็กหยุดร้อง บางทีเมื่อเด็กไปยืนในที่หมิ่นจะพลัดตกลงไป ก็บอกว่าหยุดซน อย่าไปยืนที่นั่น ผีจะผลัก เมื่อเด็กจะลงเล่นน้ำ ก็บอกว่าอย่าลงไป ผีจะฉุดขา เมื่อเห็นเด็กน่ารัก ก็ต้องพูดว่าน่าเกลียดเพื่อให้ผีพลอยเกลียด จะได้ไม่นำเด็กไป ถ้าพูดน่ารัก ผีจะพลอยรัก และนำเอาเด็กไป ผู้ที่บอกหรือพูดเช่นนี้ บางทีก็เชื่ออย่างนั้น หรือไม่เชื่อทีเดียวก็กริ่งเกรงอยู่บ้าง หรือเกรงคนที่เชื่อจะไม่สบายใจจึงพูดเพื่อรักษาใจคนที่เชื่อ แต่ผู้ที่มุ่งเหตุผลย่อมไม่อบรมเด็กด้วยวิธีหลอกแต่อบรมด้วยเหตุผล เช่นห้ามเด็กมิให้ยืนในที่หมิ่น ด้วยชี้แจงว่าอาจจะตกลงไปเป็นอันตราย ห้ามเด็กมิให้ลงเล่นน้ำ ด้วยชี้แจงว่าถ้าว่ายน้ำไม่เป็นจะจมลงไปอย่างไร และไม่ชักนิยายหรือชักนำให้เด็กกลัวผี เด็กที่ได้รับอบรมด้วยเหตุผลจะรู้จักใช้เหตุผลขึ้นโดยลำดับ บางทีเมื่อถูกผู้ใหญ่ให้ไปหยิบอะไรในห้องมืด ถ้าจะบ่ายเบี่ยงก็อ้างว่ากลัวมืด แทนที่จะอ้างว่ากลัวผี

กลัวที่หลอกผู้ใหญ่

ความกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว เช่นกลัวผีนี้ เป็นที่รับรองกันว่าได้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ นอกจากกลัวยังนับถือผีบางประเภท เช่นผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า หรือเทพต่างๆ เพราะเชื่อว่านอกจากมีพระเดชให้โทษให้ทุกข์ได้แล้ว ก็ยังมีพระเดชป้องกันโทษทุกข์ และมีพระคุณเกื้อกูลให้เกิดความสุขความเจริญอีกด้วย เมื่อเห็นว่าผีเหล่านี้สิงสถิตอยู่ในที่ใด เช่นที่ภูเขาใหญ่ ที่ป่า ที่สวน ที่ต้นไม้ใหญ่ ก็ไปบูชาที่นั้น ขอพึ่งให้ช่วยบำบัดภัยอันตราย ให้ช่วยบอกโชคลาภ สมดังพระพุทธภาษิตบทหนึ่งแปลความว่า “มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า สวน ต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ทั้งหลาย ว่าเป็นสรณะคือที่พึ่ง กันเป็นอันมาก” ผีที่ขอพึ่งถึงเป็นสรณะเหล่านี้มองไม่เห็นตัว แต่ก็ยังมองเห็นที่สิงสถิต มีภูเขาเป็นต้น นับว่าเป็นพวกผีดิน หรือภุมเทวดา ผู้อาศัยอยู่บนดิน หรืออาศัยอยู่บนสิ่งที่ตั้งอยู่บนดิน นอกจากนี้ยังนับถือพวกผีฟ้า หรือเทวดาที่เป็นเจ้าแห่งลม ฝน เป็นต้น ที่ปรากฏอยู่บนฟ้า หรือที่ตกลงมาจากฟ้า เพราะเชื่อว่าลมฝนเป็นต้นเหล่านี้ คงมีเจ้าทุกๆ อย่างผู้อาศัยอยู่บนฟ้า เป็นอันว่าขอพึ่งถึงเป็นสรณะในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว ทั้งเทพทั้งถิ่นที่อาศัยของเทพนั้นๆ เมื่อนับถือเทพต่างๆ แข่งขันกันมากขึ้น ไม่ยอมลงกัน ผู้นับถือเองก็ชักลังเลใจในเทพที่ตนนับถือ จึงเกิดนับถือเทพผู้สูงสุดแต่น้อยองค์หรือแต่องค์เดียว และเชื่อว่าเป็นผู้สร้างผู้ทำในสิ่งที่คนไม่รู้ทั้งหมด แม้เทพเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นตัวตลอดทั้งที่อยู่อาศัย แต่ก็เป็นความเชื่อที่รวมความเชื่อของคนให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนไว้ได้ตามคราวตามสมัย ความเชื่อถือในสิ่งที่มองไม่เห็นตัวทั้งหมดนี้น่าจะเติบโตมาจากกลัวผีอย่างธรรมดานี้เอง ซึ่งได้รับการส่งเสริมขึ้นโดยลำดับ การอบรมสั่งสอนด้วยวิธีให้กลัวผีอย่างธรรมดาใช้สำหรับเด็กดังกล่าวแล้ว แม้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็คงสั่งสอนให้กลัวอยู่นั่นเอง เป็นอันไม่พ้นจากกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว

กลายมาเป็นนับถือวัตถุ

สิ่งที่มองไม่เห็นตัวเหล่านี้ เป็นต้นว่าเทพประจำลมเทพประจำฝนเป็นต้น ในสมัยที่มนุษย์พบเหตุผลของธรรมชาติมากขึ้น ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติไปเป็นอันมาก และเมื่อพบหลักของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หลักของการสร้างสำเร็จรูปก็กลายเป็นการเปลี่ยนแปลง รวมความว่า สิ่งที่มองไม่เห็นตัวที่คิดว่าเป็นอะไรต่างๆ เมื่อความรู้เจริญขึ้นก็ทำให้มองเห็นตัวขึ้น คือมองเห็นเหตุผล เมื่อมองเห็นเหตุผลมากขึ้นเช่นนี้ ความนับถือในสิ่งที่มองไม่เห็นก็น้อยลง เปลี่ยนมานับถือในเหตุผล ความรู้ในเหตุผลที่เจริญขึ้นโดยมากเป็นเหตุผลทางวัตถุ จึงมีวัตถุที่ประดิษฐ์ขึ้นมากมาย เป็นเครื่องบำรุงสุขก็มี เป็นเครื่องก่อทุกข์ก็มี เช่นเครื่องประหัตประหารต่างๆ ทำให้คนมิใช่น้อยคิดพึ่งวัตถุ เหมือนอย่างวัตถุเป็นสรณะและตีราคาวัตถุสูงกว่าสิ่งอื่นๆ บางทีตีวัตถุสูงกว่าคน ฉะนั้นเมื่อยังนับถือสิ่งที่มองไม่เห็นตัว ถ้าจะกล่าวว่าคนเป็นทาสของสิ่งนั้นก็ไม่ผิด ครั้นเปลี่ยนมานับถือวัตถุ ก็อาจกล่าวว่าคนกลายมาเป็นทาสของวัตถุ ต้องทำงานเพื่อวัตถุเท่านั้น

ทวีภัยกรรม

โลกในสมัยที่เจริญด้วยความรู้ในเหตุผลทางวัตถุและเจริญทางวัตถุนี้ ลดภัยทางธรรมชาติลงได้มาก เช่น ใช้สายล่อฟ้ากันฟ้าผ่า ทำทำนบกั้นน้ำ และลดภัยทางไข้เจ็บลงได้มากจนปรากฏว่าคนในโลกบัดนี้คิดเฉลี่ยแล้วมีอายุยืนขึ้น มีไฟฟ้าใช้เพื่อกิจการต่างๆ มีรถต่างๆ ใช้บนพื้นดิน มีเรือต่างๆ เดินในแม่น้ำมหาสมุทร มีเรือบินในอากาศ มีสิ่งต่างๆ อีกมากมาย แม้จะลดภัยทางธรรมชาติได้มาก แต่ก็ทวีภัยที่เกิดจากกรรม (การที่กระทำ) ของคนด้วยกันมากขึ้น ในส่วนใหญ่ เช่นได้เกิดสงครามโลก ๒ ครั้งมาแล้วในระยะหลังที่ห่างกันไม่นานนัก ในสงครามโลกแต่ละครั้ง คนได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินสมบัติของกันและกันมีจำนวนมากมายภริยาสามีต้องตายจากพลัดพรากกัน ลูกต้องกำพร้าพ่อ ทหารและประชาชนต้องล้มตายหรือพิการเหลือที่จะนับ เมื่อสงครามโลกสงบลงแล้วความทุกข์ยากคับแค้นขาดแคลนก็ยังไม่สงบยังมีต่อไปอีก จิตใจคนส่วนมากกระด้างขึ้น ระส่ำระสายมากขึ้น การกระทำของคนก็กระด้างขึ้น ความโอบอ้อมอารีกันอย่างบริสุทธิ์ใจน้อยลงไป ความเห็นแก่ตัวมีมากขึ้น หวาดระแวงกันมากขึ้น ฉะนั้น แม้สงครามทางกายสงบ แต่สงครามทางใจยังไม่สงบ ยังตระเตรียมเพื่อรุกรานหรือเพื่อป้องกันกันต่อไป และใช้ความรู้ในเหตุผลภายนอกหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์เครื่องอาวุธสำหรับประหารกัน จนถึงอาจทำลายคนทั้งโลกได้ ฉะนั้น สิ่งที่มองไม่เห็นตัว เช่นผีจำพวกต่างๆ ที่กลัวกัน ผีฟ้า เช่นเทพแห่งดิน น้ำ ไฟ ลมต่างๆ เป็นต้น มาเป็นที่พึ่งของคนในบัดนี้ไม่ได้ เพราะกลายเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเสียมิใช่น้อย คนกลับเป็นผู้ควบคุมปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเสียเอง จะพึ่งวัตถุก็ไม่ได้ เพราะวัตถุระงับการเบียดเบียนกันของมนุษย์ไม่ได้ วัตถุกลับเป็นนายของคน เป็นเครื่องมือใช้เบียดเบียนกันแรงยิ่งขึ้น ฉะนั้น คนโดยมากจึงมีใจรวนเรระส่ำระสาย คิดสั้นเข้ามาแคบเข้ามา คิดแก้ปัญหาแต่เฉพาะหน้า ปล่อยวันพรุ่งนี้ให้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ ปล่อยคนอื่นให้เป็นเรื่องของคนอื่น ทำนองให้เราเป็นสุขใครจะทุกข์ไม่ใช่เรื่องของเรา วันนี้ใช้ให้เป็นสุขพรุ่งนี้คิดหาใหม่ คิดแคบๆ สั้นๆ อะไรทำนองนี้ ดีชั่วไม่ต้องคำนึง ดูก็ใกล้กับความคิดของเพื่อนสัตว์ร่วมโลกเข้าไป ใกล้กับวัตถุที่ไม่มีจิตใจเข้าไป ความทุกข์เดือดร้อนและความเสื่อมโทรมต่างๆ เหล่านี้เป็นภัยแก่คนทั้งที่เป็นส่วนย่อยทั้งที่เป็นส่วนรวม เป็นภัยแก่ชีวิตที่ทุกๆ คนรัก เป็นภัยแก่ร่างกายและจิตใจ เป็นภัยแก่ความสงบสุขที่ทุกๆ คนสงวนต้องการ และเป็นภัยที่คนสร้างขึ้นเอง

ภัยและวิธีระงับภัยที่แท้จริง

ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ภัยที่คนสร้างขึ้นเองเหล่านี้พร้อมทั้งเหตุและวิธีระงับภัยไว้อย่างบริบูรณ์ ด้วยทรงแสดงให้เห็นตามเหตุผลตามหลักอริยสัจจ์ (ความจริงอย่างประเสริฐแน่แท้) ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ อันเป็นผลที่คนทำให้แก่กัน ในเรื่องส่วนตัว หรือในส่วนรวม เช่นในการสงครามดังเช่นกล่าวมาแล้ว คือตัวทุกข์ โดยปกติชีวิตร่างกายของทุกคนต้องประสบภัยตามธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้อยู่แล้ว คือแก่ เจ็บ ตาย ยังต้องประสบภัยที่คนกันเองทำให้แก่กันอีก

ความทะยานอยากของตน อันเรียกว่าตัณหา ซึ่งเป็นตัวบงการให้คนประกอบกรรมเบียดเบียนกันต่างๆ เป็นตัวสมุทัยเหตุให้ทุกข์เกิด คนที่เป็นทาสความทะยานอยากย่อมจะทำอะไรเพื่อสนองตัวนายคือความอยากนั้นได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างคนใช้ที่ซื่อสัตย์รับใช้นายได้ทุกอย่างสุดแต่นายจะสั่ง คนที่เป็นทาสของความอยากนี้แลเป็นตัวก่อกวนความสงบสุขสร้างทุกข์ภัยต่างๆ ให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นคนที่มีอำนาจน้อย มีวัตถุทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือน้อย ก็สร้างทุกข์ภัยได้น้อย ถ้าเป็นคนที่มีอำนาจมาก มีวัตถุทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือมากและร้ายแรง ก็สร้างทุกข์ภัยได้มากและร้ายแรง มีตัณหาความทะยานอยากนี้เองเป็นมูลเหตุ

ความดับตัณหา คือดับความอยากเสียได้ เป็นนิโรธ ความดับทุกข์ ดับภัย

ทางที่ชอบมีองค์ประกอบ ๘ ประการ ดังระบุไว้แล้วในกัณฑ์ที่ ๖ เป็นมรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดับภัย องค์ประกอบทั้ง ๘ นั้น จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ พยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ องค์ประกอบทั้ง ๘ ประการนี้รวมกันเป็นทางเดียว มิใช่ ๘ ทาง จึงเป็นมรรค คือทางดับทุกข์ดับภัยได้จริง

สรณะ ๓

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรม ชี้สัจจะคือความจริงเหตุและผล ตามหลักอริยสัจจ์ ๔ ดังกล่าวมาแล้ว ปรากฏในพระสูตรต่างๆ ว่า ได้มีผู้ฟังเป็นอันมากเกิดความรู้ความเห็นจริงตามพระธรรม มีความเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมเทศนาโดยปริยาย คือกระแสความหลายอย่าง ทำให้เห็นทางที่จะปฏิบัติแจ้งชัดแก่ปัญญา อุปมาเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ หรือเหมือนเปิดของที่มีสิ่งกำบังไว้ หรือเหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือเหมือนอย่างตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีตาดีจักได้เห็นรูปฉะนั้น แล้วกล่าววาจาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง แสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาถึงสรณะจนตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง เพราะทรงเป็นผู้ชี้บอกทางพ้นทุกข์พ้นภัยได้จริง

พระธรรมเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง เพราะรักษาผู้ปฏิบัติไว้มิให้ตกต่ำ

พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งได้จริง เพราะเป็นผู้ช่วยชี้บอกทางตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้บอกไว้ และเป็นผู้กำลังเดินทางนั้น หรือได้ผ่านทางนั้นแล้ว เป็นพยานที่อ้างได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสจริง เพราะได้ตรัสบอกทางไว้ถูกต้อง และเป็นตัวอย่างชักนำให้คนอื่นเดินทางต่อไป

กล่าวโดยย่อ เพราะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรัตนะ คือแก้วอันอุดมในโลก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๔ (พระรัตนตรัย) จึงเป็นสรณะที่พึ่งของผู้ตั้งใจได้อย่างแท้จริง

ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์อาจพึ่งได้ ในทางเพื่อรู้เหตุผลแห่งธรรมชาติภายนอก เพื่อประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันแก้ไขภัยธรรมชาติภายนอก ตลอดจนถึงเพื่อประดิษฐ์อาวุธนานาชนิดเป็นต้น แต่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติของร่างกาย คือแก่ เจ็บ ตาย คือจะทำให้คนไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายหาได้ไม่ ได้เพียงบำบัดบำรุงรักษาไว้ชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง และไม่สามารถป้องกันแก้ไขภัยที่เกิดจากการก่อขึ้นของคนซึ่งมีตัณหาความทะยานอยากเป็นเหตุ โดยตรงกันข้าม ภัยอย่างนี้ย่อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ยิ่งสามารถประดิษฐ์ยวดยานไปจนถึงโลกอื่น ก็ยังจะไปก่อภัยขึ้นที่โลกอื่นอีก โดยมากคนเรามักกลัวภัยจากภายนอก คอยหลบภัยภายนอก ในขณะเดียวกันก็ปล่อยภัยในตนเองออกไปเป็นภัยแก่ผู้อื่น คือประพฤติตนไปตามอำนาจใจที่ปรารถนาทะยานอยาก จึงทำร้ายเขาบ้าง พูดว่าร้ายเขาอย่างที่เรียกว่าตั้งนินทาสโมสรบ้าง คิดมุ่งร้ายเขาบ้าง เหล่านี้เป็นภัยที่น่ากลัวอันเกิดขึ้นที่ตัวเองทั้งนั้น และออกไปเป็นภัยแก่ผู้อื่น แล้วก็ย้อนกลับมาเป็นภัยเป็นเวรแก่ตนเอง ฉะนั้น เมื่อพึ่งพระรัตนตรัย พึ่งพระพุทธศาสนา คิดหาความจริงตามเหตุผลที่ตนเอง คอยจับตัวความปรารถนาทะยานอยากไว้ให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่ให้ตนอยู่ในอำนาจของความปรารถนาทะยานอยาก และคอยควบคุมความประพฤติให้อยู่ในขอบเขตที่ชอบ ภัยที่เกิดจากตนเองก็จะสงบ ตัวของเราเองก็ไม่เป็นภัยแก่ตัวเราเอง และไม่เป็นภัยแก่ใครอื่น

สรุปสรณะ

ทุกยุคทุกสมัยมา เมื่อเหตุการณ์เดือดร้อนอย่างยิ่งเกิดขึ้นในโลก เช่นเกิดสงครามโลก คนก็พากันตื่นตระหนกตกใจ พากันเกิดความลังเลสงสัย เมื่อมุ่งประหัตประหารกันก็ทำให้ใจแข็งกระด้างขึ้น และเมื่อต้องช่วยตัวเองให้รอดก็ทำให้ใจคับแคบเห็นแก่ตัวมากขึ้น และทำให้สงสัยในสรณะต่างๆ ว่าช่วยไม่ได้ หรือน่าจะช่วยไม่ได้ เพราะต้องช่วยตัวเอง ฉะนั้น จึงปรากฏความเสื่อมโทรมทางจิตใจทั่วๆ ไป และความนับถือในสรณะทั้งหลายก็เสื่อมโทรมลงด้วย เพราะคนพากันสงสัยลังเลใจเสียแล้ว เหตุฉะนี้จึงจำต้องร่วมมือกันแก้ไขความเสื่อมโทรมเช่นนี้เพื่อให้จิตใจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อป่วยหนักรอดตายหายไข้แล้วก็ต้องพักฟื้นต้องบำรุงร่างกายอีกระยะหนึ่ง ร่างกายจึงกลับมีสุขภาพเป็นปกติ ทางจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อกระทบเหตุการณ์อย่างแรงก็เหมือนเป็นไข้หนัก ต้องเยียวยารักษาบำรุงให้พอสมควรจึงกลับเป็นปกติได้ และข้อที่ต้องช่วยตัวเองต้องพึ่งตัวเองนั้นเป็นการถูกต้อง ทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ช่วยตน ให้พึ่งตน ในการปฏิบัติทั้งปวง พระพุทธเจ้าเป็นเพียงตรัสบอกทางปฏิบัติให้รู้ เมื่อฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า รู้ทางปฏิบัติแล้ว ก็ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ในการปฏิบัติจึงต้องพึ่งตน แต่ต้องพึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้ พึ่งพระธรรมเป็นทางเดิน พึ่งพระสงฆ์เป็นผู้เดินนำไปเบื้องหน้าหมู่ พวกเราทั้งหลายก็เหมือนอย่างเดินหางแถวต่อพระสงฆ์ไป เมื่อพึ่งในสรณะให้ถูกทางดังนี้ พระรัตนตรัยก็เป็นสรณะได้จริงอย่างไม่ต้องสงสัยแคลงใจ คนที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ย่อมเป็นคนทำอะไรด้วยรู้เหตุผลผิดชอบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า อตฺตทีปา....วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง อย่ามีอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ธมฺมทีปา....วิหรถ ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา จงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง อย่ามีอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 03 ตุลาคม 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:11:15 น. 1 comments
Counter : 603 Pageviews.

 
"ความทุกข์คือความจริงอันประเสริฐ"

*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~



*~*~* แวะมาทักทายจ๊ะ..สุขสันต์วันสดใส ขอหัวใจเบิกบาน *~*~*


*~*~*~*~*~*~* ..HappY BrightDaY.. *~*~*~*~*~*


โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 6 ตุลาคม 2553 เวลา:12:30:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.