Group Blog
 
All Blogs
 
๑. พระพุทธเจ้า



หลักพระพุทธศาสนา

๑.. พระพุทธเจ้า

ประสูติ คำทำนายคติ


ในชมพูทวีป ซึ่งเป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน และเนปาลในบัดนี้ ในมัชฌิมชนบทคือในภูมิประเทศส่วนกลางของชมพูทวีปนั้น เมื่อก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ศาสดาเอกของโลกได้ประสูติแล้ว ที่อุทยานลุมพินีวัน ตั้งอยู่ในกึ่งกลางแห่งนครกบิลพัสดุ์และนครเทวทหะ เมื่อ ณ วันบุรณมี (วันเพ็ญ) เดือนเวสาขะ (ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ในปีปกติ เดือน ๗ ในปีมีอธิกมาส ตรงกับเดือนพฤษภาคมเป็นพื้น) เป็นโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ ศากยะ กับ พระนางมายา กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เป็นพระราชกุมารในศากยราชตระกูล โคตมโคตร อยู่ในฐานะเป็นองค์รัชทายาทแห่งพระราชบิดา

พระราชกุมารทรงมีพระรูปลักษณะงามสง่า ต้องด้วยมหาบุรุษลักษณะตามตำรับของพราหมณ์ ซึ่งมีทำนายไว้ว่า มหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จักมีคติเป็น ๒ คือถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นจักรพรรดิราช พระราชาเอกในโลก ถ้าออกผนวช จักได้ตรัสเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสดาเอกในโลก ดังกล่าวว่า เมื่อพระราชกุมารประสูติใหม่ มีดาบสองค์หนึ่งชื่ออสิตะ ผู้อาศัยอยู่ข้างเขาหิมพานต์ ผู้คุ้นเคยและเป็นที่นับถือของราชตระกูล ได้เข้าไปเฝ้าเยี่ยม ได้เห็นพระลักษณะนั้นแล้วไม่อาจยอมให้พระราชกุมารนมัสการตน กลับกราบลงที่พระบาทของพระราชกุมารเอง แล้วกล่าวทำนายลักษณะของพระราชกุมารดังกล่าวนั้น

ศึกษา อภิเษก

เมื่อประสูติแล้วได้ ๕ วัน พระราชบิดาได้ประกอบพระราชพิธีขนานพระนามพระราชกุมารว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “ผู้สำเร็จประโยชน์ที่ประสงค์” เมื่อประสูติแล้วได้ ๗ วัน พระนางมายา พระมารดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทนะจึงมอบพระราชโอรสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา (น้า เป็นพระน้องของพระนางมายา) บำรุงเลี้ยงต่อมา พระนางได้ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดี แม้ในต่อมาทรงมีพระราชบุตร ทรงพระนามว่า “นันทะ” และพระราชบุตรีทรงพระนามว่า “รูปนันทา” ก็ทรงทำนุบำรุงไม่ยิ่งกว่า พระสิทธัตถะกุมารจึงทรงได้รับทะนุถนอมบำรุงเลี้ยงอย่างดียิ่งมาโดยลำดับ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ ปลูกบัว ๓ อย่าง อย่างละสระ ในพระราชนิเวศน์ตกแต่งให้เป็นที่เล่นสำราญพระหฤทัย และจัดประทานเครื่องเล่น เครื่องทรง เครื่องประดับตกแต่ง ล้วนเป็นของประณีต มีคนคอยปฏิบัติทะนุถนอมระแวดระวังทุกเวลา ครั้นมีพระชนมายุเจริญควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้ พระราชบิดาจึงทรงมอบหมายให้ศึกษาในสำนักครูวิศวามิตร พระสิทธัตถะกุมารทรงเรียนได้ว่องไวจนสิ้นความรู้อาจารย์แล้ว ได้แสดงให้ปรากฏในที่ประชุมเป็นที่รับรองว่าทรงมีความรู้ความสามารถเป็นอย่างยอดเยี่ยม ครั้นมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง เพื่อเป็นที่เสด็จอยู่แห่งพระราชโอรสใน ๓ ฤดู ตรัสขอพระราชบุตรีแห่งพระเจ้าสุปปพุทธะในเทวทหนคร มีพระนามว่า “ยโสธรา” หรือ “พิมพา” อันประสูติแต่พระนางอมิตาพระกนิฏฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา พระราชกุมารทรงเสวยสุขสมบัติตามฆราวาสวิสัยบริบูรณ์ตลอดมาจนมีพระชนมายุได้ ๒๙ ปี มีพระโอรสประสูติแต่พระนางยโสธราองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “ราหุล”

คุณลักษณะของมหาบุรุษโพธิสัตว์

พระสิทธัตถกุมารแม้จะทรงถูกผูกพันด้วยอภิรมย์สมบัติต่างๆ เพื่อให้เสด็จอยู่ครองฆราวาส มิให้เสด็จออกทรงผนวช แต่พระองค์ทรงเป็นมหาบุรุษหรือบุคคลชั้นยอด เป็นโพธิสัตว์ คือผู้พอใจรักในการแสวงหาความรู้ความจริง พร้อมทั้งพอใจรักในความดีความบริสุทธิ์และในสรรพสัตว์ด้วยเมตตากรุณา ทรงมีพระปัญญา มีความดีความบริสุทธิ์ และมีพระกรุณาสูงกว่าสามัญชน จะกล่าวว่าทรงเป็นผู้มีกำหนดจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จึงไม่ทรงลุ่มหลงไปในเครื่องอภิรมย์ต่างๆ อย่างงมงาย ทรงเห็นประโยชน์ที่ควรทำว่าค่าสูงกว่า ทั้งทรงเข้มแข็งสามารถเพื่อที่จะสละอภิรมย์สุขต่างๆ เพื่อประกอบประโยชน์กิจ แม้จะทำได้ยากสักเพียงไรก็ตาม พระคุณสมบัติดังกล่าวนี้พึงเห็นได้จากพระประวัติตั้งแต่ต้น

พระคุณสมบัติที่ควรถือเป็นตัวอย่าง

เมื่อทรงอยู่ในวัยศึกษาศิลปวิทยา ก็ทรงบากบั่นศึกษาจนสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยม เพราะทรงสละความเกียจคร้านและการเล่นการสนุกตลอดถึงอภิรมย์สุขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคอันตรายต่อการศึกษาอันมีอยู่อย่างฟุ่มเฟือย มีพระหฤทัยรักในการศึกษา และพากเพียรแสวงหาความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่พะวักพะวนแวะเวียนไปเสียในเรื่องอื่น ข้อนี้จึงควรเป็นตัวอย่างของผู้ที่กำลังอยู่ในวัยหรือสมัยศึกษาทั่วไป ที่จะมีแต่ความพอใจรักเรียนรักศึกษา แสวงหาความรู้จนสำเร็จ

เมื่อทรงเจริญพระวัยขึ้นเป็นพระดรุณ ถึงคราวควรอภิเษกจึงทรงอภิเษกด้วยพระราชกุมารีที่คู่ควรกัน ประกอบพิธีการตามพระราชประเพณี ไม่มีข้อพึงครหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้ควรเป็นตัวอย่างของผู้ประสงค์จะมีคู่ครองทั่วไป ในอันที่จะรอให้ถึงกาลเวลาอันสมควรและปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร ยอมให้มีการพินิจพิจารณาโดยรอบคอบ ทั้งทางฝ่ายตนเอง ทั้งทางฝ่ายผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ทำผลุนผลันไปตามลำพังใจที่วิ่งเร็วแรงของคนดรุณวัย ซึ่งจะเป็นเหตุให้เสียใจภายหลัง

เมื่อทรงอภิเษกมีพระชายาแล้ว ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ระหว่างกันด้วยดี ไม่ปรากฏว่ามีการร้าวฉาน มีความสมัครสามัคคี มีความสุขสมบูรณ์ในฆราวาส ข้อนี้ควรเป็นตัวอย่างของผู้ครองเรือนทั่วไป ในอันที่จะครองเรือนให้ดี ให้มีความเรียบร้อยสงบสุขในครอบครัวด้วยทุกฝ่ายต่างปฏิบัติชอบในหน้าที่ต่อกัน ไม่นอกใจกัน อะลุ้มอล่วยสมัครสมานกัน

พระสิทธัตถกุมาร แม้จะไม่มีแสดงไว้โดยตรงว่าได้ทรงปกครองแว่นแคว้น แต่ก็พึงเห็นว่าได้ทรงช่วยพระราชบิดาในการปกครองเป็นแน่ เพราะทรงเป็นเจ้านายในราชตระกูลซึ่งมีหน้าที่ปกครองประชาชน ทรงตั้งอยู่ในฐานะเป็นทายาทของพระราชบิดา เหตุอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือทรงเป็นมหาบุรุษโพธิสัตว์ผู้มีพื้นเพฉลาดหลักแหลม มีพระอัธยาศัยดีบริสุทธิ์เต็มไปด้วยเมตตากรุณา จึงทำให้อยู่มืดๆ มิได้ ต้องคิดให้เห็นเหตุผลจนสว่างกระจ่างแจ้ง และเมื่อเห็นใครเป็นทุกข์เดือดร้อน อย่างน้อยในที่เฉพาะตา แล้วก็ทนเฉยอยู่มิได้ ต้องขวนขวายช่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง อันอัธยาศัยที่ทนอยู่จะไม่ช่วยทุกข์ใครมิได้นี้เป็นลักษณะของมหาบุรุษโดยแท้ ข้อนี้ควรเป็นตัวอย่างของผู้มีหน้าที่ปกครองตั้งแต่ส่วนน้อย เช่นภายในครอบครัว ภายในวงธุรกิจย่อยๆ ต่างๆ จนถึงในส่วนใหญ่ขึ้นไปโดยลำดับ ในอันที่จะสำเนียกให้มีความรอบรู้เพียงพอ ทำความดี มีความบริสุทธิ์สะอาด ประกอบด้วยเมตตากรุณา นำผู้อยู่ในปกครองไปสู่ความสว่าง ความสุข ความเจริญ ทำให้อยู่ด้วยกันเป็นสุข ไม่ขาดแคลนคับแค้น ไม่หวาดระแวงนอนสะดุ้ง เหมือนอย่างอยู่ด้วยกันในระหว่างญาติมิตรเป็นที่รัก

ถึงเวลาจะทรงผนวช ทรงเห็นเทวทูต

พระราชกุมารได้ประทับเสวยสุขสำราญในท่ามกลางสุขสมบัติอันพึงอภิรมย์ต่างๆ ล่วงปีมาโดยลำดับ ความบริบูรณ์ต่างๆ มิได้บกพร่อง คงมีบำรุงบำเรออยู่อย่างพรักพร้อม แม้อย่างนั้นทุกอย่างก็ไม่อาจผูกพันกั้นกางบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษโพธิสัตว์ไว้ได้ เวลาดังกล่าวได้มาถึงเข้าแล้ว เมื่อพระสิทธัตถกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตคือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ในระหว่างทางเมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ๔ วาระโดยลำดับกัน พระโพธิสัตว์ทรงสังเวชพระหฤทัยเพราะได้ทอดพระเนตรเห็น ๓ เทวทูตข้างต้น ทรงพอพระหฤทัยในบรรพชาเพราะได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะ จนถึงน้อมพระหฤทัยจะเสด็จออกไปบรรพชา

เทวทูต แปลว่า ทูตเทพยดา อย่างที่พูดกันว่าทูตสวรรค์ ท่านจึงแสดงตามศัพท์ว่าทูตที่เทพยดาสร้างนิมิตไว้ เพื่อให้พระราชกุมารทอดพระเนตรเห็น แต่ท่านก็แสดงไว้โดยความว่า พระโพธิสัตว์ทรงปรารภถึงความแก่ เจ็บ ตาย อันครอบงำมหาชนทุกคน ทรงดำริแสวงหาทางพ้น อันเรียกว่าโมกขธรรม (ธรรมเป็นเครื่องพ้น) ทรงเห็นว่าสภาพทั้งปวงย่อมมีของแก้กัน เช่นมีร้อนแล้วก็มีเย็นแก้ มีมืดแล้วก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีทางแก้ทุกข์ ๓ อย่างคือ แก่ เจ็บ ตาย นี้ได้ แต่ถ้ายังอยู่ในฆราวาสก็ไม่มีโอกาสปฏิบัติแสวงหา ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสวงหาได้ จึงมีพระดำริจะเสด็จออกบรรพชา ไม่ใยดีในฆราวาสสมบัติ ในเวลาอื่นเมื่อทรงเห็นคนแก่ เจ็บ ตาย และสมณะ ก็มิได้ทรงปรารภจนเห็นจริง ส่วนในเวลาสุดท้ายนี้ทรงปรารภจนเห็นความจริง จึงเรียกว่าได้ทรงเห็นเทวทูต

ผนวช ตรัสรู้

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงปรารภเห็นประโยชน์ของการบรรพชา ก็ตัดพระหฤทัยรักในพระชายา และพระโอรสซึ่งประสูติใหม่ กับทั้งบุคคลและวัตถุที่รักทั้งปวง แล้วเสด็จออกผนวชเที่ยวจาริกไปแต่พระองค์เดียวเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ด้วยพระหฤทัยมุ่งมั่นจะได้โมกขธรรม อันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่โลก ไม่ใยดีสิ่งอื่นทั้งหมด ตามวิสัยของมหาบุรุษโพธิสัตว์ ได้เคยประทับอยู่บนปราสาท แวดล้อมด้วยบุคคลและวัตถุที่พึงอภิรมย์ ก็ต้องมาประทับอยู่องค์เดียว แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ภูเขาและสัตว์ป่านานาชนิด เคยเสด็จพระราชยานต่างๆ ก็ต้องเสด็จด้วยพระบาท บนภาคพื้นตามธรรมชาติ เคยมีผู้ตั้งเครื่องเสวยถวายบริบูรณ์ ก็ต้องเสด็จภิกขาจาร ได้อาหารพอเสวยบ้าง ไม่พอบ้าง ตามแต่เขาจะถวาย แต่พระโพธิสัตว์ก็ไม่ทรงย่อท้อ ทรงปฏิบัติแสวงหาโมกขธรรมเรื่อยไป ในขั้นแรกได้เสด็จไปสู่สำนักของดาบส ๒ ท่าน คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร ทรงศึกษาจนสิ้นความรู้ของอาจารย์ทั้ง ๒ โดยลำดับแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จหลีกออกไปปฏิบัติในทางทรมานพระกายให้ลำบาก อันเรียกว่าทุกรกิริยา (การทำที่ทำได้ยาก) โดยลำพังพระองค์ ทรงทดลองเปลี่ยนไปให้ลำบากยิ่งยวดเข้าทุกที จนถึงขั้นยิ่งยวดอย่างที่สุดไม่มีโยคีอื่นจะทำให้เกินขึ้นไปกว่าได้แล้ว ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้จึงทรงเลิก ทรงบำรุงพระกายให้กลับมีพระกำลังขึ้น แล้วทรงเริ่มปฏิบัติทางจิต ซึ่งเรียกในภายหลังว่าอริยมรรค มีองค์ ๘ จึงได้ตรัสรู้ธรรม หรือเรียกว่าตรัสรู้อริยสัจ ๔ ณ ควงโพธิพฤกษ์ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ในราตรีวันบุรณมี เดือนเวสาขะ เช่นเดียวกับเมื่อประสูติ เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ ปี เมื่อตรัสรู้แล้วได้พระนามว่า “พุทธะ” “ผู้ตรัสรู้” เรียกกันว่า “พระพุทธเจ้า” ทรงได้โมกขธรรมเมื่อได้ตรัสรู้นั้นแล

ความไม่ยอมแพ้ และความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่

พระสิทธัตถกุมารทรงเป็นมหาบุรุษโพธิสัตว์ จึงทรงมีความคิดสูงก้าวล่วงสามัญชน สิ่งที่คนธรรมดาได้ยินได้เห็นแล้วไม่คิด ก็ทรงคิด และคิดจนพบเหตุผล คิดจนไม่ติดในเหตุผล ถ้าไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาก็คงไม่เกิดขึ้นในโลก ข้อนี้ควรเป็นตัวอย่างของบุคคลทั่วไป ในอันที่จะใช้ความสังเกตและคิดหาเหตุผลในสิ่งที่ประสบพบผ่าน ให้เหมือนอย่างคนตาดีดูรูป มิใช่เหมือนคนตาบอดดูรูป และเมื่อมองเห็นทุกข์หรืออุปสรรคอันตรายต่างๆ ก็ไม่ยอมอับจนพ่ายแพ้ เพราะต้องมีสิ่งที่แก้กันได้อย่างแน่นอน จึงต้องพยายามหาสิ่งที่อาจแก้กันได้นั้นให้ได้ ผู้ประสบความสำเร็จทุกคนในกิจการทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็เพราะมองเห็นเหตุผล เมื่อพบอุปสรรคก็ไม่ยอมแพ้ พยามยามแก้ไขจนสำเร็จ ในการแก้ไขหรือในการปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จประโยชน์จำต้องมีการเสียสละ แต่การเสียสละที่ถูกต้องนั้นหมายถึงเสียสละสุขส่วนน้อยเพื่อสุขที่ไพบูลย์ เช่นสละสุขเฉพาะตนเพื่อสุขส่วนรวม หรือสละดังที่ท่านแนะนำไว้ว่า “พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละทั้งทรัพย์ทั้งอวัยวะตลอดถึงชีวิตเพื่อรักษาธรรม” ในประการสุดท้ายนี้ พึงเห็นพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เพราะในเย็นวันที่ตรัสรู้ เมื่อประทับนั่งลงบนฟ่อนหญ้าคาที่ทรงเกลี่ยเป็นที่ประทับนั่ง ณ ภายใต้โพธิพฤกษ์แล้ว ก็ได้ทรงตั้งพระหฤทัยเด็ดเดี่ยว ความว่า “เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็นกระดูก ก็ตามที ยังไม่บรรลุถึงธรรมเพียงใด ก็จักไม่ลุกขึ้นเพียงนั้น” จึงชื่อว่าได้ทรงยอมสละทุกอย่างเพื่อธรรม ข้อนี้ควรเป็นตัวอย่างของบุคคลผู้มุ่งบำเพ็ญคุณประโยชน์ทั่วไป ในอันที่จะไม่มุ่งสุขประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น แต่ให้มุ่งกว้างออกไป และยอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนน้อยนั้นเพื่อส่วนใหญ่ คนที่สามารถทำคุณประโยชน์แก่หมู่ชนก็เพราะสามารถสละเพื่อหมู่ชน ถ้าไม่สามารถสละก็ไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์อะไรได้เลย แต่ทั้งนี้ก็ต้องยึดธรรมเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นสละทางถูกไปถือเอาทางที่ผิด ตรงกันข้ามกับพระพุทธจรรยา

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ

พระพุทธเจ้า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ เรียกว่าพระโพธิสัตว์ ผู้ใฝ่แสวงรู้ ครั้นตรัสรู้แล้วจึงเรียกว่าพระพุทธะ ผู้รู้แล้วบริบูรณ์ พระพุทธเจ้าทรงรู้แล้วบริบูรณ์ด้วย บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย มีพระกรุณาบริบูรณ์ด้วย ฉะนั้น เพราะพระกรุณาจึงทรงดำริเพื่อแสดงธรรมโปรดโลก ทรงอธิษฐานพระหฤทัยจะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะตั้งพระพุทธศาสนาและมีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ลงมั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่หมู่ชนทุกเหล่า ครั้นทรงดำริอธิษฐานพระหฤทัยจะทรงดำรงอยู่ก่อนเพื่อโปรดโลกดังนี้แล้ว จึงเสด็จเที่ยวจาริกไปในแว่นแคว้น จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านนั้นๆ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนคนที่ควรสั่งสอนแนะนำที่เรียกว่า เวไนย ให้ได้รับประโยชน์อย่างสูงบ้าง อย่างกลางบ้าง อย่างต่ำบ้าง ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ยากดีมีจน ทรงสามารถประกาศพระศาสนาให้คณาจารย์เจ้าลัทธิผู้มีชื่อเสียงมีศิษย์มาก ให้คนชั้นสูงผู้มีกำลังอำนาจ คือกษัตริย์ อำมาตย์ มนตรี เป็นต้น ให้คนคงแก่เรียนคนฉลาดเช่น พราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ตลอดจนถึงเศรษฐีคฤหบดี มีศรัทธาเลื่อมใสยอมรับนับถือ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเครื่องชักจูงคนอื่นๆ ให้เข้านับถือได้ง่าย อย่างน้อยก็ทำให้เกิดสนใจ และเป็นวิธีให้เกิดความสวัสดีจากภัยทางการเมืองเป็นต้นทั่วกัน เพราะผู้ปกครองบ้านเมืองก็ได้นับถือแล้ว กล่าวโดยสรุป ได้ทรงบำเพ็ญพุทธจริยาบริบูรณ์ คือ โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ได้แก่ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่นับว่าเป็นสัตว์โลกทั่วไป เช่นทรงแผ่พระญาณเล็งดูสัตว์โลกทุกเช้าค่ำ ผู้ใดปรากฏในข่ายพระญาณก็ได้เสด็จไปโปรดผู้นั้น ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติ หรือโดยฐานะเป็นพระญาติ เช่นเสด็จไปโปรดพระญาติ ณ นครกบิลพัสดุ์ เสด็จไปห้ามพระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะผู้วิวาทถึงกับจะรบกันด้วยเหตุแห่งน้ำเข้านา พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า เช่นทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย ประดิษฐานพระพุทธศาสนาและบริษัท ๔ ให้ยั่งยืนสืบมา กล่าวสั้นๆ ว่าทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เหตุฉะนี้จึงทรงได้รับยกย่องเป็นพระศาสดาเอกของโลก

นิพพาน

พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปด้วยพระบาทเปล่า โปรดมหาชนในแว่นแคว้นต่างๆ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาและบริษัท ๔ ให้ตั้งมั่นแพร่หลาย สำเร็จดังที่ได้ทรงอธิษฐานพระหฤทัยไว้แล้ว จึงทรงปลงอายุสังขาร กำหนดพระหฤทัยว่าจะปรินิพพาน แม้เช่นนั้นก็ได้เสด็จจาริกไปโปรดมหาชนต่อไป จนถึงวันบุรณมี เดือนเวสาขะ ก่อนพุทธศก ๑ ปี แม้กำลังประชวรลงพระโลหิตก็ได้เสด็จดำเนินด้วยพระบาทต่อไปจนถึงสาลวโนทยานเมืองกุสินารา ที่ได้ทรงกำหนดพระหฤทัยว่าจะเป็นที่ปรินิพพาน ได้เสด็จผทมตะแคงเบื้องขวา อันเรียกสีหไสยา บนพระแท่นระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ประทานโอวาทอนุศาสน์ภิกษุสงฆ์จนสิ้นสงสัยทั้งปวงแล้ว ได้ตรัสปัจฉิมพจน์ (คำสุดท้าย) ความว่า “บัดนี้ เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ดังนี้แล้วไม่ตรัสอีกต่อไป ทรงผทมเพ่งพระหฤทัยนิ่งสงบแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานในราตรีวันบุรณมี เดือนเวสาขะนั้น นับพระชนมายุได้ ๘๐ ปี ทรงประกาศพระศาสนาได้ ๔๕ ปี นับรัฐใหญ่ที่เสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนาได้ ๗ รัฐ ตรงกับที่กล่าวว่า เมื่อประสูติเสด็จดำเนินไปด้วยพระบาท ๗ ก้าว

ปฏิปทาของพระพุทธเจ้าแม้ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงนิพพาน เป็นเนติที่พึงนำไปปฏิบัติตามได้เป็นอันมาก เป็นต้นว่า ควรมีกรุณาช่วยเปลื้องทุกข์แก่ผู้อื่นตามที่สามารถ ควรฉลาดในอุบาย คือวิธีการที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ควรปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ ควรตั้งใจว่าจะทำอะไรให้ได้สักเท่าไรในวิสัยของตนแล้วทำให้สำเร็จ ข้อสำคัญคือควรทำความไม่ประมาทอยู่เสมอ

สรุปพระคุณ

สรุปกล่าวโดยพระคุณ พระพุทธเจ้าทรงบริบูรณ์ด้วยพระปัญญาคุณ (พระคุณคือปัญญา) พระวิสุทธิคุณ (พระคุณคือความบริสุทธิ์) พระกรุณาคุณ (พระคุณคือกรุณา) ดังบทสวดพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พุทฺโธ ผู้รู้จริง สุสุทฺโธ บริสุทธิ์จริง กรุณามหณฺณโว มีกรุณาจริงดังห้วงทะเลหลวง

เพราะฉะนั้น ทุกๆ คนพึงตั้งใจนอบน้อมพระพุทธเจ้าตามบทนโม ว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค (คือพระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน – กรุณาคุณ) พระอรหันต์ (คือพระผู้ควรบูชาสักการะเป็นต้น – วิสุทธิคุณ) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (คือพระผู้ตรัสรู้ชอบเอง – ปัญญาคุณ) พระองค์นั้น” ด้วยประการฉะนี้

๔ เมษายน ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 02 กันยายน 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:06:57 น. 2 comments
Counter : 827 Pageviews.

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ


โดย: แม่ออมบุญ วันที่: 2 กันยายน 2553 เวลา:15:45:31 น.  

 
ถูกต้อง

เสียงเค้าว่ากันพรรณนั้น จ๊ะ


โดย: บ้าได้ถ้วย วันที่: 2 กันยายน 2553 เวลา:17:40:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.