Group Blog
 
All Blogs
 
๓. พระสงฆ์



หลักพระพุทธศาสนา

๓. พระสงฆ์

เวไนย = ดอกบัว ๓ จำพวก


เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้วใหม่ๆ ได้ทรงพิจารณาพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นว่าเป็นคุณอันลึกซึ้ง ยากที่โลกซึ่งยุ่งยากอยู่นี้จะรู้ได้ เกือบจะทอดพระหฤทัยว่าจะไม่ทรงแสดงธรรม จะประทับเสวยสุขอย่างสงบที่สุดอยู่เฉพาะพระองค์เดียว หากแต่ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณาแก่โลก จึงทรงกลับหวนพิจารณาอีกว่า ถ้าจะเสด็จเที่ยวไปทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน พูดง่ายๆ ว่าเสด็จเที่ยวไปเทศน์โปรด จะมีใครรู้พระธรรมที่ทรงเทศน์โปรดบ้างหรือไม่ ก็ได้ทรงทราบด้วยพระญาณว่า คนในโลกนี้มีมากหลายจำพวก บ้างกิเลสบาง บ้างกิเลสหนา บ้างมีพื้นดี บ้างมีพื้นไม่ดี บ้างมีอาการดี บ้างมีอาการไม่ดี บ้างสอนง่าย บ้างสอนยาก บ้างสามารถจะรู้ บ้างไม่สามารถจะรู้ เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ (สีเขียวขาบ) ดอกบัวหลวง (สีแดง) หรือดอกบัวขาว บรรดาที่เกิดสะพรั่งอยู่ในสระบัว บ้างก็ยังจมอยู่ในน้ำ บ้างก็อยู่เสมอน้ำ บ้างก็ชูขึ้นพ้นน้ำ ดอกบัวเหล่านี้ จำพวกที่ชูขึ้นพ้นน้ำแล้ว พอต้องแสงพระอาทิตย์ก็จักบานในวันนี้ทีเดียว จำพวกที่อยู่เสมอน้ำพรุ่งนี้ก็จะบาน จำพวกที่ยังจมอยู่ใต้น้ำก็ยังหวังจักโผล่ขึ้นบานในวันถัดต่อไป สัตว์โลกผู้เป็นเวไนยนิกร คือหมู่แห่งผู้ที่ควรรับแนะนำ ก็คล้ายกับดอกบัว ๓ จำพวกนั้น คือจำพวกที่มีคุณสมบัติดีพิเศษก็อาจจะรู้พระธรรมได้โดยฉับพลันทันที จำพวกที่มีคุณสมบัติปานกลางเมื่อได้รับแนะนำอบรมเพิ่มเติมก็อาจรู้พระธรรมได้ไม่ช้านัก จำพวกที่มีคุณสมบัติอ่อนเมื่อได้รับอบรมเสมอๆ เรื่อยๆ ไปถึงจะช้าสักหน่อยก็ยังอาจจะรู้พระธรรมได้ในที่สุด ทั้งนี้เว้นแต่สัตว์โลกชนิดที่ไม่ใช่เวไนย คือไม่รับแนะนำ จะเป็นเพราะมีปัญญาทึบเหลือประมาณ ทำบาปมาหนักหนาหรือถือทิฐิมานะรั้นอย่างเหลือเกินก็ตาม สัตว์โลกจำพวกนี้เปรียบเหมือนดอกบัวอันนอกจากดอกบัว ๓ จำพวกนั้น ซึ่งกลายเป็นอาหารปลาอาหารเต่าในสระ หมดโอกาสที่จะบานได้

ครั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ว่ามีหลายชนิดหลายจำพวก หมู่สัตว์ที่เป็นเวไนยอันจะโปรดได้ก็มีอยู่ จึงทรงตกลงพระหฤทัยว่าจะเสด็จเที่ยวเทศน์โปรดโลก และได้ตั้งพระหฤทัยว่า จะทรงดำริพระชนมายุเที่ยวเทศน์โปรดไปจนกว่าคนทั้งหลายจะได้รู้จักพระธรรม สามารถเป็นธรรมทายาท คือเป็นทายาทรับพระธรรมจากพระพุทธเจ้าสืบกันต่อไปให้เป็นอมตะสมบัติของโลกตลอดกาลนาน

พรหม

พระโบราณาจารย์ (พระอาจารย์เก่าแก่) ได้เล่าเรื่องพระพรหมมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าแทรกเข้ามา มีความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเกือบจะทอดพระหฤทัยว่าจะไม่ทรงแสดงพระธรรมนั้น พระพรหมมีนามว่าสหัมบดี ที่มักเรียกกันว่าท้าวสหัมบดีพรหม ได้ลงมาจากพรหมโลก กราบทูลอาราธนา ดังทำฉันท์คาถาว่า

พฺรหฺมา จ โลกาธิปติ สหมฺปติ
กตญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ
องค์โลกธิบดีสหัมบดีพรหม ยอกรประนมทูลขอพระประเสริฐ
หมู่สัตว์เกิดมาในโลกนี้ ที่มีผงกิเลสเข้าตาแต่น้อยมีอยู่
ขอจงทรงเอ็นดู แสดงธรรมโปรดสัตว์นี้ เทอญ


พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับคำอาราธนานี้ ทรงพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ว่ามีต่างๆ กันเปรียบได้ดังกับดอกบัวต่างๆ ชนิดดังกล่าวแล้ว จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ในเมื่องไทยเรานิยมใช้คำฉันท์คาถาบทนี้ (ที่กล่าวกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นคำอาราธนาธรรมเป็นประเพณีนิยมโดยทั่วไป เมื่อพระภิกษุได้ฟังคำอาราธนานี้แล้ว จึงเริ่มแสดงพระธรรม

เรื่องพระพรหมอาราธนานี้ เป็นเรื่องประกาศพระกรุณาคุณของพระเจ้า เพราะเมตตากรุณาเป็นธรรมประจำใจของท่านผู้เป็นพรหม คนที่มีเมตตากรุณาเป็นอันมาก เช่นพ่อแม่ ก็เรียกว่าเป็นพระพรหมของลูก ฉะนั้น จึงอาจถอดถือเอาแต่ใจความจากเรื่องนี้ได้ว่า ท้าวสหัมบดีพรหมก็คือพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงของพระพุทธเจ้า อาราธนา คือพระกรุณานี้เองเหมือนมาขอร้องให้ทรงช่วยโลก ทรงรับอาราธนา ก็คือทรงพิจารณาเห็นว่าจะทรงช่วยโลกจำพวกที่เป็นเวไนยสัตว์ได้ จึงทรงตกลงพระหฤทัยว่าจะทรงแสดงพระธรรมโปรดด้วยพระกรุณา

นิยามศัพท์

คำว่า โปรดโลก หมายความว่าช่วยโลกให้พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ คำว่าโลก หมายความว่าสัตว์โลก คือหมู่สัตว์ตามที่นิยมพูดกัน เมื่อพูดกันว่าสัตว์ก็มักหมายถึงสัตว์ดิรัจฉานต่างๆ ไม่หมายถึงคน แต่ในทางพระธรรมทั้งคนทั้งดิรัจฉานรวมเรียกว่าหมู่สัตว์หรือรวมเรียกว่าสัตว์โลก เรียกสั้นๆ ว่าโลก เพราะทั้งหมดต่างก็เกี่ยวข้องพัวพันยุ่งเหยิงอยู่กับโลก หรือถ้าพูดให้ทันสมัยก็ว่าทั้งหมดต่างก็ตกอยู่ในความดึงดูดของโลก ทั้งทางกาย ทั้งทางใจอย่างเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อได้ฟังเทศน์ว่าหมู่สัตว์ ก็ให้เข้าใจว่าหมายถึงทั้งมนุษย์และดิรัจฉานซึ่งรวมตัวเราเองอยู่ด้วยผู้หนึ่ง เมื่อได้ฟังเทศน์ว่าพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ ก็ให้เข้าใจว่าโปรดตลอดถึงตัวเราเองด้วยผู้หนึ่ง แต่ใครจะเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดได้หรือไม่ได้ก็สุดแต่ว่าตัวเองจะเป็นเวไนยหรือไม่เป็นเวไนย ถ้าตัวเองเป็นเวไนย คือรับแนะนำอบรม ก็เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดได้ เทียบกับดอกบัวสามเหล่าที่มีหวังจะบานได้แน่ ไม่เร็วก็ช้าดังกล่าวแล้ว หรือเทียบกับคนไข้ที่รับการรักษาของหมอ ถ้าตัวเองไม่เป็นเวไนย คือไม่รับแนะนำอบรม ก็เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดไม่ได้ เทียบกับดอกบัวที่เป็นอาหารปลาอาหารเต่าในสระเสียแล้ว ไม่มีโอกาสบานได้เลย หรือเทียบกับคนไข้ที่ไม่รับการรักษาของหมอ

โปรดโลก

ครั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงตกลงพระหฤทัยจะทรงแสดงพระธรรมโปรด และได้ตั้งพระหฤทัยจะครองพระชนม์ชีพอยู่เพื่อสัตว์โลกแล้ว ก็ได้ทรงพิจารณาหาคนฟังเทศน์ซึ่งมีลักษณะเป็นเวไนยดังกล่าวแล้ว เมื่อทรงเห็นว่าคนเช่นนั้นมีถิ่นที่ใดก็เสด็จไปในถิ่นที่นั้น ทรงเทศน์โปรดไปโดยลำดับ ในตอนแรกต้องเสด็จไปเองโดยมาก เพราะคนยังไม่รู้จักพระองค์ บางทีเขารู้จักแต่เพียงว่าพระองค์คือเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกทรงผนวช ยังไม่รู้จักและยังไม่เกิดศรัทธา (เชื่อ) ว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว หรือจะเรียกว่าเป็นผู้สำเร็จวิชาแล้วก็ได้ เมื่อเขายังไม่รู้จักยังไม่เชื่อเช่นนั้นจึงต้องเสด็จไปเทศน์ให้เขาฟังจนเห็นจริงในธรรม ดังที่เรียกว่าได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม เขาจึงเริ่มรู้จักว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า บางทีเขาถึงกับพูดออกมา “โอ พระพุทธเจ้าจริง!” ถ้าจะพูดอย่างไทยๆ ก็ว่า “โอ รู้วิเศษจริง” เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงมีศรัทธา (ความเชื่อ) ปสาทะ (ความเลื่อมใส) ในพระองค์ นับถือพระองค์เป็นพระศาสดา คือเป็นยอดครูยอดอาจารย์ของตน และพากันบอกกล่าวเล่าลือกันจนข่าวกระฉ่อนออกไปว่าพระองค์เสด็จออกบวชจากศักยราชตระกูล เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วแต่ใครเห็นอย่างใด เชื่อ เลื่อมใสอย่างใด ก็พูดอย่างนั้น

บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ที่สวดกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นคำบอกกล่าวเล่าลือกันนั้นเอง จึงไม่มีใครเป็นผู้แต่งขึ้นอย่างบทสดุดีทั่วๆ ไป

เมื่อคนพากันรู้จักพระองค์ตามข่าวที่ลือกันกระฉ่อนไปเช่นนี้ จะเสด็จไปประทับพักในที่ใด เขาก็ทราบกันและพากันมาเฝ้าฟังเทศน์ของพระองค์ถึงในที่ประทับพัก เหมือนอย่างคนพากันไปฟังเทศน์ในวัดในวันพระ หรือในวันสำคัญในศาสนา เช่นวันวิสาขบูชา และก็มีไม่น้อยที่ไปเฝ้าเพื่อสังเกตหรือเพื่อไล่เลียงประลองภูมิ แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงพระธรรมโต้ตอบ จนคนเหล่านั้นเห็นจริงหรือต้องนิ่งอั้นไป ในตอนหลังมีคนนับถือพระพุทธเจ้ามาก พระองค์จะประทับอยู่ในที่ไหนคนที่ประสงค์พระธรรมก็พากันมาเฝ้าเอง ถึงอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงหยุดประทับอยู่ประจำที่เดียว คงเสด็จเที่ยวเทศน์โปรดเรื่อยไปจนกระทั่งในวันสุดท้ายของพระชนมชีพ

ดอกบัวจะบาน = เวไนย บานแล้ว = พระสงฆ์

เรื่องพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดโลกตามที่เล่ามาถึงเพียงนี้ ดูเป็นการเล่าแต่เรื่องของพระพุทธเจ้า ยังไม่มีกล่าวถึงพระสงฆ์เลย แต่ถ้ากำหนดดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า ได้เล่าถึงเรื่องพระสงฆ์ควบคู่มาแล้วตั้งแต่ต้น คือบรรดาคนที่อาจรับแนะนำอบรม ที่เรียกว่าเวไนย อันเปรียบกับดอกบัว ๓ จำพวกที่มีหวังจะบานได้แน่ พระสงฆ์ออกมาจากคนเหล่านั้นเอง เพราะพระสงฆ์ก็คือหมู่ของคนผู้บานแล้ว เพราะได้รับแสงสว่างจากพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้เห็นพระธรรม ได้บรรลุพระธรรมตามพระพุทธเจ้า ตามลำดับชั้น เหมือนอย่างดอกบังที่บานแล้วเพราะต้องแสงอาทิตย์ รวมความสั้นๆ ว่า หมู่คนที่เหมือนดอกบัวอันมีหวังจะบานได้ เมื่อยังไม่บานก็เรียกว่าเวไนยนิกร เมื่อบานแล้วก็เรียกว่าพระสงฆ์ และดอกบัวจะบานได้ก็เพราะต้องแสงอาทิตย์ ฉันใด หมู่ของเวไนยจะบานก็เพราะต้องแสงพระธรรม ฉันนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเที่ยวไปเทศน์โปรด ก็เท่ากับทรงฉายแสงพระธรรมไปยังคนฟัง เมื่อคนฟังเป็นเวไนยซึ่งอาจโปรดได้ก็จะบานเพราะแสงพระธรรม ถ้าพระพุทธเจ้าไม่เสด็จเทียวไปเทศน์โปรดประชุมชนก็ไม่อาจบานขึ้นได้เอง เหมือนอย่างถ้าอาทิตย์ไม่อุทัย ดอกบัวชนิดที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ก็ไม่อาจจะบานขึ้นได้เองฉะนั้น

ลองนึกดูถึงดอกไม้บานว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ? อันดอกไม้บานย่อมเผยกลีบ เผยเกสร เผยกลิ่น เผยความงามความสดชื่นอย่างเต็มที่ สิ่งที่เผยนั้นล้วนเป็นสิ่งที่น่าดูชม คนที่บานแล้วเพราะต้องแสงธรรมของพระพุทธเจ้า ก็พอเทียบกันได้ คือเป็นผู้ที่เผยออกแต่ความประพฤติปฏิบัติที่น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใส เป็นต้นว่า เผยกลีบ คือปฏิบัติดี เผยเกสรคือปฏิบัติตรง เผยกลิ่น คือปฏิบัติถูก เผยความงามสดชื่น คือปฏิบัติชอบเหมาะ

หมู่ของคนที่เหมือนอย่างดอกบัวบานเหล่านี้ ล้วนเป็นสาวก คือผู้ฟัง โดยความคือเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ดังบทสังฆคุณว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้า และบทแสดงข้อปฏิบัติว่า สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติดีแล้ว อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรงแล้ว ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติถูกแล้ว สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบเหมาะแล้ว นี้แล คือพระสงฆ์ หมู่ของคนผู้บานแล้ว เหมือนอย่างดอกบัวบานเพราะได้รับแสงพระธรรมของพระพุทธเจ้า

เหตุที่เรียกว่าสงฆ์

ในชั้นแรก เมื่อยังไม่มีใครรู้จักพระพุทธเจ้าหรือรู้จักแต่น้อย เว้นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ก็ไม่มีดอกบัวบานในหมู่ชน หรือจะมีก็ยังน้อย แต่ในกาลต่อมาดอกบัวบานในหมู่ชนได้มีมากขึ้นโดยลำดับ เพราะได้รับแสงพระธรรมของพระพุทธเจ้าที่เสด็จไปเที่ยวเทศน์โปรดอย่างไม่หยุดยั้ง ฉะนั้น จึงเรียกว่าสงฆ์ ที่แปลว่าหมู่ หมายความว่ามีรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งโดยชั้น ทั้งโดยจำนวน อย่างหมู่นักเรียน หมู่นักศึกษา ก็หมายความถึงนักเรียน นักศึกษามากชั้นมากจำนวนรวมกัน ดอกบัวบานในหมู่ชน คือคนผู้บานแล้วเพราะต้องแสงธรรมดังกล่าว เรียกว่าอริยะ หรืออารยะ ที่แปลว่าคนประเสริฐ คนเจริญ เรียกกันในคำไทยว่า พระอริยะ เรียกรวมกันทั้งหมดว่าพระสงฆ์ เรียกในฐานะเป็นหมู่ของคนประเสริฐว่าพระอริยสงฆ์ เรียกในฐานะเป็นสาวก (คนฟังเทศน์) หรือศิษย์ของพระพุทธเจ้าว่าพระสาวกสงฆ์ หรือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า

บริษัท ๔

อนึ่ง คนที่รับแสงพระธรรมของพระพุทธเจ้าแม้แต่น้อย ถึงจะยังไม่บาน ก็ย่อมจะเกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และแสดงตนนับถือพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดายอดครูอาจารย์ของตน บางพวกสละออกบวชเป็นพระภิกษุหรือพระภิกษุณี ถ้าเป็นเด็กก็บวชเป็นสามเณรหรือสามเณรี บางพวกแสดงตนเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกา ผู้มีใจใกล้ชิดพระหรือแสดงตนเป็นพุทธมามกะหรือพุทธมามิกา ผู้นับถือเฉพาะพระพุทธเจ้าเป็นของตน ในฝ่ายฆราวาส ถ้าเทียบอุบาสกอุบาสิกากับภิกษุภิกษุณี ก็พอเทียบพุทธมามกะพุทธมามิกากับสามเณรสามเณรี

รวมพุทธบริษัท (บริษัทคือหมู่ของผู้แสดงตนนับถือพระพุทธเจ้า) เป็น ๔ คือ ภิกษุบริษัท ๑ ภิกษุณีบริษัท ๑ อุบาสกบริษัท ๑ อุบาสิกาบริษัท ๑ (บัดนี้ภิกษุณีบริษัทตลอดถึงสามเณรีไม่มีแล้ว)

ในบริษัท ๔ นี้ ภิกษุบริษัทย่อมจะเป็นหลักเป็นประธานในการสืบธำรงรักษาพระธรรม พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งไว้ (ในพระวินัย) ให้พระภิกษุประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปทำการงานของหมู่ที่เรียกว่า สังฆกรรม ความประชุมแห่งพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปนี้ เรียกว่าพระภิกษุสงฆ์ แปลว่าหมู่แห่งพระภิกษุ เรียกสั้นๆ ว่าพระสงฆ์เหมือนกัน พระภิกษุสงฆ์นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งไว้ว่าให้ประชุมกันเป็นสงฆ์ จึงมีคำเรียกกันว่า พระสมมติสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมติ คือโดยพระบัญญัติสั่งไว้ว่าให้เป็นสงฆ์ของพระพุทธเจ้า และก็นับว่าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

สระบัวมหึมา คือ โลก

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าจะเทียบกับดอกบัวดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเทียบกับหมู่สัตว์ แต่ละคนก็เป็นดอกบัวแต่ละดอกในสระมหึมาคือโลก แต่ใครจะเป็นดอกบัวชนิดไหน คือจะเป็นดอกบัวที่มีหวังโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ หรือจะจมอยู่แต่ใต้น้ำต้องเสียแก่ปลาเต่า ก็แล้วแต่ตนเอง คือถ้าตนเองทำตนเองให้เป็นอเวไนยแนะนำไม่ได้ พ่อแม่แนะนำก็ไม่ได้ ครูอาจารย์แนะนำก็ไม่ได้ พระเทศน์ก็ไม่ฟัง การเล่าเรียนศึกษาก็ไม่ตั้งใจ การงานก็ไม่เอาธุระ ไม่รักตัวสงวนตัว ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ต้องเข้ากลุ่มดอกบัวที่จมอยู่แต่ใต้น้ำเป็นอาหารของปลาเต่า ชีวิตต้องเสื่อมเศร้า ครั้นได้คิดแต่ก็สายเสียแล้ว ก็ยิ่งเป็นทุกข์ เข้าที่อับจนหาทางออกไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นทุกข์ หรือเห็นคนอื่นเขารุ่งเรือง กลับมาดูตน ก็ยิ่งเป็นทุกข์ ส่วนคนที่ทำตนเองให้เป็นเวไนยแนะนำได้ ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว ขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนศึกษา เอาการเอางาน รู้จักรักตัวสงวนตัว ไม่ปล่อยตัวไม่ปล่อยใจ ก็ได้เข้ากลุ่มดอกบัวที่มีหวังจะชูดอกขึ้นมาบานเหนือน้ำ เมื่อประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่งๆ แม้ว่าสอบไล่ได้ชั้นหนึ่งๆ ก็เป็นดอกบัวบานในชั้นหนึ่งๆ ฉะนั้น จะเข้ากลุ่มดอกบัวชนิดไหน ก็ให้คิดดูให้ดี คิดให้ดีตั้งแต่เวลาที่ยังไม่ช้าเกินไป

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าล้วนเป็นผู้ที่ได้คิดแล้ว เพราะได้รับแสงพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน บางท่านได้คิดเร็ว บางท่านได้คิดไม่เร็วไม่ช้านัก บางท่านได้คิดช้าไปหน่อย แต่ก็ยังได้คิดและกลับตัวได้ทันก่อนที่จะเหลือแก้ จึงเป็นดอกบัวที่ชูดอกขึ้นมาบานเหนือน้ำได้ด้วยปัญญา ที่ทำให้ได้คิดเพราะกระทบแสงพระธรรม สมดังพุทธภาษิตว่า “อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองล่วงพวกบุถุชนคนบอด ด้วยปัญญา” ดังนี้

เราทุกคนเมื่อได้ฟังเทศน์ที่แสดงพระธรรมของพระพุทธจ้า ก็ควรตั้งใจฟังให้ดี ให้ได้รับแสงพระธรรมเข้าไปสะกิดใจให้ได้คิด เพื่อจะได้ไม่พลัดเข้ากลุ่มดอกบัวจม หากจะเผลอพลัดเข้าไปบ้าง ก็จะได้รีบถอนตนออก และนำตนให้เข้ากลุ่มดอกบัวลอยบาน เพื่อให้ตัวเราเป็นดอกบัวที่มีหวังจะลอยบาน และเป็นดอกบัวลอยบานดอกหนึ่งอยู่ในสระมหึมา คือโลกนี้

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๒



Create Date : 16 กันยายน 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:09:09 น. 0 comments
Counter : 616 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.