Group Blog
 
All Blogs
 
๖. พุทธศาสนิก



หลักพระพุทธศาสนา

๖. พุทธศาสนิก

พุทธศาสนิกชน


เมื่อแสดงเรื่องพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรแสดงเรื่องพุทธศาสนิกชนต่อกันไป เพราะเป็นเรื่องที่เนื่องถึงกัน อาจจะแยกออกจากกันเสียมิได้ เหมือนอย่างกายกับใจ คำว่าพุทธศาสนิก เป็นคำที่ผูกเรียกกันขึ้น แปลว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ใครก็ตามที่นับถือพระพุทธศาสนา และนับถือด้วยวิธีใดก็ตาม คือเป็นพุทธบริษัทจำพวกไหน หรือเป็นพุทธมามกะ พุทธมามิกาก็ตาม ก็รวมเรียกว่าพุทธศาสนิกหรือพุทธศาสนิกชนทั้งหมด แต่ก่อนที่จะแสดงเรื่องของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ จะกล่าวถึงคนที่นับถือศาสนาโดยทั่วๆ ไปก่อน

หลักฐานทางถ้อยคำดึกดำบรรพ์

คนในโลกเริ่มนับถือศาสนากันมาแต่เมื่อไร ? เป็นที่รับรองกันแล้วว่าคนเริ่มนับถือศาสนากันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนมีประวัติศาสตร์ ได้มีนักค้นคว้าขุดพบซากศพและสิ่งต่างๆ ในสมัยเก่าแก่นั้นลงสันนิษฐานถึงลัทธิศาสนาที่คนเก่าแก่นับถือต่างๆ เป็นการพิจารณาวัตถุแล้วลงสันนิษฐาน คราวนี้ลองพิจารณาถ้อยคำเก่าแก่แล้วลงสันนิษฐานดูบ้าง คำเก่าแก่นั้นขอยกขึ้นมาพิจารณาเพียงคำเดียว คือคำว่าศาสนานี้เอง คำนี้เป็นคำดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะตามหลักฐานปรากฏว่าได้พูดกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนานไกลและยังใช้พูดกันต่อๆ มาอยู่จนถึงบัดนี้

บุพพศาสนา

ในภาษามคธว่า สาสนะ ในภาษาสันสกฤตว่า ศาสนะ ในภาษาไทยนำมาใช้ว่า ศาสนา แปลว่าคำสั่งสอน การสั่งสอน คำแปลนี้ถึงยังไม่หมดความหมาย ก็ได้ความหมายที่สำคัญซึ่งอาจอธิบายให้กว้างครอบคลุมความหมายทั้งหมดได้ ฉะนั้น ลองยกคำแปลนี้ขึ้นพิจารณาว่าคนเราเริ่มสั่งสอนกันมาตั้งแต่เมื่อไร อาจตอบตามเหตุผลว่าคนเราเริ่มสั่งสอนกันตั้งแต่เริ่มรวมกันอยู่ในโลกตั้งแต่ครอบครัวหนึ่งขึ้นไป คือตั้งแต่เริ่มมีคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป หรือตั้งแต่เริ่มมีบิดามารดามีบุตรธิดาขึ้นในโลก หรือพูดตามสมัยว่าตั้งแต่มีสังคมมนุษย์หน่วยแรกขึ้นเพราะในเบื้องต้นพ่อแม่ก็ต้องสั่งสอนลูก อย่าว่าแต่ในหมู่มนุษย์ แม้ในหมู่สัตว์ดิรัจฉานก็มีสั่งสอนกันตามวิธีของสัตว์ เช่นแม่นกก็มีการสอนลูก พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงยกย่องมารดาบิดาว่าเป็นอาจารย์คนแรก เรียกว่าบุรพาจารย์ของบุตรธิดา เป็นอันว่าอาจารย์อื่นๆ เป็นอาจารย์ในภายหลัง ฉะนั้น คำสั่งสอนของพ่อแม่ผู้เป็นบุรพาจารย์ จึงเป็นบุพพศาสนา (ศาสนาแรก) ของลูก

อาจริยศาสนา

แต่คำสั่งสอนของพ่อแม่ที่ให้แก่ลูกโดยมาก เพียงพอแก่ลูกในวัยเล็ก เมื่อโตขึ้นแล้วจึงต้องส่งเข้าโรงเรียน มอบภาระให้แก่ครูอาจารย์สั่งสอนศิลปวิทยาสืบต่อไป ครูอาจารย์ที่ดีย่อมเป็นทั้งผู้ประสาธน์ศิลปวิทยาดี เป็นทั้งผู้ปกครองศิษย์ดี คำสั่งสอนหรือการสั่งสอนของครูอาจารย์เพื่อผลดังกล่าวนี้ แม้มีการลงโทษเพื่อให้ศิษย์เป็นคนดี ท่านก็เรียกว่าเป็นศาสนาอย่างหนึ่งของอาจารย์ ดังในชาดกเรื่องหนึ่งในติกนิบาตเล่าไว้มีความว่า

ในอดีตกาลล่วงมานาน พระเจ้ากรุงพาราณสีได้ทรงส่งพรหมทัตตกุมาร พระราชโอรสไปเรียนศิลปวิทยาในเมืองตักกศิลา เพราะตามนิยมของโบราณพระราชาทั้งหลายย่อมทรงปรารถนาให้พระราชโอรสได้รับอบรมให้ละมานะ ให้อดทน ให้เปรื่องปราดสามารถในศิลปวิทยา ให้รอบรู้ในโลกจารีตทั้งปวง แม้จะมีอาจารย์อยู่ในประเทศก็โปรดส่งพระราชโอรสไปศึกษาในสถานที่ไกล พรหมทัตตกุมารได้เดินทางไปศึกษาอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ท่านหนึ่งในเมืองตักกศิลานั้น วันหนึ่งได้ไปอาบน้ำกับอาจารย์ เห็นหญิงชราคนหนึ่งกำลังนั่งร่อนงา เห็นงาเป็นมันย่องก็อยากเสวย จึงหยิบมาเสวยกำมือหนึ่ง หญิงชราก็มิได้ว่ากระไร เพราะคิดว่าคงหิว วันรุ่งขึ้นพรหมทัตตกุมารได้ทำอย่างนั้นอีก หญิงชราก็คงไม่ว่าอะไร ในวันที่ ๓ พรหมทัตตกุมารได้ทำอย่างนั้นอีก หญิงชราจึงร้องขึ้นว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ปล่อยให้พวกลูกศิษย์ยื้อแย่งของของตน อาจารย์ได้ยินจึงหยุดสอบถาม ได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รับจะใช้มูลค่าให้ หญิงชราบอกว่าไม่ประสงค์มูลค่า แต่ขอให้อาจารย์ให้กุมารนี้ศึกษาว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีก อาจารย์พูดว่าถ้าอย่างนั้นจงคอยดู สั่งให้ศิษย์หนุ่ม ๒ คนจับกุมารที่แขนทั้ง ๒ ไว้ แล้วหยิบเรียวไม้ไผ่เฆี่ยนหลัง ๓ ครั้ง สั่งสอนว่าอย่าทำอย่างนั้นอีก พรหมทัตตกุมารถูกเฆี่ยนมีเนตรแดงก่ำด้วยความโกรธ มองดูอาจารย์ทั่วตัว ผูกอาฆาตว่าได้ราชสมบัติแล้วจักให้ตามอาจารย์ไปฆ่าเสียให้จงได้ ครั้นเรียนสำเร็จแล้ว ก็เข้าลาอาจารย์ แสดงอาการอย่างมีความเคารพรัก ขอให้อาจารย์รับว่าจะไปกรุงพาราณสีเมื่อให้มาเชิญ แล้วลาอาจารย์กลับกรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสเรียนสำเร็จกลับมา มีพระราชหฤทัยโสมนัสยินดี ทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรเห็นพระโอรสเป็นพระราชาตั้งแต่พระองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่ จึงมอบราชสมบัติพระราชทาน ครั้นพรหมทัตตกุมารได้ราชสมบัติแล้ว ทรงระลึกขึ้นได้ถึงโทษอาจารย์ทำแก่พระองค์ จึงทรงส่งทูตไปเชิญอาจารย์ให้มา ฝ่ายอาจารย์คิดว่าพระราชายังหนุ่ม ตนยังไม่อาจจะพูดให้ยินยอมได้จึงยังไม่ไป ครั้นกาลล่วงไป พระราชาเจริญพระชนม์ขึ้นจนถึงมัชฌิมวัยแล้ว อาจารย์จึงเดินทางไปกรุงพาราณสี ให้กราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาทรงยินดีโปรดให้อาจารย์เข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ ก็ทรงรู้สึกเหมือนกำลังถูกเฆี่ยน มีพระเนตรแดงก่ำขึ้นด้วยโทสัคคิ (ไฟโทสะ) ทันที ตรัสว่า วันนี้อาจารย์ของเรามาถึงที่ตายแล้ว นำมัจจุราชติดมากับหน้าผากของตนแล้ว ตรัสแก่อาจารย์ว่า ท่านระลึกได้ไหมถึงวันที่ท่านเฆี่ยนเราด้วยเรียวไผ่ ท่านไม่ยินดีในชีวิตแล้วหรือจึงมา วันนั้นท่านเฆี่ยนเรา วันนี้เราจะฆ่าท่าน ฝ่ายอาจารย์ไม่แสดงครั่นคร้าม กล่าวตอบด้วยท่วงท่าของอาจารย์ว่า อารยชน (คนเจริญ) ย่อมห้ามปรามคนที่ทำอนารยกรรม (กรรมไม่ดี) ด้วยการลงโทษให้เข็ดหลาบได้ นั้นเป็นศาสนา (การสั่งสอน) มิใช่เป็นเวร ปวงบัณฑิตย่อมเข้าใจกันอย่างนี้ มหาราช ถ้าข้าพเจ้าไม่ทำให้พระองค์ศึกษาอย่างนั้น ต่อไปพระองค์ประพฤติผิดยิ่งขึ้น ทรงประสบมหันตภัยเสียแล้ว จักทรงได้ราชสมบัติเห็นปานฉะนี้จากที่ไหนเล่า พวกอำมาตย์ที่เฝ้าอยู่ได้สดับเรื่องนั้น ก็พากันกราบทูลสนับสนุนคำของอาจารย์ พระราชาทรงพิจารณาทบทวนแล้วทรงเห็นจริงตามคำอาจารย์ ทรงหายพิโรธสิ้นอาฆาต กลับทรงระลึกถึงคุณของอาจารย์จึงพระราชทานสิ่งปฏิการต่างๆ และทรงตั้งไว้ในที่เป็นปุโรหิตผู้ถวายอนุสาสน์ เรื่องนี้มีคติอยู่มาก แต่โดยเฉพาะแสดงว่า การสั่งห้ามปรามมิให้ทำผิด แม้ของอาจารย์ ก็ถือว่าเป็นศาสนาอย่างหนึ่งๆ มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

รัฐศาสนา

แต่คำสั่งสอนของอาจารย์ก็เพียงพออยู่สำหรับการศึกษาเล่าเรียน และเป็นไปในวงการเรียน หรือภายในโรงเรียน ยังไม่เพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่รวมกันอยู่เป็นประเทศชาติ จึงต้องมีคำสั่งสอนของประมุขผู้ปกครองหมู่ชน คำสั่งสอนของผู้ปกครองนี้ เรียกในคัมภีร์แต่เก่าก่อนว่าศาสนาเหมือนกัน ดังมีคำเรียกธุรการฝ่ายปกครองว่าปสาสนธุระ สาสนะในคำนี้ก็คือศาสนานั้นเอง ท่านเล่าว่า พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งเป็นเจ้าโลกแต่พระองค์เดียวทรงปกครองชาวโลกทั้งสิ้นด้วยทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติในศีล ๕ ศีล ๕ จึงเป็นจักรวรรดิศาสนา พระราชามหากษัตริย์หรือท่านผู้ปกครองผู้ตั้งอยู่ในราชธรรม หรือในธรรมของผู้ปกครอง ย่อมสั่งสอนประชาชนด้วยวิธีต่างๆ แม้ในประเทศไทยสยามนี้เองก็มีเล่าไว้ในศิลาจารึกในรัชสมัยพระเจ้าขุนรามคำแหงกรุงสุโขทัยว่า ถ้าไม่ใช่วันอุโบสถ “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขดารหิน” พระราชทานราโชวาทแก่ประชาราษฎร์ทั่วไป

ธรรมศาสนา

แต่คำสั่งสอนของผู้ปกครองให้สำเร็จประโยชน์เป็นเครื่องปกครองทางกายเป็นพื้น และประกอบด้วยการลงโทษผู้ละเมิดต่างๆ ยังไม่เป็นเครื่องปกครองจิตใจได้อย่างเพียงพอ จึงมีผู้แสดงคำสั่งสอนขึ้นอีกประเภทหนึ่ง มุ่งสำหรับปกครองจิตใจ ดังที่เรียกกันในบัดนี้ว่าศีลธรรมหรือศาสนา

การยกศัพท์ว่าศาสนาขึ้นสันนิษฐานในทางว่า คือคำสั่งสอนที่มีในสังคมมนุษย์ตั้งแต่ต้นเดิมมา และในหมู่ชนทั่วไปนี้ เมื่อกำหนดใจไว้ว่า ศาสนาคือคำสั่งสอนหรือการสั่งสอนอย่างธรรมดาๆ นี้เองเท่านั้น ก็จะเข้าใจตามที่แสดงมาโดยตลอด ว่าคำสั่งสอนได้ขยายตัวกว้างออกไปเพื่อให้เป็นเครื่องปกครองคนอย่างเพียงพอโดยลำดับอย่างไร และอาจสรุปคำสั่งสอนทั้งหมดลงได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. คำสั่งสอนที่ยังไม่เพียงพอ ยังไม่จบ

๒. คำสั่งสอนที่เพียงพอแล้ว จบลงแล้ว

ประเภทที่ ๑ คำสั่งสอนที่ยังไม่เพียงพอ ยังไม่จบนั้น เช่นคำสั่งสอนของบิดามารดาในชั้นต้น เช่นบิดามารดาสอนให้ลูกหัดพูด หัดนั่ง ยืน เดิน วิ่ง และหัดในกิจอื่นๆ แต่ยังไม่พอ เมื่อลูกโตขึ้นจึงต้องส่งไปโรงเรียน แม้คำสั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ ในโรงเรียนก็ไม่มีจบ ศิลปวิทยาแต่ละอย่างก็ยังค้นคว้าแก้ไขเพิ่มเติมกันเรื่อยไป และมีมากมาย จึงต้องจัดหลักสูตรกำหนดว่าให้เรียนเพียงไหนในชั้นไหน และเมื่อถึงชั้นไหนก็ให้สำเร็จเสร็จการเรียนกันเสียที แม้วิชาที่เรียกว่าปรัชญาก็เป็นเรื่องไม่จบเหมือนกัน ยังค้นคว้าแก้ไขเพิ่มเติมกันต่อไป คำสั่งสอนของท่านผู้ปกครองที่เรียกในปัจจุบันว่ากฎหมายเป็นต้นก็คงไม่จบสิ้น ไม่เพียงพอ ดังกล่าวเหมือนกัน น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ คำสั่งสอนประเภทนี้จึงไม่นิยมเรียกว่าศาสนา

ประเภทที่ ๒ คำสั่งสอนที่เพียงพอแล้ว จบลงแล้ว ได้แก่คำสั่งสอนที่เรียกว่าศาสนาในบัดนี้ เพราะทุกศาสนาต่างก็แสดงคำสั่งสอนถึงที่สุดตามลัทธิของตน เช่นบางศาสนานับถือเทวดาประจำธรรมชาติต่างๆ ก็แสดงว่ามีที่สุดเพียงเทวดาเหล่านี้เท่านั้น บางศาสนานับถือเทพเจ้าผู้สร้างมากองค์บ้างองค์เดียวบ้าง ก็แสดงว่ามีที่สุดเพียงเทพเจ้าเท่านั้น บางศาสนานับถือธรรม ก็แสดงธรรมที่สูงสุด ที่บุคคลพึงเข้าถึงได้ด้วยปัญญาของตน คำสั่งสอนประเภทที่ ๑ เช่นคำสั่งสอนของมารดาบิดาดังกล่าวแล้ว สั่งสอนอยู่ในเหตุผลใกล้ๆ ตัว แม้ที่ไกลออกไปดังศิลปวิทยาต่างๆ ตลอดถึงปรัชญาต่างๆ ผู้แสดงที่เป็นต้นเดิมเองก็ไม่ปรากฏว่าใครปฏิญญาตนเองว่าเป็นผู้รู้จบแล้ว ส่วนคำสั่งสอนประเภทที่ ๒ อันเรียกว่าศาสนา สั่งสอนในเหตุผลที่กว้างที่ไกลตัวออกไปจนถึงที่สุด ดังเช่นเมื่อสอนเรื่องโลก ที่สุดโลกในด้านอดีตก็คือการสร้างโลกหรือกำเนิดโลก ที่สุดในด้านอนาคตก็คือเรื่องความสิ้นสุดของโลก และผู้แสดงก็ปฏิญญาว่าเป็นผู้รู้จบแล้ว

จบจริงหรือ

คำสั่งสอนประเภทที่ ๑ ไม่มีปัญหาต่อไป ส่วนประเภทที่ ๒ อันเรียกว่าศาสนานั้น มีปัญหาต่อไปว่าผู้แสดงเป็นผู้รู้จบจริงหรือไม่ คำสั่งสอนนั้นเพียงพอแล้วจบลงแล้วจริงหรือไม่ ปัญหานี้ภูมิปัญญาของคนเรานี้เองเป็นผู้ตอบได้ คือถ้าถูกต้องกับความจริงอย่างบริบูรณ์บริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นศาสนาที่บริบูรณ์บริสุทธิ์ คือเพียงพอแล้ว จบลงแล้ว มีลักษณะดังที่แสดงมาแล้วในเรื่องพระธรรม

ศาสนาที่ดี

ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อเว้นส่วนที่เป็นปรมัตถะหรือส่วนที่สูงสุดของแต่ละศาสนาเสียกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตปัจจุบัน ศาสนาที่ดีทุกศาสนาย่อมสั่งสอนให้คนทุกคนประกอบด้วยศีลธรรม มีศีลธรรมเป็นเครื่องปกครองจิตใจและความประพฤติ ไม่มีศาสนาที่ดีศาสนาไหนสั่งสอนให้คนทอดทิ้งศีลธรรม ฉะนั้น ศาสนิกชน คนที่นับถือศาสนาแม้ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ล้วนเป็นผู้ที่นับถือหลักศีลธรรมในโลก มีศีลธรรมเป็นหลักปกครองใจและความประพฤติ แม้นับถือศาสนาต่างกัน แต่ต่างเคารพอยู่ในหลักศีลธรรมด้วยกัน จึงอยู่รวมกันได้โดยสงบสุข

คนแปลกประหลาด

คนเราที่อยู่ร่วมครอบครัว ร่วมหมู่ ร่วมถิ่นฐานบ้านเมือง จนถึงอยู่ร่วมโลกกัน โดยปกติเมื่อพบกันเข้าก็รู้จักกันว่า คนไทย คนจีน คนแขก คนฝรั่ง เป็นต้น เพราะมีลักษณะหน้าตาผิวพรรณเป็นต้น เป็นเครื่องบอกให้รู้ แต่ถ้าจะมีใครสักคนหนึ่งไม่มีลักษณะบอกได้ว่าเป็นชาติไหนปรากฏตัวเข้ามา ใครจะรู้ได้หรือว่าเขาเป็นคนอะไร มาจากไหน ดูเป็นคนแปลกประหลาดในโลก ฉันใด คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ก็ฉันนั้น เมื่อพบกันก็ย่อมจะรู้จักกันได้ว่าใครเป็นคนอย่างไร มีหลักเชื่อถือปฏิบัติอย่างไร หรือมีศีลธรรมอย่างไร ถึงจะถืออย่างคร่ำครึอย่างไรก็ยังดูรู้จักกันได้ เพราะทุกศาสนาย่อมแสดงหลักธรรมของตนไว้ทั้งนั้น เป็นเครื่องชี้ให้ทราบได้ว่าศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ เป็นอย่างไร คือมีทางปฏิบัติตามลัทธิศาสนานั้นๆ อย่างไร แต่ถ้าจะมีใครที่ไม่นับถือศาสนาอะไรมาปรากฏตัวขึ้นใครจะรู้ได้ว่าเขาเป็นคนอะไร มีหลักเชื่อถืออย่างไร ดูเป็นคนแปลกประหลาดอันจะต้องพึงระมัดระวัง เพราะไม่รู้ว่าจะมาทำอะไร มีความคิดเห็นนับถืออะไรอยู่ เพราะตามธรรมดาทุกคนจะต้องนับถือหลักอันใดอันหนึ่งอยู่ทั้งนั้น ดังได้แสดงแล้วตั้งแต่ต้นว่าศาสนาคือคำสั่งสอนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ คนนับถือคำสั่งสอนก็มีมาตั้งแต่ดำดำบรรพ์เหมือนกัน ฉะนั้น จึงไม่มีใครที่ไม่มีหลักอะไรเป็นที่นับถือเลย ถ้าไม่เป็นศาสดาตั้งหลักของตนขึ้นสั่งสอนเอง ก็ต้องนับถือรับฟังคำสั่งสอนจากผู้อื่น คนเช่นนี้จึงต้องตรวจสอบให้แน่ว่าเขาเป็นศาสดาองค์ใหม่ขึ้น หรือนับถือศาสนาของศาสดาองค์ใหม่อื่นองค์ไหน

คนหลักลอย

บางคนอาจลังเลใจในศาสนาต่างๆ ที่แสดงตรงกันมาบ้าง ขัดกันบ้าง จึงยังไม่ปลงใจนับถือจริงลงได้ ถ้ายังไม่นับถือเพราะเหตุเช่นนี้ ก็ยังไม่ควรตำหนิ เพราะมีเหตุผลที่สมควรอยู่ แต่ถ้าไม่ศึกษาสอบสวน ปล่อยให้ลังเลใจอยู่เรื่อยไป ก็กลายเป็นคนหลักลอยทางจิตใจ ถ้าศึกษาสอบสวนตามเหตุผลให้ตลอด ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าเชื่อถืออย่างไม่มีเหตุผล

ศาสนาที่สอนให้รู้

ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนเชื่อถือตามเหตุผลด้วยปัญญาของตน ทรงแนะนำให้พากันมาดูให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ดังบทพระธรรมคุณว่า “เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู” เมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชาบุรณมีก็มิได้ทรงขอให้ฤษีทั้ง ๕ เชื่อก่อน เพียงแต่ตรัสให้ตั้งใจฟัง เมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาจบลงแล้ว พระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม คือเห็นจริงขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสอุทานว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” (จึงเกิดมีคำเรียกท่านว่าพระอัญญาโกณฑัญญะสืบมา) มิได้ตรัสว่าโกณฑัญญะได้เชื่อพระองค์แล้วเลย พระโกณฑัญญะนี้เองได้เป็นปฐมอริยพุทธศาสนิกชนในโลกตั้งแต่เมื่อเกิดดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมฤษีอีก ๔ รูปให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ในต่อมา ได้ทรงอบรมฤษีทั้ง ๕ ให้ได้ปัญญาเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ทั้งหมดเหมือนพระองค์ ได้เสด็จจาริกประกาศพระพุทธศาสนา แสดงหนทางที่ชอบแก่โลกโดยลำดับ จึงมีพุทธศาสนิกชน คือพระสงฆ์สาวก หรือพุทธบริษัท พุทธมามกะ พุทธมามิกา ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

พุทธศาสนิกชนแท้

พระพุทธเจ้าได้ทรงยังล้อพระธรรมให้หมุนไปในโลกตั้งแต่ทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นต้นมา จึงเรียกชื่อปฐมเทศนาโดยเฉพาะว่า “ธรรมจักร” แปลว่าล้อคือธรรม จะเรียกวันที่ทรงแสดงคือวันอาสาฬหปุณณมีว่าวันธรรมจักรก็ได้ เมื่อล้อพระธรรมหมุนไปในที่ใดทิศใด ก็ปรากฏมรรคาคือทางที่ชอบขึ้นในที่นั้นทิศนั้น เป็นสายเดียวประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ใครเดินทางชอบมีองค์ประกอบ ๘ รวมกันเป็นทางเดียวนี้แล คือพุทธศาสนิก พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติเดินทางที่ทำมารและเสนาให้หลงนี้แล

เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปนฺนา ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสถ ท่านทั้งหลายปฏิบัติเดินทางนี้แล้ว จักทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้
ดังนี้

๔ กรกฎาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 01 ตุลาคม 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:10:48 น. 1 comments
Counter : 603 Pageviews.

 

ขอบคุณที่นำมาฝากนะคะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 1 ตุลาคม 2553 เวลา:19:46:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.