Group Blog
 
All Blogs
 
คนไทยเป็นใคร มาจากไหน? ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย

อลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม




กระดาษอาร์ตด้าน ขนาด A4 พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม หนา 88 หน้า ไม่มีจำหน่าย แต่จ่ายแจกให้สถาบันทั่วประเทศ ทำหนังสือขอรับได้ ที่ กลุ่มภูมิหลัง สำนักวิจัยและส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีชน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กทม. 10320 โทรศัพท์ 0-2247-0013 ต่อ 1209, 1219 โทรสาร 0-2247-0022 หรือไปรับด้วยตนเองในงานนี้

...สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม

ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

จัดเสวนาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะ

ณ ท้องพระโรง และสวนแก้ว บริเวณวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2550 ตั้งแต่ 15.00 น. เป็นต้นไป



หลัง พ.ศ. 1700 เริ่มมีอักษรไทย และคนไทย

พลังสำคัญที่ผลักดันกระตุ้นให้มีราชอาณาจักรสยามแห่งแรก, มีอักษรไทยครั้งแรก, แล้วมีคนไทยอย่างแท้จริง เมื่อหลัง พ.ศ.1700 คือพลัง 3 อย่าง ได้แก่ ศาสนามวลชน, ภาษากลาง และสำเภาจีน

ศาสนามวลชน ได้แก่พระพุทธศาสนา (ลังกาวงศ์) และศาสนาอิสลาม (แพร่หลายถึงรัฐปัตตานีตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000) ภาษากลาง ได้แก่ภาษาไทยและภาษามลายู สำเภาจีน คือเรือเดินสมุทรของจีน



ไทย, มลายู เป็นภาษากลาง

ภาษาไทยและภาษามลายู ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ภาษาไท-ไตเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายใน เนื่องจากพวกไท-ไตตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และทำให้ภาษาไท-ไตกลายเป็นภาษากลางอย่างน้อยก็ในการค้าภายใน ประชาชนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบลุ่มหรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไท-ไตได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนภาษามลายูคงจะแพร่หลายในวงการค้าของภูมิภาคอยู่แล้ว เพราะประชาชนที่พูดภาษามลายูมีบทบาทในการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสำนักลังกาตัดสินใจใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางสำหรับการเผยแผ่ อย่างน้อยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง จึงยิ่งทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางของคนหลากหลายชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้มากขึ้น

ในอยุธยา ราชสำนักอาจใช้ภาษาเขมร แต่เมื่อไรที่เป็นเอกสารสำหรับอ่านกันในวงกว้างกว่าชนชั้นสูง เช่น โองการแช่งน้ำหรือกฎหมายหรือจารึกแสดงบุญบารมีของผู้สร้างศาสนสถานก็ใช้ภาษาไทย รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับศาสนาด้วย เช่น จารึกที่เกี่ยวกับศาสนา รวมไปถึงวรรณกรรมศาสนา เช่น มหาชาติคำหลวง เป็นต้น เช่นเดียวกับเวียงจัน, หลวงพระบาง และเชียงใหม่ ซึ่งผลิตกฎหมายในระยะเริ่มต้นด้วยภาษาไท-ไตเช่นกัน

เช่นเดียวกับผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม เพราะภาษามลายูถูกใช้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ภาษามลายูจึงถูกนำมาใช้สำหรับการเผยแผ่ศาสนาเช่นกัน วรรณกรรมทางศาสนาซึ่งเขียนในระยะแรกๆ แม้แต่ที่เขียนในรัฐที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูก็ยังเป็นภาษามลายู

ความสัมพันธ์กับศาสนาใหม่นี้ทำให้สถานะของภาษาทั้งสองสูงขึ้นในสังคม เพราะภาษาทั้งสองถูกนำไปใช้เขียนวรรณกรรมหลากหลายประเภทมากขึ้นนอกจากศาสนา จนทำให้ภาษาอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายูและในดินแดนที่เป็นประเทศไทยถูกภาษาทั้งสองเข้าไปแทนที่ในแทบทุกเรื่อง

ความเป็น "คนไทย" มีขึ้นคราวเดียวกับอักษรไทยที่ดัดแปลงจากอักษรขอม (เขมร) แล้วคนบางกลุ่มเรียกตัวเองว่าคนไทย หรือถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่ากำหนดให้เรียกตัวเองว่าคนไทยก็ได้ แต่คนอีกหลายกลุ่มเรียกตัวเองเป็นอย่างอื่น เช่น ลาว, มอญ, เขมร, จาม, มลายู ฯลฯ คนในล้านนาและล้านช้าง เรียกตัวเองว่าลาว คนในรัฐปัตตานีเรียกตัวเองว่ามลายู

ศาสนามวลชนที่เหมือนกัน และการร่วมใช้ภาษากลาง ที่ใช้เคียงกันเช่นนี้ ทำให้เกิดภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในหมู่ประชากร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างสูง



หลัง พ.ศ.2000 เรียกประเทศว่า เมืองไทย เรียกตังเองว่าคนไทย

ราชอาณาจักรสยาม (แห่งแรก) เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติและมีนามราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หมายถึงบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องจาก "ทวารวดี" มีศูนย์กลางอยู่พระนครศรีอยุธยา แล้วเรียกกันย่อๆ ว่าอยุธยา (แปลว่าไม่แพ้ หมายถึงชนะ) หรือสยาม แต่มีชาวสยามส่วนหนึ่งเรียกตัวเองอย่างมั่นใจว่าคนไทย

ราชอาณาจักรสยามเกิดจากการรวมกันของรัฐใหญ่ 2 แห่ง คือ รัฐละโว้ (ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่มีชื่อในตำนานว่าสยามประเทศ มีขอบเขตกว้างขวางเชื่อมโยงตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง

นอกจากนั้นราชอาณาจักรสยามยังผนวกรัฐเล็กๆ เข้ามารวม เช่น รัฐสุโขทัย รัฐเพชรบุรี จนถึงรัฐนครศรีธรรมราช ฯลฯ โดยมีเมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยบริเวณสองฝั่งโขงกับมูล-ชี สบกัน เช่น เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง เมืองโคตรตะบอง เมืองเรอแดว ฯลฯ

แต่รัฐล้านนาทางเหนือสุด กับรัฐปัตตานีทางใต้สุด เป็นรัฐเอกเทศอยู่นอกราชอาณาจักรสยามแห่งแรกนี้



เรียกตัวเองว่า "คนไทย"

กลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่าคนไทย แล้วเรียกประเทศของตนว่าเมืองไทย มีหลักฐานเก่าสุดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่รัฐอยุธยาและรัฐสุพรรณภูมิ ถึงรัฐสุโขทัย โดยลักษณะเด่นชัดที่บอกความเป็นคนไทยคือ พูดภาษาไทย เขียนอักษรไทย ล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว

ภาษาพูดมีมาก่อนหลายพันปีหรือมีมาพร้อมกำเนิดคนแต่อักษรไทยเพิ่งมีเมื่อหลัง พ.ศ.1700 โดยรับแบบแผนจากอักษรเขมรหรือที่รู้จักทั่วไปว่าอักษรขอม แห่งรัฐละโว้ (ลพบุรี) หมายความว่าแต่เดิมเมื่อตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายมาอยู่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มจากราว 3,000 ปีมาแล้ว ปะปนกับตระกูลมอญ-เขมร ที่พัฒนาอักษรขึ้นใช้ก่อนจากอักษรปัลลวะ (ทมิฬอินเดียใต้) พวกไทย-ลาวก็ใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทย แล้วเรียกอักษรขอมไทย (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสืออักษรไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2548)

ภาษาไทยยุคแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1700 หรือก่อนมีอักษรไทย จนหลัง พ.ศ.1700 หรือหลังมีอักษรไทยยุคต้นๆ ยังจัดอยู่ในวัฒนธรรมลาว หรือภาษาลาวเพราะมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าคนพวกนี้มีบรรพชนเป็นลาวตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว

สอดคล้องกับเอกสารลาลูแบร์ที่เป็นราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสเข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แล้วจดปากคำชาวสยามพระนครศรีอยุธยา บอกว่ามีบรรพบุรุษเป็นไทยน้อยคือลาว แล้วยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็นไทยใหญ่ ที่ไม่ใช่บรรพชนของตน แสดงว่าชาวสยามกรุงศรีอยุธยามีความทรงจำว่าบรรพชนเป็นคนลาว แต่เรียกพวกลาวทั้งหมดว่าไทยเหมือนพวกตน คือไทยน้อยกับไทยใหญ่ ส่วนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบมาจากลาวล้วนเป็นไทยสยาม

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีบรรพชนสายหนึ่งเป็นลาว ก็คือภาษาลาวยังมีเค้าอยู่ในภาษาไทยในกลุ่มคำซ้อนที่ประกอบด้วยคำอย่างน้อย 2 คำมารวมกัน คำหนึ่งจะเป็นคำลาว แต่อีกคำหนึ่งอาจเป็นมอญหรือเขมรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น

ทองคำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold คำมอญใช้ "ทอง" คำเดียวก็เท่ากับ gold ส่วนลาวใช้ "คำ" เท่านั้น, ฝาละมี ฝาเป็นคำลาว ละมีเป็นคำมอญ หมายถึง ฝาหม้อดิน, สั่นคลอน สั่นคำลาว คลอนคำมอญ หมายถึง หลวม ง่อนแง่น, ฟ้อนรำ ฟ้อนคำลาว รำเป็นคำเขมร, เต้นระบำ เต้นคำลาว ระบำเป็นคำเขมร, ดั้งจมูก ดั้งคำลาว จมูกเป็นคำเขมร ฯลฯ

หน้า 34




Create Date : 29 กันยายน 2550
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:24:11 น. 2 comments
Counter : 1452 Pageviews.

 
ดีค่ะ ได้ความรู้เพิ่มอีก จะหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ไหนอีกค่ะ และเวลานี้ยังจะไปขอรับเอกสารได้อีกไหม


โดย: jaya (i'm jaya ) วันที่: 10 มกราคม 2551 เวลา:23:09:04 น.  

 
เป็น blog มาเลย์ และแปลภาษามาเลย์ได้ดีจริงๆครับ


โดย: ต้าโก่ว วันที่: 12 กรกฎาคม 2554 เวลา:8:56:41 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.