Group Blog
 
All Blogs
 
เสียงค้าน "ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น" ไม่ถึง 120 ปี

โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช




ร.7 ทรงฉลองพระองค์กิโมโนในโอกาสที่นายคิชิโร โอกุระ (ไม่มีหนวด) ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พ.ศ.2467

วันพุธที่ 26 กันยายนที่จะถึงนี้ นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

กล่าวคือ ย้อนกลับไปเมื่อ 120 ปีก่อน วันนี้คือวันเปิดศักราชแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ

ครั้งนั้น สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ลงพระนามใน "หนังสือปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น" ร่วมกับ นายชูวโซ อาโอกิ รองเสนาบดีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น

นับแต่นั้นมาทั้งสองชาติได้เกื้อกูลอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมหนักแน่น สม่ำเสมอ และลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล นักธุรกิจ ประชาชน ฯลฯ และครอบคลุมความสัมพันธ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การศึกษา การค้นคว้าวิจัย ฯลฯ

เพื่อฉลองโอกาสอันสำคัญนี้ ภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศจึงร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 2550 เพื่อสร้างเสริมมิตรภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนของสองประเทศ นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นทยอยกันจัดงานมาเรื่อยๆ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ที่เมืองโอซากา และที่เมืองโตเกียว

สำหรับวันที่ 26 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นวันครบรอบความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี ไทยจะเปิด ศาลาไทย ที่สวนสาธารณะอูเอโนะ กรุงโตเกียว และญี่ปุ่น จะจัดงานแสดงคอนเสิร์ตที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

หนังสือปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขายในระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น



เรอิโกะ ฮาดะ สตรีญี่ปุ่นซึ่งมาอยู่เมืองไทยกว่า 10 ปี เจ้าของงานเขียนเรื่อง "สายธารแห่งแดนดาวใต้ : เรื่องจริงของจารชนสตรีที่ถูกส่งมาเมืองไทย" ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดงานฉลอง 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในปีนี้ว่า

ถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นไม่ถึง 120 ปี เหตุเพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยต้องปิดลง

ถือเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

"คุณทราบมั้ยว่ามีชาวญี่ปุ่นจำนวนเท่าไรในเมืองไทยขณะนั้น

พวกเขาเหล่านี้ถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่รวมกันในเรือลำหนึ่ง เพื่อเดินทางไปยังแคมป์บางบัวทอง แคมป์ซึ่งปกครองโดยชาวอังกฤษ ที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งนั้น ญี่ปุ่นต่อสู้กับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยก็เป็นฐานทัพของกองทัพญี่ปุ่น

"แคมป์แห่งนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลไทยเพื่อเป็นสำนักงานชั่วคราว ถ้าสงครามลุกลามกลายเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่

"อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามสิ้นสุดลง และเป็นความโชคร้ายของชาวญี่ปุ่นที่ต้องเข้าไปอยู่ในแคมป์แห่งนั้น ขณะที่ชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกาถูกส่งตัวไปยังแคมป์แมนซานาร์ แถบหุบเขาโอเวนส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย


"ฉันได้ทราบเรื่องราวมาจากชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่อยู่ในแคมป์บางบัวทอง เขาเล่าว่า..." เรอิโกะเริ่มต้นเล่าถึงเรื่องที่ได้รับฟังมา

"รัฐบาลไทยใจดีมาก ดูแลผู้ที่อยู่ในแคมป์เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องอาหารการกินก็มีให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นข้าว เนื้อ ผัก และปลา ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นในแคมป์แมนซานาร์"

หลังจากออกจากแคมป์ในปี พ.ศ.2489 ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศของตนได้ ยกเว้นชาวญี่ปุ่นจำนวน 126 คนที่ยังคงอยู่ในเมืองไทย เช่น ผู้ถือใบอนุญาตให้พักอาศัยในไทยได้อย่างถาวร ผู้ที่มีอาชีพเป็นแพทย์ ศิลปิน วิศวกร และครู

กระทั่งปี พ.ศ.2493 ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเซ็นสัญญาใน "สนธิสัญญาสันติภาพ" สถานทูตญี่ปุ่นจึงเปิดความสัมพันธ์อีกครั้งกับประเทศไทย นับจนถึงตอนนี้รวมแล้ว 56 ปี

เรอิโกะบอกว่า เธอรักเมืองไทยและมีความผูกพันกับเมืองไทยมาก ขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกอิจฉาคนไทยที่ไม่เคยรู้สึกถึงความสูญเสียเหมือนอย่างคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามที่ญี่ปุ่น แม้ว่าจะเซ็นสัญญาในสนธิสัญญาสันติภาพแล้วก็จริง แต่สัญญานั้นกลับปิดกั้นอิสรภาพทั้งหลายทั้งปวงของคนญี่ปุ่น

เธออธิบายถึงเงื่อนไขอันเนื่องมาจากสนธิสัญญาสันติภาพที่เซ็นขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ว่า นั่นหมายถึงญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

"เป็นการเริ่มต้นการถือครองประเทศญี่ปุ่นโดยคนอเมริกัน ทุกอย่างเป็นไปภายใต้วิถีของอเมริกัน เราเรียกว่านโยบาย จี.เอช.คิว. (สำนักงานของนายพลแม็คอาเธอร์ในญี่ปุ่น)

"กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2489 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย จี.เอช.คิว มีสาระสำคัญ คือ ไม่มีกองทัพอีกต่อไป-เป็นสันติประเทศ (ประชาธิปไตย), เปลี่ยนระบบกสิกรรมแบบเก่า, การศึกษาเป็นแบบใหม่โดยใช้ตำราแบบของอเมริกัน ฯลฯ

เดือนกันยายน 2494 มีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งสถานภาพนี้รวมไปถึงความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

"สหรัฐอเมริกาควบคุมญี่ปุ่นด้วยสัญญาสันติภาพ แต่ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นก็ต้องเชื่อฟังกองทัพอเมริกัน ปัญหาต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป

"แม้ว่าหลังจากที่เราเป็นอิสระแล้ว แต่ก็ยังดำเนินรอยตามนโยบายเตรียมความพร้อมทางทหารของอเมริกัน"

เรอิโกะย้ำว่า จะบอกว่าปีนี้เป็นปีครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นไม่ได้

เพราะญี่ปุ่นต้องปิดความสัมพันธ์กับไทยลงในปี 2488-2494 ฉะนั้น ถ้าจะนับระยะเวลาของความสัมพันธ์แล้วควรจะว่า 114 ปีจึงจะถูกต้อง

เธอบอกว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อฉลองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ 120 ปี เธอไม่ได้ต่อต้าน แต่ลึกๆ แล้วยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า

"ไม่จำเป็นต้องตีกลองฉลองกันเสียงดังขนาดนั้นก็ได้"

หน้า 34


Create Date : 29 กันยายน 2550
Last Update : 29 กันยายน 2550 10:17:33 น. 0 comments
Counter : 892 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.