Group Blog
 
All Blogs
 
การเมือง"เครือญาติ" จากมรดกโลก 2 แห่งใหม่ในอีสาน

การเมือง"เครือญาติ" จากมรดกโลก 2 แห่งใหม่ในอีสาน

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ



มรดกโลกในประเทศไทยล่าสุดมี 2 แห่ง คือ เส้นทางวัฒนธรรมปราสาทหิน (พิมาย-พนมรุ้ง-เมืองต่ำ ที่จังหวัดนครราชสีมาต่อเนื่องถึงบุรีรัมย์) กับ ภูพระบาท (ที่จังหวัดอุดรธานี) เป็นพยานลักษณะ "เครือญาติ" ของภูมิภาคนี้

เส้นทางวัฒนธรรมปราสาทหินและภูพระบาทเกี่ยวข้องกับเส้นทางคมนาคมแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้าข้ามภูมิภาค อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนอธิบาย (ไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549) ว่าความเคลื่อนไหวยุคนี้เป็นผลของ "การค้าโลก" ซึ่งมีมาก่อนหน้านั้น หมายถึงการค้าระหว่างจีนกับอินเดียหรือตะวันออก-ตะวันตก ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก กับมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตก โดยมีบริเวณ (สยาม) ประเทศไทย ทุกวันนี้เป็นผืนแผ่นดินหรือสะพานแผ่นดินเชื่อมโยงส่งผ่านสิ่งของระหว่างตะวันออก-ตะวันตก มีสถานี 2 อ่าว คือ อ่าวเมาะตะมะ (ทะเลอันดามัน) อยู่ทางตะวันตก กับอ่าวไทย (ทะเลจีนใต้) อยู่ทางตะวันออก แล้วขนถ่ายสิ่งของแลกเปลี่ยนขึ้นบกไปพบกันบริเวณบ้านเมืองที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เอกสารเก่าเรียกสุวรรณภูมิ

ศาสนา-อารยธรรมจีนและอินเดีย มากับพาหนะทะเลคือเรือขนส่งสิ่งของที่ "พ่อค้า" เป็นผู้ควบคุม ส่งผลให้เกิดบ้านเมืองและรัฐขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณสุวรรณภูมิตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 แล้วสืบเนื่องต่อมาไม่ขาดสาย

แกนหลักของเส้นทางคมนาคมบนสะพานแผ่นดินคือลุ่มน้ำโขงในลาว-เขมร-ไทย กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางของประเทศไทย

ลุ่มน้ำโขงบริเวณลาวและไทยมีแหล่งทรัพยากรสำคัญมากอยู่อีสาน ซึ่งมีเทือกเขาภูพานขวางกั้นให้มีภูมิประเทศ 2 เขต คือ อีสานเหนือกับอีสานใต้

ภูพระบาท อยู่อีสานเหนือปลายเทือกเขาภูพานด้านตะวันตก เขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์มีมนุษย์อยู่อาศัยใช้งานตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย มีหินตั้งแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์

ครั้นรับพุทธศาสนาผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาราวหลัง พ.ศ.1000 มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง ก็ดัดแปลงหินตั้งเป็นเสมาหิน เนื่องในพุทธศาสนา แล้วพัฒนาเป็นใบเสมาทั่วประเทศทุกวันนี้ ซึ่งไม่มีในอินเดีย-ลังกา

บริเวณภูพระบาทเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณสองฝั่งโขงอีสานเหนือสืบแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาถึงยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่ทวารวดี จนถึงยุคลาว (ดังมีนิทานนางอุษา-ท้าวบารส) เข้าสู่ยุคปัจจุบันพระสงฆ์เกจิอาจารย์สายวัดป่าต้องไปธุดงค์วิปัสสนาที่นี่ ซึ่งเป็นแหล่งทางศาสนาที่ใช้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นแกน

เส้นทางวัฒนธรรมปราสาทหิน อยู่อีสานใต้บริเวณลุ่มน้ำมูล-ชี มีปราสาทหินพิมาย (ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) เป็นศูนย์กลางตั้งอยู่ขอบด้านใต้ของทุ่งกุลาร้องไห้ อันเป็นแหล่งทรัพยากรกว้างใหญ่มหึมา

ปราสาทหินพิมายมีชุมชนมาก่อนราว 3,000 ปีมาแล้ว และเป็นถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษกษัตริย์เขมรที่นครวัด-นครธม เรียกราชวงศ์มหิธร เป็นเหตุให้สุริยวรมันเอาแบบปราสาทพิมายไปสร้างปราสาทนครวัด (ปราสาทพิมายเก่ากว่าปราสาทนครวัดราว 50 ปี)

นี่คือพยานหลักฐานเก่าแก่ที่แสดงว่ากษัตริย์กัมพูชาที่นครวัด-นครธม มีบรรพบุรุษอยู่บริเวณลุ่มน้ำมูล มีปราสาทพิมายเป็นศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์

เราควรเน้นอธิบายลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมืองการปกครองแบบเครือญาติพี่น้องผู้ใหญ่ผู้น้อยกับเพื่อนบ้านลาว-เขมร ด้วยหลักฐานมรดกโลก 2 แห่งนี่ไง ที่สืบเนื่องเครือญาติจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา

หน้า 34



Create Date : 25 พฤษภาคม 2550
Last Update : 25 พฤษภาคม 2550 15:59:06 น. 0 comments
Counter : 634 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.