Group Blog
 
All Blogs
 
กับปู่ย่าตายาย

กับปู่ย่าตายาย

คอลัมน์ โลกสองวัย

โดย บางกอกเกี้ยน



เปล่าเลย ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ไม่ได้มีประโยชน์โภชผลกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้แม้แต่น้อย เมื่อครั้งที่เกิดศูนย์นี้ เคยได้ยิน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ขณะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเรื่องราวของห้องสมุดมีชีวิตมาเสนอในงานเปิดตัวหนังสือ "พจนานุกรม ฉบับมติชน" ให้กับบรรดาบรรณรักษ์ห้องสมุดทั้งหลายได้ฟังและชมวีดิทัศน์ของห้องสมุดหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

ชมไปฟังคำบรรยายไป ในใจก็ร้องอยู่ว่า ใช่แล้ว ห้องสมุดแบบนี้ใช่เลย รีบให้รัฐบาล (สมัยนั้น) อนุมัติงบประมาณ แล้วสร้างเลย

ไม่ช้าไม่นานจากนั้น อุทยานการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และอุทยานการเรียนรู้ ในชื่อภาษาอังกฤษว่า "Thailand Knowledge Park" ที่รู้จักเป็นอักษรย่อว่า "TK. Park" ก็ก้าวขึ้นสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์

ต่อจากนั้นไม่นาน ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบก็ปรากฏตามมาอย่างกระชั้นชิด

เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนจากนโยบายประชานิยมมาเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่การสร้างสรรค์และองค์ความรู้ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นความพอเพียงไปด้วย

ผอ.ไชยยง รัตนอังกูร เปิดเผยถึงความเป็น "ทีซีดีซี" ไว้อย่างน่าสนใจจากคำถามที่ว่า จริงๆ แล้ว ทีซีดีซีคือ? ด้วยคำตอบชัดเจน

"หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว อินเดียก็เติบโตมาก เราต้องเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่อีกฐานหนึ่งของเศรษฐกิจ

"ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นเพราะวิกฤตการเงิน แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมจำนวนมากไปสู่แหล่งผลิตที่ถูกกว่า เมืองไทยจึงไม่น่าสนใจอีกต่อไป ต้องหันมาดูว่าแล้วเราต้องทำอย่างไร

"ต้องสร้างอีกฐานขึ้นมาเรียกว่าเศรษฐกิจที่เกิดจากการสร้างสรรค์มูลค่า (value creation) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อนำความรู้เดิมที่ปู่ย่าตายายให้มาไปบวกกับความรู้ใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ต้องเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง

"แต่ให้เหมาะกับกระบวนการผลิตของตัวเอง เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น"

จากแนวความคิดนี้ คุณไชยยงจึงเกิดแนวคิดว่าจำเป็นต้องมีแหล่งให้ประชาชนเข้าใจรากเหง้าของตัวเอง และเป็นแหล่งต่อยอดความรู้ เกิดเป็น ทีซีดีซี ที่นำองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการออกแบบทุกด้านมาไว้ที่เดียวกัน ให้ประชาชนได้เข้ามาค้นคว้า แล้วเอาไปประยุกต์กับความรู้เดิมที่มี

มี 2 งานที่น่าสนใจ

งานแรกคือกลุ่มโอท็อปลำปาง ทอผ้าโดยเอาสมุนไพรซึ่งมีคุณสมบัติกำจัดเชื้อรามาทำเป็นกระดาษ แล้วเอากระดาษนั้นมาทอกับผ้าฝ้าย ทางศูนย์จึงส่งผ้าชิ้นนี้ไปให้ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบที่นิวยอร์ก ดู

ประการสำคัญอยู่ที่ว่า คณะกรรมการที่ห้องสมุดนั้นไม่ทราบว่าวัสดุมาจากประเทศใด แต่เขาจะดูว่าวัสดุชิ้นนั้นน่าสนใจไหม มีศักยภาพพอจะทำธุรกิจในอนาคตได้หรือไม่

ปรากฏว่าฝรั่งชอบมาก ผ้าชิ้นนี้ที่ส่งไปจึงเข้าไปจัดแสดงในห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบทั้ง 4 สาขา คือที่นิวยอร์ก มิลาน โคโลญจน์ และกรุงเทพฯ

"ทุกวันนี้กลุ่มโอท็อปลำปางเจ้าของผลงานได้รับออเดอร์จากต่างประเทศเยอะมาก เขาเอาไปทำชั้นในหมวก เพื่อช่วยยับยั้งเชื้อรา"

อีกเรื่องหนึ่ง คือศูนย์จะมีนิทรรศการเกี่ยวกับไม้ไผ่ เพื่อให้รู้ว่าประเทศที่ก้าวหน้าและมีความเชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เขามีเครื่องมือจัดการไม้ไผ่เป็นร้อยชนิด บ้านเราทำเครื่องจักสานมากมาย แต่เรามีมีดอีโต้อันเดียวทำทุกอย่าง

"จึงอยากให้คนไทยเห็นว่าถึงเราจะดี แต่มีประเทศอื่นจัดการดีกว่านี้อีก ดูว่าเราสามารถพัฒนาได้อย่างไรบ้าง"

ประการสำคัญความประทับใจในองค์กรนี้ของตัวผู้อำนวยการเอง ที่ว่า เป็นเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน พนักงาน ทีซีดีซี ต้องบริหารจัดการกับนักออกแบบ ฝ่ายการเงิน และอีกสารพัด ต้องให้คนของ ทีซีดีซีใช้ศักยภาพให้เต็มที่ที่สุด ความยืดหยุ่นอย่างมีวินัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

"อีกอย่างคือประทับใจที่เป็นองค์กรซึ่งให้บริการความรู้ที่มีคุณภาพแก่ประชาชน หลังจากนี้ไปคือทำอย่างไรให้คนใช้ประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุด"

แล้วอย่างนี้ยังไปลดงบประมาณเขาลงคอหรือ ท่านรัฐมนตรี

หน้า 34



Create Date : 25 พฤษภาคม 2550
Last Update : 25 พฤษภาคม 2550 16:10:06 น. 0 comments
Counter : 578 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

win_mma
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add win_mma's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.