Group Blog
 
All blogs
 

*** รักษาศีล 8 ในวันอุโบสถกันเถอะ ***




พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต


สักกสูตร

[๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท

ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวสักกชนบทเป็นอันมาก ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในวันอุโบสถ

ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุบาสกชาวสักกชนบทว่า

ดูกรอุบาสกชาวสักกชนบททั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แลหรือ

อุบาสกชาวสักกชนบทเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ บางคราวข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ บางคราว
ไม่ได้รักษา พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้วท่านทั้งหลายไม่ได้ดีเสียแล้ว ที่ท่านทั้งหลายเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอยู่อย่างนี้บางคราวก็รักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘บางคราวก็ไม่ได้รักษา

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้พึงยังทรัพย์กึ่งกหาปณะให้เกิดขึ้นทุกๆ วันด้วยการงานอันชอบโดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่าเป็นบุรุษฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น ฯ


อุ. สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้พึงยังทรัพย์กหาปณะหนึ่งให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ด้วยการงานอันชอบโดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษผู้ฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น ฯ


อุ. สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ พึงยังทรัพย์ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ๔ กหาปณะ๕ กหาปณะ ๖ กหาปณะ ๗กหาปณะ ๘ กหาปณะ ๙ กหาปณะ ๑๐ กหาปณะ๒๐ กหาปณะ ๓๐ กหาปณะ ๔๐กหาปณะ ๕๐ กหาปณะ ๑๐๐ กหาปณะให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ด้วยการงานอันชอบโดยไม่แตะต้อง
อกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษผู้ฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น ฯ


อุ. สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ


พ. ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อยังทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ ๑๐๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน เก็บทรัพย์ที่ตนได้แล้วๆ ไว้เป็นผู้มีชีวิตร้อยปี จะพึงประสบกองโภคสมบัติเป็นอันมากบ้างหรือหนอ ฯ

อุ. พึงเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่หนึ่งคืน หนึ่งวันหรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุมีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้งบ้างหรือหนอ ฯ

อุ. มิได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ข้อนั้นเป็นเหตุอะไร ฯ

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เป็นของหลอกลวง เป็นของมีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฯ

พ. ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย

ส่วนสาวกของเราในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๑๐ ปี พึงเป็นผู้เสวยความสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ ปีจงยกไว้


สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปีพึงเป็นผู้เสวยความสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มีและสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มีพึงเป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑ ปีจงยกไว้

สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๑๐ เดือน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มีหมื่นปีก็มีแสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย๑๐ เดือนจงยกไว้

สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ เดือน ๘ เดือน๗ เดือน๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลายกึ่งเดือนจงยกไว้

สาวกของเราในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด๑๐ คืน ๑๐ วัน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มีหมื่นปีก็มีแสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มีเป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ คืน ๑๐ วันจงยกไว้

สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด๙ คืน ๙ วัน ๘ คืน ๘ วัน ๗ คืน๗ วัน ๖ คืน ๖ วัน ๕ คืน ๕ วัน ๔ คืน ๔ วัน ๓ คืน๓ วัน ๒ คืน๒ วัน ๑ คืน ๑ วัน พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอดร้อยปีก็มี หมื่นปีก็มีแสนปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มีเป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิดก็มี

ดูกรอุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ได้ดีแล้ว ที่ท่านทั้งหลาย เมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันมีองค์ ๘บางครั้งก็ไม่รักษา ฯ

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้จักรักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ


จบสูตรที่ ๖





 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2558 12:01:41 น.
Counter : 1399 Pageviews.  

*** ผู้มีอุปการะมาก ***




พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐


พหุการสูตร


[๔๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้

เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ


บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เป็นผู้มีอุปการะมาก แก่บุคคลผู้อาศัย




อีกประการหนึ่ง บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ

นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย




อีกประการหนึ่ง บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ

ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป

ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลผู้อาศัย





ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า บุคคลอื่นจากบุคคล ๓ จำพวกนี้

จะเป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคลนี้ หามิได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ทำการตอบแทน

คือ ด้วยการกราบไหว้ การลุกรับ การประนมมือไหว้

สามีจิกรรมการให้ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค

แก่บุคคล ๓ จำพวกนี้ มิใช่ง่ายแล ฯ


จบสูตรที่ ๔





 

Create Date : 28 ตุลาคม 2557    
Last Update : 28 ตุลาคม 2557 13:43:36 น.
Counter : 702 Pageviews.  

*** บุคคล 3 จำพวก อุบัติขึ้นในโลก ***




พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕


๕. โลกสูตร


[๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ เมื่ออุบัติขึ้นในโลก

ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก

เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล

เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

บุคคล ๓ จำพวกเป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้

เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก

ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

พระตถาคตพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง

งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ

บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ ๑ นี้เมื่ออุบัติขึ้นในโลก

ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก

เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา

และมนุษย์ทั้งหลาย ฯ



อีกประการหนึ่ง พระสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้นแหละ

เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว

ปลงภาระลงแล้วมีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว

มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ

สาวกนั้นแสดงธรรมงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง

งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ

บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้บุคคลที่ ๒ นี้

เมื่ออุบัติขึ้นในโลกย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก

เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก

เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ



อีกประการหนึ่ง พระสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้นแหละ

ยังเป็นผู้ศึกษาปฏิบัติอยู่ มีพระปริยัติธรรมสดับมามาก

ประกอบด้วยศีลและวัตร แม้พระสาวกนั้นก็แสดงธรรมงามในเบื้องต้น

งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์

พร้อมอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง


ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลที่ ๓ นี้ เมื่ออุบัติขึ้นในโลก

อุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก

เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล

เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เมื่ออุบัติขึ้นในโลก

ย่อมอุบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก

เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล

เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ


พระศาสดาแล ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ เป็นบุคคลที่ ๑ ในโลก

พระสาวกผู้เกิดตามพระศาสดานั้น ผู้มีตนอันอบรมแล้ว

ต่อมาพระสาวกอื่นอีกแม้ยังศึกษาปฏิบัติอยู่ ได้สดับมามาก

ประกอบด้วยศีลและวัตร


บุคคล ๓ จำพวกเหล่านั้น เป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์

บุคคล๓ จำพวกเหล่านั้น ส่องแสงสว่าง แสดงธรรมอยู่

ย่อมเปิดประตูแห่งอมตนิพพาน

ย่อมช่วยปลดเปลื้องชนเป็นอันมากจากโยคะชนทั้งหลาย

ผู้ปฏิบัติตามอริยมรรค

ที่พระศาสดาผู้นำพวกผู้ยอดเยี่ยมทรงแสดงดีแล้ว

เป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนาของพระสุคต

ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แท้ ฯ


จบสูตรที่ ๕





 

Create Date : 03 ตุลาคม 2557    
Last Update : 3 ตุลาคม 2557 18:54:19 น.
Counter : 686 Pageviews.  

*** ปฏิบัติข่มใจ ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต



[๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้


๔ ประการเป็นไฉน คือ


การปฏิบัติไม่อดทน ๑

การปฏิบัติอดทน ๑

การปฏิบัติข่มใจ ๑

การปฏิบัติระงับ ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติไม่อดทน เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เขาด่า ย่อมด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ย่อมขึ้งโกรธตอบ

เขาทุ่มเถียงย่อม ทุ่มเถียงตอบ นี้เรียกว่าการปฏิบัติไม่อดทน ฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติอดทน เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เขาด่า ไม่ด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ไม่ขึ้งโกรธตอบ

เขาทุ่มเถียง ไม่ทุ่มเถียงตอบ นี้เรียกว่าการปฏิบัติอดทน ฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติข่มใจ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต

ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว

จะพึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศลคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้

ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ...

ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว

เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ

ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว

จะพึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ

อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์

ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติข่มใจ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติระงับ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ

ย่อมบรรเทาซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ระงับไปกระทำให้สิ้นสุด

ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งพยาบาทวิตก ...

วิหิงสาวิตก ... ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งธรรม

อันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด

ให้ถึงความไม่มีดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติระงับ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ





 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2556 10:36:55 น.
Counter : 709 Pageviews.  

*** มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต



อนุโสตสูตร


[๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

๔ จำพวกเป็นไฉน คือ


บุคคลผู้ไปตามกระแส ๑

บุคคลผู้ไปทวนกระแส ๑

บุคคลผู้มีตนตั้งอยู่แล้ว ๑

บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ๑



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไปตามกระแสเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเสพกามทั้งหลาย

และย่อมกระทำกรรมอันเป็นบาป นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้ไปตามกระแส



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไปทวนกระแสเป็นไฉน


บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่เสพกาม และย่อมไม่กระทำกรรมอันเป็นบาป

แม้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เพราะประกอบด้วยทุกข์บ้าง

เพราะประกอบด้วยโทมนัสบ้าง ก็ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์

บริบูรณ์ได้นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้ไปทวนกระแส




ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีตนตั้งอยู่แล้วเป็นไฉน


บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ผุดขึ้นเกิด

ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา

เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้มีตนตั้งอยู่แล้ว



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งตั้งอยู่บนบกเป็นไฉน


บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติปัญญาวิมุติ

อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป

ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก



ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก ฯ



ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย

ยังไม่ ปราศจากราคะ มีปรกติบริโภคกาม

ชนเหล่านั้นแล ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เข้าถึงชาติและชราบ่อยๆ

ชื่อว่าไปตามกระแส เพราะฉะนั้น ธีรชนในโลกนี้ เป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว

ไม่เสพกาม และไม่ทำกรรมอันเป็นบาป แม้ประกอบด้วยทุกข์

ก็ละกามได้ นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่าไปทวน กระแส


นรชนใดแล ละกิเลส ๕ประการเสียได้ เป็น ผู้มีการศึกษาบริบูรณ์

มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา ถึงความ เป็นผู้ชำนาญในจิต

มีอินทรีย์ตั้งมั่นแล้ว นรชนนั้นแล

นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่าผู้มีตนตั้งอยู่แล้ว


ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลและอกุศล อันบุคคลใดกำจัดหมดแล้ว

ถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีอยู่ บุคคลนั้นเป็นผู้จบเวท

อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ถึงที่สุดแห่งโลก

นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกว่าผู้ถึงฝั่ง ฯ


จบสูตรที่ ๕





 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2556 10:15:31 น.
Counter : 821 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.