Group Blog
 
All blogs
 

*** ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค


ทุติยวรรคที่ ๒

ชฏิลสูตรที่ ๑

[๓๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม

ปราสาทของมิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ฯ


ก็สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงพักผ่อนแล้ว

ประทับนั่งที่ภายนอกซุ้มประตู ฯ


ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ



[๓๕๕] ก็สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน

เอกสาฎกนิครนถ์๗ คน ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว

ถือ เครื่องบริขารต่างๆ เดินผ่านไปในที่ไม่ไกล พระผู้มีพระภาค ฯ


ทันใดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จลุกจากอาสนะทรงกระทำพระภูษา

เฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจดพระชานุมณฑลเบื้องขวา ณ พื้นแผ่นดิน

ทรง ประนมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คนนิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน

เอกสาฏก นิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คน เหล่านั้นแล้ว

ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิ

โกศล... ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชา ปเสนทิโกศล ฯ


ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน

เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คนปริพาชก ๗ คนเหล่านั้น เดินผ่านไปได้ไม่นาน

พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

พวกนักบวชเหล่านั้น คงเป็นพระอรหันต์

หรือท่านพระอรหัตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก ฯ




[๓๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์

บริโภคกามครอบครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา

ทาจุรณจันทน์ อันมาแต่แคว้นกาสี ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้

ยินดีเงินและทอง ยากที่ จะรู้เรื่องนี้ว่า คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์

หรือคนพวกนี้บรรลุอรหัตมรรค ฯ


ดูกรมหาบพิตร ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน

ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย

ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญา จึงจะรู้ได้

ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ฯ


ดูกรมหาบพิตร ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงาน

ก็ความสะอาดนั้นจะพึง รู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย

ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ฯ


ดูกรมหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย

ก็กำลังใจนั้น จะพึงรู้ ได้ด้วยกาลนานไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย

ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้

ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ฯ


ดูกรมหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา

ก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย

ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญา จึงจะรู้ได้

ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ฯ







 

Create Date : 21 เมษายน 2556    
Last Update : 21 เมษายน 2556 17:54:40 น.
Counter : 770 Pageviews.  

*** อนิสงส์ในการให้ทาน ๕ ประการ ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต



๕. ทานานิสังสสูตร


[๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้

๕ ประการเป็นไฉน



คือ ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑

สัปบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑

กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรทั่วไป ๑

ผู้ให้ทาน ย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑

ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑



ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน๕ ประการนี้แล ฯ



ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก

ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ

สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์

ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ

สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา

เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้

ปรินิพพานในโลกนี้ ฯ


จบสูตรที่ ๕





 

Create Date : 13 เมษายน 2556    
Last Update : 13 เมษายน 2556 8:52:29 น.
Counter : 809 Pageviews.  

*** เทวดาทูลถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ( 8 ) ***



พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค




อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒


จันทิมสสูตรที่ ๑

[๒๕๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน

อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี

ครั้งนั้น จันทิมสเทวบุตร เมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก

ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ


[๒๕๒] จันทิมสเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้วได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่าก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน

มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติชนเหล่านั้น จักถึงความสวัสดี

ประดุจเนื้อในชวากเขา ไร้ริ้นยุง ฉะนั้น ฯ


[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้

ชนเหล่านั้น จักถึงฝั่งประดุจปลา ทำลายข่ายได้แล้ว ฉะนั้น ฯ





เวณฑุสูตรที่ ๒

[๒๕๔] เวณฑุเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่าชนเหล่าใด นั่งใกล้พระสุคต

ประกอบตนในศาสนาของพระโคดม ไม่ประมาทแล้ว ศึกษาตามอยู่

ชนเหล่านั้นถึงความสุขแล้วหนอ ฯ


[๒๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใด เป็นผู้เพ่งพินิจ ศึกษาตามในข้อสั่งสอน อันเรากล่าวไว้แล้ว

ชนเหล่านั้น ไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุ ฯ






นันทนสูตรที่ ๔

[๒๕๘] นันทนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า


ข้าแต่พระโคดม ผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์

ถึงญาณทัสสนะ อันไม่เวียนกลับแห่งพระผู้มีพระภาค

บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีศีล

เรียกบุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีปัญญา

บุคคลชนิดไรล่วงทุกข์อยู่ได้ เทวดาทั้งหลาย บูชาบุคคลชนิดไร ฯ


[๒๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

บุคคลใด มีศีล มีปัญญา มีตนอบรมแล้ว มีจิตตั้งมั่นยินดีในฌาน

มีสติ เขาปราศจากความโศกทั้งหมด ละได้ขาดมีอาสวะสิ้นแล้ว

ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลชนิดนั้นว่า เป็นผู้มีศีล

เรียกบุคคลชนิดนั้นว่าเป็นผู้มีปัญญา บุคคลชนิดนั้นล่วงทุกข์อยู่ได้

เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลชนิดนั้น ฯ





จันทนสูตรที่ ๕

[๒๖๐] จันทนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนและกลางวัน จะข้ามโอฆะได้อย่างไร

สิใครจะไม่จมในห้วงน้ำลึก อันไม่มีที่พึ่งพิงไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ฯ


[๒๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ในกาลทุกเมื่อ มีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว

ปรารภความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก

เข้าเว้นขาดแล้วจากกามสัญญา ล่วงรูปสัญโญชน์ได้

มีภพเป็นที่เพลิดเพลินสิ้นไปแล้ว ย่อมไม่จมในห้วงน้ำลึก ฯ






วาสุทัตตสูตรที่ ๖

[๒๖๒] วาสุทัตตเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้ กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า


ภิกษุพึงมีสติเพื่อละกามราคะ งดเว้นเสีย ประดุจบุคคลถูกแทงด้วยหอก

ประดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ ฯ


[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงมีสติเพื่อการละสักกายทิฏฐิ งดเว้นเสีย ประดุจบุคคลถูกแทงด้วยหอก

ประดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะอยู่ ฯ






สุพรหมสูตรที่ ๗

[๒๖๔] สุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์

ถ้าเมื่อกิจทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว

ขอจงตรัสบอกข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ ฯ


[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์

นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง

เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯ


สุพรหมเทวบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ฯลฯ ก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ






กกุธสูตรที่ ๘

[๒๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระอัญชนวัน

สถานพระราทานอภัยแก่เนื้อเขตเมืองสาเกต

ครั้งนั้น กกุธเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก

ยังอัญชนวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ


[๒๖๗] กกุธเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ ฯ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรผู้มีอายุ เราได้อะไรจึงจะยินดี ฯ



กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระสมณะถ้าอย่างนั้นพระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ ฯ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรผู้มีอายุ เราเสื่อมอะไรจึงจะเศร้าโศก ฯ


กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้นพระองค์ไม่ทรงยินดีเลย

ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ ฯ



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นเช่นนั้นผู้มีอายุ ฯ




[๒๖๘] กกุธเทวบุตร กราบทูลว่า

ข้าแต่ภิกษุ พระองค์ไม่มีทุกข์บ้างหรือ ความเพลิดเพลินไม่มีบ้างหรือ

ความเบื่อหน่ายไม่ครอบงำพระองค์ผู้ประทับนั่งแต่พระองค์เดียวบ้างหรือ ฯ



[๒๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรท่านผู้อันคนบูชา เราไม่มีทุกข์เลย และความเพลิดเพลินก็ไม่มี

อนึ่ง ความเบื่อหน่าย ก็ไม่ครอบงำเราผู้นั่งแต่ผู้เดียว ฯ



[๒๗๐] กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี

ทำไมความเบื่อหน่าย จึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้นั่งแต่ผู้เดียว ฯ

[๒๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ผู้มีทุกข์นั่นแหละ จึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละจึงมีทุกข์

ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลินไม่มีทุกข์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ผู้มีอายุ ฯ


[๒๗๒] กกุธเทวบุตรกราบทูลว่า

นานหนอ ข้าพระองค์จึงพบเห็นภิกษุ ผู้เป็นพราหมณ์ดับรอบแล้ว

ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์ ข้ามพ้นเครื่องข้องในโลกแล้ว ฯ




อนาถปิณฑิกสูตรที่ ๑๐

[๒๗๕] อนาถบิณฑิกเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณพำนักอยู่

พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ ฯ

สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม วิชชา ธรรมศีล

และชีวิตอันอุดม หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่ ฯ

เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน

พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น

พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรม

เครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง

ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม ฯ


อนาถบิณฑิกเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค

ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ


[๒๗๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อล่วงราตรีนั้นแล้ว

จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อคืนนี้เทวบุตรองค์หนึ่ง เมื่อราตรี ปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก

ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ก็อภิวาทเราแล้ว

ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เทวบุตรนั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่แล้ว

ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนัก เราว่าก็พระเชตวันนี้นั้น

อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณพำนักอยู่พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว

เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ ฯ

สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม วิชชา ธรรม ศีล

และชีวิตอันอุดม หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่ ฯเพราะเหตุนั้นแหละ

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน

พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น

พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐ ด้วยปัญญา ศีล และธรรม

เครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง

ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบุตรนั้นครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว

ก็อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ


[๒๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว

ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ก็เทวบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่

อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร ฯ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถูกละๆ ดูกรอานนท์

ข้อที่จะพึง ถึงด้วยการนึกคิดมีประมาณเพียงใดนั้น

เธอถึงแล้ว ดูกรอานนท์ ก็เทวบุตรนั้น คือ อนาถบิณฑิกเทวบุตร ฯ


จบ อนาถบิณฑิกวรรคที่ ๒
___________________________________




 

Create Date : 12 เมษายน 2556    
Last Update : 12 เมษายน 2556 11:16:03 น.
Counter : 722 Pageviews.  

*** เทวดาทูลถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ( 7 ) ***



พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค



อิสสรสูตรที่ ๗

[๒๑๑] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอเป็นใหญ่ในโลก อะไรหนอเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย

อะไรหนอเป็นดังสนิมศัสตราในโลก อะไรหนอเป็นเสนียดในโลก

ใครหนอนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่ใครนำไปกลับเป็นที่รัก

ใครหนอมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ ฯ


[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า


อำนาจเป็นใหญ่ในโลก หญิงเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย

ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก พวกโจรเป็นเสนียดในโลก

โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำไปกลับเป็นที่รัก

สมณะมาหาบ่อยๆบัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ ฯ





กามสูตรที่ ๘

[๒๑๓] เทวดาทูลถามว่า

กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ไม่ควรให้สิ่งอะไร คนไม่ควรสละอะไร

อะไรหนอที่เป็นส่วนดีงามควรปล่อย แต่ที่เป็นส่วนลามกไม่ควรปล่อย ฯ


[๒๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน ไม่พึงสละซึ่งตน

วาจาที่ดีควรปล่อย

แต่วาจาที่ลามกไม่ควรปล่อย





ปาเถยยสูตรที่ ๙

[๒๑๕] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง

อะไรหนอเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย

อะไรหนอย่อมเสือกไสนรชนไป อะไรหนอละได้ยากในโลก

สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไรเหมือนนกติดบ่วง ฯ


[๒๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ศรัทธาย่อมรวบรวมไว้ซึ่งเสบียง ศิริ (คือมิ่งขวัญ)

เป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย

ความอยากย่อมเสือกไสนรชนไป ความอยากละได้ยากในโลก

สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง ฯ





ปัชโชตสูตรที่ ๑๐

[๒๑๗] เทวดาทูลถามว่า

อะไรเป็นแสงสว่างในโลก อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก

อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน

อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา

อะไรหนอบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง

ย่อมพนอเลี้ยงดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร

เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดินอาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีวิต ฯ


[๒๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก

ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน

ไถเป็นเครื่องต่อชีวิตของเขา

ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้างไม่เกียจคร้านบ้าง

เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน

อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต ฯ





อรณสูตรที่ ๑๑

[๒๑๙] เทวดาทูลถามว่า

คนพวกไหนหนอไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้

พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของชนพวกไหน ย่อมไม่เสื่อม

คนพวกไหนกำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้

ความเป็นไทยมีแก่คนพวกไหนทุกเมื่อ

มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้น

ผู้ตั้งมั่นในศีลคือ ใครหนอ

พวกกษัตริย์ย่อมอภิวาทใครหนอในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ ฯ


[๒๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นข้าศึกในโลก

พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม

สมณะทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้

ความเป็นไทยย่อมมีแก่สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ

มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้น ผู้ตั้งมั่น (ในศีล) คือสมณะ

ถึงพวกกษัตริย์ก็อภิวาทสมณะในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ ฯ




จบ ฆัตวาวรรค ที่ ๘
_________________________






ทามลิสูตรที่ ๕

[๒๒๙] ... อารามแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ครั้ง นั้น ทามลิเทวบุตรเมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก

ยังพระวิหาร เชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ


[๒๓๐] ทามลิเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้ภาษิตคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า


พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงทำความเพียรนี้ เขาไม่ปรารถนาภพ

ด้วยเหตุนั้น เพราะละกามได้ขาดแล้ว ฯ

[๒๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ทามลิ กิจไม่มีแก่พราหมณ์ เพราะว่า พราหมณ์ทำกิจเสร็จแล้ว

บุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลาย เพียงใด เขาเป็นสัตว์เกิด

ต้องพยายาม ด้วยตัวทุกอย่าง เพียงนั้น

ก็ผู้นั้นได้ท่าเป็นที่จอดแล้ว ยืนอยู่บนบก ไม่ต้องพยายาม

เพราะว่า เขาเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ฯ


ดูกรทามลิเทวบุตร นี้เป็นข้ออุปมาแห่งพราหมณ์

ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว มีปัญญาเพ่งพินิจ ฯ

พราหมณ์นั้น ถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ต้องพยายาม

เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ฯ






กามทสูตรที่ ๖

[๒๓๒] กามทเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค

สมณธรรมทำได้โดยยาก ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค

สมณธรรมทำได้โดยยากยิ่ง ฯ



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


ชนทั้งหลาย ผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยศีลแห่งพระเสขะมีตนตั้งมั่นแล้ว

ย่อมกระทำ แม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลทำได้โดยยากความยินดี

ย่อมนำสุขมาให้แก่บุคคลผู้เข้าถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ไม่มีเรือน ฯ


[๒๓๓] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อที่หาได้ยากนี้ คือความสันโดษ ยินดี ฯ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต

ชนเหล่าใด มีใจยินดีแล้วในความอบรมจิต ทั้งกลางวันและกลางคืน

ชนเหล่านั้น ย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก ฯ


[๒๓๔] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ ตั้งมั่นได้ยากนี้คือจิต ฯ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์

ชนเหล่านั้น ย่อมตั้งมั่นซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก

ดูกรกามทเทวบุตร อริยะทั้งหลายเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุไปได้ ฯ


[๒๓๕] กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่เสมอ ฯ


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรกามทเทวบุตร อริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอ

ที่ไปได้ยากผู้มิใช่อริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ

ตกไปในทางอันไม่เสมอทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยะทั้งหลาย

เพราะอริยะทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ ฯ






ปัญจาลจัณฑสูตรที่ ๗

[๒๓๖] ปัญจาลจัณฑเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้วได้ภาษิตคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า


บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาส ในที่คับแคบหนอ

ผู้ใดได้รู้ฌานเป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจเป็นมุนี ฯ


[๒๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับแคบ แต่ได้เฉพาะแล้วซึ่งสติ

เพื่อการบรรลุธรรม คือพระนิพพาน ชนเหล่านั้น ตั้งมั่นดีแล้ว โดยชอบ ฯ






ตายนสูตรที่ ๘

[๒๓๘] ครั้งนั้น ตายนเทวบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิมาแต่ก่อน

เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณอันงามยิ่งนัก

ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ


[๒๓๙] ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้วได้ภาษิตคาถา เหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า


ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์ ฯ

มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ

ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ

พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น

เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ฯ

ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง ฯ

ก็กรรมใดทำแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง

กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า

หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเองฉันใด ฯ

ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี

ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อ เกิดในนรกฉันนั้น ฯ

กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง

และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก ฯ


ตายนเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค

ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ



[๒๔๐] ครั้งนั้น โดยล่วงราตรีนั้นแล้ว



พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาว่า



ดูกรภิกษุทั้งหลาย


เมื่อคืนนี้ เทวบุตรนามว่าตายนะ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ

มาแต่ก่อน เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไป มีวรรณอันงามยิ่งนัก

ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้ามาหาเราถึงที่อยู่

ครั้นแล้ว ก็อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ตายนเทวบุตร ยืนอยู่ ณที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้ภาษิต คาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า

ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา

จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์

มุนีไม่ละกาม ย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ฯ

ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ

พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น

เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี ฯ

ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง ฯ

ก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง

กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่า

หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง

ฉันใด ฯความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี

ย่อมฉุดเข้าไปเพื่อเกิดในนรกฉันนั้น ฯ

กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง

และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนเทวบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว

ก็อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงศึกษา จงเล่าเรียน

จงทรงจำตายนคาถาไว้


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบ ด้วยประโยชน์

เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ








 

Create Date : 11 เมษายน 2556    
Last Update : 11 เมษายน 2556 10:17:28 น.
Counter : 681 Pageviews.  

*** เทวดาทูลถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ( 6 ) ***



พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค



อันธวรรคที่ ๗

นามสูตรที่ ๑

[๑๗๘] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไรย่อมไม่มี

สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ


[๑๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี

สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือชื่อ ฯ



จิตตสูตรที่ ๒


[๑๘๐] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ


[๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต ฯ




ตัณหาสูตรที่ ๓

[๑๘๒] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ


[๑๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป

โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือตัณหา ฯ





สัญโญชนสูตรที่ ๔

[๑๘๔] เทวดาทูลถามว่า

โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่านิพพาน ฯ


[๑๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน ฯ




พันธนสูตรที่ ๕

[๑๘๖] เทวดาทูลถามว่า

โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

เพราะละเสียได้ซึ่งอะไร จึงตัดเครื่องผูกได้หมด ฯ


[๑๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้หมด ฯ




อัพภาหตสูตรที่ ๖

[๑๘๘] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรหนอกำจัดแล้ว อันอะไรหนอล้อมไว้แล้ว

อันลูกศรคืออะไรเสียบแล้ว อันอะไรเผาแล้วในกาลทุกเมื่อ ฯ


[๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันมฤตยูกำจัดแล้ว อันชราล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคือ ตัณหาเสียบแล้ว

อันความอยากเผาให้ร้อนแล้วในกาลทุกเมื่อ ฯ


อุฑฑิตสูตรที่ ๗

[๑๙๐] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรหนอดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ โลกอันอะไรหนอปิดไว้

โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร ฯ


[๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันตัณหาดักไว้ อันชราล้อมไว้ โลกอันมฤตยูปิดไว้โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ ฯ




ปิหิตสูตรที่ ๘

[๑๙๒] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรหนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร โลกอันอะไรหนอดักไว้

อันอะไรหนอล้อมไว้ ฯ


[๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ โลกอันตัณหาดักไว้อันชราล้อมไว้ ฯ





อิจฉาสูตรที่ ๙

[๑๙๔] เทวดาทูลถามว่า

โลกอันอะไรผูกไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียจึงจะหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด

จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง ฯ


[๑๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้จึงหลุดพ้น

เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด ฯ


โลกสูตรที่ ๑๐

[๑๙๖] เทวดาทูลถามว่า

เมื่ออะไรเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมชมเชยในอะไรโลกยึดถือซึ่งอะไร

โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอะไร ฯ



[๑๙๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะ ๖

โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละโลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖ ฯ


จบ อันธวรรค ที่ ๗
_________________________



ฆัตวาวรรคที่ ๘



ฆัตวาสูตรที่ ๑

[๑๙๘] เทวดานั้น ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก

ข้าแต่พระโคดมพระองค์ชอบฆ่าอะไรซึ่งเป็นธรรมอันเดียว ฯ


[๑๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียจึงไม่เศร้าโศก

แน่ะเทวดา พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษ

มียอดหวาน เพราะฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ฯ




รถสูตรที่ ๒

[๒๐๐] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอเป็นสง่าของรถ อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏของไฟ

อะไรหนอเป็นสง่าของแว่นแคว้น อะไรหนอเป็นสง่าของสตรี ฯ


[๒๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ธงเป็นสง่าของรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ

พระราชาเป็นสง่าของแว่นแคว้น ภัศดาเป็นสง่าของสตรี ฯ




วิตตสูตรที่ ๓

[๒๐๒] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้

อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้

อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย

คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ฯ



[๒๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้

ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้

ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย

คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญานักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ฯ




วุฏฐิสูตรที่ ๔

[๒๐๔] เทวดาทูลถามว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป

อะไรหนอประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า

ใครเป็นผู้ประเสริฐบรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ ฯ


[๒๐๕] เทวดาผู้หนึ่งแก้ว่า


บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป

ฝนเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็นประเสริฐ

บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ (เพราะไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา) ฯ



[๒๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ

บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชาเป็นประเสริฐ

บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นประเสริฐ

บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ ฯ




ภีตสูตรที่ ๕

[๒๐๗] เทวดาทูลถามว่า

ประชุมชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรหนอ มรรคาที่ดีแท้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อย ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน

ข้าพระองค์ขอถามถึงเหตุนั้น ว่าบุคคลตั้งอยู่ในอะไรแล้วไม่พึงกลัวปรโลก ฯ



[๒๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ มิได้ทำบาปด้วยกาย

อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา

เป็นผู้อ่อนโยน มีปรกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทราบถ้อยคำ

ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ชื่อว่าผู้ดำรงในธรรม ไม่ต้องกลัวปรโลก ฯ




นชีรติสูตรที่ ๖

[๒๐๙] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอย่อมทรุดโทรม อะไรไม่ทรุดโทรม อะไรหนอท่านเรียกว่าทางผิด

อะไรหนอเป็นอันตรายแห่งธรรม อะไรหนอสิ้นไปตามคืนและวัน

อะไรหนอเป็นมลทินของพรหมจรรย์ อะไรไม่ใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง

ในโลกมีช่องกี่ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค

ไฉนข้าพระองค์จะรู้ความข้อนั้นได้ ฯ


[๒๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า


รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมทรุดโทรม นามและโคตรย่อมไม่ทรุดโทรม

ราคะท่านเรียกว่าทางผิด ความโลภเป็นอันตรายของธรรม

วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์

หมู่สัตว์นี้ย่อมข้องอยู่ในหญิงนี้

ตบะและพรหมจรรย์ทั้งสองนั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง

ในโลกมีช่องอยู่ ๖ ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ คือความเกียจคร้าน ๑

ความประมาท ๑ ความไม่หมั่น ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความมักหลับ ๑

ความอ้างเลศไม่ทำงาน ๑

พึงเว้นช่องทั้ง ๖ เหล่านั้นเสียโดยประการทั้งปวงเถิด ฯ







 

Create Date : 09 เมษายน 2556    
Last Update : 9 เมษายน 2556 9:10:39 น.
Counter : 806 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.