Group Blog
 
All blogs
 
*** เทวดาทูลถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ( 2 ) ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค



นันทิสูตรที่ ๒


[๒๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล

ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย

คนมีโค ย่อมยินดี เพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น

เพราะอุปธิเป็นความดีของ คน บุคคลใดไม่มีอุปธิ

บุคคลนั้นไม่มียินดีเลย ฯ



[๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย

บุคคลมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น

เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน

บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย ฯ



นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓


[๒๘] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล

ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี

ทรัพย์เสมอด้วยโคย่อมไม่มี

แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี

สระทั้งหลายมีทะเลเป็นอย่างยิ่ง ฯ


[๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี

ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี

แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี

ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม ฯ



ขัตติยสูตรที่ ๔


[๓๐] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล

ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า



กษัตริย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า

โคประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า

ภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย

บุตรใดเป็นผู้เกิดก่อน บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ฯ


[๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า

สัตว์อาชาไนยประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า

ภรรยาที่ปรนนิบัติดี ประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย

บุตรใดเป็นผู้เชื่อฟัง บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ฯ




สกมานสูตรที่ ๕


[๓๒] เทวดากล่าวว่า


เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่

ประหนึ่งว่าครวญคราง ความครวญครางของป่านั้น

เป็นภัยปรากฏแก่ข้าพเจ้า ฯ


[๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่

ประหนึ่งว่าครวญคราง นั้นเป็นความยินดีปรากฏแก่เรา ฯ


นิททาตันทิสูตรที่ ๖


[๓๔] เทวดากล่าวว่า

อริยมรรคไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะความหลับ

ความเกียจคร้าน ความบิดกาย ความไม่ยินดี

และความมึนเมาเพราะภัต ฯ


[๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


เพราะขับไล่ความหลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกายความไม่ยินดี

และความมึนเมาเพราะภัต ด้วยความเพียรอริยมรรคย่อมบริสุทธิ์ได้ ฯ


ทุกกรสูตรที่ ๗


[๓๖] เทวดากล่าวว่า


ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก

เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ คนพาล ฯ



[๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะสิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้ามจิต

เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติดขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์

ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน

อันตัณหานิสัยและ ทิฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น

ปรินิพพาน แล้ว ไม่พึงติเตียนใคร ฯ



หิริสูตรที่ ๘

เทวดากล่าวว่า

[๓๘] บุรุษที่เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ ได้มีอยู่น้อยคนในโลก

ภิกษุใดบรรเทาความหลับเหมือนม้าดีหลบแซ่ ภิกษุนั้นมีอยู่น้อยรูปในโลก ฯ



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


[๓๙] ขีณาสวภิกษุพวกใด เป็นผู้เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ

มีสติประพฤติอยู่ในกาลทั้งปวง ขีณาสวภิกษุพวกนั้นมีน้อย

ขีณาสวภิกษุทั้งหลายบรรลุนิพพานเป็นส่วนสุดแห่งทุกข์แล้ว

เมื่อสัตตนิกายประพฤติไม่เรียบร้อย ย่อมประพฤติเรียบร้อย ฯ



กุฏิกาสูตรที่ ๙


[๔๐] เทวดากล่าวว่า


กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ

เครื่องสืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหรือ ฯ



[๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี

แน่ละเครื่องสืบต่อของเราไม่มี

แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ


[๔๒] เทวดากล่าวว่า

ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม

ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง

ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ

ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ


[๔๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม

ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรัง ท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ

ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็น เครื่องผูกแก่เรา ฯ



เทวดาฟังพระดำรัสแล้วชื่นชมอนุโมทนา


ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริง

เครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ


***************************************************


สัตติวรรคที่ ๓

สัตติสูตรที่ ๑

[๕๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว

ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อละกามราคะ

เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย

และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น ฯ



[๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า


ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ

เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก

และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฯ



ผุสติสูตรที่ ๒


[๕๘] เทวดาทูลว่า

วิบากย่อมไม่ถูกบุคคลผู้ไม่ถูกกรรม

วิบากพึงถูก บุคคลผู้ถูกกรรมโดยแท้ เพราะฉะนั้น

วิบากย่อมถูกบุคคลผู้ถูกกรรม ผู้ประทุษร้าย

นรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ฯ


[๕๙] พระพุทธเจ้าตรัสว่า

บุคคลใดย่อมประทุษร้ายแก่นรชน

ผู้ไม่ประทุษร้ายเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส

บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้น ผู้เป็นพาลแท้ ประดุจธุลี

อันละเอียดที่ซัดไปทวนลม ฉะนั้น ฯ



ชฏาสูตรที่ ๓


[๖๐] เทวดากราบทูลว่า

หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก

ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น

ข้าพระองค์ขอถามพระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้ ฯ




[๖๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล

อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร

มีปัญญารักษาตนรอดภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ราคะก็ดี โทสะก็ดี

อวิชชาก็ดีบุคคลทั้งหลายใด กำจัดเสียแล้ว

บุคคลทั้งหลายนั้น เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส

ตัณหาเป็นเครื่องยุ่งอันบุคคลทั้งหลายนั้นสางเสียแล้ว

นามก็ดี รูปก็ดีปฏิฆสัญญาและรูปสัญญาก็ดี

ย่อมดับหมดในที่ใด ตัณหาเป็นเครื่องยุ่งนั้น ย่อมขาดไปในที่นั้น ฯ



มโนนิวารณสูตรที่ ๔


[๖๒] เทวดากราบทูลว่า

บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ใดๆ

ทุกข์ย่อมไม่มาถึงบุคคลนั้นเพราะอารมณ์นั้นๆ

บุคคลนั้นพึงห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวง

บุคคลนั้นย่อมพ้นจากทุกข์เพราะอารมณ์ทั้งปวง ฯ


[๖๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


บุคคลไม่ควรห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวง

ที่เป็นเหตุให้ใจมาถึงความสำรวม

บาปย่อมเกิดขึ้นแต่อารมณ์ใดๆ บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์นั้นๆ ฯ


อรหันตสูตรที่ ๕


[๖๔] เทวดากราบทูลว่า


ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว

มีอาสวะสิ้นแล้วเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด

ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง

บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง ฯ


[๖๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว

มีอาสวะสิ้นแล้วเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด

ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง

บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด

ทราบคำพูดในโลกพึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน ฯ



[๖๖] เทวดากราบทูลว่า


ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว

เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด

ภิกษุนั้นยังติดมานะหรือหนอ จึงกล่าวว่าเราพูดดังนี้บ้าง

บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ฯ


[๖๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลาย มิได้มีแก่ภิกษุที่ละมานะเสียแล้ว

มานะและคันถะทั้งปวง อันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว

ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดีล่วงเสียแล้วซึ่งความสำคัญ

ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง

ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน ฯ


ปัชโชตสูตรที่ ๖


[๖๘] เทวดาทูลถามว่า


โลกย่อมรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างทั้งหลายใด

แสงสว่างทั้งหลายนั้นย่อมมีอยู่เท่าไรในโลก

ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาค

ไฉนจะรู้จักแสงสว่างที่ทูลถามนั้น ฯ



[๖๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

แสงสว่างทั้งหลายมีอยู่ ๔ อย่างในโลก

แสงสว่างที่๕ มิได้มีในโลกนี้ ดวงอาทิตย์สว่างในกลางวัน

ดวงจันทร์สว่างในกลางคืน อนึ่งไฟย่อมรุ่งเรืองในกลางวันและกลางคืน

ทุกหนแห่ง พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย

แสงสว่างของพระสัมพุทธเจ้า เป็นแสงสว่างอย่างเยี่ยม ฯ







Create Date : 04 เมษายน 2556
Last Update : 4 เมษายน 2556 9:51:16 น. 0 comments
Counter : 748 Pageviews.

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.