The Book of Eli (2010) : เมื่อเกม Fallout พาข้าพเจ้ามาเจอ (2)


ต่อเนื่องจากบล็อกคราวที่แล้ว กับเรื่อง A Boy and His Dog หนังปี 1975 



สารภาพว่าไม่เคยคิดจะสนใจ The Book of Eli เลย ผมรู้ว่าหนังมันทำเงินใช้ได้ แต่ตอนนั้นไม่มีความรู้สึกอยากจะดูเลยสักนิด

แต่ Fallout พาผมมาเจอกับหนังเรื่องนี้ 

The Book of Eli มีโทนคล้ายกับเกม Fallout พอสมควร ไม่ว่าจะคนทำหนังตั้งใจจะอิงถึงเกม Fallout หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีฉากหนึ่งที่แสดงโปสเตอร์ของ A Boy and His Dog (ที่เป็นแรงบันดาลใจหลักของ Fallout) ให้เห็นอย่างชัดเจน



หลายคนอาจบอกว่า เป็นแค่ความบังเอิญน่า! 

แต่! ผู้เขียนบทแกรี วิทต้า (Gary Whitta) เป็นผู้เกี่ยวข้องกับโปรเจคท์เกมไม่ว่าจะเป็น Duke Nukem Forever, Prey, Gears of War และเกม The Walking Dead ของค่าย Telltales Games ด้วย ฉะนั้นจะสงสัยว่าหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก Fallout ก็คงไม่แปลก



The Book of Eli เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต เป็นเหตุการณ์สามสิบปีหลังเกิดสงครามนิวเคลียร์ ชายชื่ออีไลออกเดินทางไปตามถนนอันรกร้าง แต่ละวันต้องหาทางเอาชีวิตรอดให้ได้ เป้าหมายคือการเดินทางไปสู่ทิศตะวันตก 

ระหว่างทาง อีไลแวะพักเมืองๆหนึ่งซึ่งปกครองโดยชายชื่อคาร์เนกี้ สิ่งที่คาร์เนกี้ต้องการครอบครองและส่งลูกสมุนออกไปค้นหาตามที่ต่างๆก็คือ "หนังสือหนึ่งเล่ม" 

และเรื่องยุ่งยากก็มาถึงตัวอีไลเมื่อคาร์เนกี้รู้ว่า "หนังสือหนึ่งเล่ม" ที่ว่า มันอยู่ในมือของอีไลนี่เอง!






3 สิ่งที่ชอบเกี่ยวกับ The Book of Eli


1) แดนเซล วอร์ชิงตัน

ตัวละครในหนังเรื่องนี้ ไม่มีใครน่าสนใจเลยสักคนเดียว แต่การแสดงของแดนเซล วอร์ชิงตันทำให้ผมติดตามเรื่องนี้ได้จนจบเรื่อง

เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวละครอีไลมากนัก นอกจากว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนที่โลกจะล่มสลาย เขามักหยิบ "หนังสือหนึ่งเล่ม" ออกมาอ่านอยู่เสมอ เขาเก่งพอที่จะเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์ ใช้อาวุธได้ทุกรูปแบบตั้งแต่ปืนยันมีดดาบ




แต่ขณะที่อีไลเดินทาง เขาต้องเลือกระหว่าง "ภารกิจสำคัญ" กับ "การช่วยเหลือคน" อยู่เสมอ อีไลมักจะท่องพึมพำว่า เดินต่อไปเรื่อยๆ อย่าได้สนเรื่องอื่น อะไรทำนองนี้ มันทำให้ผมรู้สึกสนใจว่า เฮ้ย เบื้องลึกเบื้องหลังของอีไลคืออะไรกันแน่

และเมื่อมาถึงตอนท้าย ผมจึงได้เข้าใจว่า อ้อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง ก็สมเหตุสมผลดี... ในมุมของตัวละครอีไลน่ะนะ




2) ไอเดียของเรื่องน่าสนใจ

หนังมีหลายไอเดียที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เหมือนกับเกม Fallout

มันมีฉากหลังของเรื่องที่เป็นโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ มีรถยนต์พังๆจอดระเกะระกะเต็มถนน มีซากปรักหักพังมากมาย มีสังคมเมืองที่พัฒนาขึ้นจากซากเมืองเก่า และมีอดีตว่าครั้งหนึ่งมนุษย์ส่วนหนึ่งมีชีวิตรอดมาได้เพราะอาศัยอยู่ในหลุมหลบภัย ก่อนจะโผล่หน้าขึ้นมาบนโลกแล้วเริ่มหันกลับมาอาศัยบนพื้นผิวดินอีกครั้ง

เหมือน Fallout มาก





นอกจากนี้ยังมีอารมณ์แบบหนังคาวบอยอยู่ ซึ่งก็เป็นอารมณ์ที่เกม Fallout มีเช่นกัน

ความเป็นหนังคาวบอยนั้น มีอยู่ในฉากที่อีไลเดินทางในดินแดนที่รกร้าง มีอยู่ในฉากที่อีไลสู้กับลูกน้องของคาร์เนกี้ในบาร์เพราะเพียงแค่การหาเรื่องเพียงเล็กน้อย และมีฉากที่อีไลต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มของคาร์เนกี้ ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับหนังคาวบอยที่ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับนายอำเภอกังฉินและลูกสมุน หรืออะไรทำนองนั้น




แต่ประเด็นที่น่าสนใจจริงๆก็คือ ไอเดียที่อีไลออกเดินทางด้วย "ศรัทธา" ผมไม่ใช่คนของศาสนาใด จริงๆผมเลิกนับถือศาสนาใดๆในโลกแล้ว แต่ชอบไอเดียเรื่องการเดินทางเพื่ออะไรสักอย่างที่สูงกว่าตัวตนของตนเอง จะเรียกว่าเป็นการธุดงค์ หรือการเดินทางแสวงบุญ หรือการเดินทางเพื่อภารกิจที่สูงส่งก็ได้ทั้งนั้น 




3) งานด้านภาพที่สวยและฉากแอ็กชั่นที่ใช้ได้

The Book of Eli มีความโดดเด่นทางด้านภาพสูงมาก มันมีช็อตเจ๋งๆ อยู่เยอะ ฉากหลายฉากดูสวย มีใส่ฟิลเตอร์แปลกๆเข้าไปจนทำให้ภาพในหนังออกมาดูเก๋มาก




ส่วนฉากแอ็กชั่นก็มีส่วนทำให้หนังดูสนุกไม่น้อย อีไลสามารถใช้อาวุธได้ทุกรูปแบบ ดังนั้นจึงค่อนข้างเพลินกับวิธีการต่อสู้ด้วยปืนบ้าง อาวุธมืออย่างมีดหรือขวานบ้าง 

ฉากแอ็กชั่นกลางเรื่องที่กลุ่มของคาร์เนกี้ถล่มบ้านที่อีไลเข้าไปหลบซ่อน มีการเล่นมุมกล้องเจ๋งๆอยู่เยอะทีเดียว






3 สิ่งที่ไม่ชอบเกี่ยวกับ The Book of Eli


1) พล็อตโดยรวมน่าผิดหวัง

The Book of Eli มีไอเดียตั้งต้นที่ดีมากๆ แต่พอมาถึงตอนท้าย ตอนที่เฉลยว่าทำไมอีไลถึงต้องเดินทางไปตะวันตก ทำไมอีไลถึงมีความสามารถมากมาย ทำไมคาร์เนกี้ถึงได้อยากได้ "หนังสือหนึ่งเล่ม" นัก ทำไมโลกถึงได้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น หนังกลับรู้สึก "ชวนให้สงสัย" มากกว่าจะสร้างความพึงพอใจ มันรู้สึกไม่สมเหตุสมผลแบบแปลกๆ 

กลายเป็นว่า มันจะสมเหตุสมผลมากถ้าคุณปิดหลักตรรกะทั้งหมด แล้วใช้ "ศรัทธา" เรื่องศาสนาคริสต์ในการเข้าถึงหนังเรื่องนี้

แต่ในฐานะคนที่ไม่ได้อะไรกับศาสนามาก จึงค่อนข้างจะแบบ... รู้สึกเสียดายโอกาสที่หนังอุตส่าห์สร้างขึ้น

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าผมชอบเรื่องการเดินทางของอีไล ชอบการเดินทางเพื่อภารกิจอะไรสักอย่างที่สูงส่ง เพื่อตัวตนที่เหนือกว่าตัวเขาเอง

แต่มันจะสมเหตุสมผลกว่าหรือไม่ ถ้า "อำนาจอะไรสักอย่าง" บีบให้อีไลต้องใช้ความสามารถที่ได้รับมา ในการช่วยเหลือเมืองให้พ้นจากเงื้อมมือของคาร์เนกี้ มันจะเป็นไม่เป็นเรื่องที่ถูกต้องกว่าหรือเปล่า ถ้าการเดินทางของอีไลไม่ใช่แค่เดินไปถึงจุดหมายปลายทางเพื่อ "นำส่งหนังสือหนึ่งเล่ม" เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออกช่วยเหลือผู้คนตามทางไปด้วย

แน่นอนว่า สำหรับคนที่นับถือศาสนาคริสต์ เป้าหมายของอีไลอาจจะสมเหตุสมผล เพราะหากไปถึงเป้าหมายปลายทาง แล้วสิ่งนั้นที่อีไลส่งมอบให้ เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์กลับคืนสู่สิ่งที่ควรจะเป็นได้จริง มันก็ย่อมต้องเป็นเรื่องที่ดี

แต่ก็มีคำถามตามมาอีก...

แล้วศาสนาอิสลามล่ะ?

แล้วศาสนาพุทธล่ะ?

แปลว่า The Book of Eli นี่ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกา แต่ในประเทศอื่นๆก็มีคนแบบอีไลที่ออกเดินทางเพื่อเป้าหมายที่สูงกว่าตัวเอง เพื่อกอบกู้สังคมมนุษย์กลับคืนมาด้วย "ศรัทธาในศาสนาของตัวเอง"? 

บอกแล้ว... ไอเดียของหนังดี แต่พอมาถึงตอนท้าย มันกลายเป็นฉนวนให้ต้องตั้งคำถามอะไรต่อมิอะไรมากมาย เมื่อทุกอย่างลงท้ายที่ความเป็นคริสต์อย่างเดียว

และถ้าสมมติว่าผมไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องศาวสนาคริสต์...

ในหนังเรื่องนี้ คาร์เนกี้คือผู้ปกครองเมืองที่ต้องการแผ่ขยายอำนาจของตัวเองด้วย "ศรัทธา" จึงต้องการ "หนังสือหนึ่งเล่ม" ที่อีไลมีอยู่

มันจะน่าสนใจกว่าหรือไม่ ถ้าคาร์เนกี้ตั้ง "ศาสนาของตัวเอง" ขึ้นมาเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วอีไลคือคนที่นำพา "ศาสนาที่แท้จริง" มาสู่คนในเมือง? 

ผมรู้สึกว่าการเดินทางเพื่อส่งมอบ "หนังสือหนึ่งเล่ม" นั่น ไม่น่าจะช่วยให้โลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เลยนะ

เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะหนังก็บอกอยู่แล้วว่า "ศรัทธาคือต้นเหตุของสงครามล้างโลก" ด้วยซ้ำ คาร์เนกี้บอกว่า "ศรัทธา" มันเอามาใช้เป็นอาวุธได้ แล้วการนำสังคมมนุษย์กลับมาอีกครั้งด้วย "หนังสือหนึ่งเล่ม" เฉยๆ ไม่มีการกระทำอะไรที่ช่วยเตือนสติให้สังคมมนุษย์ มันจะช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นซ้ำได้อย่างไรกันล่ะ?

โอย... คิดถึงตรงนี้แล้วปวดหมอง... สำหรับคนที่ไม่ได้อะไรกับศาสนามากนักน่ะนะ




2) จังหวะการเดินเรื่องน่าเบื่อในบางช่วง

แดนเซล วอร์ชิงตันเล่นดี ภาพสวย ฉากแอ็กชั่นดูดี 

แต่การดำเนินเรื่องกลับชวนให้รู้สึกว่ามันน่าเบื่อในบางช่วง หลังจากที่อีไลกับโซราล่าออกเดินทางด้วยกัน หนังก็เริ่มมีจังหวะการเล่าเรื่องที่ลงตัวน้อยลง ทว่ายังมีฉากแอ็กชั่นเจ๋งๆให้ดูอยู่บ้าง



อย่างไรก็ตาม พอไปถึงองก์สามของเรื่อง หนังกลับเปลี่ยนจังหวะไปเสียอย่างนั้น โดยปกติแล้วฉากไคลแม็กซ์ควรจะเป็นจุดพีคที่สุดของหนัง ทว่าองก์สามของหนังเรื่องนี้ กลับอ่อนแรงลงไปจากสององก์แรกของหนังมาก ไม่มีอุปสรรค ไม่มีอะไรที่ทำให้อีไลกับโซราล่าต้องลำบากลำบนมากนัก ไม่มีอารมณ์ตึงเครียดในแบบที่ไคลแม็กซ์ควรจะเป็น 

กราฟการเล่าเรื่องด้านล่าง น่าจะเป็นตัวสรุปประเด็นตรงนี้ได้ดีที่สุด จะเห็นว่าในการเล่าเรื่องตามมาตรฐานนั้น ไคลแม็กซ์ควรจะอยู่สูงกว่าชาวบ้าน ในขณะที่ไคลแม็กซ์ของ The Book of Eli กลับพาไปไม่ถึงยอด เอาจริงๆช่วงที่มีความลงตัวที่สุดในหนัง กลับเป็นช่วงองก์แรกที่อีไลเดินทางตามลำพังมาจนกระทั่งมาเจอความขัดแย้งกับพวกคาร์เนกี้ในเมืองเท่านั้น




3) ตัวละครนอกจากอีไล ไม่มีใครน่าสนใจเลย

ไม่ว่าจะเป็นคาร์เนกี้ที่แสดงโดยแกรี่ โอลด์แมน หรือโซราล่าที่แสดงโดยมิล่า คูนิส ไม่มีตัวละครตัวไหนที่น่าสนใจเลยจริงๆ

แกรี่ โอลด์แมนเป็นนักแสดงที่เก่งกาจ ใครเคยดูเขาเล่นเป็นผู้ร้ายใน The Fifth Element เคยเห็นเขาเป็นแดร็กคูล่าใน Bram Stoker's Dracula แล้วเคยเห็นเขาเป็นตำรวจเจมส์ กอร์ดอนใน The Dark Knight น่าจะเข้าใจได้ว่าแกรี่ โอลด์แมนสามารถแสดงได้หลายบทบาทตั้งแต่คนดียันคนเลว และแสดงได้อย่างน่าเชื่อถือด้วย

แต่ตัวละครคาร์เนกี้มันขึ้นๆลงๆแบบแปลกๆ เดี๋ยวก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ สื่อให้เห็นว่าเขาก็ไม่ใช่คนเลวอะไร เดี๋ยวก็มีแง่มุมแบบตัวร้ายโหดๆทั่วไป สุดท้ายไม่ได้เป็นตัวละครที่น่าสนใจเลยสักนิด แม้แต่การแสดงของแกรี่ โอลด์แมนก็ช่วยตัวละครนี้ไว้ไม่ได้





ส่วนตัวละครของมิล่า คูนิส... เหมือนจะมีไว้เพื่อช่วยให้อีไลเดินทางต่อไปจนถึงจุดมุ่งหมาย กับเพื่อเซาะแซะถามเรื่องราวความเป็นมาของอีไลให้คนดูได้รู้เฉยๆเท่านั้นแหละ ไม่มีประโยช์ต่อเนื้อหาอะไรเป็นพิเศษ



ฉะนั้นพอตอนท้ายมาถึง... เอ่อ... คือหนังไม่ได้ปูเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับตัวเธอไว้มากนัก พอตอนท้าย หนังแสดงให้เห็นว่าโซราล่าแข็งแกร่งขึ้น แล้วพร้อมจะออกเดินทางเพื่อกลับมาช่วยเหลือบ้านเกิดตัวเองแบบเท่ๆ... คือมันเท่จริง แต่มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบทสรุปของหนังเลย

มันเหมือนคนสร้างอยากจะให้โซราล่าได้รับอิทธิพลจากการเดินทางของอีไล จนทำให้ตัวละครของเธอแข็งแกร่งขึ้น อะไรทำนองนั้น

แต่... ในเมื่อหนังมันเป็นเรื่องของการเดินทางเพื่อ "ศรัทธา" ของอีไล... แล้วการเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ของโซราล่า มันไปเข้ากับประเด็นของอีไลตรงไหนกันล่ะ? มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแง่มุมแบบคริสต์เหมือนของอีไลเลยสักนิด

ถ้าการเดินทางของอีไลคือการช่วยเหลือชาวบ้านมากกว่าการเดินทางเพื่อไปส่งมอบ "หนังสือหนึ่งเล่ม" เพียงอย่างเดียว บางทีการเปลี่ยนแปลงของโซราล่า อาจจะเข้าท่าขึ้นมาก็ได้นะ 





โดยรวมแล้วผมให้ The Book of Eli...

6/10

มันมีไอเดียเข้าท่า มีโทนที่แฟน Fallout จะต้องชอบ มันมีฉากแอ็กชั่นที่ใช้ได้ โดยรวมหนังก็สนุกใช้ได้ แต่พอลงลึกเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราว... มันค่อนข้างจะชวนให้ขัดใจหรือสงสัยเสียมากกว่า




Create Date : 21 สิงหาคม 2559
Last Update : 27 สิงหาคม 2559 14:33:36 น.
Counter : 3678 Pageviews.

0 comment
A Boy and His Dog (1975) : เมื่อเกม Fallout พาข้าพเจ้ามาเจอ




ผมเล่นเกม Fallout 3, Fallout New Vegas และ Fallout 4 

ผมรู้ว่าเกมได้รับแรงบันดาลใจจากหนังอย่าง Mad Max แต่ดูเหมือนว่า Mad Max จะไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งในหนังที่เกม Fallout ได้แรงบันดาลใจ 

เอาจริงๆแล้วเรื่องที่ใกล้เคียงกับ Fallout ที่สุดนั้นน่าจะเป็น A Boy and His Dog หนังที่ออกฉายในปี 1975 นี่เอง

และผมชอบหนังเรื่องนี้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

มันมีการผจญภัย มีแอ็กชั่นดวลปืนกัน มีฉากโป๊ แต่ขณะเดียวกันก็มีแง่มุมตลกร้ายผสมอยู่ด้วย (อย่าเห็นว่าชื่อเรื่องเป็น "เด็กชายกับหมา" แล้วจะกลายเป็นหนังผจญภัย "เด็กดีดูได้" เชียวนะ!)



A Boy and His Dog ดัดแปลงมาจากหนังสือของฮาร์แลน เอลลิสัน (Harlen Ellison) เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 2024 หลังจากที่โลกมนุษย์ต้องพบภัยพิบัติเมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น วิคเป็นเด็กหนุ่มอายุ 18 ปีที่ออกผจญภัย (เอาชีวิตรอด) พร้อมกับหมาชื่อบลัด แต่สิ่งที่ทำให้วิคกับบลัดผูกพันกันมากกว่าคนกับหมาก็คือ

วิคคุยกับบลัดได้!




หนังเปิดเรื่องโดยที่วิคกำลังอยากหาผู้หญิงมามีเซ็กส์ด้วย แต่ในโลกนี้ช่างโหดร้าย ผู้หญิงนอกจากจะตกเป็นเครื่องมือทางเพศแล้ว ยังจบลงด้วยความป่าเถื่อนอย่างเช่นถูกทำร้ายร่างกายจนยับ ผลสุดท้ายวิคจึงแห้วไปตามระเบียบ 



กระทั่งวิคกับบลัดไปดูหนัง (โป๊) ด้วยกัน บลัดจึงบอกว่า "ในนี้มีผู้หญิงแน่ะ" วิคจึงเกิดความหื่นขึ้นมา และเกลี้ยกล่อมจนกระทั่งยอมให้บลัดบอกว่าผู้หญิงคนที่ซ่อนตัวอยู่ใน "โรงหนัง" คือใคร สุดท้ายวิคจึงได้เจอกับสาวเจ้าเสน่ห์ชื่อควิลล่า จูน โฮลม์ส ทว่าการได้พบกับควิลล่ากับพาวิคไปเจอกับอะไรที่คาดไม่ถึง






3 สิ่งที่ผมชอบใน A Boy and His Dog:


1) ความสัมพันธ์ระหว่างวิคกับบลัด

วิคกับบลัดไม่ได้ผูกพันกันแค่สาเหตุที่พูดคุยกันรู้เรื่องเท่านั้น แต่บลัดเป็นเหมือนกับผู้อาวุโสที่คอยให้สติวิคอยู่บ่อยครั้ง 

บลัดเป็นหมาที่รอบรู้ ฉลาด มันมักคอยสอนวิคอะไรต่อมิอะไรมากมาย เมื่อเวลาที่ต้องต่อสู้ บลัดกับวิคก็ไม่เคยทอดทิ้งกัน แม้จะมีช่วงเวลาที่ทั้งคู่ทะเลาะกันอยู่บ้างก็ตาม 

สิ่งที่ทำให้ผมอดทนกับการเดินเรื่องแบบช้าๆเนิบๆได้ ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่างวิคกับบลัดนี่แหละ




2) ความเป็นเกม Fallout

ในฐานะคนเล่นเกม Fallout หนังเรื่อง A Boy and His Dog ถือว่าเป็นอะไรที่ "ใช่" เสียยิ่งกว่า Mad Max เสียอีก


โลกหลังสงครามนิวเคลียร์ที่รกร้าง ---- เช็คSmiley




โลกอนาคตที่ไม่มียานพาหนะอื่นนอกจากเดินและเดิน ---- เช็คSmiley




อาวุธปืนโบราณอย่างไรเฟิลและปืนลูกโม่ ---- เช็คSmiley




บังเกอร์ใต้ดิน ---- เช็คSmiley




บ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่มีกฎหมาย มีแก๊งอันธพาล ---- เช็คSmiley




เมืองบนดินที่เอาเศษเหล็กมาก่อๆกันเป็นกำแพง หรือสร้างจากขยะเศษเหล็ก ---- เช็คSmiley




กลุ่มสังคมลับแบบยูโทเปียแต่เปลือกนอก ---- เช็คSmiley




ภาพตอนจบที่ตัวเอกออกเดินทางพร้อมกับหมาคู่ใจ ---- เช็คSmiley




ตอนที่ A Boy and His Dog ออกฉายครั้งแรก มันไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้มากนัก อย่างไรก็ตาม แฟนเกม Fallout ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นที่ฮิตในหมู่คนเฉพาะกลุ่มขึ้นมา

นอกจาก Fallout แล้ว ยังมีเกมที่ได้รับอิทธิพลหนังเรื่องนี้อยู่อีก นั่นก็คือ We Happy Few ตรงไหนน่ะหรือ? ก็สังคมยูโทเปียที่พอกหน้าขาวๆไง!





3) ตลกร้าย

สิ่งที่ทำให้ผมชอบ A Boy and His Dog มากที่สุดก็คือ ความเป็นหนังตลกร้ายนี่เอง!

บลัดเป็นหมาที่ทรงความรู้ ฉะนั้นเวลาที่บลัดคอมเมนท์อะไร มักจะมีอารมณ์ของการจิกกัดอยู่บ่อยครั้ง เช่น 

ตอนที่วิคกำลังจะมีเซ็กส์กับควิลล่า บลัดบอกว่า "เอาเหอะ การผสมพันธุ์ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนี่นะ" ฮ่าๆๆๆ



แล้วตลอดทั้งเรื่อง วิคค้นหาการมีเซ็กส์กับผู้หญิงมาตลอด หลังจากวิคมีเซ็กส์กับควิลล่าสมใจอยากแล้ว ควิลล่ากลับเอาไฟฉายฟาดวิคจนสลบแล้วหนีไปยัง "โทเพก้า" สังคมเมืองสุดมีอารยธรรมที่อยู่ใต้ดิน โดยจงใจทิ้งร่องรอยไว้ให้ วิคตามรอยของควิลล่าไปจนถึงโทเพก้า แล้วค้นพบว่า... ทั้งหมดเป็นแผน...

โทเพก้ากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตที่การ "ผสมพันธุ์" เกิดติดขัดขึ้นมา ทำให้คนในสังคมไม่อาจปั๊มลูกขึ้นได้อีก จึงเลือกวิคมาเป็นพ่อพันธุ์ แต่แทนที่วิคจะได้มีเซ็กส์กับผู้หญิงทุกคนในโทเพก้าแบบหนังโป๊ฮาเร็ม เขากลับต้องนอนอยู่บนเตียง แล้วถูกเครื่องจักรดูดน้ำเชื้อออกมาเหมือนกับพ่อพันธุ์วัว! แล้วขณะที่ดูดน้ำเชื้อใส่หลอด ก็จะมีการพาผู้หญิงที่สวมชุดแต่งงานมาทำพิธีแต่งงานกับวิคด้วย!

เจ็บแสบมาก!




ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังจิกกัดระหว่าง "เซ็กส์" "การมีชีวิตรอด" และ "ความรัก" 

ควิลล่าพยายามจะพูดว่า "ฉันรักเธอ" กับวิคในหลายๆครั้ง แต่คำว่ารักในหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับสังคมที่สวยหรูแต่ภายนอก ทว่าฟอนเฟะภายในของโทเพก้า คือมันก็เป็นแค่ "หน้ากากอันสวยหรู" ที่เอามาสวมเพื่อให้การดิ้นรนมีชีวิตรอดมันดูดีขึ้นมาเท่านั้นเอง



และที่จิกกัดได้อย่างแสบสันก็คือ ความแตกต่างระหว่างโลกบนดินกับโทเพก้า มีเพียงแค่ภาพลักษณ์เท่านั้น คือโลกบนดินฟอนเฟะจากภัยสงคราม ทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดแม้จะป่าเถื่อนแค่ไหนก็ต้องทำ ส่วนโทเพก้าคือสังคมที่สวยหรู มีอารยธรรม ทว่าสุดท้ายแล้ว ทั้งสองฝ่ายกลังทำทุกวิถีทางเพื่อดิ้นรนเอาชีวิตรอดเหมือนกัน

ภายใต้เปลือกอันสวยงามของโทเพก้า กลับป่าเถื่อนและไร้อารยธรรมพอๆกับข้างบนดิน

และนั่นจึงนำมาซึ่งบทสรุประหว่างวิค, บลัด และควิลล่าที่แสบสันจนอดฮาไม่ได้!


สรุปผมให้ A Boy and His Dog...

7/10

การดำเนินเรื่องเหมือนจะไม่สนุก แต่ความสัมพันธ์กับวิคและบลัดทำให้หนังดูสนุก และการจิกกัดสังคมมนุษย์ก็ทำได้แสบสัน แถมคนที่เป็นแฟนเกม Fallout ยิ่งต้องชอบเข้าไปใหญ่ น่าจะได้เห็นว่าเกม Fallout หยิบยืมแนวความคิดหลายต่อหลายอย่างจากหนังเรื่องนี้ไปใช้ตรงไหนยังไงบ้าง

โชคดีจริงๆที่ได้ดู!



Create Date : 21 สิงหาคม 2559
Last Update : 21 สิงหาคม 2559 16:20:26 น.
Counter : 2326 Pageviews.

1 comment
Suicide Squad: กลัวอะไรถ้าใจมันบอกว่า "สนุก"!


หมายเหตุ : พยายามไม่ให้มีสปอยล์นะ



Suicide Squad หนังที่เป็นความหวังสำหรับแฟน DC Comics หลังจากความน่าผิดหวังของ Batman v Superman: Dawn of Justice ทว่าเสียงวิจารณ์จากนักวิจารณ์กลับสับเละ YouTuber บางคนด่าราวกับว่านี่คือความเลวร้ายที่สุดในชีวิต



อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคนดูบางคนจะชอบหนังเรื่องนี้ YouTuber บางคนก็ชอบ

และผมก็ว่ามันสนุก

ใช่! สนุก 

ก่อนจะเข้าโรง ผมเตรียมจะง้างด่าตามกระแส แต่แผนการนั้นคว่ำไปในทันทีหลังได้ดูหนังกับตาตัวเอง

แต่เข้าใจได้ว่าทำไมนักวิจารณ์กับคนดูบางคนถึงไม่ชอบ เพราะว่าหนังมันมีปัญหาจริงๆนั่นแหละ



Suicide Squad ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนของค่าย DC Comics เครือเดียวกับซูเปอร์แมน แบทแมน แต่เป็นการรวมทีมของเหล่าวายร้ายแทน เป็นไอเดียทำนองว่าเอาพวกวายร้าย (ที่ใช้แล้วทิ้งได้ง่ายๆ) มาปฏิบัติภารกิจประเภท black ops (ปฏิบัติการลับ) แทนเหล่าฮีโร่ที่งานยุ่งกันอยู่แล้ว แถมยังใช้อำนาจควบคุมได้ง่ายกว่าด้วย



Warner/DC กล้ามากที่เอา Suicide Squad มาเป็นหนังขยายจักรวาล DC เรื่องที่สามต่อจาก Man of Steel และ Batman v Superman ตัวร้ายหลายคน คนดูส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ ยกเว้นแต่โจ๊กเกอร์ซึ่งเป็นตัวประกอบกิตติมศักดิ์ของเรื่อง

มันเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจาก Batman v Superman คืออแมนด้า วอลเลอร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐตั้งใจจะรวมกลุ่ม "วายร้ายใช้แล้วทิ้ง" เพื่อมาปฏิบัติการต่างๆตามแนวคิดของเธอ ซึ่งวายร้ายที่ว่า มี "เด้ดช็อต" มือปืนผู้แม่นราวจับวาง, "ฮาร์ลีย์ ควินน์" ยัยตัวร้ายจิตป่วย, "กัปตันบูเมอแรง" วายร้ายผู้ใช้บูเมอแรงเป็นอาวุธ, "เอล เดียโบล" อดีตอาชญากรผู้มีพลังในการใช้ไฟ, "คิลเลอร์คร็อก" วายร้ายที่ยีนประหลาดจนกลายทำให้ร่างกายและจิตใจเป็นเหมือนจระเข้, "คาตาน่า" สาวญี่ปุ่นผู้ใช้ดาบที่มีวิญญาณของสามีสถิตอยู่, "สลิปน็อต" วายร้ายที่ใช้เชือกเป็นอาวุธ และ "เอนแชนเทรส" แม่มดจากโลกในอดีต

ทั้งหมดนี้จะปฏิบัติภารกิจภายใต้การดูแลของ "ริค แฟลก" นายทหารผู้อาจหาญ



ทว่ายังไม่ทันจะได้เซ็ททีมแบบเป็นจริงเป็นจัง กลับมีวายร้ายโผล่ขึ้นมายึดเมืองมิดเวย์ซิตี้ (เมืองที่แต่งขึ้นเองในโลกของ DC คล้ายก็อทแธม) พวกหน่วยวายร้ายพลีชีพจึงต้องปฏิบัติภารกิจโดยมีลูกระเบิดติดอยู่ที่คอ ใครขัดคืนมีค่าเท่ากับ "บู้ม" หัวกระจุย!



3 สิ่งที่ชอบ:


1) 2 ใน 3 ของเรื่อง "สนุก"

ด่าผมได้เลยว่าดูหนังไม่เป็นหรืออะไรก็ตาม ยอมเลยว่ะ แต่หลังจากฟังคำด่าของนักวิจารณ์ทั้งเทศและไทย รวมถึงคนที่ไปดูรอบสื่อ ผมคาดหวังว่ามันจะเลวร้าย แต่พอดูจริงๆกลับกลายเป็นว่า "เฮ้ย... ก็สนุกใช้ได้นี่หว่า"

โอเค ผมรู้ว่าหนังมีปัญหา ตรงนั้นเราจะไปพูดกันทีหลัง แต่สององก์แรกของหนังมันสนุกเอาเรื่อง ผมเพลินกับฉากแอ็กชั่นในหนังมาก มีขำกับมุกตลกบางมุก โดยเฉพาะตัวเด้ดช็อต ปล่อยมุกได้สมกับเป็นวิล สมิธจริงๆ

ผมสนุกไปคนเดียวหรือเปล่า? ไม่รู้สิ แต่เห็นคนในโรงก็บันเทิงกันพอสมควรนะ พอหนังจบทุกคนก็พูดคุยกันสนุกสนาน ไม่ได้เดินออกมามึนๆเหมือน Batman v Superman

ใช่ ผมว่าหนังสนุกกว่า Batman v Superman ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าฉากแอ็กชั่น อย่างน้อยองก์แรกที่เป็นการแนะนำตัวละครของ Suicide Squad ยังเล่าเรื่องได้สนุกกว่าองก์แรกของ Batman v Superman เยอะ

แต่บางที มันอาจเป็นเพราะผมเคยอ่านหนังสือการ์ตูน Suicide Squad กับเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในหนังอยู่บ้าง ก็เลยรู้จักตัวละครหลายตัวในนั้น... เอาจริงๆมีแค่เอนแชนเทรสกับสลิปน็อตเท่านั้นแหละ ที่ผมไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ ผลเลยกลายเป็นว่าผมสนุกกับเรื่องนี้กว่าที่คาดไว้



Smiley

2) เด้ดช็อต = วิล สมิธ / อแมนด้า วอลเลอร์ = เก๋า

ตัวละครใน Suicide Squad "สนุก" ในความเห็นของผม พวกเขาคือวายร้าย ดังนั้นจึงไม่น่าเบื่อเหมือนบรรดาฮีโร่ ไม่ได้มีพฤติกรรมในแบบวีรบุรุษอะไรมากมาย 

ผมชอบเด้ดช็อต ตอนแรกผมยี้ที่วิล สมิธจะมาเล่น แต่กลายเป็นว่าเด้ดช็อตของวิล สมิธคือส่วนดีสุดของหนังไปเลย 

เด้ดช็อตเป็นนักฆ่าจริง แต่ไม่ได้โคตรเลว จุดอ่อนของเด้ดช็อตคือเรื่องลูกสาว ดังนั้นเราจึงเห็นประเด็นนี้โผล่เข้ามาเกือบตลอดเรื่อง มันทำให้คนดูทั่วไปเชื่อมโยงกับเด้ดช็อตได้ง่ายทั้งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และฉากแอ็กชั่นที่เกี่ยวกับเด้ดช็อตถือเป็นความบันเทิงระดับต้นๆใน Suicide Squad ทีเดียว

ส่วนอแมนด้า วอลเลอร์...

เราคงไม่สามารถพูดถึง Suicide Squad โดยปราศจากอแมนด้า วอลเลอร์ได้ เพราะเธอคือ "แก่น" ของทีม เธอคือยัยเจ๊ผู้น่าเกรงขามที่แม้แต่แบทแมนก็ยังรับมือลำบาก

ผมชอบอแมนด้า วอลเลอร์ในหนังนะ ในหนังสือการ์ตูนหรือการ์ตูนทีวี เธอจะออกเคี่ยวๆ ออกเหี้ยมๆแบบในหนังนั่นแหละ เธอ "จำเป็น" ต้องมีคาแร็กเตอร์แบบนี้ เพราะอะไร? เพราะเธอกำลังเล่นกับแผนการที่เปรียบได้กับ "ระเบิดนิวเคลียร์" การเอาวายร้ายมาตั้งทีม มีโอกาสสูงมากที่จะเละเป็นโจ๊กได้ แต่นี่แหละที่ทำให้อแมนด้า วอลเลอร์เป็น "ตัวแสบ" ทั้งในหนังสือการ์ตูน, การ์ตูนทีวี, การ์ตูนขายทางดีวีดี รวมทั้งในหนังด้วย

ในความเห็นของผม อแมนด้า วอลเลอร์คืออีกหนึ่งส่วนที่ทำให้หนังดูบันเทิง... ควบคู่กันไปกับเด้ดช็อต

ส่วนตัวละครอื่นๆ ผมชอบเอล เดียโบลมากกว่าที่คาดไว้ ผมโอเคกับคาตาน่าและคิลเลอร์คร็อก แต่กัปตันบูเมอแรงออกจะไร้ประโยชน์ไปสักหน่อย



Smiley

3) ฮาร์ลีย์ ควินน์ = ใช้ได้

ในความเห็นของผม ฮาร์ลีย์ ควินน์เวอร์ชั่นในหนังที่แสดงโดยมาร์ก็อต ร็อบบี้ (ช่วงนี้งานชุก เมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีผลงานใน The Legend of Tarzan) นั้น ค่อนข้างจะ "โอเค" นะ

คาแร็กเตอร์ของฮาร์ลีย์ ควินน์ปรากฏตัวครั้งแรกใน Batman: Animated Series ปี 1995 ด้วยความเป็นการ์ตูนเด็ก เธอเลยค่อนข้างจะเป็นวายร้ายที่สดใส ออกต๊องๆให้เด็กบันเทิงเล่น แต่กลับดังสุดๆจนฉุดไม่อยู่ หลังจากนั้นเธอก็ไปปรากฏทั้งในหนังสือการ์ตูนและเกม



ใน New 52 ฮาร์ลีย์ ควินน์ดังถึงขนาดมีหัวหนังสือเป็นของตัวเอง และยังทำยอดขายได้ดีกว่าฮีโร่ดังๆหลายตัวอีก!



ถ้าให้ผมอธิบายฮาร์ลีย์ ควินน์... จะว่าไงดีล่ะ

ลองนึกถึง "My Little Pony" ที่บรรดาสาวๆ (ม้า) ออกมาวี๊ดว๊ายๆ แล้วอยู่ดีๆก็ "ตู้ม" มีม้าตัวหนึ่งควักไม้ออกมาฟาดม้าอีกตัวแบบเลือดสาด แล้วก็หัวเราะ "ฮะๆๆๆ" ก่อนจะกระโดดดึ๋งๆไปอย่างสดใส... นั่นแหละคือโลกของฮาร์ลีย์ ควินน์

พูดง่ายๆคือเห็นติงต๊องลั๊ลลา แต่เอาจริงๆก็โหดเอาเรื่อง



ฮาร์ลีย์คลั่งไคล้ในตัวโจ๊กเกอร์มาก คู่ของโจ๊กเกอร์กับฮาร์ลีย์นั้น อาจเปรียบได้กับนิยายรักโรแมนติกเวอร์ชั่นจิตป่วย เธอสามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพื่อโจ๊กเกอร์ ดังนั้นในหนังสือการ์ตูน Suicide Squad เธอสามารถหักหลังเพื่อนร่วมทีมได้หากเป็นเรื่องของโจ๊กเกอร์!

อย่างไรก็ตาม ฮาร์ลีย์ ควินน์ไม่ใช่ว่าจะร้ายเพียงอย่างเดียว ฮาร์ลีย์ ควินน์ในหัวหนังสือการ์ตูน Harley Quinn นั้น เธอพยายามจะทำเรื่องดีๆให้กับเพื่อนบ้านด้วย บางครั้งเธอก็มีไปร่วมมือกับฮีโร่ อย่างเช่น ในหัวหนังสือ "Harley Quinn and Power Girl" เธอร่วมทีมกับฮีโร่สาวชื่อพาวเวอร์เกิร์ลในการผจญภัยอวกาศ

หลังๆฮาร์ลีย์ ควินน์ถูกจัดอยู่ในหมวดของ anti-hero หรือตัวเอกแหกขนบมากกว่าจะเป็นวายร้าย



ส่วนเวอร์ชั่นในหนัง ฮาร์ลีย์ ควินน์ก็เหมือนจะมีอารมณ์อย่างที่ว่ามาอยู่บ้าง เราได้เห็นว่าเธอร้าย บ้าคลั่ง แต่ก็มีด้านดีๆซ่อนอยู่เช่นกัน (แม้สุดท้ายจะยังตามก้นโจ๊กเกอร์ต่อไปก็เถอะ) แค่อาจจะลดความจัดจ้านจี๊ดจ๊าดและเสียงแปร๋นๆไปพอสมควร ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะฮาร์ลีย์ทั้งในอนิเมซีรีส์กับหนังสือการ์ตูน ล้วนไม่เหมาะกับโทนหนังทั้งนั้น ผมว่ามาร์ก็อต ร็อบบี้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วละ 

ถ้าจะมีอะไรที่ไม่ชอบ... อืม นั่นสินะ คงเป็นวิธีการต่อสู้ของเธอนั่นแหละ เอาไม้เบสบอลฟาดเหล่าร้ายที่เป็นซอมบี้เนี่ยนะ... จะฮาไปไหน เอ๊ะ หรือว่าตรงนี้ถือเป็นมุกตลกร้ายสไตล์ฮาร์ลีย์ ควินน์? อืม... เป็นไปได้อยู่






3 สิ่งที่ไม่ชอบ


1) องก์สามของเรื่อง... แม่เจ้า!

ผมได้รับคำเตือนมาแล้วว่า หนังจะโอเคตอนแรกแล้วเริ่มดิ่งเหวลงเรื่อยๆ สำหรับผม มันมาดิ่งเหวเอาตอนองก์สามของเรื่อง ตอนที่สู้กับวายร้ายของเรื่องนี่แหละ 

ผมว่าตัวร้ายใหญ่ใน Suicide Squad ไม่เข้าท่าเอาซะเลย ผมไม่ชอบคาแร็กเตอร์ของตัวร้าย ในโรงที่ผมดู มีคนขำท่าทางที่ตัวร้ายแสดงด้วย ผมไม่ชอบความสามารถของตัวร้าย มันเหมือนผู้สร้างก็ไม่แน่ชัดว่าจะให้ทำอะไร แล้วความสามารถก็ลดหรือเพิ่มขึ้นตามความต้องการว่าจะให้เกิดฉากแอ็กชั่นรูปแบบไหนขึ้น

ผมจะชอบองก์สามมากกว่าถ้าปรากฏว่าโจกเกอร์ออกมายึดแผนการที่ตัวร้ายในสององก์แรกวางไว้ มาเป็นของตัวเอง แล้วทีม Suicide Squad ก็ต้องเผชิญหน้ากับหายนะที่เกิดมาจากตัวโจกเกอร์และฮาร์ลีย์ ควินน์ ถ้าเป็นแบบนี้หนังมันคงจะเจ๋งมาก เพราะมันจะเข้ากับธีม "ความกำกวมทางด้านศีลธรรม" และการต่อสู้เอาชีวิตรอด ซึ่งเหมาะกว่าตัวร้ายที่ใช้จริงในหนังแน่นอน... ถ้ากำกับออกมาได้ดีนะ

Smiley

2) การตัดต่อและการเล่าเรื่องโดยรวม

ผมเข้าใจว่าทำไมนักวิจารณ์ถึงไม่ชอบ

ผมสนุกกับ Suicide Squad 

แต่ผมเห็นด้วยที่การเล่าเรื่องมีปัญหา จังหวะการตัดต่อมันแปลกๆอยู่หลายครั้ง เช่น พูดถึงเรื่องฮาร์ลีย์ในกรงขัง แล้วจู่ๆก็กระโดดไปที่ฮาร์ลีย์ซีนอื่น คือพอจะเข้าใจได้ว่าหนังต้องการสื่อถึงอะไร เพียงแต่วิธีการตัดต่อ การเปลี่ยนซีน มันดูโดดๆแบบแปลกๆ แล้วก็พยายามใส่ฟิลเตอร์อะไรที่ชวนให้รู้สึกรำคาญพิลึกเข้ามาด้วย

ที่รำคาญสุดคงเป็นการอัดเพลงเข้ามาแบบต่อเนื่อง ไม่แปลกใจเลยที่บางคนจะด่าว่า "มันเหมือนตัวอย่างหนังทั้งเรื่อง" 

ตัวอย่างของการเล่าเรื่องที่ผมรู้สึกขัดใจ:

ในกลางเรื่อง ทีมตัวเอกจะบุกเข้าไปในตึก แล้วจู่ๆหนังก็ตัดไปที่ฮาร์ลีย์ขึ้นลิฟท์ไปแล้ว (อย่างไม่มีเหตุผลอะไรทั้งนั้น) แล้วก็ศัตรูก็บุกเข้าโจมตีในลิฟท์ ฮาร์ลีย์โชว์เทพ ก่อนประตูลิฟท์จะเปิดและเห็นพวกเพื่อนร่วมทีมมายืนรอหน้าลิฟท์

เอ่อ... คือฉากโชว์แอ็กชั่นของฮาร์ลีย์ก็ดีอยู่หรอกนะ แต่รู้สึกว่าทำไมมันดูโดดๆอย่างบอกไม่ถูก

Smiley

3) พล็อต... ซ้ำซากจัง! + บางอย่างไม่เม้กเซนส์

พล็อตเรื่องมันง่ายและซ้ำซากมาก มันเหมือนหนังซูเปอร์ฮีโร่หรือหนังที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนที่ผ่านๆมาหลายต่อหลายต่อหลายเรื่องเหลือเกิน

มันมีตัวร้ายวางแผนจะสร้างเครื่องมืออะไรสักอย่าง เพื่ออะไรสักอย่าง พวกตัวเอกก็เลยต้องไปหยุดยั้งก่อนที่จะอะไรสักอย่าง

ฟู่...

ผมรู้สึกว่ามันเสียของแฮะ

คือ Suicide Squad เป็นทีมที่เหมาะกับปฏิบัติการแบบ black ops เป็นทีมเล็กๆที่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลและพร้อมจะทิ้งได้ทุกเมื่อถ้ามีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ไม่ใช่ทีมที่เหมาะจะไปช่วยกู้โลกหรืออะไรใหญ่ๆแบบที่เห็นในหนัง

เอางี้ดีกว่า

ใครเคยดูการ์ตูน Batman: Assault on Arkham บ้าง? 



ถ้ายังไม่ได้ดู ลองหาดูซะ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับทีม Task Force X (ก็ Suicide Squad นี่แหละ) ต้องเข้าไปปฏิบัติภารกิจลับในโรงพยาบาลบ้า อาร์คแฮมตามคำสั่งของอแมนด้า เพื่อจะเอาธัมไดรฟ์ที่ซ่อนอยู่ในไม้เท้าของริดเดลอร์ (Riddler) เป็นภารกิจแทรกซึมวายร้ายเพื่อเข้าถึงตัววายร้ายอีกคนนั่นเอง



นี่แหละ คือสิ่งที่ Suicide Squad ควรจะเป็น

จริงๆผมเห็นด้วยกับ YouTuber บางคนที่บอกว่า หนัง Suicide Squad น่าจะหยิบยืมไอเดียจาก Assault on Arkham มาใช้เลยด้วยซ้ำ

พูดถึงเรื่องนี้ มันมีบางอย่าง... จริงๆก็หลายอย่างที่ไม่เม้กเซนส์มาก เช่น ที่เด้ดช็อตพูดถึงภารกิจนี้ว่า "พวกเราเป็นแพะรับบาป" เอ่อ... ถ้าเป็น black ops อย่างใน Assault on Arkham น่ะเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นแบบในหนัง Suicide Squad... มันอึกทึกครึกโครมขนาดนี้ไม่น่าจะใช่นา...

แล้วเหตุผลของการตั้งทีมก็อีก ไอ้การตั้งทีมเพื่อใช้แล้วทิ้ง หรือใช้เพื่อเป็นแพะรับบาปน่ะ ถูกต้อง

แต่ไอ้เหตุผลว่าจะตั้งทีมเพื่อเอามาต่อกรกับเมต้าฮิวแมน อย่างซูเปอร์แมนคนที่สองน่ะ... บ้าไปแล้ว!

ลองนึกดูนะครับ สมมติว่าทีมนี้เจอตัวร้ายที่แข็งแกร่งจริงๆ อย่างดูมเดย์สหรือบิซาร์โร่ (ตัวร้ายที่ลูธอร์เอาดีเอนเอของซูเปอร์แมนมาผสมกับตัวเอง จนกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่แข็งแกร่งเหมือนซูเปอร์แมน) เด้ดช็อต, ฮาร์ลีย์ ควินน์ กับกัปตันบูเมอแรงน่ะ เละเป็นปุ๋ยอันดับแรกๆเลยนะคุณนาย! ระดับซูเปอร์แมนน่ะ แค่บินโฉบพร้อมปล่อยแสงเลเซอร์กวาดเป็นทางยาวก็หายนะแล้วนะคุณนาย!

ฮ่วย! 



โดยรวมแล้ว ผมให้ Suicide Squad...

7/10

ใช่ ผมเข้าใจ หนังมีปัญหาในแง่คุณภาพทั้งการเขียนบทและการตัดต่อ เอาจริงๆผมว่า Batman v Superman ยังมีคุณภาพในเชิงการเล่าเรื่องกว่าในบางแง่ (แต่ต้องเป็น Ultimate Cut นะ ไม่ใช่เวอร์ชั่นฉายโรง) อย่างน้อยมันมีพล็อตหรือไอเดียที่ดีกว่า 

และผมก็ค่อนข้างเฉยๆกับโจ๊กเกอร์ของเจเรด เลโต้ บอกไม่ถูกว่าชอบหรือไม่ชอบ มันก้ำๆกึ่งๆ

แต่อย่างที่ว่าไปแล้ว ผมดู Suicide Squad สนุกกว่า Batman v Superman! ผมชอบตัวละครของ Suicide Squad มากกว่า โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของตัวละครในทีม!

ผมไม่แคร์นักวิจารณ์หรือกูรูหน้าไหนทั้งนั้น!

มันคือหนังประเภท guilty pleasure (รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังชอบ) สำหรับผม

ฉะนั้น 

คำแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูแล้วหลงเข้ามาอ่าน...

จงไปดูด้วยตาของตัวเองซะ!

(แล้วหา Assault on Arkham มาด้วยด้วยซะละ!)






Create Date : 06 สิงหาคม 2559
Last Update : 6 สิงหาคม 2559 22:27:07 น.
Counter : 5710 Pageviews.

1 comment
12 วัน 12 หนัง Star Trek : Day 12 - Into Darkness


นี่คือ "12 วัน 12 หนัง Star Trek" เป็นการเอาหนัง Star Trek กลับมาดูอีกรอบรวดเดียว 12 ภาค (ยกเว้น Insurrection กับ Nemesis ที่นับว่าเป็นการดูครั้งแรก) แล้วอัพบล็อกแบบ "1 วันต่อ 1 ภาค" หลายๆภาค เมื่อเอากลับมาดูอีกรอบ จะรู้สึกยังไงกันนะ?

อนึ่ง#1 ไม่นับ Star Trek Beyond ซึ่งยังอยู่ในโรงภาพยนตร์และมีเขียนเอาไว้แล้ว
อนึ่ง#2 คะแนนที่ให้เป็นแค่ความชอบส่วนตัว หาได้เป็นตัวกำหนดความคลาสสิคหรือความนิยมไม่



Star Trek 
Into Darkness (2013)


[เรื่องราวเป็นแบบไหน]

กัปตันเจมส์ ที เคิร์กตัดสินใจช่วยเหลือให้ชนเผ่าในดาวไร้อารยธรรมรอดพ้นจากหายนะ แต่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ทำให้เคิร์กต้องเด้งออกจากตำแหน่งกัปตัน ในขณะเดียวกัน แผนกหนึ่งของสตาร์ฟลีทที่ลอนดอนก็ถูกวางระเบิด และผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตเจ้าหน้าที่สตาร์ฟลีทชื่อจอห์น แฮร์ริสัน

หลังโผล่มาอาละวาดที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ของสตาร์ฟลีท จอห์น แฮร์ริสันก็วาร์ปไปที่ดาวโครนอสของพวกคลิงก์ออน เคิร์กจึงต้องกลับมารับตำแหน่งกัปตันอีกครั้งเพื่อตามล่าจอห์น แฮร์ริสันมารับโทษให้ได้!



Smiley

[มันเป็นยังไง]

เจ เจ อบลัมส์ได้กลับมากำกับอีกครั้ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์และรายได้เหมือนเดิม เพียงแต่แฟนๆ Star Trek กลับรู้สึกขัดใจกับอะไรบางอย่างใน Into Darkness จนเสียงตอบรับค่อนข้างแตกออกเป็นหลายเสียง



Smiley

[รายได้]
228.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

Smiley

[คะแนนส่วนตัว]
7/10

Smiley

[ความเห็นของข้าพเจ้า]

ผมอยากจะชอบ Into Darkness เท่าๆกันกับ Star Trek 2009 แต่ว่ามันมีอะไรที่คาใจอยู่หลายอย่าง

พูดถึงสิ่งที่ชอบ ฉากแอ็กชั่นของ Into Darkness เจ๋งมากในหลายๆฉาก โดยเฉพาะฉาก "เอนเตอร์ไพรส์ VS เวนเจนส์" ตอนกลางเรื่อง มันเป็นตอนที่เอนเตอร์ไพรส์ต้องเจอกับยานที่ใหญ่กว่าและประสิทธิภาพดีกว่าหลายเท่า เอนเตอร์ไพรส์พยายามวาร์ปหนีแต่เวนเจนส์ก็วาร์ปตามมาประกบพร้อมยิงกระหน่ำเอนเตอร์ไพรส์หลุดกระเด็นนอกเส้นทาง แล้วต่อด้วยเคิร์กที่ต้องพุ่งตัวไปด้วยความเร็วจากเอนเตอร์ไพรส์ไปยังเวนเจนส์อีก... 

แม่เจ้า! ซีเควนส์ช่วงนี้มันสุดยอดมาก





แล้วช่วงกลางเรื่องนี้อีกเช่นกัน ที่สถานการณ์ของเอนเตอร์ไพรส์ต้องถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง บีบให้ทั้งเคิร์กและสป็อกต้องเล่นไปตามเกม นี่เป็นหัวใจที่ปรากฏอยู่ในหนัง Star Trek หลายต่อหลายภาคในความเห็นของผม คือมันมีปัญหาเกิดขึ้น และฝ่ายตัวเอกก็ต้องแก้ไขปัญหานั้นด้วยไหวพริบที่ตัวเองมี แต่มันสนุกตรงที่ เมื่อเวลาเกิดปัญหา เคิร์กจะแก้ไขอีกแบบ ส่วนสป็อกจะแก้ไขอีกแบบ ตามบุคลิกที่ต่างกัน... ชอบมาก!



พูดถึงเรื่องตัวละคร Into Darkness เล่นประเด็นต่อเนื่องจากภาค 2009 คือเรื่อง "อารมณ์" และ "ตรรกะ" แต่คราวนี้เพิ่มการเจริญเติบโตของตัวละครเข้าไป ในภาคนี้เคิร์กจะต้องเจอ "วิกฤตความเป็นผู้นำ" หลังตัดสินใจหยุดยั้งการถูกทำลายล้างของอารยธรรมต่างดาวทั้งที่ควรจะเฝ้าสังเกตการณ์เฉยๆ จากนั้นพอสป็อกตกอยู่ในอันตราย เคิร์กก็ยอมแหกกฎที่ห้ามไม่ให้อารยธรรมล้าหลังได้เห็นยาน เพื่อจะช่วยสป็อกออกมา แต่สป็อกก็ตอบสนองไปตามวิถีของชาววัลแคนนั่นคือรายงานเรื่องทั้งหมดจนกระทั่งตำแหน่งกัปตันของเคิร์กปลิวกระเด็น ทำให้เคิร์กขัดใจสป็อกมาก

ทว่าหลังจากนั้น เมื่อเคิร์กได้กลับมาคุมยานเอนเตอร์ไพรส์อีกครั้ง เขากลับต้องมีปัญหากับสก็อตอีก พูดง่ายๆคือหนทางสู่การเป็นกัปตันระดับตำนานในอนาคต มันไม่ได้ได้มาง่ายๆเลย




ในส่วนทางด้านสป็อก จะเป็นเรื่องของตรรกะและความตาย ระหว่างที่สป็อกตกอยู่ในอันตราย สป็อกเผชิญหน้ากับ "ความตาย" และปัญหาเรื่อง "ความตาย" ก็ถูกเอามาใช้เป็นประเด็นที่ทำให้สป็อกต้องทะเลาะกับอูฮาร่า รวมถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายเรื่องด้วย




Into Darkness เล่นกับความเชื่อมโยงตัวละครแต่ละตัวได้เนียนจนไหลลื่นเช่นเดียวกับภาค 2009 เรื่องราวถูกสับเปลี่ยนระหว่างเคิร์กกับสป็อกจนเป็นเนื้อเดียวกัน บทบาทของทั้งสองถูกวางไว้เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว แล้วตัวละครรอบข้างก็มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงให้มากขึ้น 

ทีนี้ก็มาถึงจุดที่ทำให้ผมรู้สึกผิดหวัง มันไม่ได้แย่ แต่รู้สึกผิดหวัง...

ผมชอบตัวละครวายร้ายที่เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์เล่น เขาเป็นผู้ร้ายที่เก่งทั้งบู๊และบุ๋น บีบให้เคิร์กกับสป็อกต้องเล่นเกมชิงไหวชิงพริบด้วยตลอดเรื่อง แต่ปัญหาคือ... มันคือ ข่าน นูเนียน สิงห์ วายร้ายยอดนิยมตัวเดียวกับทีวีซีรีส์และภาคหนังใหญ่ The Wrath of Khan



คือผมเข้าใจว่าเจ เจ อบลัมส์กับทีมเขียนบทกำลังจะเล่นมุกแบบกี้คๆ คือไหนๆก็เป็นเหตุการณ์โลกคู่ขนานแล้ว ในเมื่อพ่อของเคิร์กตายตั้งแต่เคิร์กเพิ่งเกิด หรือสป็อกตัดสินใจคบหากับอูฮาร่าซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทม์ไลน์ออริจินัล ก็เลยถือโอกาสเล่นมุก "ข่านอีกเวอร์ชั่น" เสียเลย ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมันคือ ตอนดูครั้งแรกผมค่อนข้างตื่นเต้นที่มันออกมาเป็นข่าน แต่ข้อเสียคือ ในรอบหลังๆผมรู้สึกขัดใจ จนมองว่าเอาจริงๆแล้วไม่มีความจำเป็นจะต้องเป็นข่านเลย  จะเป็นวายร้ายตัวอื่นที่มีความสามารถคล้ายๆกัน และฉลาดพอๆกับตัวละครที่เบเนดิกต์เล่นอยู่ก็ไม่มีปัญหาอะไรสักนิด

โดยเฉพาะ "ฉากคลาสสิค" ใน The Wrath of Khan ที่ถูกเอากลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง พอมาถึงฉากนั้นยิ่งทำให้รู้สึกขัดใจเข้าไปใหญ่ คือฉากนั้นมันดีทั้งในแง่ของการแสดง ภาพ การตัดต่อ ดนตรี แต่อย่างว่า... ทำไมจะต้องเอาฉากใน The Wrath of Khan มา "รีเมก" อีกรอบ? คือตอนที่ร้อง "ข่านนนนน" ออกมาดังๆ ผมกลับรู้สึกว่ามันตลกมากกว่าจะเกิดอิมแพ็คแรงๆแบบของเวอร์ชั่นต้นฉบับพิลึก



ในส่วนของจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่อง โดยรวมแล้วผมว่า Into Darkness ทำได้ไม่ดีเท่าภาค 2009 โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงครึ่งหลังที่มีตัวร้ายปรากฏเพิ่มเข้ามาอีกตัว ทำให้พล็อตมันซับซ้อนเล่นซะงั้น... และฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องที่สู้กันบนโลก บทสรุปของการต่อสู้มันดูห้วนๆอย่างบอกไม่ถูก



อย่างไรก็ตาม Into Darkness ก็ยังถือเป็นหนังที่ดีใช้ได้ ถ้าทำใจยอมรับฉาก "รีเมก" นั่นกับเรื่อง "ข่าน" ได้ ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา... แต่แน่นอนว่านี่เป็นประเด็นสำหรับแฟน Star Trek ส่วนคนดูทั่วไป อาจจะรู้สึกสนุกกับสิ่งที่มันเป็นก็ได้นะ




Create Date : 05 สิงหาคม 2559
Last Update : 19 สิงหาคม 2559 13:05:14 น.
Counter : 2317 Pageviews.

0 comment
12 วัน 12 หนัง Star Trek : Day 11 - Star Trek 2009


นี่คือ "12 วัน 12 หนัง Star Trek" เป็นการเอาหนัง Star Trek กลับมาดูอีกรอบรวดเดียว 12 ภาค (ยกเว้น Insurrection กับ Nemesis ที่นับว่าเป็นการดูครั้งแรก) แล้วอัพบล็อกแบบ "1 วันต่อ 1 ภาค" หลายๆภาค เมื่อเอากลับมาดูอีกรอบ จะรู้สึกยังไงกันนะ?

อนึ่ง#1 ไม่นับ Star Trek Beyond ซึ่งยังอยู่ในโรงภาพยนตร์และมีเขียนเอาไว้แล้ว
อนึ่ง#2 คะแนนที่ให้เป็นแค่ความชอบส่วนตัว หาได้เป็นตัวกำหนดความคลาสสิคหรือความนิยมไม่




Star Trek (2009)


[เรื่องราวเป็นแบบไหน]

ในศตวรรษที่ 23 วันดีคืนดีก็มียานยักษ์ประหลาดโผล่มาทำลายยานยูเอสเอสสเคลวินและคืนนั้นเป็นคืนที่เจมส์ ที เคิร์กเกิดพอดี พ่อของเคิร์กช่วยชีวิตลูกเรือและแม่กับเคิร์กได้สำเร็จก่อนที่ตัวเองจะจบชีวิตลง 

20 ปีต่อมา (17 ปีที่เคิร์กเข้าสตาร์ฟลีท + 3 ปีหลังจากเข้าเรียนแล้ว) ทางสตาร์ฟลีทได้รับสัญญาณข้อความช่วยเหลือจากดาววัลแคน จึงส่งยานออกไปช่วยเหลือ หนึ่งในนั้นคือยูเอสเอสเอนเตอร์ไพรส์ ทว่าเมื่อไปถึงที่นั่น สิ่งที่รออยู่ก็คือยานขุดแร่ขนาดยักษ์ของกัปตันนีโร ชาวโรมูแลน ยานขุดแร่ของนีโรทำลายกองทัพของสตาร์ฟลีทย่อยยับ เหลือแต่เอนเตอร์ไพรส์ลำเดียว ลูกเรือยานเอนเตอร์ไพรส์จึงต้องร่วมมือกันหาทางหยุดยั้งแผนการของนีโรให้ได้



Smiley

[มันเป็นยังไง]

หลัง Nemesis เจ๊งสนั่น หนัง Star Trek ก็หายไปหลายปี จนกระทั่งปี 2009 เจ เจ อบลัมส์ได้พา Star Trek กลับมาอีกครั้งพร้อมกับการรีบูท เล่าเรื่องย้อนไปในสมัยที่เคิร์กและสป็อกยังเป็นวัยรุ่น ไม่เพียงเท่านั้น มันยังเป็น "จักรวาลคู่ขนาน" ซึ่งถูกฉีกแยกออกมาจากจักรวาลของซีรีส์ Star Trek: The Original Series ทำให้เคิร์กกับสป็อกในหนังปี 2009 มีชะตากรรมที่แตกต่างจากภาคทีวีซีรีส์กับหนังภาค I-VI

แม้เทรกกี้จะบ่นๆเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมถึงโทนของหนัง Star Trek ที่เน้นแอ็กชั่นผจญภัยมากขึ้น แต่หนังเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จทั้งทางรายได้และคำวิจารณ์ถล่มทลายแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถือว่าเป็นรายได้ที่สูงที่สุดของหนัง Star Trek ทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ!


Smiley

[รายได้]
257 ล้านเหรีฐสหรัฐ

Smiley

[คะแนนส่วนตัว]
8/10

Smiley

[ความเห็นของข้าพเจ้า]

เทรกกี้และนักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักจัดอันดับให้ The Wrath of Khan เป็นที่สุดของหนัง Star Trek... ผมเข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงเลือกแบบนั้น แต่ผมขอทำอะไรที่เทรกกี้และนักวิจารณ์จะต้องหาว่า "บ้าไปแล้ว" ผมขอเลือกภาค VI: The Undiscovered Country กับ Star Trek 2009 คู่กัน ใช่! บ้าไปแล้ว!

เจ เจ อบลัมส์ทำให้ Star Trek กลายเป็นหนังที่สนุก ตื่นเต้น และอลังการตั้งแต่ต้นยันจบ นอกจากจะชุบชีวิตหนัง Star Trek ให้กลับคืนสู่จอเงินอีกครั้ง เขายังเรียกแฟนๆหน้าใหม่ให้เข้ามาสนุกกับ Star Trek ได้ด้วย

แน่นอนว่าเทรกกี้หลายคนต้องด่า บอกว่าเป็น Star Trek เวอร์ชั่นสำหรับคนไอคิวต่ำบ้าง, Star Trek ไม่ใช่หนังแอ็กชั่นบ้าง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการลดอายุของตัวละครระดับตำนานไม่ว่าจะเป็นเคิร์กหรือสป็อกให้กลายเป็นเวอร์ชั่นหนุ่มทั้งหมด

แต่ไม่ว่าเทรกกี้จะด่ายังไง หนัง Star Trek ก็ฟื้นคืนชีพในแบบแม็กซิมั่มสปีด

ผมดูภาค 2009 มาหลายรอบมาก และฉากเปิดเรื่องของ 2009 มันคือฉากเปิดเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดในบรรดาทั้งหมด 13 ภาครวมถึง Star Trek Beyond ที่เพิ่งฉายในปี 2016 นี้ด้วย มันสมบูรณ์ทั้งงานด้านภาพ งานเพลง การตัดต่อ ฯลฯ ไม่ว่าจะดูกี่ครั้งก็ยังสุดยอดอยู่ดี





สำหรับผม หลังจากที่นั่งดูหนัง Star Trek ติดต่อกันหลายภาค ตั้งแต่ The Motion Picture จนถึงภาครีบูท 2009 รวมแล้วทั้งหมด 11 ภาค ผมไม่รู้สึกว่าภาครีบูท 2009 เป็นอะไรที่นอกเหนือไปจาก Star Trek เลย โดยแก่นของมันแล้วภาค 2009 ยังเป็น Star Trek อยู่ เพียงแต่ถูกเล่าเรื่องด้วยสไตล์หนังยุคใหม่และเต็มไปด้วยโทนแอ็กชั่นผจญภัยที่ทุกคนจะสนุกด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่กับเทรกกี้เพียงอย่างเดียว

ผมไม่ถือเป็นข้อเสีย ถือว่าเป็นข้อดีด้วยซ้ำ

มันยังมีความเป็น Star Trek ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องการผจญภัยในอวกาศ, ไม่ใช่เพราะมีคาแร็กเตอร์ที่คนคุ้นหูอย่างเคิร์ก, สป็อก, อูฮาร่า ฯลฯ, ไม่ใช่เพราะเอนเตอร์ไพรส์ ไม่ใช่เพราะสตาร์ฟลีท ไม่ใช่เพราะวัลแคนหรือโรมูแลน 

แต่เป็นเพราะมันคือเรื่องของคาแร็กเตอร์สองตัวที่ถูกร้อยเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน เป็นเรื่องของมิตรภาพที่ไม่ได้เริ่มต้นอย่างสวยหรู ทว่ามันค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน




คนหนึ่งคือเจมส์ ที เคิร์กผู้เกรียนแตก และสป็อก ลูกครึ่งชาววัลแคนกับเทอร์ราน (มนุษย์โลก) สองตัวละครนี้ถือเป็นหนึ่งในหัวใจของจักรวาล Star Trek เช่นกัน อย่างน้อยก็สำหรับผม เคิร์กกับสป็อกเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน คนหนึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์และการตัดสินใจด้วยไหวพริบ,สัญชาตญาณ ส่วนอีกคนเป็นเรื่องของตรรกะ ตัดสินใจโดยพยายามจะไม่ใช่อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

ความน่าทึ่งของ Star Trek 2009 คือ ซัพพล็อตของสองตัวละครนี้ถูกร้อยให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันจนแทบแยกไม่ออก มันไหลลื่นและลงตัวแบบสุดยอด!



ดูเหมือนว่า Star Trek 2009 จะเล่นประเด็นเรื่อง "โชคชะตา" เป็นหลัก แน่นอนว่ามันมีโชคชะตาที่อยู่เหนือการควบคุม กระนั้นก็ยังมีเส้นทางที่สามารถเลือกเดินได้ "การเลือกเส้นทางเดินของตัวเอง" เป็นเหมือนแก่นหลักในซัพพล็อตของเคิร์กและสป็อก 

คนหนึ่งถูกโชคชะตาเล่นตลกให้ต้องสูญเสียพ่อ กลายเป็นเด็กเกกมะเหรกเกเร ทำตัวเหลวแหลกไปวันๆ 

อีกคนอยู่ในเส้นทางของตรรกะตามที่เผ่าพันธุ์วัลแคนเป็น 

แต่สุดท้ายคนหนึ่งก็เลือกจะเดินในเส้นทางที่จะเป็นกัปตันที่ยิ่งใหญ่เหมือนอย่างที่พ่อเขาเคยเป็น 

และอีกคนก็เลือกจะร่วมทีมกับสตาร์ฟลีท ออกเดินทางกับเหล่ามนุษย์หลากหลายเผ่าพันธุ์ มากกว่าจะอยู่แค่ในดาววัลแคนแล้วเข้ารับพิธีเพื่อกลายเป็นชาววัลแคนผู้สลัดทิ้งอารมณ์แบบเต็มตัว 

เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ดู Star Trek 2009 ผมจะรู้สึกฮึกเหิม มันกระตุ้นส่วนลึกของผมให้เกิดแรงบันดาลใจมากมาย 

ผมชอบที่ฮีโร่ไม่ได้มีความสมบูรณ์พร้อม มีเรื่องที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง มีคนยอมรับบ้างไม่มีคนยอมรับบ้าง แต่อุปสรรคต่างๆนานากลับปั้นคนๆหนึ่งให้กลายเป็นกัปตันระดับตำนานในอนาคตได้




มันมีอยู่ฉากหนึ่งที่ไม่ว่าดูกี่ครั้งก็กระตุ้นแรงบันดาลใจเสมอ

ในฉากไคลแม็กซ์ เคิร์กกับสป็อกจะต้องแยกกันปฏิบัติการ สป็อกคอมเมนต์แผนการของเคิร์กตามหลักการว่า "ตามการคำนวณแล้วมันบลาๆๆๆ" แต่เคิร์กกลับตอนสั้นๆว่า "สป็อก มันเวิร์ค"



ผมเป็นพวกที่กว่าจะได้ลงมือทำอะไรก็คิดเยอะไปต่างๆนานา กลัวนั่นกลัวนี่จนไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเสียเท่าไหร่ อารมณ์ประมาณว่า "ถ้าเกิดไม่เวิร์คล่ะ? ถ้าเกิดทำมาแล้วไม่ดีต้องอับอายแน่ๆ"

เคิร์กไม่ได้ถูกไปเสียทุกเรื่อง แต่เขาลงมือทำ แล้วก็แก้ไขจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสำเร็จหรือผิดพลาด ดังนั้นคำว่า "มันเวิร์ค" อาจไม่ได้แปลว่ามันจะเวิร์คจริงๆเสมอไป แค่มันอาจจะหมายถึง "ข้อมูลน่ะมีมากพอแล้ว ลงๆมือทำไปก่อนเถอะ (เพราะถ้าไม่ยอมลงมือทำซะที โลกจะบึ้มก่อนน่ะสิ!)"

ผมเข้าใจอารมณ์แบบที่เคิร์กว่ามา เพราะหลังๆผมเริ่มตัดความกังวลออก แล้วลองลงมือเท่าที่จะทำได้ ถูกบ้างผิดบ้างค่อยว่ากันทีหลัง 

เช่น 

ผมไม่เคยวิ่งมาราธอนเลย แล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมลง "วิ่งเทรล 10 กิโล" เป็นครั้งแรก แน่นอนว่าต้องกังวล แต่ผมก็ตั้งใจว่า "ลองทำไปเถอะ เดี๋ยวก็รู้ผลเอง" ก่อนหน้าจะลงวิ่ง ผมไม่ได้ฝึกซ้อมอะไรนอกจากออกกำลังกายแบบ cardio ตามปกติ 

ผลไม่ได้ออกมาสวยหรูตามคาด วิ่งไปเดินไปจนกระทั่งเข้าเส้นชัย แต่ผมถือว่าโอเคแล้ว และหลังจากนั้นทุกๆเสาร์ผมก็วิ่งในสวนให้ได้ 2 ชั่วโมง (ใกล้เคียงกับที่ไปวิ่งเทรลมา คือ 1.36 ชั่วโมง)

มันก็เท่านั้น ถ้าพลาดก็แค่ลงมือทำใหม่

แน่นอนว่าในสถานการณ์อย่าง Star Trek พลาดอาจหมายถึงความเป็นความตายในหลายๆฝ่าย แต่หลายๆครั้งผู้นำจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในชั่วพริบตา การชะลอเพื่อมานั่งวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนทั้งๆที่ดาวโลกกำลังจะบึ้ม อาจไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องนัก

ฉะนั้นคำว่า "มันเวิร์ค" ที่พูดกับสป็อก เคิร์กอาจไม่แน่ใจว่ามันเวิร์คจริงๆ แค่บอกให้สป็อกเลิกคิดเยอะแล้วลงมือทำไปตามแผนเถอะ 

คำพูดของเคิร์กมันส่งมาถึงผมด้วยอย่างแน่นอน

เอาจริงๆแล้วการเขียนบล็อกอย่าง "12 วัน 12 หนัง Star Trek" ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจจากตรงนั้น

ไม่รู้ว่าเขียนบล็อกแบบนี้แล้วเวิร์คหรือไม่เวิร์ค แต่คิดแผนมาระดับหนึ่งแล้วก็ลงมือทำไปเถอะ ไม่ต้องคิดเยอะอะไรอีกแล้ว!



พูดถึงตัวละครอื่นๆ

จริงอยู่ที่เคิร์กกับสป็อกค่อนข้างจะโดดเด่นนำตัวละครอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวละครที่แฟนๆ Star Trek รู้จักจะไม่มีบทเด่นเสียเลยทีเดียว 

ทั้งแม็คคอย, อูฮาร่า, ซูลู, สก็อต ตัวละครเหล่านี้มีโมเมนต์ที่จะได้โชว์คาแร็กเตอร์ของตัวเองเท่าที่เวลาสองชั่วโมงจะทำได้ และเช่นเดียวกับเคิร์กกับสป็อก หลังจากที่ผมดูหนัง Star Trek ติดต่อกันในช่วงเวลาไม่กี่วัน ผมไม่รู้สึกเหมือนตัวละครตัวนี้จะแปลกแยกไปจากตัวละครภาคออริจินัลตั้งแต่ I-VI เลย 



ไม่ใช่แค่ความแข็งแรงด้านตัวละคร แต่จังหวะจะโคนของหนังก็ลื่นไหลแบบไม่มีสะดุด มุมกล้องสร้างอารมณ์ระดับเอพิคในแบบที่ผมไม่ค่อยได้เห็นในหนัง Star Trek นัก แถมเพลงประกอบ... แม้จะอึกทึกครึกโครมไปบ้าง แต่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม



อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า Star Trek 2009 ไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ มันมีข้อเสียชัดเจน 

สิ่งที่ผมขัดใจใน Star Trek 2009 คงจะเป็นเรื่องใน "องก์สอง" ตั้งแต่ตอนที่เคิร์กทะเลาะกับสป็อกแล้วถูกอัปเปหิออกนอกยาน เรื่องราวในตอนนั้นเต็มไปด้วย "ความบังเอิญ" แบบสุดๆ บังเอิญเจอนั่น บังเอิญเจอนี่ ฉากแอ็กชั่นที่เคิร์กวิ่งหนีสัตว์ประหลาด หรือสก็อตไปติดอยู่ในแทงก์น้ำก็เหมือนใส่เข้ามาให้หนังมีแอ็กชั่นกันคนดูง่วง เอาจริงๆก็ไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าไหร่




ส่วนด้านตัวร้ายนีโร... คือยานถลุงแร่ของมันน่ะสุดยอด แต่คาแร็กเตอร์ของนีโรไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความเกรี้ยวกราด กลายเป็นโคคลั่งที่พุ่งเข้าชนอย่างเดียว ไม่ได้ถึงกับเป็นตัวร้ายที่ชวนให้ลืม จริงๆก็ค่อนข้างน่าจดจำอยู่ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นตัวร้ายที่ดีเด่อะไรมากอีกเช่นกัน



พูดถึงด้านปรัชญา ใช่ ยอมรับว่า Star Trek 2009 มีแง่มุมด้านปรัชญาที่ด้อยกว่าภาคก่อนๆ และปรัชญาก็คือส่วนหนึ่งของ Star Trek มาตลอด ในหนัง Star Trek ที่ผ่านมา จะมีการกล่าวอ้างถึงวรรณกรรมคลาสสิคหรืออะไรทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ประเด็นนี้คือส่วนที่ Star Trek 2009 จืดจางมาก

แต่ถ้ามองในแง่มุมของความเป็นหนังหนึ่งเรื่องล่ะ? ปรัชญาไม่ได้รับประกันในเรื่องการเป็นหนังที่ดี เช่น The Final Frontier ก็มีปรัชญาระดับยิ่งใหญ่ถึงขั้น "ตัวตนของพระเจ้า"  แต่มันก็ยังไม่ใช่หนังที่ดีไม่ใช่หรือ?

ในส่วนของ Star Trek 2009 มันไม่ได้อารมณ์ลึกซึ้ง มันไม่ได้มีปรัชญาอะไรยิ่งใหญ่ แต่มันคือเรื่องของตัวละคร เป็นเส้นทางของตัวละครที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบของมันในตัว แม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟน Star Trek ก็สามารถดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ผมว่านี่ต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ

เทรกกี้จะว่ายังไงก็ช่างแล้ว แต่สำหรับตัวผม การเดินทางครั้งนี้ มันเป็นประสบการณ์ที่สุดยอดไปเลยจริงๆ!




Create Date : 05 สิงหาคม 2559
Last Update : 19 สิงหาคม 2559 5:21:19 น.
Counter : 2291 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

หมาหัวโจก
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]



All Blog