Watchmen : หนังฮีโร่มีคุณค่าภายใต้ความไม่บันเทิง? (ไม่น่าจะสปอยล์)


ไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดว่าทุกคนกำลังสนุกกับซูเปอร์ฮีโร่ของ Marvel ในเมื่อหนังของ Marvel เต็มไปด้วยฉากแอ็กชั่นและอารมณ์ขัน หนังอย่าง The Avengers, Iron Man, Captain America ได้กลายเป็นความบันเทิงทั้งครอบครัว เป็นหนังในดวงใจทั้งแฟนคอมมิคและคนดูทั่วไป

ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะปฏิเสธหนังที่เป็นขั้วตรงข้ามกับ The Avengers อย่าง Watchmen 

เพราะโดยพื้นฐานแล้ว Watchmen คือหนังสือการ์ตูนที่เขียนขึ้นมาเพื่อ “สร้างความไม่สบายใจให้กับคนอ่าน” โดยแท้ 



เวอร์ชั่นหนังสือไม่ได้สนใจจะใส่ฉากแอ็กชั่นแบบเท่ๆ มันรื้อโครงสร้างของซูเปอร์ฮีโร่ที่คนชื่นชอบแล้วใส่ความสมจริงเข้าไปเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมในยุค 80 โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน หนังสือการ์ตูน Watchmen ได้ก้าวข้ามความเป็นหนังสือการ์ตูนโดยสิ้นเชิง แม้กระทั่ง Time ก็ยังจัดอันดับให้ Watchmen อยู่ใน “100 นิยายยอดเยี่ยมตลอดกาล”...

ย้ำอีกทีนะครับ “100 นิยาย (novels) ยอดเยี่ยมตลอดกาล” ไม่ใช่การ์ตูน (comic books) นั่นเพราะ Watchmen จัดอยู่ในหมวด Graphic Novel หรือก็คือนิยายที่นำเสนอในรูปแบบของภาพการ์ตูนนั่นเอง

ในขณะที่ The Avengers คือหนังที่ซูเปอร์ฮีโร่รวมทีมกันเพื่อรุมสกรัม... หมายถึง “รวมพลังกัน” เพื่อโค่นวายร้ายที่มารุกรานโลก Watchmen เป็นเรื่องราวที่ “ท้าทายความคิดผู้อ่าน” ว่า “เราสามารถเชื่อถือซูเปอร์ฮีโร่... หรือผู้นำ (อย่างประธานาธิบดี) ได้มากแค่ไหน” เราอาจจะเชื่อมั่นในสังคมที่มีซูเปอร์ฮีโร่... หรือผู้นำคอยดูแลเรา (Watchmen) แต่ใครจะคอยดูพวกเขาอีกต่อหนึ่ง? (Who watches the Watchmen?)

มันประชดประชัน มันตลกร้าย มันฉีกกระชากขนบกันแบบไม่ปรานี 



คนที่ชอบซูเปอร์ฮีโร่แบบใสบริสุทธิ์หรือ “โลกสวย” จะไม่ชอบ Watchmen โดยเฉพาะ graphic novel เพราะคนๆนั้นอาจรู้สึกว่าซูเปอร์ฮีโร่ควรเป็นความบันเทิง ควรจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างให้กับสังคม แต่ Watchmen ฉีกกระชากโครงสร้างของซูเปอร์ฮีโร่แล้วหันมาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อแท้ของมนุษย์ ว่าโดยแท้แล้วมนุษย์นั้นป่าเถื่อนและจะมีการต่อสู้หรือฆ่าฟันกันไม่หยุด อย่างในกรณีของ Watchmen คือสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอเมริกากับโซเวียต รวมถึงความวุ่นวายของสังคมที่เกิดขึ้นในอเมริกา เมื่อมีมนุษย์ก็มีความโกลาหลเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน จนเป็นเหมือนกับ “เรื่องตลกร้าย” ที่มีโลกใบนี้เป็นดาวตลกที่แสบสันที่สุดในโลก



ตัวละครอย่าง The Comedian เป็นตัวละครที่รองรับคอนเซ็ปท์นั้นได้เป็นอย่างดี เมื่อก่อนผมไม่ชอบตัวละครตัวนี้ แต่พอโตขึ้นก็เหมือนจะเข้าใจมากขึ้น The Comedian อาจเรียกได้ว่าเป็น “แอนตี้-ฮีโร่” ที่น่ารังเกียจ เขาโหดร้าย ป่าเถื่อน จะข่มขืนเพื่อนสาว ฆ่าผู้หญิงท้อง ลอบสังหาร ฯลฯ แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็นว่าเขาเข้าใจถึงความฟอนเฟะของสังคมมนุษย์เป็นที่สุด ภายใต้หน้ากากของความสวยหรูและเปี่ยมด้วยอารยธรรม เอาจริงๆแล้วกลับสวยงามแค่เปลือกนอก ดังนั้น The Comedian จึงทำตัวเองเป็นเหมือนกับ “ตัวตลก” และมองโลกใบนี้เป็นเหมือน “มุกตลก” ขนาดใหญ่



คนที่ไม่ได้อ่าน graphic novel เรื่อง The Killing Joke ที่พูดถึงประวัติของวายร้ายชื่อดัง “โจ๊กเกอร์” อาจจะเข้าไม่เข้าใจ อลัน มัวร์เป็นผู้เขียนทั้ง Watchmen และ The Killing Joke และเอาคอนเซ็ปท์ “มุกตลกร้าย” มาใช้ถึงสองเรื่อง ใน The Killing Joke มีการเปิดเผยว่าครั้งหนึ่งโจ๊กเกอร์คือนักแสดงตลกที่ไม่ประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน เขาพยายามเล่นตลก แต่กลับไม่ได้รับความนิยม สุดท้ายคือเขาต้องถูกโชคชะตา “เล่นตลก” ด้วยการเข้าไปมีเอี่ยวกับอาชญากรรม แถมเมียที่ท้องยังต้องตายอีก สุดท้ายคือระหว่างโดนหลอกให้ไปก่ออาชญากรรม กลับเจอแบทแมนไล่ล่าแล้วตกลงไปในน้ำเคมีแทน ดาวตลกอับโชคคนนั้นได้กลายมาเป็น “โจ๊กเกอร์” ผู้เห็นว่าโลกนี้คือ “มุกตลกร้าย” และคราวนี้เขาจะเป็นฝ่ายมอบ “มุกตลกร้าย” ให้กับคนอื่นๆบ้าง



ทั้ง The Comedian และโจ๊กเกอร์ล้วนมีชื่อที่สื่อถึงตัวตลก ในมุมมองที่บิดเบี้ยวของตัวละครทั้งสองตัวนั้น พวกเขากำลัง “ปล่อยมุกตลก” กันอยู่ แต่มันกลับเป็น “มุกตลกที่ขำไม่ออก” มันเหมือนกับเรื่องตลกร้ายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนเรา เมื่อเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นกับคนเราก็อาจจะถึงกับหัวเราะไม่ออกร้องไห้ไม่ได้ เมื่อ The Comedian หรือโจ๊กเกอร์รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเหยื่อของ “มุกตลกร้าย” ที่โลกใบนี้มอบให้ เขาจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็น “ตัวตลก” ที่จะมอบ “มุกตลกร้าย” ให้คนอื่น (หรือเหยื่อ) แทน



นอกจากนั้นซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆของ Watchmen ยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง อลัน มัวร์ตั้งใจจะชำแหละโครงสร้างซูเปอร์ฮีโร่ว่าภายใต้ความเท่ ความเก่งกาจทั้งหลาย พวกเขาเต็มไปด้วยด้านที่ไม่ได้ดีงามอะไรนัก เช่น Rorschach แท้จริงแล้วเป็นคนโรคจิต หรือ Dr. Manhattan เป็นผู้ทรงพลังที่มีอำนาจราวกับพระเจ้า แต่เอาจริงๆตัวเองก็ชักจะเริ่มลืมเลือนความเป็นมนุษย์ไปแล้ว นอกจากนี้ยังเล่นเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครในแบบที่คอมมิคซูเปอร์ฮีโร่ “โลกสวย” จะไม่เล่นกัน อย่างเช่น Dr. Manhattan นอกใจเมียแล้วเป็นชู้กับ Silk Spectre, Silk Spectre ทิ้งประกาศเลิกกับ Dr. Manhattan ไปคบกับ Nite Owl เป็นต้น

ประเด็นตรงนี้ก็คือ ซูเปอร์ฮีโร่ (หรือผู้นำที่เราชื่นชอบ) อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อพวกเขาไม่สมบูรณ์แบบแล้ว เราจะสามารถทุ่มใจร้อยเปอร์เซ็นต์ให้กับพวกเขาได้อย่างนั้นหรือ? นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมองผู้นำของเราในแง่ลบไปตลอด เพียงแต่มันเหมือนกับเป็นการ “เคาะหัวเรียกสติ” พวกเรามากกว่าว่า อย่าได้เทใจให้กับซูเปอร์ฮีโร่ (หรือผู้นำ) ไปมากนัก เพราะเอาจริงๆทุกอย่างในโลกไม่มีขาวกับดำอย่างชัดเจน มันไม่มีดีไม่มีเลวอย่างชัดเจน สุดท้ายแล้วมันก็คือโลกสีเทาๆ ซูเปอร์ฮีโร่ (หรือผู้นำ) ก็มีด้านที่เป็นสีเทาๆเช่นกัน ซูเปอร์ฮีโร่ (หรือผู้นำ) ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคนทั่วไป คือ “เหยื่อ” ของ “มุกตลกร้าย” ที่โลกใบนี้มอบให้ เมื่อมาถึงจุดๆหนึ่ง เขาก็จะถูกความโกลาหลเข้าครอบงำจนส่งผลให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดขึ้นมาก็เป็นได้

อย่างกรณีของอเมริกากับโซเวียตนั้นชัดเจนมาก ทั้งสองฝ่ายต่างสะสมกำลังอาวุธนิวเคลียร์กันยกใหญ่ แต่สุดท้ายยังดีที่ทั้งสองฝ่ายตระหนักได้ว่าถ้าปล่อยนิวเคลียร์ถล่มใส่กัน โลกนี้จะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป (เหมือนเกม Fallout) โอเค นี่คือความเป็นจริงที่ “โชคดีเพราะผู้นำทั้งสองฝ่ายฉุกคิดได้” 

แต่ถ้าเกิดว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายเกิดไม่ได้ฉุกคิดถึงข้อเสียตรงนั้นแล้วปล่อยนิวเคลียร์ใส่กันล่ะ? อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา ประชาชนได้ “เลือก” ผู้นำของเขา ซึ่งก็ถือว่าได้มอบ “อำนาจ” ในการตัดสินใจให้กับเขาไปแล้วนี่?

คอนเซ็ปท์ตรงนี้ชัดเจนมากเมื่อมีการเฉลยตอนท้ายเรื่องเกิดขึ้น มันเล่นกับแง่มุมที่ว่าอะไรคือความเป็นฮีโร่ อะไรคือความเป็นวายร้าย แง่มุมหนึ่งมันอาจเป็น “การเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่” แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ “การสังหารหมู่” มันเป็นความคลุมเครือทางศีลธรรมซึ่งในโลกเรามักจะเผชิญหน้าอยู่เสมอ

ถ้าคุณบอกว่า ชีวิตแค่นี้ก็เครียดแล้ว ทำไมเวลาเราอ่านหนังสือการ์ตูนหรือดูหนังซูเปอร์ฮีโร่เราจะต้องเครียดอีก? นั่นแหละคือประเด็นที่อลัน มัวร์ต้องการจะ “เคาะสติคนอ่าน”... จริงๆต้องบอกว่า “เป็นการตบหน้าสักฉาดเพื่อหันมามองความเป็นจริงบ้าง” โลกนี้ไม่ได้สวยหรู ถ้าเราเอาแต่มัวหลบอยู่ภายใต้ “ความเพ้อฝัน” เพียงอย่างเดียว พอลืมตาตื่นขึ้นมาอีก เราอาจถูก “โลกสีเทาๆ” ใบนี้ฉุดกระชากลากถูไปโดยที่คาดไม่ถึงก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นความมีอารยะของเราก็จะถูกปลอกลอกจนเหลือแต่เนื้อแท้ของความโกลาหลและความคลุ้มคลั่งแทน

ในความเห็นของผมนะครับ

การได้อ่านหนังสือหรือดูหนังที่ไม่ได้บันเทิงอย่างเดียว แต่ได้ให้แง่มุมที่หลากหลายแม้แต่กระทั่งด้านมืดของมนุษย์ด้วยนั้น บางครั้งมันก็เสริมแง่มุมอะไรต่างๆให้กับเรานะครับ 

ถ้าตามจิตวิทยาแล้ว สิ่งที่คนเราเสพล้วนแต่มีอิทธิพลต่อเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะหนัง เพลง การ์ตูน เกม ฯลฯ 

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็เอาแง่มุมที่หลากหลายทั้งด้านสว่างและด้านมืดมนของหนังแต่ละเรื่อง การ์ตูนแต่ละเล่ม เกมแต่ละเกมเอามาใช้เป็นประโยชน์ในด้านสติปัญญาซะเลยสิครับ?


ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหลายทั้งแหล่ มันได้ทำให้ Watchmen เป็น graphic novel ที่ค่อนข้างทรงคุณค่าในโลกของหนังสือการ์ตูนอเมริกา เป็นเรื่องที่ไม่ว่าผมจะอ่านกี่รอบก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ตกยุคสมัยไปเลย 

แต่เวอร์ชั่นหนังล่ะ? 



ข่าวร้ายคือ เวอร์ชั่นหนังกลับไม่ได้ขายดีอย่างหนังสือการ์ตูน และไม่ได้รับการยกย่องแบบเดียวกับหนังสือการ์ตูนด้วย

ผมพอเข้าใจว่าเพราะทำไม

มันมีหลายเหตุผล

1. คือเนื้อหาซีเรียสและสับสนเกินไปสำหรับคนดูทั่วไป
2. คือไอเดีย “การเล่าเรื่องในหลายๆมุมมอง” นั้นเวิร์คสำหรับหนังสือการ์ตูนที่มีหลายเล่ม แต่พอพยายามจะยัดลงภายในหนัง 2 ชั่วโมงกว่า กลับกลายเป็นความ “ยืดยาด” จนรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ไม่สนุก
3. สไตล์อันเต็มไปด้วยจริตของผู้กำกับแซค สไนเดอร์ทำให้แก่นของเนื้อหาถูกบดบังไป จุดเด่นที่ถูกชูจึงกลายเป็นงานด้านภาพ เทคนิคพิเศษ และการดีไซน์เป็นหลัก

หนังสือการ์ตูน Watchmen ซับซ้อนเกินกว่าที่จะเป็นหนัง ทั้งยังซับซ้อนเกินกว่าที่จะเป็นหนังบันเทิงแบบ The Avengers ด้วย ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตัวหนังจะไม่ได้รับทั้งรายได้และคำวิจารณ์

แต่นั่นแปลว่า Watchmen เป็นหนังแย่?

ตรงกันข้าม ผมคิดว่าไม่ใช่เลย 

เมื่อผมเอากลับมาดูใหม่อีกรอบพร้อมกับเวอร์ชั่น Ultimate Cut ความยาว 3 ชั่วโมงกว่า ผมคิดว่ามันเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ถูกมองข้ามมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ภายใต้ความสับสนของเนื้อหา สไตล์ของผู้กำกับที่บดบังแก่นของเนื้อหา รวมถึงความยืดยาดในการเล่าเรื่อง มันมีอะไรหลายๆอย่างที่เข้าท่าและควรค่าแก่การพูดถึง

แซค สไนเดอร์อาจมีคนบ่นว่าเขาทำหนังห่วย หรือทำหนังสวยแต่รูป แต่ข้างในกลวงโบ๋ จริงๆแล้วผมคิดว่าแซคมีข้อดีอย่างหนึ่งนั่นคือ บางครั้งเขาจะเล่าเรื่องได้ทรงพลังมาก มีหลายฉากมากมายเหลือเกินที่ผมชอบ และไม่ได้ชอบที่ภาพมันสวย แต่ชอบที่วิธีการนำเสนอ

ผมชอบทุกฉากที่เกี่ยวกับ Rorschach เขาเป็นตัวละครที่ผมชอบที่สุดทั้งใน graphic novel และในหนัง แจ็กกี้ เอิร์ล ฮาเลย์ก็แสดงเป็น Rorschach ได้ดีมาก Rorschach คือผู้ทรงความยุติธรรม ชีวิตเขาอุทิศให้กับการค้นหาความจริงและต่อกรกับอาชญากรรม แต่ในขณะเดียวกันเขาคือผู้ตั้งศาลเตี้ย ( vegelante) ซึ่งลงมือฆ่าคนร้ายโดยไม่สนใจจะส่งตำรวจ ใช้ความรุนแรงแบบสุดขั้วในการเข้าจัดการปัญหา เป็นคนจิตป่วยที่มีปมเกี่ยวกับพ่อแม่สมัยเด็ก และมองหน้ากากเป็นเหมือน “หน้าของตัวเอง” 




ผมชอบฉากที่ Rorschach เล่าถึงคดีแรก ฉากนั้นทรงพลังจนผมไม่อาจละสายตาจากมันได้เลย  



ผมชอบฉากบทสรุปของ Rorschach ในตอนท้าย สมัยที่อ่านหนังสือการ์ตูนใหม่ๆ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลงเอยแบบนั้น แต่พอมาดูหนังบวกกับตัวเองได้เติบโตขึ้น ผมถึงได้เข้าใจ มันเป็นความกำกวมระหว่าง “วีรบุรุษ” กับ “คนโรคจิตที่ยึดติดในความยุติธรรม” มันทั้งน่าสมเพชและดูเข้มแข็งในเวลาเดียวกัน




ผมชอบฉากที่ The Comedian มาระบายความรู้สึกกับคู่ปรับตัวฉกาจของเขา The Comedian เป็นฮีโร่ที่ทำเรื่องเลวร้ายมากมาย เป็นเหมือน The Punisher ในโลกของ Watchmen เขาลงมือลอบสังหาร เขาจะข่มขืนเพื่อนร่วมทีม เขาฆ่าแม้แต่กระทั่งคนท้อง! แต่สุดท้ายเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเสียใจในการกระทำของตัวเอง และทุกข์ทรมานกับการ “เล่นตลก” ของโลกใบนี้





ผมชอบฉากที่เล่าถึงความเป็นมาของ Doctor Manhattan ผมชอบวิธีการนำเสนอของ Doctor Manhattan ที่มีดีกว่าการโชว์ “กระปู๋สีฟ้า” เขาเป็นตัวตนที่ไม่ใช่แค่ซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นถึงขั้นพระเจ้า อย่างไรก็ตาม การที่ต้องกลายเป็นแบบนั้นทำให้เขาค่อยๆลืมความเป็นมนุษย์ไปทุกทีๆ



ผมค่อนข้างจะโอเคกับการใส่อนิเมชั่น Tales of the Black Freighter มาในเวอร์ชั่น Ultimate Cut ที่มีความยาวร่วม 3 ชั่วโมงครึ่ง เวอร์ชั่นหนังโรงกับ Director’s Cut ไม่ได้ใส่อนิเมชั่นเรื่องนี้เข้ามานั้นนับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะคนส่วนใหญ่จะต้องงงแน่ๆว่าทำไมจู่ๆถึงมีการ์ตูนโผล่มาด้วย แต่ Black Freighter คือการ์ตูนซ้อนการ์ตูนที่มีความสำคัญพอสมควร มันสะท้อนถึงแก่นของ Watchmen ที่เมื่อถึงความบ้าคลั่งเข้าครอบงำ ความมีอารยะที่ตนภาคภูมิใจก็สลายไปกับสายลม สุดท้ายแล้วเหลือเพียงแต่การมุ่งหน้าสู่เป้าหมายตามความเชื่อของตัวเอง แม้จะต้องเอาซากศพของคนรอบข้างมาเป็นเรือก็ตาม มันเป็นเนื้อหาเชิงอุปมาอุปไมยที่คนอ่าน/คนดูต้องตีความอีกชั้นถึงจะเข้าใจ ฉะนั้นสำหรับแฟนการ์ตูน Watchmen อย่างผม เวอร์ชั่น Ultimate Cut จึงนับว่าเป็นเวอร์ชั่นที่มีความสมบูรณ์ทางด้านเนื้อหาอยู่พอสมควร




ผมชอบฉากตอนจบ ใน graphic novel ฉากไคลแม็กซ์จะมีความเป็น “ยุค 80” อยู่มาก มันดูเข้าท่าสำหรับ graphic novel แต่เมื่อเป็นหนัง มันจะมีแต่ทำให้คนดูสับสนเปล่าๆ มัน “เครซี่” มากเกินไปสำหรับคนทั่วๆไป ผมคิดว่าเปลี่ยนมาลงเอยแบบนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน เพราะหัวใจของฉากนี้จะต้องพูดถึง “ความคลุมเครือทางด้านศีลธรรม” การตั้งคำถามว่าอะไรคือความดี อะไรคือความเลว อะไรคือฮีโร่ อะไรคือวายร้าย เราจะเชื่อในซูเปอร์ฮีโร่ (หรือผู้นำ) ของเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ มันดีแล้วหรือที่จะปล่อยให้คนเหล่านั้นตัดสินกันเอง หรือว่าเราจะยังคงถือท้ายคนที่เรานับถือต่อไปตราบใดที่เหยื่อนั้นไม่ใช่ตัวเราเอง? 




อย่างไรก็ตาม มันมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้หนังห่างจากความสมบูรณ์

อย่างแรกเลยคือมันยาว... อย่างที่บอก ตัว graphic novel มีความซับซ้อนเกินกว่าจะทำเป็นหนังแค่สองชั่วโมง (หรือแม้แต่สามชั่วโมง) มันอาจซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับก็จริง แต่กลับส่งผลให้การเล่าเรื่องมีปัญหาตามไปด้วย

อย่างที่สองคือ ผมไม่ค่อยชอบฉากแอ็กชั่นใน Watchmen เท่าไหร่ คือมันดูซูเปอร์ฮีโร่ก็จริง แต่มันกลับรู้สึกเหมือนไม่ค่อยสนุก ซึ่งก็แปลกดี สิ่งที่ผมรู้สึกสนุกกับการดู Watchmen ดันไม่ใช่ฉากแอ็กชั่น แต่เป็นการเล่าเรื่องของตัวละครบางตัวเสียมากกว่า



อย่างที่สามคือ ฉากเซ็กส์ระหว่าง Nite Owl กับ Silk Spectre บนยานนั้น ในหนังสือการ์ตูนก็ดูโอเคอยู่ แต่พอมาทำเป็นหนังแล้วมันแปลกๆ จริงๆฉากนี้ไม่ควรจะต้องดูสวยงามหรือโรแมนติก ผมคิดว่ามันควรจะดิบๆมากกว่า เพราะอะดรีนาลีนของทั้งคู่กำลังพุ่งขึ้นจากการเพิ่งเสี่ยงตายหมาดๆ มันจะเข้ากับธีมของ graphic novel มากกว่า  



อย่างที่สี่คือ ผมไม่ชอบบทสรุปของ Nite Owl กับ Silk Spectre อีกเหมือนกัน มันดู...แฮปปี้เอ็นดิ้งไปนิดถ้าเทียบกับ graphic novel คือผมรู้สึกว่าบทสรุปของทั้งสองคนในหนังสือการ์ตูนดูเข้าท่าเพราะมันเข้ากับธีมของเรื่อง ทำให้การ์ตูน Black Freighter ดูมีนัยยะที่สำคัญต่อ Wathmen มากขึ้นไปอีก



โดยรวมแล้วภายใต้ความอืดอาดและความน่าเบื่อ Watchmen เวอร์ชั่นหนังกลับมีดีกว่าที่คนหลายคนคิดเยอะ มันท้าทายคนดูให้กล้าเปิดใจจะมองซูเปอร์ฮีโร่ (หรือผู้นำ) ที่ตัวเองเทิดทูนใหม่อีกรอบ กระทุ้งคนดูให้หันกลับมามองโลกความเป็นจริงที่ศีลธรรมค่อนข้างคลุมเครือ ตั้งคำถามแก่คนดูว่าอะไรดีอะไรเลว อะไรถูกอะไรผิด 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ กลายเป็นว่าผมดู Watchmen หลายรอบมากกว่า The Avengers ไปเสียแล้ว




Create Date : 13 ธันวาคม 2558
Last Update : 13 ธันวาคม 2558 13:36:50 น.
Counter : 6949 Pageviews.

2 comments
  
ผมไม่เคยดูหนังอะไรแล้วรู้สึกถึงอะไร ที่มันส่งผลต่อตัวเองให้รู้สึกว่าในโลกความเป็นจริงสีเทาๆมันก็เป็นแบบนี้ขนาดนี้เลยครับ ไม่เคยอ่านอะไรยาวขนาดนี้เลย สุดยอดมากๆครับ ขอบคุณที่เขียนขึ้นมามากจริงๆ เข้าใจอะไรเยอะขึ้นมากๆ :)
โดย: warun IP: 171.5.248.237 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2559 เวลา:22:48:32 น.
  
ชอบมากเลยครับ อ่านจนจบเลย
โดย: ลีโอ IP: 184.22.48.17 วันที่: 1 สิงหาคม 2563 เวลา:4:22:27 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมาหัวโจก
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]



All Blog