All Blog
ตราบจนสิ้นกรรม / ปองพล อดิเรกสาร

 

ตราบจนสิ้นกรรม / ปองพล อดิเรกสาร

Until the Karma ends/ Paul Adirex

 

นิยายที่ไม่ได้แค่เหมือนจริง แต่เล่นกับข้อมูลจริง

 

(เรื่องย่อจากในอินเทอร์เนท ไม่ได้เขียนเองแต่ประการใด) แลนซ์ เบลลิงเจอร์ เจ้าหน้าที่ซีไอเอสหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในการจารกรรมและพบปะกับผู้นำของชนกลุ่มน้อยในพม่า เพื่อดำเนินการกระตุ้นให้ชนกลุ่มน้อยพยายามรวมตัวกันเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากพม่า หลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของรัฐบาลทหารพม่าหรือ SLORC ผ่านทางมูลนิธิ Hope and Happiness ซึ่งการดำเนินการผ่านทางมูลนิธินี้ได้เคยทำให้สาธารณรัฐทั้งสิบห้าได้แยกตัวเป็นอิสระ จนมีผลให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ตามแผนนี้ หากดำเนินการได้สำเร็จ พม่าจะกลายเป็นประเทศสามประเทศ คือเมียนมาร์ (Myanmar) อยู่ตรงกลางประเทศ พม่าตะวันตก(West Burma) เป็นของชนกลุ่มน้อยชิน คะฉิ่น และอาระกัน(ยะไข่) และพม่าตะวันออก(East Burma) เป็นของชนกลุ่มน้อยฉาน(ไทใหญ่) กะเหรี่ยง คะยาห์และมอญ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือเคนริก โฮป นักธุรกิจใหญ่ในด้านปิโตรเลียม และเจ้าของมูลนิธิ Hope and Happiness



 

สรุปคือตอนหลังโฮปเกิดเปลี่ยนใจ ไปสนับสนุนสลอร์คแทน และให้อีโนลาไปติดต่อกับคาร์แดลเพื่อหาอาวุธมาสังหารรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่จะมาประชุมที่กรุงเทพฯ โดยเป็นอาวุธของจีน และทางการจีนก็ไม่ได้เข้าประชุมเพราะประท้วงไทยกรณีที่ประธานาธิบดีไต้หวันมาเยือนไทย และการสังหารนั้นจะมีผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหลายประเทศรวมทั้งพม่าต้องตายไปด้วย และพม่าก็จะเลิกติดต่อกับจีน บริษัทของโฮปก็จะได้ประโยชน์จากพม่าไป

 

(นอกเรื่อง ตอนแรกก็งงว่าชื่อเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร เกี่ยวกับการเมืองและจารชนได้อย่างไร จนกระทั่งถึงตอนท้ายนั่นล่ะ...จึงเข้าใจว่าเพราะอะไร)

 

ไหนๆ ก่อนนี้หยิบ แม่โขง ของปองพล อดิเรกสาร มาเอ่ยถึงแล้ว ก็ขอต่อด้วยนิยายจารชนผสมการเมืองระหว่างประเทศของท่านเลยแล้วกัน ความจริงเรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะพล้อตว่าด้วยการเมืองแบบถึงพริกถึงขิง สมกับความเป็นนักการเมืองของคนเขียนเลยทีเดียว เนื้อหาว่าด้วยการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน การจารกรรม การแทรกแซงในรัฐชาติเล็กๆ เพื่อผลประโยชน์ ความซับซ้อนของนิยายเรื่องนี้จึงนับว่ามากเอาการเพราะเกี่ยวข้องกับการหักหลังกันไปมาที่ซ้อนทับกันในผลประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางการเมือง

 

เทียบกับแม่โขงที่เล่มนั้นหยิบหลายประเด็น แต่เรื่องแม่โขงนั้นก็มีความกลมกล่อมในตัว ส่วน ตราบจนสิ้นกรรม นั้นสามารถแบ่งพาร์ทเป็นสองส่วนได้ในความคิดเรา คือส่วนแรกที่พระเอกนางเอกตะลุยไปตามแนวชายแดนพม่าเพื่อตกลงกับชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ และในส่วนหลังคือแผนร้ายของนักธุรกิจอเมริกันที่คิดจะลอบสังหารรัฐมนตรีชาติอเมริกันเพื่อป้ายความผิดให้จีน เพื่อผลประโยชน์ในการเข้าไปพม่าให้มากขึ้น (โห...เลวลึก) แล้วสุดท้ายตอนจบก็ไม่มีใครได้อะไรจากแผนร้ายต่างๆ นอกจากสร้างความบาดหมางให้มากกว่าเดิม

 

ที่บอกว่าเล่นกับข้อมูลจริง เพราะชื่อพรรค ชื่อสถานที่ ชื่อบุคคลที่เอ่ยถึงล้วนเป็นของจริงทั้งนั้น แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ผ่านมาแล้วหลายปีจึงปรากฏว่าเจ้าของชื่อหลายชื่อไม่อยู่บนโลกนี้ไปแล้ว (เช่น ส่วยจิน ของพรรคมอญ, ขุนส่า ของไทยใหญ่, หรือโบเมียะของกะเหรี่ยง ตัวละครเหล่านี้มีตัวจริงและถึงแก่กรรมไปแล้ว) แต่ถึงอย่างนั้นฉากตอนพระเอกนางเอกไปสังขละบุรีทำเอาเราสะดุ้ง เพราะคนเขียนเอ่ยชื่อโรงแรมศรีแดง โรงแรมสามประสบ ด่านชายแดนละฮอกกานี ซึ่งยังคงมีอยู่ในปัจจุบันเป๊ะ คงจะอย่างที่คนเขียนบอกว่าก่อนเขียนเรื่องนี้นั้นได้เดินทางไปสถานที่จริงมาหมดแล้ว ทุกอย่างจริงเหมือนจริง เหมือนคนเขียนได้พาเราไปพบนักการเมืองและเรื่องราวเหล่านั้นมาจริงๆ

 

ส่วนเรื่องความรักของตัวละคร อย่างน้อยก็ยังมีพระเอก-นางเอกด้วยนะ โดยพระเอกเป็นซีไอเอ มือฉมัง เก่งด้านข้อมูล ส่วนนางเอกเป็นลูกครึ่งพม่า-อเมริกัน แต่ถ้าจะถามเรื่องความสัมพันธ์ตัวละครก็...เอ่อ...อย่าไปสนใจเลยเพราะมันเป็นแค่น้ำจิ้มของนิยายเรื่องนี้เท่านั้น เพราะเรื่องนี้เค้าบู๊กันล้างผลาญ ชนิดอ่านแล้วงงๆ เลยว่าใครทำอะไรเพราะเราไม่ใช่คอนิยายบู๊เท่าไหร่

 

แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกตงิดๆ ตอนอ่านก็คือ....อเมริกัน... ทำไมชอบไปยุ่งกับเรื่องชาวบ้าน (ฟะ?) ผลงานตัวเองทำโซเวียตแตกไม่พอ ยังยื่นมือเข้ามาสอดเรื่องการเมืองในพม่าอีก แต่ก็ดันทำไม่สำเร็จ แถมทำให้อะไรเลวร้ายกว่าเดิมด้วย ซึ่งเราคิดว่าในโลกความจริง...การยื่นมือเข้ามาแทรกของตะวันตกก็มีส่วนทำให้พม่าเป็นอย่างนี้เหมือนกัน (เอาง่ายๆ การที่อังกฤษปกครองพม่าตอนอาณานิคม นั่นก็สร้างความแตกแยกให้ชนกลุ่มต่างๆ มากพอดูแล้ว)

 

ตราบจนสิ้นกรรม ชื่อเรื่องของเรื่องนี้ ได้เป็นคำตอบในตอนสุดท้ายที่ทุกอย่างพังพินาศ แผนการของซีไอเอล้มเหลวเพราะความเห็นแก่ตัวของอเมริกันด้วยกันเอง พระเอกนางเอกถูกหักหลังแทบเอาชีวิตไม่รอด แผนการแยกประเทศของชนกลุ่มน้อยล้มครืนเพราะชนแต่ละกลุ่มก็ไม่แข็งแกร่งในตัวเอง พลเรือนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่จากสงครามเผ่าพันธุ์ระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อย

 

นางเอกของเรื่องซึ่งเป็นชาวพุทธได้บอกกับพระเอกว่า...ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นตัวกำหนด ชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นและรัฐบาลต้องประหัตประหารกันไม่จบสิ้น...ก็เพราะทำกรรมเกี่ยวกับพันไว้ และความขัดแย้งนี้ก็จะไม่จบสิ้น...ตราบจนสิ้นกรรม

 

อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่านั้นไม่สามัคคีกันจริง แต่ละกลุ่มก็เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แม้เราเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากมาย แต่จากการได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้มาบ้างก็บอกได้เลยว่าก้าวต่อไปของประเทศสหภาพเมียนมาร์ (ชื่อใหม่เค้า) น่าจะต้องแก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์กันอีกยาวนาน 

 




Create Date : 26 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2556 9:07:40 น.
Counter : 2864 Pageviews.

7 comments
  
เป็นเรื่องที่ชอบเรื่องหนึ่งของคุณปองพล เลยครับ
โดย: สามปอยหลวง วันที่: 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา:11:10:09 น.
  
^ คุณสามปอยหลวง ค่ะ ชอบตรงเนื้อหาเป๊ะมาก แบบเล่นกับเรื่องจริงเลย
โดย: ณ พิชา วันที่: 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา:21:28:54 น.
  
ดูหนักๆ แต่ก็น่าสนใจมากเลยค่ะ เห็นด้วยค่ะว่าอเมริกาชอบแส่ อุ๊บสส ยุ่งกับเขาไปซะทุกเรื่อง (เพื่อผลประโยชน์ตัวเองทุกเรื่อง)
โดย: Sab Zab' วันที่: 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา:21:46:26 น.
  
^^

ตอนอ่านก็รู้สึกงั้นล่ะค่ะ แต่ความจริงคนอเมริกัน เราว่าค่อนข้างโอเคนะคะ เพียงแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนของเค้าจะเป็นคนดี แต่โดยรวมเราว่าเป็นชาติตะวันตกที่คบได้ friendly ดี
โดย: ณ พิชา วันที่: 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา:23:21:37 น.
  
ยังไม่เคยอ่านทั้งเรื่องแม่โขง และเรื่องนี้เลยครับ
โดย: อุ้มสม วันที่: 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา:16:54:40 น.
  
คุณอุ้มสม >> ถ้าชอบแนวการเมือง เข้มข้น สมจริง ลองดูค่ะ คุ้มที่จะซื้อเก็บจริงๆ งานเขียนของท่านนี้
โดย: ณ พิชา วันที่: 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา:22:17:31 น.
  
เล่นกับ ข้อมูลจริง
โอ๊ะ น่าสนอีกแล้วสิเนี่ย
ทำไมมีแต่นิยายน่าอ่านเต็มไปหมดอย่างนี้ ละเนี่ย
โดย: Serverlus วันที่: 29 พฤศจิกายน 2556 เวลา:10:36:52 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ณ พิชา
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



I think, therefore, I am