Group Blog
 
All Blogs
 
วาทกรรมประชาธิปไตย (2)

ฉบับที่แล้ว ผมเขียนเล่าว่า วาทกรรม (Discourse) คือ ชุดรูปแบบความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีการสร้างขึ้น สั่งสม และถ่ายทอดจนกลายเป็น “พลังอำนาจ” ประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนมากคิดและเชื่อว่าสิ่งนั้นๆคือ “ความจริง”

ในช่วง 2 ทศวรรษหลังนี้ แนวคิดเกี่ยวกับ “วาทกรรม” ได้รับความนิยมจากแวดวงวิชาการสายสังคมศาสตร์ มีนักวิชาการหลากหลายสาขานำไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์และอรรถาธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมมากมาย ทั้งเรื่องของเพศ ภาษา การพัฒนา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นักวิชาการเหล่านี้ถูกจัดว่าเป็นพวกยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) กล่าวคือ เป็นพวกปฏิเสธความเป็นจริงที่เป็นสากล หรือความจริงที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยพวกเขาพยายามรื้อถอนโครงสร้างความจริงที่ผู้คนในสังคมเชื่อถือออกมา

พูดอีกอย่างคือ...พวกเขาพยายามปอกเปลือก “ความจริง” ในความนึกคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมออกมาตีแผ่ให้เห็นกันจะจะคาตา

สำหรับประเด็นทางการเมือง...แนวคิดเรื่อง“ประชาธิปไตย”ก็เป็นเช่นเดียวกันครับ หากวิเคราะห์วาทกรรมแบบมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) จะเห็นชัดว่า วาทกรรมหลักครอบงำสังคมไทยในปัจจุบันคือ

“วาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

หมายถึง ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตัวแทนไปบริหารประเทศเท่านั้น

แล้ววาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีปัญหาตรงไหนละครับ

ปมสำคัญคือ ตัวแทนที่ได้มาจากการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนอันหลากหลายในสังคมอย่างแท้จริง

อาทิ ไม่มีตัวแทนของชาวเขา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวนา คนยากไร้ คนด้อยโอกาสทางสังคม อันเป็นคนชายขอบ...เป็นกลุ่มคนรากหญ้าส่วนใหญ่ของสังคม

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะไม่ได้บังคับให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเหมือนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

แต่ด้วยวัฒนธรรมการเมืองแบบที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำจำกัดความว่าเป็น “อำนาจนิยมอุปถัมภ์ ทุนนิยมอภิสิทธิ์” ทำให้คนดี มีความสามารถแต่ถ้ายากไร้ ขัดสน ก็ไม่สามารถผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ใช้ทั้งอำนาจบารมี รวมทั้งเม็ดเงินมหาศาล

ดังนั้นตัวแทนจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดของสังคมไทยจึงมาจากกลุ่มชนชั้นนำ หรือคนมีชื่อเสียงในสังคม ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจการเมือง นักวิชาการ ดารา นักแสดง เป็นต้น

ใช่ครับ...บรรดานักการเมืองผู้ได้รับการเลือกเข้าสู่สภาหินอ่อนย่อมต้องแคร์ ต้องเอาใจผู้มีอิทธิพลมากบารมีในท้องถิ่น เพราะว่าคนพวกนี้คือหัวคะแนนคนสำคัญ รวมทั้งต้องคอยเอียงหูเชื่อฟังนักธุรกิจเจ้าของเม็ดเงินที่หว่านทุ่มเป็นทุนในการหาเสียง

ระบอบการเมืองเช่นนี้ย่อมไม่มีพื้นที่สำหรับคนชายขอบ คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม การเมืองเช่นนี้ย่อมไม่ตอบสนอง ไม่ได้แก้ปัญหา หรือรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการรุ่นใหม่ ไฟแรงได้วิพากษ์ระบอบ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” อย่างแหลมคม ในบทความเรื่อง “พลังของประชาธิปไตยทางตรง”ว่า...

“...หลักการ “1 คน 1 เสียง” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยมักจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนผู้มี “1 เสียง เท่ากัน”นั้น มีฐานะ ความเชื่อ และอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน นักธุรกิจที่มีเงินมากมักสามารถใช้เงินโน้มน้าวนักการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ให้ออกนโยบายที่ปกป้องผล ประโยชน์ของเขา แม้ว่านักธุรกิจจะมีสิทธิออก 1 เสียงเท่ากันกับคนอื่นเวลาไปลงคะแนนเลือกตั้ง

นอกจากนี้ นักธุรกิจใหญ่บางคนที่ไม่ไว้วางใจนักการเมือง ก็อาจตัดสินใจกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองเสียเอง แทนที่จะคอยชี้นำนักการเมืองอยู่ “หลังฉาก” เพียงอย่างเดียว อิทธิพลอันมหาศาลของนักธุรกิจใหญ่และชนชั้นนำอื่นๆ ที่มีต่อภาคการเมือง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจำนวนมากต้องใช้เวลาทำงานด้านบริหาร หรืองานของพรรคที่ตนสังกัดอยู่ จนอาจไม่มีเวลามาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผู้เลือกเขาเข้าสภา แปลว่ารูปแบบของระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก ที่เรารู้จักในชื่อ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” (representative democracy) นั้น อาจไม่ได้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆเท่ากับผลประโยชน์ของ “กลุ่มอำนาจ” ส่วนน้อยที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง...”


วิกฤติของประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่ได้เกิดขึ้นจำเพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นวิกฤติเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างนักอ้างหนาว่าเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่ประสบกับปัญหานี้ทั้งสิ้น

นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคมจึงนำเสนอวาทกรรมคู่ขนานขึ้นมาคัดแย้งประชาธิปไตยแบบตัวแทน เรียกขานกันว่า

“ประชาธิปไตยทางตรง” (Direct Democracy)

อันถือว่าเป็นการเมืองใหม่

เป็นการเมืองภาคประชาชน


มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของประชาชนในการกำหนดทิศทางบริหารประเทศ ทั้งในเรื่องของการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือกฎหมายต่างๆโดยตรง ไม่ต้องรอผ่านตัวแทนของนักการเมือง หรือหน่วยงานราชการต่างๆ

เป็นการสร้างและขยายพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนรากหญ้า คนยากไร้ คนชายขอบ ให้มีสิทธิ มีเสียงนำเสนอและกำหนดแนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ความต้องการ ข้อเรียกร้องของตนเอง

ประชาธิปไตยทางตรงยังเป็นแนวคิดที่ต้องการให้บทบาทเด่นกับภาคประชาชนในการตรวจ สอบ คัดง้างการทำงานของภาครัฐ และกลุ่มทุน

การชุมนุม เรียกร้อง ประท้วง การเมืองบนท้องถนน เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรง

กล่าวโดยสรุป การเมือง...ในมุมมองของประชาธิปไตยทางตรงจึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น

หากแต่คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นของประชาชนในท้องถิ่น


อย่างไรก็ตาม การปลุกให้ประชาชนซึ่งถูกกดทับอยู่กับวาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทนมานานหลายสิบปีให้มีความกระตือรือร้น ตระหนักถึงพลังและความสามารถของตนเองในการกำหนดทิศทาง บริหารประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

เพราะด้านหนึ่งนอกจากจะต้องสร้างความเข้าใจ รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนแล้ว ยังต้องต่อสู้กับวาทกรรมหลักซึ่งยังครอบงำสังคมไทยอยู่

แน่นอนครับว่า...สื่อมวลชนกระแสหลัก (Mainstream media) ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ส่วนใหญ่มักไม่เห็นถึงความสำคัญของการเมืองภาคประชาชน มองว่าการเมืองในรูปลักษณ์นี้มีแต่จะสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

นักข่าว คอลัมนิสต์ หรือนักสื่อสารมวลชนเกระแสหลักมักจะเรียกร้องให้

“การเมืองนิ่ง”

“สมานฉันท์ทางการเมือง”


มองว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการทางรัฐสภา ประชาชนควรกลับเข้าบ้านไปทำมาหากินและมอบภาระบริหารบ้านเมืองให้กับนักการเมือง

พวกเขามองมองพื้นที่ทางการเมืองว่าเป็นของนักการเมือง...นักเลือกตั้ง มากกว่าเป็นพื้นที่ของประชาชนตาดำๆ

เสียงของภาคประชาชนในสื่อเหล่านี้จึงแผ่วเบา รางเลือนและบิดเบี้ยวยิ่ง

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน กุมภาพันธ์ 2551




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2551 14:31:42 น. 0 comments
Counter : 457 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.